- มะตูมแห้ง -

สีผสมอาหาร


ในการประกอบอาหารทั้งคาวและหวานของไทย มักมีการแต่งสีสันให้สวยงามน่ารับประทาน ซึ่งเป็นอัจฉริยภาพ ของบรรพบุรุษไทย สืบมาแต่โบราณ ที่รู้จักพึ่งธรรมชาติ นำพืชผัก สมุนไพร ที่ให้สีธรรมชาติ มาผสมอาหารให้ได้สีตามต้องการ โดยไม่เกิดพิษภัยต่อสุขภาพ ของผู้บริโภค ซึ่งต่างกับสี จากสารเคมี หรือสีสังเคราะห์ เช่น สีที่ใช้ย้อมผ้า มีสารหนูผสม เป็นอันตราย ต่อผู้บริโภค อาจเกิดอาการ หายใจไม่ออก น้ำลายฟูมปาก ปวดท้อง อุจจาระดำ อาเจียน เวียนศีรษะ หน้ามืด

สีจากธรรมชาติ ส่วนมากได้จากพืชผัก ผลไม้ สมุนไพร ซึ่งอาจหาได้จากที่ปลูกไว้ภายในบ้าน หรือริมรั้ว ราคาก็ถูกและหาได้ไม่ยาก เช่น

สีแดง ได้จากดอกกระเจี๊ยบ มะละกอสุก ผลตำลึงสุก พริกแดง
สีเหลือง ได้จากหัวขมิ้น ดอกโสน ลูกตาลสุก ฟักทอง
สีเขียว ได้จากใบเตย ใบมะตูม ใบย่านาง ใบพริก
สีน้ำเงิน สีฟ้า ได้จากดอกอัญชัญ
สีม่วง ได้จากหัวเผือก ข้าวเหนียวดำ ถั่วดำ
สีดำ ได้จากเปลือกมะพร้าวแห้งเผาไฟจนเป็นถ่าน

ขนมของหวานและของคาว ที่มีสีต่างๆ โดยใช้สีธรรมชาติ เช่น
ขนมชั้น สีเขียว ใช้ใบเตยคั้นน้ำผสม
ขนมตาล สีเหลือง ใช้ลูกตาลสุกผสม
วุ้นกะทิ สีน้ำตาล ใช้ผงโกโก้ผสม สีเขียว ใช้ใบเตยผสม
ขนมขี้หนู สีเหลือง ใช้ดอกโสนผสม
ขนมเปียกปูน สีดำ ใช้เปลือกมะพร้าวเผาไฟจนเป็นถ่านบดละเอียดผสม สีเขียว ใช้ใบเตยผสม
แกงเหลืองปักษ์ ์ใต้ ใช้ขมิ้นผสม
ซอสมะเขือเทศ สีแดง ทำด้วยผลมะเขือเทศ
ซอสพริกสีแดงอมส้ม ทำจากเมล็ดพริกสีแดง เป็นต้น

นอกจากสีผสมอาหารแล้ว คนไทยยังรู้จักใช้สีจากธรรมชาติในกรณีอื่นอีก เช่น ใช้ขมิ้น ก้านดอกกรรณิการ์ ย้อมสีจีวรพระ ใช้รงสีทองเขียนตัวอักษรสีทองบนสมุดไทย ใช้สีถ่าน ทำจากถ่าน เขียนตัวอักษรสีดำบนสมุดไทยขาว ใช้ผลลูกเงาะ (ไม้พุ่ม ไม่ใช่ผลเงาะที่กินลูก) ย้อมผ้าสีแดง เป็นต้น
(จากนิตยสาร สกุลไทย)

สารอโศก อันดับที่ ๒๖๗ ธันวาคม ๒๕๔๖