หน้าแรก>สารอโศก


email: [email protected]

ยังเป็นที่กังขาว่า การใช้โทรศัพท์มือถือมีภัยจริงหรือ เมื่อหลายปีก่อน..... ท่านผู้ว่าราชการ จังหวัดเชียงใหม่ ออกมายืนยันว่า ภรรยาผมเป็นมะเร็งที่สมอง ไม่มีสาเหตุอื่น นอกจาก การใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นประจำ

หลายประเทศต่างวิเคราะห์วิจัยว่า คลื่นจากโทรศัพท์มือถือมีอันตรายแก่ผู้ใช้หรือไม่ ปรากฏว่า ผลการวิจัย แต่ละประเทศ ไม่ตรงกัน อาทิ ประเทศออสเตรเลียออกมายืนยันว่า การใช้โทรศัพท์มือถือคลื่นความถี่ ไม่มีอันตราย อีก ๒-๓ ประเทศที่ทำการวิจัยออกข่าวบอกว่า มีอันตราย หากคลื่นความถี่เกินขนาด

ประเทศไทยขานรับว่า โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่จะทำคลื่นความถี่ไม่ให้ผู้ใช้เกิดอันตราย แต่หลายโรงพยาบาล ขอความร่วมมือจากประชาชนที่เข้าไปในโรงพยาบาล ที่มีเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ให้ใช้ โทรศัพท์มือถือ ใกล้กับบริเวณที่มีเครื่องมือเหล่านั้น

ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มติชนออกมาเตือน ให้ระวังขับรถใช้มือถือ : น.ส.พ.ลอสแองเจลิส ไทมส์ รายงานว่า ผลการศึกษาฉบับใหม่ จากศูนย์วิเคราะห์ความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่าอุบัติเหตุทางรถยนต์ อันเนื่องมาจาก ผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์มือถือ ขณะขับรถ กำลังพุ่งสูงขึ้น จากสถิติพบว่าผู้เสียชีวิตจากกรณีเช่นนี้ ถึงปีละ ๒,๖๐๐ ราย ซึ่งเทียบกับสองปีก่อนปรากฏว่า ยอดผู้เสียชีวิตสูงขึ้น ๑.๕ เท่า อุบัติเหตุ จากการใช้ โทรศัพท์มือถือ ขณะขับขี่ยานยนต์ ยังทำให้ผู้ได้รับบาดเจ็บอีก ๕๗๐,๐๐๐ ราย ทรัพย์สิน เสียหายปีละ ๑.๕ ล้านราย สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก ราคาอุปกรณ์การสื่อสาร ประเภทนี้ มีราคาถูกลง คณะผู้วิจัยระบุว่า ความเสี่ยง ในการใช้โทรศัพท์มือถือ สูงขึ้น และสูงกว่าประโยชน์จะไล่ตามทัน

ข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ ๒๒ รัฐในสหรัฐ กำลังพิจารณาออกกฎหมาย ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ ขณะขับรถ ปัจจุบันนี้ ในสหรัฐ มีรัฐนิวยอร์กเพียงรัฐเดียว ที่ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ ขณะขับขี่ยวดยาน เว้นแต่ใช้ประกอบ อุปกรณ์แฮนด์ฟรี

องค์การอนามัยโลกได้ลงความเห็นว่า การใช้โทรศัพท์มือถือ เสี่ยงทำลายสุขภาพมนุษย์จริง และ ให้ระมัดระวัง หรือ จำกัดการใช้โทรศัพท์มือถือ โดยให้ใช้ตามความจำเป็นเท่านั้น ทั้งนี้ยักษ์ใหญ่ แห่งวงการ โทรศัพท์มือถือ หลายบริษัท ในประเทศญี่ปุ่น ประกาศร่วมมือ โครงการวิจัย หาผลกระทบ ของคลื่นวิทยุ จากโทรศัพท์มือถือ ต่อร่างกายมนุษย์ โดยบริษัท DoCoMo เป็นบริษัทแรก ที่เริ่มทำวิจัยชิ้นนี้ ก่อนบริษัทอื่น โดยจะเริ่มลงมือวิจัย อย่างจริงจัง ในเดือนเมษายน ๒๕๔๖ ในขณะที่บริษัทอื่นๆ จะทยอย ทำการวิจัย ไปเรื่อยๆ และผลที่ได้จะนำมาวิเคราะห์ ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อทุกบริษัท ทำการวิจัย เสร็จสิ้นแล้ว ท่านผู้อ่าน คอยสดับตรับ ฟังข่าวที่แน่ชัด จากผู้ประกอบการอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามมีเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในเมืองไทย โดยไม่ต้องทำการวิจัย เพราะเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ประสบ ด้วยตนเอง และยอมรับว่า เหตุเนื่องมาจากมือถือ พาดหัวข่าวเดลินิวส์ ฉบับวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ "ช็อตแรงถึงพิการ คลื่นมือถือ สื่อไฟฟ้าอันตราย กดรับโทรศัพท์ใต้เสาแรงสูง ขณะคุมงาน เสี่ยรับเคราะห์ร้าย ต้องตัดขาทิ้ง"

ทุกวันนี้โทรศัพท์มือถืออาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ผู้ประกอบธุรกิจอาจขาดเสียไม่ได้ แต่ใครเล่า จะรู้พิษสง ในการใช้ เพราะความรู้ไม่เท่าทัน กับอุปกรณ์อำนวยความสะดวก สมัยใหม่ จนอาจทำให้ ประสบภัยเช่น นายเดชา ค้ำชู เสี่ยรับเหมาก่อสร้าง ถูกแพทย์ตัดขาทิ้งทั้ง ๒ ข้าง หลังจากเคราะห์ร้าย กดรับสัญญาณ โทรศัพท์มือถือแล้ว ถูกกระแสไฟฟ้าช็อต จนสลบเหมือด ขณะยืนคุมงาน อยู่บนหลังคา ที่มีสายไฟฟ้าแรงสูง พาดผ่าน

ใครจะรู้บ้างเล่าว่า ขณะที่รับโทรศัพท์ ตรงไหนมีเสาไฟฟ้าแรงสูง เพราะเมื่อโทรศัพท์ดัง ต่างก็รีบรับ ไม่ทันสังเกต สังกาว่า บริเวณนั้นเป็นอย่างไร หากไม่เกิดเรื่องนี้ขึ้นมา เป็นอุทาหรณ์ ใครเล่าจะรู้ว่า พิษภัยของ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ใช้กันสะดวกนัก สะดวกหนา จะแรงถึงขั้น ทำให้คน ต้องเสียขา ไปถึงสองข้าง เช่นนี้ แม้เกิดเรื่องนี้ขึ้นมาแล้วก็ตาม ผู้เขียนก็ยังค่อนข้างแน่ใจว่า ขณะที่มีเสียงโทรศัพท์ ดังขึ้น ส่วนใหญ่ ก็จะรีบรับ ทันที เช่นเสี่ยผู้นี้

จึงขอเตือนภัยไว้ในคอลัมน์นี้ว่า หากแน่ชัดว่า จะต้องไปทำงานในสถานที่ ที่มีไฟฟ้าแรงสูง อย่าพึงพก โทรศัพท์มือถือ เพราะอาจอดใจ ไม่รับไม่ได้ แล้วสิ่งร้าย ที่ไม่คาดฝัน อาจเกิดขึ้น เพจเจอร์น่าจะปลอดภัยกว่า ตั้งแต่มีโทรศัพท์ มือถือเข้ามาตีตลาด เรื่องการใช้เพจเจอร์ ในการติดต่อ ธุระสำคัญ แทบหายไปจากวงการ สะดวกก็จริง แต่มีภัย เช่นเรื่องที่เกิดกับเสี่ยรับเหมา ใครเล่าจะรับผิดชอบ


(สารอโศก อันดับที่ ๒๕๙ เมษายน ๒๕๔๖