เดินตามรอยพ่อ


มีคนเคยพูดว่า "หนทางที่ยังไม่เคยไปมักจะแสนไกลเสมอ" ที่จริงเป็นความรู้สึกของเราเองแหละ ที่คิดไปว่า มันไกล เพราะเป็น เส้นทางที่เราไม่คุ้นเคย เมื่อคุ้นเคยแล้วจะรู้ว่าใกล้แค่นี้เอง เมื่อข้าพเจ้ามาเป็น นักปฏิบัติธรรม ชาวอโศกใหม่ๆ คิดว่าเส้นทางนี้ ยากลำบากมาก จากที่เป็นคนไม่มีศีลเป็นปกติสามารถ ฆ่ามด ฆ่ายุง ฆ่าปลาได้ง่ายๆ หยิบยืมของคนอื่น โดยไม่ได้ บอกกล่าว เจ้าของ ชอบนินทาว่าร้ายผู้อื่น ติดการ ละเล่นมหรสพดูหนังฟังเพลง ทั้งๆที่ตอนเป็นเด็ก ก็ท่องศีล ๕ ได้คล่อง ตอนเป็นครู สอนนักเรียน ทั้งเบญจศีล-เบญจธรรม แต่ไม่เคยมีสำนึกเลยว่าเราควรถือศีล ๕ ให้ได้จริงๆ ไม่เคยมีใครมาบอกสอน แม้แต่พ่อแม่ น่าสงสารตัวเอง

อายุ ๓๐ ปีจึงได้พบชาวอโศกท่านหนึ่ง ถือศีลปฏิบัติธรรม รู้สึกว่า เอ๊ะ! ดีนี่ลองทำบ้าง โอ้โห ! ยากมากเพราะไม่เคยทำมาเลย

ศีลข้อแรก ไม่ฆ่าสัตว์ ก็พอจะทำได้ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์นี่ทำใจลำบาก เพราะเป็นคนชอบอาหารคาวๆ ชอบกุ้ง หมู ปู ไก่ และ สารพัดสัตว์ ส่วนผักผลไม้ไม่ชอบเลย ก็ต้องมาฝึกกินมังสวิรัติ เพราะสัญลักษณ์ของชาวอโศก คือ เป็นผู้ถือศีลกินมังฯ พ่อท่าน ให้เป็นบุญญาวุธหมายเลข ๑ เป็นเพราะเรากินอาหารทุกวัน ถ้ากินอาหาร บริสุทธิ์ไม่เปื้อนเลือดเนื้อสัตว์ ก็เป็นบุญ เป็นการชำระบาปทำได้ทุกๆวัน วันละ ๑-๓ มื้อ วันอาทิตย์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ เป็นวันแรกที่ตั้งใจกินมังฯ พักอยู่ หอพัก แถวฝั่งธนฯ ผ่านตลิ่งชัน มีร้านอาหาร หลายสิบร้าน ไม่มีร้านอาหารมังสวิรัติสักร้านเดียว ต้องขึ้นรถเมล์ไปร้านคุณสาลี่ (ปัจจุบัน คือ คุณแรงใจ ที่อยู่ปฐมอโศก) ความรู้สึกตอนนั้นคิดว่าไม่อร่อยถูกปากเลย ต่อมาร้านปิดกิจการ คุณแรงใจเลิกร้าน เตรียมเข้าวัด จึงไปซื้ออาหารร้านสวัสดิการใน โรงพยาบาลศิริราช ก็อร่อยบ้างไม่อร่อยบ้าง มื้อไหนอาหาร อร่อย ก็เป็นสุข มื้อไหนไม่อร่อยก็ทุกข์ ส่วนใหญ่จะทุกข์มากกว่า ก็อดทนข่มฝืนสู้กิเลสเรื่องรสอร่อย ถือว่าเป็นวิบากที่เราติดเรื่องนี้มากที่สุด แต่ไม่ท้อถอย เพราะรู้ว่าสิ่งนี้ดีเราอยากเป็นคนดี การกินมังฯ ถ้าจะให้ร่างกายแข็งแรงต้องกินข้าวกล้อง ถั่ว งา กล้วยน้ำว้า พืชผัก ผลไม้สดๆ ซึ่งล้วนแต่ไม่ชอบทั้งนั้น แถมเวลาไปวัด ฟังธรรมวันอาทิตย์ กินข้าววัดก็กินแบบตักราดบนข้าว ทุกอย่าง วางโหมะในจาน แรกๆ กินแล้วรู้สึกอยากอาเจียน นี่ยัง ไม่พูดถึงการกินมื้อเดียว ซึ่งต้องฝึกฝนยิ่งขึ้น แต่ถ้าทำได้ ถือว่าได้ เกียรตินิยม อันดับ ๑ สำหรับข้าพเจ้าเรื่องมื้อเดียวยังลุ่มๆดอนๆอยู่ แต่ก็จะพยายามทำให้ได้ตลอดรอดฝั่งในภายภาคหน้า การฝึกเรื่องการกิน เป็นการฝึกลดกามรสอร่อย สิ่งที่ตามมา คือ อัตตามานะลดไปด้วย ลดความอยากกิน สมใจตน กุศลธรรมเจริญ เมตตาธรรมเจริญ สงสารสัตว์ สงสาร คนฆ่าที่เขาไม่รู้จริงๆว่าก่อบาป เมื่อฝึก กินมังฯ จนชำนาญ ก็มาฝึก กินอาหารที่แม่ครัวชมร.ทำแบบตัดรสอร่อยเหลือแต่รสนิพพาน พอทำได้ก็สบาย ไม่ต้องอดทน ข่มฝืน กินเอาธาตุอาหาร แต่กว่าจะผ่าน ฌาน ๑-๒-๓-๔ อุเบกขา ก็กินเวลาเป็นปี เคล็ดลับ ความสำเร็จ คือ ทำอย่างต่อเนื่อง อย่าหยุด ถ้าหยุดเมื่อใด จะถอยหลัง โดยไม่รู้ตัว ต้องไม่หยุดอยู่ในกุศล เมื่อกินมังฯ ได้สบายแล้ว ก็งดไข่ งดนมสัตว์ เพื่อเป็นมังฯที่บริสุทธิ์

ข้าพเจ้าเป็นลูกพ่อท่าน (ที่เป็นลูกเพราะพ่อท่านให้กำเนิดทางจิตวิญญาณมนุษย์) ในฐานผู้ครองเรือน อยู่นอกวัด จึงปฏิบัติ ค่อนข้างช้า วาสนาบารมีที่เป็นทุนเดิมมีมาน้อย ไม่เหมือนท่านสมณะ สิกขมาตุ ผู้เตรียมบวช หรือคนวัด ท่านที่สั่งสมบารมี ไว้มาก เรื่องอาหารท่านก็ทำได้ง่าย พบอโศกปุ๊บ ก็กินมังฯ บริสุทธิ์ และกินมื้อเดียวได้เลย เพราะบารมีและความเก่งของท่าน ข้าพเจ้าไม่เก่ง แต่พยายาม ฝึกให้เก่ง แม้เนิ่นช้า แต่มั่นคง เด็ดเดี่ยว ไม่หวั่นไหว ข้าพเจ้าตั้งปณิธานว่าตราบจนตาย จะไม่ขอกินเนื้อสัตว์ โดยไม่มี ข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น จะไม่เอาชีวิตสัตว์มาต่อชีวิตของเราอีกแล้ว

ที่เล่ามาเป็นการปฏิบัติธรรมเรื่องการกินมังฯเรื่องเดียว เป็นเรื่องพื้นฐานในชีวิตอยู่ที่ไหนก็ทำได้ ไม่ใช่มาทำ ตอนมาวัด เท่านั้น นอกจากเป็นมังสวิรัติ ซึ่งสัมปทา คือ ทำได้สำเร็จในระดับอธิศีลแล้ว ก็ต้องปฏิบัติศีล ข้ออื่นๆ สังวรศีลจนถึงศีลสัมปทา คือ ทำได้สำเร็จ ในศีลข้อต่างๆ ศีลข้อ ๒ ไม่ลักทรัพย์ละเอียดถึงขั้น ไม่โลภ อยากได้ ของผู้อื่น ศีลข้อ ๓ ไม่ผิดลูกเมียผู้อื่น สังวร ถึงขั้น ประพฤติตนเป็นคนโสดถือพรหมจรรย์ ถ้าแต่งงานแล้ว ก็จะงดเว้นการเสพเมถุน อยู่กันอย่างเพื่อน ศีลข้อ ๔ ไม่พูดเท็จ หยาบ ส่อเสียด เพ้อเจ้อ สำรวมระวังอย่างยิ่ง พูดความจริงอย่างมีประมาณถูกกาลเทศะ ศีลข้อ ๕ ไม่ติดอบายมุข ๖ ที่น่า หลงใหล อยู่รอบตัว นอกเหนือจากสุรายาเสพติด ก็มีทั้งแฟชั่น มหรสพ เกมกีฬา เที่ยวกลางคืน คบมิตรชั่ว ความเกียจคร้าน การพนัน และอื่นๆอีกเยอะ นี่เป็นศีล ที่ต้องปฏิบัติ ให้เป็นปกติ ทำให้เป็นอธิศีลสูงขึ้นไปเรื่อยๆเท่าที่จะทำได้ พ่อท่านบอกว่า คือ ถ้าปฏิบัติให้ดี พาสู่วิมุติ ความหลุดพ้นได้

ศีลข้อ ๒ พอมาปฏิบัติธรรมกับชาวอโศกแล้วจะไม่อยากได้ของใคร เพราะพ่อท่านสอนให้มาจน มาไม่มี โลกีย์สมบัติ แต่ให้มา มีโลกุตรสมบัติ อโศกมีแต่ให้ ประเดี๋ยวก็จัดโรงบุญเนื่องในงานนั้น ประเดี๋ยว จัดโรงบุญ เนื่องในโอกาสนี้ มีแต่จะรวมกลุ่มกัน ลงขันทำอาหารแจก ลงขันซื้อของมาขายราคาต่ำกว่าทุน จนคุ้นเคยกับ การให้การสละ ส่วนเรื่องการลักขโมย การโกง หรือโลภ อยากได้ของเขา ทำไม่เป็นแล้วลืมไปแล้วว่าทำยังไง

ศีลข้อ ๓ อโศกมีผู้นำ คือ พ่อท่านที่เป็นโสด พ่อท่านเล่าให้ฟังบ่อยๆว่า ไม่ได้ตั้งใจโสด แต่เพราะเป็นบารมี ข้าพเจ้ามาวัด ช่วงแรกๆ งง! ทำไมคนอื่นๆ ต้องอนุโมทนาดีใจที่เราเป็นโสด เรายังไม่ดีใจเลย ยังคิดว่า ทำไม ไม่มีใครมาขอแต่งงาน เพื่อนๆ เคยบอก แต่งงานแล้วมีความสุขนะ แต่งเถอะ พอมาอโศกเรียนรู้ธรรมะก็เข้าใจ แล้วดีใจ ที่ไม่เป็นคนคู่ เพราะมีทุกข์มากๆ แม้มีสุข ก็สุขหลอกๆ แต่ก็ไม่ประมาท พยายามป้องกันตัวเอง ให้ครองความเป็นโสด ด้วยการแต่งตัวเสื้อผ้ามอซอ ปกปิด ร่างกาย มิดชิด ลดกามด้านรูปทั้งของเรา และลดกาม ให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเราด้วย เรียกว่า Two in one แถมฝึก ไม่ใส่รองเท้า ใครคิดไม่ดีเห็น ก็มองผ่านเลยไป ไม่มีคดีฉุดไปทำอนาจารแน่นอน

ศีลข้อ ๔ สังวรระมัดระวังคำพูด เมื่อก่อนคิดว่าพูดโกหกเล็กๆน้อยๆไม่เป็นไร แล้วก็ไม่รู้ว่าการนินทา พูดเรื่องไม่ดี ของคนอื่น ก็ผิดศีล เพราะส่อเสียด ส่วนการพูดเพ้อเจ้อไร้สาระ ซึ่งอยู่กับผู้หญิงมาทุกยุคทุกสมัย ก็ทำเป็นปกติธรรมดา พอมาถือศีล ต้องระวังคำพูด ถ้าไม่ระวังก่อทุกข์ให้เราเองและคนรอบข้างได้ง่ายๆ จะระลึก ถึงคำสอนของเล่าจื๊อ ที่ว่า "จงคิดทุกคำที่พูด แต่อย่าพูด ทุกคำที่คิด" ดูตัวอย่างพ่อท่าน และ ลูกศิษย์พ่อท่าน ล้วนพูดแต่สาระอย่างมีประมาณ มีสติรู้กาลเทศะ พูดจริง พูดไม่ผิด ไม่ให้ร้ายใคร ทุกสิ่ง ที่ท่านทำ ได้จริง เราก็มาฝึกตาม

ศีลข้อ ๕ คิดว่าแค่ไม่เสพสุรายาเสพติด พอฟังพ่อท่านสอนรู้ว่า อบายมุข คือ หัวหน้านรก คือ ทางไปสู่ ความทุกข์ ความหายนะ สังคมปัจจุบันนอกจากจะเฟ้อด้วยอบายมุข ๖ ซึ่งมีน้ำเมา การพนัน เที่ยวกลางคืน ดูการละเล่น คบเพื่อนชั่ว ขี้เกียจ ก็มีการ แต่งตัวหรูหราฟุ่มเฟือย หรือโป๊ๆ สิ้นเปลืองเครื่องสำอาง การกีฬา ประเภทต่างๆ ล่าสุดก็มีเกมคอมพิวเตอร์ และอื่นๆอีกมาก เพิ่มอบายมุข จาก ๖ ข้อ ในสมัยพุทธกาล มาเป็น หลายสิบอย่าง แล้วแต่จริตใครติดข้อใด

นี่ละค่ะศีล ๕ ของฆราวาสผู้ครองเรือน สังวรกันให้ดีๆ ฝึกกันให้ชำนาญจะพ้นทุกข์ได้ ทำได้ก็จะมีแต่รู้ ตื่น และ เบิกบาน มีความสบายไม่มีอบาย แล้วถ้าถือศีล ๘ ศีล ๑๐ จะไม่สุขยิ่งกว่านี้หรือ ก็พากเพียรถือศีลสูงขึ้น เพิ่มฐานศีลข้อ ๖ กำหนด กินอาหารเป็นมื้อ ไม่กินจุบจิบนอกมื้อ และกินลดมื้อมาจนถึงมื้อเดียวได้ ตามพระพุทธเจ้า ศีลข้อ ๗ ไม่หลงใหลในเสียงดนตรี เป็นกามทางเสียง ศีลข้อ ๘ ไม่หลงการแต่งตัว การลูบไล้ ด้วยของหอม ศีลข้อ ๙ ไม่นอนที่นอนสูงใหญ่ ไม่หลงสมบัติใหญ่ๆ โตๆ ศีลข้อ ๑๐ ไม่มีเงินทอง

ข้าพเจ้าพยายามพากเพียรปฏิบัติธรรม โดยเริ่มจากถือศีลอย่างที่ได้เล่ามาข้างต้นจากศีล ๕ แล้วก็ศีล ๘ มีความสุขกว่า ตอนที่ไม่มีศีลเลย มันเป็นความสุขที่สงบไม่ใช่สุขหลอกๆ สุขจัดจ้านตามแบบโลกีย์ ต้องมา ลองเองจึงจะรู้ ศีลเป็นเพียง เบื้องต้น ของการปฏิบัติ เป็นข้อที่ ๑ ของจรณะ ๑๕ เท่านั้น เราต้องปฏิบัติ จรณะอีก ๑๔ ข้อไปพร้อมๆกันด้วย และต้องศึกษา วิชชา ๙ เป็นความรู้เพื่อปฏิบัติได้ถูกต้อง และมีธรรมะ ซึ่งเป็นปริยัติให้เราได้ศึกษาอีกมากมาย เช่น โพธิปักขิยธรรม ๓๗ อุปกิเลส ๑๖ วรรณะ ๙ ฯลฯ ศึกษาเพื่อ ให้เราปฏิบัติได้บริสุทธิ์ขึ้น และที่ข้าพเจ้าปฏิบัติธรรมได้มั่นคงยาวนานจนถึงปัจจุบัน เพราะข้าพเจ้า ฟังธรรม จากพ่อท่านสม่ำเสมอ ฟังซ้ำๆสิ่งที่พ่อท่านสอนเป็นปรมัตถธรรม เป็นโลกุตรธรรม และข้าพเจ้า ได้คบกับ ผู้เป็นอนาคาริกชน คือ นักบวช ผู้เตรียมบวช และคนวัด ผู้มีอธิศีล ท่านทำเป็นตัวอย่าง เป็นเพื่อนบุญ และ ที่ขาดไม่ได้ คือ การคบคุ้นหมู่กลุ่มญาติธรรม ที่ล้วนมีศีลทั้งนั้น เราจะเห็นตัวเราได้ชัด ทั้งข้อดีข้อเสีย จะชี้ขุมทรัพย์ ให้เราได้ จะเป็นมิตรดีสหายดีของเรารองลงมาจากพ่อท่านและผู้เป็นอนาคาริกชน

เส้นทางสายนี้ไม่ใช่ทางสายเปลี่ยว มีเพื่อนร่วมทาง มีพ่อท่านเป็นผู้นำทางเป็นสัมมาอาริยมรรคแน่นอน พิสูจน์แล้ว ด้วยตัว ข้าพเจ้าเอง ก็จะขอเดินทางสายนี้ไปจนตาย เกิดใหม่ก็มาเดินต่อ แม้จะพบ หรือ ไม่พบพ่อท่าน อีกก็ตาม ก็จะขอแกะรอย จากคัมภีร์ที่พ่อท่านได้เขียนไว้มากมาย ขอเชิญผู้ใฝ่ดี มาคบคุ้นกับ เส้นทางสายโลกุตระนี้ แล้วจะรู้ว่า แม้ยังไม่เคย ไปถึง จุดหมายปลายทาง แต่เส้นทางนี้ก็ไม่ไกล อย่างที่คิด และมีที่สิ้นสุด

- เทียนฟ้า บูรพ์ภาค -
๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๘

-สารอโศก อันดับ ๒๔๗ กันยายน ๒๕๔๘ -