อโศกรำลึก'๔๗

ในโลกกว้างใหญ่ มีผู้คนมากมาย มีเรื่องราวมากมายหลายเรื่องแม้ได้ยินกับหู ได้เห็นกับตา ก็ยังอาจ ไม่ใช่สิ่งที่เราได้ยินได้เห็นจริง เพราะในโลกมีทั้งสมมุติสัจจะ ปรมัตถสัจจะ และการประมาณ โดยมีสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ตามภูมิปัญญาของแต่ละคน จึงเป็นเรื่องที่ยากแท้หยั่งถึง จุดประสงค์ ของผู้นั้น จึงมีแต่ผู้นั้นที่รู้อย่างแท้จริง

# การให้สัมภาษณ์ใน น.ส.พ.ไทยโพสต์ ของพ่อท่าน ถ้าคนอื่นอ่านหรือแม้แต่ท่านนายกอ่าน จะคิดว่า เป็นการพูดประชดประชันหรือไม่คะ ?

*** อาตมาเพียงพูดไปให้รู้ ให้เข้าใจว่าคืออะไร หมายความว่าอะไรให้ชัดเจนขึ้น เมื่อพูดไปแล้ว ทำไปแล้ว ก็ตามประสาจริงใจ ไม่ได้มีอะไร ถ้ามัวแต่จะรักษามารยาท มัวแต่ถนอมน้ำใจ กันเกินกาลไป ไม่มีที่สุด ไม่พูดให้กระแทกกระทุ้งกระเทือนอะไร ก็ไม่รู้เรื่องกันสักที มันถึงคราว ต้องพูดกันให้ถึงที่สุดกันบ้าง ก็ไม่เป็นไรหรอก นายกฯท่านก็เป็นคนที่มีอะไรพูดตรงๆท่านชอบ ซึ่งท่านก็พูดบ่อยๆไป เราก็พูดกันให้ตรงๆ พูดให้ชัดๆ พูดง่ายๆด้วยเจตนาดี ด้วยความจริงใจ ก็เท่านั้นเอง ไม่ได้พูดประชดประชัน แต่ถ้าคนที่มารยาทมาก สุภาพเรียบร้อยเกินไป ก็จะรู้สึกจริง แต่นั่นคือ ไม่เกิดผลในการพัฒนามนุษยชาติ

พระพุทธเจ้าต้องมีความแรงพอสมควร มีน้ำหนักพอสมควร มีความตรงพอสมควร ต้องประมาณ จุดนี้ให้สำคัญ ไม่ใช่ว่าอ้อมจนคนฟังเข้าใจไม่ได้ หรืออ้อมจนคนชะล่าใจว่า โอ๊ย!อีกนาน อะไร อย่างนี้เป็นต้น มันไม่ได้ผล อันนี้แหละเป็นการประมาณของสัตบุรุษ ที่จะต้องประมาณอย่างนั้น จริงๆ มีสัปปุริสธรรม ๗ ประการอย่างสำคัญจริงๆ การที่พูดว่าไม่บังอาจสอนสังฆราช ไม่ใช่คำพูด ประชดประชัน เป็นลีลาการพูดคุย เป็นสำนวนตอบโต้ เพื่อให้เกิดความสนุก เกิดความเข้าใจชัดเจน และให้เกิดมีผลขึ้นในการพูดด้วย ยิ่งพูดไปแล้ว จะออกไปเป็นสื่อ ก็เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงกัน


# นายกฯทักษิณถูกมองว่าไม่ค่อยรับฟังใคร

*** ก็เห็นรับฟังดีอยู่ ก็เห็นผลอยู่ สิ่งที่ไม่ฟังก็ไม่ฟัง สิ่งที่ฟังท่านก็ฟังอยู่ ไม่ได้หมายความว่า ท่านจะ ไม่ฟังใคร แต่ทีนี้ด้วยอำนาจกิเลสของคนเรา ถ้าเราเสนออะไรไป เขาไม่ฟัง เราก็ว่าเขาไม่ฟัง ไม่ฟังเลย ไม่ฟังใคร ที่จริงคือไม่ฟังเรา แต่คนอื่นพูดท่านก็ฟัง ฟังคนนี้ ฟังคนนั้นพูด ก็ฟังทุกคน แต่เลือก เมื่อเลือกไม่ตรงใจเรา เราก็ว่าเขาไม่ฟังเรา มันก็เป็นไปได้ในแง่คิดของคน


# แสดงว่าการพูดอะไรก็ตาม พ่อท่านได้ไตร่ตรองดูแล้ว

*** มันเป็นอัตโนมัติของคนทุกคน จะว่าไปแล้ว ความจริงคนเราจะมีการประมาณตามภูมิของตน ใครมีภูมิเท่าไร ก็ทำได้ดีเท่านั้นๆตามจริง พระพุทธเจ้าตรัสถึงสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ท่านตรัส ด้วยสัจจะ ความจริงของคนก็เป็นตามจริง คนไหนยิ่งไม่ประมาณเลย หวือหวา อีโหล่งโฉ่งฉ่าง สุ่มสี่สุ่มห้า สะเปะสะปะ มันก็เป็นอย่างนั้น แต่คนไหนเขามีการระมัดระวัง ใช้ภูมิปัญญา ใช้ปฏิภาณ วัดอะไรต่างๆนานา วัดทั้งกาละ กลุ่มหมู่บุคคลแต่ละบุคคล ทั้งเนื้อหาสาระ องค์ประกอบ ทั้งเรื่องราวอะไรต่างๆนานา ท่านก็ประมาณตัวเอง มีอัตตัญญุตา รู้จักประมาณว่า ตัวเรา ก็เท่านี้ เราพูดได้เท่าไร เราจะแสดงออกได้เท่าไร มันเป็นอะไรที่สุดวิเศษเลย สัปปุริสธรรม ๗ ประการ สุดยอดแห่งการประมาณ การจัดสรรและการที่จะทวนดู เราควรทำแค่ไหนที่จะดีที่สุด ได้ผลดีที่สุด ทั้งต่อตัวเราและผู้อื่น


# ถ้าเราประมาณแล้วว่าคนนี้ จะต้องพูดตรงๆอย่างนี้ก็ต้องแรงอย่างนี้ จึงจะเหมาะ แต่คนอื่น เห็นภาพเราแรง เข้าใจไม่ได้

*** ก็มีเหมือนกัน ที่เราประมาณแล้ว สำหรับบุคคลผู้นี้ ปุคคลปโรปรัญญุตา ว่าเราต้องทำอย่างนี้ ด้วยลีลาอย่างนี้ และแรงมากขนาดนี้ คนอื่นอาจรู้สึกว่า แรงอย่างนี้ ถ้าเป็นเราตายเลย แต่สำหรับ คนคนนี้ เขาต้องแรงอย่างนี้ จึงจะเป็นไปได้ ซึ่งผู้ที่จะกระทำต่อบุคคลนี้ ได้ประมาณแล้ว คนอื่น ไม่รู้ไม่เข้าใจ มาเห็นเข้า มาได้ยินมารับฟังเข้า ก็รู้สึกว่ามากไป ก็ใช่ เพราะการประมาณต่างกัน แต่ละคนมีข้อมูล มีปัญญาที่จะรู้ข้อมูลของแต่ละคน ไม่เหมือนไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น มันย่อมไม่ตรงกัน

ส่วนคนที่เห็นว่าเราแรง เรามากไป ก็ติงเราได้เหมือนกัน เราก็ต้องรับฟังว่าจริงไหม มันมากเกินไป หรือน้อยเกินไป เราก็รับมาตรวจตราไตร่ตรองหาความจริง การรับฟังก็คือ การพัฒนาตัวเอง การศึกษา คือการเรียนรู้จากเรื่องจริงพวกนี้ ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลแท้ ที่เราจะนำมาวิจัยตัวเราเอง มาวิเคราะห์ เพื่อสอบทาน เรียนรู้ แก้ไขปรับปรุงเสมอๆ ไม่ใช่ยึดมั่นถือมั่นว่าฉันแน่ ฉันจริง ฉันถูก ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแก้ไข คุณจะใหญ่แค่ไหน จะรู้มากอะไรแค่ไหนเชียว


# การที่เรารู้สึกไม่ชอบใจ ไม่พอใจ เราถือสากับการที่ถูกมองผิดๆด้วยความไม่เข้าใจ

*** นั่นคือเราเกิดมานะในตัวเราเองว่า เราโดนใครติ ใครติง ใครท้วงไม่ได้ ไม่พอใจ ใครที่เห็นเราทำ ไม่เหมาะไม่สม แล้วเขาติเขาติงมา แต่เราไม่รับฟัง เราก็เกิดอารมณ์ไม่ชอบ เราก็หยิ่งผยอง เกิดอัตตามานะ ตีทิ้งคนอื่น เราก็โง่เอง และทำให้เราไม่มีการพัฒนา อาการไม่ชอบใจ ไม่พอใจ เป็นกิเลสแท้ๆ คือทุกข์ตัวจริง ทั้งไม่ก่อประโยชน์ มีแต่โทษภัย ซึ่งเราไม่ควรประมาท แม้แต่จิ้งจกทัก แม้แต่คนที่เขาไม่ได้มีศักดิ์มีศรี เขาไม่ได้มีความรอบรู้อะไรมาติง เด็กๆมาท้วง ผู้รู้ผู้ที่ไม่มีมานะ อัตตา ก็จะรับฟัง นำมาตรวจสอบ อย่าไปดูถูกดูแคลนคนอื่นเขา ตรวจสอบถ้าพบว่า มันถูกต้อง ดีแล้ว ก็ดีไป แต่อย่าลำเอียงเข้าข้างตัวเองก็แล้วกัน

ข้อสำคัญ พยายามถอดตัวถอดตน ดูเนื้อหาที่แท้ อย่าไปเอาอุปกิเลส หรือกิเลสต่างๆมาเป็นตัวกั้น พยายามทำใจเป็นกลาง ถ้ามันดีจริง ถูกต้อง เราก็ดีก็ถูกต้อง เพียงแต่เขาเข้าใจไม่ถูกเท่านั้นเอง ก็แล้วไป ที่เขาติงเตือนให้ก็เป็นบุญคุณแล้ว แม้มันจะผิดก็เป็นความไม่เข้าใจของเขา เขาอาจได้ ข้อมูลเราไม่พอ หรือเขาไม่ฉลาดพออะไรก็ตาม เราจะไปรับผิดชอบเขาได้หรือ เขาก็เป็นของเขา ส่วนเราก็ดูของเรา ถ้าเรายืนยันที่เราทำว่าถูกต้อง เราก็วาง ถ้าผิดเราก็ขอบคุณอย่างยิ่ง ที่เขาติงเตือน สิ่งที่เราผิดพลาด ตรวจสอบแล้วเป็นเรื่องดีที่เขาติงเตือน ก็กราบขอบคุณเขาเลย


# ถ้าอายุขัยของพ่อท่าน ๗๒ ปี ตามนั้น มีอะไรที่พ่อท่านยังห่วงอยู่คะ ?

*** อาตมาเรียนรู้มาแล้ว ในความห่วงปลิโพธต่างๆ และก็ทำใจทำตนมาแล้ว ถ้าอาตมามัวแต่ห่วง มันมีสิ่งที่อาตมาน่าห่วงมหาศาลเลยในโลกนี้ ห่วงมนุษยชาติ ห่วงคนชั่ว ห่วงสิ่งนั้นสิ่งนี้ มันผิดไป พลาดไป มันเหลวไหลเลอะเทอะ มันมีอยู่เต็มโลก ขณะนี้ยิ่งเยอะมากเลย ถ้ามัวแต่ห่วงอย่างนั้น ก็ไม่ต้องตายกันพอดี เพราะฉะนั้นเมื่อเรียนรู้เรื่องปลิโพธ เรื่องความห่วง เรียนรู้สิ่งอย่างนี้ไปแล้ว เราก็ลดละปลิโพธ มันก็ไม่ไปห่วงหรอก ไม่มีห่วงหาอาลัยอาวรณ์ แต่โดยปัญญา โดยความเข้าใจ มันก็น่าห่วง แต่เราก็รู้กาลเทศะอีกแหละ ห่วงแล้ว เมื่อถึงเวลาตายจากก็ต้องตาย ฉะนั้น อาตมาไม่ห่วง

พระพุทธเจ้าท่านศึกษาเรียนรู้มาแล้ว ได้วิชาการสุดยอดวิเศษ ท่านเองก็ควรจะต้องห่วงโลก อยู่แน่นอน แต่ท่านหัดวางปลิโพธ ความห่วงหาอาวรณ์ต่างๆเสร็จแล้ว ได้แล้วจริง เมื่อถึงวาระ ถึงเขตถึงขีด ได้เท่านี้ ก็พอเท่านี้ รู้ความพอเหมาะพอดี มันก็ได้เท่านี้แหละ และสุดท้าย หมดโอกาสแล้ว ท่านจะปรินิพพาน ท่านก็ปรินิพพานไป โดยไม่ต้องห่วงอะไร ทั้งที่มันก็ น่าห่วงมั๊ยล่ะ ศาสนาของท่านขนาดนี้ ท่านก็น่าห่วง ถ้าพูดตามประสามนุษย์ คิดตามสามัญ สำนึกธรรมดา แต่จะห่วงอยู่ได้อย่างไร

เราต้องมาเรียนรู้ปลิโพธ ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านสอน ถึงการรู้กาละเทศะฐานะอันเหมาะอันควรว่านี่จบ คือจบ นี่คือขีดเขตที่ต้องตัดต้องพอเท่านี้ๆ สุดวิสัย เต็มวิสัยแล้วก็จบ เพราะฉะนั้นจะบอกว่า ห่วงหรือไม่ห่วง จะบอกไม่ห่วงก็เหมือนอวดดี จะตอบว่าห่วง อาตมาก็ทำหน้าที่โพธิสัตว์ อาตมา ยังไม่จบกิจโพธิสัตว์ โพธิสัตวภูมิ อาตมามีวัฏฏสงสารที่จะมาต่อ อาตมาไม่ได้สงสัยอะไร อาตมา ไม่มีปัญหาหรอก แล้วอาตมาก็จะมาทำต่อ แต่ตอนนี้ขอนอนพัก ตายก็คือเหมือนนอนพัก พักไปแล้วตื่นขึ้นมาก็มาทำต่อใหม่ กิจของเรายังต้องทำอยู่ ก็ทำต่อไป


# ฝึกทำใจอย่างไร เมื่อต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ?

*** เราต้องหัดเรียนรู้ความจริงว่า ทุกอย่างไม่มีอะไรที่จะไม่พรากจากกัน ซึ่งพระพุทธเจ้า ให้ปัจจเวกขณะ ให้พิจารณาทบทวนเสมอๆว่า ไม่มีอะไรหรอกที่จะไม่พรากจากกัน เพราะฉะนั้น เมื่อต้องพรากจากกัน บางทีด้วยอปัทวเหตุโดยไม่ได้เจตนา โดยไม่ได้ตั้งหลักด้วยซ้ำไป ปุ๊บปั๊บ จากกันเร็ว เออ! ต้องจากกันแล้วหนอ

เลี้ยงลูกให้รู้จักโต เลี้ยงพ่อแม่ให้รู้จักตาย หรือแม้แต่ลูกจะตาย หรือเพื่อนฝูงมิตรสหาย จะตาย จากกัน โดยที่มันเกิดแล้วเป็นจริงอย่างนั้น เราก็ต้องหัดวางใจ เราต้องรู้จักการวางใจ สำหรับคนที่ เรียนรู้แล้ว ฝึกฝนแล้วรู้ความจริงตามความเป็นจริง การไปอาลัยอาวรณ์กันอยู่ก็เป็นทุกข์ มันไม่น่า จากกันง่ายอย่างนี้นะ มันน่าจะมีอะไรต่อกว่านี้ มันก็จริง ก็เข้าใจกันได้อยู่ แต่เมื่อมันเกิดเช่นนี้แล้ว เราจะไปสร้างจิตของเรา หรือปล่อยให้จิตของเรา มีความห่วงหาอาวรณ์โศกเศร้าทุกข์ร้อน นั่นคือ ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุแห่งทุกข์ ไม่รู้จักอาการของจิตที่ไปยึด ไปให้มันเป็นบทบาทอันนั้นอยู่ จิตจะมีบทบาทไปตามที่เราหลง กับตามที่เรารู้ หลงก็ไปตามที่มันหลง รู้ก็ไปตามที่มันรู้ ถ้าเรารู้ และไม่ให้มันไปตามที่ไม่ควรเป็น แต่ให้มันเป็นตามที่ควรเป็น ก็เรียกว่าให้จิตเป็นไปตามที่เรารู้ ต้องฝึกฝนบ่อยๆ ทำให้ได้เสมอๆ ตรวจสอบบ่อยๆให้เกิดญาณปัญญา ให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้ง เข้าไปจริงๆ ถึงจริง จริง


พ่อท่านมักเตือนพวกเราเสมอๆว่า
"ทุกสิ่งย่อมพรากจากกัน แม้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตก็ตาม" เพราะมีแต่ความตายเท่านั้น ทำให้รู้แจ้ง ถึงความไม่เที่ยงแท้แห่งสังขาร เป็นบทเรียนสอนให้คลายจากความผูกพัน ยึดมั่นต่อกัน ไม่หลง เกาะเกี่ยวผู้ใดไว้ในหัวใจ เรามาคนเดียว และไปเพียงคนเดียวเท่านั้นจริงๆ นี้คือสัจธรรม ที่ทุกคน ต้องรู้ รับรู้ แม้เราอาจยังไม่พร้อมก็ตาม

- สารอโศก อันดับที่ ๒๗๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗ -