- ทีม สมอ. -

หยาดน้ำใจแห่งพระโพธิสัตว์

เนื่องในวาระอายุย่างเข้าปีที่ ๗๒ ของพ่อท่าน ลูกๆชาวอโศกทุกคนต่างได้รับ "หยาดน้ำใจพระโพธิสัตว์" เป็นของที่ระลึก

สำหรับใครอื่นอาจเห็นไม่สำคัญ อาจไม่ซาบซึ้งคุณค่าแต่สำหรับลูกๆชาวอโศกแล้ว นั่นคือ "สิ่งล้ำค่า" เพราะนั่นคือสัญลักษณ์แทนความรักความเมตตาทั้งมวล ยามอยู่ท่านก็พร่ำสอนเฟ้นหา นิรุกติภาษา เพื่อฟังเข้าใจ ง่ายต่อการปฏิบัติ ถึงวันหนึ่งข้างหน้า แม้ท่านไม่อยู่กับเรา แต่ยามใดที่เราทุกข์ ยามใด ที่เราท้อแท้ เราสิ้นหวัง เราหมดแรงจะยืนสู้ต่อไป "หยาดน้ำใจพระโพธิสัตว์" จะเตือนให้เราได้สติ มีความอดทน ให้เรามีกำลังใจ เรียกพลังชีวิตกลับคืนมา ให้เรากล้าแกร่ง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ

และอีกหลายความหมายลึกซึ้ง ที่ซ่อนแฝงใน"หยาดน้ำใจพระโพธิสัตว์" ซึ่งลูกๆชาวอโศก สมควรทำ ความเข้าใจ ให้ถ่องแท้ เพื่อการเข้าถึงนัยะ"ของที่ระลึก" อย่างมีสาระสำคัญ ว่าต่างจากวัตถุมงคล และ เครื่องรางของขลังอย่างไร จากบทสัมภาษณ์พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ณ บัดนี้ !

บรรยากาศงานอโศกรำลึกย่างปี ๗๒ ปีของพ่อท่าน มีอะไรพิเศษ ?
- ทุกคนเห็นว่าควรจะจัดพิเศษกว่าปกติที่เคยบ้าง อาตมาก็เห็นด้วยเห็นตาม เรื่องพิธีต่างๆที่มีในโลก ซึ่งเราก็พยายามจะฉลาดเอาเหตุปัจจัยต่างๆ ที่จะหยิบมาประกอบกันเข้าให้เป็นวันที่จะเกิดเป็นพิธีกรรม โดยเราได้จัดงานบูชาพระบรมสารีริกธาตุกันอยู่ประจำในเดือนมิถุนายน ซึ่งแต่ก่อนวันอโศกรำลึก ก็เอาวันที่ ๕ มิถุนายน ที่เป็นวันเกิดอาตมาจัดงาน จนตอนหลังอาตมาเห็นว่า ไม่ค่อยเข้าที มาเอาวันเกิดเรา เป็นวันสำคัญ ก็เลยย้ายมาเป็นวันที่ ๙ ที่ ๑๐ ซึ่งเป็นวันสำคัญทั้งทางโลกเขา ทั้งทางด้านประวัติชีวิต ของพวกเรา วันที่ ๑๐ ที่พวกเราโดนจับ ก็เอาวันนั้นเป็นวันสำคัญ และเราก็ทำพิธียกพระบรมสารีริกธาตุ ในวันที่ ๙ นั้นด้วย ตั้งแต่นั้นเราก็ใช้วันที่ ๙ ที่ ๑๐ มิถุนายน เป็นวันอโศกรำลึก และบูชาพระบรม สารีริกธาตุกัน ซึ่งมันก็เกี่ยวเนื่องมาจากวันที่ ๕ มิถุนายน ที่เป็นวันเกิดอาตมาเก่า ก็เลยมีความสัมพันธ์ กันอยู่

ปีนี้อาตมามีอายุครบ ๗๑ ปีเต็ม ย่างเข้าวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๘ ก็เป็นวันเกิดของปีที่ ๗๒ และพวกเรา ทุกคนก็รู้ๆ กันทั้งนั้น อาตมาเคยบอกพวกเราว่า อายุขัยของอาตมาคือ ๗๒ ปี ซึ่งอาตมาก็พยายาม เจริญอิทธิบาท ที่จะให้มีอายุขัยมากกว่า ๗๒ ปี ก็ได้พูดได้ปฏิบัติและได้ทำมานานแล้ว ก็รู้ๆกันอยู่ จนกระทั่งมาถึงปีนี้ก็จัดงานฉลองเสียบ้าง ก็น่าจะมีประโยชน์ อาตมาไม่เคยจัดงานฉลองวันเกิด ของตัวเอง เลยสักครั้ง ตั้งแต่เกิดมาถึงอายุปูนนี้ งานอโศกรำลึกนี้ทุกปีที่จัดกันก็มีแต่งานพิธีกรรม และบูชา พระบรมสารีริกธาตุเท่านั้น ที่เป็นงานส่วนรวมของพวกเรา ปีนี้เมื่อผนวกกันเข้าก็เลยเอาความหมายนี้ว่า เป็นวันฉลองอายุยาวมาได้ถึง ๗๒ ปีมันก็ ๖ รอบ คนเราอายุครบ ๖ รอบหรือ ๗๒ ปี ก็ไม่ใช่อายุน้อยๆ เหมือนกัน ก็เอาวันนี้เป็นวันพิเศษซะ ฉลองว่ามันจะตายจริง มันก็ยังไม่ตาย และมันก็ครบรอบตั้ง ๖ รอบ อะไรอย่างนี้เป็นต้น

เมื่อเป็นปีพิเศษ อาตมาก็ยังอยู่ได้ ถ้ามันไม่ได้ก็คงจะไม่เป็นอย่างนี้ ของที่ระลึกที่ทำไว้ พวกเราก็คงแจก กันไป เพราะอาตมาทำไว้แล้ว มันก็เกิดขึ้นแล้ว โดยอาตมาซุ่มทำมาก่อน ของที่ระลึกที่เรียกว่า "หยาดน้ำใจ พระโพธิสัตว์" ก็ทำมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วโน่นไม่ได้บอกใคร นอกจากคนที่รู้ คนที่ช่วยทำอยู่เท่านั้นเอง นอกนั้นก็พยายามปกปิดพยายามไม่ให้ใครรู้ เพื่อที่จะให้ตื่นเต้นกัน ในวันแจก เมื่อมีอะไรพิเศษ ก็จัดงาน ให้พวกเรา มารวมกัน ซึ่งเราก็เน้นธรรมะเป็นหลักอยู่อย่างเดิมนั้นแหละ เพียงแต่ให้มันรู้สึกเคร่งครัดขึ้น หรือจะครึกครื้นขึ้นด้วยก็แล้วแต่ โดยเพิ่มวันขึ้นเป็น ๔ วัน จากที่เคยจัดในวันที่ ๙-๑๐ เท่านั้น ปีนี้วันที่ ๑๑-๑๒ เป็นวันเสาร์-อาทิตย์พอดี พวกเรานี่แหละแนะว่าก็เพิ่มวันจาก ๙-๑๐ มิ.ย. ต่อไปถึง ๑๒ ฉลองกัน รวมเป็น ๔ วันเสียเลยสิ ปีนี้ก็เลยพิเศษเพิ่มต่อไปถึงวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย ผู้ที่มาช่วยกันให้ครึกครื้น ก็มากันได้มากขึ้น คนไหนจะช่วยอะไร ก็มาทำกันก็เท่านั้น สำหรับอาตมามีอะไรจะแจกก็ได้เห็นกันแล้ว มีของที่ระลึก "หยาดน้ำใจพระโพธิสัตว์" ที่เรียกอย่างนั้น ก็เพราะเป็นชิ้นเล็กๆทำด้วยโลหะเงิน


พ่อท่านแฝงนัยะอะไรที่บอกลูกๆ ?
- นัยะแฝงของเรื่องนี้ก็คือพวกเราจะได้เรียนรู้ความจริงเพิ่มละเอียดลึกซึ้งขึ้น เมื่อได้ของที่ระลึกนี้ไป ทีนี้ล่ะ ใครยังมีเชื้อเทวนิยมก็จะได้เรียนรู้ใจตนเอง เพราะมันไม่ง่ายที่จะหมดเชื้อเทวนิยมบอกแล้วว่า นี่ไม่ใช่ ของขลัง ไม่ใช่เครื่องราง แต่เป็นของที่ระลึก เมื่อมีอยู่กับตัวแล้วก็ให้สิ่งนี้เป็นเครื่องเตือนสติ ว่าต้องปฏิบัติ ตามที่อาตมาสอนให้เป็นอเทวนิยมให้ได้เสมอๆ อย่าเผลอ

เพราะมันเป็นสิ่งแทนเป็นสิ่งที่จะให้เกิดความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณ อาตมามีเจตนา จะทำให้มันเป็น สิ่งที่ สัมพันธ์ได้ด้วย การเอาสิ่งจากตัวเอง เข้าไปประกอบ โดยออกแบบไว้เป็นเครื่องหมายรูปใบโพธิ์ เกี่ยวกับ ใบโพธิ์ ซึ่งพวกเราก็รู้ดีอยู่แล้ว หรือเกี่ยวกับรูปหัวใจ ซึ่งอาตมาก็ใช้เป็นสัญลักษณ์ด้วย รูปใบโพธิ์ ก็ดี รูปหัวใจ ก็ดี ก็เอามาออกแบบเป็นรูปใบโพธิ์ โดยมีรูปหัวใจอยู่ในใบโพธิ์อีกที อาตมาคิดทำเป็น หยาดน้ำ ใส่ไว้กลาง หัวใจ เป็นความหมายว่า "หยาดน้ำใจ" และมีพิเศษตรงที่ตั้งใจให้มีความสัมพันธ์ คืออันนี้ เป็นสิ่งแทน ก็เลยออกแบบเป็นกระบอกเล็กๆอยู่ตรงขั้วใบโพธิ์เล็กๆถอดออกได้ และก็มีหัวแง่งนิดหนึ่ง เหมือน จะงอยปากของนกแร้ง พอใส่เข้าไปแล้วเหมือนหัวแร้งที่มีจะงอยปากเล็กๆ ตอนแรกอาตมา ก็ไม่คิด หรอกว่า มันจะเป็น จะงอยปากของแร้ง ที่จริงมันเป็นกระบอกซึ่งต้องมีเดือยสำหรับหยิบ เข้าออก และบิดหมุนได้ โดยเชิงกลของช่าง เพื่อที่จะทำให้มันไม่หลุดง่าย และในกระบอกเล็กๆนั้น ก็บรรจุสิ่งที่ อาตมาเก็บไว้นานแล้ว หลาย ๑๐ ปี ผมที่โกนและเก็บไว้มาเรื่อยๆ ก็เอาผมนี่มาใส่บรรจุไว้ ในกล่องเล็กๆ นั่นแหละ ยัดใส่เข้าไป เป็นสิ่งแทนตัวอาตมา เพื่อให้ใครๆไว้ เราก็ได้สิ่งนี้ไว้ ถึงอาตมาจะตายไปก็มีสิ่งนี้ เป็นส่วนของสรีระ ที่อยู่ได้นาน เป็นร้อยเป็นพันปี ผมนี่มันไม่เน่าไม่เปื่อย มันไม่เป็นพิษเป็นภัยอะไร มันเป็น สิ่งนั้นจริงๆ เป็นสิ่งหนึ่งในรูปกายสรีระของอาตมา ก็เอาใส่ไว้ในนั้น อัดใส่ไว้ในนั้น แล้วก็ให้ไปถือว่าสิ่งนี้ เป็นสิ่ง แทนตัวอาตมา ให้แก่ลูกๆ แจกสิ่งที่เป็นตัวอาตมานั่นแหละ โดยรูปสรีระเป็นผม โดยคำว่า "ผม" นี่ก็เป็นนาม เพราะคำว่า "ผม" เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑ ว่าผม ว่าฉัน ว่าข้าพเจ้า ว่าอาตมา คือ ตัวอาตมา เป็นสรรพนาม บุรุษที่ ๑ ด้วย ผมก็เป็นทั้งรูปและนาม รูปธรรมของ"ผม"ก็คือสรีระแท้ๆเป็นส่วนของสรีระ นามธรรมก็เรียกว่า "ผม" หมายถึงข้าพเจ้า.....ก็ตัวอาตมาไงอย่างนี้ ใส่ไว้ ก็ให้ไว้เท่านั้นเอง นี่ก็คือ ความหมาย ของสิ่งนี้


พ่อท่านเก็บผมไว้นาน ๑๐ กว่าปี มีความตั้งใจอะไรไว้ก่อนหรือไม่ ?
- ตอนแรกไม่ได้คิดอะไรหรอก ไม่ได้มีความคิดถึงขนาดจะวางเรื่องราว ถึงขนาดต้องมาทำ สิ่งนี้ไว้ ไม่ได้คิด จริงๆ คิดแต่เพียงว่า เออ....มันก็ไม่หนักหนาอะไร ของไม่เน่าไม่เปื่อย ถ้าเก็บไว้ก็ไม่เสียหายอะไร เผื่อจะใช้ อะไรได้บ้าง เพราะว่าผมก็มีคนเห็น อยู่เหมือนกัน ว่าอยากได้กัน แต่อาตมาก็ว่าอย่าไปแจกเลย ถ้าไปแจก เดี๋ยวก็จะเกิดการฮือฮาเข้า จะให้ก็ต้องให้กันทั่วถึง ทั่วๆกันไม่ใช่คนหนึ่งมาแอบขอได้ อีกคนมารู้เข้าทีหลัง ก็มาแอบ ขอบ้าง ขอไปขอมาเลยกลายเป็นอยากได้อะไรกัน ไม่ต้องให้อยากได้หรอก เราให้เลยดีกว่า คิดอย่างนั้น ก็เลยไม่ให้ใคร ใครมาขอก็ไม่ให้แต่ถ้าเราจะให้ซะทั่วๆกัน มันก็ไม่ใช่ว่า เป็นของที่ใครขอก็ได้ ใครไม่ขอ ก็ไม่ได้ มันก็กลายเป็นเรื่องไม่เข้าท่า เมื่อไม่ได้ให้ใคร มันก็สะสมมีมากขึ้นๆ พอมาสะดุดกับ อายุขัย ๗๒ ก็เลยคิดว่า มันผนวกกับถึงเวลาวาระ ก็เอานี่เป็นเรื่องเป็นราวมาประกอบเป็นหยาดน้ำใจ หรือใช้ผม ขึ้นมา


หยาดน้ำใจพระโพธิสัตว์ต่างจากวัตถุมงคล และเครื่องรางของขลังทั่วไปอย่างไร ?
- ถามคำถามนี้ขึ้นมาดีมากๆ เรื่องนี้แหละสำคัญ อาตมาบอกย้ำนักหนาว่า อันนี้เป็น ของที่ระลึก เป็นสิ่งแทน เหมือนรูปถ่าย เหมือนสิ่งสำคัญอันหนึ่ง ที่ให้ไว้เป็นที่ระลึก อย่างพ่อแม่ ให้ลูกไว้ มันไม่ใช่ ของขลัง หรือ ใครต่อใครให้เราไว้ ผู้ที่เป็นเพื่อนกัน คนที่เกี่ยวข้องกัน และก็มีของที่ระลึกไว้เป็นที่ระลึก ให้กันไว้ เพื่อระลึก ถึงกันบ้าง ระลึกถึง อย่างเคารพบูชา ระลึกถึงคุณค่า ระลึกถึง อะไรก็ได้ หลายๆนัย แล้วแต่จะระลึก เป็นสาราณียธรรม ถ้าระลึกถึงธรรมะก็ยิ่งดี เออ....นี่เป็นสัญญาณ ที่เป็นตัวแทนธรรมะ ให้ระลึกถึงอันนี้ เหมือนเราระลึกถึงพระพุทธเจ้า ด้วยการสัมผัสรูปถ่าย สัมผัสรูปปั้น สัมผัสอะไรต่างๆ อย่างนี้เป็นต้น เป็นสิ่งแทน พระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ก็คล้ายๆอย่างนั้น ระลึกถึงเสมอมันก็ดี ถ้าเราระลึกถึง อย่างอาตมา เป็นครูทางธรรมะ แม้อาตมาตายไปแล้ว สิ่งนี้เราก็ระลึกถึงธรรมะได้ แม้สิ่งนี้ ไม่ใช่รูปปั้นตัวเอง แต่นี่เป็นสิ่งแทน ใบโพธิ์เป็นเครื่องหมายการตรัสรู้ โพธิเป็นเครื่องหมายการตรัสรู้ มันก็ยิ่งเป็น สิ่งแทนธรรมะ เป็นความตรัสรู้ยิ่งชัดเจน

อาตมาจึงบอกเอาไว้ก่อน เวลาจะแจกว่า นี่เป็นของที่ระลึกนะ อย่าไปใช้เป็นของขลังเชียวนะ อย่าไปใช้ เป็นเครื่องรางของขลัง มันผิดศาสนาพุทธเป็นการยึดถือแบบเทวนิยม ศาสนาพุทธ ไม่มีเครื่องรางของขลัง ที่จะมาดลบันดาลให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์อย่างนั้นอย่างนี้ พุทธเป็น อเทวนิยม แต่ให้ระลึกถึงได้ด้วยสิ่งแทน ถ้าอาตมาจะเป็นผู้ที่คุณเคารพนับถือ เป็นผู้ที่ได้ สอนศีลธรรม คุณธรรม สอนธรรมะ สอนศาสนาอะไรให้ และเราก็ได้รับผล ได้ประโยชน์ อันนั้น เราจะมีกำลังใจ ถ้าเห็นและระลึกถึงและเกิดกำลังใจ ที่จะได้ พากเพียร ปฏิบัติตน ให้เจริญ ทางธรรม ทางคุณงามความดีอะไรยิ่งขึ้น นั่นก็เป็นสิ่งที่ อาตมามุ่งหมาย และก็ได้พูด บอกเลยว่า ที่ให้ใช้สิ่งนี้ก็เพราะเพื่อให้รู้ว่า อะไรๆในโลกนี้ มันก็เป็นได้ เป็นของที่ระลึกได้ แม้ไม่มีอะไรเลย ก็ระลึกถึง มันก็เป็นได้ เป็นกันทั่วโลก โลกมีของที่ระลึกเยอะแยะ และระลึกนึกถึงกันอย่าง เทวนิยมก็ได้ ระลึกถึง อย่างเป็น อเทวนิยมก็ได้ จึงต้องมีของจริง และฝึกฝนเรียนรู้ให้เป็นอเทวนิยมให้จริง เพราะฉะนั้น เราต้องเรียนรู้ เราก็ต้องมีสิ่งนี้บ้าง มีแล้ว เราทำใจในใจอย่างไร ถ้าเราทำใจในใจ ของเรา กลายเป็นของขลัง กลายเป็นของที่จะมาดลบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์ ทำอะไรต่ออะไร ก็ความจริง ถ้าเรามีซะ เมื่อมีของที่ระลึกจริง และเราเป็นอย่างนั้นจริงไหม อุปาทานที่เป็น เทวนิยม มันเป็นอย่างไร จะให้เป็น อเทวนิยม จะทำได้ไหม ทำถูกไหม เราจะได้เรียนรู้ตัวเรา ว่าใจเราเป็นอย่างไร เราอยู่ในร่องในรอยของ ศาสนาพุทธหรือเปล่า หรือว่า เราออกนอกรีตนอกรอยนอกทางศาสนาพุทธไปแล้ว หากไม่มีของจริง คุณก็หลงตัวได้ว่าเรารู้ แต่จริงๆนั้น อุปาทานนี้มันลึกล้ำ ฝังลึกละเอียดลึกยิ่งนัก

ถ้าการปฏิบัติใจในใจตรงตามความหมาย ตรงตามความเป็นจริง ที่มันเป็นสัจธรรมของ อเทวนิยม สิ่งเหล่านี้ ก็จะเป็นจริงที่เราจะได้สัมผัส ถ้าเราไม่มีอะไรเลย บางทีเราก็ไม่รู้ว่า ถ้าเรามีขึ้นมาแล้ว เราจะทำ ใจในใจ ถูกไหม จะเป็นเทวนิยมหรืออเทวนิยม มันคนละเรื่องกัน คนละทางกัน อย่างไรถูกต้อง อย่างไร ไม่ถูกต้อง ใจในใจของเรามันจะเป็นอย่างไร เราจะได้เรียนรู้อีกอย่างแยบคายยิ่งนัก เพราะเราปฏิบัติธรรมะ ของ พระพุทธเจ้า ได้เรียนรู้อารมณ์ทางใจ จะได้รู้ชัดรู้เจน และจะได้นำมาปฏิบัติถูก มันไม่ถูกเราจะได้แก้ไข จะได้ปรับปรุง เมื่อรู้ว่า เรายังมีเลือดเทวนิยมนะ เรายังไม่ใช่พุทธศาสนายังออกนอกรีตอยู่นะ เราจะได้ ปฏิบัติ จริงๆ แม้การจะเกิดสิ่งที่เป็นของที่ระลึกนี้ ก็มีเจตนารมณ์อันนี้เหมือนกัน เอ้า....คุณลองมีดูซิ ก็อาศัย เหตุการณ์ อาศัยองค์ประกอบอาศัยวาระที่ควรที่ว่านี่แหละ ๗๒ ปีทำขึ้นมาก็ให้ไปดู

เพราะฉะนั้นของที่แจก จึงไม่ได้ไปนั่งแจกคนนอก และก็หลงเลอะไปทำเป็นของขลัง ยิ่งเสียหายหมดเลย อันนี้จึงให้แก่ผู้ที่เป็นลูกๆ ผู้ที่มาศึกษาเล่าเรียนด้วย โดยความเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้า ตามที่อาตมา สอนจริงๆ และเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ด้วย ในการปฏิบัติธรรม

อนาคตสิ่งที่อาตมาให้เป็นที่ระลึกนี้ จะสืบทอดกัน จะให้คนนั้นคนนี้ ถ้าเราใช้แล้ว เราปฏิบัติดีแล้ว เราไม่ต้อง ใช้สิ่งนี้แล้ว จะมอบให้คนอื่น รุ่นอื่น คนที่เหมาะสมที่จะได้อันนี้ไปปฏิบัติอย่างที่เราปฏิบัติ อันนั้น ก็จะเป็นประโยชน์ สืบทอดต่อไป

ระวัง!อย่างสำคัญ "อย่าทำของที่ระลึกของอาตมาให้เป็นของขลังเป็นอันขาด ต้องทำให้เป็นอุปกรณ์ การอบรมตน ปฏิบัติตนให้บรรลุธรรมให้สำเร็จ"

- สารอโศก อันดับ ๒๘๓ พฤษภาคม ๒๕๔๘ -