โรงบุญ ๕ ธันวามหาราช'๔๗



พระพุทธองค์ตรัสว่า ศาสนาของพระองค์เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ (พหุชนหิตายะ) ดังนั้น บทบาทของนักการศาสนา จึงมิเพียงจำกัดอยู่ในวงแคบๆ ดังความเข้าใจของชาวพุทธ ปัจจุบันนี้ ที่เข้าใจผิดไป เนื่องเพราะศาสนาที่ถูกตรงคือ ความชัดเจนบนเส้นแบ่ง แห่งโลกียะ และโลกุตระ ที่ก้าวล่วงความเป็นเทวนิยม เป็นที่พึ่งแก่โลก ที่แท้จริง มีนาถกรณธรรม ๑๐ คือ ธรรมทำที่พึ่ง ๑๐ อย่าง

ดังบทสัมภาษณ์ของพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ซึ่งจะให้ความกระจ่างชัดในมิติระหว่างผู้ให้กับผู้รับ และวัฒนธรรม การไหว้ ไหว้อย่างไรให้เหมาะสม รวมทั้งการออกมาขานรับ ของชาวอโศก ต่อสังคม ในเรื่องของการพับนก เพื่อส่งสันติภาพสู่ชาวใต้


# ชาวอโศกแจกโรงบุญมังสวิรัติ ๕ ธันวามหาราชมาจนเป็นประเพณี และไหว้ขอบคุณผู้รับ ทำไมต้อง ไหว้คะ? ผู้รับไหว้ ขอบคุณผู้ให้ก็ถูกต้องแล้ว

- การไหว้ผู้รับเป็นการแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนของเรา แสดงความไม่หยิ่งผยอง ไม่ถือว่าเราเป็น ผู้ให้ ผู้มีคุณประโยชน์ต่อเขา เป็นผู้มีคุณค่าต่อเขา หรือเป็นผู้ที่จะยิ่งจะใหญ่ จะเสียสละอะไร ให้แก่เขา ก็แล้วแต่ ซึ่งทางโลกีย์ หรือชัดๆคือระบบทุนนิยมนี่ถือว่า ผู้ให้วัตถุเงินทอง ข้าวของแก่ผู้รับ นี่เป็นการเกิด คุณค่า ทางโลกีย์ เท่านั้น แต่ในทางโลกุตระ มันมีคุณค่าทางปรมัตถธรรม ที่ซับซ้อนลึกซึ้งหลายชั้น มีสัจจะย้อนสภาพ ที่ต้องลดอุปกิเลส เพิ่มขึ้นอีก แม้เราทำดี เราจะไม่ถือตัวถือดี ว่าเราเอง ได้ให้เขา เป็นการเสริมอัตตา แล้วเราก็ทำ หยิ่งผยอง การไหว้ จึงเป็นการแสดงถึง ความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ถือดี ไม่ยึดตัวยึดตน นั้นเป็นข้อแรก ข้อสองเป็น การสร้างวัฒนธรรม ให้ทุกคนได้เห็นว่า การไหว้ การนอบน้อมนั้น เป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของไทย ที่ควรจะแสดงออก ในกาลอันควรให้มาก วัฒนธรรม แม้การไหว้นอบน้อม ต่อกัน จะได้มีอยู่ในสังคม

ในวัฒนธรรมไทยของเราไม่ว่าจะเป็นผู้ให้หรือผู้รับ ถ้าไหว้ได้ก็ไหว้ ไหว้ตอบกัน ใครจะไหว้ก่อน หรือ ไหว้หลังก็ดี เราก็ทำโดยไม่ถือเนื้อถือตัวกันจริงๆ และจริงๆ ในแนวลึกแล้ว ผู้ที่เป็นปฏิคาหก คือผู้รับ กับผู้ที่เป็นผู้ให้ เรียกว่าทายก คุณคิดว่า ผู้ให้กับผู้รับใครควรไหว้ใคร ตามธรรมดา สามัญ ผู้รับก็จะต้อง ไหว้ผู้ให้ เป็นการแสดงความขอบคุณผู้ให้ แต่ทายก คือผู้ให้ เวลาใส่บาตรให้พระ ซึ่งเป็นปฏิคาหก คือผู้รับ ญาติโยมใส่บาตรหรือนำของไปถวายเป็นผู้ให้ เสร็จแล้วก็ไหว้พระอย่างนี้เป็นต้น เป็นสัจธรรมแท้ คือผู้รับ (ปฏิคาหก) นั้นกลับต้องเป็น ผู้ควรเคารพนอบไหว้ ด้วยประการทั้งปวง เพราะท่านเป็น อาหุเนยยะ (ผู้ควรได้รับอย่างเคารพ) ปาหุเนยยะ (ผู้ควรแก่การต้อนรับ อย่างเคารพ) ทักขิเณยยะ (ผู้ควรแก่ของทาน ที่จะก่อผล อันเจริญต่อๆไป) อัญชลีกรณียะ (ผู้ควรแก่การกราบไหว้ เพราะมีความดีและมีกิเลสน้อย จึงเหมาะจะเคารพ) อันนี้เป็นปรัชญาที่เป็นแนวลึกของมนุษยชาติ เพราะฉะนั้น ถ้าใครศึกษา เข้าไปถึงกระทั่งสุดท้ายได้ว่า ศิลป์และศาสตร์อันลึกซึ้งที่ผู้ให้ (ทายก) ยังไหว้ผู้รับ (ปฏิคาหก) มันสุดยอด ทั้งที่แท้จริง โดยสัจจะแล้ว ผู้ให้ต้องไหว้ผู้รับ แต่ก็เพราะผู้รับนั่นเป็น อาหุเนยยบุคคล เป็นปาหุเนยยบุคคล เป็นทักขิเณยยบุคคล เป็นผู้ที่ควรได้รับของทาน กว่าคนที่ยัง รับของทานแล้วก็นำไปบำเรอตนเอง แต่ทักขิเณยยบุคคล จะเป็นเนื้อนาบุญจริงคือ รับแล้วนำไป ทำประโยชน์แก่คนอื่นมากยิ่งๆขึ้น ไม่ใช่ท่านเอาไปเสพส่วนตัว จึงเป็นผู้ที่ ควรจะต้อง ได้เอื้อเฟื้อ เจือจาน เกื้อกูลท่าน เพราะแม้ให้ท่านไปแล้ว ท่านก็จะเป็นผู้ให้ต่อ เป็นผู้งอกเงยต่อๆ เป็นประโยชน์ ทับทวี ท่านจึงเป็นผู้ที่จะต้องให้ เป็นผู้ที่จะต้องเคารพนับถือ เพราะฉะนั้น ผู้ให้ต้องไหว้ผู้รับได้ อันเป็นสัจจะอย่างเหมาะควร ก็เพราะเป็นนาบุญที่ไม่สะสมหรือรับไปเพื่อตนจริงดังนี้ นี่คือ ปรัชญาสูงสุด ในศาสนาพุทธ


# ตามห้างในศูนย์การค้าต่างๆ พนักงานจะไหว้ลูกค้า บางแห่งไหว้ตั้งแต่เปิดประตูเข้าไป พวกเรา ก็ดำริกันว่า บริษัทต่างๆ ของชาวโศก ก็น่าจะทำบ้าง แต่มีผู้เห็นค้านแย้งว่าข้างนอกทำ เพราะหวังผล เอาชนะกันด้วยการบริการ เป็นระบบของ ทุนนิยม แต่ในระบบของบุญนิยม เราบริการลูกค้า ด้วยสินค้าดี ราคาถูก และสิ่งดีมากมาย จึงไม่จำเป็น

- ในระบบการขายไม่ใช่ระบบการทาน เพราะฉะนั้นในระบบการขายไม่ถึงขั้นควรจะไหว้ ในระบบ การขาย ทางทุนนิยม มีหลักหรือมีคติอันหนึ่ง คือ "ถือว่าลูกค้าต้องเป็นนาย ต้องเคารพ ต้องไม่มี ความผิด ลูกค้าต้องถูก ทุกอย่าง" นี่คือการง้อเงิน-เป็นทาสน้ำเงินชนิดสยบ ของระบบ ทุนนิยม เป็นการ ประจานตัวเอง ของทุนนิยม อย่างโดดเด่นชัดแจ้ง นี่เป็นความน่ารังเกียจ เป็นสิ่งน่าขยะแขยง เพราะฉะนั้น การตั้งหลักเกณฑ์ ตั้งค่าความหมายอะไรไว้ โดยที่ไม่เข้าท่า เราก็ควรศึกษาและนำมา พิจารณา พยายามทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง ถ้าเราไม่ได้ทำการค้า กับลูกค้า ด้วยวิธีจะรีดเขา ง้องอนเขา เราก็ไม่จำเป็นต้องพินอบพิเทา แต่ก็ต้องสุภาพอ่อนน้อม นั่นก็ถูกแล้ว ทว่าไม่ใช่ทาสที่จะต้องสยบ แก่ผู้มีเงินมาซื้อมาจ่ายแก่เราอย่างนายกับทาสปานนั้น การค้าขายคือ การแลกเปลี่ยนอะไร ซึ่งกัน และกัน เท่านั้นเอง สมัยก่อนเมื่อเรานำ สินค้าอันนี้ขายให้เขา หรือนำข้าวของสิ่งอื่น มาแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งเป็นการค้าขายชนิดหนึ่ง ในยุคที่ธนบัตร หรือแบงค์โน้ตยังไม่ใหญ่ยิ่งเหมือนปัจจุบันนี้ แต่การค้าขาย ชนิดที่เอาธนบัตร เงินทอง มาแลกเปลี่ยนกัน ก็เหมือนกันแหละกับการเอาของมาแลกของ ในยุคโบราณ มันเป็นการอาศัยซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนกันไปแลกเปลี่ยนกันมา เพราะไม่มีใครที่จะมีอะไร เป็นของ ตัวเอง ที่จะต้องกินต้องใช้ครบทุกอย่าง ทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค เนื่องจากเรา ไม่มีเวลาพอ ที่จะผลิต สิ่งที่เป็น เครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อที่จะใช้ในชีวิตของเราทั้งหมดได้เอง เพราะฉะนั้น จึงต้องแบ่งงาน กันทำ แบ่งกันผลิต แบ่งกัน ทำหน้าที่ แล้วก็ใช้ธนบัตร เป็นตัวกลางที่จะตีราคาคุณค่าของผลผลิต หมุนเวียนสับเปลี่ยนกัน ซึ่งเป็นกลวิธี ของสังคม จำเป็นต้องใช้อย่างนั้น

สรุปแล้ว การค้าขายไม่ใช่การทำทาน การค้าขายไม่ใช่การแสดงออกถึงการเสียสละจนเกินเหตุ เพราะฉะนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปแสดงอาการเคารพพินอบพิเทาขนาดนั้น และลูกค้า ก็ไม่ใช่ คนที่เราคัดเลือกที่จะให้ด้วย บางทีเราก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร มีคุณธรรมเท่าไร เพราะฉะนั้น เหตุที่เราให้ และไหว้ผู้เป็นปฏิคาหก เราได้ให้แก่ผู้ควรให้ ซึ่งเป็นกุศลอันสูง เป็นราคาคุณค่าที่สูง เนื่องจากเราได้ให้ คนมีคุณธรรมสูงๆ ท่านเป็นคนที่เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นคนที่ไม่ทำลายสังคม เป็นคนที่สร้างสรร ขยันเพียร เสียสละ และท่านเป็นผู้ที่ให้แก่สังคมมากกว่าที่เราให้ท่าน โดยแม้เราให้แล้ว ท่านก็ไม่ได้เอา ไว้เป็นของท่าน ท่านก็นำไปสร้างประโยชน์ต่อเนื่อง เหมือนนาบุญ ที่จะงอกเงย ออกไปสู่อันอื่นอีกมาก มายก่ายกอง เพราะฉะนั้นเราจึงเต็มใจ ให้ท่าน และขอบคุณที่ท่านให้โอกาสเราได้ให้ท่าน อย่างนี้ เป็นต้น

ส่วนเรื่องการค้าการขาย ไม่ใช่เรื่องนี้เลย จึงไม่จำเป็นต้องไหว้ลูกค้า และแนวคิดที่บอกว่า ลูกค้า เป็นนาย ลูกค้า เป็นผู้ที่ถูกเสมอ เป็นคติที่ใช้ไม่ได้ ลูกค้าก็เป็นคนสามัญที่ควรทำดีแก่กันและกัน อย่างสุจริตซื่อตรง จะเกื้อกูล ไปก็ทำในระบบบุญนิยม เราพยายามจะเสียสละให้แก่เขา ไม่ขายเกินทุน ให้ได้ ขายต่ำกว่าราคาทุนให้ได้ ก็ถือว่าเราเป็น ผู้ได้เสียสละเป็นผู้ได้ให้เขาแล้ว เราจะให้แก่ใคร ก็แล้วแต่ ไม่ว่ากัน ขายตามการพาณิชย์ของเรา ซึ่งตามจริงแล้ว ถ้าเราได้ ขายของต่ำกว่าทุนจริงๆ ก็คือเราเป็นประโยชน์แก่ผู้ซื้อด้วยซ้ำ ผู้ซื้อควรจะไหว้ ผู้ขาย จึงจะถูกต้อง เพราะเราได้เสียสละ ให้เขาแล้ว ดังนั้นการซื้อขายนี้ มันไม่ชัดเจนว่า ใครคือ ผู้ควรไหว้ หรือเราไม่รู้ว่า เป็นผู้ที่ควรให้ หรือไม่ควรให้ เป็นอาหุเนยยบุคคล ปาหุเนยยบุคคล ทักขิเณยยบุคคล แค่ไหน เพราะฉะนั้น จึงไม่จำเป็นต้อง ไหว้ แต่การอ่อนน้อมถ่อมตน ก็เป็นเรื่องดี ควรอ่อนน้อมถ่อมตนอย่าไปแข็งกระด้าง ควรสุภาพต่อกัน เพียงแต่ อย่าให้มากเกินไป ไม่ถึงขนาด ไปพินอบพิเทา เรียกว่าอ้อนวอนร้องขอ ง้องอนอย่างนี้มันไม่ถูก


# ต่างกับการไหว้ผู้มารับอาหารในวันที่ ๕ ธันวาอย่างไรคะ

- อันนี้เป็นพิธีการเป็นยัญพิธี ที่เราจะสร้างวัฒนธรรมด้วย และเราถือเป็นการขัดเกลาตนเอง ของเราด้วย เป็นประโยชน์ตนแท้ๆที่เราได้ทั้งสองด้าน คือกุศลโลกีย์ และกุศลโลกุตระ เราได้ชำระ ทั้งกิเลสและอุปกิเลส เป็นการชำระจริงๆ เราถือว่าเป็นงานบุญ ไหว้ขอบคุณ ที่เขาทำให้เรา ได้ทำบุญ ที่เป็นการชำระกิเลสตน และให้เราได้สร้าง กุศลโลกีย์ที่เป็นทานวัตถุ


# สมมุติว่าใครๆก็อยากให้อยากทำบุญกับพระอาริยะชั้นสูงกันหมด เพราะย่อมได้รับผลสูงกว่า คนยากจน คนพิการ คนที่น่าสงสารในสังคม จะมีคนทำบุญกับพวกเขาหรือไม่คะ และจะได้บุญหรือไม

- มีความจริงซับซ้อน ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ก็เป็นหลักเกณฑ์สอนให้เราเข้าใจได้ว่าทุกอย่างมันซับซ้อน เป็นเรื่องที่ จะต้องเข้าใจถึงสภาพทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ รวมทั้งคุณค่าหรือความเหมาะสม ต่างๆ จริงๆแล้ว เราทำบุญ ในมิติที่เราพูดถึง คือด้านคุณภาพของคน แน่นอนทำบุญกับคนมีคุณภาพ มีสมรรถนะ มีคุณธรรมสูงขึ้นๆๆ ผู้นั้นก็จะมีประโยชน์ ย้อนลงมาสู่ข้างล่างได้มากขึ้นๆ

เพราะฉะนั้นทำบุญกับคนที่เป็นพระโสดาบันก็ได้บุญขนาดหนึ่ง สูงกว่าทำกับปุถุชน และทำกับ สกิทาคามี ก็ได้บุญ สูงกว่าทำกับโสดาบัน ทำกับอนาคามีก็สูงขึ้นไปอีกตามลำดับ ถ้ายิ่งสูงขึ้นไปก็ยิ่งดี ก็ได้บุญสูงจริง ยิ่งทำบุญกับ พระอรหันต์ หรือพระปัจเจกพุทธะ ก็ยิ่งได้บุญสูง ยิ่งได้ทำบุญกับ พระพุทธเจ้า ก็ยิ่งได้บุญมากขึ้นๆอีก แต่สูงกว่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ถ้าเราทำสังฆทาน โดยไม่กำหนด พระ เช่น เราจะทำบุญ ใส่บาตรกับพระ ที่เป็นสาวกสงฆ์ ได้แก่พระอาริยบุคคล ของพระพุทธเจ้า โดยไม่กำหนดเจาะจงบุคคลเลย จะได้บุญยิ่งกว่า ถวายเจาะจง ถวายพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะเป็นต้น นี่คือสภาพที่ ไม่ใช่วัดในแง่คุณค่า คุณธรรม หรือสมรรถนะของบุคคลเท่านั้น แต่มีนัยะ ในแง่ปริมาณและ ความเหมาะสมดังที่กล่าว ในคำถามว่า แล้วคนจน คนในระดับต่ำ คนที่มีคุณภาพต่ำ คนที่มีโอกาสน้อยพวกนี้ ก็อดตายนะซี นั่นแหละ ถ้าโดยสัจธรรมแล้ว เขาเป็นผู้ที่ ควรจะต้องเกื้อกูล ควรจะได้รับการช่วยเหลือเฟือฟาย ยิ่งกว่า ความต้องการก็มีสูงกว่า และปริมาณ คนมากกว่าด้วย เพราะฉะนั้นในทางกลับกันที่ซับซ้อนอย่างที่ว่า แทนที่เรา จะทำบุญ กับคนส่วนน้อย ที่มีคุณภาพ การทำบุญกับคนส่วนกว้าง ที่จำเป็นอย่างถูกต้อง เหมาะควร ก็ได้บุญมาก เหมือนกัน ดังนั้นนัยะที่เราทำโรงบุญ เราไหว้ผู้ที่มารับแจก โดยเราไม่ได้กำหนดบุคคล เราทำกับคนทั่วไป ผู้ที่ไม่มีโอกาส หรือขาดโอกาสก็มารับ คนที่อุดมสมบูรณ์ คนที่อิ่มหมีพีมันเขาก็ไม่มารับกันเท่าไหร่หรอก เพราะเป็น โรงบุญ ที่เราแจกทั่วไป คนที่เขาด้อยโอกาส เขาจะได้รับมากกว่าอย่างนี้ เป็นต้น


# คนที่รู้สึกไหว้ใครๆยาก เป็นคนเช่นไรคะ

- เป็นคนถือดี เป็นคนถือตัวที่จะไหว้คนนั้นคนนี้ เพราะเป็นคนแข็งกระด้าง ศักดิ์ศรีแยะ อัตตาเยอะ ที่จริงการไหว้ เป็นกิริยาทักทายที่สุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นทั้งประเพณี และมารยาทสังคม


# ชาวอโศกถูกวิจารณ์ว่าไหว้กันเยอะ

- ก็ดีนี่ ไม่เสียหายอะไร อาตมาว่าเป็นวัฒนธรรมที่ดีด้วยซ้ำไป ดีกว่าที่จะแข็งกระด้าง เรามองดูการไหว้ เป็นการแสดงออก ซึ่งคนไทยเราเข้าใจกัน เป็นความเคารพนบนอบกัน เป็นการแสดงออกที่ดี เราเห็น ชาวญี่ปุ่น เขาโค้งกันแล้วโค้งกันอีก เรารู้สึกชื่นใจ แต่วัฒนธรรมเราไม่มีกิริยาโค้งอ่อนน้อมกันอย่างนี้ เราก็ดูดี ชื่นใจ ฉันเดียวกัน คนเห็นเรา ก็จะรู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่ใช่เห็นกันว่าไหว้มากไหว้มาย นอกจากคนใจไม่ดี เขาขี้เกียจ เขาไม่อยากทำ และเขาก็หมั่นไส้คนอื่นที่ทำมากๆ ก็เรื่องของเขา แต่โดย ค่าของมันจริงๆแล้ว มันดูดี


# ช่วงที่ผ่านมา มีการพับนกเพื่อส่งสันติภาพไปภาคใต้ มีคนบางกลุ่มคิดแย้ง แม้แต่ชาวอโศก ด้วยกัน แต่พ่อท่าน ออกมาเทศน์ สนับสนุนให้พวกเราพับนกกัน พ่อท่านมีความเห็นอย่างไรคะ

- ในเรื่องของการพับนก พอนายกฯพูดออกมา อาตมาก็เห็นว่า เออ...วิธีการนี้ มันเป็นยัญพิธี หรือเป็น พิธีกรรมอันหนึ่ง ของสังคม ที่คิดว่ามันเป็นการสื่อจิตวิญญาณได้ดีทีเดียว เพราะการพับ นกกระเรียน มันมีประวัติที่รู้แพร่หลายทั่วโลก เป็นเรื่องราวชีวิตจริง ของเด็กหญิง ชาวญี่ปุ่น ที่เสียชีวิตเพราะรับพิษภัย จากผลของสงคราม และมีความเชื่อว่า ถ้าพับนกกระเรียน ได้ครบ ๑,๐๐๐ ตัว จะรอดชีวิต แต่เธอพับ ได้เพียง ๖๔๔ ตัวเท่านั้น ก็เสียชีวิต และมีผู้ช่วยเธอ พับต่อ จนครบ ๑,๐๐๐ตัว เลยกลายเป็นว่า นกกระเรียน หรือการพับนกกระดาษอันนี้ ที่เป็นกรรมกิริยา เป็นเครื่องหมาย ที่แสดงออกซึ่งจิตเมตตา จิตที่มีน้ำใจ มันแฝงด้วย ความหมายหลายอย่าง แฝงถึงการแสดงออก ที่เป็นการปรามความรุนแรง อย่าให้ความรุนแรง เกิดขึ้นเลย

เพราะฉะนั้น อาตมาคิดว่า เรื่องนี้เป็นที่ซับซาบกันทั่วโลกอยู่แล้ว เมื่อหยิบมาเป็นประโยชน์ต่อ และทุกคน ขานรับ ทุกคนเห็นดีเห็นงามด้วย ก็เป็นนิมิตที่ดีว่าทุกคนเข้าใจ แน่นอน จะให้คนเข้าใจ ทั้งหมด และจะให้คน ไม่คัดค้าน ทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้หรอก ก็ต้องมีคน คัดค้านบ้าง เป็นสามัญ อยู่แล้ว แต่ดูเหมือนปริมาณคน เห็นดีเห็นด้วย คนเข้าใจเยอะ อาตมาก็เห็นด้วยในเรื่องของ จิตวิทยาสังคมพวกนี้ เราต้องคำนึงถึง มีอะไรก็แล้วแต่ ที่มันเกิดเหตุการณ์ ของบ้านเมือง และมีอะไร ที่ช่วยลดทอนความรุนแรง และเป็นการแสดง ความรวมน้ำใจทั่วประเทศ ก็เป็นวิธีการ ที่อาตมาว่า ดีมาก ถึงแม้จะมีคนมอง ในมุม หาเหตุ หาผลว่า ชาวมุสลิมจะคิดอย่างโง้นอย่างงี้ อาตมาคิดว่าไม่หรอก พวกชาวมุสลิม เขาก็มาช่วยกันพับ ด้วยซ้ำไป ประเด็นที่ขัดแย้งอาจมีบ้าง แต่ประเด็นที่เห็นด้วย อาตมาว่า มีมากกว่า หลายต่อหลายเท่านัก

การแสดงความจริงใจอันนี้ เป็นโอกาสที่จะใช้สิ่งนี้เป็นสัญลักษณ์สื่อออกไป ส่วนบางคน อาจมอง ในประเด็นว่า จะเกิดมลภาวะความรกเลอะนั้น โธ่เอ๋ย กระดาษพอลงไปในดิน ประเดี๋ยวเดียว ฝนตก มาทีเดียว ก็เปื่อยหมดแล้ว เป็นธาตุดินไปในตัว ไม่ใช่พลาสติก จึงไม่มีปัญหาอะไรมากมาย และ กระดาษ เขาก็รอเก็บกันอยู่ เพราะฉะนั้น ในเรื่องของเหตุผล ที่จะมาต้านมาทาน อาตมาว่า เป็นเรื่อง ไม่มีเหตุผลพอ แต่ประโยชน์ ที่จะได้ดีมาก และในวิธี ที่เขา จะนำไปโปรย จะประกอบเป็น ยัญพิธี หรือประกอบพิธีกรรม เราต้องเข้าใจว่ายัญพิธี หรือพิธีกรรม พิธีการอะไรของสังคม หรือ ของมนุษยชาติ นั้น ทำกันมาตั้งแต่ สมัยโบราณ ดึกดำบรรพ์แล้ว แม้แต่รัฐพิธีอะไรต่างๆ พวกนี้มี ประโยชน์ ต่อสังคม ผู้ฉลาดก็เข้าใจได้ว่า ที่ทำอย่างนี้ต้องการจะสื่ออะไร และจะไปก่อให้เกิด ผลกระทบ ในจิตวิญญาณ อย่างไร แค่ไหน



แค่ใครหนึ่งคนเริ่มต้นพับนก สันติภาพย่อมเกิดขึ้นในใจ
นกคือตัวแทนของเจตจำนงใฝ่หาสันติภาพ
อันเป็นความหวังสูงสุดของมนุษยชาติ

- สารอโศก อันดับที่ ๒๗๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ -