ตอน แนวทางบุญนิยม
กับการสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรชุมชน
ท่ามกลางกระแสทุนนิยมเสรี


ตุลาคม ๒๕๔๖
ต้นเดือนคาบเกี่ยวจากปลายเดือนที่แล้วมีการประชุมประจำเดือนขององค์กรต่างๆ ทั้งสันติอโศก และปฐมอโศก กลางเดือน ออกพรรษาแล้ว จึงเดินทางกลับมาที่ สันติอโศก เดือนนี้มีหลายเรื่องราว ที่น่าสนใจ

ภาวะผู้นำ เป็นประเด็นในการสัมภาษณ์ที่ครูฟังฝนให้เด็กนักเรียน สส.สอ. มาขอสัมภาษณ์ พ่อท่าน (๑ ต.ค.) ตัวอย่างคำถาม.... ท่านมียุทธศาสตร์ ในการบริหารงานอย่างไร?.... เมื่อมีปัญหา ในเรื่องงาน และคน ท่านจะมีวิธีแก้ปัญหา ที่เป็นรูปธรรมอย่างไร?..... วิสัยทัศน์ในการบริหารงาน และหน้าที่ที่ควรรับผิดชอบ เป็นอย่างไร? .... อุดมคติ หลักการ แนวคิดส่วนตัวและความมุ่งมั่น ที่จะทำงานให้สำเร็จ เจริญก้าวหน้า มีอย่างไร?

นวัตกรรมหมู่บ้าน...ยากจน...->...พอเพียง..->...บุญนิยม....เป็นอย่างไรแท้? ๖ ต.ค. คุณรินไท สุขเกษม ผู้ใหญ่บ้าน ของหมู่บ้านราชธานีอโศก ได้บอกเล่าเรื่อง ที่ได้ไปร่วม ประชุม กับหน่วยงาน ของรัฐ ซึ่งได้ทำการสำรวจ หมู่บ้านยากจน ของอำเภอวารินชำราบ เพื่อนำเสนอ รายงานไปยัง หน่วยเหนือ ต่อไป ผลปรากฏว่า หมู่บ้าน ราชธานีอโศก จัดเป็นหมู่บ้าน ยากจน ลำดับที่ ๕ ของอำเภอวารินชำราบ เรื่องนี้พ่อท่าน มีท่าทีอย่างไร? การวัดค่า GDP พ่อท่านเห็นอย่างไร?..... แถมมีเกร็ดเล็กๆ เรื่องการไม่ใส่รองเท้า เข้าร่วมประชุมของคุณรินไท เรื่องนี้มีส่วนใดที่น่าศึกษา

ฉลองน้ำ >> น้ำลด งดฉลอง แม้ปีนี้น้ำท่วมจะไม่มากเช่นปีก่อนๆแต่พ่อท่านก็ให้จัดงาน ฉลองน้ำ ๖-๑๒ ต.ค. แต่มีเหตุ ที่ต้องลดเวลา ลงมาเหลือเพียง ๖-๘ ต.ค. เพราะน้ำลด ลงมาก หากจัดยาว ออกไป การเข้าออก อาจลำบาก ด้วยเรือใหญ่ ก็จะใช้ไม่ได้ รถก็ยังไม่สะดวก ครั้นถึงวันที่ ๘ พ่อท่าน จึงประกาศงดฉลองฯ จากการแสดงธรรม ในช่วงงานฉลองน้ำ มีอะไรที่น่าสนใจ....

มังฯบุฟเฟ่ต์ เป็นชื่อร้านอาหารมังสวิรัติหลังร้านค้าสหกรณ์บุญนิยม ซึ่งตั้งอยู่ ในพื้นที่ของ สำนักงานเขต พื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต ๔ ข้างตลาดวารินชำราบ เนื่องจาก การบริหาร จัดการร้าน เป็นแบบ ให้ลูกค้า บริการตนเอง เพื่อลดจำนวนคน ที่จะต้องมาทำงานที่นี่ อีกทั้งพ่อท่าน มีเจตนา ที่จะใช้คำว่า "มังฯ" ให้เป็นที่ชินตา ชินหู ชินปาก ของคนในสังคม เช่นเดียวกับคำว่า "เจ" จึงตั้งชื่อร้านว่า มังฯบุฟเฟ่ต์ การเปิดร้าน มีผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานเขตฯ เป็นแขกผู้มีเกียรติ ในการทำการ เปิดร้าน (๙ ต.ค.) พ่อท่านได้แสดงธรรม เป็นการเปิดร้านด้วย แต่ในที่นี้ขอข้ามผ่าน ผู้สนใจติดตามได้จาก เท็ปบันทึกเสียง

งาน ๓๐ ปี ๑๔ ตุลา ที่อุบลราชธานี พ่อท่านได้รับนิมนต์ให้ไปแสดงธรรม ที่ศาลาประชาคม โดยกำหนดหัวข้อ ให้พ่อท่าน แสดงธรรมว่า แนวทางบุญนิยม กับการสร้างความเข้มแข็ง ให้องค์กรชุมชน ท่ามกลางกระแสทุนนิยมเสรี มีอะไรน่าสนใจ ในกิจกรรมนี้....

เมฆาอโศก หลังออกพรรษาแล้วพ่อท่านเดินทางกลับสันติอโศกโดยรถยนต์ แวะที่เมฆาอโศก (๑๕ ต.ค.) จ.บุรีรัมย์ เนื่องจากเป็นชุมชนใหม่ ที่จัดงานอบรม ตามโครงการร่วมกับ ธ.ก.ส. การมาเยือน ของพ่อท่าน ครั้งนี้ จึงถือเป็นกำลังใจ ให้ชาวเมฆาอโศก พอดีมีญาติธรรมเสียชีวิต จึงกลายเป็น มาเทศน์งานศพ ไปในตัว รายละเอียดของการแสดงธรรม ขอข้ามผ่าน ผู้สนใจ ติดตามได้จาก เท็ปบันทึกเสียง

อาคารองค์กรบุญนิยม ๑๘ ต.ค. มีการประชุมการสร้างอาคารองค์กรบุญนิยม (หลังบจ.พลังบุญ) ที่มาของ ความคิด ในการสร้างอาคาร องค์กรบุญนิยมเป็นอย่างไร

ดร.สาทิส อินทรกำแหง ๑๙ ต.ค. ที่สันติอโศกได้เชิญ ดร.สาทิส มาให้ความรู้ในการดูแล สุขภาพ อย่างชีวจิต ข้าพเจ้าขอข้ามผ่าน ในรายละเอียด มีสิ่งใดที่น่าสนใจ เชิญติดตามได้ จากเท็ป บันทึกเสียง

ฉลองสนามหญ้า เนื่องจากสนามหญ้าหน้าบ้านดอกไม้ ที่สันติอโศก ทำเสร็จในช่วง พรรษานี้ เมื่อออกพรรษา พ่อท่านกลับมา พร้อมกับแนวความคิด เทศน์ทำวัตรเช้า วันจันทร์ แทนวันเสาร์ ที่บ้านราชฯใช้ เพื่อให้คนในที่ทำงาน ตามหน่วยงานต่างๆ ได้มีโอกาสฟังธรรมบ้าง จันทร์ที่ ๒๐ ตุลาคม จึงถือเป็นฤกษ์ดี ในการฉลองสนามหญ้า ไปในตัว เนื้อหาที่น่าสนใจ พ่อท่านอธิบาย กัมมารามตา และฉันทะ เชิญพลิก ไปอ่านได้.....

ตอบปัญหาฝ่าวัยจ๊าบ ๒๓ ต.ค. ที่สันติอโศกมีงานอบรมคนหนุ่มสาวผสมวัยรุ่นบ้าง ประมาณ ๑๕๐ คน พ่อท่านได้รับนิมนต์ ให้เทศน์และตอบคำถาม ของคนหนุ่มสาว เหล่านี้ มีสิ่งใดที่น่าสนใจ ติดตามได้ จากเท็ปบันทึกเสียง ข้าพเจ้าขอข้ามผ่าน ในรายละเอียดนั้น....

ปิดท้ายบันทึกฉบับนี้จากโอวาทปิดประชุมชุมชนปฐมอโศก (๒๗ ต.ค.) พ่อท่านกล่าวถึง งาน เอเป็ค เปรียบเทียบกับ บุญนิยมไว้อย่างไร?


ภาวะผู้นำ
๑ ต.ค. ๔๖ ที่สันติอโศก ครูฟังฝนได้ให้นักเรียน สส.สอ.มาสัมภาษณ์พ่อท่านเกี่ยวกับ ภาวะผู้นำ จากคำถาม คำตอบ ที่น่าสนใจดังนี้......

ถาม : ท่านมียุทธศาสตร์ในการบริหารงานอย่างไร?

พ่อท่าน : อาตมาสร้างคนในการพัฒนา ไม่มีวิธีการอะไรมาก นอกจากเอาวิธีการ ประพฤติ ปฏิบัติธรรม ของพระพุทธเจ้า เมื่อคนได้ฝึกฝนอบรม ก็จะมีมรรค มีผลมีคุณภาพ ของการปฏิบัติธรรม เพิ่มขึ้นๆ เมื่อคุณภาพ ของคนดีขึ้น ไม่ว่าเราจะใช้ หลักการอะไรของโลกๆ ก็ตาม ที่จะทำให้เกิดผล ตามที่ต้องการ เป้าหมายอย่างไร ก็ทำสำเร็จได้ เพราะฉะนั้น วิธีการ หรือยุทธศาสตร์ทางโลกนี่ ก็จะหาแต่กรอบว่า จะทำอย่างไร จึงจะเกิดประสิทธิภาพ ในการบังคับ อาตมาขอใช้คำว่าบังคับ หรือหลอกล่อ ให้คนทำตามที่ตนต้องการ แล้วมันก็จะได้ผลตามเป้าหมาย นักมวย ก็จะเอาเหรียญ เอาตรา เอาเงินเอาทอง เอาการยกย่องเชิดชู หลอกเขา เขาก็ทำตาม เขาก็สู้สุดชีวิตเพื่อแลก เอาสิ่งที่ เขาหลง ง่าย....โลกเขาจะใช้อำนาจสั่งการ ใช้สิ่งล่อ หรือ อามิสให้คนทำ นั่นเป็นวิธีการของผู้นำ ทั้งหลาย แบบโลกีย์ แต่โลกุตระ แบบที่อาตมาพาทำ วิธีการคือ พัฒนาคน ทำคนให้ลด กิเลส ลดความเห็นแก่ตัว คนที่ลดกิเลสลงไป จะไม่เหมือนกับ ฤาษี ความโลภโมโทสัน ลดลงจริงๆ และมีปัญญา รู้แจ้งความจริง ตามความเป็นจริง ไม่งง ไม่โง่ จึงทำงานกับสังคมได้ เพราะเห็นจริงว่า เสียสละ คือ กำไรที่แท้จริง จึงสู้สุดชีวิตเพื่อเสียสละ คนผู้บรรลุธรรม ที่เป็นความจริง ดังกล่าวนี้ จึงเป็นผู้นำที่มียุทธศาสตร์ ไม่บังคับ ไม่หลอกล่อ


ถาม : เมื่อมีปัญหาในเรื่องงานและคน ท่านจะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร?

พ่อท่าน : เรื่องงานก็เกิดจากคนอีกแหละ มันเกี่ยวเนื่องเป็นสำคัญ คนเป็นคำตอบ เมื่อมีปัญหา เรื่องคน ต้องพัฒนาคน แก้ไขที่คน ถ้าคนไหนอยู่ในภาวะที่แก้ไขไม่ไหว ก็ให้ห่างไป หรือให้ออกไป คนไหน ที่แก้ไขได้ ก็พยายามพัฒนาเขา ด้วยความสามารถ เอาความจริงนี่แหละ มาพูดให้เห็นว่า อะไร มันถูกต้อง อะไรมันดีงาม อะไรมันควร จะหยุด จะเลิก ให้ชัดเจน เพื่อให้เขาพัฒนาแก้ไข ปรับปรุง เมื่อแก้ไขปัญหา ที่คนได้ คนก็เอาไปแก้ไขหรือเอาไปปฏิบัติงาน เพราะฉะนั้น ปัญหาที่งาน ก็ไม่ได้มีปัญหามาก ปัญหามันอยู่ที่คน เมื่อแก้ไขปัญหาคนได้ ก็นำคนเข้าไปทำงาน ปัญหาที่งาน มันก็ลดลง เท่านั้นเอง ส่วนปัญหาที่งานอยู่ที่เทคนิค อยู่ที่ความรู้ความสามารถ ถ้ามีความรู้ ความสามารถ แล้วก็หมดปัญหา ส่วนที่ไม่มีก็ไปฝึกฝนเรียนรู้อีก หรือจะเอาใครมาดู มาเพิ่มเติมอะไร ก็ว่ากันไป ปัญหามันอยู่ที่คน ถ้ามีอะไร ไม่ค่อยชอบมาพากล มีความขัดแย้ง ที่คน ก็แก้ปัญหาที่คน เมื่อแก้ปัญหาคนได้ ก็แก้ปัญหา งานได้ ทุกวันนี้โลก หรือสังคมแก้ปัญหา ที่งาน กลไก ระบบอะไร ต่างๆ ก็ไม่แก้ปัญหาที่คนเป็นจุดเอก เอาอื่นเป็นจุดรอง ไม่พัฒนาคน ไม่เปลี่ยนแปลงคน เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาจึงไม่สำเร็จ

ถาม : วิสัยทัศน์ในการบริหารงานและหน้าที่ ควรเป็นอย่างไร?

พ่อท่าน : วิสัยทัศน์ของอาตมากว้างได้ แต่อาตมาไม่เอาวิสัยทัศน์ที่กว้างๆนั้นมาใช้ รู้พอเข้าใจ รู้และขีดไม่ให้กว้างนัก ไม่ไกลนัก ที่เอื้อมถึงอย่างมั่นใจ อยู่ในรัศมี ที่จะทำงานได้อย่างชัดเจน ที่เป็นไปได้ตามลำดับ เพราะวิสัยทัศน์ ที่กว้างไกล ไปใหญ่ไปโต ไปมากมายอะไรนั่น มันจะกระจายเกินไป พลังงานในการสร้างสรร ก็จะลดลง เพราะถูกดึงไปสู่ การมีวิสัยทัศน์กว้าง มันจะขยายงานขยายเครือข่าย ขยายกระแสออกไป เกินกว่าที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้น ใครที่ไปหลงวิสัยทัศน์มาก กว้างไกลเกินไป มักจะพลาด ถ้าเราไม่หลงวิสัยทัศน์มากเกินไป แม้จะพอรู้ จะมีสิ่ง ที่เราเข้าใจ ต่อเนื่องออกไปประมาณหนึ่ง ไม่กว้างไม่ไกลนัก ก็ทำให้มันสำเร็จ ไปตามลำดับเถอะ และ มันจะไปสุดไกลสุดกว้าง จะไปถึงอย่าง มีลำดับต้น กลาง ปลาย ก็จะถึงจุดกว้าง จุดไกล อย่างสมบูรณ์ ได้อย่างแน่นแฟ้น อย่างมีเนื้อหา ที่แข็งแรงเอง

ถาม : อุดมคติ หลักการ แนวคิดส่วนตัวและความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้สำเร็จ เจริญก้าวหน้า มีอย่างไร?

พ่อท่าน : อุดมคติของอาตมาสูงสุดคืออุดมคติที่ทำให้คนเจริญที่สุด ถึงนิพพาน ไม่มีกิเลส มีประสิทธิภาพ สมรรถนะ ไม่มีความเห็นแก่ตัว เป็นคนขยัน เป็นคนช่วยโลก เสียสละแท้ มีความพากเพียร อุตสาหะเกื้อกูล เมตตา คนที่มีผลสำเร็จ จะเป็นเช่นนั้น

เพราะฉะนั้น เป้าหมายอุดมคติของอาตมา คือ สร้างคน ทีนี้หลักการต่างๆ ของพระพุทธเจ้า นับแต่ สติปัฏฐาน ๔ มรรคองค์ ๘ โพชฌงค์ ๗ ต่างๆนานามีมากมาย เรานำมาอบรมให้คน ลดกิเลสได้จริง เพราะงานของ พระพุทธเจ้า เป็นทฤษฎี ที่จะฝึกคน แล้วคนจะเป็นงาน หรือรู้จักอาชีพ เป็นสัมมาอาชีพ รู้จักการกระทำ การงานต่างๆ สัมมากัมมันตะ รู้จักคิด สัมมาสังกัปปะ รู้จักพูด สัมมาวาจา จะได้เป็นคน ที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพในสังคม อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่อาตมา ทำมา ไม่กี่สิบปี ถ้าได้ทำนาน กว่านี้ วิธีของพระพุทธเจ้าจะพาให้คนดีกว่านี้ขึ้นไป มีคุณภาพทั้งลึก ทั้งกว้าง ทั้งมีพลังรวม เพราะธรรมะ ของพระพุทธเจ้าเป็นสังฆะ เป็นกลุ่ม พลังที่ร่วมกันทำ สมานเครือข่าย ออกไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ถามถึงอุดมคติ หลักการอย่างไร?.....ก็ถอดออกมาจากพระพุทธเจ้าทั้งหมด เพียงแต่ว่า มีเหตุปัจจัย อาจจะมากกว่า ยุคพระพุทธเจ้า ปรุงแต่งกันมาอย่างไร เราก็ต้องฉลาด รู้ว่าอะไร ที่มันขยายผล งอกกิ่ง งอกราก แต่ก็มีหลักมีรากฐาน มีแกน ที่จะต่อเชื่อมโยง สรุปคือ ใช้หลักการของ พระพุทธเจ้า เป็นหลักทั้งนั้น

ถาม : ท่านมีข้อเสนอแนะอะไร?

พ่อท่าน : ข้อเสนอแนะคือ อยากให้คนทั้งโลก สนใจเรื่องธรรมะของพระพุทธเจ้า จริงๆ ศึกษา ให้ถูกต้อง มีสัมมาทิฐิ และประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะมีวิชาการใดๆ ในโลก ถ้าคนที่ได้ ปฏิบัติธรรม ที่ถูกต้อง ก็จะไป ใช้วิทยาการ สมัยใหม่ ที่เป็นประโยชน์ ต่อสังคม ต่อตนเอง นี่คือจุดสำคัญที่สุด ที่จะแนะคนทั้งโลก


นวัตกรรมหมู่บ้าน...ยากจน...>>...พอเพียง...>>
...บุญนิยม...เป็นอย่างไรแท้?

๖ ต.ค. ๔๖ ที่ราชธานีอโศก คุณรินไท สุขเกษม ผู้ใหญ่บ้านได้บอกเล่า เรื่องราว ที่ได้ไปร่วมประชุมกับทางราชการ จากบางส่วนที่น่าสนใจ ดังนี้.....

รินไท : เมื่อวันที่ ๒ ที่ผ่านมาทางอำเภอได้มีการประชุมกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ทางพัฒนาชุมชน ได้มีการสำรวจ ความยากจน ของหมู่บ้าน ในอำเภอวารินชำราบ ก็ปรากฏว่า มีหมู่บ้าน ยากจน ๑๕ หมู่บ้าน เขาไล่ลำดับจนที่สุดขึ้นมา ของราชธานีอโศก นี่เป็นหมู่บ้านยากจน อันดับที่ ๕ แล้วนโยบาย ของนายกฯ จะทำให้ประเทศนี่หมดความยากจน

พ่อท่าน : เนี่ยอาตมาได้ทราบมา นายกฯพูด จะเลิกทาสระบบทุนนิยม จะปลดแอก ระบบทุนนิยม ฟังแล้วเก๋จังเลย เหมือนกับ จะมาเป็นบุญนิยม แต่ไม่ใช่ จะทำทุนนิยม ไปแข่งกับทุนนิยม จะทำให้คนจน ไปแข่งกับคนรวย

รินไท : การที่เขาตัดเกรดว่าหมู่บ้านไหนยากจนหรือไม่ เขาดูรายได้ของ ประชากร ในหมู่บ้าน จะต้องมีรายได้ สองหมื่นบาท ต่อปี ถ้าต่ำกว่า สองหมื่นบาทต่อปี ถือว่ายากจน เขาก็มาสำรวจ ในหมู่บ้านราชธานีอโศก

พ่อท่าน : มันน่าจะเป็นที่หนึ่งนะ เพราะพวกเราไม่มีรายได้เลย

รินไท : ผมก็ให้ข้อคิดเห็นกับทางนายอำเภอไปนะครับว่า หมู่บ้านราชธานีอโศกนี่ ที่ว่า เป็นหมู่บ้านยากจน อาจจะไม่ชัดเท่าไรนะครับ ผมว่าน่าจะเป็นหมู่บ้าน เศรษฐกิจ พอเพียง ถ้าดูจากประชากร ในหมู่บ้าน เขาพอเพียงไหม เขาจนจริงหรือเปล่า รายได้ไม่มี จะถือว่า เป็นคนจน.... ไม่ได้ เราอุดมสมบูรณ์ ผมเสนอไปว่า คำว่า หมู่บ้านยากจน น่าจะเอาหลายๆ อย่าง มาพิจารณา ไม่ใช่เอาแต่เรื่องเงิน หรือรายได้ ของประชากร มาพิจารณาอย่างเดียว

พ่อท่าน : นี่แหละวิธีวัดเศรษฐกิจของโลก เขายังจะต้องมาศึกษาเศรษฐกิจ แบบบุญนิยม อีกเยอะ ค่อยๆว่ากันไป

รินไท : ผมก็เสนอไปว่า น่าจะได้มาดูว่าหมู่บ้านราชธานีอโศกอยู่กันอย่างไร ที่ว่ายากจนน่ะ จริงหรือ เพราะเราอยู่กันอย่างอุดมสมบูรณ์ ยากจนน่าจะหมายถึง การอยู่กัน อย่างคับแค้น อดอยาก ไม่ค่อยมีจะกิน เขาจะลงไปในระดับประเทศ ว่าเป็นหมู่บ้านยากจน ผมก็ค้านไปว่า น่าจะเป็นหมู่บ้าน เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่ ยากจน แล้วก็รายได้ของประชากร ศูนย์บาท คือไม่มีรายได้ แต่อยู่กันอย่าง อุดมสมบูรณ์ จะให้เขาลงรายงานไปอย่างนี้ จึงมาเรียน ปรึกษาพ่อท่านครับ

พ่อท่าน : ได้ๆๆ ก็พูดแบบนี้ให้เขางงๆๆ เขาจะต้องมาศึกษาเรา

รินไท : ทางนายอำเภอก็บอกว่าอย่างนี้จะต้องมาสำรวจใหม่ว่าราชธานีอโศกนี่ยากจน หรือพอเพียง

พ่อท่าน : เขาน่าจะดีใจนะว่า ในอำเภอมีอะไรที่เป็นนวัตกรรม มีอะไรที่ใหม่ ราชธานีอโศก เป็นหมู่บ้าน ที่ดำเนินไปดีไหม ที่สำคัญ ไปสอดคล้องกับพระราชดำริ สนองนโยบาย ของในหลวง

รินไท : ทางหัวหน้าฝ่ายปกครอง พูดถึงเรื่องหมู่บ้าน ก็ยกตัวอย่างครับ ว่าอำเภอ วารินชำราบ มีบุญ ที่มีหมู่บ้านราชธานีอโศกมาอยู่ คือหมู่บ้านราชธานีอโศกนี่ เป็นหมู่บ้าน ที่ถาวรยั่งยืน ในเรื่องอบายมุข และ ยาเสพติด ก็ถามผมว่า แล้วบุหรี่มีไหม เหล้ามีไหม ก็ไม่เพียงแต่ ยาเสพติดนะครับ คือเขาเอง ไม่สามารถที่จะเอาหมู่บ้านอื่น ได้ตลอดไป ของราชธานีอโศกนี่ เขายืนยันรับประกันให้ได้ เป็นหมู่บ้านเดียว ที่ไร้ ยาเสพติด ได้อย่างยั่งยืน ตอนนี้ นายกทักษิณ ก็ยอมรับว่า ไม่สามารถ ที่จะทำให้ ยาเสพติด หมดไปได้อย่างราบคาบ ปราบได้ใน ประมาณหนึ่ง แต่ของหมู่บ้าน ราชธานีอโศก นี่ทำได้ และกล้ารับประกันได้ว่า ยั่งยืนปลอดจาก ยาเสพติด อย่างสะอาดด้วย

แล้วมีอีกเรื่องหนึ่งครับ ท่านนายอำเภอได้คุยกับผม ท่านถามว่าการแต่งชุด ผู้ใหญ่บ้าน ชุดของเขา ต้องพร้อม รองเท้า ผมก็เลย อยากจะปรึกษาพ่อท่านว่า ผมจะทำหนังสือ ถึงนายอำเภอ เรื่องการ ขออนุญาตถอดรองเท้า เข้าห้องประชุม คือปกติ ผมจะไปแต่ง เครื่องแบบ ผู้ใหญ่บ้านที่นั่น ก่อนเข้า ห้องประชุมนะครับ เขาก็รู้กันทั่วนะครับว่า ผมถีบจักรยาน ไปทุกครั้ง ไม่มีการนั่งรถ พอไปถึง ก็เข้าห้องน้ำ เปลี่ยนชุดออกมา ท่านนายอำเภอก็มาทัก เรื่องรองเท้านะครับ ว่าคุณแต่งชุด ผู้ใหญ่บ้าน แล้วไม่มีรองเท้า ได้ยังไง ก็เลยจะทำหนังสือ ขอขึ้นไปนะครับ

พ่อท่าน : ทำขึ้นไปเลย บอกว่าอันนี้เป็นเรื่องของนโยบายการดำเนินชีวิตด้วย และ การไม่ใส่ รองเท้านี่ เราเอาแบบอย่าง มาจากพระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะนั้น ใส่รองเท้าทอง ทีเดียวนะ แต่เมื่อพระองค์ ตรัสรู้แล้ว ก็ทำอย่างนี้ แล้วก็มา พาคน ทำตาม สุขภาพก็แข็งแรง เท้าก็แข็งแรง ได้รับการนวดเฟ้น ตามธรรมชาติ เป็นการเพิ่ม ภูมิคุ้มกัน ซึ่งอันนี้มันเป็น วัฒนธรรมของเรา ในหมู่บ้านของเรา จะเป็นวัฒนธรรม ตั้งแต่เด็กไปเลย อาจจะมียกเว้นบางคนที่ต้องใส่ นอกนั้น จะเป็นธรรมเนียม

รินไท : ที่จริงการถอดรองเท้าน่าจะเป็นวัฒนธรรมไปเลยนะครับ

พ่อท่าน : ก็เวลาเราเข้าในวัดพระแก้ว ก็ยังต้องถอดรองเท้า หรือสถานที่หลายแห่ง

รินไท : นี่เข้าในสถานที่ประชุมกลับให้ใส่รองเท้า

พ่อท่าน : เอ้อ....แล้วทำไมมันประดักประเดิดยังไง จะเอาอันไหนยกเป็นสูงกันแน่ อันที่ยกเป็นสูง เราก็ถอดรองเท้า ก็ถูกต้องแล้ว แล้วทำไมจะต้องมาบังคับ ให้เราทำ สิ่งที่ไม่ถูกต้อง

รินไท : ผมก็เลยว่าจะทำหนังสือขึ้นไปขอไม่ใส่รองเท้าเข้าห้องประชุม เพราะดูว่า ห้องประชุม นี่เหมาะที่จะถอดรองเท้า ก่อนจะประชุม จะมีการสวดมนต์ ถ้าสวดมนต์ ไหว้พระแล้ว สวมรองเท้า ดูจะไม่ถูกต้อง

พ่อท่าน : เอาเถอะ เราก็บอกไป ถ้าต้านไม่ไหวจริงๆ เราก็อนุโลมยอมสุดท้าย แต่ถ้าต้านได้ ทำความเข้าใจ กับเขาได้ ก็ทำ

รินไท : ก็จะขออนุญาตก่อนนะครับ ถ้านายอำเภอบอกให้อนุญาตไม่ได้ ก็จะใส่ในช่วง เข้าประชุม

พ่อท่าน : พอออกก็ถอดเลย ให้เห็นชัดเจนว่าเรายอมคุณ เราไม่มีปัญหาอะไร แต่คุณไม่ค่อย จะยอมเรา เอ้า....ค่อยๆ กล่าว การสำรวจคนจนนี่ ก็เป็นประเด็น ให้ได้วิเคราะห์วิจัย ยืนยันไป

อาตมามองเห็นจริงๆเลย ไม่มีทางอื่นเลยที่จะทำให้โลกไปรอด มันต้องทางนี้เท่านั้น และเรา ก็ทำก้าวหน้าได้ จริง.... อัตราการก้าวหน้า ของเราบุญนิยมไม่เท่าทุนนิยม แต่มันจะไป ชนะกัน ปลายมือ เพราะอะไร เพราะทุนนิยม อัตราการก้าวหน้า มันไม่เที่ยง และมันจะไปฆ่า แกงกันเอง แต่ของเรานี่ แม้จะน้อย แต่มันยั่งยืน มันไม่ล้มละลาย

และจากการแสดงธรรมเปิดงานฉลองน้ำช่วงก่อนฉัน ๖ ต.ค. พ่อท่านได้กล่าวถึง เรื่องนี้ จากบางส่วน ดังนี้..... "....ถ้าจะเรียกเราว่าเป็นหมู่บ้านยากจน มันก็เข้าข่ายเป็น คนจน ที่สิ้นไร้ ไม้ตอก คนจน ที่ไม่มีอยู่ไม่มีกิน คนจนที่ไม่พัฒนา ซึ่งในรายละเอียด มันซับซ้อน ที่ว่า หมู่บ้านเรายากจน พวกเราเป็น คนจนที่ยิ่งใหญ่ เป็นคนจนที่มีความสุข มีความอุดมสมบูรณ์ จริง....รายได้ส่วนตัวของเราไม่มี แต่ส่วนรวม ของเรามีอยู่มีกิน อุดมสมบูรณ์นะ เป็นหมู่บ้าน ที่พึ่งตนเองได้ ไม่เกิดขาดแคลน ไม่เป็นหนี้ เป็นหมู่บ้านที่ ปลอดอบายมุขได้อย่างถาวร อันนี้เราให้ข้อคิด ทางการเขาไป เขาจะเข้าใจเราแค่ไหน เราไม่รู้ แต่เราก็ยินดีให้เขามาตรวจสอบ ซึ่งอันนี้เป็นนวัตกรรมใหม่ เป็นสังคมใหม่ เป็นชุมชนใหม่ ที่มีรัฐศาสตร์ แบบใหม่ มีเศรษฐศาสตร์ แบบใหม่ มีสังคมศาสตร์ แบบใหม่ มีศึกษาศาสตร์แบบใหม่ มีพาณิชย์ศาสตร์ แบบใหม่ สื่อสารศาสตร์ ก็แบบใหม่

และจากนโยบายของรัฐบาลนายกฯ บอกจะปลดแอกเลิกทาสทุนนิยมให้ได้ อาตมาไปดู ความหมาย ที่ท่านนายกฯ พูดแล้วมี ๑๐ ข้อ จะต้องให้มีอาหาร การกินดี อยู่ดี มีที่ทำกิน ไม่ยากจน มีสุขภาพดี อะไรต่ออะไร ๑๐ ข้อ อาตมาดูแล้ว มันก็เป็น ทุนนิยมอย่างเดิม เพียงแต่เป็นทุนนิยม ที่ดีขึ้น เป็นทุนนิยม ที่คนจน ต้องไปแข่งขันกับ พวกนายทุน ที่รวยมาเก่า ไม่ใช่เอาบุญนิยม มาสร้างมาพัฒนาคน ก็ยังเป็นแนวของ ทุนนิยมอยู่ แต่เอาเถอะ ทางโน้นจะทำก็ทำไป มันก็เป็นการพิสูจน์กัน ท่านนายกฯ ทักษิณ ก็ตั้งอกตั้งใจ ที่จะทำให้มันดีขึ้น ทางเศรษฐกิจสังคมก็จะให้ดีขึ้น ปีนี้ตั้งใจว่า จะให้เศรษฐกิจ โตขึ้น ๘-๙ % ทุกปี ๕-๖ % ประชาชนในประเทศ จะมีรายได้มากขึ้น สรุปแล้วก็คือ คนจะจน น้อยลง หรือ ร่ำรวยกว่าเก่า

ทีนี้ประเทศจะร่ำรวยได้ก็คือ หนึ่งทรัพย์ภายใน ขยันหมั่นเพียรสร้างผลผลิตขึ้นมา ให้พอกิน พอใช้ ในหมู่ประเทศเอง สอง มากพอจนกระทั่ง ขายออกไปนอกประเทศ เอารายได้ เข้าประเทศ ซึ่งเหมือน ครอบครัวบ้านเรา อยู่กัน ๕ คน ๘ คน ทุกคนพัฒนา ฝีมือ สมรรถนะ ความสามารถของเรา เพิ่มขึ้น พัฒนาสมรรถนะ ขยันหมั่นเพียร รู้จักดีมานด์ (ความต้องการ) ซัพพลาย (ผลผลิต) ของสังคม จริงๆแล้ว สร้างขึ้นมา แล้วเราก็จะได้เพิ่มสินทรัพย์ ขายผลผลิต ของเราได้ ก็จะได้ทรัพย์สิน เข้ามาหมุนเวียน วิธีเหล่านี้ทุนนิยมเขาทำกัน รู้กันไปทั่วโลก เหมือนกันกับประเทศ พลเมืองก็สร้าง ให้มากๆ แล้วก็เอาไปขาย ต่างประเทศ แล้วเอารายได้ จากต่างประเทศ เข้ามาให้แก่ประเทศ

เสร็จแล้วมันอะไรรู้ไหม ฐานะดี แต่ไม่รู้ว่าจะบริหารดูแลตนเองอย่างไร ก็กินก็ใช้ บำรุง บำเรอ ตนเอง จะต้องซื้อรถดีๆ บ้านหลังใหญ่ขึ้น เสื้อผ้าหน้าแพรต้องแบรนด์เนม (ของมียี่ห้อ) ซื้อเพชร ซื้อพลอย เล่นสนุกสนานเฮฮา ไปเที่ยวนั่น เที่ยวนี่ หรือ เล่นการพนันไป ไปกันใหญ่สิ เพราะไม่ศึกษา สัจธรรม ไม่รู้จักอบายมุข ไม่รู้จักสิ่ง บำเรอชีวิต ไม่เข้าใจโลกียสุข ไม่เข้าใจโลกุตรสุข ก็นึกว่าเป็น ความสุข เป็นความสำคัญ ของชีวิต ก็อวดอ้างกันไป ข่มเบ่งกันไป หรูหราขึ้นไป เอาอย่างกันไป โลกีย์เป็นแบบนี้ แล้วมันไปถึงวาระที่มันตัน มันไปไม่ออก แข่งมาถึงขีดหนึ่งก็เฟ้อ แล้วก็ติด ไม่เคยสนุก ก็ไปติดสนุก ไม่เคยเมา ก็ไปติดเมา แต่ก่อนนี้ใส่เสื้อผ้ายังไงก็ได้ พอไปใส่แบรนด์เนม คราวนี้ไม่ได้แล้ว จะลดลงมา ใส่เสื้อผ้าเก่าๆ ไม่ได้แล้ว ชักจะหัวสูงแล้ว จะกินใช้ ก็ชักหัวสูงไปหมด ลูกเต้าเหล่าหลานเกิดมา ก็เห็นพ่อแม่ เป็นอย่างนี้ก็เอาตาม บำรุงบำเรอตาม ฐานะก็แย่ลงหมุนไม่ขึ้น ไปไม่รอด ขณะนี้ ญี่ปุ่น กำลังประสบ ปัญหานี้ ฆ่าตัวตายก็เยอะ คนตกงานก็เยอะ นี่คือการพัฒนาของระบบ ทุนนิยม มันไม่เที่ยง และไม่ยั่งยืนถาวร ได้ชั่วเดี๋ยวชั่วด๋าว

แต่ชาวบุญนิยมไม่เป็นเช่นนั้น เข้าใจรู้เท่าทันแล้วล้างกิเลสในใจ ไม่ติดไม่ยึด ไม่โง่ ไม่อวิชชา จิตแข็งแรง เรากินเราใช้ ก็รู้จักสิ่งที่เป็นสาระ มีปัญญา มีเจโต มีสมรรถนะ ทุกวันนี้เราก็ ไม่ได้หยุดยั้ง การศึกษาทางโลก เราก็ศึกษา มีไอที มีเทคโนโลยีอย่างไร เราก็เอามาใช้ เราไม่ได้ ติดหลงมัน มันมีมอมเมา แทรกอยู่ ก็พยายามระวังอยู่ อย่างอินเทอร์เน็ตนี่ ก็ต้องระวัง ผู้ที่อินทรีย์พละไม่แข็ง ก็อย่าไปยุ่งกับมัน ไม่อย่างนั้น ถูกมันครอบงำ เราไม่ได้ปฏิเสธ แต่เรารู้จักใช้ ตามความเหมาะสม เราก็เป็นไป ตามที่จำเป็น ใช้ปัญญาวินิจฉัย ไม่ได้หยุดยั้งอะไร แล้วเราก็ปฏิบัติธรรม ให้จิตใจ ของเรา แข็งแรงต่อโลกธรรม โลกโลกีย์ ทำร้ายเราไม่ได้ เราก็พัฒนาของเราไป เครื่องไม้เครื่องมือ บางอย่าง เราไม่ต้องไปคิดหรอก ชาวโลก เขาคิดมาให้เอง แล้วเราก็รู้จักที่จะใช้ ให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง....."

จากบางส่วนที่พ่อท่านแสดงธรรมเปิดร้านมังฯบุฟเฟ่ต์ ๙ ต.ค. ๔๖ ที่สำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษา อุบลราชธานี เขต ๔ "....อาตมาได้นำพาพวกเราปฏิบัติธรรม ทุกวันนี้ ก็มีรูปธรรม มีหมู่ชุมชน มีหมู่บ้าน มีระบบสาธารณโภคีเอง เป็นนวัตกรรมใหม่ เพราะคนที่นี่ ทำงานฟรี ตั้งแต่ตัวเล็กตัวน้อย จนแก่เฒ่า ทำแล้วไม่ได้เอาเป็นของใคร เป็นของส่วนรวม ก็ช่วยแรง กันไป คนละไม้ละมือ เสร็จแล้วก็กินใช้ ร่วมกัน เหนือชั้นกว่า คอมมิวนิสต์ ไม่มีใครถูกบังคับ นี่ทุกคนมีปัญญา ทำให้ส่วนกลาง ด้วยความเต็มใจ มีส่วนกลาง ที่กินใช้ร่วมกัน เหมือนพี่เหมือนน้อง เหมือนกงสี มีเท่าไร ก็กินใช้ร่วมกัน ขยัน หมั่นเพียร กันไป ถ้าเราทำไม่ดี มันไปทั้งหมู่เลยนะ ถ้าทำได้ดี ก็รอดทั้งหมู่เลยนะ ถ้าขยันหมั่นเพียร เกื้อกูล ช่วยผู้อื่น เสียสละให้ผู้อื่น ก็จะเป็นประโยชน์ มากเลยนะ พวกเราเข้าใจ นี่คือชุมชนตัวอย่าง....."


ฉลองน้ำ >> น้ำลด งดฉลอง

๖ ต.ค. ๔๖ ที่ราชธานีอโศก จากบางส่วนของการแสดงธรรมเปิดงานฉลองน้ำ พ่อท่าน พูดถึง การจัดงาน ฉลองน้ำท่วม ดังนี้.... "....วันนี้เป็นวันแรกเราฉลองน้ำ....ลด เราฉลองน้ำมา หลายปี ปีที่แล้ว ขึ้นมากกว่านี้ ปีนี้ไม่รู้น้ำ มันจะขึ้นอีกหรือเปล่า เดี๋ยวนี้ ธรรมชาติเดาไม่ถูก อยากจะมาตูมตาม มันก็มา อย่างปีกลาย มันมาขึ้นทีละเมตร ทีละห้าสิบเซ็นต์ ปีนี้ขึ้น ทีละเซ็นต์ สองเซ็นต์ ห้าเซ็นต์ ก็ไม่เป็นไร เป็นเรื่องของ ธรรมชาติ ทั้งดินน้ำลมไฟ มันเปลี่ยนแปลง โดยหลักฟิสิกส์ของธรรมชาติ เราอยู่ไหน อยู่ได้ เรามาอยู่นี่ คนเขาก็ อัศจรรย์ เขาบอกว่า ไอ้พวกนี้มันบ้าหรือไง มาอยู่ในที่ ที่เขาทิ้งกันหมดแล้ว เขาหนี ไปอยู่ที่โคก บนที่น้ำไม่ท่วม พอเรามาอยู่ เราก็พยายาม ที่จะอยู่ให้รอด ขนเรือมา เขาก็ว่า เราบ้าหรือไง ขนมาทำไมเรือ ต่อมาน้ำท่วม ติดต่อกันเลย ๓ ปี เขาเลยบอกว่า เรารู้ก่อนว่าน้ำจะท่วม หาเรือมาไว้ เรียบร้อย แล้วพวกเราก็อยู่กับเรือไป

น้ำท่วมปีแรกๆ พวกเรายังไม่เข้าใจหวั่นๆไหวๆ หนีออกไปข้างนอกกันหลายคน พอปีที่สอง ก็ไม่เท่าไร พอชินขึ้นมาก็รู้ทางออก ปีที่สาม ก็ไม่มีใครหนีเลย ปีนี้ปีที่ ๔ ขอให้น้ำท่วมๆๆๆ เพราะน้ำ มันไม่มา เด็กๆ เขาว่ากันอย่างนั้น ขนาดเด็กๆ ม.๑ เพิ่งเข้ามา ยังไม่เคย แต่ได้ข่าวก็อยากจะสนุกกัน

จนกระทั่ง เรามาอยู่ที่นี่แล้ว น้ำจะท่วมก็ท่วมไป เราก็มีทางออกมีทางดำเนินชีวิตไปได้ มันจะเนียน มันจะรู้ทันไปเอง เราก็จะอยู่กับ ดินน้ำลมไฟธรรมชาติอย่างนี้ เป็นความยั่งยืน แม้จะเกิด ความแปรปรวน ของธรรมชาติ เราก็ไม่มีความหวั่นไหว เราก็ไม่มีความเดือดร้อน เราก็อยู่ของเรา เป็นสุขดี มันอาจจะลดไปบ้าง ขาดอันนั้น ขาดอันนี้บ้างก็ไม่เป็นไร เราก็หาอันอื่น ทดแทน ซึ่งก็ไม่ถึงกับ ลำบาก สิ่งเหล่านี้แหละ เป็นความสามารถของมนุษย์ฉลาด มนุษย์รู้ทางออก...."

และจากการแสดงธรรมในวันรุ่งขึ้น ๗ ต.ค. บางส่วนที่พ่อท่านกล่าวถึงงานฉลองน้ำ "....ฉลองน้ำ วันแรก ก็ไม่ค่อยจะเรียบร้อย ขลุกขลัก กลางวันก็ไม่มีอะไรกันเท่าไร พอเย็น ก็ขลุกขลัก หาเรือ ที่จะไปนั่ง ดูการแสดงก็ไม่มี

งานฉลองน้ำ อาตมาจัดขึ้นด้วยเหตุผลที่ว่า มันน่าจะเป็นอีกอันหนึ่งที่พวกเรา ได้มาพักผ่อน เพราะพวกเรา ไม่มีเรื่องอะไร มากหรอก จะฟังธรรม นอกนั้น ก็กินก็เล่นกัน ใช่ไหม เล่นน้ำ เล่นท่า สนุกสนานมีอะไรต่ออะไรกันไป ไม่ได้มีเรื่องหนักหนา ไม่ได้เป็นการ เป็นงาน เพราะว่าน้ำ มันท่วม มันไม่มีอะไรที่จะได้ทำ ไม่ได้ติดธุระ อะไรมากมาย เพราะฉะนั้น ผู้ที่อยู่ในที่ไหนๆ ก็ตาม ถึงเวลาวาระ ช่วงนี้ อาตมาคิดว่า มันน่าจะเป็นช่วงพักผ่อน เหมือนมาเล่นน้ำทะเล มาหาดทราย บางแสน มาหัวหิน อะไรอย่างนี้ แต่แทนที่จะเป็นน้ำทะเล ก็เป็นน้ำจืดแม่น้ำมูล อาบสบายกว่า ไม่เหนียวตัว ไม่เค็มปี๋ ไม่แสบตาอย่างน้ำทะเล ไม่มีคลื่นมากด้วย

บ้านราชฯมีน้ำ ก็จะเป็นสุขด้วยน้ำ พวกเราที่อยู่ที่อื่นๆเป็นโคก ไม่มีน้ำเหมือนที่นี่ เพราะฉะนั้น ที่นี่.... จะเป็นแหล่ง ที่พวกเรา จะได้มาพักผ่อน เหมือนบ้านพี่ บ้านน้อง มากันสบาย ไม่ต้องไปเดือดร้อน ที่พัก เหมือนรีสอร์ทของเรา

คนเราก็จะต้องทำงาน แล้วก็จะต้องพักผ่อนบ้าง พักผ่อนก็ไม่จำเป็นต้องไปเห่อ ตามเขา จะต้องไปเที่ยว หาดหัวหิน หาดบางแสน หรืออะไรที่เขาล่อกัน ซึ่งดูไม่เข้าท่า มันเน่าแล้ว มันสกปรก อะไรต่ออะไร เละเทะ เยอะเลย แต่ที่ของเรา สะอาดสะอ้าน สะดวกเหมือนกับบ้านของเรา ไม่ต้องไปซื้อ อะไรแพงๆ มันคนละระบบกับทางโลกเขา ของเรามันอิสระเสรีภาพ จะฟรี จะรู้สึกอบอุ่น ไม่มีอะไรขีดคั่น กดดัน ไม่ต้องไปทำแบบ ทุนนิยม อันนี้จะเป็นวัฒนธรรมสังคม อีกชนิดหนึ่งของพวกเรา...."

๘ ต.ค. ๔๖ ที่ราชธานีอโศก พ่อท่านแสดงธรรมก่อนฉัน เนื่องจากน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว เกรงว่า เรือใหญ่ จะเข้าออกยาก รถยนต์ ก็ยังไม่สะดวก หากมีกลุ่มคณะอื่น จะมางานฉลองน้ำ ในวันหลังๆ จะลำบากด้วยกันทั้งสองฝ่าย ทั้งปัจจัยของงานอื่นๆ ที่จ่อมาด้วย ทำให้พ่อท่าน ต้องประกาศ งดงานฉลองน้ำ เพียงเท่านี้ จากบางส่วน ที่พ่อท่านแสดงธรรมดังนี้.....

"....วันนี้เป็นวันที่สามของงานฉลองน้ำ มาถึงวันนี้แล้ว อาตมาก็เห็นว่า น้ำมันลด.... ก็เลยงด ฉลอง น้ำมันลด เยอะแล้วจริงๆ ถ้าต่อไป ถึงวันที่ ๑๒ นี่เรือใหญ่จะออกไม่ได้ เดี๋ยวค้างโคกแน่ คงไปไม่รอด เพราะฉะนั้น วันนี้ถือเป็นวันสุดท้ายนะ กิจกรรม บันเทิงเริงรมย์อะไรก็ดี เทกระบะนะวันนี้ งานฉลองน้ำปีนี้ วันนี้ถือเป็นวันสุดท้ายแล้ว เพราะน้ำลด จึงงดฉลอง ของเรา ก็อย่างนี้แหละ ทุกอย่าง มันก็เป็นไปโดยอัตโนมัติ ปิดเปิดยิ่งกว่าฮิตาชิ เปิดปุ๊บปิดปั๊บ เรียบร้อย อันนี้เป็นคุณภาพของคน

ตอนนี้ประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ปลูกผักชีรอบกรุงเลย เขาหาผักชีทุกพันธุ์ มาปลูก รอบกรุง พูดอย่างนี้เข้าใจนะ ทำไมต้องทำอย่างนั้นในโลก ถามหน่อยว่า ชาวอโศก จะทำไหม?.... ทำ.... เราก็ปลูกผักชีเหมือนกัน พันธุ์อโศก ก็อยาก ให้มันเป็นพันธุ์ดี พอเวลางานที ก็ได้พัฒนาปรับปรุง หากไม่มีงาน หลายๆอย่าง ก็หมกก็หมักอะไรๆไป ไม่มีอะไร ก้าวหน้าเท่าไร ก็ได้แต่จมๆๆๆ และเสื่อมชำรุด ทรุดโทรม แต่ถ้าเผื่อมีงานก็เอาแล้ว อันไหนที่เสื่อม ก็เอามาแก้ อันไหนที่ชำรุด ก็เอามาปรับปรุง ไม่มีก็แต่งใส่ใหม่ มันเป็นเรื่องของมนุษยชาติ เท่าที่มัน จะเป็นไปได้ เราก็ไม่กระดี๊ กระด๊า อย่างเขาหรอก โอ้โฮ.... เขาลงทุนที เป็นพันๆล้าน เฉพาะค่า ที่นั่งแขก ที่จะให้ดูเรือ พระราชพิธี ชลมารค นั่นลงทุนไปตั้ง ๕๐๐ ล้าน ที่อื่นไม่ต้อง พูดเลย หลายร้อยล้าน เป็นพันล้าน เพื่อที่จะปลูกผักชี ให้เต็มประเทศ จะมากก็อยู่ที่ กรุงเทพฯ นั่นแหละ ที่มานั่นเป็นระดับ ผู้นำประเทศ ๒๐ กว่าประเทศ ถามว่า ทำไมต้องอวดอ้าง มันเป็นสัญชาตญาณ ของมนุษย์นะ ที่ใครก็เห็นว่า อยากจะให้ใคร สัมผัสเราแล้วดูดี ดีในทางโลกก็ตาม ยิ่งดีในทางธรรมยิ่งเยี่ยมใช่ไหม เช่นถ้าคน เขาจะมามอง พวกเราว่า พวกนี้มันจน ได้ระดับ แล้วเราเอง เราจะเสียใจไหม เราจะน้อยหน้าไหม เราคิดว่า เราเข้าใจแล้ว เราไม่น้อยหน้าหรอก เพราะเราจนนี่ เราจนอย่าง อุดมสมบูรณ์ เราจนอย่างมี สมรรถนะ เราจน อย่างมีประสิทธิภาพ จนอย่างแข็งแรง จนอย่างไม่เดือดร้อน จนอย่างมี คุณค่าประโยชน์ ต่อผู้อื่น เราเข้าใจ สาระสัจจะแท้ๆเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น อาตมาจะไม่อายเลย

ถ้าพูดให้ลึกลงไปอีก โอ้โฮ....สมณะองค์นี้ทำบุญครบรอบวันเกิด ๘๐ ปี ทำบุญตั้ง ๑๓๐ ล้าน อย่างหลวงพ่อคูน ถ้าโพธิรักษ์ทำบุญ ครบ ๗๒ ปี ไม่มีสักบาทเลย อาตมาก็ไม่น้อยใจเลย ไม่เห็นเป็นไรเลย ถ้าเราจะไม่มีเงิน ไปทำบุญ ทำทาน แต่ถ้าบอกว่า อายุ ๗๒ ปี อย่างกับคน อายุ ๒๐ ยังเบิกบาน ร่าเริงกระปรี้ กระเปร่าแข็งแรง ไม่เป็นภาระต่อผู้อื่น ยังสร้างสรร ทำประโยชน์ ให้สังคมดีได้ นั่นคือเนื้อหา จะบอกว่าจนไหม...จน!


งาน ๓๐ ปี ๑๔ ตุลา วันประชาธิปไตย
๑๓ ต.ค. ๔๖ ที่ศาลาประชาคม จ.อุบลราชธานี ได้มีการจัดงานรำลึก ๓๐ ปี ๑๔ ตุลา วันประชาธิปไตย จากเอกสารที่พิมพ์แจกแจ้งว่ามีองค์กรร่วมจัดงานถึง ๒๗ องค์กร ตั้งแต่รัฐสภา.... มหาวิทยาลัย อุบลราชธานี.... สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี.....ฯลฯ โดยมีชื่อราชธานีอโศก นับรวมเข้าร่วมในการจัดงานครั้งนี้ด้วย ซึ่งนับเป็นเกียรติ อย่างยิ่ง อาจเป็นเพราะฝ่ายประสาน ในการจัดงานนี้ รู้สึกคุ้นเคยกับพวกเรา หรืออย่างไร ไม่ทราบได้ชัด การจัดรายการ จึงได้บรรจุ ให้พวกเรามีส่วนร่วม ทั้งสามวัน (๑๒-๑๔ ต.ค.) ซึ่งเป็นการแสดงช่วงสั้นๆ ๑๕ นาที ทั้งสามวัน นอกจากนี้ยังมีรายการ แสดงธรรม ของพ่อท่าน โดยกำหนดหัวข้อมาให้ว่า.... แนวทางบุญนิยม กับการสร้าง ความเข้มแข็ง ให้แก่องค์กรชุมชน ในท่ามกลางกระแสทุนนิยมเสรี ฝ่ายประสานงาน เพิ่งแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ไม่กี่วัน ดีที่พ่อท่านไม่ติดงานใดๆพอดี

ก่อนพ่อท่านจะแสดงธรรม พิธีกร คุณนิกร วีสเพ็ญ ได้กล่าวแนะนำไปเรื่อยๆ รอเวลาความพร้อม ของระบบเสียง เนื่องจากมีการถ่ายทอด ออกอากาศทางวิทยุ หลายสถานี รวมทั้งสถานี "บัวกลางมูล" ของบ้านราชฯ ด้วย ซึ่งข้าพเจ้าต่อสัญญาณ โทรศัพท์มือถือ ส่งไปยังสถานีวิทยุชุมชน บ้านราชฯ ธรรมดา ส่วนทางสถานีวิทยุอื่น จะส่งสัญญาณกันอย่างไร ข้าพเจ้าไม่รู้ มาทราบภายหลัง จากพวกเราว่า หมุนคลื่นวิทยุหลายสถานี ก็มีการออกอากาศด้วยเช่นกัน

เนื่องจากระบบ การบันทึกเสียง ไม่สมบูรณ์ จึงได้ยินคุณนิกร กล่าวเพียงส่วนท้ายแล้วดังนี้....

"....มีอยู่ภาพหนึ่งคือ พระสันติอโศก กับเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ถ้าท่านไปดูภาพเก่าๆ จากเหตุการณ์วุ่นวาย ที่เกิดขึ้นวันที่ ๑๓-๑๔ ท่านจะเห็นพระภิกษุสงฆ์กลุ่มหนึ่ง ประมาณ ผมจำไม่ได้ (พ่อท่านตอบ เกือบ ๒๐ รูป) โดยการนำของพ่อท่าน ไปบิณฑบาต อยู่ที่ถนนราชดำเนิน ภาพนั้นถูกตีแผ่ ออกไปทั่วโลกนะครับ เพราะฉะนั้น ตั้งแต่วินาทีนี้ เป็นต้นไป ก็ฟังคำเทศนา จากพ่อท่านนะครับ ในเรื่อง "แนวทางบุญนิยม กับการสร้าง ความเข้มแข็ง ให้แก่องค์กรชุมชน ในท่ามกลาง กระแสทุนนิยมเสรี" และก็กราบนิมนต์ พ่อท่านให้เล่าเรื่อง ภาพที่บอกเมื่อสักครู่นี้ เมื่อ ๓๐ ปีก่อน ด้วยนะครับ ขอกราบนิมนต์ครับ...."

พ่อท่านบอกเล่าเหตุการณ์ และได้แสดงธรรมบางส่วนที่น่าสนใจดังนี้......

".....อาตมาบวชปี ๑๓ พอถึงปี ๑๖ ก็พอดีเกิดกลุ่มอโศก มารวมตัวกัน โดยอัตโนมัติ ไม่ได้มีเจตนา หรือมีแผนอะไร เป็นไปตาม ธรรมชาติ อาตมาไม่ได้ปิดกั้นธรรมยุติ หรือมหานิกายอะไร มาร่วมปฏิบัติธรรมด้วย เสร็จแล้ว ก็ทำการทำงาน ไปตามธรรมดา พอช่วงจะถึง ๑๔ ตุลาเนี่ย อาตมาออกมาจากแดนอโศก มาพักอยู่ที่ บางขุนพรหม โอ้โฮ.... มีรถถังผ่าน ตรงที่อาตมาพัก นั่นแหละ วันที่ ๑๓ ตุลา ยิงกัน ระเบิดกัน เผากัน อะไรต่ออะไรต่างๆ นานา อาตมาก็บอก กับหมู่เราว่า บิณฑบาตเป็นปกติ เราไม่ได้ เป็นศัตรู ไม่ได้เป็นคนทำร้ายทำลายใคร มีแต่จะเผื่อแผ่ ให้เกิด จิตวิญญาณ ที่เมตตาเกื้อกูล ให้เกิด ความอบอุ่น ให้มีจิตวิญญาณไปในทางกุศล อาตมาก็พากัน ออกบิณฑบาตเช้า ธรรมดาตีห้ากว่า วันนั้น กว่าจะกลับถึงที่พัก สี่โมงเช้ากว่าๆ

เริ่มต้นบิณฑบาต บ้านร้านรวงปิดเงียบ มีแต่คนทั้งสองฝ่ายที่มีปฏิกิริยากันอยู่ คนออกมา ร้องห่มร้องไห้ บางคนก็บอกว่า.... พระคุณเจ้าช่วยด้วยเถิดๆ ทำไมถึงได้เป็นอย่างนี้ ทำไมถึง เลือดตก ยางออก กันอย่างนี้ ทำไมถึงฆ่าแกงกัน อย่างนี้ โอ้โฮ.... ทารุณโหดร้าย มาร้องห่ม ร้องไห้ ไปตลอดทาง อาตมาก็ไม่รู้ จะทำอย่างไร ก็ได้แต่ปลอบโยน..... เอ้อ.... ทำใจดีๆ เหตุการณ์ เราไม่ได้สร้าง เราไม่ได้ทำ เจตนาคนที่ร้ายก็มีร้าย เจตนาคนที่ดีก็มีดี หรือคนที่มีปัญญาก็มี คนที่ไม่มีปัญญาก็ทำถูกบ้างผิดบ้าง... ก็บอกไป ตามที่เรา มีปฏิภาณ ที่จะช่วยเขา แล้วก็บอกกันไป ตลอดทาง

อาตมาก็บิณฑบาตผ่านบางลำภูออกไปกรมประชาสัมพันธ์เก่า แล้วก็เลี้ยว ตรงผ่านไปทางโรงแรม รัตนโกสินทร์ ตรงนั้นแหละ มีรถคว่ำถูกไฟเผากันอยู่หลายคัน รถเมล์ รถตู้ รถโฟล์ค รถจี๊ป คว่ำ ถูกไฟเผา ระเนระนาด กันอยู่หลายคัน ถ้าใครเห็นรูปถ่าย ที่หนังสือพิมพ์เขาได้ถ่ายแบ็คกราวน์ มีรูปรถ มีควัน.... ตอนนั้น ยังฉุยอยู่เลย มันยังร้อน ไฟยังไหม้กันอยู่เลย เราก็บิณฑบาต ออกไป ตามถนนนั้น จากตรงนั้น ก็เลี้ยวไปทาง ธรรมศาสตร์ ก็มีคนออกมาจากโรงแรม รัตนโกสินทร์ ออกมาไหว้ ออกมาใส่บาตร ก็มีเศษอาหาร อะไรต่ออะไร ที่เขาได้ เขาก็เอามาใส่บาตร ไปถึง ธรรมศาสตร์ ก็เลี้ยวย้อนกลับถนนรอบสนามหลวง ตรงไปทางผ่านฟ้า ไปจุดที่เขา เผากันน่ะ กรมประชาสัมพันธ์เขาก็เผา สถานีตำรวจ ตรงแยกทางจะไปที่นั่งอนันต์ ไปทางนางเลิ้ง ผ่านไปรอบถนน อ้อมออกไปทาง วิสุทธิกษัตริย์ แล้วกลับไป บางขุนพรหม สี่โมงกว่า เกือบครึ่ง บิณฑบาตไปก็โปรดกันไป หนังสือพิมพ์ เขาก็ไปถ่ายภาพ แล้วภาพนั้น ก็ออกไป อย่างที่คุณนิกรบอก จนกระทั่งทุกวันนี้ ก็มีภาพนั้นเหลืออยู่ หลายภาพ ภาพที่สวยที่สุด เขาก็เลือกดู เหมือนจะตรงโค้ง ที่หน้ารัตนโกสินทร์ นั่นแหละ

อันนี้ก็เป็นประวัติศาสตร์ โดยที่เราไม่ได้เจตนาว่าเราจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ในสถานการณ์อย่างนั้น ก็เป็นการไปแสดง จิตวิญญาณ ไปแสดงสิ่งที่จะต้องให้เย็น ให้สงบลงไปบ้าง ก็เป็นรูปธรรม เป็นวาจา ก็กล่าวไม่ได้มาก ปลอบประโลม กันไป เท่านั้นเอง เป็นรูปธรรมที่ดี ซึ่งคนเรามี จิตวิญญาณ ที่ลึกซึ้ง เมื่อเห็นพระ เห็นความสงบ เห็นอโหสิ เป็นทางด้านศาสนา มันก็เกิดใจชื้นๆ ขึ้นมาบ้างเหมือนกัน ก็ได้เท่านั้น....." ต่อมาพ่อท่านได้อธิบาย ตามหัวข้อที่ตั้งให้มา เริ่มจากคำว่า บุญนิยมต่างจาก ทุนนิยมอย่างไร แล้วอธิบายถึงการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง ตามหลักมรรคองค์ ๘ จะอยู่กับสังคม ช่วยเหลือเกื้อกูลสังคมอยู่ ไม่ได้หนีเข้าป่า รวมถึง การสร้างสมาธิ และ การสร้างฌาน แบบพุทธ เป็นอย่างไร แนวทางบุญนิยมก็คือ ลักษณะของ พุทธแท้ๆ ซึ่งจะอยู่กับ ทุนนิยมได้ ไม่ทะเลาะกัน ด้วยบุญนิยม คือการให้ และการเสียสละ.... ในที่นี้ข้าพเจ้า ขอข้ามผ่าน ในรายละเอียด ผู้สนใจสามารถติดต่อ สอบถามได้ที่ ฝ่ายเผยแพร่ ที่สันติอโศก

"....ส่วนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรชุมชน ก็เกิดจากรากเหง้าของเนื้อ ทฤษฎีธรรมะ ของพระพุทธเจ้าแท้ ซึ่งก็จะรู้จักกิเลส และการลดละ ตั้งแต่โลกอบาย โลกกามคุณ โลกธรรม โลกอัตตา

ชุมชนที่ได้ปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฐิ ได้ลดละกิเลส ความคิดก็ดี การพูดก็ดี การกระทำก็ดี การทำอาชีพก็ดี ไม่ไปติดยึดในโลก แต่ก็เป็นคนสร้างสรร มีสมรรถนะมาก แล้วสะพัดออก ไม่เอาไว้ เป็นของตน จึงเรียกว่า มักน้อย อัปปิจฉะ สันตุฏฐิ เป็นคนมี วรรณะ ๙ เลี้ยงง่าย... บำรุงง่าย... มักน้อย... กล้าจน... ขัดเกลา... มีศีลเคร่ง... มีอาการ ที่น่าเลื่อมใส... ไม่สะสม... ยอดขยัน (วิริยารัมภะ) ชุมชนนั้น ก็จะมีระบบ มีแนวทาง มีวัฒนธรรม มีวิถีชีวิต แบบบุญนิยม

ดังนั้นแนวทางบุญนิยมที่เข้มแข็งก็คือสังคมบุญนิยม ชุมชนจะไม่รวย เพราะไม่ต้อง สะสมมาก มีคงคลังไว้ พอหมุนสะพัดออก ไม่ถึงขั้นเฟ้อ เกินเหลือเอามาฟาดหัว เบ่งข่มคนอื่น แต่ก็ต้องประมาณ ให้ดีๆว่า เราไม่ขาด ไม่ขัดข้อง Run short หมุนได้ คล่องตัว สบายพอดี ถ้ามีการขาดแคลนรีบด่วน ก็มีกองหนุนพร้อมที่จะใช้ ไม่ต้อง เอามากอบ มากอง เอาไว้มากมาย สิ่งเหล่านี้เป็นความสามารถชั้นสูง เป็นวิธีการ จัดการ การเงินชั้นสูง เป็นแบบบุญนิยม เราก็ศึกษากัน แล้วพฤติกรรมของเรา ก็ทำอยู่

แม้แต่ตัวบุคคล ชุมชนนี้เข้มแข็งเพราะอะไร เพราะทุกคน"จน"ได้ระดับ แต่ละคน ไม่สะสม เป็นของตน เอาเข้ากองกลาง แล้วส่วนกลาง ก็บริหารเงิน จะสะพัดอย่างไร ทำให้ชุมชน มีความแข็งแรง ในการสร้างกิจการ มีการค้า มีการศึกษา มีการสาธารณสุข มีการสื่อสาร อยู่ในชุมชน ก็ใช้เงินบริหารกันไป ไม่ต้องรีบโต ไม่มีนโยบาย เหมือนทุนนิยม ที่มีความซับซ้อน อยู่ในตัวเยอะ

สรุปแล้วชุมชนที่จะเข้มแข็งนี่สร้างคนให้ลดกิเลสอย่างเดียว เพราะศาสนา อยู่เหนือโลกีย์ พุทธนั้นสร้างแล้ว จะเกิดปัญญา เกิดอธิศีล อธิจิต เกิดวิมุติ วิมุติญาณทัศนะอย่างแท้จริง จึงเป็นคนที่มี โลกุตรจิต โลกจะสัมผัส กระทุ้ง กระแทกอย่างไร จิตก็ไม่หวั่นไหว เพราะฉะนั้น ชุมชนนี้จะแข็งแรงยั่งยืน ประเด็นสุดท้าย อยู่ในกระแสของ ทุนนิยมเสรี เขาจะเอาแต่ใจตัวเอง อย่างไร เขาจะมอมเมา เขาจะโลภโมโทสันยังไงก็ทำไป ทุนนิยม เขาจะกอบโกย กักตุน หาเชิง ที่จะเอาเปรียบเอารัด หาเชิงที่จะเอาชนะคะคาน หาเชิงที่จะยิ่งใหญ่ จะเป็นเจ้าโลกก็เป็นไป แต่บุญนิยม จะเป็นผู้รับใช้โลก ก็รับใช้เขาไป รับใช้อย่าง เข้าใจด้วยปัญญา เราไม่โลภโมโทสัน เราไม่ข่มเบ่งแย่งชิงเขา เราเป็นคน มีประโยชน์คุณค่า เราเป็นคนจน แต่เขารวย สมบัติในโลกนี้ เมื่อคนหนึ่งแย่งไปรวย อีกส่วนหนึ่งก็ต้องจน

แม้แต่ที่สุด GDP ของคนไทยวัดค่าแบบทุนนิยม เอาค่าเฉลี่ยของรายได้ ของผู้ได้ ไม่ได้เอาค่าเฉลี่ย ของผู้ที่สละ ที่แท้จริง ถ้าสละไม่ได้ เพราะจำนนนี้ ก็อีกอย่างหนึ่ง แต่ผู้ที่จน หรือผู้ที่ไม่ได้ เป็นฐานของคนจนอยู่ในสังคม ของบุญนิยมเนี่ย เป็นคนเสียสละ อย่างเต็มใจ อันนี้ทุนนิยม ไม่รู้เรื่อง ซึ่งโลกทุกวันนี้ ก็เรียนยังไม่ถึง

ดังนั้นการวัดค่า GDP ของสังคม เป็นการวัดค่าที่ไม่ชอบมาพากล คนที่เสียสละ จะเป็นคนจน ของสังคม ทุนนิยม ก็วัดว่า นี่มันไม่มีรายได้วัดไม่ได้ ไม่มีรายได้ เพราะว่าเขาทำฟรีใช่ไหม ทำแล้ว ก็สละไปส่วนกลาง ส่วนกลางก็สะพัดสู่สังคม ส่วนรวมข้างนอก เพราะฉะนั้น การวัด GDP ของชาวบุญนิยมเนี่ย วัดแล้วจะต่ำมาก แล้วทางทุนนิยม หรือทางสังคมโลก ก็จะมองผิด เขาจะมองว่าพวกบุญนิยมนี้ เป็นพวกถ่วง GDP ไม่ได้มาก แท้จริงเราสละ สะพัดไปให้แล้ว เช่น เราสร้างข้าว ปีหนึ่ง หมื่นตัน เราสะพัดให้สังคมออกไป เขาก็ซื้อเอาไปในราคาที่ถูก ชาวบุญนิยม จะขายถูก ทุนนิยม ยิ่งชอบ ซื้อได้แล้ว เขาก็เอาไปขายให้แก่ต่างประเทศในราคาแพงๆ ได้เงิน กลับเข้ามา ในประเทศอุดมสมบูรณ์ แล้วใครเป็นคนเสียสละ ให้สังคมประเทศ ก็ชาวบุญนิยม ที่ขายข้าวที่เขาผลิตได้ หมื่นตัน แสนตัน ล้านตันนี่แหละ นั่นคือ เงินเข้าประเทศ GDP สูงขึ้น ก็เพราะชาวบุญนิยมนี่เอง

กระแสทุนนิยมเสรีทุกวันนี้ เขาก็พัฒนาตามความเห็นตามทฤษฎีของทุนนิยม ส่วนบุญนิยม ก็พัฒนา ตามความเข้าใจ ของทฤษฎีบุญนิยม เพราะฉะนั้น การสร้างแนวทาง บุญนิยมนี้ อาตมาก็ขอกล่าวอย่างองอาจ แกล้วกล้า ไม่ใช่เบ่ง ไม่ใช่อวดดีว่า บุญนิยมนั้น มีความยั่งยืน บุญนิยมเต็มใจที่จะเป็นคนจน คนจนผู้ยิ่งใหญ่ คนจนผู้อุดมสมบูรณ์ คนจนที่เป็นสุข คนจนที่สูง... สร้างสรร... เสียสละ... สมบัติ (อันเป็นอาริยะคือคุณภาพของคุณธรรมที่ประเสริฐ) ...สูญ... สัมบูรณ์ ดังนั้น แนวทางบุญนิยม จะกอบกู้ชาวโลกในอนาคต....."


อาคารองค์กรบุญนิยม
๑๘ ต.ค. ๔๖ ที่สันติอโศก มีการประชุมการสร้างอาคารองค์กรบุญนิยม จากบางส่วน ที่คุณแซมดิน ในฐานะรองประธานชุมชน สันติอโศก เกริ่นนำทำความเข้าใจก่อน "....เนื่องจากอาคารที่จะสร้าง จะมีห้อง ที่พักอาศัยด้วย ทางเราจึงให้สิทธิกับผู้ที่อยู่ ทาวน์เฮาส์ หน้าสันติอโศกก่อน แต่ไม่มีใคร สนใจมาจองเลย ผู้ที่สนใจมาจอง ก็ไม่ได้อยู่ ในหลักเกณฑ์ ก็เลยไม่ได้ ดังนั้นพ่อท่านก็เลย มีความเห็นว่า อาคารนี้ควรจะเป็น.... อาคาร องค์กรบุญนิยม นะครับ ก็เลยต้องเชิญ ตัวแทน องค์กรบุญนิยม ผู้ประสานงาน ทุกด้าน มานะครับ เพื่อที่จะช่วยกันคิดว่า อาคารนี้ ควรจะเป็น อย่างไร แล้วก็มีลักษณะ อย่างไร เพื่อจะให้การก่อสร้างตรงกับวัตถุประสงค์ ของผู้จะใช้งานจริงๆ ขอนิมนต์ พ่อท่าน ให้ความเห็นตรงนี้ไว้ก่อน เพื่อที่จะได้เป็นแนวทาง ในการปฏิบัติต่อ...."

พ่อท่าน "ที่แซมดินพูดไปนั้น ก็คือเหตุทำไมอาคารบุญนิยมถึงเกิดได้เร็วนัก จริงๆแล้ว เราคิด จะสร้างอาคาร องค์กรบุญนิยม ที่เกิดขึ้น ข้างๆโรงพิมพ์ฟ้าอภัยด้วย ก็ยังไม่ได้สร้าง เพราะว่ายังไม่มีทุน ไม่มีรอน มีแต่ที่ดินเฉยๆ คือคิดจะมีสถานที่ รวบรวม เอกสารหลักฐานสำคัญๆ ของแต่ละองค์กรของเรา องค์กรบุญนิยม ก็พยายามรวบรวม กำหนดกันขึ้นมา ให้มันเป็น กิจจะลักษณะ ซึ่งได้แยกแยะได้ ๒๑ แขนง แล้วแต่ละแขนง ก็ต่างคนต่างอยู่ ถ้ามันได้มาอยู่ในที่ ที่เป็นศูนย์กลาง เหมือนงานประจำภาค ก็เหมือน เอเปค คือเขาเอาแต่ละแห่ง เอาผู้ที่เป็นบทบาท หัวหน้า หรือว่าผู้ที่ดูแลรับใช้กลุ่ม หรือเป็นตัวแทนที่สำคัญๆ ของแต่ละองค์กรของเรา ได้มาเจอกัน บ่อยๆ มีอะไร ก็จะได้สัมพันธ์กัน มารวมกันได้อย่างเร็ว อย่างเป็นเรื่อง เป็นราว มันก็จะพาให้กิจการ อะไรต่างๆ นานา ไปได้ดีเจริญ แม้กระทั่ง ทางด้าน สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ก็ตาม รัฐศาสตร์ก็ตาม ก็จะดีตามไปหมด

ทีนี้เมื่อมันเกิดเหตุการณ์ว่าเราจะเปลี่ยนแปลงจากตึกสันติมา ซึ่งตอนแรกก็คิดสร้าง ให้เป็นที่พัก ที่อาศัยของคน เพื่อจะได้นำเงิน จากผู้ที่มาพักอาศัยนี่แหละ ได้เงินมา ก็สร้างตึกบ้าง ก่อนนั้น จะต้องมีการพาณิชย์ของเรา หรือก็มีตึกพาณิชย์ ที่จะต้องมาใช้ อาคารนี้ด้วย นี่เป็นความคิดแต่เดิม

พอมาถึงวันนี้แล้วนี่ แต่ละพาณิชย์ก็มีเอกเทศที่พออยู่ได้กันแล้ว ไม่จำเป็น ที่จะต้อง มาแออัด อยู่ตรงนี้ อันนี้มันก็คลี่คลายไป แม้ที่สุด พอถึงเวลาเอาเข้าจริง ผู้ที่เราให้สิทธิ์ ในการจองซื้อ ก็ไม่มาจองซื้ออะไรอย่างนี้ เป็นต้น เราก็ลองดูตัวเราเองซิว่า ถ้าแม้ไม่มี ใครมาซื้อ เราก็จะพยายาม ผลักดัน เป็นอาคารขึ้นมาให้ได้ โดยทำโครงสร้างใหญ่ อย่างนี้แหละ ถ้าจะทำกันขึ้นมาแล้วเนี่ย ทุนรอนที่พอจะหมุนสร้างขึ้นมา จะพอไหม อาตมาก็ซาวๆเสียงดู ก็ขานรับกันว่า พอได้ ถ้าแม้ว่า เราไม่ขาย ไม่ได้เงินจากผู้ซื้อ อาคารพักอาศัยมาช่วยหนุน จะเอาทุนของเราเองเลย จะเป็นการ "เกื้อ" มาเป็น การหมุนเวียน อุดหนุนกันเข้ามา ด้วยลักษณะใดก็ตามแต่ มันไปรอด มันพอได้ มันไม่ใช่ เรื่องลำบาก ลำบนอะไรนัก ซึ่งอาตมาก็ดูแล้วก็คิดว่ามันน่าจะพอ

เว้นเสียแต่จะเกิดอุบัติเหตุพลิกความคาดหมายบานปลายตอนท้ายๆ เกินกว่าที่เรา ประเมิน หมุนไปเท่าไร ก็ไม่พอ แต่ถ้าดูเงิน ที่ประเมินตามที่ควรจะเป็น ก็ไม่ถึงพร่อง ไม่น่าจะเป็นไปไม่ได้ อาตมาก็ว่า เอ....น่าจะดี ถ้าเผื่อเราทำ อันนี้ได้เลย ก็เลยคิดว่า มาคุยกันดูซิ องค์กรต่างๆ ที่เป็นภายในของเรา ในเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ลองคุยกัน ในรายละเอียดดูซิว่า ความต้องการ ของแต่ละคน ที่จะขึ้นไปใช้อาคารนี้เป็นอย่างไร

อันนี้ก็เป็น Model โครงสร้างรวม (พ่อท่านยกแบบที่สถาปนิก ทำจำลองมาให้ดู) ส่วนในรายละเอียด ข้างในนั้น เมื่อมันเป็นอย่างนี้แล้ว เราก็จะปรับแปลง ห้องพักอาศัย ที่จะขายก็ต้องเปลี่ยนไป จากเดิมต้องกั้น แบ่งเป็นห้องๆ ซึ่งห้องส้วม ก็ต้องมีทุกห้อง เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ต้องมี ค่าใช้จ่ายก็จะลดลงบ้าง

อาคารนี้จะเป็นสำนักงาน office ของเรา จะได้เห็นหน้ากัน การทำงาน ก็จะมี ประสิทธิภาพ มากเลย"

คุณแซมดินเสริม "จะรวบรวมเอกสารหลักฐานการดำเนินงานของแต่ละด้าน เอาไว้นะครับ ไม่แน่นะครับ อนาคต ระบบบุญนิยม ในแต่ละด้านของเรา อาจจะไปสู่ความเป็นสากล อย่างน้อยๆ ก็ประเทศไทยก่อน ซึ่งก็อาจจะทำให้ ประเทศชาติ เข้มแข็งและก็มี ประสิทธิภาพ มากขึ้นนะครับ

ทีนี้มีเรื่องแจ้งให้ทราบนะครับ ด้านที่พร้อมขององค์กรบุญนิยม ทางศูนย์ข้อมูลองค์กร บุญนิยม ซึ่งคุณรินธรรม ดูแลอยู่ จะรวบรวมแล้วทำเป็นเล่มนะครับ เล่มแรกเนี่ยก็คือ ด้านศาสนา และก็สื่อสาร จะออกก่อน ส่วนเล่มที่สองเนี่ย จะเป็นเรื่อง ของการศึกษา เล่มที่สาม เศรษฐกิจการเงิน จะออกตามมา เล่มที่สี่กสิกรรม เล่มที่ห้า การเมือง และ อุตสาหะกิจชุมชน เล่มที่หก สุขภาพและการบริโภค ส่วนเรื่องที่เจ็ด ชุมชนสังคม และ สิ่งแวดล้อม อันนี้ คุณรินธรรมคิดไว้ และก็พยายามที่จะออกให้ได้ในรอบที่พ่อท่าน อายุครบ ๗๒ นะครับ ผู้ที่ต้องการจะจอง ก็เปิดจองได้ ชุดละ ๕๐๐ บาท แล้วค่อยๆ รับไปนะครับ ครบสามปีเมื่อไหร่ ก็จะได้ครบ ๗ เล่มนะครับ แม้สปอนเซอร์ไม่มี เราก็จะทำกันขึ้นมานะครับ...."


ฉลองสนามหญ้าหน้าบ้านดอกไม้
๒๐ ต.ค. ๔๖ ที่สันติอโศก พ่อท่านเทศน์ทำวัตรเช้าซึ่งเป็นวันจันทร์ เนื่องจากได้ความคิด มาจากทางบ้านราชฯ ที่ต้องการให้พวกเราที่ช่วยงานภายใน ได้มีโอกาสฟังธรรม ทำวัตรเช้าบ้าง จึงได้นำเอามาใช้ที่สันติอโศก เป็นครั้งแรก พร้อมกันนั้น ก็ถือเป็นการฉลอง สนามหญ้า หน้าบ้าน ดอกไม้ ที่ปรับแต่ง ในช่วงเข้าพรรษา ผลปรากฏว่า มีผู้มาร่วมฟังธรรม ทำวัตรเช้า กันคึกคัก ทั้งคนรอบวัด และในวัด จากบางส่วนที่พ่อท่านแสดงธรรมดังนี้......

"พวกเราชาวอโศกที่ได้มาปฏิบัติธรรมกันถึงทุกวันนี้ ก็มีวิวัฒนาการมาทุกอย่าง ตั้งแต่ตัวบุคคล สถานที่วัตถุสมบัติ อะไรก็ดี รวมถึงรูปแบบของการดำเนินชีวิต ระบบของสังคม ชุมชนกลุ่ม ชาวอโศก แรกๆก็ยังไม่เกิดอะไร เป็นการรวมตัว อย่างหนึ่ง พอได้รวมตัวกันมากขึ้น ก็ค่อยๆ มีอะไรเพิ่มเติมขึ้นตามลำดับ และที่ชัดเด่นอย่างมาก ก็คือ การทำงาน การเป็นอยู่ การใช้ชีวิต โดยเอาศาสนาเป็นหลัก ซึ่งศาสนาอย่าง อโศกเรา ก็ไม่เหมือนอย่างที่ส่วนใหญ่ ของประชากร ที่เข้าใจศาสนาพุทธ

ส่วนใหญ่นั้นถ้านำพาโดยพระภิกษุ ท่านเหล่านั้นก็จะใช้ความเข้าใจอย่างที่ท่านเข้าใจ มานำพา ก็คือจะมีวิธี ดำเนินการหาเงิน หรือพยายามใช้วิธีให้บริจาค เรียกร้อง ให้บริจาค เป็นเอก เพราะฉะนั้น จะมีวิธีการใดๆ ให้เกิดรายได้ เข้ามาสู่วัด สู่ส่วนกลางของศาสนา แล้วก็จะสร้าง สถานที่ สร้างอาคารอะไรต่ออะไร เช่น สร้างเจดีย์ สร้างพระใหญ่ สร้างวิหาร ที่จะให้มันมาก มันใหญ่เป็นเอก แม้ที่สุด สร้างไป จนกระทั่งพระเครื่อง เพื่อที่จะเกิด การหมุนเวียน เรื่องเงิน อย่างที่ท่านเข้าใจ หรือไม่ก็มีวิธีการทำให้ดูขลัง ให้มาศรัทธา ในแบบขลังๆ แล้วก็มาทำบุญทำทาน หรือชี้ชวน ให้มาทำทาน เป็นหลัก ศีลไม่ค่อย จะรู้เรื่อง ไม่ค่อยได้พูด ไม่ได้เอาศีล มาขัดเกลา นำพาในชีวิต ศีลไม่มี ส่วนสมาธิ ก็จะสอน ให้นั่งหลับตา หลายแห่ง ทำทาน แล้วก็นั่งสมาธิ เป็นหลัก หรือหลายแห่งก็มีทาน กับแสดงธรรม ซึ่งถือว่า การอธิบาย การแสดงธรรมคือปัญญา ให้ได้รับรู้อย่างเป็น กิจจะลักษณะ อย่างอภิธรรม ก็เรียนรู้บรรยายกัน ให้ท่องจำกันทีเดียว ถือว่านี่คือปัญญา ส่วนสมาธิ ก็นั่งหลับตา สะกดจิต เป็นเจโตสมถะ กันเป็นหลัก ไม่ใช่ "สัมมาสมาธิ" ซึ่งมันออกนอก แนวทาง ของพระพุทธเจ้ากันไปแล้ว ปัญญา ก็ไม่ใช่ ภาวนามยปัญญา เป็นเพียงแค่ สุตมยปัญญา กับ จินตามยปัญญา จึงไม่เกิดองค์รวมของ "ศีล-สมาธิ-ปัญญา" ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นละเอียด ลึกซึ้งซับซ้อน แล้วมีการย้อนไป ย้อนมา มี "ปฏินิสสัคคะ" หรือ "สัจจะย้อนสภาพ" ยากที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ เหมือนอย่างเช่น แรกๆนั้น เราอยู่ที่แดนอโศก ก็เคร่งสงบ สำรวมของเราไป อยู่กับตัวเอง ไม่ได้มีกิจกรรม การงานมากอะไร เดินสงบ ก้มหน้า ไม่ค่อยจะสนใจใคร ดูกิริยาอาการ ดูจิตใจ ของตนเอง อ่านอารมณ์ของตนเอง ดูเงียบสงบดูช้า ไม่คลุกคลี เกี่ยวข้องกับใครๆ จนกระทั่ง เราค่อยๆ คลี่คลาย ขยายออกไป ตามกาลเวลา โอกาสตามเหตุปัจจัย ก็จึงมีมวลมากขึ้น มีสถานที่ มีกิจกรรมการงาน อะไรต่ออะไรมากขึ้น

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๖ เราเริ่มมีกลุ่มชาวอโศก จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๘ เราก็ประกาศแยกเป็น นานาสังวาส แล้วก็มาเริ่มต้น ที่สันติอโศกนี่ ปี'๑๙-๒๐ แล้วก็เกิดศีรษะอโศก ศาลีอโศก เมื่อมีสถานที่ ก็ต้องมีกุฎี มีศาลา คนก็ค่อยๆรวมมา ยังไม่มีงาน ที่เกี่ยวข้อง กับสังคม ยังไม่เกิดระบบสาธารณโภคี ยังไม่มีลักษณะที่จะมารวมอะไรกัน มากมาย ก็มาค้างวัด กันบ้าง จนเกิดรูปของอารามิก อารามิกา จนกระทั่ง ไปรวมกันที่ ปฐมอโศก ในปี'๒๒-๒๓-๒๔-๒๕ จากที่ได้รับบริจาคที่ดิน ๖ ไร่เศษ ตั้ง พุทธสถาน พอปี'๒๗ ก็เริ่มต้น มีพื้นที่ก่อชุมชนปฐมอโศก ปี'๒๓ เริ่มมีพุทธสถานนั้น ก็ไปอาศัย ที่เขาอยู่ ใต้ร่มฉำฉา ทำศาลาอยู่กัน กระทั่งได้สร้างวิหารในปี '๒๓ พอปี'๒๖-๒๗ ซื้อที่มาได้แล้ว ค่อยก่อหมู่บ้าน ขึ้นมาเป็นหมู่บ้านแรก พอเกิดหมู่บ้านแล้วก็มีการงาน เกิดระบบ วิถีชีวิต ที่จะอยู่รวมกัน อย่างชุมชน มีการทำงานส่วนกลาง กันขึ้นมาก มีการทำ กสิกรรม แรกๆ งานแปรรูปงานอะไรๆต่ออะไรอื่นๆยังไม่เกิด จนกระทั่ง เป็นรูป เป็นโครงสร้างสังคม แบบพุทธบริษัท มีนักบวช แล้วก็มีฆราวาสอุบาสกอุบาสิกา มีพุทธบริษัท ๔ อยู่รวมกัน กินอยู่ร่วมกัน เกิดระบบระเบียบ มันก็เกิดของมัน ตามธรรมชาติ แล้วเราก็มีการงาน ที่จะเลี้ยงตน โดยเราไม่ได้ทำ พุทธศาสนา แบบกระแสหลัก ที่จะต้องสร้างอะไรต่ออะไร มาหากิน หาเงินหาทอง เรี่ยไร หรือสร้างอะไรๆ ขึ้นมาขลังๆ แต่เราพยายามที่จะสร้าง "งาน" เริ่มงานแรก ที่เป็นกอบ เป็นกำก็คือ งานขายอาหารมังสวิรัติตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕ แล้วก็ค่อยๆ มีที่นั่นที่นี่ ขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วก็มีงานการ ที่อาตมาเน้นเป็นหลักคือ "สามอาชีพกู้ชาติ" ได้แก่ กสิกรรม ปุ๋ยสะอาด ขยะวิทยา เน้นในเรื่องนี้ เป็นหลัก แต่เราก็ทำโน่น ทำนี่ ทำยา สมุนไพร ทำแชมพู สรุปแล้ว ก็มีสัมมาอาชีพ ที่เราเลือกว่า เป็นงานที่ควรทำ

ในการทำการทำงานเนี่ย มันเป็นการปฏิบัติธรรม เกี่ยวข้องกับคน เกี่ยวข้องกับวัตถุ เกี่ยวข้อง กับเงินทอง เกี่ยวข้องกับ สิ่งแวดล้อมทั้งหลายแหล่ เมื่อกระทบสัมผัส ทางตา หู จมูก ฯลฯ จะเกิดอารมณ์ชอบไม่ชอบก็อยู่ที่เรา ถ้าผู้ที่ไม่รู้ ก็เป็นไปตาม อารมณ์ ยิ่งทำงาน ไปติดงาน ไม่รู้จักวิธีปฏิบัติธรรม งานมันวุ่น งานมันเสีย งานมันไม่ได้ดังใจ ก็เอางาน มาเป็นอารมณ์ เกิดทุกข์เกิดสุข กิเลสก็ขึ้นอยู่เรื่อย แทนที่กระทบสัมผัสแล้ว เราจะเห็น อารมณ์เรา เห็นเวทนาในเวทนา เพราะไปยึดถือ อันนั้นมาก จะเอาอันนี้มาก อันนั้นน้อย อันนั้นมากไป ไม่พอใจ อันนี้ไม่ได้ดังที่เรา กำหนด ก็เลยกลายเป็นแปรปรวน

ที่สำคัญก็คือไม่เข้าใจในการทำงาน ที่อาตมาอยากจะพูดตรงนี้ก็คือ เรื่องของการงาน ที่เรายึดติด ยินดี ในการงาน.... กัมมารามตา กับ ฉันทะในการงาน ฉันทะก็แปลว่า ความยินดี อารามะ ก็แปลว่ายินดี แต่อารามตา นั่นเป็นความยินดี ในความหมาย ที่เป็นกิเลส ความหมาย เป็นเรื่องเสื่อม เพราะฉะนั้นถ้ายินดีไปติด ไปหลงชื่นชอบ ติดใจในงาน หลงงานจนกระทั่ง เห็นงานเป็นเอก แล้วก็ลืมตัว เมาเป็นมทะ เมาไปกับ การงาน อะไรๆมาเกี่ยวมาข้อง ก็เป็นเหตุ ให้เราเกิดกิเลสเกิดอารมณ์ เกิดชอบเกิดชัง กิเลสโตขึ้นทุกอย่าง คนติดการงานอย่างนั้น เป็นอารามตาเป็นความเสื่อม ยินดี ในการงาน จนมุ่นจนติดจนหลง แต่ถ้าคนไม่ยินดี ไม่มีฉันทะ ในการงาน ยิ่งเสื่อมใหญ่เลย ถ้าคนเราไม่มีกัมมันตะ ไม่มีอาชีวะ ไม่มีการงาน กัมมันตะ ก็คือ กรรมทั้งสาม กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม งานทุกอย่างที่ไม่ถึงขั้นเป็นอาชีพก็คืองาน อย่างสมณะ หรือภิกษุ ไม่มีอะไรที่จะเป็นอาชีวะ ไม่ต้องมาสะสมงานเลี้ยงชีพ ก็ประพฤติธรรมไปทั้งหมด จนมีผู้มาอธิบายว่าอาชีพของสมณะคือบิณฑบาต เพราะไปบิณฑบาต แล้วได้อาหาร มาเลี้ยงชีพ จะว่าอย่างนั้นก่อนก็ได้

คนทุกคน ต้องมีกรรมการกระทำ กัมมันตะ ทางกาย วจี มโน และการงาน ที่เลี้ยงชีพอาชีวะ แม้ที่สุดเป็นภิกษุก็ต้องเลี้ยงชีพ ที่พวกเรา ยังเข้าใจผิด เมื่อได้ยินคำตรัสของ พระพุทธเจ้า ที่ว่า กัมมารามตา คือ ความเสื่อมของภิกษุ ซึ่งหมายถึง ภิกษุ หรือคนที่ไปยินดีการงาน แบบอารามะ ไม่ใช่ยินดีการงานแบบฉันทะ เข้าใจผิดว่า ถ้า"ยินดี"ไม่ว่าการงานอะไร ยินดีอย่างไร ก็เป็นอันต้อง เสื่อมไปหมด ผู้เข้าใจผิด จึงไม่ยินดีทำการงานใดๆ เพราะเข้าใจผิดว่า ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรม ขืนไปยินดี ในการงาน ก็จะเสื่อม ต้องวางการงาน ต้องไม่ทำการงาน แล้วไปอธิบายว่า นี่คือ การปล่อยวาง ซึ่งผิดถนัด

หรือบางกรณี เช่น เวลางานมามากๆเข้า เสร็จแล้วตัวเองก็ปฏิบัติธรรมไม่เป็น กระทบแล้ว ก็เก็บกด แล้วก็ไปเข้าใจผิดว่า เมื่อมีงานมากเข้า ก็บอกว่าไปยึดติดงาน อย่างนี้ไม่รู้จัก ปล่อยวาง คำว่า ปล่อยวางแบบนี้ เป็นการปล่อยวางอันธพาล ไม่ใช่ปล่อยวาง อย่างถูกธรรม ก็เลยไม่ทำงาน อาตมาได้ยินพวกเราพูดกันเสมอว่า ไปทำงานมาก แล้วไม่ได้ปฏิบัติธรรม นี่แหละคือ ความเข้าใจผิด การปล่อยวางอย่างนี้ เป็นการทะเลาะ แตกแยก ไม่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน

เมื่อทำงานก็ต้องมีการกระทบสัมผัส พอไม่ได้ดังใจก็เลยปล่อยวาง ไม่เอาแล้ว ไม่ทำแล้วปล่อยวาง อย่างนี้ถือว่า ปฏิบัติธรรมไม่เจริญ ไม่ได้ปล่อยวางด้วยปัญญา ถ้ากดข่มอดทนเอาก็ได้ เป็นสมถะ อย่างหนึ่ง ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง สักวันก็จะระเบิด แต่ถ้าใช้วิปัสสนาแล้ว ก็ลดละกิเลสได้จริง ก็สมบูรณ์

ทุกวันนี้อาตมาเห็นรูปร่างของสิ่งที่มนุษย์จะได้อาศัยเจริญมากขึ้น แล้วมันจะดียิ่งขึ้น ถ้าพวกเรา ปฏิบัติถูก เป็นสัมมา ลดละกิเลสได้จริง เสียสละได้มากขึ้น พวกเราขยัน หมั่นเพียรมากขึ้นกว่านี้ ไม่ใช่ปล่อยวางอันธพาล ไม่รับผิดชอบงาน ถ้าทุกคนปล่อยวาง อันธพาลกันหมดอย่างนี้ อาตมาก็เศร้า เดี๋ยวไม่มีคนทำงานกันเลย การปล่อยวางนั้น ไม่ใช่ "ปล่อยวางงาน" แต่เป็นการ "ปล่อยวางกิเลส" ต่างหาก ไม่ถือสา ไม่ติดยึด ทนได้ มีปัญญา มีโลกุตรจิต แข็งแรงอยู่เหนือได้ โดยสรุปแล้วคนยิ่งปล่อยวางได้ ก็ยิ่งทำงาน ได้เยอะ ยิ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนได้เยอะ ใครจะร้าย ใครจะแรงอะไร เมื่อปล่อยวางเป็น แล้วก็อยู่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่คนจะหนีงาน การยินดีที่เรียกว่า ฉันทะ จึงไม่ใช่เป็น การติดงาน หรือไปติดคน ติดโน่นติดนี่ แต่ถ้าทำงานด้วยกิเลส นั่นคืออารามตา เป็นอารมณ์ ที่ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส หรือไปติดยึดการงาน จนเสีย อารมณ์ เสียสุขภาพ เสียหมู่กลุ่มสังคม เสียเวลา เสียอะไรต่างๆ ซึ่งเกิดจากการงาน ทั้งวัตถุการงาน ทั้งพฤติกรรม ของลูกค้า เลยกลายเป็นงานพาให้เราไปติดยึด มันก็ไม่ใช่ยินดีในงาน เป็นการยินดี ในกิเลส กัมมารามตาจึงเป็นการยินดี ซ้อนลึก ในกิเลส ถ้าเรายินดี อย่างถูกต้อง ไม่ประกอบด้วยกิเลส ยินดีสร้างสรร อย่างมีปัญญา ก็จะเป็นฉันทะ แล้วมันก็จะวิริยะ จะขยันพากเพียร ไม่ใช่ท้อ ไม่ใช่เหนื่อยเฉื่อย เลยพาลเอาใจใส่ การงานก็น้อย ฉันทะลด วิริยะลด จิตตะก็ลด เพราะพิจารณาไม่เป็น วิมังสาไม่เป็น ตัดสินไม่ได้ วินิจฉัยไม่ออกก็โง่ แต่ถ้าเราทำถูกทำเป็น งานก็เจริญ

ทีนี้พูดมุมกลับคนที่ติดงาน ติดที่ แล้วไม่เกี่ยวข้องกับใคร แบบนี้หนัก ทับถมงาน ทับถม กิเลส ไม่คลี่คลาย ไม่ระบายอะไร ออกเลย จะให้ย้ายที่จากตรงนั้นมาตรงนี้ โอ้โฮ.... จะเป็น จะตาย โน่นๆนี่ๆ ไม่ยอมเลย ไปยึดอันเดิม มีเหตุผลต่างๆนานา ปฏิบัติธรรม มาตั้งนาน แต่ไม่เจริญ มันจะอะไรกันนักหนา ไปติดยึดอะไรกันมากมาย ทำงานก็ดีนะ.... ขยัน แต่ไปจมไปติดยึด หรือ มีกิเลสพาลให้ก่อความเสียหาย อย่างนี้ไม่เจริญ พวกเรา อย่าให้เกิดกิเลส อย่ามานั่งติดยึด เป็นปลิโพธ เป็นการติดยึด ห่วงหาอาลัยอาวรณ์ ทั้งงาน ทั้งสถานที่ ทั้งองค์ประกอบ สิ่งแวดล้อม นี่ของฉัน ที่นี่ฉันอยู่อย่างนี้ มันเป็นโอฬาริกอัตตา อัตตาในวัตถุ สมบัติสถานที่ แล้วมันจะไปไหนรอด มันก็เป็นปู่โสม เท่านั้นเอง ตายแล้ว ก็เป็นจิ้งจก ตุ๊กแก อยู่ตรงนั้นน่ะ มันก็กินแมลง แล้วก็ขี้รดอยู่ตรงนั้น เท่านั้น......"

ปิดท้ายบันทึกฉบับนี้จากโอวาทปิดประชุม ชุมชนปฐมอโศก (๒๗ ต.ค.) "งานของพวกเรา ชุกมากขึ้น มีพวกเราคิดตั้งสถาบัน เป็นองค์กรมหาชนขึ้น เพื่อเชื่อมกับ สังคมข้างนอก โดยจะมีทุนจากรัฐบาล มาอุดหนุนด้วย ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกับรัฐ เพื่อเราจะได้ ขอตัวคนมาช่วยงานมากขึ้น เราจะได้ รวมคน รวมทุน รวมงาน เป็นการหาทางพัฒนา ให้ได้ประโยชน์ สูงยิ่งขึ้น มีกำลังเข้ามาเสริม มากขึ้น

การประชุมเอเป็คจบลงไปแล้ว ยิ่งเห็นชัดเจนว่า เราน่าจะได้ช่วยรัฐบาล เขาลงทุน เป็นพันๆ ล้านบาท รัฐต้องการช่วยคนจนด้วยระบบทุนนิยม เราก็จะช่วยคนจน แต่ด้วย ระบบบุญนิยม ซึ่งลึกซึ้งกว่ากัน รัฐใช้วิธีการหลายๆอย่าง เพื่อให้โอกาสคนจน จะได้ลืมตา อ้าปากขึ้นมา ได้เงินเพิ่มขึ้น แต่คนจนที่ได้รวยขึ้นมาเขาจะใช้เงินเป็นไหม? เขาจะถูกนายทุน หลอกเอาคืน ไปอีกไหม? และเขาจะไปติดยึดของที่นายทุน มอมเมา ขึ้นมาอีกไหม? แต่ก่อนนี้ไม่ค่อยมีเงิน ก็ไม่ค่อยไปหลงเท่าไหร่ แต่พอมีเงินมากขึ้น กินเหล้า ก็ต้องกินยี่ห้อแพงขึ้น เสื้อก็ราคาแพงขึ้น รถยนต์ก็ต้องใช้ที่ ราคาแพงขึ้น นี่คือ ไม่ได้ศึกษาธรรมะ เขาก็จะเป็นเหยื่อของสังคมต่อไป สักวันหนึ่ง ก็จะกลับรูปรอยเดิม แล้วคนชนบทเหล่านี้ จะมีวิธีการรักษาทรัพย์สินที่หามาได้ หรือนายทุน จะดูดกลับ เอาไปอีก เวลาจะไม่ยาวนานเลย พวกนายทุนจะดูดกลับเอาไป นายทุนนี่แหละ สร้างคน ให้เกิดกิเลสเก่งที่สุด กิเลสเป็นเชื้อโรคของสังคม ติดเข้ามาแล้ว ก็อดไม่ได้ ติดโน่นติดนี่ ต้องเสพย์ ต้องมีต้องเป็น เพราะกิเลสมันเกิดแล้ว แล้วสังคม จะเป็นอย่างไร ในระยะยาว อันนี้อาตมาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เราก็จะต้องช่วยสังคม มนุษยชาติ พวกเราต้องสร้าง ความเป็นจริงของพวกเราให้เจริญ ให้แข็งแรง ทุกวันนี้ กระแสจากสังคม ยอมรับพวกเรา มากขึ้นพอสมควร นี่เขาเชิญไปประชุมในงาน Living Economies in Asia เป็นงานระดับสากล ระดับโลก ที่ห้องประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ พ.ย. ๔๖ นี้ จะต้องไปพูด ในหัวข้อ Spirit in Business

ขณะนี้นักศึกษาปริญญาตรี โท เอก ต่างก็เข้ามาศึกษาทำวิจัยกันมากขึ้นเรื่อยๆ และ ยังมีบริษัทหนึ่ง ที่มีเงินเป็นพันล้าน ติดต่อมาขอร่วมงาน เราจะทำงานกับเขา พิสูจน์ให้เขาเห็น เลยว่า คนทำงานไม่รับเงินเดือน พวกศูนย์บาท กับพวกหมื่นล้าน ร่วมงานกันได้ มีประสิทธิภาพ พอกัน เราอย่ามาทำเหลาะๆ แหละๆ ทุกวันนี้รัฐบาล ใช้ระบบทุนนิยมอยู่ จะได้ชั่วคราว ไม่ถาวรยั่งยืน จะต่ออายุได้ระยะหนึ่ง แล้วจะล้ม มาถึงวันนี้ อาตมายิ่งเห็นรูปรอยว่า เราต้องรับผิดชอบมนุษยชาตินะ ใครยังเหลาะๆ แหละๆอยู่ ไม่เป็นโล้เป็นพาย ไม่เอาจริงเอาจัง คิดเสียใหม่ โศลกงานปีใหม่นี้ ไม่รอ ไม่หวัง แต่เราทำ

- อนุจร -
๓๐ พ.ย. ๔๖

สารอโศก อันดับที่ ๒๖๗ ธันวาคม ๒๕๔๖