หน้าแรก>สารอโศก

บันทึกคนวัด
...อย่าดูดาย...

ส. ๑๒ เม.ย.'๔๖
วันนี้เป็นวันสิ้นสุดงานปลุกเสกฯ ครั้งที่ ๒๗ ที่ศีรษะอโศก มางานครั้งนี้ หาโอกาสไปสนทนาธรรม กับนักบวชหลายๆรูป ให้สมกับที่ได้ไปงานปลุกเสกฯ ได้คุยธรรมะ กับพระเกจิฯ ทำให้เกิดหิริ ให้เกิดศรัทธา ยิ่งขึ้น

เมื่อวานซืน ฉันได้คุยกับสิกขมาตุ เล่าถึงความคิดของตนเอง เรื่องการซ่อมแซม จุดต่างๆในวัด บางทีคนอื่น ที่ร่วมใช้ เขามีความสามารถยิ่งกว่าเรา ทำไมไม่ช่วยกัน ทำไมต้องเป็นฉันด้วย ความคิดนี้ยังขุ่นข้อง อยู่ในใจ ก็เล่าเฉยๆนี่แหละ เพราะมันยังไม่ได้ถูกแก้ไข ไม่รู้ตัว ไม่ปรับเปลี่ยน นึกขึ้นมาได้ ก็เอามาพูด พูดเพื่อระบาย วันร้ายคืนมืด อาจเอาขึ้นมาทำงานอีก เมื่อเจอเหตุการณ์ ทำนองนี้อีก ด้วยคำพูด เป็นเชิงตำหนิคนอื่น

ฉันมารู้ตัวเมื่อสิกขมาตุบอกว่า นั่นเป็นการมองออกนอกทั้งนั้น ความคิดอย่างนี้

โอ๊ะ! ถูกเป๋งเลย ฉันกระจ่างขึ้นมาทันที เพราะมองออกนอกตัวจึงทุกข์ ไม่ได้มองตัวปัญหา ไม่ได้มองว่า เราควรจะช่วยกันนะ โอ้โห! ไม่ได้ถือสาที่ถูกชี้ แต่สิกขมาตุพูดได้ชัดตรง ท่านชี้มาจุดเดียว เห็นจริงด้วย จริงๆๆ มางานครั้งนี้ ไม่เสียเปล่า ได้ฟังประโยคนี้ประโยคเดียว เหมือนเปิดประตูพลัวะ ออกไปเจอ ความสว่าง ว่าง โล่งใจ จริงนะ ฟังคำที่มีประโยชน์กับตนเอง แม้เพียงประโยคเดียว ก็สามารถพลิกใจ ตนเองให้ดีได้

ย้อนกลับมองดูเหตุการณ์วันนั้น เมื่อต้นปีเรางานยุ่งมาก จึงหงุดหงิดเรียกร้องให้คนอื่นทำ มีเหตุผล เข้าข้างตัว (ต่อว่าคนอื่น ไม่รู้ตัวว่าขณะนี้ ตนเองกำลังตกนรก) ภาษาของผู้ไปเข้าหลักสูตร อบรมที่ภูผาฯ เขาเรียกว่า ติดค่ายกลแห่งการงาน (อัตตา) เลยไม่ยินดี ตกภพ ขาดประโยชน์ จะทำแต่งานของตน ปฏิบัติอย่างนี้ กินข้าววัดแล้วยังดูดายอีก ต้องละอาย ระวัง อย่าขาดสำนึก ขาดกตัญญู พร้อมไม่ทำ ตามภพตัวเอง ต้องพร้อมที่ไม่คิดอย่างที่ตนต้องการ

สมณะบอกว่า เพ่งโทษคนปุถุชนยังมีบาป ไปเพ่งโทษคนมีศีล ระวังวิบากกรรมหนัก ไม่เห็นโทษเห็นภัย ไม่มีหิริโอตัปปะ ยังทำยังคิดอยู่อย่างเดิม สุขๆทุกข์ๆ อยู่อย่างนั้น รอเวลา หลุดร่วงแน่เลย ต้องง่วนกับงาน ส่วนรวม จนไม่มีเวลา ให้ความเห็นแก่ตัว เกาะกุมจิตวิญญาณ ให้ได้

อย่าประมาทที่จะเพิ่มความดี อย่าประมาทที่จะมักไปมองกิเลสคนอื่น

จ. ๑๔ มี.ค.'๔๖
มีโอกาสได้กลับบ้านไปต่างจังหวัดกับพี่กับน้อง ต่างคนต่างอยู่กันคนละแห่งถิ่นฐาน แต่สงกรานต์นี้ เราได้มาพบกัน เพราะปกติไม่มีกิจธุระ ฉันจะอยู่ช่วยงานในวัด ไม่ได้ไปไหน รถแล่นมาหยุดพัก รอรวมตัวกัน ที่วัดใหญ่ ได้ยินมัคคนายก ประกาศให้พุทธศาสนิกชน มาร่วมทำบุญ สรงน้ำพระ สรงน้ำ พระบรมสารีริกธาตุ กิจกรรมประเพณีนี้ ฉันเห็นมาตั้งแต่ยังเด็ก ประเพณีเช่นนี้ มีมาหลายชั่วอายุคนแล้ว อากาศในเดือนนี้ ผู้คนถือโอกาส เล่นสาดน้ำ คลายความรุ่มร้อน แต่ความจริงประเพณีสงกรานต์เท่าที่รู้ ไม่ใช่ให้มาสาดน้ำกัน เปลืองเปล่าเช่นนี้หรอก เขาพากันไปทำบุญที่วัด เนื่องในวันปีใหม่ของไทย และ ไปกราบไหว้ รดน้ำผู้ใหญ่ ขอศีลขอพร จากท่านต่างหาก

มาถึงที่บ้าน คุณพ่อนั่งรออยู่แล้ว ฉันถามถึงความเป็นอยู่ สุขทุกข์ยังไงบ้าง อยู่คุยกัน ถามกันในหมู่ พี่น้อง นับชั่วโมง พอหายความระลึกถึง ก็ลาแยกย้ายกัน ช่วงกลับนี่สิ การจราจรติดขัด คนชนบท ทำมาหากินในเมืองเยอะ หนุ่มสาวสาดน้ำเล่น อยู่กลางถนน รถจะแล่นไปทางเดิมไม่ได้ จึงต้องเปลี่ยน เส้นทาง น้องๆและหลานๆ จำต้องให้ฉัน ต่อรถเมล์อีกหน่อย เพื่อกลับวัด ช่วงเดินไปหาป้าย ที่หยุดรถประจำทาง ผ่านห้องตึกแถว...

...มีอยู่บ้านหนึ่ง มีถังน้ำคูเลอร์ ๑ ใบ พร้อมถ้วยน้ำ ตั้งอยู่บนเก้าอี้ ที่หน้าบ้าน อะฮะ! ในเมืองหลวงเช่นนี้ ยังมีผู้ใจบุญ ให้น้ำให้ท่ากับผู้เดินทางสัญจรไปมา เหมือนวัฒนธรรมประเพณีต่างจังหวัดเลย ฉันเคยเห็น ตามชนบท จะมีหม้อดินใส่น้ำ ให้ผู้กระหายได้ดื่ม เมื่อผ่านมาแวะเวียน ไม่นึกว่าน้ำใจเช่นนี้ ยังมีหลงเหลืออยู่ ในเมืองฟ้าอมร

เดินผ่านกลุ่มวัยรุ่น ต้องเดินสำรวม กลัวเขาสาดเอาหนะ เขาพูดกันบอกว่า หยุดก่อน อย่าสาด แม่ชีจะไปธุดงค์ ค่อยยังชั่ว แต่แหม! เห็นเราเป็นแม่ชี ก็ยังดีที่เขาเกรงใจ แอบขำ แต่ต้องทำหน้าขรึมๆ เดินไปหยุดยืน รอที่ป้ายรถเมล์

เห็นหนุ่มสาวเล่นน้ำ หัวเราะกันครื้นเครง หนุ่มเอาแป้งผสมน้ำ มาทาหน้าสาว สาวก็สาดน้ำ ใส่พ่อหนุ่ม ดูสนุกสนาน มีความสุข ที่ได้เย้าแหย่กัน อดที่จะหัวเราะอยู่ในใจไม่ได้ จะหัวเราะออกมาข้างนอก ก็กลัวเขา จะมองหน้าเอา หนุ่มสาวเดี๋ยวนี้ ไม่มีการรักนวล สงวนตัวเหมือนในอดีต ประเพณีค่านิยม ก็เปลี่ยนไป สำรวจใจ ตัวเองด้วย
อยากเล่นอย่างนี้อีกไหม สนุกไหม ใจไม่มี อยู่กับศีลของเราดีกว่า หน้าร้อน ใจอย่าร้อน รถเมล์ยังไม่มา รอต่อไป ลมร้อนพัดผ่าน นึกถึงบทกลอน รำพึงอันหนึ่ง

....คือสายลม แสงแดด และความร้อน
คือละคร บทเพลง เดือนเมษา
คือวัย คือวัน และเวลา
ที่ผ่านมา เพื่อฝาก การจากไป...

วันปีใหม่สากลก็ผ่านไปแล้ว วันปีใหม่ชาวจีนก็ผ่านไปแล้ว วันปีใหม่ของคนไทย สยามเมืองยิ้ม กำลังจะผ่านไป ชีวิตแต่ละชีวิตที่เกิดมาชาติหนึ่งทำอะไรได้นิดเดียว นิดเดียว ประเดี๋ยวเดียวจริงๆ ต้องสอนตัวเองให้เก่ง อย่าไปสอนคนอื่นให้เก่ง อย่าให้มันชินชา ต้องเอาเรื่องกับตัวเอง ถ้าไม่เข้มงวด ก็ไม่เข็ด สอนไม่จำ

ใครเบื่อความซ้ำซาก ยากบรรลุธรรม

จ. ๒๑ เม.ย.'๔๖
รู้มาว่า การทำอย่างต่อเนื่อง เป็นบทฝึกอย่างหนึ่ง ของผู้ที่ไปเข้าหลักสูตรมหัศจรรย์ ส่วนหลักพื้นฐาน ในการปฏิบัติ ของหลักสูตรมี ๔ ข้อ คือ
๑. พร้อมให้เวลาแก่กันและกัน
๒. พร้อมให้ความเข้าใจ
๓. พร้อมไม่ถือสา(ให้อภัย)
๔. พร้อมที่จะไม่ทำตามภพตัวเอง(ให้ความร่วมมือ)

ทั้ง ๔ ข้อนี้ก็สมควรแล้วนะ สำหรับผู้มารับการขัดเกลา อ่านดูเห็นง่ายๆ แต่ลึกซึ้งนะ ทำได้ ต้องเกิด ความเปลี่ยนแปลงแน่เลย นักปฏิบัติธรรม ต้องรบได้ทุกรูปแบบ พร้อมทันที นี่แหละ ถึงจะเรียกว่า นักรบ ลึกยิ่งกว่านั้นอีก ก็พร ๕ ประการ ที่ได้รับจากท่านสมณะบินบน เมื่อคืนวันปีใหม่ ๑ ม.ค. ต้องทบทวนหน่อย

๑. ไม่แนะนำสั่งสอนใคร ถ้าจะแนะนำให้ขออนุญาตก่อน
๒. ไม่พูดข้อบกพร่องของผู้อื่น
๓. ไม่พูดความดีของตนเอง
๔. ไม่พูดปฏิเสธ ยกเว้นให้พูดว่า ขอพิจารณาก่อน
๕. ไม่สรุปกิเลสผู้อื่น (ยกเว้นตัวเอง)

ผู้หญิงไวมากในการแนะนำ ฉันนี่แหละเป็นอย่างนั้นเลย แถมพูดถึงคนอื่นอีก ต้องหัดไม่รู้บ้าง ทำอะไร ก็ต้องหัดถาม ต้องหัดปรึกษาก่อน เพราะฉันชอบทำตามภพ นึกว่าทำได้ก็จะทำ ตอนนี้มีวิชาแล้วนะ ไม่ใช่วิชามาร เป็นวิชาปราบมาร ปราบผีมานะ ใครให้ช่วยทำอะไร ถ้าบอกว่าติดงาน นี่คือข้ออ้าง แต่จริงๆแล้ว ทนไม่ได้ ต้องไม่ติดค่ายกล แห่งกาลเวลา ไม่ยึด ฉันจะพยายามเข้าใจ ถ้าเข้าใจ ก็พร้อม ที่จะให้เวลา ให้ความร่วมมือ ไม่ทำตามภพ

วันก่อน คุณแก้วให้ช่วยทำความสะอาด ห้องอัดวิดีโอ ห้องที่พ่อท่านเขียนหนังสือ ฉันเคยช่วยตามโอกาส ตอนที่ช่วยกันถู คุณแก้วบอกเหนื่อย งานมากเลย แต่นึกถึงว่า จะให้ฉันช่วย แล้วก็วางใจ นอนก่อน พรุ่งนี้ค่อยเอาใหม่ งานเรามีมากล้นมือ เหนื่อยกันทั่วทุกคน ฉันช่วยอะไรได้ก็ยินดี พร้อม แต่ถ้าฉัน ปฏิเสธเมื่อใด ขอให้มีคนเตือนฉันด้วยนะ ชีวิตฉันก็วัยทองแล้ว เหลือเวลาไม่มาก จะไม่ดูดาย แม้ขี้เกียจ ก็จะฝืน ถ้าเห็นกิเลส จะหัดทำงานให้สนุก มีความสุขเมื่อทำงาน ไม่ใช่ทำเพื่อว่า เมื่อไหร่จะเสร็จสักที เอาประโยชน์ให้ได้ ทุกอย่างที่มาถึง

นึกได้อีกข้อหนึ่ง ที่ท่านสมณะบินบนให้ในงานพุทธาฯที่ผ่านมาคือ ข้อที่ ๖. ไม่โต้แย้ง คือไม่พูดโต้ก่อน หรือ กล่าวต่อปาก ต่อคำ ถ้าเอาแต่ใจตัวเอง ใช้อำนาจ ต่อไปจะไม่มีใครร่วมงาน ไม่มีใครกล้าบอกใช้ ถ้าปฏิบัติธรรม ไม่แม่นประเด็น จะอยู่ยาก

ท่านสมณะบอก หากถึงวันที่พ่อท่านไม่อยู่ พวกเราดูเหมือนจะแข็งแรง แต่พร้อมที่จะแตกหัก เพราะขาดตัว นอบน้อม ขาดความเคารพ มุ่งเหตุผลเป็นหลัก ไม่ประสาน เปราะบาง บอกยาก สอนยาก ต้องมีสำนึก แห่งความอ่อนโยน ลดอหังการ มมังการ ให้คนเตือนได้ น้อมรับฟังได้ มองและพิจารณาทุกอย่าง ที่เกิดขึ้น กับตัวเรา เอาประโยชน์ให้ได้กับทุกอย่าง ที่มาถึงเรา แปรเปลี่ยนให้ได้ ให้สู่โลกุตรภูมิ

ผู้ที่ไม่จำบทเรียนจากอดีต ประวัติศาสตร์ย่อมซ้ำรอยได้ แต่หากเราไม่เปลี่ยนแปลงสภาพ อนาคต เราย่อมจะต้อง ทนกับสภาพ ซึ่งอาจเลวร้าย ยิ่งกว่าการซ้ำรอย ของประวัติศาสตร์เสียอีก

- ร้อยดอกศีล -

(สารอโศก อันดับที่ ๒๕๙ เมษายน ๒๕๔๖)