ประวัติศาสตร์การขนเรือโคกใต้ดิน

ท่ามกลางสายหมอกและอากาศหนาวของเช้าวันพุธที่ ๒๔ เดือนธันวาคม ๒๕๔๖ ณ พุทธสถาน ราชธานีอโศก นักบวช, ฆราวาส และนักเรียนสัมมาสิกขาทั่วประเทศ ประมาณ ๑,๐๐๐ ชีวิต ได้ร่วมมหกรรมประวัติศาสตร์ "ผนึกวิญญาณ สืบสานนาวาบุญนิยม" ลากเรือโคกใต้ดิน น้ำหนัก ๘๐๐ ตัน จากบริเวณถนนทางแยกเข้าหมู่บ้าน (บริเวณที่จอดรถ ตลาดอาริยะฯ) ไปยังเนินดิน หน้าเฮือนศูนย์สูญ ที่สูงจากพื้นดิน ประมาณ ๕ เมตร ระยะทางราบประมาณ ๑๒๐ เมตร และขึ้นเนินดิน ประมาณ ๘๐ เมตร รวมระยะทาง ๒๐๐ เมตร ใช้ลูกกลิ้งเหล็ก น้ำหนัก ๗๐๐ กิโลกรัมจำนวน ๑๐ ลูก รองใต้ท้องเรือเป็นระยะๆ ลงบนแผ่นเหล็ก จำนวน ๘ แผ่น รองรับ ลูกกลิ้งเหล็ก ใช้เชือกมะนิลาเส้นใหญ่ ในการลาก ช่วงแรกทางราบบนพื้นถนนใช้ ๖ เส้น ช่วงที่สองทางขึ้นเนินใช้ ๙ เส้น

กงล้อธรรมจักรวางอยู่หัวเรือด้านหน้าคู่กับธงชาติไทยและธงสุญญตา เหมือนจะเป็นรูปธรรม บ่งบอกถึงการเข็นกงล้อธรรมจักร ไปสู่มวลมนุษยชาติ พวกเราต้องสามัคคีร่วมแรงร่วมใจ จึงจะสำเร็จ ผู้ที่อายุมากที่สุด ในการลากเรือครั้งนี้คือ คุณยายหอม นิลละคอน อายุ ๘๕ ปี และอายุน้อยที่สุด คือ ด.ญ.แก้วกลั่นพร หิรัญเขว้า (น้องโมกข์) อายุ ๑๑ เดือน ๒๙ วัน เพื่อความเป็นประวัติศาสตร์ งานนี้ใช้กล้องภาพนิ่ง และกล้องวิดีโอ ประมาณ ๒๐ ตัว

วัตถุประสงค์ของเรือโคกใต้ดิน เมื่อซ่อมแซมเสร็จแล้ว อายุจะยาวนานนับร้อยปี ทำโรงเรียนเรือ ของนักเรียนสัมมาสิกขา ราชธานีอโศก ตั้งแต่ชั้น ม.๑-ม.๖ ท้องเรือ จะแบ่งเป็นห้องเรียน ๒ ฟาก ๖ ห้องเรียน ชั้นบนจะทำเป็นโรงเรือน ส่วนหัวเรือจะประดับตกแต่ง เป็นรูปปั้นโลหะ พญาครุฑจับนาค หางเรือเป็นลายกนก

...................

"เข้าที่...ที่....ที่...ทุก...คน....สู้ไม่สู้..." เสียงผู้นำที่อยู่หัวเรือร้องบอกและถามหัวใจของแต่ละดวง

"สู้...ส..." เสียงตอบกึกก้องไปทั่วบริเวณ พร้อมกับบอกข้อตกลงร่วมกันว่า ให้หยุดลากทันทีที่ได้ยิน เสียงนกหวีดเสียงยาว ปี๊ด..ด...ด...ด.... เพื่อหยุดพักสั้นๆ นำลูกกลิ้งเหล็กจากด้านหลังเรือมาเตรียมยังด้านหน้า

"จับเชือก...ก...ก..." เสียงผู้นำร้องบอกให้พวกเราจับเชือก ทุกคนก้มลงหยิบเชือกเส้นใหญ่ ไว้ในกำมืออย่างมั่นคง

"ทุกคน..น...พร้อม..ม...ม..." ผู้นำร้องถามความพร้อมอีกครั้ง

"พร้อม..ม...ม...." คำตอบที่เปี่ยมไปด้วยพลังดังสนั่นไปทั่วบริเวณ มือประสานมือ ใจประสานใจ ของแต่ละคน พร้อมที่จะทำตามคำสั่งของผู้นำ

๐๗.๐๙ น. ประวัติศาสตร์การลากเรือได้เริ่มขึ้น ใบหน้าของแต่ละคนเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม และแววตาที่มุ่งมั่น เดินเข้าประจำเชือกแต่ละเส้น พวกเราพร้อมแล้ว ที่จะร่วมแรงร่วมใจผนึกจิตวิญญาณ ชาวอโศกทุกดวง หลอมรวมเข้าด้วยกัน "เ..อ้...า...า....ไป...ป....ไป...ป...ไป...ป...." เรือยักษ์น้ำหนัก ๘ หมื่นกิโลกรัม ค่อยๆเคลื่อนตัวไปบนลูกกลิ้งเหล็กมุ่งไปข้างหน้า อย่างน่าอัศจรรย์ ช้าๆและมั่นคง ใบหน้าของแต่ละคน ยิ้มละไม ดวงใจพองโตด้วยความปีติ พร้อมกับเสียง "เฮ่...เฮ่...เฮ่..."

"เ..ดิ...น...หน้า..า...า.. ไป...ป..ไป...ป... ไป...ป... เยี่ยมมาก..ก..." ผู้นำร้องบอก

"ปี๊ด..ด..ด...ด.." เสียงเป่านกหวีดจังหวะยาว เป็นสัญลักษณ์ให้หยุดลาก

"หยุด..ด...ด..." ทุกคนร้องบอกต่อๆกันไปยังด้านหน้า ลูกกลิ้งที่รองใต้ท้องเรือ สิ้นสุดระยะทาง ต้องย้ายลูกกลิ้ง ที่รองรับด้านหลังเรือ มาเตรียมไว้ด้านหน้า เป็นทอดๆ ฝ่ายชายที่แข็งแรงช่วยกันดึงลากลูกกลิ้งเหล็ก จากด้านหลังเรือ มาเตรียมรองรับด้านหน้า แต่ละคนทำงานกัน อย่างกระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว ว่องไว และรวดเร็ว

๐๘.๒๔ น. เรือยักษ์ก็เคลื่อนมาถึงทางแยกเลี้ยวขึ้นเนินดินหน้าเฮือนศูนย์เรียบร้อย ซึ่งใช้เวลา ชั่วโมงเศษๆเท่านั้น พ่อท่านบอกว่า เร็วเกินคาด ในช่วงเลี้ยวนี้ แรงคนช่วยไม่ได้ ต้องใช้เครื่องกลหนักเจ้ายักษ์ (แบ็คโฮล์) ช่วย จึงให้พวกเราพักผ่อน และหยุดพัก รับประทานอาหาร พ่อท่านบอกว่า แรงช้างลากซุงก็สู้พวกเราไม่ได้ ด้วยการรวมพลังของพวกเรา การลากเรือในช่วงแรก บนพื้นถนนราบเรียบ หลายคนรู้สึกว่า เหมือนไม่ได้ออกแรงลากเรือเลย

๑๔.๐๐ น.เศษ ท่ามกลางแสงแดดร้อนแต่อบอุ่นในหัวใจ การลากเรือประวัติศาสตร์ช่วงที่สอง ก็เริ่มขึ้น เป็นทางลาดชัน ๒๐ องศา ระยะทาง ๘๐ เมตร สูงจากพื้นดินประมาณ ๕ เมตร การลากเรือในช่วงนี้ต้องใช้ความระมัดระวัง เพิ่มขึ้นเท่าตัว เพราะอาจจะเกิดเหตุการณ์ ที่ไม่คาดฝันได้ ต้องมีความเรียบร้อย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในช่วงนี้ใช้เชือกลากเรือ ๑๐ เส้น

"จับเชือก...ก....ก...." แต่ละคนเดินมาจับเชือกกำไว้ในมืออย่างมั่นคงและปลอดภัย

ยกเชือก เส้นที่ ๑... เส้นที่ ๒...... เส้นที่ ๓.... จนถึงเส้นที่ ๑๐... เพื่อดูความพร้อมว่า เชือกแต่ละเส้น มีกำลังพร้อมหรือไม่

"ยก...พร้อม...กัน...." ผู้นำร้องบอก เชือกแต่ละเส้นที่แต่ละคนประจำอยู่ยกชูขึ้นไว้เหนือหัว

"สวยงามมาก.......

พร้อม..ม...ม...." ผู้นำร้องถาม

"พร้อม...ม...ม....." พวกเราร้องตอบ

"เอ้า....ไป...ไป....ไป...."

"เฮ้...เฮ...เฮ้...เฮ...เฮ...เฮ่...เห่....เฮ...เฮ" พ่อท่านเย้าว่า โอ้โฮพระจันทร์เต็มดวง

หยุด..ด...ด....อย่าเพิ่งปล่อยเชือก...ให้ดึงไว้ก่อน....ตอกหลัก....พร้อมกับเสาไม้ทั้งซ้ายขวา ตอกลงไป ในห่วงลูกกลิ้งเหล็ก ทั้งด้านหัวและด้านท้าย พร้อมกับการย้ายลูกกลิ้ง และแผ่นเหล็กด้านหลัง มายังด้านหน้าเพื่อรองรับเรือ เมื่อสุดทางเนินดิน คนที่อยู่ปลายเชือก ก็ลงไปลากข้างล่าง ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันระมัดระวัง เพราะอาจเกิดอันตรายได้ แล้วการลากเรือยักษ์ ก็เสร็จเรียบร้อย ในเวลา ๑๖.๑๗ น. ใช้เวลาไม่ถึง ๒ ชั่วโมง เรือลากเสร็จเร็วก่อนกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ เสียงร้องไชโย....ดัง ๓ ครั้ง ดังสนั่นไปทั่วบริเวณ เมื่อเรือเคลื่อนมาถึง จุดหมายที่วางไว้

พ่อท่านผู้นำจิตวิญญาณของชาวอโศกในการลากเรือประวัติศาสตร์ครั้งนี้ได้กล่าวว่า

"ในช่วงร้อยปีจะมีกิจอย่างนี้เกิดขึ้นในเมืองไทย โดยใช้แรงความสมัครสมานสามัคคีของผู้คน ไม่ได้จ้างสักบาทเลย คนที่มาทำงานนี้ ทุกคนมาทำงานด้วยใจ ด้วยจิตวิญาณพร้อมกันเลย ระยะจากทางที่เราดึงมาจากโน่นถึงนี่ ประมาณสองร้อยเมตร ช่วงที่เราดึงขึ้นเนิน ประมาณ ๘๐ เมตร จากโน่นมาร้อยกว่ามาถึงที่เลี้ยว แล้วมาถึงนี่ เราใช้เวลาช่วงเช้าร้อยกว่าเมตร ออก ๐๗.๐๙ น. ๒ โมงครึ่ง ก็มาถึงแล้วหยุด มา บ่ายสองโมงเศษ ก็ได้ขึ้นมา ขณะนี้บ่ายสี่โมง ๑๗ นาที เราใช้เวลาไม่ถึง ๒ ชั่วโมง ก็ขึ้นมาแล้ว

พ่อท่านได้อธิบายความหมายของเรือว่า "....โคกใต้ดิน มีความหมายว่า เป็นของสูงอยู่บนที่สูง สูงได้ทั้งๆที่ ไม่น่าจะขึ้นสูงได้ ก็ขึ้นสูงได้ อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ก็ยังไม่ถือตัวว่าอยู่สูง ถือตัวว่า อยู่แค่ใต้ดิน เป็นการอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นการไม่ถือตัว ไม่หยิ่งผยอง

ถ้าเราใช้แรงเครื่องกลหนัก แรงธรรมดาลาก ก็ได้อยู่หรอก ก็ไม่ได้ประหลาดอะไร เครื่องกลเราก็มี แต่ไม่ได้เป็นการเกิด การรวมน้ำใจสัมพันธ์ ที่เรามาร่วมกันเหน็ดกันเหนื่อย ร่วมกันสร้าง ประวัติศาสตร์ สิ่งนี้ไม่ใช่ง่าย แล้วก็ทำกันดูอย่างระมัดระวัง

อาตมาภูมิใจอยู่อย่างหนึ่งที่ทำเสร็จแล้ว ไม่มีอุปัทวเหตุอะไรเลย อันนี้แหละคือสิ่งที่ยอดเยี่ยม แสดงว่าพวกเรา ระมัดระวัง พวกเราไม่มีใครตะแบง รับฟังกัน มีคำสั่งอย่างโน้น ตกลงกัน ทุกคน ก็รับฟังกันด้วยดี ต่างคนต่างทำๆ เรื่องก็เลยเรียบร้อยหมด"

ประวัติศาสตร์ครั้งนี้ได้จารึกไว้แล้วในจิตวิญญาณของชาวอโศกทุกดวง ณ ดินแดนแห่งนี้ เป็นบทพิสูจน์ พลังศรัทธา แห่งการเข็นกงล้อ ธรรมจักร ที่ต้องอาศัยศรัทธา อันแรงกล้า เพื่อร่วมสืบสาน งานศาสนาต่อไปตราบนานเท่านาน

"โคกใต้ดิน" เป็นเรือเอี๊ยมจุ๊นลำใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และในบ้านราชฯ กว้าง ๙ เมตร ยาว ๒๘ เมตร หนัก ๘๐ ตัน (๘ หมื่นกิโลกรัม) ราคา ๑๑๐,๐๐๐ บาท ขนย้ายจากแม่น้ำเจ้าพระยา มาถึงบ้านราชฯ เมื่อวันที่ ๒๗ ธ.ค. ๔๕ และเมื่อวันที่ ๒๓ ธ.ค. ๔๖ เวลาประมาณ ๑๘.๐๐-๒๑.๐๐ น.เศษ เรือสินในสูญ เรือเอี๊ยมจุ๊น อีกลำหนึ่งน้ำหนัก ๓๐ ตันเศษๆ กว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๕ เมตร ที่จอดอยู่บริเวณเดียวกัน กับเรือโคกใต้ดิน ได้เคลื่อนย้ายมาตั้งเด่นเป็นสง่า อยู่บนเนินดิน หน้าเฮือนศูนย์ โดยรถสิบล้อ และรถแบ็คโฮล์ "เจ้ายักษ์" ช่วยกันลากมา พ่อท่านดำริว่า จะนำมาทำ เป็นอาคารเรียนของ นักเรียนชั้นประถมศึกษาบ้านราชฯ โดยกลุ่มสมุนพระราม หัวเรือจะปั้นเป็นโลหะ รูปหนุมาน

- ลูกอโศก -


๒๔ ธันวาฯมหาฤกษ์ เอิกเกริกอึงอื้อหวือหวา
พ่อท่านนำพวกเราลากนาวา สร้างประวัติศาสตร์ศรัทธาร่วมแรงกัน
ผนึกวิญญาณเป็นหนึ่งดึงเรือใหญ่ เพราะพวกเราเข้าใจการสร้างสรร
สานงานต่อตามรอยพ่อขอยืนยัน ประสานสัมพันธ์เหมือนพี่น้องร่วมท้องเดียว
สถาบันอโศกคือโลกใหม่ ถักทอใจสมานสมัครรักแน่นเหนียว
เมื่อพวกเราผนึกแน่นเป็นหนึ่งเดียว ความกลมเกลียวเหงื่อหนักเปื้อนเลื่อนเหมือนเรือเบา
จากเรือใหญ่ในน่านน้ำเจ้าพระยา เคลื่อนย้ายมาเพื่อเร่งรัดขจัดเขลา
เป็นอาคารเรียนของผองเพื่อนเรา เป็นที่สอนขัดเกลาจิตวิญญาณ
โรงเรียนเรือลำแรกหนึ่งในโลก ชาวราชธานีอโศกต้องสืบสาน
เราทั้งหมดจะจดจำเป็นตำนาน หล่อหลอมจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน
อนาคตแม้ยาวไกลจะไม่ท้อ สืบสานต่องานศาสนาไม่น่าหวั่น
ลากเรือชี้ให้เห็นเป็นสำคัญ เพื่อรวมกันพร้อมพรักไม่หนักเลย
เฮ้..เฮ้..เฮ้..เฮ..เฮ..กระชากฉุด เมื่อเรือเคลื่อนเพื่อนก้าวรุดไม่หยุดเฉย
คอยฟังเสียงคนบัญชาอย่าละเลย ฝึกให้เคยมีวินัยน้อมใจฟัง
การบัญชาบนหัวเรือเพื่อสั่งเพื่อน ไม่ใช้แรงเหมือนเพื่อนๆดูหน้าหลัง
อันตรายซ้ายขวาระแวดระวัง ส่งเสียงดังลั่นๆสั่งบัญชา
นักเรียนเรารวมพลังแม้ยังเด็ก ลากหมอนเหล็กรองเรือเหนื่อยหนักหนา
ดูคล่องแคล่วกว่าใครเพื่อนเคลื่อนหมอนมา เห็นแล้วน่าศรัทธาในน้ำใจ
ภาพพ่อท่านช่วยทำนำลูกๆ ความรู้สึกพันผูกน้ำตาไหล
เจ็ดสิบปีพ่อท่านยังว่องไว คอยห่วงใยบอกสั่งให้รั้งรอ
ผู้อายุยาวราวแปดสิบห้าอาสาสู้ ไม่ยืนดูแต่ช่วยดึงซึ้งใจหนอ
แม้หนักหน่วงพ่อไม่ให้ใครพนอ มาร่วมก่อขอสร้างด้วยอยากช่วยงาน
อนาคตพุทธศาสนาก้าวหน้าแน่ กิ่งอโศกต้องแผ่เกื้อไพศาล
ขอเพียงเรารวมน้ำใจให้เนาว์นาน ยากเพียงใดไม่อาจต้านทานแห่งเรา

** สมณะธาตุดิน ปฐวีรโส

สารอโศก อันดับที่ ๒๖๗ ธันวาคม ๒๕๔๖