แถลง
โรงบุญมหากุศล มหาปีติ

เมื่อเอ่ยถึง "อาหารมังสวิรัติ" (บุญญาวุธหมายเลข ๑) นับว่าชาวอโศกได้พัฒนาการเรื่องนี้กันอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่การเปิดโรงบุญแจกจ่ายให้เข้าถึงประชาชน การเปิดร้านขายอาหารมังสวิรัติในราคาถูก และเมื่อเร็วๆนี้ หลายๆร้านพัฒนาการเป็นร้านมังฯบุฟเฟ่ต์ ให้คนกินตักเอาเองตามใจชอบ แล้วแต่ใครต้องการมากก็ตักมาก ใครต้องการน้อยก็ตักน้อยตามอัธยาศัย ใหม่ๆก็หวั่นกันว่า จะขาดทุนจะไปไม่รอด เพราะราคาก็ถูกแสนถูกอยู่แล้ว ถ้าปล่อยให้คนกินตักเอาเองได้ตามใจชอบ คงจะทุนหายกำไร(ที่เกิดจากค่าแรงงานของแต่ละคน)คงจะหมด หมดเนื้อหมดตัวเป็นแน่แท้ แต่การณ์กลับไม่เป็นไปดังคาด ยอดขายกลับพุ่งเพิ่มขึ้น กำไรเพิ่มขึ้น แต่เศษอาหารจากคนรับประทานกลับเหลือน้อยลงไปกว่าเดิม

แต่มีสะเก็ดข่าว รายงานถึงความหลงเหลือ "เชื้อ" แห่งความหวงแหนของแม่ค้าร้านมังฯบางรายว่า ยังมีสายตาจ้องมองแบบเพ่งโทสถือสา ลูกค้าบางคนที่มาตักเอามากๆ ทั้งๆที่ก็ได้ตั้งกติกากันไว้แล้วว่า ตักน้อยตักมากก็ได้ตามอัธยาศัย ไม่รู้ว่าใครทำผิดกติกากันแน่? แต่ถ้าเป็นคนฉลาด ก็จะเอาผัสสะที่เกิดขึ้นมาเป็นประโยชน์ สำหรับล้างจิตที่ตระหนี่หวงแหนของเราให้หมดไป และเกิดจิตเมตตาสงสาร บางครั้งอาจะเป็นความต้องการของร่างกาย หรือแม้ว่าต่อให้เกิดจากใจที่ขี้โลภของเขาก็ตาม การโลภในอาหาร "บุญ" ก็ดีกว่าโลภในอาหาร "บาป" เป็นไหนๆ และถ้าจะให้ดียิ่งกว่านั้น สามารถอ่านจิตตระกูล "โลภ" ที่เป็นความตระหนี่หวงแหนที่เกิดขึ้นในจิตของเราได้ และชำระล้างมันลงไปได้ด้วยก็ยิ่งดีใหญ่ ถือว่าได้บุญยิ่งกว่าขายอาหารมังสวิรัติยิ่งนัก

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า แม้จะทำบุญด้วยสำรับกับข้าว ด้วยอาหารชั้นเลิศมากมาย อย่างละ ๑๐๐ หม้อ ต่อให้วันละ ๓ เวลาก็ตาม บุญกุศลนั้นก็ไม่มากเท่ากับ การเจริญเมตตาเจโตวิมุติแม้ชั่วลัดนิ้วมือเดียว

ดังนั้น นอกจากการจัดงานโรงบุญมังสวิรัติประจำปีแล้ว โรงบุญประจำวันเราก็สามารถทำกันได้อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะความผิดพลาดหรือความบกพร่องของคนที่ใกล้ชิด หรือเพื่อนสหธรรมิกด้วยกัน ย่อมทำให้เราได้เจริญเมตตาบารมี แม้ชั่วลัดนิ้วมือเดียวก็เป็นมหากุศล มหาปีติแล้ว

เป็นประเพณีของชาวบ้านราชฯทุกๆปี หลังจากที่ได้ไปช่วยกันจัดงานโรงบุญฯตามหมู่บ้านต่างๆ ที่เคยผ่านการอบรมมาแล้ว ก็จะกลับมาเล่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์สู่กันฟัง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะได้ปีติกลับมาตามๆกัน สาเหตุสำคัญคงเป็นเพราะเราไม่ได้คาดหวังอะไรจากชาวบ้าน แค่เขากล้ามารับประทานกันเยอะๆก็ดีใจแล้ว ยิ่งเขาเข้ามาร่วมไม้ร่วมมือ ช่วยลงแรงแบ่งเบาอีกด้วย ก็ยิ่งได้กำลังใจเพิ่มขึ้นอีก ยิ่งบางหมู่บ้านยังแถมฝากพืชผักกลับมาด้วย มากกว่าตอนขนไปเสียอีก พวกเราก็ยิ่งหน้าบานกับความมีน้ำใจของชาวบ้านชนิดคาดไม่ถึง

ดังนั้น การไม่ไปคาดหวังอะไรๆจากใครๆ และการไม่รั้งรอเพราะอ้างนั่นอ้างนี่หรืออ้างคนนั้น คนนี้ให้เสียเวลา หน้าที่ของเราคือ ท! ท! ท!(ทำทันที) ใครทำได้ตามนี้ ก็น่าจะเป็นคนที่มีความสุขที่สุด สมกับโศลกงานมหาปวารณาปีนี้ที่ระบุว่า

"ไม่รอ....ไม่หวัง....แต่เราทำ!"

- คณะผู้จัดทำ -

- สารอโศก อันดับที่ ๒๖๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ -