- แม่น้ำ ลักขิตะ -

ลงมือทำแล้วจะชำนาญ

"ประสบการณ์จริงของชีวิต ดีกว่าตำราใดๆ"

ความรู้กับความจริง บางครั้งไปด้วยกันยากในทางปฏิบัติ...รู้มาอย่างนี้ พอลงมือกระทำกลับไม่ลงร่องอย่างที่รู้มา ปัญหาเกิดสิ

โลกต้องเผชิญปัญหาอย่างหนัก เพราะคนปัจจุบันฉลาดรู้เหลือเกิน มากไปด้วยหลักวิชาการดาษดื่น แต่หาคนทำจริงได้น้อยมาก
เพราะให้ค่าความคิดมากกว่าฝีมือ คนจึงมุ่งทิศชีวิตไปสู่มายาวิชาการ ยกย่องคนที่เรียนสูงๆ แล้วดูถูกคนใช้แรงงานว่าด้อยค่า
ในความเป็นจริง ค่าของคนมิได้วัดกันที่ใบปริญญาหรอก หากขึ้นอยู่กับใครเสียสละให้สังคมมากกว่ากันโดยส่วนมาก คนมีความรู้มักกอบโกยจากสังคม ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ ตั้งค่าตัวเงินเดือนสูงลิ่ว ลงมือทำงานจริงแค่เซ็นชื่อลงกระดาษ แกร็กเดียว ไม่ออกเรี่ยวแรงใดเลย ทำงานเบาแต่เอามาก หากเปรียบเป็นการค้า-ถือได้ว่าเอากำไรเกินควร ขูดรีดเม็ดเงินไปจากสังคม ไม่เสียสละซ้ำเก็บตุนจนมั่งมีเป็นกระฎุมพี
คนความรู้น้อย ต้องทนทำงานหนักแลกเม็ดเงินน้อยนิด อย่างชาวไร่ชาวนา ทำงานเหนื่อยสายตัวแทบขาด ขายข้าวแต่ละปีแทบไม่พอยาไส้ แต่แรงกายทุ่มเทไปนั้นไม่สูญเปล่า แม้มิได้กลับคืนเป็นเงินตรา แต่นั่นแหละ คุณค่าที่ชาวนาเสียสละให้สังคม.... แล้วถามว่า ใครควรมีค่ามากกว่ากันในสังคม???
กระนั้นจะตอบตายตัวทีเดียวไม่ได้....บางคนมีความรู้สูง แต่ทำงานเสียสละเพื่อสังคมก็มีเพียงแต่น้อยหน่อย
"ร้อยรู้ไม่สู้หนึ่งทำ"
พจนะข้างต้นนี้สื่อความหมายได้คมมาก คนเราหากได้แต่รู้ ไม่ลงมือทำ ยากจะประสบผลสำเร็จ นักธุรกิจใหญ่ๆระดับโลก ล้วนเคยตีนติดดินมาทั้งนั้น สั่งสมประสบการณ์ยาวนานกว่าจะผงาดฟ้า แต่ลูกหลานพวกเขากำลังจะทำลายทุกอย่างที่เขาสร้างมา เพราะทายาทเหล่านี้เสพสุขมาแต่เกิด ไม่เคยลำบาก ไม่เคยปากกัดตีนถีบ ติดสบาย ความล่มจมจะเป็นบทสรุปสุดท้ายของบุตรกระฎุมพี ที่มีแต่ความรู้กับเงินเป็นทุนชีวิต ขาดประสบการณ์ลำเค็ญ
เมื่อทำแล้วจะรู้ ประสบการณ์สอนอะไรหลายอย่างให้เรา... ทำถูกเป็นแบบอย่าง ทำผิดเป็นบทเรียน
กรรมที่กระทำลงไปแล้ว ไม่มีสูญเปล่า-รู้จักเก็บประโยชน์จากทุกประสบการณ์ เราจะเป็นผู้ชำนาญกิจการนั้นๆ อย่างผู้รู้ที่แท้จริง มิใช่เพียงท่องจำตำรา หากแต่เป็นฝีมือ .

- สารอโศก อันดับที่ ๒๖๘ มกราคม ๒๕๔๗ -