สันติอโศกไม่ใช่ "นิกาย"

สันติอโศกเป็นแค่ "นานาสังวาส" กับสงฆ์เถรสมาคม

เนื่องจากมีข่าวแพร่ออกมาทั้งทางวิทยุและทางหนังสือพิมพ์ โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูง ของสำนักงาน ทางพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้กล่าว ว่า "สันติอโศก" หรือคณะสงฆ์"สันติอโศก" เป็น "นิกาย" ซึ่งไม่เป็น ความจริงเลย เป็นการกล่าวผิด ทำให้ประชาชนที่ได้ยินได้ฟังพลอยเข้าใจผิดไปด้วย ก่อความเสียหาย ให้กับพุทธศาสนา โดยเฉพาะเสียหายทางธรรมวินัย เพราะการกล่าวเช่นนั้นจะทำให้ "ธรรมวินัยวิปริตผิดเพี้ยน" ไปได้

ที่ถูกต้องนั้น คือ "สันติอโศก"หรือคณะสงฆ์"สันติอโศก" ไม่ได้เป็น "นิกาย" คณะสงฆ์ "สันติอโศก" เป็นแค่ "นานาสังวาส" กับสงฆ์เถรสมาคม ที่ถูกต้องตามธรรมวินัย หรือตามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ยังไม่ถึงขั้นเป็น "นิกาย" ตามที่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ผู้นั้นกล่าว หรือตามที่มีคนบางคน ผู้ยังไม่เข้าใจ ในธรรมวินัย เข้าใจผิดไป

คณะสงฆ์สันติอโศก มิได้เป็นนิกายแต่อย่างใด เพราะคณะสงฆ์สันติอโศกได้ปฏิบัติตามธรรมวินัยแล้ว อย่างถูกต้อง นั่นคือ ได้ประกาศตนเองเป็น "นานาสังวาส" กับคณะสงฆ์เถรสมาคม อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ต่อหน้าที่ประชุมสงฆ์ ถึง ๑๘๐ รูป อันมีเจ้าคณะอำเภอเป็นประธานสงฆ์อยู่พร้อม ในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ ซึ่งเจ้าคณะอำเภอ ก็ได้รายงานการประกาศตนเองเป็น "นานาสังวาส" ของคณะสงฆ์สันติอโศกนี้ ต่อคณะสงฆ์เถรสมาคม รับทราบตามระเบียบ ซึ่งมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ของผู้ว่าราชการจังหวัด (นายคล้าย จิตพิทักษ์) ถึงอธิบดีกรมการศาสนา ยืนยันความจริงนี้ (หนังสือที่ นฐ. 23/13430 วันที่ 10 กันยายน 2518) และคณะสงฆ์เถรสมาคม ก็ได้รับซับทราบยอมรับความจริง
ในความเป็น "นานาสังวาส" นี้แล้วด้วย ตามที่ได้แสดงออกในหนังสือ จากกรมการศาสนา ที่มีไปถึงผู้อำนวยการ ฝ่ายการเดินรถ การรถไฟ เมื่อ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๕ ซึ่งมีลายลักษณ์อักษรยืนยันว่า "...กรมการศาสนา ได้นำเรื่องเสนอมหาเถรสมาคมพิจารณาแล้ว ที่ประชุมลงมติ เห็นชอบด้วย ตามเหตุผล ที่กรมการศาสนาเสนอว่า เนื่องจากในปัจจุบันนี้ พระภิกษุสามเณร ในสำนักสันติอโศก มิได้ขึ้นอยู่ในปกครอง ของคณะสงฆ์ไทย ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๒๕๐๕ และ ไม่ได้อยู่ในความอุปการะ ของทางราชการ ....." (หนังสือจาก กรมการศาสนา ที่ ศธ.๐๔๐๗/๘๕๓๗)

ตามธรรมวินัย เมื่อสงฆ์เป็นนานาสังวาสกันแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างก็ปฏิบัติกันไป ตามความเห็นและยึดถือ ที่แตกต่างกัน และที่สำคัญก็คือ สงฆ์ฝ่ายหนึ่งไปฟ้องร้องชำระความผิด หรืออธิกรณ์อีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ได้ หากฝ่ายใด ไปอธิกรณ์อีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายนั้นต้องอาบัติ และอธิกรณ์นั้นเป็นโมฆะ การตัดสินความนั้น ไม่เป็นอันทำ ใช้ไม่ได้

แต่ทางคณะสงฆ์เถรสมาคม ก็ได้"กระทำ"กับคณะสงฆ์สันติอโศก ถึงขั้น"อนุวาทาธิกรณ์" หมายความว่า คณะสงฆ์เถรสมาคม ได้โจทหรือฟ้องร้อง กล่าวหาสันติอโศก แล้วก็ตั้งคณะพิจารณา ตัดสินความกัน นี่ก็เป็นการกระทำของ คณะสงฆ์เถรสมาคม ซึ่งที่จริง "กระทำไม่ได้" ตามธรรมวินัย

และอีกอย่าง การทำสังฆกรรมตัดสินความคดีของสันติอโศก มหาเถรสมาคม ก็เอาสงฆ์ทั้งฝ่ายธรรมยุต ทั้งสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ซึ่งเป็นสงฆ์ ๒ ฝ่ายหรือ ๒ นิกาย มาร่วมกันพิจารณาคดี ของสันติอโศก ซึ่งผิด ธรรมวินัย ทำไม่ได้ แม้ทำก็ไม่เป็นอันทำ โมฆะ ใช้ไม่ได้

แถมในการวินิจฉัยตัดสินความก็ไม่เป็น"สัมมุขาวินัย" คือ พิจารณาความลับหลังจำเลย เพราะไม่ได้แจ้ง จำเลย ไม่ได้เรียกจำเลย คือ สงฆ์สันติอโศกเข้าไปนั่งอยู่ในที่พิจารณาความ ร่วมรับรู้ รับฟัง ร่วมให้การ แต่อย่างใดเลย สงฆ์เถรสมาคม "กระทำ" ดังกล่าวนี้จริงทั้งสิ้น

กระนั้นก็ตาม คณะสันติอโศกก็อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ได้ดื้อดึงดัน ยอมในสิ่งที่ยอมเสียสละได้ ซึ่งก็พยายามที่จะ ไม่ให้เสียธรรม แม้ที่สุดยอมขึ้นศาล ยอมเปลี่ยนสภาพหลายอย่าง แต่ที่ไม่ยอมก็คือ ไม่ยอมสละสมณเพศ ยังขอยืนยันความเป็นสมณะ ตามธรรมวินัย อยู่ตลอดเวลา

และการต้องแพ้คดีความในศาลยุติธรรมทางโลกนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องธรรมวินัยเลย เป็นเรื่องของกฎหมาย ข้อกฎหมายที่ไม่ใช่บัญญัติ ของพระพุทธเจ้า ศาลมิได้พิจารณาความผิดทางธรรมวินัยใดๆ พิจารณาแต่เฉพาะ ในแง่กฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาใหม่ มิใช่ข้อบัญญัติของพระพุทธเจ้า

เพราะเหตุฉะนี้ ผู้ที่ไม่เข้าใจในความลึกซึ้งของธรรมวินัย จึงหลงเข้าใจผิดไปได้อย่างผิวเผินว่า คณะสงฆ์ สันติอโศก แพ้คดีในศาลของฆราวาสทางโลก ไม่ใช่ทางธรรมนั้น คือ คณะสงฆ์สันติอโศก ไม่เป็น "สงฆ์" ไม่เป็น"สมณะ"แล้ว ทั้งๆที่ประเด็นของข้อกฎหมาย ที่สมณะโพธิรักษ์ถูกฟ้องร้องนั้นคือ ทางเถรสมาคม มีมติสั่งให้ สมณะโพธิรักษ์ สละสมณเพศ ถ้าไม่สละสมณเพศ ก็ผิดกฎหมาย สมณะโพธิรักษ์ ไม่ยอมสละ สมณเพศ ยืนยันครองความเป็นสมณเพศตลอดมา ไม่ยอม"สึก" นั่นเอง นั่นก็หมายความว่า ยังคงเป็นสงฆ์ ครองสมณเพศอยู่ และก็เพราะยังคงครองความเป็นสมณเพศอยู่นี่เอง จึงได้ผิดกฎหมายข้อที่ฟ้องนี้

แต่ผู้ไม่เข้าใจถ่องแท้ ก็เข้าใจผิดว่า สงฆ์สันติอโศก ไม่ได้เป็นพระเป็นสงฆ์แล้ว เพราะแพ้คดี นี่คือ ความไม่ถูกฝา ถูกตัว ของผู้ยังไม่ลึกซึ้งในธรรมวินัย ยิ่งกว่านั้น มีการกล่าวหาว่า คณะสงฆ์สันติอโศกเป็น "นิกาย" ซ้ำเสียอีก ทั้งๆที่คณะสงฆ์สันติอโศก ยืนยัน และปฏิบัติตนแค่ "นานาสังวาส" ตามธรรมวินัย ตลอดมา อยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ ผู้ที่ "กระทำ" ให้เกิดแตกแยกกัน จนเกินเรื่อง เกินสัจธรรมไปนั้น จึงมิใช่ "การกระทำ" ของคณะสงฆ์สันติอโศก

สันติอโศก ไม่ได้เป็น"นิกาย" เป็นแค่"นานาสังวาส"เท่านั้นจริงๆ แต่สันติอโศก ถูกคณะสงฆ์เถรสมาคม หรือ พุทธกระแสหลัก "กระทำ" จนประชาชนที่ไม่รู้ลึกซึ้งในหลักธรรมวินัย เข้าใจผิดไป ว่า สันติอโศก "เป็นผู้กระทำตนเอง" แยกเป็น "นิกาย" ทั้งๆที่ตามความจริง คณะสงฆ์สันติอโศกเพียง"ทำตนเอง" เป็นนานาสังวาส เท่านั้น และการทำตนเองเป็น "นานาสังวาส" นี้ ก็ไม่ผิดธรรมวินัยด้วย เพราะพระพุทธเจ้า ทรงอนุญาต ให้ทำได้ เมื่อเกิดกรณีขัดแย้งกัน จนถึงขีดถึงขั้นตามที่เป็นจริง วินัยข้อนี้ เป็นทางออก ประเด็นหนึ่ง ของสังคมมนุษย์ อันเป็นสุดยอดแห่ง พระปัญญาธิคุณของพระพุทธองค์โดยแท้

"นานาสังวาส" หมายความว่า เป็นพุทธร่วมกัน แต่มีความแตกต่างกัน ซึ่งมิใช่แตกแยกกันเป็นนิกาย เช่น มี "กรรม" ต่างกัน มี"อุเทศ"ต่างกัน มี"ศีล"ไม่เสมอสมานกัน เป็นต้น

มีกรรมต่างกัน ก็คือ มีการกระทำแตกต่างกันไปแล้ว เช่น พฤติกรรมต่างกัน พิธีกรรมต่างกัน กิจกรรมต่างกัน

มีอุเทศต่างกัน คือ คำสอนคำอธิบายธรรมะไม่ไปทางเดียวกัน ยกหัวข้อธรรมขึ้นแสดงความหมาย ต่างกันไป

มีศีลไม่เสมอสมานกัน คือ ศีลข้อเดียวกัน แต่ปฏิบัติไม่เหมือนกันแล้ว เช่น ศีลข้อที่ว่า ไม่รับเงินทอง ไม่มีเงินทอง ไม่สะสมเงินทองเป็นของตน ฝ่ายหนึ่งรับอยู่สะสมอยู่ใช้อยู่โดยมีข้ออ้างไปต่างๆ แต่อีกฝ่ายหนึ่ง ไม่รับ ไม่สะสม ไม่ใช้ หรือศีลข้อที่ว่า ให้เว้นขาดการรดน้ำมนต์ ฝ่ายหนึ่งถือว่ารดน้ำมนต์ไม่ผิด ก็รดน้ำมนต์อยู่ แต่อีกฝ่ายถือว่าผิด ไม่รดน้ำมนต์ หรือศีลข้อที่ว่า ให้เว้นขาดการบูชาด้วยไฟ โดยใช้ สิ่งที่จุดเป็นเปลว หรือ เป็นควัน ทุกวันนี้ใช้ธูปและเทียน ฝ่ายหนึ่งถือว่าไม่ผิด ก็บูชาด้วยไฟ โดยใช้ธูป ใช้เทียน จุดไฟอยู่ แต่อีกฝ่าย ถือว่าผิด จึงไม่บูชาด้วยไฟเลยไม่ว่าจะใช้อะไรเป็นเชื้อไฟ เป็นต้น หรือ ฝ่ายหนึ่ง ไม่นับว่า จุลศีล-มัชฌิมศีล-มหาศีล เป็นศีลที่ภิกษุจะต้องยึดถือปฏิบัติสำคัญกันแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่ง ยังนับว่า จุลศีล-มัชฌิมศีล-มหาศีล เป็นศีลที่ภิกษุจะต้องยึดถือปฏิบัติสำคัญยิ่งด้วยซ้ำ ก็ยึดถือปฏิบัติกัน เคร่งครัดอยู่

ดังนั้น เมื่อขัดแย้งกันถึงขีดถึงขั้น เหตุการณ์ก็ย่อมเป็นไป สุดท้ายก็ต้องจบด้วยหลักธรรมวินัย ของพระพุทธเจ้า คือ นานาสังวาส นี่เอง เป็นข้อยุติเหตุการณ์จริงนั้นๆ

แต่ผู้ไม่เข้าใจในธรรมวินัยดีพอ ก็จะนับเอาความต่าง(นานา)ที่ต่างกันจริงๆนี้ เป็นการแยกถึงขั้น"นิกาย" ยิ่งผู้รู้ หลักธรรมวินัยดี ก็ไม่ช่วยกันทำความเข้าใจให้ผู้ยังไม่รู้ เข้าใจถูกต้องด้วย แถมกลับกระทำและ พูดบอกว่า สันติอโศกเป็น "นิกาย" ให้ผู้ไม่รู้เชื่อผิดซ้ำเข้าไปอีก ก็แน่นอน ผู้ไม่รู้ก็ต้องเชื่อ ตามปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ชวน ให้เข้าใจผิดนั้นๆ แน่นอน

ขอยืนยันว่า "สันติอโศก" ไม่ใช่"นิกาย" ตามธรรมวินัยโดยแท้ "สันติอโศก" เป็นแค่ "นานาสังวาส" เท่านั้น.

- สารอโศก อันดับที่ ๒๖๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ -