ขอคารวะ...ขอคารวะ...และขอคารวะ... แด่นักสู้ผู้กล้าหาญทุกๆท่าน

ความหนักหนาสาหัสสากรรจ์ของบ้านเมืองในขณะนี้ อำนาจเงินนับเป็นตัวปั่นป่วนจนมีอันเป็นไป ทำให้มีสำนวนพูดกันว่า “เงินตก ใส่หญ้าหญ้าตาย - เงินตกใส่ทรายทรายทรุด - เงินตกใส่มนุษย์...มนุสโสสิ? แปลว่า คุณยังเป็นมนุษย์อยู่หรือเปล่า ! หรือ เป็นอมนุษย์ไปแล้ว

อำนาจเงินทำให้มนุษย์ที่แปลว่าผู้มีจิตใจสูง กลายเป็นคนเนรคุณ คนขายชาติ เป็นคนเลวสุดเลวอย่างไรก็ได้ เพื่อให้มีทุนสามานย์ มหาศาลกว่าใครๆ ซึ่งในระบบทุนนิยมที่ไม่มี”คุณธรรม” เป็นภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงนั้น ใครๆก็ต้องเป็นไปในแบบนี้ทั้งนั้น

“ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ” คือคำย้ำเตือนของท่านพุทธทาสที่ใกล้ๆจะได้เห็นความวินาศสันตะโร อยู่ในขณะนี้ ส่วนสังคมใด ที่ยึดถือศีลธรรม อย่างเหนียวแน่น เช่นพี่น้องอิสลาม ที่เอาคำสอนของพระศาสดา มาเป็นทั้งการดำเนินชีวิต เป็นทั้งเศรษฐกิจ เป็นทั้งกฎหมาย ฯลฯ จึงทำให้เกิดสังคมที่อบอุ่น สามัคคี และมีความเป็นน้ำหนึ่ง ใจเดียวกัน

หนังสือ “การลอกคราบเป็นการเมืองใหม่” เป็นการนำเสนอการเมืองใหม่ ในมุมมองของ พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ซึ่งมีความเชื่อว่า คำสอนของ พระพุทธเจ้านั้น เป็นทั้งรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และเป็นทั้งหมด ของวิถีชาวพุทธเช่นกัน (พ่อท่าน เป็นภาษา ภาคใต้ ในความหมายเดียวกันกับ ภาคกลางเรียก หลวงพ่อ หรือ ทางภาคเหนือ เรียก ครูบา)

หนังสือเล่มนี้เรียบเรียงจาก คำบรรยายในสถานที่ชุมนุม และการตอบคำถามให้กับผู้ชมรายการ “สงครามสังคม '' ธรรมะการเมือง” ทาง เอฟเอ็มทีวี ช่วงเวลา ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น. ของทุกวัน ในช่วงที่มีการระดมสมอง เรื่อง “การเมืองใหม่” เพื่อให้เกิดสังคมใหม่ และ มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในทุกด้านไปพร้อมๆกัน ก็หวังว่าท่านผู้กล้า ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับอธรรม ในขณะนี้ น่าจะได้ข้อมูลทางด้าน “ธรรมะ” เพื่อไปร่วมกันสังเคราะห์ให้เกิดการเมืองใหม่ที่แท้จริง อันจะนำไปสู่ชัยชนะ ที่ยั่งยืน ถาวร และงดงาม ของประชาชนอัตตา หะเว ชิตัง เสยโย - ชัยชนะใดๆ ไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับ ชนะตนเอง

จริงจัง-ตามพ่อ


การลอกคราบ เป็น การเมืองใหม่

พ่อท่านคะ เราจะชนะไหมคะ เมื่อไหร่เราจะชนะเสียที?

ขณะนี้เรากำลังต่อสู้กันอยู่ที่ข้างทำเนียบนั่น เป็นการต่อสู้เพื่อที่จะให้รัฐบาลเลิกซะเถิด หยุดซะเถอะ รัฐบาลนี้ไม่ควรจะอยู่ นี่เป็นประเด็น เพื่อที่จะให้ชนะหรือแพ้ หรือซ้อนลงไปอีกนิดหนึ่งก็คือว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลนอมินีของทักษิณ เพราะฉะนั้นต้องการให้ระบอบทักษิณนี่หยุดไปเลย แล้วถามว่าจะชนะไหมคะ? เมื่อไหร่จะชนะเสียที? ถามเป็นสองประเด็น

จะชนะไหมคะ เราชนะอยู่ตามลำดับ นี่ก็ประท้วงกันมาเดือนกว่าแล้ว โอ้โห มันไวเหลือเกิน แปล็บๆๆๆๆ นี่ ลบสถิติเก่าทำไว้ ๓๔ วัน เมื่อไหร่จะชนะเสียที แหม...ไม่รู้ว่ามันจะเมื่อไหร่ อาตมาไม่มีคำตอบ อาตมาไม่ใช่นักพยากรณ์ แต่เราอย่าไปคิดว่า ตรงที่ชนะนั้นคือ สภาพที่ต้องเลิกสงคราม อาตมาได้บรรยายแล้วว่า ชีวิตมันคือสงคราม เป็นสงครามของสังคม หรือสงครามของชีวิตก็ตาม ในสงครามชีวิต เราก็ต้องสู้กับกิเลสของเราให้หมด ตราบใดที่คุณยังไม่เป็นอรหันต์ คุณไม่ได้หมดสงครามหรอก ส่วนสงครามสังคมนั้น เป็นสงครามที่มันต้องเกิดอยู่ไม่รู้หยุด ไม่มีจบ สงครามของสังคม มีอยู่นิรันดร การดิ้นรนที่แย่งชิง คือ สงคราม ซึ่งมีอยู่มานานตั้งแต่เดรัจฉาน มันเข้าสู้กัน มันแย่งชิงกัน ฆ่าแกงกัน ดุเดือด -เลือดพล่าน แล้วก็ตายกันไปข้างหนึ่ง นั่นเดรัจฉานทำ

แม้แต่ คนเถื่อนสมัยโบราณ ก็ทำอย่างนั้น จนคนได้สำนึกได้เรียนรู้ มีปัญญาชาญฉลาดขึ้นมาว่า โอ้มันเลวร้ายอย่างเดรัจฉาน อย่าไปทำเลย ก็ลดลงมาเรื่อยๆ แต่ก็ยังทำอยู่นั่นแหละ แต่ก็มีความฉลาดที่จะลดลงๆๆๆ แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็เข้าใจว่า โอ้การที่จะมาฆ่า มาแกง ทำร้ายทำลายกัน มันเลวไม่ดีหรอก

ใครจะชนะ ใครจะแพ้นั้น ควรอยู่ที่ความถูก ความผิด ความดี ความชั่ว ทุกวันนี้คนเข้าใจแล้ว ก็เลยมาใช้การพิสูจน์กันว่าใครดี แล้วให้คนดีชนะ ใครถูกก็ให้คนถูกชนะ แล้วถูก-ผิด ดี-ชั่ว คืออะไร? เรียนรู้สัจจะให้ลึกซึ้งตรงนี้ เสร็จแล้วต้องให้คนถูกชนะ ให้คนดีชนะ ก็เลยลดการที่จะฆ่าจะแกงกัน เอาเหตุผลเอาความรู้ เอาความจริงมาว่ากัน ใครถูกใครผิด ใครดี ใครชั่ว ดีต้องชนะ ถูกต้องชนะ ชั่วแพ้ ผิดแพ้ไป ก็ใช้กันด้วยเหตุผล การรบราฆ่าแกงกันก็ลดลงๆ ๆ ๆ

สุดท้ายสังคมที่จะมีสงครามนั้น มันมีสงครามแรงที่สุดแค่ปาก หอก สงครามผู้ดีนั้นเป็นสงคราม ที่ปากหอก ภาษาบาลี คำว่า ปากหอกนี้คือ มุขสัตติ มุขะแปลว่าปาก สัตติ หรือศาสตรานี่แปลว่าอาวุธ คือ หอก ดาบ ทีนี้โบราณาจารย์ท่าน ก็เลยสร้าง คำไทยขึ้นมาว่า “ปากหอก” ในสังคมมนุษยชาติจะต้องมีสงครามอยู่ตลอด สำหรับตนเท่านั้นที่จะทำให้หมดสงครามสนิทได้ คือเราเอง เป็นอรหันต์แล้ว หมดกิเลสแล้ว เราไม่ต้อง รบรากับกิเลสอีก หยุด จบกิจ ไม่ต้องทำสงครามกับอะไรอีกเลย แม้แต่กับกิเลส ที่เหลือเศษในตน พระอรหันต์นั้นแม้ที่สุดเขาจะฆ่าเรา เราก็ต้องยอมให้เขาฆ่า โดยไม่ติดใจ ไม่ถือสา เช่น พระโมคคัลลานะเป็นต้น

เพราะฉะนั้น สังคมคนที่สูงสุด ในยุคพระพุทธเจ้าอยู่ทั้งพระองค์ ควบคุมดูแลสงฆ์ ให้อยู่ในธรรมวินัย มีระเบียบมีกฎเกณฑ์ มากมาย ในคณะสงฆ์ยังมีสงครามปากหอกเลย ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าอยู่ทั้งองค์ก็ยังทำได้ขนาดนี้ เพราะฉะนั้น มันเป็นสังคมสงคราม ตลอดกาลนาน ผู้ดีที่สุด เก่งที่สุด ก็ยังเหลือแต่ปากหอก จะหยาบจะทุจริตขนาดไหนเท่านั้นเอง

เอ้าทีนี้มาเข้าประเด็นที่คุณถามมาว่า จะชนะเมื่อไหร่? อาตมาก็ตอบได้ว่า ไม่รู้ แต่ว่าเราชนะอยู่เรื่อยๆนี่ ตั้งแต่รัฐมนตรีจักรภพ ยอมลาออก..ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลยอมถอนญัตติที่จะแก้รัฐธรรมนูญ..รัฐบาลยอมให้เปิดอภิปราย ไม่ไว้วางใจ ทั้งๆที่ได้ปฏิเสธมาก่อน... การปกป้องดินแดนที่เขาพระวิหารเอาไว้ ซึ่งเผยให้เห็นถึงอันตราย ของระบบทักษิณ หรือทุนสามานย์ ที่ล้างผลาญ สมบัติของชาติ ได้ทุกอย่าง ซึ่งมันต้องใช้เวลาในการตีแผ่เอาเชื้อมะเร็งร้ายออกมา ถ้าไม่มีประชาชน มาชุมนุมกัน ปัญหาต่างๆก็จะไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งส.ส. ทั้งสภา ก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ แม้แต่ครม.รัฐบาล ก็หมดสภาพ สิ้นความชอบธรรม ไปเรื่อยๆ เมื่อศาลปกครอง ให้ระงับ ข้อตกลง กับเขมร เอาไว้ก่อน และยังจะมีเรื่อง ที่กำลังเข้ารูปเข้ารอย เพื่อให้เกิด ความเป็นธรรม ในสังคม อีกหลายอย่าง ที่เกิดจาก การเคลื่อนไหว ของมวลมหาประชาชน ที่ออกมาชุมนุมร่วมกัน

อาตมาดูนะว่าเราชนะอยู่เรื่อยๆ คนอื่นจะให้คะแนนหรือไม่อย่างไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้น เราก็ล้มล้างสิ่งที่ไม่ดี กันไปเรื่อยๆ ทั้งในสังคม ทั้งในตัวเราเองด้วย นั่นคือ การทำสงคราม ถ้าชนะได้ก็คือ สามารถทำในสิ่งที่ไม่ดีนี่ ให้มันหยุดได้เรื่อยๆ นั่นคือ ความชนะ ไปเรื่อยๆ จนกว่า จะเป็นการชนะ อย่างเด็ดขาด ตอนนี้ก็สะสมแต้ม เก็บคะแนนชนะ ไปเรื่อยๆ ไปจนกว่า มันขาด ของมันเอง โดยไม่ต้องเด็ด ดังนั้น ต้องสู้กัน ด้วยยุทธศาสตร์ “ยาวให้เป็น เย็นเรื่อยไป ไขความจริง ออกมาให้มากๆ หมดๆ” นั่นคือ การชนะอย่างเด็ดขาด ที่มันขาดได้โดยไม่ต้องเด็ด


 

สงครามอาริยะนั้นเป็นฉันใด ?

ขณะนี้เรากำลังทำสงครามสังคม แต่เป็นสงครามสังคมอันสวยงามที่สุดเลย สวยงามจริงๆ เป็นสงครามที่เกิด ในสังคมไทย ที่สวยงามมาก เป็นวิวัฒน์พัฒนาขึ้นมาได้อีกขั้นหนึ่ง สังคมนั้นต้องมีสงครามอยู่เป็นธรรมชาติธรรมดา สงครามคืออะไร สงคราม คือการต่อสู้กัน สังคมนี่มันจะเกิดสงครามอยู่ตลอดเวลา การต่อสู้แบบโลกีย์คือการต่อสู้แบบแย่งชิงลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข แย่งกาม แย่งอำนาจ โดยจะทำให้ตนเองหรือตัวกูของกูนี่เป็นใหญ่ ให้มีอำนาจยิ่งใหญ่ เหมือนอย่างคนโบราณ อย่างเจงกีสข่าน อย่างฮิตเลอร์ หรือใครต่อใครที่ใช้อำนาจมาแต่โบราณดึกดำบรรพ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ลึกซึ้งอะไรเลย และเขาทำกันได้สำเร็จมานาน แม้ทุกวันนี้ก็ยังใช้ เช่น อเมริกา ที่ใช้อำนาจไปบุกรุกอิรักโดยเอากองทัพเอาอาวุธไปทำลายเขา นี่ถ้าเผื่อว่าไม่ระมัดระวังกันจริงๆ หรือว่าไม่ฉลาดพอ นั่นคือการจุดชนวนเพื่อที่จะให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๓ ได้ นั่นคือวิธีบู๊ ซึ่งอาตมาเห็นว่าเป็นวิธีที่ล้าสมัยมาก เป็นสงครามชั้นต่ำ คนชั้นต่ำจะใช้อาวุธ คนชั้นต่ำก็จะใช้เรี่ยวแรงกัดกันต่อยกันเตะกัน และก็จะใช้อาวุธ นั่นเป็นคนชั้นต่ำ คนที่สูงขึ้นมา เป็นสงครามที่สู้กันด้วยปัญญา สงครามสู้ด้วยความรู้ ด้วยความจริง ความถูกต้อง ด้วยความสุจริต ใครสุจริตกว่ากันชนะ ใครทุจริตแพ้ ดีชนะ ถูกชนะ ชั่วแพ้ ผิดแพ้ ชั่วมากผิด-ชั่วน้อยกว่ากันแม้น้อยหนึ่งแพ้ นี่คือคนชั้นสูง นี่คือคนเจริญ

ในสังคมอย่างอินเดีย วัฒนธรรมของชาวอินเดียนี่ เวลาทะเลาะวิวาทกัน จะทำสงครามด้วยปาก เถียงกันต่อให้เอะอะมะเทิ่งขนาดไหน แต่จะไม่ลงมือลงไม้หรอก ไม่เตะไม่ถีบ ไม่ทำร้ายอะไรกัน ใครไปอินเดียจะเห็น เป็นสงครามของคนเจริญ เสร็จแล้ว เดี๋ยวก็เลิกรา สงครามคนเจริญ ไม่ลงมือลงไม้ ไม่รุนแรง ไม่เจ็บเนื้อเจ็บตัว อย่างเก่งก็มีแต่ปาก ด่าทอกัน ภาษาในวิชาการเขาเรียกว่า ปากหอก

ปากเป็นสื่อในการพูดจา ปากเป็นสื่อในการบอกความคิด บอกสาระ บอกเรื่องราว สื่อกันให้รู้ ได้ดีที่สุด กรรมกิริยาก็สื่อได้ แต่ยากกว่า ถ้าสื่อกันด้วยภาษาด้วยคำพูด สื่อได้ชัดกว่า คนทั้งโลกจึงมีภาษากันเยอะแยะ แต่ละชาติ แต่ละประเทศก็มีภาษาของตน ภาษา จะเป็นสื่อที่ชัดเจน ภาษาจะเป็นสื่อที่บอกแจ้งความรู้ บอกแจ้งความจริง บอกแจ้งความต้องการให้ได้รู้กัน สงครามของคนผู้ดี อย่างเลวร้ายที่สุด คือ สงครามแค่ภาษา ลงไม้ลงมือ ทำร้ายกันนั้น ไม่มีแล้ว คราวนี้ คณะประชาชนคนไทยที่กำลังรวมกันนี่ ผนึกกัน เพื่อจะทำสงคราม สงครามต่อสู้กันเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลง ล้มล้างเอาอำนาจเดิมนั้นลงไป แต่ต่อสู้กันด้วยสื่อสาร ออกมาทางภาษา อย่างเมื่อวานนี้ ตอนเช้าเวลา ๘ โมงครึ่ง รายการนายกฯ ออกมาพูดน่ะ พอพูดเสร็จ ทางแกนนำพันธมิตร ก็เอามาพูดหักล้างต่อ ชกกันด้วยภาษา ใครผิดใครถูกตรงไหน ใครจริงใครเท็จ โอ้โห...เป็นสงครามคนเจริญ มันก็สู้กันด้วยความจริง ล้มล้างกันด้วยความเท็จ ความเท็จต้องแพ้ ความจริงต้องชนะ มาสู้กันอย่างนี้แหละ ตอนนี้ฝ่ายที่เท็จ ฝ่ายที่ทำไม่ถูกต้อง ก็กำลังทำกัน ด้วยกลวิธี ทุจริตต่างๆ หนักเข้า เขาก็จะโกหก เขาก็จะหลอกลวง เขาก็จะเท็จยิ่งขึ้นๆๆๆๆๆๆ สักวันหนึ่ง แพ้ชัดๆ

เพราะฉะนั้นในเวทีนี้ เป็นเวทีที่จะใช้สงครามแค่ภาษา เข้าต่อสู้กันอย่างนี้แหละ พวกเราจึงต้องมาเป็นพลังมวลชน ให้มากๆ คนขึ้นเวที ถ้ามีมวลมาก มีผู้ดูเยอะโอ้โห้คนขึ้นเวทีนี่มันคึกคักนะ มีกำลังใจมีไฟเกิน ร้อย แต่ถ้ามองออกไปแล้ว ไม่มีใครเล้ย ไม่มีใคร สนใจเลย คนแสดงบนเวทีนี่ก็จะแสดงไม่ค่อยออก นี่เป็นสัจธรรม พูดไปแล้วพวกเราก็คงจะเข้าใจดี เพราะฉะนั้นมารวมกัน ให้มากๆ จริงๆ แล้วในวิถีปฏิบัติ สังคมสมัยใหม่ พลังของมวลชน นี่แหละ จะเป็นพลังของอธิปไตย คืออำนาจของมวลชน เป็นการแสดงถึงมติ เป็นการแสดงถึงความจริงว่า ความเห็น ความร่วมมือของมวลชน จะชนะ ฯลฯ

สงครามที่สู้กันด้วยความจริงเช่นนี้ เป็นสงครามอาริยะ และการต่อสู้กันอย่างนี้เป็นการต่อสู้ของอาริยชน แพ้ชนะกันด้วยความจริง เพราะฉะนั้น มันจะมีอารมณ์ มีความแค้น ความโกรธเคือง ขึ้นมา ทุกคนจะต้องสังวรระวัง ระงับ อย่าให้อารมณ์ร้อน อารมณ์เดือดเกิด เพราะงั้น ผู้ใดที่ปฏิบัติอย่างนี้ ก็คือคนเจริญ สู้กันอย่างสันติ เราห้ามคนไม่รู้ ไม่ได้หรอก เราจะไปบังคับให้คนไม่รู้ แล้วบังคับให้เขารู้ เราทำไม่ได้ ในสังคม คนรู้มันก็ต้องมี คนไม่รู้มันก็ต้องมี รู้ผิดก็ได้รู้ถูกก็ได้ มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นของจริง

คนนานาสารพัดเป็นแสนเป็นล้าน มันก็ต้องมีความรู้ที่แตกต่างกัน รู้ผิดก็มีรู้ถูกก็มี เป็นธรรมดา เมื่อคนมีความเห็นต่างกัน ย่อมเกิด ขัดแย้งกัน ก็นั่นแหละ คือสงคราม ในโลกเกิดมาไม่มีสงครามมันไม่ได้หรอก ในโลกที่ไหนระดับไหน เมื่อไหร่ก็แล้วแต่ มันต้องมี ความเห็นต่าง แต่เราอยู่ร่วมกันได้เป็นเอกภาพ อย่างพวกเรามาอยู่ร่วมกันที่นี่ มีความเห็นที่ตรงกันในจุดหนึ่ง แต่ก็มีความเห็นย่อย ที่ต่างกันบ้าง แน่นอน

เอาล่ะเรื่องใหญ่เราเห็นตรงกัน เรื่องย่อยเราเห็นแตกต่างกันเป็นธรรมดา แต่เราก็รวมกันเป็นปึกแผ่นได้ ถ้ากิจใหญ่ใจความ มันตรงกันแล้ว เรียกว่าทิฏฐิสามัญญตา มีความเห็นหรือว่ามีอุดมคติ มีจุดมุ่งหมายตรงกันแล้วเป็นหลักใหญ่ ส่วนหลักย่อย ก็ค่อยๆ ปรับกันไป แล้วอยู่กันอย่างกลมกลืน อย่างนี้แหละเราเรียกว่าเป็นเอกภาพ เป็นสังคมกลุ่ม โดยทุกคน ต้องเคารพความเห็น ของแต่ละคน ความเห็นใหญ่ ความเห็นรอง ความเห็นปลีกย่อย ก็ว่ากันไปตามลำดับ

เพราะงั้นคำว่า สังคมสงครามของสังคมผู้ดี สังคมอาริยะชั้นสูงนั้น จะมีสงครามที่มีความขัดแย้งกันพอเหมาะ แม้ความสามัคคี ก็ยังต้องมีความขัดแย้งอันพอเหมาะ ไม่มีความสามัคคีใดที่เห็นเหมือนกันหมด..ไม่มี ความขัดแย้งทำให้เกิดความฉลาด ทำให้เกิด ความเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดทั้งการพัฒนาหรือความเสื่อมก็ได้ ความขัดแย้งทำให้เกิดความเสื่อมก็ได้ ถ้าขัดแย้งแล้ว สิ่งที่ชนะนั้น เป็นความผิด เป็นความเลว ไอ้นั่นเสื่อมแล้ว แต่ถ้าเผื่อว่าสิ่งที่ดีสิ่งที่ถูกต้องชนะ ขัดแย้งกันแล้ว สิ่งที่ดีชนะนั่นเจริญ

เมื่อขัดแย้งแล้วก็ต้องเลือกสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อได้สิ่งที่ถูกต้องก็จะฉลาดเพิ่มขึ้นหรือเจริญเพิ่มขึ้นตลอดเวลา สังคมไทยเรา ตอนนี้ กำลังเจริญขึ้น ตอนนี้อาตมาว่า ความเข้าใจสังคมประชาธิปไตยก็ดี หรือว่าการเรียนรู้ความเข้าใจ สังคมประชาธิปไตรก็ดี หรือว่า การเรียรู้การเมืองก็ด ีประชาชนได้เรียนรู้เยอะ เพราะว่าสื่อช่วยได้มาก เอเอสทีวีก็ดี ทั้งเอฟเอ็มทีวี หรือว่าโทรทัศน์ เพื่อมวลมนุษยชาติก็ดี ถ่ายทอดการต่อสู้ของประชาชนตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ ๒๕ พ.ค.'๕๑ มาจนกระทั่งขณะนี้ ก็ถ่ายทอดสื่อออกไป ให้แก่ประชาชน ตลอดเวลา งานเก่าที่ทำอยู่ประจำก็เลิกหมดมาทำงานนี้ เพื่อช่วยสื่อสารในวาระสำคัญของประเทศ มันเป็นเรื่องใหญ่ ของประเทศนะ สื่อสารทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ กูจะทำมาหากินของกูอย่างเดียว เอ็งจะขึ้นม้าลงช้างก็ช่างหัวเอ็ง นั่นคือ สื่อสารมอมชน ไม่ใช่มวลชน

เพราะงั้นในขณะนี้ สังคมที่เกิดสงคราม ถึงขั้นที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงกลุ่มคนปกครองก็ว่ากันไป คณะที่มาทำนี่เป็นคณะประชาชน นี่แหละคือประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นทุกคนที่มานี่ก็ขอคารวะว่า พวกเรานี่เป็นนักประชาธิปไตยที่แท้จริง กำลังเรียนรู้ อย่างที่บอกว่า เป็นมหาวิทยาลัย กำลังแสดงออกกำลังมาปฏิบัติ มาเรียนรู้ นั่นล่ะถูกต้องแล้ว มาเรียนจริงๆ มาปฏิบัติจริง มาเรียนอย่างปฏิบัติ ไม่ใช่เรียนแต่เพียงรู้ อ่าน หรือฟัง แต่รู้ด้วยปฏิบัติด้วยฝึกฝนด้วย ได้กระทำเป็นประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องที่จะบันทึกลงไป ในสังคม ประเทศไทย จะเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ในการเปลี่ยนแปลงสังคมประชาธิปไตย

เพราะฉะนั้นในประชาธิปไตยที่มันเกิดการเปลี่ยนแปลงมาไม่ว่าจะเป็น ๑๔ ตุลา ๑๖ หรือ ๖ ตุลา ๑๙ และ ๑๗ พฤษภา ๓๕ มาเรื่อยๆ ก็ตาม เป็นประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ ล้มตาย เกิดความรุนแรงทั้งสิ้น มาครั้งนี้ พ.ศ.นี้ มันยืดเยื้อมานาน การเปลี่ยนแปลง ครั้งนี้มีการพัฒนามาตั้งแต่ปี'๔๘, '๔๙, '๕๐, '๕๑ ค่อยๆเคลื่อนเหมือนมันชนะไปทีหนึ่งมันก็ไม่ชนะ ตั้งแต่ '๔๙ เปลี่ยนแปลงไปทีหนึ่ง มันยังไม่ชนะ มันยังเรื้อรัง มันยังไม่จบสิ้น มันยังเหลือเชื้อ เพราะฉะนั้น ต้องมายืดยาวอีก จนกระทั่งมาถึง ?๕๑ ก็คือ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงกันอีก

แต่การเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้ต่างกันกับ พ.ศ.๑๖, พ.ศ.๑๙ หรือ พ.ศ.๓๕ มีการเปลี่ยนแปลงที่ต่างกัน ก่อนโน้นรุนแรง ยังไม่เจริญ เท่าปัจจุบัน แต่มันก็พัฒนาขึ้นมาตามลำดับ มาถึงวันนี้ สงครามสังคมมีการเปลี่ยนแปลง ที่พัฒนาขึ้นมาเยอะ เพราะฉะนั้น การต่อสู้ หรือสงครามสังคมในขณะนี้ ถ้าการเปลี่ยนแปลงอันนี้ ชนะอย่างสงบ ชนะอย่างสันติ อหิงสา ชนะอย่าง ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ยอมแพ้กัน ด้วยสัจจะ ด้วยความผิดความถูก ด้วยความจริง ด้วยความเท็จ ถ้าชนะกันได้ครั้งนี้ มันยิ่งใหญ่ ที่สุดเลย ต้องประคอง ความชนะ หรือต้องประคองการต่อสู้คราวนี้ให้ดีนะ

มากันเป็นมวลชนให้มากๆ อดทนหน่อย คนที่อดทนเป็นหลักมีอยู่แล้ว พวกกองทัพธรรมนี่ ยังไงๆ ก็เอาเถอะ ตายกันตรงนี้เลย นั่นคือตายอย่างต่อสู้แบบสันตินะ ไม่ใช่ไปตายอย่างสงครามหิงสา หิงสานี่แปลว่ารุนแรง อหิงสาแปลว่าไม่รุนแรง ตายอย่างไม่รุนแรง อย่างสงบ ตายเพราะอะไร ก็แล้วแต่เถอะเนี่ย โอ้โฮ ! มาทำกับข้าวเลี้ยงพวกเราตาย จะปัดเช็ดกวาดถู หรือว่าเป็นรปภ. ดูแลความสงบ ใครมีหน้าที่อะไร ก็ทำเถอะ แม้แต่จะมาเป็นช่างภาพ ช่างเสียงช่างเครื่อง ช่างอะไรก็แล้วแต่ หมดเรี่ยวแรงตาย เอาน่ะ อาตมาว่า จะหาสมุด ปกทองคำมาไว้จดรายชื่อวีรชน ถือเป็นวีรชน ตายเพราะต่อสู้อย่างสงบ ต่อสู้อย่างไม่รุนแรง ตายเพราะหมดแรง ไม่ได้ตาย เพราะถูกทำร้ายอะไรกัน

เอ้า ! ลองดู มันจะยืดเยื้อยาวนานไปเท่าไหร่ก็ยังไม่รู้เลย มันเหนื่อยนะไม่ใช่ไม่เหนื่อย มันลำบ๊ากลำบาก ไม่ใช่มันสบายที่ไหน กลางวันนี่โอ้โฮ ร้อนจะตาย แต่ก็เอ้า มันจะต้องทำงาน เนี่ยมันเป็นเรื่องการต่อสู้สมัยใหม่ โลกทั้งโลกจะเดินทางมาสู่ การต่อสู้ แบบอหิงสา แบบสงครามอาริยะ อย่างนี้แหละ นี่แหละ “สงครามสันติภาพ” ที่จริงตามที่ตอลสตอย เขียนและต้องการให้เกิดในสังคม

สู้กันด้วยปากหอกนั้น อย่างเก่ง เอามาแฉกัน เอามาพูดกัน นี่ล่ะคือสงครามอย่างสูงสุดแล้วของมนุษยชาติ ใช้ปากเป็นอาวุธ เพื่อที่จะมาเปิดเผย มาแฉความจริง มายืนยันมาล้มล้างกัน ด้วยหลักฐานความจริงทุกอย่าง นี่สูงสุดแล้วสังคมสงครามขนาดนี้แหละ สูงสุดมันได้ขนาดนี้ และต่ำสุดมันก็ได้ขนาดนี้ เป็นแต่เพียงว่าอย่าหยาบ มันผิดเป็นมิจฉาวาจา หรือส่อเสียดคือ พูดแล้ว คำพูดยุแหย่ ให้คนสองข้าง ทะเลาะตีกัน อย่างนี้เรียกว่าส่อเสียด ทำให้เกิดความรุนแรง แม้หยาบก็ไม่เอา ทำให้โกรธได้เหมือนกัน แม้แต่เพ้อเจ้อ คือ พูดไม่เข้าท่า พูดไม่มีเหตุไม่มีผลไม่มีสาระ อันนี้คือคำเพ้อเจ้อ โดยเฉพาะอย่าปดมดเท็จ นั่นแน่นอนอยู่แล้ว นี่คือมิจฉาวาจาสี่ ผู้ดีจะละเว้นเสีย เพราะฉะนั้น คนที่เจริญที่สุด อย่างดีที่สุดจะใช้ปากหอก ตรงที่สุดถูกต้องที่สุด ไม่ปด ไม่ส่อเสียด ไม่หยาบ มีสาระไม่เพ้อเจ้อ นี่คืออาวุธชั้นหนึ่ง ใช้อาวุธชั้นสูง สู้กัน เพราะงั้นในสภา เวลาเขาอภิปราย และประชุมกัน เขาใช้พูดทั้งนั้น มีฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล ก็ว่ากันไปสู้กันไป ใช้ภาษาเป็นอาวุธก็สู้กันไป อย่างนี้เป็นสุดยอดแห่งความเจริญ ไม่มีอะไรที่จะต่ำกว่านี้ สูงกว่านี้อีกแล้ว เพราะงั้นถ้าเผื่อว่าสามารถที่จะใช้ภาษาไม่ให้เป็นมิจฉาวาจาสี่ได้ หนึ่งไม่ปด สองไม่ส่อเสียด สามไม่หยาบ สี่ไม่เพ้อเจ้อ ไม่เป็นมิจฉาสี่นี้ นั่นแหละเป็นการใช้มุขสัตติ เป็นการใช้ปากหอกหรือปากเป็นอาวุธที่เยี่ยมยอด มันต้องสู้กันด้วยแค่นี้ นี่คือ สงคราม อาริยะ ถือว่า รบกันแค่ปาก ในสภาไทย ที่ยังไปเตะยังไปถีบกันอยู่นี้มันไม่เข้าท่า หยาบมากแล้ว สู้กันด้วยภาษาก็พอ และภาษาที่ดี มันอาจจะแรงบ้าง พูดแรงๆ พูดดังๆ ก็ได้ แต่จิตใจ ผู้ดีนั้น จิตใจจะไม่รุนแรง จิตใจจะไม่ทำร้ายทำลายกันเหมือนคนอินเดีย โอ้..เถียงกันเอาเป็นเอาตายเลย เหมือนจะฆ่าจะแกงกัน เสร็จแล้ว ประเดี๋ยวเลิกรา รบกันก็แค่ปากหอก นี่คือสังคมผู้ดี สังคมที่รบกัน แล้วก็เอาอาวุธไปทำลายกัน ไอ้นั่นเก่าแล้ว โบราณแล้ว สมัยนี้เขาไม่ใช้ สมัยนี้เขาใช้สื่อสาร โทรทัศน์ เขาใช้อินเทอร์เน็ต เขาใช้แค่ สื่อภาษา ให้รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกอะไรดีไม่ดี อะไรควรไม่ควร

เพราะฉะนั้นสงครามครั้งนี้นี่ถ่ายทอดไปทั่วโลก ถ้าสงครามครั้งนี้ไม่เกิดความรุนแรงนี่ จะประกาศศักดาของประเทศไทยออกไป ถ้าสงบจบลงด้วยฝ่ายธรรมะ ฝ่ายถูกต้องชนะ แล้วไม่มีเลือดตกยางออก ไม่รุนแรง อย่างดีก็ว่ากันไปว่ากันมา ถ้าทำได้มันจะระบือไกล มีค่ายิ่งกว่าการลงทุนจัดงานโอลิมปิกเป็นไหนๆ ลงทุนเรื่องนี้เจริญกว่ากันเยอะ


 

พระออกมายุ่งกับการชุมนุมในครั้งนี้ให้ วุ่นวายทำไม ?

“...นี่ขอบอกถึงสาเหตุที่ คณะชาวอโศก พากันออกมาชุมนุม ตั้งแต่อาตมาเป็นนักบวช คนก็ว่าพระมายุ่งเกี่ยวอะไรกับการชุมนุม มายุ่งเกี่ยวอะไรกับเขา เขาจะทะเลาะกัน? จริงๆแล้ว พระนี่แหละตัวดีที่ จะต้องห้ามการทะเลาะกัน เพราะพระ หรือเรียก ในภาษา บาลีว่าสมณะ สมณะแปลว่า ผู้สงบ เพราะฉะนั้นถ้าพาซื่อเข้าใจว่า เป็นสมณะคือผู้สงบ ก็คือเป็นนักนั่งสงบ ไปอยู่ที่ไหนๆ ก็ไปเอาแต่นั่งสงบ ก็ไม่รู้ไม่ชี้กะใคร ใครจะเป็นจะตายอย่างไร ใครจะขึ้นม้าลงช้างอะไรก็ว่ากันไป ฉันเป็นสมณะ ฉันสงบแล้วฉันไม่รู้เรื่อง ถ้าสมณะ ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ราวอะไร กับเขาเลย อย่างนี้ก็เป็นสมณะไม่รู้เรื่อง ไม่เอาถ่าน สงบเฉย เหมือน ช้าง ม้า วัว ควาย ที่ก้มหน้า ก้มตา กินหญ้า กินฟาง ไปตามประสา โดยไม่สนใจว่า สังคมเขาจะเป็นยังไง อยู่กับเขากินข้าวเขาด้วยซ้ำนะ เขาใส่บาตรให้กิน เขาหาของดีๆ มาให้กินด้วยซ้ำ แต่เมื่อถึงคราว เขาจะตีกันตาย ฉันไม่เกี่ยว ฉันผู้สงบแล้ว ฉันไม่ยุ่ง นี่คือความเข้าใจผิด ของสังคม มนุษยชาติ ผู้สงบแล้ว ต้องมาช่วยให้เขาเกิดสงบ ไม่ใช่ผู้สงบก็คือผู้อยู่เฉยๆ ใครจะเป็นจะตายยังไงกูต้อง...”เฉย”! อันนี้ใช้ไม่ได้

แต่ถ้ารู้อยู่แล้วว่าอะไรผิดอะไรถูก หาทางมาช่วยกัน เหมือนเป็นผู้พิพากษา ผู้เป็นกลางแล้วก็ควรจะมาช่วยให้เกิด ความสงบ เพราะงั้น บอกว่าสมณะมาทำไม? ก็มาช่วยให้เกิดความสงบ ฟังตรงนี้ให้ชัดๆ สมณะมาที่นี่ไม่ได้มาช่วยตีรันฟันแทงอะไรเลย อาตมาขอบอก อย่างเปิดเผยเลยว่า อาตมาเห็นด้วยในฝ่ายพันธมิตรฯ เห็นด้วยกับฝ่ายประชาชน นี่อยู่ในฝ่ายถูกต้อง อีกฝ่ายหนึ่งผิด อาตมาเห็น อย่างนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น อาตมาเข้าข้างฝ่ายประชาชน เมื่อเข้าข้างฝ่ายนี้แล้ว ก็ไม่ได้มาร่วมตีรัน ฟันแทงให้เกิด ความรุนแรง ไม่ใช่หน้าที่ของสมณะ

หน้าที่หลักของพระคือมาทำให้เกิดความสงบ เราเคยได้มาทำให้เกิดความสงบ ก่อน ๑๙ กันยา ๔๙ อาตมาก็ได้พากันมาช่วยเกิด ความสงบแล้ว เท่าที่เราจะสามารถให้เกิดความสงบได้อย่างไร อาตมาเป็น ศิลปิน อาตมาเรียนมาทางศิลปะ อาตมารู้ว่า ถ้าเรา จะใช้แสง เราจะใช้สีเราจะใช้เส้นอย่างไรให้มันเกิดความรุนแรง ใช้เส้นอย่างไรให้มันเกิด ความสงบ ใช้สีอย่างไรให้มันรุนแรง ใช้แสง อย่างไร ให้มันรุนแรง ใช้สีอย่างไร ให้มันเรียบร้อยสงบ อาตมาเข้าใจ อาตมามาช่วยทำองค์ประกอบศิลป์

เพราะฉะนั้นอาตมามาทำนัจจะ-คีตะ-วาทิตะช่วยภาพให้เกิด เส้น แสงสีสัน อะไรก็ตามแต่เพื่อให้มันเกิดผล สงบลงได้ พยายามทำ ทุกวิถีทาง ไม่ใช่จะมาก่อให้เกิดความรุนแรง แม้งานนี้อาตมาต้องเสียรังวัดนะ ผู้คนที่เขาเข้าใจไม่ได้เขาก็ว่าเอา... ก็ไม่เป็นไร แต่อาตมา ได้มาช่วยทำ ให้เกิดลดความร้อน ลดความรุนแรง ให้เกิดเย็น ให้เกิดสงบ ให้เกิดเรียบร้อยลงไปได้ นั่นคืองานที่อาตมาทำ ซึ่งได้ประกาศมา ตั้งแต่ต้นแล้ว ตั้งแต่โน่นออกไปสนามหลวงครั้งแรก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๙ ก็ได้ประกาศชัดเจนว่า อาตมานี่มาทำหน้าที่ พยายามรักษา ให้เกิดความสงบเรียบร้อย ให้เย็น ไม่ใช่ให้มันร้อน เขาร้อนกัน เราก็ไปช่วยๆๆๆ นี่เป็นหน้าที่ ไม่ใช่ว่ามาช่วยรบมาช่วยตี มาช่วยให้เกิด ความทะเลาะวิวาท หรือทำให้เกิดการรุนแรงเพิ่มขึ้น ไม่ใช่อย่างสุดยอดเลย แต่ถูกเข้าใจผิดไปหมด

ชาวอโศกทั้งหมดนี้ ทั้งฆราวาสและสมณะขอยืนยันว่าเป็นพวกนักธรรมะ เป็นผู้ทำความสงบ ไม่ได้มาแย่งลาภ ไม่ได้มาแย่งยศ ขอยืนยันไม่ได้มาแย่งลาภไม่ได้มาแย่งยศ ไม่ได้มาแย่งสรรเสริญ ถูกด่าด้วย ได้สรรเสริญขี้หมาอะไร ถูกด่าด้วย ไม่ได้มาแย่งอะไร ไม่ได้มาเอาความสุข อะไร ทุกข์จะตายลำบากลำบนจะแย่ ยืนยันว่าไม่ได้มาแย่งลาภแย่งยศ จะได้ยศชั้น ถึงขนาดโจมตีว่า... โพธิรักษ์นี่ อยากจะไปเป็นสังฆราช อยาก จะให้เขายอมรับอย่างนั้นอย่างนี้ อาตมาว่ามาทำงานนี้ไม่ได้ต้องการที่จะ ต้องได้การยอมรับอะไร พวกนี้เลย... ไม่มี มาทำงานเพราะต้องการให้เกิด ความสงบ เพราะนี่มันเกิดเหตุการณ์วิกฤติแล้ว ท่านนายกฯ ประกาศจะจัดการ ขั้นแตกหักแล้ว อาตมาก็เลยต้องพานักบวชออกมากันในเช้าวันนั้น เพื่อจะมาช่วยให้สงบด้วยวิธีใดๆได้ เอ้า ! ก็มาช่วยกัน มันมีรายละเอียดเยอะแยะ พูดไม่หมดหรอก

อาตมาทำเต็มที่ พาคณะชาวอโศกมาร่วมทำด้วย ทำเสร็จแล้วก็กลับ เหมือนอย่างคราวที่แล้วในปี ๔๙ คราวนี้ก็เหมือนกัน ชาวอโศก ก็มาช่วยเต็มที่ เพราะงั้นประชาชนที่มานี่ก็ต้องขอคารวะจริงๆ มาเถิด มารวมกัน ต้องการพลังมวลประชาชน ให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ จะได้พิสูจน์กันจริงๆเลยว่า ใครเป็นพลังประชาชนกันแท้จริง เขาเอาชื่อไปตั้งเรียกพรรคพลังประชาชน แต่เสร็จแล้ว เขาไปรวม พลังประชาชน ด้วยวิธีการฉ้อฉล ด้วยวิธีการสลับซับซ้อน ขี้โกงทุจริตอย่างโน้นอย่างนี้ จนกระทั่ง มีคดี อยู่ในโรงในศาล นานาสารพัด แบบนี้มันไม่สุจริต มันเป็นพลังประชาชนที่ยังไม่จริง

เพราะฉะนั้นพลังประชาชนที่จริงอยู่ที่นี่ พลังประชาชนที่จริงมาที่นี่ มาแสดงออกให้ชัด เพราะพวกที่มานี่ไม่ได้รับจ้างมาใช่ไหม? ไม่ได้ไปรับเงิน รับทองใครมาที่นี่ หรือประชาชนมาที่นี่เดี๋ยวจะได้เป็นรัฐมนตรีกัน ไม่ได้เอายศมาจ้าง ไม่ได้ทั้งเอาเงินมาให้ ไม่ได้มา เอาอะไรกันเลย แต่มาด้วยน้ำจิตน้ำใจ มาด้วยวิญญาณ มาด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นอันนี้คือการแจ้งความจริง ยืนยันความจริง ของพลังประชาชน พลังมวลชนที่แท้จริง จงมา มากันให้มากๆ จนกว่าจะชนะ เหน็ดเหนื่อยหน่อยก็พยายามกัน ชาวอโศก ชาวกองทัพธรรม จะเป็นหลักยืน ตรึงพื้นที่ไว้ คราวก่อนนี่ขัดถูพื้นถนนมาทีหนึ่งแล้วปี พ.ศ.๔๙ ก็ย่านนี้ย่านเดิม พองานเสร็จแล้ว ก็ถูเช็ด ขัดพื้นถนน ให้เรียบร้อย ก่อนกลับบ้าน คราวนี้ก็ขอยืนยัน จะเลิกเป็นคณะสุดท้าย อย่างเดียวกัน...”


 

การออกมาร่วมชุมนุม เพื่อต้องการเผยแพร่
ลัทธิสันติอโศก ใช่หรือไม่ ?

การจะพิจารณาอะไรเป็นสิ่งที่แปลกปลอม(ลัทธิ) หรือของจริง(ศาสนา) ก็คงต้องมาพิจารณากันก่อนว่า พุทธศาสนานั้น มีทิศทางและเป้าหมายเป็นอย่างไร? ซึ่งดูได้จากหลักฐานในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๒๕ พระพุทธเจ้าทรงได้ระบุเป้าหมาย ของการประพฤติพรหมจรรย์เอาไว้ว่า “พรหมจรรย์นี้เราประพฤติ มิใช่เพื่อหลอกลวงใครให้มานับถือ หรือเพื่อเรียกคนให้มาเป็นบริวาร หรือเพื่อลาภสักการะและเสียงสรรเสริญเยินยอ เพื่อจะได้เป็นเจ้าลัทธิ หรือคัดค้านลัทธิอื่นให้ล้มไป หรือเพื่อให้มหาชน เข้าใจว่า เราเป็นผู้วิเศษก็หามิได้ แต่ที่แท้พรหมจรรย์นี้เราประพฤติเพื่อสำรวม เพื่อสังวร เพื่อละหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อดับทุกข์สนิท เพื่อจิตจะหมดกิเลสสนิท ตายอย่างไม่ฟื้นเรียกว่าไม่กลับกำเริบ (อสังกุปปัง เจโตวิมุติ)”

จากเหตุการณ์ชุมนุมของประชาชนในครั้งนี้ ถ้าสมณะชาวอโศกประสงค์จะได้รับความเคารพนับถือ จริงๆแล้วพวกเราไม่ต้องทำอะไร อยู่เฉยๆ ใช้ตีกินว่าเป็นกลาง แล้วพักอยู่วัดอย่างสบายๆ ก็ไม่ต้องมาเสียรังวัดอะไร แถมยังจะได้ความเคารพนับถือ จากทุกภาคส่วน ในสังคมอีกด้วย และเราก็รู้ดีว่า การออกมาร่วมชุมนุมกับประชาชน จะต้องถูกเล่นงานทั้งอำนาจมืดและสว่าง เช่น ไปข่มขู่ชาวบ้าน ให้เลิกใส่บาตร ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่ในสายพุทธแบบเถรวาท ที่เข้าใจว่าพระจะต้องอยู่สงบๆแบบฤาษี จะแยกศาสนาและการเมืองออกจากกันโดยสิ้นเชิง จึงมีคำถาม ที่บอกถึง ความข้องใจ ตามมามากมายว่า พระเข้ามายุ่งอะไร กับเขาด้วย...? ซึ่งจะต้องเจอก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้ เจอคำติฉินนินทาว่าร้าย มากกว่าเสียงสรรเสริญเยินยอ ผลกระทบด้านลบเหล่านี้ สามัญชนทั่วไป ก็พอประมาณได้

แต่ในภาวะที่บ้านเมืองกำลังวิกฤติ เดือดร้อน แสนสาหัสอย่างนี้ เราจะคิดแต่ความสุขสบายของตนเอง แต่ปล่อยให้บ้านเมือง หายนะ ไม่กล้า เปลืองเนื้อเปลืองตัว เพราะกลัวว่า คนจะไม่เคารพนับถือ (รักตัวกู- ของกูอย่างเห็นแก่ตัวมากกว่าความเห็นแก่ผู้อื่นและสังคม) ซึ่งอุดมการณ์ ของพุทธนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อ”ประโยชน์และความสุขแก่มหาชนเป็น อันมาก(พหุชนหิตายะ - พหุชนสุขายะ)” ดังนั้น การอยู่สบายๆ คอยรับลาภสักการะอยู่ในวัด กับการออกมาร่วมทุกข์ยาก กับพี่น้องประชาชน อะไร น่าจะเป็นไป เพื่อประโยชน์ และ ความสุข แก่มหาชนเป็นอันมาก ตาม หลักการของพุทธศาสนา หรืออะไรน่าจะเป็นไป เพื่อประโยชน์แก่ตน และความสุขเฉพาะตน ซึ่งเป็นลัทธิ เข้ามาแอบแฝง ปลอมปนอยู่ในศาสนา ผู้มีวิจารณญาณย่อมตัดสินกันได้


 

จาก จ.เลย...อยากให้พ่อท่านอธิบาย
ในสมัยพุทธกาลมีการเมืองหรือไม่?
เพราะดิฉันฟังการอภิปรายไม่ใว้วางใจ ส.ส.ในสภา นายกฯ สมัคร ถามย้อนกลับ ส.ส.ที่อภิปรายว่า ในสมัยพระพุทธเจ้าน่ะ มี การเมืองหรือยัง?

อาตมาเชื่อว่า นายกฯ ไม่รู้หรอกว่าการเมืองคืออะไร? เพราะฉะนั้นนายกฯ จะต้องตอบว่าในสมัยพระพุทธเจ้าไม่มีการเมือง นี่ที่พูดนี่ หมายความว่านายกฯได้ย้อนถามโดยมุ่งหมายว่า สมัยพระพุทธเจ้าไม่มีการเมือง ขอยืนยันว่าการเมืองคืออะไรนั้นน่ะ นายกฯ ยังไม่รู้หรอก ถ้ารู้ไม่ทำอย่างนี้ ไม่เป็นคนอย่างนี้ เอ้า.. สรุปง่ายๆก่อน การเมืองคืออะไร ?

การเมืองคือการทำเพื่อมวลประชาชน เพื่อบ้านเพื่อเมือง นั่นคือ การเมือง ไม่ใช่เพื่อพรรคของกู ไม่ใช่เพื่อหมู่ฝูงของกู ไม่ใช่เพื่อ ครอบครัวของกู ไม่ใช่เพื่อตัวกู นั่นยิ่งสุดแย่เลย การทำงานเพื่อตัวเรา ตัวกู ไม่ใช่การเมืองเด็ดขาด ฟังนิยามตรงนี้ให้ชัด เอาตรงนี้ ก่อนเลย การเมืองคือการทำเพื่อผู้อื่น เพื่อประชาชนทั้งมวล เพื่อประโยชน์ของคนอื่นเขา นี่คือการเมือง ที่พระพุทธเจ้า พาทำ พระพุทธเจ้า นี่สุดยอดของการทำ เพื่อคนอื่น ท่านหมดตัว หมดตน หมดกิเลส เพื่อตัวเพื่อตน ทำเพื่อผู้อื่นทั้งนั้น พระโพธิสัตว์ รู้เรื่องนี้ดี ถึงได้ตั้งใจ ที่จะมาทำงานรื้อขนสัตว์ คือมาช่วยคนอื่น ให้หลุดพ้น ช่วยสัตว์อื่น ให้พ้นทุกข์ ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเลย นั่นคืองานการเมือง ทำเพื่อผู้อื่น ทำเพื่อปลดปล่อย ความเห็นแก่ตัว เพื่อความเท่าเทียมกัน ในความเป็นคน ความมีสิทธิเสรีภาพ นี่คือ งานการเมือง พระพุทธเจ้าทำแล้ว

ประเด็นที่สอง การเมือง ที่ชื่อว่า ประชาธิปไตยคืออะไร ? ประชาธิปไตย คือ การเมืองที่ให้อิสรเสรีภาพกับประชาชน และเพื่อ ประชาชน โดยประชาชน เพราะฉะนั้น จะต้องเอาความเห็น ของประชาชนเป็นหลัก จึงเรียกว่า อธิปไตย หรืออำนาจเป็นใหญ่ เป็นของประชาชน ให้ประชาชนเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าทำแล้ว ปลดแอกในยุคทาส คนยังไม่มี อิสระเสรี ท่านปลดความเป็นทาส ให้เป็นไท อาตมา เคยยืนยัน หลักฐาน จากพระไตรปิฎกมาแล้ว พระพุทธเจ้าทรงปลดคนที่เป็นทาสเมื่อมาอยู่ในธรรมวินัย หรือในธรรมนูญของท่าน ก็จะได้ อิสรเสรีภาพ ปลดเปลื้องจากความเป็นทาส แม้แต่คนมีวรรณะกษัตริย์ -พราหมณ์ -แพศย์ -ศูทร -จัณฑาล เมื่อมาอยู่ ในศาสนาของท่าน ในธรรมนูญของท่าน ก็จะถูกปลดปล่อย จากชั้นวรรณะ ทุกคนจะมีสิทธิเท่าเทียมกัน อยู่ในสังคมของท่าน เป็นอิสร เสรีภาพ หนึ่งคนหนึ่งเสียง อยู่ในที่ประชุม ไม่ว่าจัณฑาล ไม่ว่ากษัตริย์ มีสิทธิ์เท่าเทียมกัน นี่คือประชาธิปไตย นี่คือการเมืองชั้นยอด

พระพุทธเจ้าสามารถทำในขณะที่สังคมเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นสังคมทาสแท้ๆ ท่านตั้งรัฐอิสระได้ อย่างอิสระเสรี ไปที่รัฐไหน ไปที่แคว้น ไหนๆๆๆ พระเจ้าแผ่นดินแต่ละแคว้นแต่ละรัฐยอมให้ท่านมีรัฐอิสระ ท่านประกาศ ธรรมนูญของท่าน ใครมาอยู่ ในธรรมนูญ ของท่าน พระเจ้าแผ่นดินแต่ละรัฐยอมหมด สุดยอด นี่คือการเมืองไหม ? เพราะฉะนั้น คนที่ไม่รู้คำว่า การเมือง ที่เป็นประชาธิปไตย ก็จะไม่รู้ว่ายุคพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าได้ทำประชาธิปไตยอย่างยิ่งแล้ว ทรงปลดปล่อย ให้อิสรเสรี ภาพ เห็นแก่ประชาชน อย่างสุดยอด พระพุทธเจ้านี่แหละ ยอดนักการเมือง

ศึกษากันดีๆ มันมีนัยสำคัญ แม้คำตรัส เช่น “ในที่ประชุมใดไม่มีสัตบุรุษ ที่ประชุมนั้นไม่ชื่อว่าสภา ชนเหล่าใด ไม่พูดเป็นธรรม ชน เหล่านั้น ไม่ชื่อว่าสัตบุรุษ” นี่ก็เป็นหัวใจสำคัญ ที่ลึกซึ้งของประชาธิปไตย

“อปริหานิยธรรม ๗ ...หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ...พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจ ที่พึงทำ ...ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้ ถือปฏิบัติมั่นตาม วัชชีธรรม(หลักการ)ตามที่วางไว้เดิม ... ฯลฯ” อันเป็น วิธีของสภา ใช้ องค์ประชุม เป็นวิธีการ ระดมมันสมองร่วมกัน ใช้นิติบัญญัติเป็นหลัก นี่ก็เป็นการเมืองประชาธิปไตย ชัดๆ

“อธิกรณสมถะ ๗” ก็คือ หลักนิติศาสตร์อันสำคัญที่เป็นประชาธิปไตยยิ่งยอด ไม่ว่าจะเป็นสัมมุขาวินัย ยิ่งเป็นสติวินัย ยิ่งสุดยอด ไม่ว่าอมูฬหวินัย ที่ไม่เอาผิดกับคนบ้า ไม่ว่าการตัดสินตามจำเลยสารภาพ ปฏิญญาตกรณะ หรือแม้แต่ หลักการตัดสินกัน ด้วยคะแนน เสียงข้างมาก คือ เยภุยยสิกา ก็เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่งมั้ย ตัสสปาปิยสิกาก็ดี ติณวัตถารกวินัยก็ดี ล้วนเป็นวิธีการ นิติศาสตร์ อันเป็น ประชาธิปไตย ที่พระพุทธเจ้าทรงสร้างมา แต่ยุคโน้นแท้ๆ

ยิ่งเรื่อง”นานาสังวาส” นี่ยิ่งเป็นการให้อิสระเสรีขั้นสูงสุดสำหรับสิทธิมนุษยชนทีเดียว เป็นบัญญัติหลักการอันยิ่งใหญ่ ที่เปิดทาง ให้มนุษย์ แยกกันปฏิบัติ ด้วยทางออกสุดท้าย เมื่อต่างเกิดความเห็น อันสุดวิสัยในสิทธิ แห่งความคิดความเชื่อของคน ซึ่งแสดงถึง พระปัญญาธิคุณ ในเรื่องของ ประชาธิปไตย ที่สูงส่งลึกล้ำ ยิ่งยอดที่สุด นี่คือ การเมืองของพระพุทธเจ้า เป็นแบบวิธีของสังคม ของบ้านของเมือง ที่พระองค์บัญญัติไว้ ให้แก่มวลมนุษย์

แม้แต่หลักสำคัญ ”พหุชนหิตายะ..เพื่อประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ -พหุชนสุขายะ..เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ - โลกานุกัมปายะ.. เพื่อช่วยเหลือเกื้อ กูลโลก” ก็ยิ่งยืนยันสุดยอดแห่งเนื้อแท้ของศาสนาพุทธ ว่าเป็นประชาธิปไตย อย่างสุดวิเศษ


 

การเมืองใหม่ ในทัศนะของ พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์

ตอนนี้มีคำว่า “การเมืองใหม่” เกิดขึ้น การเมืองอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เป็นการเมืองอย่างเก่า การเมืองอย่างโบราณ การเมืองที่เคย ย่ำอยู่ในน้ำเน่านี้ มานานตั้ง ๗๖ ปี แล้ว เป็นการเมืองที่ยัง ล่าลาภ ล่ายศ ล่าสรรเสริญ อยู่ใต้อำนาจของโลกธรรม อยู่ใต้อำนาจ ลาภยศ สรรเสริญ โลกียสุขอยู่อย่างนั้น เป็นการเมืองอยู่ในวังวนของโลกีย์ ในโลกยัง ไม่มีประชาธิปไตย ที่ลึกซึ้ง ละเอียด เหมือนที่ พระพุทธเจ้า ท่านทำ มีแต่ ประชาธิปไตยเปลือกๆ ประชาธิปไตยเพียงแค่รูปวัตถุธรรม ประชาธิปไตย แบบโลกๆโลกียะ เป็นการเมือง อยู่ในวังวน ของโลกีย์ ไม่เป็นประชาธิปไตย แบบโลกุตระ หรือประชาธิปไตย แบบอาริยชน ที่พ้นไปจากโลกีย์ หรือ ไม่ตกเป็นทาส ของโลกีย์

เดี๋ยวนี้นี่ประชาธิปไตยของโลก ที่มีอยู่ในประเทศนั้นประเทศนี้ ก็ตาม อาตมากล้าพูดได้เลยว่า ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ได้เท่าเทียมกับ ของพระพุทธองค์

อาตมานิยามการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเอาไว้ว่า

“งานการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยแท้นั้น เป็นงานที่ไม่ใช่งานเพื่อ ตัวเรา ไม่ใช่งานเพื่อครอบครัว ไม่ใช่เพื่อหมู่พวก เพื่อพรรคของตน ไม่ใช่การเมืองที่แสวงหาประโยชน์เพื่อตัวเอง เพื่อพรรคพวกของตนเองแคบๆ แต่ทำเพื่อประชาชนทั้งมวล ประชาธิปไตย ต้องทำเพื่อ ประชาชนทั้งหลาย” เพราะฉะนั้นในเนื้อแท้ ของการทำงานการเมือง ถ้าไปอาสาสมัคร หรือ ไม่อาสาสมัครก็ตาม ถ้าคุณจะทำงาน การเมืองเมื่อใด นั่นคือ ต้องทำ เพื่อบ้านเพื่อเมือง ไม่ใช่เพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว เพื่อพรรคเพื่อพวกของตน ต้องเพื่อมวลประชาชน เพราะฉะนั้นใครจะเอางานการเมืองมาเป็นงานอาชีพเพื่อเลี้ยงตัวเองไม่ได้ งานการเมือง ไม่ใช่งานอาชีพ ทำเพื่อเลี้ยงตัวเอง หรือ เลี้ยงพรรคพวก นี่เป็นนัยะสำคัญที่จะต้องเข้าใจประเด็นนี้ให้ได้

แล้วการเมืองประชาธิปไตยของพระพุทธเจ้านั้น เป็นการเมืองชนิดไหนล่ะ ? อาตมากล้ายืนยันว่าเป็นการเมืองที่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ไม่ได้ให้เกิดจิตวิญญาณ เพื่อมาเห็นแก่ตัวเอง เห็นแก่พรรคพวก เห็นแก่หมู่ฝูง เห็นแก่กรอบแคบๆ แต่ต้องเห็นแก่มวลประชาชน เห็นแก่มวลมนุษยชาติ ตามที่ท่านประกาศแล้วว่า “พหุชนหิตายะ -พหุชนสุขายะ -โลกานุ กัมปายะ” นี่คือประชาธิปไตยเนื้อแท้ และทรงแนะนำลูกศิษย์ลูกหาท่าน เช่นพระอรหันต์และสงฆ์ทั้งมวล พระพุทธเจ้าท่านก็ส่งให้ไปประกาศศาสนาของท่าน ประกาศแนวคิด แนวประพฤติปฏิบัติแบบของท่านนี่แหละ ท่านประกาศจุดมุ่งหมายเลยว่า “เพื่อมวลมนุษยชาติ” (พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ) ให้ไปช่วยเกื้อกูลคนอื่นๆเขา (โลกานุกัมปายะ) ไม่ได้ไปเอาเปรียบเอารัด ไม่ได้ไปแสดงอำนาจเบ่งข่ม ที่จะต้องการอะไร แลกเปลี่ยนคืนมา มีแต่เสียสละ โดยมุ่งมั่นให้คนเรียนรู้ อบรมปฏิบัติฝึกฝน เกิด”ภาวะ เพื่อมวลมนุษยชาติ อย่างเป็นจริง” มั่นคงยั่งยืน เป็นมรรคผลแท้ๆด้วย

การเมืองชนิดนี้เป็นการเมืองชนิดเยี่ยมยอด อาตมาพยายามที่จะให้ประชาชน ซึ่งคนไทยนี่เป็นชาวพุทธ ๙๕ % พยายามพากเพียร จะให้ ปฏิบัติธรรม ของพระพุทธเจ้า เมื่อปฏิบัติแล้ว จะได้มรรคได้ผลและจะเป็นชาวประชาธิปไตย ในแบบของพระพุทธเจ้า เป็นการเมือง ชนิดของ พระพุทธเจ้า การเมืองชนิดนี้แหละที่อาตมาจะพูดวันนี้ เรียกว่าการเมืองใหม่ ตามภูมิของอาตมา ที่ไม่ได้จบรัฐศาสตร์หรอก การเมืองของ พระพุทธเจ้านั้น เป็นการเมือง ไม่ใช่แค่มารยา ไม่ใช่แค่กดข่ม ไม่ใช่แค่มารยาทสังคม หรือเพื่อสร้างภาพให้ดูดีดูงาม แค่มารยาท ข้างนอก แต่ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นความจริงจากข้างใน ไม่ใช่มารยาท ไม่ใช่มารยา แต่เป็นความเป็นจริงทั้งนอกทั้งใน เป็น ความเป็นจริง ออกมาจากจิตใจ ความเป็นจริงตรงนั้นคืออะไร ? คือการได้ ทำงานรับใช้ปวงชนจริงๆ เพื่อประโยชน์ และความสุข ของมนุษยชาติจริงๆ (พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ) เพื่ออนุเคราะห์ช่วยเหลือเกื้อกูลโลกจริงๆ (โลกานุกัมปายะ) ด้วยการทำจิต ให้สะอาดบริสุทธิ์ ไม่ให้มีกิเลสแฝงในใจ เป็นอุดมคติ และอุดมการณ์สุดยอด สู่ภาวะโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี จนเป็น พระอรหันต์ จะไม่มีอคติ อะไรเลย เป็นพระอรหันต์จะมีแต่ทำ ประโยชน์เพื่อประชาชน ๑๐๐% ไม่มีต้องการอะไร แลกเปลี่ยนคืนมา อาตมา ขอยืนยันว่า เป็นประชาธิปไตย ที่ไม่เหมือนที่ใดๆในโลก จึงเรียกว่าการเมืองใหม่ จะเรียกว่า นวัตกรรมเลยก็ได้ เป็นอินโนเวชั่นแท้ๆ การเมืองแบบนี้ดูจะเป็นคนละเรื่องกัน แต่จริงๆแล้ว อาตมาก็ว่า ทางรัฐศาสตร์ที่เขาศึกษากันอยู่นี่ อุดมคติทางการเมือง ประชาธิปไตย ที่เขาศึกษา อาตมาก็ว่า เขาคงจะมีแนวคิดอย่างนี้แหละ ก็คงจะไม่ต่างกันกับที่พระพุทธเจ้าได้สร้างสังคม ที่เป็นสังคมแบบ ประชาธิปไตย ของพระองค์ อาตมาก็ว่าคงไม่ต่างกัน ที่สำคัญของท่านมีธรรมาธิปไตยแท้ และเป็นโลกุตระสำเร็จจริง อาตมาเชี่อว่า การเมืองใหม่ ถ้าได้คนที่มีคุณสมบัติ เป็นไปได้ ตามที่อาตมาประมวลมา ๑๐ ข้อ จะมากหรือน้อย จะเข้มข้นหรือว่าไม่ เข้มข้นนัก ดีไม่ดีนัก ก็ตาม แต่เป็นลักษณะนี้แหละ อาตมาว่า นี่จะเป็น การเมืองใหม่ เป็นประชาธิปไตยแท้ๆ


 

การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยแท้ๆ

๑. การเมืองต้องมีคุณธรรมและเป็นกุศล ต้องเป็นคุณงาม ความดี เป็นความเฉลียวฉลาด(กุศล) เพื่อมวลมนุษยชาติ

๒. นักการเมืองต้องรู้จักประชาธิปไตยที่แท้ มีอิสรเสรีภาพที่ นำไปสู่คุณภาพคุณธรรมเพื่อให้อำนาจความเป็นใหญ่เป็นของประชาชน ไม่ใช่อำนาจใหญ่ เป็นของตัวกู

๓. นักการเมืองต้องสอนหรือเผยแพร่ประชาธิปไตย ให้กับประชาชน ประชาชนก็ต้องขวนขวายศึกษาความเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ ว่านักการเมืองครอบงำทางความคิดประชาชน แล้วก็ทำให้ประชาชน งมงายหรือว่าโง่ไปเรื่อยๆ แล้วก็จะได้ประชานิยม เอาประชาชน เป็นบริวาร

๔. นักการเมืองต้องเป็นผู้พึ่งตนเองได้แล้ว มีความรู้ความสามารถเลี้ยงตนได้แล้ว

๕. นักการเมืองต้องเป็นผู้มักน้อยสันโดษ ต้องเป็นคนจน รู้จักพอ ไม่สะสม ซึ่งเราได้บทเรียนราคาแพง จากคนรวยแล้วไม่โกงมาแล้ว

๖. นักการเมืองต้องไม่ทำงานการเมืองเป็นอาชีพหากิน โดยพ้นมิจฉาชีพทั้ง ๕ คือ ๑.โกง(กุหนา) ๒.พูดหลอกลวง (ลปนา) ๓.ตลบตะแลง (เนมิตกตา) ๔.ยอมมอบตนในทางผิด(นิปเปสิกตา) และ ๕.เอาลาภแลกลาภ(ลาเภนะลาภัง นิชิคิงสนตา) เช่น หมูไป ไก่มา จะพ้นจากมิจฉาชีพ ข้อที่ ๕ ได้ ก็ต้องทำงานฟรี โดยไม่มีรายได้ เงินเดือนตอบแทน

๗. นักการเมืองต้องเป็นงานอาสาเสียสละ อาสาหมายความว่า เราเข้าไปเสนอตัว ขอทำงานนั้น โดยไม่ได้ทำงาน เพื่อที่จะเรียกร้อง เอาอะไรตอบแทน จึงจะเป็นการอาสาเสียสละ

๘. นักการเมืองจะต้องไม่มีอคติ คือไม่มีความลำเอียงในใจไม่อคติลำเอียงเข้าข้างตัวเอง ไม่อคติเข้าข้างหมู่ฝูงตัวเอง ไม่อคติ เข้าข้าง ครอบครัวตัวเองแคบๆ ไม่อคติเข้าข้างพรรคพวกตัวเอง

๙. นักการเมือง คือ ผู้มีอิสระแท้จริง ไม่เป็นทาสโลกธรรม

๑๐. การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่งานเพื่อตัวเรา เพื่อครอบครัว เพื่อหมู่พวก เพื่อพรรค แต่เป็นงานเพื่อบ้านเมือง เพื่อประชาชน ทั้งมวล เพื่อผู้อื่น ที่พ้นไปจากตัวเอง พ้นไปจากครอบครัว พ้นไปจากหมู่พวก แม้แต่พ้นไปจากพรรคของตน

แล้วการเมืองใหม่อันนี้นี่ จะมีคนไปทำเหรอ ? จะมีคนชนิดนี้ไปทำเหรอ ? นี่เป็นประเด็นที่จะสงสัยกัน มันไม่ใช่ว่าจะไม่มีหรอก แต่มันยัง ไม่เคยมี อาตมาพูดตรงๆ อย่างนี้มันไม่เคยมีนะ มันมีแต่มารยา ประเทศอื่นๆ ใดๆ ที่เป็นประชาธิปไตยนี่ ได้เพียงแค่มารยาท เสแสร้ง สร้างภาพ โม้ว่าทำเพื่อประชาชน เพื่ออะไรต่ออะไร ที่แท้มันก็ไม่ได้พ้นไปจากโลกีย์มันยังเพื่อตัวเพื่อตน เพื่อหมู่กูพวกกู อยู่ทั้งนั้นหละ เป็นแบบทุนนิยม และก็เป็นพรรคเป็นพวก เพื่อพรรคของตน แล้วก็ใช้อำนาจเพื่อพรรคพวก เพื่อตัวกูของกูอยู่ มันยังไม่ใช่ ประชาธิปไตย ที่งดงาม ยังไม่ใช่ประชาธิปไตย ที่บริบูรณ์ ถ้าประชาธิปไตย ตามคุณสมบัติ ของพระพุทธเจ้าอันนี้เกิด เป็นไปอย่างหมดตัว หมดตน เพื่อมวลมนุษยชาติ ที่แท้จริงนี่นะ นี่เป็นการเมืองใหม่

อาตมาขอสรุป ตรงนี้เป็นนิยามชัดๆ ว่าการเมืองใหม่จะเป็นแบบนี้ ซึ่งจะไม่มีไม่เหมือนที่มันเคยมีมาในโลกหรือ มีอยู่ในโลก และ จะเกิดได้ไหม เกิดได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ได้ ๙๐%, ๘๐%, ๗๐%, ๖๐% ก็เอา ก็ดีกว่าการเมืองอย่างที่มันเป็นอยู่นี่ มันยังมีตัวมีตน เพื่อตัวกู ของกูอะไรอยู่เต็มที่ อย่างน้อยก็ให้มันมีมารยาทสังคมบ้างว่ามันไม่ใช่เพื่อตัวตน แม้จะเป็นแค่มารยาท หมายความว่า กิเลส มันยังมี แต่เขาต้องมีมารยาทสังคมข้างนอก อย่างประธานาธิบดีของบางประเทศ เขาผิดนิดหน่อยเขาลาออก ไม่ใช่เขาไม่มีกิเลส เขาก็มีกิเลส แต่เขาใช้มารยาท ใช่มั้ย นั่นแหละ อาศัยอันนั้นก่อน แต่ถ้าเป็นคนจริง ไม่มีกิเลสจริง ไม่มีตัวตนจริง แล้วมันจะวิเศษมั้ย ใช่ไหม ? เพราะฉะนั้น เราก็สร้างคนไปด้วยให้หมดกิเลสไปตามทฤษฎีของพระพุทธเจ้า เชื่อไหมล่ะว่า ทฤษฎีของพระพุทธเจ้า ล้างกิเลส ได้จริง เชื่อไหมล่ะ เอ้าเชื่อก็.. พัฒนาขึ้นไปสิ กี่ปีก็เอา ที่สำคัญปฏิบัติธรรมต้องจริง

การเมืองใหม่ ก็คือการเมืองที่จะต้องมีศีลธรรม เป็นตัวหลัก การเมืองใหม่นี่ เป็นการเมืองที่มีศีลธรรมเป็นตัวหลัก เป็นคนมีศีล มีธรรม เป็นตัวหลัก และจะทำยังไงจึงจะให้เป็นอย่างนั้นได้ ก็ให้คนปฏิบัติศีล ปฏิบัติธรรมให้ได้จริงๆสิ ต้องมาส่งเสริมอันนี้ ต้องมาพากเพียร อันนี้จริงๆ ถ้าปฏิบัติธรรมะของพระพุทธเจ้าถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิเลย ปฏิบัติไปแล้ว จิตวิญญาณ ถูกสำรอก หรือกำจัดกิเลส ออกไป จากจิตใจจริงๆ ในทฤษฎีต่างๆ ในหลักเกณฑ์ต่างๆของพระพุทธเจ้านั้น นอกจากจะ ล้างกิเลสตัวเองแล้ว ยังสร้างสมรรถนะ สร้างโลกวิทู เรียนรู้โลก ไม่ได้หนีโลก เรียนรู้ว่าโลก สังขารโลก เป็นยังไง โลกเขาปรุงแต่งยังไง เขามี องค์ประกอบยังไง เขามีการ ยึดถือยังไง เขาเป็นไปยังไง เรียกว่าโลกวิทู สามารถรู้เท่าทันโลก รู้แจ้งโลก โลกเขาเป็นยังไง รู้แจ้งเข้าใจเขา แต่เราไม่ได้ หลงใหล ได้ปลื้ม หรือว่าไม่ได้หลงวนเวียนวุ่นวายอะไรไปกับเขา มีแต่จะเข้าไปช่วยเขา แก้ไขมุมนั้น ประเด็นนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ อะไรปลดปล่อย ทำให้เบาบาง ทำให้เรียบร้อย ทำให้เป็นอยู่สุข ช่วยโลกเขา(โลกานุกัมปา) ช่วยเหลือเฟือฟาย ที่จะทำการเมือง อย่างที่อาตมากล่าว สิบข้อนี่ แม้ยัง ไม่ได้บรรลุธรรมขั้นสูง คนบรรลุธรรมนี่ บรรลุจริงๆ นะ แต่ศาสนาพุทธ ทุกวันนี้ สอนเพี้ยนไป จนกระทั่ง คนไม่เข้าใจ และคน ก็ไม่เชื่อ เลยเข้าใจผิด ว่า คนที่บรลุธรรมคือคนประหลาดๆ คือคนที่วิเศษ โดยไม่เกี่ยวกับสังคมโลก

ขอยืนยันว่าคนบรรลุธรรมตั้งแต่โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และอรหันต์ก็ตาม ไม่ใช่คนที่มีอะไรลึกลับวิเศษมหัศจรรย์ เป็นแบบ ที่คุณเชื่อคุณคิดฝันเอาไว้ ตามที่ได้เข้าใจเพี้ยนมาเรื่อยๆ นานแล้ว อาริยะ โสดาฯ สกิทาฯ อนาคาฯ อรหันต์ หลักเกณฑ์ตรวจสอบ มีหมด เป็นคนลด ละอย่างนั้นอย่างนี้ได้ขั้นนั้นขั้นนี้ อย่างนั้นอย่างนี้ อาตมาคงจะไม่ลงลึกในหลักธรรม ที่อาริยะ แต่ละรูปท่านเป็น แต่ละฐานะ สรุปง่ายๆ อาริยบุคคล คือผู้ที่ลดกิเลสตนเอง จนกระทั่งไม่เห็นแก่ตัว เป็นโสดาบันไม่เห็นแก่ตัว ได้ส่วนหนึ่ง สกิทาคามี ก็สูงขึ้น อนาคามี ก็ยิ่งไม่เห็นแก่ตัวมากขึ้น อรหันต์ ก็ไม่เห็นแก่ตัวเลย แต่เห็นแก่ผู้อื่น เป็นผู้ที่มีคุณค่าต่อโลก โลกานุกัมปา หรือ พหุชนหิตายะ เป็นคนทำประโยชน์ แก่มวลมนุษยชาติ อย่างแท้จริง นี่เป็นลัทธิของพุทธ นี่เป็นศาสนาพุทธ เพราะฉะนั้น ผู้เจริญ ไปตามลำดับจริงนี่ จะเป็นคน ที่ทำงาน จะเป็นคนช่วยโลก ช่วย มวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น จึงมาทำงาน บริหาร รับใช้ ประชาชน หรือปกครอง บ้านเมืองดีที่สุด แต่คนเข้าใจผิดมาก เขาไล่ธรรมะออกจากการเมือง ไล่พวกนักปฏิบัติธรรม ไป๊... ไปอยู่ป่า อยู่เขา อยู่ถ้ำ อย่ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง การเมืองจะปู้ยี้ปูยำเลวลงไปชั่ว ลงไปทำบาป ทำชั่วอะไรกันยังไง ก็ทำไปเถอะ ปู้ยี่ปู้ยำไปเลย การเมืองจึงเหลวแหลก

ขอยืนยันอีกว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะของมนุษยชาติ เป็นธรรมะของสังคม ไม่ได้เป็นธรรมะ ที่บรรลุแล้ว ก็ทิ้งคุณค่าคน ไปเปล่าๆ เสียคนโดยไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อมวลมนุษย์ ได้แต่ไปนั่งหลับหูหลับตา ไปนั่งเดี่ยวๆ ดายๆ อยู่ในป่าเขาถ้ำ ไม่เกี่ยว ไม่ข้องกับอะไร แล้วเขาก็นิยมนับถือเป็นพระผู้บรรลุธรรม ถือว่าเป็นพระกรรมฐาน เป็นพระปฏิบัติ เสร็จแล้วก็นั่งนิ่ง เอาแต่หลับตา ใครมาก็หลับตา ไม่ค่อยพูดค่อยจา โอ้.. ท่านสงบ ท่านไม่ติดอะไรเลย มันมีเหมือนกันแบบฤาษีน่ะ มันมีจริงๆ มันเป็นได้ แต่มันไม่ใช่ แบบพุทธ ไม่ใช่ของพุทธ ของพุทธนี่จะต้องมี... ๑. โลกวิทู รู้จักโลก รู้เท่าทันโลก รู้จักสังคม เข้าใจประชาชน

๒. โลกุตระ มีจิตที่เหนือโลก มีจิตที่อยู่เหนือสังคม เหนืออิทธิพลของโลก แล้วก็หลุดพ้นโลกีย์จริง ไม่เป็นทาสโลกธรรม

๓. โลกานุกัมปา มีชีวิตที่ช่วยเกื้อกูลอนุเคราะห์โลก เอ็นดูต่อสัตว์โลก มีประโยชน์ช่วยเกื้อกูล ต่อมวลมนุษยชาติ มีความกรุณา ช่วยให้เขาพ้นจาก ทุกขอาริยสัจ ตามจริง เป็นคนทำงานให้แก่มนุษย์ เป็นผู้รับใช้สังคม อย่างแท้จริง น่าเสียดายที่อธิบายกันไว้ผิดๆ และก็ทำให้เข้าใจ ศาสนาพุทธผิดไปเลย ศาสนาพุทธจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ เท่าที่ควร ทั้งๆที่พุทธ มีคุณลักษณะสำคัญ ๕ ประการ ที่จะทำให้คน เป็นประชาธิปไตยได้สมบูรณ์ที่สุด คุณลักษณะ ๕ ประการ คือ

๑. อิสรเสรีภาพมาที่หนึ่ง คนบรรลุธรรมคือผู้มีอิสรเสรีภาพ ถึงขั้นไม่เป็นทาส แม้แต่ตัวเอง พ้นความเป็นทาสแม้แต่จิตที่เหลือของตนเอง เพราะฉะนั้นถ้าจะว่า จริงๆแล้ว หากกล่าวโดยโวหาร คนที่เป็นประชาธิปไตย ที่เต็มที่สุด หรือคนที่เป็นอิสระที่สุด นั่นก็คือ คนเป็น ทาสของ ประชาชน หรือทาสรับใช้ประชาชน ผู้ที่พ้นจากความเป็นทาสของตัวเอง จึงมีอิสระ เสรีภาพสูงสุด จึงสามารถ เป็นทาส ประชาชน แท้จริง นั่นคือ รับใช้ประชาชนด้วยภูมิปัญญาให้ดีที่สุด ไม่รับใช้ชนิดเลวร้าย ทุจริต ขี้โกง คนที่ไม่เข้าท่า เราไม่เป็นทาส รับใช้คนเหล่านั้น เรารับใช้ประชาชนส่วนใหญ่ ประชาชนที่ ดีๆ นี่เป็นอิสรเสรีภาพของเราที่จะเลือกทำ ยิ่งเราทำ โดยไม่ได้ต้องการ สิ่งแลกเปลี่ยน ไม่ได้รับจ้าง ไม่ได้ต้องการอะไรตอบแทน เป็นอิสระของเรา เราจะทำให้ใครก็ได้นี่ ก็เราไม่ได้ การันตี ไม่ได้มีสัญญิง สัญญาอะไร กับใครว่า ถ้าเราจะทำจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ตอบแทนอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่มี ทำให้ฟรี เพราะฉะนั้น จะเลือกทำ กับใครก็ได้ ที่สมควร มีอิสระ เสรีภาพ

๒. ภราดรภาพ ทำให้เกิดการเลี้ยงดูกัน ไม่ให้เกิดการเป็นศัตรูกัน ให้เกิดความเป็นพี่เป็นน้องกัน พึ่งพาอาศัยกัน รักกัน เคารพกัน สงเคราะห์กัน ไม่วิวาทกัน ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ทั้งนั้นเลย

๓. สันติภาพ สงบเรียบร้อยราบรื่นง่ายงาม อาตมาออกแบบคำความให้สันติภาพไว้เป็นชุดเลยว่า สงบ -เรียบร้อย -ราบรื่น -ง่าย -งาม

๔. สมรรถภาพ มีฝีมือ มีความสามารถ มีความขยันหมั่นเพียรสร้างสรรอยู่ ไม่งอมืองอเท้า ไม่เอาเปรียบเอารัด หนีงานหนัก สมัครงาน สบาย อะไรอย่างนี้ไม่เอา เป็นคนที่ไม่กลัวงานหนัก เป็นคนอดทน หนักเอาเบาสู้ ไอ้เบานั่นมันสู้อยู่แล้ว หนักก็เอานะ จึงเป็นคน มีสมรรถภาพ

๕. บูรณภาพ เป็นคนที่ดูแลแก้ไขพัฒนา เติมสิ่งพร่องให้เต็ม อยู่ตลอดเวลา เป็นคนที่ทำให้มันสมบูรณ์ครบครันอยู่เสมอ (integrate) จนเรียกว่า บูรณภาพ (Integrity) อะไรที่ยังบกพร่องก็ต้องทำให้มันดีขึ้นๆ จนสัมบูรณ์ให้ได้(integrate) เพราะเข้าใจ หลักสัจจะของ อนิจจัง “ความไม่เที่ยง” ได้ละเอียดสัมบูรณ์ดี แม้เราไม่ทำชั่วบาปแล้วอย่าง”เที่ยง” ไม่ทำบาปทั้งปวงอีกแล้ว แต่เราก็ต้อง ทำความดี ทำบุญให้”ไม่เที่ยง”ด้วย นั่นคือ ทำบุญหรือความดีอีกๆๆๆ ไม่ใช่ดีอยู่”เท่าเดิม”(เที่ยง) แต่ให้เจริญยิ่งๆ อยู่เสมอ ไม่สันโดษ ในกุศลนั่นเอง ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ก็ เป็นผู้ไม่สันโดษในกุศล จึงจะชื่อว่า บูรณภาพ (Integrity) สูงสุดเป็นอันติมะ

นี่เป็นคุณลักษณะ ๕ ประการ ที่จะต้องเป็นไปได้ และเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ

มีการถกเถียงกันอยู่ว่า การเมืองใหม่นั้นน่ะ ไหนลองออกแบบมาดูซิ นี่พูดกันอย่างภาษาสมัยใหม่กันเลยนะ... อาตมาว่า อย่าไป ออกแบบมันเลย มันออกแบบการเมืองใหม่นี้ไม่ได้หรอก คุณไม่ใช่พระเจ้า คุณจะมาออกแบบให้น่ะ มันไม่ได้ แบบมันจะเกิด ตามธรรมชาติเอง ขอให้คุณรู้จักอุดมคติก็แล้วกัน แล้วรู้จัก การฆ่าต้นตอของเหตุ ที่มันพาไปเสื่อม พาไม่เจริญน่ะ คือ รู้จักกิเลส ตัณหา อุปทาน ให้ได้ ถ้าฆ่ากิเลส ตัณหา อุปทานได้ คุณจะเป็นนักการเมืองที่ดี การเมืองจะดีมันอยู่ที่”คน”ต้องดี

เพราะศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้เป็นคนอยู่ป่า - เขา -ถ้ำ แต่สอนให้คนรู้จักสังคมได้ดี มีโลกวิทู เรียนรู้สังคม สังคมเป็นอย่างไร มีการปฏิบัติอะไร ประพฤติอะไร มีวิธีการที่จะทำอะไร ยังไงกับสังคม ปฏิบัติอะไร กิจอะไร การอะไร รู้ ฉะนั้น ความรู้อันนั้น ที่ปราศจาก ความลำเอียง ปราศจากความเห็นแก่ตัว เป็นงานที่เราจะทำอย่างไม่อคติ อย่างไม่เห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่สังคม มวลมนุษยชาติจริง นั่นแหละงานการเมืองที่บริสุทธิ์สะอาด งานการเมืองที่มันค่อยๆ มีรูปมีแบบ ยกตัวอย่างเช่น การชุมนุมเนี่ย ทุกวันนี้ อาตมาเห็นว่า การชุมนุม ประท้วงเนี่ย คณะ พันธมิตรฯ ที่เป็นตัวหลักไม่ใช่คณะของคนใดคนหนึ่ง แม้ตั้ง ๕ คนขึ้นมาเป็นแกนนำ ก็ไม่ใช่ของ ๕ คน ไม่ใช่ความคิดของ ๕ คน เป็นความคิดของคนไม่รู้กี่คนต่อกี่คน ถ้าจะพูดไปแล้ว ประชาชนมาเป็นหมื่นเป็นแสน ช่วยคนละไม้ละมือ จะมากจะน้อยอะไรก็แล้วแต่ ช่วยกันออกแบบ ได้กระทำมาเรื่อยๆ มันค่อยๆ สั่งสมมานานแล้ว จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้ชุมนุมกัน ถ้าใครมองออก การชุมนุมปี '๔๙ ก็ได้รูปแบบมาขนาดหนึ่ง ใครเป็นคนออกแบบ ไม่มี มันค่อยๆ เกิด ประชาชนร่วมกันออกแบบ

เออ..อันนั้นผิดพลาด รีบเปลี่ยนแปลง เออ..อันนี้ดี ..เอา ผิดๆ ถูกๆ จนมาถึงการชุมนุมครั้งนี้ แบบที่มันเป็นแล้วในปัจจุบันนี่ ไม่มี ใครออกแบบ แต่มันวิวัฒน์พัฒนาการมาเรื่อย เอาเฉพาะคำว่า รูปแบบ การชุมนุมประท้วง โอ้โห...เป็นคณะการชุมนุมประท้วง ที่น่าจะเป็นรูปแบบ ให้สังคมโลก อาตมาว่ามันยังไม่มีประเทศไหนนะ อาตมาอาจจะพูดไปตามประสาอาตมาไม่ค่อยมีความรู้ เป็นคนไม่กว้างนะ..อาตมาก็พูดเหมือนคนหลงตนอยู่ในมุมมืด หรือใครจะว่าอะไรก็แล้วแต่ นี่ก็คือความจริงใจของอาตมา มันอาจจะ มีอะไรที่ดีกว่านี้ เจริญกว่านี้ สวยกว่านี้ อะไรก็ว่าไปเถอะ...อาตมาเห็นอันนี้สวย ทำได้ดีอะไรปานฉะนั้น ประกอบด้วย ศิลป์ศาสตร์ (composite) โอ้โห.. ครบพร้อม ทั้งแก่น ทั้งเนื้อ ทั้งเปลือกเลย การเป็นอยู่ การรักษาความสงบ การกินการใช้ การพักอาศัย การศึกษา วิธีให้ความรู้ การเอาหลักฐานความจริงมาว่ากัน การเงิน การต่อต้านประท้วง กดดัน อะไรต่ออะไรต่างๆ นานา ทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งสื่อสาร เป็นองค์ประกอบศิลป์ศาสตร์(composition)ของการชุมนุมประท้วงที่วิเศษจริงๆ

อันนี้ก็จะเป็นโมเดลของวิธีการชุมนุมประท้วงรัฐบาล ประท้วงรัฐบาลนั้นไม่ใช่เล็กๆนะ แต่ว่ามันเป็นหลักของ ประชาธิปไตย มันไม่เป็น ขบถ มันถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ มันไม่นอกรัฐธรรมนูญ มันเป็นหลักธรรมของประชาธิปไตยที่แท้ ประท้วงล้มล้างรัฐบาลได้ ถ้าล้ม นอกรัฐธรรมนูญ ก็เป็นอีกรูปหนึ่ง เอาปืนเอารถถังออกมา อันนั้นมันปฏิวัติ ด้วยกำลังอาวุธแล้ว แต่นี่ปฏิวัติด้วยพลังประชาชน ปฏิวัติ ด้วยความสงบ ปฏิวัติด้วยสัจจะความจริง แพ้-ชนะกันด้วยการจำนนต่อความผิดความถูก ฉะนั้นตอนนี้ล้มล้างกันด้วย ความจริง ยืนยัน ถูกผิด เพราะไม่ได้โค่นฆ่ากันด้วยกำลัง เอามีด ปืน มาเข่นฆ่ากันให้ตาย อย่างการสู้รบ แต่นี่ เป็นเรื่องของผู้ดี เป็นสงคราม สังคมที่สูงส่ง อย่างดีแค่ปากหอก สู้กันด้วย การพูด บรรยายยืนยัน แฉหลักฐาน ...แหม..สาธยายๆ โอ้โห...แต่ละคนๆ พูดกันไป อ้างอิงกันไป ยาวนานเท่าไหร่ ก็สงบเรียบร้อย นี่คือตัวอย่างของสังคมเจริญ สังคมอาริยะ ของมนุษย์ในโลก เมืองไทยเกิดแล้วอันนี้


 

ยุทธศาสตร์ ของ มหาตมะ คานธี เทียบกับ
พุทธศาสตร์ ของ มวลมหาประชาคนไท

ตอนท้ายนี้อาตมาจะขออ่านหลักธรรมหรือว่าหลักของคานธีให้ฟังนิดหนึ่ง คานธีเขาว่าอย่างนี้ เขาบอกว่า ๑. เริ่มต้นที่ใจก่อน (ตรงเป๊ะ กับของพระพุทธเจ้าเลย มโนปุพพัง คมา ธัมมา เริ่มต้นที่ใจก่อน - พูดเสริม) อย่างน้อยที่สุด จิตใจจะต้อง ปราศจาก ความเคียดแค้น และความอาฆาตใดๆ (ก่อนอื่นเลย ต้องไม่มีเคียดแค้นต้องไม่มี อาฆาตใดๆ นี่ท่านหมายถึงความอหิงสา ความไม่เบียดเบียน ใจต้องไม่เคียด แค้น ไม่ไปโกรธ ไม่ไปอาฆาตใครๆ : พูดเสริม) และสมบูรณ์กว่านี้ก็คือไม่โลภด้วย (นี่ของพุทธ ๑๐๐% ไม่เคียดแค้น และ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ได้ : พูดเสริม)

๒. ต้องมีอภัย คือความไม่กลัว เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด (ฟังให้ดีนะ ผู้บรรลุธรรมหรือผู้ที่มีจิตวิญญาณที่สูงส่งเป็นจิตประเสริฐ เป็นจิตอาริยะ ต้อง เป็นคนไม่กลัว เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด นี่แม้คานธีก็เป็นเช่นนั้น พวกเราก็เป็น เช่นนั้น กลัวทำไมล่ะ เราทำสิ่งที่ดี เราทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ได้ทำสิ่งที่เห็นแก่ตัว กลัว ทำไม คนที่ทำสิ่งที่เห็นแก่ตัวสิควรกลัว เขาถึงกลัวจนหดหัวอยู่ตอนนี้ แล้วก็เล่น หลบไปหลบมาหลังฉาก ออกมาประจัญกันซี ไม่กล้าประจัญหรอก แต่ถึงประจัญกัน ก็ไม่ทะเลาะ ไม่รบไม่ฆ่าแกงกัน : พูดเสริม)

๓. ไม่หลบลี้หนีหน้าจากการต่อสู้กับความชั่วร้าย (เพราะฉะนั้น เมื่อมีความชั่วร้ายเราจะต้องออกมาประจัญ มีความไม่ดี มีความไม่ถูกต้อง เรา ต้องออกมาประจัญ ไม่ใช่เห็นความไม่ดีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นอยู่โครมๆๆ ฉันเฉย ฉันไม่เอาหรอกฉันหลบ ปล่อยให้ ความชั่วร้าย มันมาแสดงบทบาท ให้มันมา ออกฤทธิ์ออกเดช ออกมากินบ้านกินเมือง ออกมางาบๆๆๆ บ้านเมืองหมดเลย ก็เสร็จความชั่วร้ายสิ เราจะต้องออกมาประจัญกับความชั่วร้าย : พูดเสริม) จะต้องต่อสู้ด้วยวิถีทางของจิตใจ หรือศีลธรรม มาต่อสู้ ด้วยศีลธรรม

๔. กระทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความรักความเมตตา ไม่เบียดเบียนหรือทำลายชีวิตใดๆ และพยายามช่วยชีวิตทุกชนิดที่สามารถจะช่วยได้ กล่าวโดยย่อก็คือจะต้องพยายามละเว้นจากหิงสกรรม(คือความเบียดเบียน : พูดเสริม) การกระทำที่เบียดเบียนทุกชนิด อีกทั้งจะต้อง พยายามควบคุมตนเองและเจริญเมตตาธรรมอยู่เป็นนิจศีล

๕. พร้อมที่จะแก้ไขตนเองเสมอและเมื่อใดที่พบว่าตนเป็นฝ่ายผิด เมื่อนั้นเราจะต้องยอมรับความผิดนั้น พร้อมกับจัดการ แก้ไขทันทีี(อย่าไป หลบเลี่ยงความผิด แม้เป็นของตนเอง ต้องพยายามรู้ความจริงให้ได้ แล้วรีบ แก้ไข ถ้าคนคิดได้เห็นได้อย่างนี้ ในตัวเอง จะทำให้ดี แต่ถ่ายเดียว : พูดเสริม) ๖. ไม่ยอมให้มีการขูดรีดหรือเอาเปรียบเอารัดกัน แม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดๆ ก็ตาม (เอ้า นี่ก็ง่ายๆ ชัดๆ แต่ทำยากเท่านั้นเอง : พูดเสริม)

๗. มีความพยายามเพื่อดีที่สุดสำหรับคนทั้งหมด มีอุดมการณ์ถึงขั้นยินดีที่จะตาย เพื่อคนอื่นจะได้มีชีวิตอยู่ (สุดยอดไหม ? : พูดเสริม) ๘. มีการต่อสู้แบบดื้อแพ่ง (หรืออาริยะขัดขืนนี่แหละ แต่คานธีเรียกว่า “สัตยาเคราะห์” มีการต่อสู้แบบดื้อแพ่ง : พูดเสริม) โดยมีความจริงใจ เต็มไปด้วยคารวะจิต มีระเบียบวินัย ไม่ท้าทาย, ยืนหยัดอยู่ในหลักการ ไม่เอาแต่ใจตนเอง และโดยเฉพาะ อย่างยิ่ง จะต้องไม่มี อาฆาตมาดร้าย เป็นแรงกระตุ้น (อย่าให้มีนะความอาฆาตมาดร้าย อย่าเอามาเป็นแรงกระตุ้น ทำด้วยความเมตตา ด้วยความเกื้อกูล ด้วยความหวังดีทั้งนั้น : พูดเสริม) ๙. ต้องกล้าพูดความจริง ไม่ว่าความจริงนั้นจะระคายหู แม้จะไม่เป็นที่พอใจใคร ในขณะนั้น สักเพียงไรก็ตาม (ต้องกล้าพูดความจริง : พูดเสริม) ๑๐. ถือว่า การให้อภัย เป็นคุณธรรม ที่สูงกว่าการใช้กำลัง และ การแก้แค้น เพราะทั้งการใช้กำลัง และการแก้แค้นนั้นเกิดจากความอ่อนแอ (คนที่แก้แค้นเขาไม่ให้อภัย นั่นคือ คนอ่อนแอ ทั้งนั้นแหละ และความกลัว ก็เกิดมาจาก ความอ่อนแอ : พูดเสริม) คนที่ไม่กลัวย่อมไม่โกรธ ไม่เกลียด และ ไม่ปองร้ายผู้ใด ๑๑. มีอาวุธ “สันติ” ที่มีประสิทธิภาพยิ่ง (มีสันติเป็นอาวุธนะ ฟังให้ดีนะ มีอาวุธสันติที่มีประสิทธิภาพยิ่ง : พูดเสริม) นั่นก็คืออาวุธแห่ง สัตยาเคราะห์ (นี่ของคานธีเขา หรืออาริยะขัดขืนนั่นเอง ถ้าเราใช้ของเรา ขณะนี้กำลังใช้อยู่ก็คือ อาริยะขัดขืน (civil disobedience) เราใช้อันนี้ เป็นอาวุธแห่งการ ไม่ใช้ความรุนแรง มีอาตมพละ มีกำลังในตนเอง คือกำลังทางวิญญาณหรือกำลังใจ มีกำลังใจให้ดี ยอมรับ ความทุกข์ยากได้ ด้วยความเต็มใจ โดยไม่สร้าง ความทุกข์ยากให้แก่ผู้อื่น ยอมรับความทุกข์ยากซะเอง หรืออาวุธแห่งการไม่ใช้ ความรุนแรง : พูดเสริม) หรืออาวุธแห่งการไม่ใช้ความรุนแรง ๑๒. มีอาตมพละ คือการใช้กำลังทางวิญญาณ หรือกำลังใจ ยอมรับ ความทุกข์ยากได้ด้วยความเต็มใจ ยอมรับความทุกข์ยากได้ด้วยความเต็มใจ โดยไม่สร้างความทุกข์ยากให้แก่ผู้อื่น ๑๓. เน้นคุณค่า ของสัจจะ ภราดรภาพ สามัคคีธรรมและความเป็นธรรม ๑๔. อารักขาจิตวิญญาณ อารักขาเกียรติ ๑๕. รักและเมตตา แก่ผู้ที่เกลียดเรา ๑๖. ไม่ทิ้งร่องรอยแห่งความเคียดแค้นไว้เบื้องหลัง (แหม จะย้ำเรื่องเคียดแค้นเรื่องแก้แค้นเหลือเกินนะท่านคานธีเนี่ย ไม่ทิ้งร่องรอยแห่ง ความเคียดแค้นไว้เบื้องหลัง : พูดเสริม) แต่จะทำให้ศัตรูกลายเป็นมิตรได้ ในที่สุด ๑๗. ต่อต้านอารยธรรมที่นิยมวัตถุ ๑๘. มีเอกราช และ เสรีภาพโดยไม่ใช้กำลัง (มีอิสระ มีเอกราช มีเสรีภาพ โดยไม่ใช้กำลัง : พูดเสริม) มีศรัทธา มีเมตตากรุณา รักมนุษย์ทุกรูปทุกนาม ยอมรับอหิงสา เป็นกฎประจำชีวิต มีอหิงสาซึมซาบอยู่ในตัว ทุกขุมขน ก็ขอให้ทุกคนได้รับสวัสดิภาพอันดีงาม ได้รับชัยชนะ อันสุดยอด กันถ้วนทั่วทุกคนเทอญ


 

จากนครศรีธรรมราช
ผมขอถามว่า
หากรัฐบาลนี้ออกไปแล้ว จะทำอย่างไรต่อไปครับ?

แหม..เหมือนร้อยเอกกองแลถามทหารลาวว่า หมู่เฮายึดได้แล้ว สิเฮ็ดจังได๋ต่อละบัดนี่ !? อย่างที่ คุณการุณ ใสงาม เล่าแล้วเล่าอีก ถาม ว่า..หากรัฐบาลนี้ออกไปแล้วจะทำอย่างไรต่อไปครับ ประเทศไทยควรจะ จัดรัฐบาล หรือบริหารบ้านเมืองกันอย่างไรล่ะครับ ที่สำคัญ คือจะต้อง พ้นจากวังวน ไม่ต้องไปขับไล่คนทุจริตอีกหรือครับ ?

อาตมาว่าความรู้สึกงงๆอันนี้ หรือว่าความยังไม่เข้าใจประเด็น อย่างนี้ยังมีอยู่เยอะ ต้องใจเย็นๆ งานการเมืองหรืองานบริหารนี่จะต้อง มีคณะบริหารดำเนินการไป โดยเอาตามอำเภอใจเราไม่ได้ เราอยากจะได้คนดีๆมา แล้วจะตั้งคนดีขึ้นมาปุ๊บปั๊บๆ มันไม่ได้ดั่งใจเราหรอก และแม้จะมีคนดี ได้คนดีขึ้นไปบริหารไปลุยทำงานเลย ก็ไม่ใช่ง่ายๆ เพราะมันยังมีคนไม่ดียึดบัลลังก์ฝังรากอยู่ มันเป็นธรรมดาธรรมชาติ ทำให้คนดีขึ้นไปไม่ได้ง่าย เพราะฉะนั้นในการต่อสู้ขณะนี้นี่มันเป็นการพัฒนา ระบบประชาธิปไตยของการเมืองไทย อาตมาเห็นว่า ดีขึ้น อยู่เรื่อยๆ ถามว่า ถ้าเผื่อว่ารัฐบาลนี้ออกไป จะทำอย่างไรต่อไป รัฐบาลนี้ออกไปแล้ว ก็ทำไปตามรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติเอาไว้ เพราะรัฐธรรมนูญ เป็นกติกา ในการบริหารประเทศ กำหนดเอาไว้เรียบร้อย

เพราะฉะนั้นในประเทศไทย ปกครองกันด้วยระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็จะดำเนินไปอย่างนี้ ทีนี้ ถ้าล้มรัฐบาลนี้ไปได้แล้ว อิทธิพลของอำนาจเก่าของคุณทักษิณไม่ได้มีอิทธิพลอะไร ก็ขออภัย ต้องพาดพิง กล่าวชื่อกล่าวนาม คุณทักษิณ ก็ยอมขึ้นศาล แล้วศาลจะว่าอย่างไรก็ว่ากันไป ก็จะมีคณะใดคณะหนึ่งขึ้นมาบริหารประเทศ ไปตามครรลอง ของรัฐธรรมนูญ จะเป็นใครก็เถอะ อาตมามั่นใจอย่างยิ่งว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี่ นักการเมืองจะเข็ดจะกลัว และจะรู้ว่า คนไทยรู้ทันแล้ว ขืนไปทำ อย่างเดิมอีก ก็จะโดนอีก ตั้งแต่อาตมามีอายุขนาดนี้ จากประวัติศาสตร์เท่าที่ได้รู้มา อาตมายังไม่เห็นคณะไหน ที่บริหาร บ้านเมือง “ฉลาดเลว”ได้ลึกลับซับซ้อนเท่าคณะที่ผ่านไปนี้เลย เพราะฉะนั้นแม้คณะ ไหนมาอีก อาตมาว่าไม่เก่งเท่าหรอก คือไม่ร้าย ไม่เลวเท่า คณะที่ผ่านไปแล้วนี้ แม้คณะนี้ยังเหลืออยู่บ้างก็ตาม ยังคงความเลวร้ายอยู่พอสมควร แต่ ก็ทำให้เกิด การศึกษา เป็นการเรียนรู้ถึง ความเลวของมนุษย์ อาตมา ไม่เชื่อว่า มนุษย์ไม่อยากพัฒนา อาตมาเชื่อว่ามนุษย์นั้นต้องการพัฒนา เพราะฉะนั้น คนที่จะไป บริหารบ้านเมือง จะไปทำอะไรกันอีก ตัวอย่างคราวนี้ อาตมาว่า สาหัสแล้ว คงจะไม่เลวร้ายกว่านี้ได้ง่ายๆอีก เพราะฉะนั้น ถึงอย่างไรก็ตาม คณะที่จะบริหารจากนี้ไป คณะไหนก็น่าจะดีขึ้น ส่วนใคร จะขึ้นมา ก็แล้วแต่รัฐธรรมนูญ ขอบอกนะ...สำหรับชาวอโศก ชาวกองทัพธรรม ใครอย่าแหลม ไปเอาตำแหน่ง ยศศักดิ์ ฐานะ ต่อจากนี้เป็นอันขาดนะ คนจะไม่เชื่อง่ายๆหรอกว่า คุณไม่ได้ทำ เพื่อตัวคุณเอง แต่ทำเพื่อผลตอบแทนตนเอง มันยังเลวนะ ฉะนั้นชาวกองทัพธรรมไม่ได้มีจุด มุ่งหมาย เพื่อที่จะได้อะไรตอบแทน เป้าประเด็นของ กองทัพธรรมก็คือ ไปทำให้เกิดความสงบ นี่เป้าประเด็นที่คนเข้าใจไม่ง่าย แม้แต่สมณะ หรือนักบวช ออกมา ก็เพื่อต้องการ ให้เย็นให้สงบ จะมีฤทธิ์มีแรงมีความสามารถ เท่าไหร่ ที่จะทำให้เกิดความสงบ ไม่ให้มันรุนแรงได้เท่าไหร่ อันนั้นเรา รับผิดชอบ ส่วนอื่นนั้นเขาก็ทำ ตามความสามารถที่แต่ละคนถนัด คนละไม้คนละมือ ก็ช่วยกัน ถ้าผ่านเหตุการณ์นี้ ผ่านการชุมนุม คราวนี้ไปได้ แม้จะถือว่าแพ้ อาตมาก็เชื่อมั่นว่า มันเป็นเหตุการณ์ที่ให้การศึกษาขั้นหนึ่ง อะไรดี อะไรไม่ดี คนฉลาดจะรู้เลยว่า การชุมนุม ประท้วงนี้สงบ เป็นประเด็นสำคัญ นี่มันสงบมาได้นาน ชื่นชมกันเยอะอยู่นะ โอ้..มันทำให้เกิดความเรียบร้อย ไม่เกิด ความรุนแรง ทั้งๆที่รัฐบาลเตรียมจะสลายม็อบ จะแตกหัก เป็นระยะๆ ที่จริงบอกแล้ว นี่ไม่ใช่ ม็อบ(mob) เราไม่ใช่กลุ่มชุมนุม ที่จะไปรวนใคร เหมือน นปก. นปก. นั่นสิม็อบ ไอ้นี่ไม่ใช่ม็อบ แต่เป็นการชุมนุมประท้วงเพื่อที่จะสร้างสรรทำให้เกิดความเจริญ ทำให้เกิดความสงบ ความดีงาม เรียกอันนี้ ม็อบ(mob) ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ ประท้วงเพื่อให้เกิดการทำเลวๆ ร้ายๆ ทำเรื่องไม่เข้าท่าอะไร แต่เป็นการชุมนุมที่เรียว่า “โปรเทสต์” (protest) เป็นการชุมนุมประท้วง อย่างสร้างสรร เป็นขบวนการแสดงความเห็นทางการเมือง “ดีมอนสเตรท” (demonstrate) อันหนึ่ง ที่จะให้เกิดความสงบ ให้สำนึก ให้เกิดคุณธรรม ให้เกิดหิริ เกิด โอตตัปปะ ทั้งๆที่ เหตุการณ์คราวนี้ จะมีการสลายม็อบ หวุดหวิดๆ จะเกิด รุนแรง แต่ก็ไม่เกิดขึ้นได้ ก็เพราะหิริ โอตตัปปะของผู้ที่มีอำนาจ ที่จะทำ แต่เขาไม่ทำ เพราะเขามีหิริ โอตตัปปะ เขารู้ดีรู้ชั่ว รู้ผิดรู้ถูก รู้อะไรควรไม่ควร รู้ชนะรู้แพ้อยู่ลึกๆ สิ่งเป็นอธรรมก็ผ่านไปๆ ที่สงบเรียบร้อย ก็เกิดขึ้น ก็เป็นการชนะของธรรม ทั้งๆที่ จวนเจียนๆ หวุดหวิดๆจะเกิด ความรุนแรง แต่มันก็ผ่านไป ไม่เกิด ความรุนแรงได้ นั่นคือ ธรรมะชนะ อาตมาเอาประเด็นตรงนี้ ชนะตรง ไม่เกิดความรุนแรง โอ้โฮ สวยๆๆ นี่ก็สวยอีกครั้งหนึ่ง วันนี้ไม่เกิดความรุนแรง โอ้..สวยอีก

เอ้าสรุปว่า รัฐบาลนี้ออกไปแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ก็เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญ วิถีแห่งการเมืองของประเทศ มันก็จะมี คณะขึ้นมาบริหาร ขึ้นมาทำงานกัน ซึ่งเชื่อได้ว่า

๑. คงไม่มีใครคิดอยากจะทำเลวร้ายกว่านี้ คงเข็ด

๒. ถึงอยากจะทำ ฝีมือทำ ไม่ถึงได้ง่ายๆหรอก อาตมาว่าคนที่เลวได้ขนาดปานที่เกิดมาแล้วนั้น มันก็หาได้ยากเหมือนกัน

๓. เมื่อคนทั้งหลายส่วนใหญ่ต่างมีสำนึกดีเกิดขึ้น ทุกคนก็น่าจะปรารถนาให้ประเทศหรือสังคมเป็นไปดี ตัวเราก็น่าจะทำดี เขาก็จะพากัน ทำสิ่งที่ดี ก็จะพากันทำดีก้าวหน้าขึ้น วิวัฒนาการเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้

๔. ภูมิคุ้มกันทั้งนัยะแห่งการเข็ดชั่ว ทั้งนัยะแห่งการปรารถนา มันก็ควรจะเกิดความดีที่มากขึ้นๆ แล้วเราก็ทำสำเร็จ เป็นตัวอย่าง ที่น่าชื่นชม นี่แพร่ออกไปทั่วโลกเลย ทั่วโลกจะเป็นพยาน โลกเป็นโลกาภิวัตน์แล้ว ก็จะเป็นพลัง ที่จะถ่วงดึงให้ดีต่อๆไป ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่งด้วย ถ้า ไม่ดีขายหน้าโลกเขานะ อะไรต่ออะไรพวกนี้ มันเป็นเรื่อง ของวิญญาณมนุษยชาติในโลก

อาตมาเห็นว่ามันเป็นวิวัฒนาการของสังคมประเทศชาติ เป็นจุดเปลี่ยนทางด้านการเมืองของไทย แม้จะชุมนุมประท้วงเป็นเดือนแล้ว ก็ไม่เกิดเลือดสักหยด เกิดกองทัพประชาชนที่ต่อสู้ทางประชาธิปไตย อันมี ความงดงาม สังคมเกิดการเรียนรู้ เกิดวิวัฒนาการ มีพฤติกรรม แบบใหม่ เกิดขึ้นในสังคม เป็นสังคมใหม่ที่หันมาอุดหนุน จุนเจือ เกื้อกูลกัน เป็นห่วงเป็นใย ซึ่งกันและกัน แม้แต่ความ เป็นกลาง ต้องเข้าข้างคนถูกคนดี

ก็รู้สึกว่าเข้าใจมากขึ้น แล้วก็กล้าเลือกข้างแสดงตัวกันขึ้นมา มันก็ เกิดการก้าวหน้า เป็นวิวัฒนาการที่ดี เพราะฉะนั้น มันจะเป็น อย่างไร ต่อไป นี่ตอบไม่ได้ ตอบได้แต่ว่า มันจะเกิดวิวัฒนาการ ทางปัญญา และความดีงาม ของสังคม ประชาชน ที่ได้ศึกษา จากเหตุการณ์จริง และเกิดการพัฒนาประชาธิปไตย ขึ้นไปตามลำดับ “อาริยประชาธิปไตย” ที่ประกอบไปด้วย ธรรมาธิปไตย ได้ก้าวเข้าไปสู่ โลกุตรสัจจะ ก้าวหนึ่งแล้ว


 

ความเป็นกลาง ที่สร้างความสาหัสสากรรจ์ นั้นเป็นอย่างไร ?

คนเราเข้าใจเรื่องความเป็นกลางนี่ผิดพลาดมามาก ความเป็นกลางของพระพุทธเจ้านั้น มันมีความ”เป็นกลาง”อยู่สองชนิดใหญ่ๆ ชนิดที่หนึ่งคือจิตเป็นกลาง หมายความว่า จิตไม่ลำเอียงไปข้างไหนเลย ไม่ลำเอียง เพราะชอบ (ฉันทาคติ) ไม่ลำเอียง เพราะชัง (โทสาคติ) ไม่ลำเอียงเพราะหลง(โมหาคติ) และไม่ลำเอียงเพราะกลัว(ภยาคติ) ไม่ลำเอียงไปข้างไหนเลย นั่นคือ จิตเป็นกลาง ของคน ที่เป็นกลาง นั่นคือ กลางอย่างที่ ๑

๒. ความเป็นกลางต้องเข้าข้างคนดี ความเป็นกลางต้องประกอบด้วยปัญญา คนที่เป็นกลางต้องเป็นคนที่มีปัญญา เช่น ผู้พิพากษา เช่นกรรมการตัดสินฟุตบอล กรรมการที่ตัดสินจะต้องทำใจไม่ให้มีอคติ

กรรมการทุกคน ผู้พิพากษาทุกคน ต้องทำใจไม่ให้มีอคติทั้ง ๔ แม้จะมีกิเลสก็ต้องพยายาม ไม่ลำเอียง...เพราะรัก -เพราะชัง -เพราะหลง เลอะๆ เทอะๆ - และเพราะกลัว ต่างๆนานา ก็ต้องพยายามทำปัญญาให้ชัดแจ้ง ทำปัญญาให้มากที่สุด เท่าที่เราโง่ เราก็ต้อง ทำให้มัน สูงสุด เท่าที่เราจะมีภูมิ ปัญญา คนเราก็มีภูมิปัญญาเท่าที่เราโง่ หรือโง่เท่าที่เรามีปัญญานั่นแหละ

ประเด็นที่เข้าใจผิดสำคัญที่สุดก็คือ ประเด็นเข้าใจว่า ความเป็นกลางคืออยู่เฉยๆ คือไม่เข้าข้างใคร เป็นแม่ขี้กลัว ลูกมันทะเลาะกัน ก็ไม่กล้า เข้าข้างใคร รู้เหมือนกันว่าใครผิดใครถูก ไม่กล้าตัดสิน โมเมๆ ไปแล้วก็พะอืดพะอมต่อไปอีก ทำอะไรต่อไป ก็ไม่ได้ เป็นผู้พิพากษา ที่ตัดสินไม่ได้ เป็นกรรมการในสนามฟุตบอล เห็นไอ้นี่มันผิดนะ นักฟุตบอลคนนี้ มันทำผิด มันเตะก้านคอเขา ควรให้ใบแดงแล้ว กรรมการไม่กล้าให้ เดี๋ยว ไม่เป็นกลาง ฉลาด รู้ผิดถูกแต่ไม่กล้าลงโทษ ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้า บอกว่าใครถูก ใครผิด กลัวไม่เป็นกลาง เพราะเชื่อมาผิดๆ ว่า คนเป็นกลางต้องอยู่เฉยๆ ยกคนถูก ว่าคนผิด ไม่ได้เลย แสดงออก บอกใครก็ไม่ได้

ยิ่งเป็นคนที่ได้รับความยอมรับของสังคม หรือเป็นคนที่มีอำนาจ เช่นผู้ที่บริหารประเทศ หรือผู้เป็นที่นับถือ ในประเทศ เป็นผู้มีศักดิ์ มีศรี มีตำแหน่งยศชั้น เป็นคนเด่นคนดังคนดีในสังคม เป็นผู้ที่ได้การยอมรับจากคนส่วนใหญ่ของสังคม ยิ่งต้องชี้นำ ยิ่งต้องบอกเลยว่า อันนี้ผิด อย่าทำ ต้องเข้าข้างคนถูก ต้องไม่เข้าข้างคนผิด ต้องต้านต้องหยุดสิ่งที่ผิด ต้อง ดำเนินส่งเสริมสิ่งที่ถูก นี่คือ ความเป็นกลาง ของคนเป็นกลาง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “นิคคัณเห นิคคหารหัง ปัคคัณเห ปัคคหารหัง” ต้องข่มคนผิด ต้องตำหนิ หรือ ประณามคนผิด แล้วต้อง ยกเชิดชู คนถูก ต้องเข้าข้างคนถูก นี่คือ ความเป็นกลาง ตามภูมิของพระพุทธเจ้า

แต่ทุกวันนี้ ความเป็นกลางก็คือ อยู่เฉยๆ ใครจะถูกจะผิดก็บอกใครไม่ได้ ใครถูกฉันก็เฉย ใครผิดฉันก็เฉย บ้านเมืองถึงได้ อึมครึม เดือดร้อน ตัดสินอะไรก็ไม่ได้ คนรู้ก็ไม่บอกอะไร คนมีอำนาจก็อยู่เฉยๆ ปล่อยให้มันอึมครึมๆ ขยับเขยื้อนกันไม่ได้ อยู่อย่างงั้น นี่คือ ความเข้าใจไม่ได้ ถึงสัจธรรม ทำให้ทั้งผู้ใหญ่ ผู้รู้ และผู้ไม่รู้ มืดมนไปด้วยกันหมด

ธรรมดา ถ้าผู้ที่ยิ่งได้ความเคารพนับถือ ได้การยอมรับของสังคม เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายนั้นย่อมมีน้ำหนักแน่นอนเลย และ คนที่มี ภูมิปัญญา หรือว่าผู้ที่มีฐานะทางสังคมก็ย่อมเป็นคนมีภูมิปัญญา เป็นคนที่รู้จักดีรู้จักชั่ว เป็นผู้รู้จักผิด-รู้จักถูก รู้สิ่งควร - สิ่งไม่ควร ก็ต้องให้น้ำหนัก ทางคนดี เข้าข้างคนดี ส่งเสริมคนที่ควรส่งเสริม สนับสนุนคนที่ควรสนับสนุน อุปถัมภ์ค้ำชู คนที่ควร อุปถัมภ์ค้ำชู อย่างแท้จริง มีปัญญาอย่างนี้ โลกจะอยู่รอดเจริญได้ สงบร่มเย็นดี แต่ที่ไม่กล้าประกาศตัวออกมา เพราะ...

๑. กลัว(ภยาคติ) ๒. โง่(โมหาคติ-ไม่รู้ผิดไม่รู้ถูก) ๓. เพราะ เข้าใจผิด(มิจฉาทิฏฐิ) ตามๆกันมาว่า ความเป็นกลางนั่นคือ อยู่กลางๆ คนถูก ก็อย่าไปเข้าข้าง คนผิดก็อย่าไปเข้าข้าง ถ้าไปเข้าข้างไหน มันไม่กลาง สู้ลอยตัวอยู่เฉยๆไม่ได้ ถ้าเข้าข้างใด ก็กลัวตนจะเสีย นี่คือ ผู้มีอัตตามานะ

ขณะนี้เหตุการณ์บ้านเมืองสังคมประเทศไทย ทุกคนก็คงจะเห็นชัดอยู่แล้วว่า มันแยกฝ่ายกันอย่างชัดเจนแล้ว และฝ่ายไหนผิดแน่ ฝ่ายไหนถูกแน่ ก็เห็นได้ตามภูมิปัญญา ของแต่ละคน ใช่ไหม ? ต่างคนก็ต่างเลือก ขณะนี้น่ะ มันกำลังอยู่ในระหว่าง ต้องการพิสูจน์ ความจริง ออกมาเลยว่า ฝ่ายไหนล่ะ ถูกแน่ ฝ่ายไหนล่ะผิดแน่ นี่คือ ความคับข้องใจของ ผู้คนขณะนี้ ผู้ที่ไม่มีปัญญารู้ว่า ฝ่ายไหนผิด ฝ่ายไหนถูก นั้นย่อมแสดงออก เข้าข้างไหนไม่ได้ แต่ก็อยากรู้ หรือที่สุด เมื่อไม่แพ้ชนะกัน ตามธรรมแห่งธรรม ที่พิสูจน์กัน เป็นธรรมชาติ ก็ต้องอาศัย ตุลาการ ถ้าผู้พิพากษาไม่ตัดสิน หรือกรรมการบอกคนนั้นผิด คนนี้ถูกไม่ได้ เพราะฉันเป็นกลาง สังคมก็ไปไม่รอด ดำเนินการ อะไรต่อไป ก็ไม่ได้ ไม่เจริญ และทุกข์ระทมกันต่อไป

เพราะฉะนั้นความจำเป็นขณะนี้กำลังอยู่ในรอยต่อระหว่างที่จะต้องพิสูจน์ว่า อะไรผิด-อะไรถูก ช่วยตัดสินเถิด ผู้รู้ผู้มีอำนาจ ทางสังคม ผู้มีคุณค่า มีภูมิปัญญาทางสังคม ผู้เป็นที่ยอมรับของสังคม ช่วยกันด้วย ช่วยให้น้ำหนัก กับฝ่ายที่ถูก ที่ควร อาตมาเคารพ ในภูมิปัญญา ของคน มันเห็นแจ้งๆ ชัดๆ อยู่แล้วว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่ตอนนี้ฝ่ายผิด ดันทุรัง หน้าแข็ง เกินที่จะพูด จนไม่รู้ว่า มันจะเอายังไงกันอีก

เพราะฉะนั้น ขอร้องเถอะ ช่วยตัดสินเถอะ เรื่องความเป็นกลางนี่ เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ขอให้ทำความเข้าใจศึกษาให้ดีๆ เปลี่ยนทัศนคติ ของผู้ยึดถือว่า ความเป็นกลางคืออยู่เฉยๆ นี่เสียทีเถอะ


 

โกงแล้วได้อะไร ?
ทำไมคนฉลาดโกงได้สำเร็จ จึงคือคน”โง่”ที่แท้จริง

คนเราเกิดมาเพื่อศึกษา ถ้าใครไม่ได้สำนึกอย่างนี้ เกิดมาแล้วก็ปล่อยชีวิต หรือว่า ทำให้ชีวิตของเรา เป็นไปตามอำนาจ ของกิเลส คือ แสวงหาความสุขไปตามประสา แสวงหาความพอใจไป เขาก็จะยึดจะติด จะทำอยู่อย่างนั้นไปตลอดกาลนาน แล้วชีวิตก็ค่อยๆ โตขึ้น เจริญขึ้น แล้วก็ เสื่อมไป ตายไป ก็เท่านั้นเอง ชีวิตหนึ่งที่ไม่ได้ศึกษา ชีวิตหนึ่งก็เหมือนเดรัจฉาน เกิดมากินๆ ขี้ๆ เยี่ยวๆ แล้วก็สืบพันธุ์ ต่อเผ่าต่อพันธุ์เอาไว้ ไปตามประสา แล้วก็แก่ ก็เสื่อม ก็ตาย หมุนเวียนอยู่อย่างนั้น ไร้ประโยชน์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสถึง ความจริง อย่างหนึ่งว่า สัตว์โลกนี่ เป็นไปตามกรรม คือเป็นไปตามความประพฤติ เป็นไปตามการกระทำ ของตนเอง การกระทำมี ๓ อย่าง มีกายกรรม กระทำทางกาย มีอิริยาบถไปในทางกาย แล้วก็ทางวาจา แล้วก็ทางใจ เพราะฉะนั้น คนเรามีกรรม ๓ อย่างนี่แหละ กระทำแล้วก็บันทึกไว้ในจิตวิญญาณ นี่สำหรับศาสนาพุทธ และกรรมที่บันทึกนั่นแหละ “เป็นทรัพย์” เป็นของตนเองเลย เป็นของแท้ เราทำกรรมดี ดีนั้นก็บันทึกเป็นของเรา เราทำกรรมชั่ว ชั่วนั้นก็บันทึกเป็นของเรา อันนี้เป็น”ทรัพย์ของเรา”แท้ๆ เป็นของจริงของเรา เลยติดตัวเรา ไปทุกชาติๆๆๆ ให้ผลแก่ตน พาทุกข์พาตกต่ำ พาสุขพาเจริญ ก็ตามกรรม

ในศาสนาพุทธถือ “กรรม”เป็นใหญ่ แล้วกรรมนี่แหละพาเราเกิด พาเราหมุนเวียนไปชาติแล้วชาติเล่า-ชาติแล้วชาติเล่าๆ ๆ ๆ กรรมจะพาเราเกิด(กัมมโยนิ) ศาสนาหลายศาสนาเชื่อว่า “พระเจ้า”บันดาลให้เกิด ให้เป็นอย่างนั้นให้เป็นอย่างนี้ หลายศาสนานับถือเช่นนี้ แต่ศาสนาพุทธนั้น มีกรรมบันดาล มีกรรมเป็นตัวกำหนดให้เกิดให้เป็นให้ไป จะเลวจะดี จะตกต่ำได้ทุกข์ได้ยาก หรือว่าจะได้เจริญ ร่ำรวย ฉลาด โง่ เราทำของเราเองทั้งสิ้น นั่นคือ กรรมเป็นของของตน(กัมมัสสกตา) ตนเป็นผู้ทำเอาเอง เราจะดีจะชั่ว เราจะได้ดีตกยาก มันจะปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปแต่ละชาติๆ ๆ ๆ ชาตินี้ดูเหมือนเราฉลาด แต่ความฉลาดนั้น ถ้าเป็นความฉลาดโกง เป็นความฉลาดเลว เป็นความฉลาดในการทำทุจริต แล้วก็ปฏิบัติประพฤติตน ใช้ความฉลาดเอาเปรียบเอารัด ฉลาดที่จะใช้เล่ห์เหลี่ยม ใช้ความซับซ้อน ใช้ความลับลวงพราง อะไรก็แล้วแต่ เสร็จแล้วเราก็ได้ลาภ ได้ยศ ได้อำนาจ เราก็หลงไปว่าเราได้ แต่จริงๆแล้ว เรา”ไม่ได้” เราได้ ”วิบากกรรม”.. เราไม่ได้ลาภยศ ลาภยศไม่ใช่ทรัพย์แท้

แต่เราได้”วิบากกรรม” ติดอัตภาพเราไปทุกชาติๆต่างหาก ที่เป็น “ของเรา” เป็น”ทรัพย์แท้”ของเรา เราไม่ได้ลาภยศอะไรพวกนั้น ติดตัวเราไป จริงๆแท้ๆเลย มันทิ้งอยู่ในโลกแค่เราตายจากเท่านั้น แต่ที่มันไปกับเรา มันเป็นทรัพย์ที่ให้ผลร้าย ผลดีกับเราไปอีก นานเท่านานนั้น คือ “กรรม” คือ”วิบาก”นั่นต่างหาก ที่เป็น”ของเรา” เป็น”ทรัพย์แท้ๆของเรา”

ฟังความนี้ ฟังตรงนี้ชัดๆ คนที่ทำเลว ทำชั่ว ทำสิ่งที่เป็นอกุศล หรือทำทุจริตนี่ เขาทำแล้ว เขานึกว่าเขาได้ แต่ความจริงเขาไม่ได้ อาตมายกตัวอย่างบ่อยที่สุดเลย เช่น เขาโกง โกงนี่..ชั่ว เป็นบาป..ทุจริต เขาโกงได้เก่งนะ โกงด้วยความฉลาด โกงด้วยความลึกซึ้ง ซับซ้อน ไม่มีใครจับได้ ไม่มีใครรู้ทัน แต่เขา”โกง”นะ โกงได้มาแสนล้าน โกงนั่นคือกรรม คือการกระทำของเขา เขาฉลาด ไม่มี ใครจับได้เลย โกงได้มาเป็นแสนๆล้าน หอบไว้เลย หอบไว้จนตาย เมื่อตายจากแสนล้านนั้นไป เขาไม่ได้แสนล้านนั้นไปเลย พอตายไปแล้ว แสนล้านนั้น ไม่ได้ตามไปด้วย แสนล้านก็กองอยู่ในโลกนี่แหละ แต่เขาได้ “กรรมที่เขาโกง” กรรมคือการกระทำ ใคร”ทำ” ก็นั่นแหละ”ทรัพย์ของตนแท้ๆ” กรรมโกงคือบาป กรรมโกงคือชั่ว เมื่อโกงก็เป็น”ทรัพย์ชั่ว”ติดตามตัวเขาไป แสนล้านไม่ใช่ทรัพย์ แสนล้านไม่ใช่ของเขา กรรมที่เป็นบาปหนักตั้งแสนล้านต่างหากที่เขาได้แท้ๆ โกงบาทหนึ่ง ก็บาปแค่บาทหนึ่ง นี่โกงตั้งแสนล้าน ก็บาปหนัก นรกนานอีก ตามแสนล้าน นั่นแหละ เขาตายไปก็ตาม กรรมที่โกง ทุจริตที่เขาทำ ก็ยังเป็นทรัพย์ของเขา นั่นคือทรัพย์แท้ๆ ที่เกิดจาก กรรมแท้ๆ ที่เขาทำสำเร็จด้วยความฉลาด ด้วยความเก่ง ด้วย ความวิเศษยังไง ก็แล้วแต่ แต่เป็นกรรมชั่ว เป็นกรรมทุจริต กรรมบาป เขาได้บาปอันนั้นเป็นทรัพย์ติดตัวไปจริงกว่าลาภยศสรรเสริญสุข ฟังให้ชัดๆ

คนฉลาดโกง คนฉลาดทุจริต นี่แหละเรียกว่า”คนโง่ที่แท้จริง !” คือคนมี”อวิชชา”แท้ แต่เขานึกว่าเขาฉลาดเก่ง ฉลาดที่จะโกง ได้ซับซ้อน นับแสนล้าน แต่เขาไม่รู้ว่า ชีวิตนี้มันจะต้องวนเวียน มันจะต้องตายเกิด- เกิดตาย รับวิบากเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปแต่ละชาติ จากชาติ แต่ละชาติๆ ชาตินี้มาโกงได้ ชาติต่อไป นรกก็กินหัว ต้องทุกข์ทรมาน เปลี่ยนแปลงไปสู่ความตกต่ำ เสื่อมทราม ต้องใช้หนี้บาป คนที่เกิดมา ฉลาดโกงกิน มาทำอะไรเลวๆ ร้ายๆ แต่ละชาติ เสร็จแล้วตายจากชาตินั้นนี่ ท่านใช้ ภาษาว่าตกนรก ใช้ภาษาพระว่า ไปใช้กรรม ไปใช้หนี้กรรมหนี้บาป ที่เป็นนรก เขาก็จะไปวนเวียนอยู่อีกหลายๆๆชาติมาก ก็คือต้องเป็นคน นี่แหละบางชาติ ก็ต้องรับกรรม ทุกข์ยาก แสนเข็ญในความเป็นทุกข์ทรมาน ทรกรรมต่างๆ นี่คือ นรกแท้ๆตามสภาพที่ได้ร่างเกิดมาเป็นคน ร้อยชาติ พันชาติ ถ้าโกงมาก ถ้าทำกรรมชั่วมาก โกงบาทหนึ่ง ก็บาปบาทหนึ่ง โกงร้อยบาทก็บาปมากกว่าบาทหนึ่ง โกงพันหนึ่งก็บาปมากกว่าโกงร้อยบาท ใช่มั้ย โกงแสนหนึ่ง ก็บาปมากกว่า โกงร้อยหนึ่ง-พันหนึ่ง โกงเป็นล้าน โกงเป็นร้อยล้าน โกงเป็นแสนล้าน บาปมันจะขนาดไหนล่ะ ลองคิดดูซิ

ยิ่งเป็นนักบริหารนักปกครอง อยู่ในฐานะอันสูงแล้วก็ยังโกง ยังหยาบ ชั่ว ยังทุจริตอยู่นั่นน่ะ ยิ่งเป็นมิจฉาชีพยิ่งกว่านักเลงหัวไม้ ที่ ตีหัวหมาด่าแม่เจ๊ก มันเลวกว่าต่ำทรามกว่า น่ารังเกียจกว่า มากมายเลย และโดยสัจธรรมนี่บาปก็บาปกว่า ได้หนี้บาป เพราะโกงทีหนึ่ง เป็นหลายๆล้าน ไอ้ตีหัวหมาด่าแม่เจ๊ก มันก็เก็บเบี้ยบ้ายรายทางไป ได้พัน ได้หมื่น มันก็จะได้เท่าไหร่กัน ถึงอย่างไรๆ มันก็ไม่ได้ เหมือนไอ้พวกที่โกงระดับกินเมือง โกงเมืองหรอก ไม่ว่ายุคไหนๆ ยิ่งยุคนี้ โอ้โฮ.. โกงกันมหาศาลเป็นแสนๆล้าน พวกนี้คือ พวกมิจฉาชีพที่เลว ชั่ว และซับซ้อน การหลอกลวงซับซ้อน เพราะอาศัยฐานะเหมือนเราเป็นคนดี หลอกลวงตลอดเวลา ทำท่าทีลีลาปกปิดซ่อนเร้น ลับ ลวง พราง ไม่ให้คนอื่นรู้ว่าตนเองทุจริตขนาดไหน นั่นเป็นบาปซ้อนบาปนะ ตนเองทุจริตแล้ว ก็หลอกลวงเขา ด้วยท่าที ลีลา คำพูด ให้คนอื่น เข้าใจผิดว่า เราเป็นผู้ดี เราเป็นคนซื่อสัตย์ สูงส่ง มีคุณค่าประโยชน์อะไร ก็ตามใจ แต่แท้ที่จริงแล้วนี่ ซับซ้อนซ่อนแฝง เดินเรื่อง เดินบทบาท ทำมาหากิน อย่างเลวร้าย เป็นมิจฉาชีพแท้ ทั้งโกงทั้งหลอกลวง อย่างนี้แหละ คือ บาปซ้อนบาป เลวร้ายที่สุด ยิ่งกว่าไอ้โจร ถือดาบ ถือปืนไปปล้นร้านทอง ไปปล้นธนาคารอะไรต่างๆนานา เพราะได้บาปยิ่งกว่าพวกปล้นธนาคาร เพราะซับซ้อน หลอกลวงเขา อีกหลายชั้น ไอ้โจรปล้นมันปล้นซื่อๆ มันก็บาปชั้นเดียว มันไม่ได้โกหก ไม่ได้เลวร้ายสองชั้น สามชั้น สี่ชั้น บาปซ้อนบาป โดยกรรม โดยพฤติกรรม โดยความคิด โดยแนวคิด โดยวิธีการ ที่กระทำซับซ้อน มันบาปซ้อนบาป บาปยกกำลัง ยิ่งมีความซับซ้อน มากมาย ยิ่งบาปยกกำลังยิ่งๆขึ้น พวกบริหาร เข้าไปอยู่ในตำแหน่ง หน้าที่ที่สำคัญ นี่แหละตัวดีล่ะ แม้ข้าราชการก็ตาม ข้าราชการ ระดับสูง ก็ตาม เป็นอย่างนี้ด้วย ข้าราชการระดับสูง ยิ่งกินกันซ้อนมีพราง มีหลอกลวง ทำให้คนอื่นเขาหลงผิดว่า ตัวเองดีจังเลย ซื่อสัตย์สุจริต อย่างโน้นอย่างนี้ แต่ที่จริงตัวเอง ต้องหลอกเขา ต้องใช้กลเม็ดเล่ห์เชิงต่างๆ เพื่อที่จะอำพราง ปกปิด ไม่ให้เห็นรอยริ้ว ของความชั่ว ของความคดทุจริตของตน ยังกะตนดีนักดีหนาสุจริตเต็มที่ คุณพูดโกหกหนึ่งครั้ง หรือคุณ ทำชั่วทำผิด หนึ่งครั้ง เสร็จแล้วคุณก็ไม่เปิดเผย คุณไม่แก้กลับ ก็เท่ากับคุณเองปกปิด เหมือนกับโกหกเขาอยู่ตลอดเวลาทางความตรึกนึกคิด ถ้ามีใคร เขาถามก็บอกว่าไม่ ไม่ได้ทำผิด ไม่ได้ทำชั่ว อันนี้คุณก็โกหก นี่ก็โกหกทางวาจาแน่นอน ถ้าเขาไม่ถาม คุณก็แสดงท่าทีลีลา เพื่อที่จะป้องกัน ไม่ให้เรื่องนี้เปิดเผย อยู่ตลอดเวลา กลบเกลื่อน มีวิธีการหรือมีท่าทีลีลา มีอะไรก็แล้วแต่ มันเป็นกรรมกิริยา ที่ซ้อน อยู่ในตัวเอง เพราะฉะนั้น บาปมันจึงเท่ากับ คุณกระทำการปกปิด ความชั่วอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ทำชั่วครั้งนี้แล้วบาปเท่านี้จบ ไม่เลยนะ มันจะออกดอก ออกผล ไปอีกเยอะแยะเลย คนทำชั่วทำผิดนี่ ไม่ใช่ทำชั่วทำผิดแล้วได้บาปเท่าที่ทำแล้วจบ แต่ความชั่ว ความผิดนั้น ยิ่งต้องออกดอกออกผลซ้ำซ้อนเพิ่มขึ้น ถ้าเป็นคนสามัญก็ ไม่มีใครจับผิดมาก ถ้าเป็นคนชั้นสูง อยู่ชั้นบน จะมีคน คอยจับผิดมาก ใช่มั้ย คุณก็จะต้องพยายามที่จะเสแสร้งจะต้องปกปิด จะต้องทำท่าทีลีลา กลบเกลื่อน ให้มันมิดชิด คุณยิ่ง”ทำ”เพื่อกลบเกลื่อนความผิด เพื่อพรางความผิด นั่นคือ กรรมทั้งสิ้น กรรมทุจริต-อกุศล คือการมดเท็จ ต่อผู้อื่น ด้วยกรรมกิริยาซ้อนๆๆๆๆๆ เพราะฉะนั้น คนทำ กรรมชั่ว ที่มาก อยู่ในฐานะที่จะต้อง ยิ่งแสดงบทบาท ปกปิดกรรมชั่วตัวเอง อีกเยอะ ยิ่งคุณทำได้ ก็ยิ่งคือ กรรมทุจริต อกุศล เพิ่มซ้ำๆๆๆ หลอกเขาสนิทเท่าไหร่ก็ตาม คุณใช้ชั้นเชิง ใช้วิธีการต่างๆ นานา นั่นล้วนแล้วแต่คือ อกุศลกรรม คือกิริยา ที่มันเป็น บาปเป็นหนี้ ซ้ำซ้อนจากต้นทุนที่คุณทำชั่วหนึ่งอย่าง แล้วคุณก็ต้องปกปิด อำพราง ไปนานเท่านาน แล้วคุณก็ทำกิริยา ปกปิด ไปอีกเท่าไหร่ ทำกิริยาในกายกรรม วจีกรรม และมโกรรมซับซ้อน ยิ่งหลายเรื่องก็ยิ่ง เยอะ ซับซ้อนเข้าไปอีก มีสิบๆคดี ต้องหาทาง ปกปิด ซ่อนเร้น แล้วก็หาวิธี ที่จะไปทำชั่ว ปกปิดซ้อนๆ ซ้ำๆ ไปจ้างคนโน้น ไปให้คนนี้ช่วยไปอย่างโน้นอย่างนี้ เพื่อที่จะช่วย ทำทุจริต ซ้อนๆๆๆๆ คิดดูซิ มันบาปกี่ชั้นๆๆๆๆๆๆล่ะ โอ้ย.. อาตมาแค่พูด ยังเหนื่อยเลย

นี่เป็นสัจจะ เป็นความจริง ผู้กระทำ...กระทำเองทั้งสิ้น เขาทำเอง กรรมเป็นของตน(กัมมัสสกะ) ตนต้องเป็นทายาทของกรรม ที่ตนทำ (กัมมทายาท) ตนต้องเป็นผู้รับมรดกกรรมที่ตนทำ ไม่รับไม่ได้ ทิ้งไม่ได้ แบ่งให้ใครก็ไม่ได้ ไม่หกไม่ตกไม่หล่น ไม่ระเหย ไม่ระเหิด มรดกกรรม ที่ตนทำ ไม่ใช่มรดกเงิน ไม่ใช่มรดกอำนาจ ไม่ใช่มรดกอะไรที่มันหลงใหลอยู่ในโลก โลกที่มันหลอกๆนี่ เป็นโลกมายา โลกนี่คือ ชีวิตมายา ถ้าไม่ศึกษาสัจธรรมแล้ว จะไม่เข้าใจถึงสัจธรรม จะหลงไปกับมายา มายาคือลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข สุขที่เราได้ เป็นโลกีย์ ก็คือ มายา คือความหลอก ภาษาบาลีว่า”อลิกะ” “สุขัลลิกะ” แปลว่า สุขหลอกๆ สุขัลลิกะ เป็นสุข มายา มันไม่จริงเลยจริงๆ แต่มันก็ยากที่คนเราจะรู้ความจริง จนเห็น สัจธรรมว่า นี่คือ ความหลอก ไม่จริง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และมันไม่มี ตัวตน แต่คนไปหลงว่า ”ความสุข” เป็นตัวตน ความสุขเป็นความจริง ได้เงินมาก็สุข ได้ลาภมาก็สุข ได้ยศมาก็สุข ได้เสพกามก็สุข ได้กินของอร่อยก็สุข ได้อะไรๆ ก็สุขอย่างนี้ เป็นต้น นั่นแหละเป็นมายา เป็นความไม่จริง

รสสุขนั่นอย่างหนึ่ง รสของการกระทบสัมผัสทางตา เห็นรูปเป็นสีแดง แดงมันก็แดงจริงๆ นี่อีกอย่างหนึ่ง แต่คนที่ชอบแดงก็สุข คนที่ ไม่ชอบสีแดงก็ทุกข์ ไม่ชอบก็อึดอัด รำคาญ หงุดหงิด ผลักไสไม่เอา ก็ทุกข์นานาอารมณ์ สุข-ทุกข์เกิดจากจิตที่ติดสมมุตินั้นๆเข้าไปจริงทั้งสิ้น

อาตมาเป็นคนอีสาน เคยกินพริกอร่อย แต่ก่อนนี้ ตั้งแต่ยัง ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ยังไม่ได้เรียนรู้ กินพริกอร่อย เดี๋ยวนี้ความอร่อย มันไม่มี มันหายไป รสเผ็ดกับรสอร่อยมันคนละอย่าง พริกอาตมาแตะเข้า ก็มีรสเผ็ด เดี๋ยวนี้กินพริกก็มีแต่รสเผ็ด ไม่มีรสอร่อยแล้ว รสอร่อย มันหายไป จากจิตแล้ว แต่ก่อนนี้กินพริกถ้าเผ็ดอย่างนี้มีอร่อย..แซ่บ เกิดอยู่ ในจิตจริง เดี๋ยวนี้กินพริก ไม่มีอร่อย มีแต่รสเผ็ด..แสบร้อน รสอร่อยหายไป แต่ความเผ็ด มันมีจริง ความรู้สึกอร่อยและสุขที่เคยมีนั้นหายไป หมดไป นี่คือความสงบแท้ เพราะ ”รสอร่อย มันเป็นมายา” มันเป็นความไม่จริง

นี่คือ ความลดทุกข์ ลดสุข ลดสิ่งที่โลกเขาหลอก ลดโลกีย์แท้ นี่คือ นิพพานในแต่ละเหตุปัจจัย เป็นโลกุตระในศาสนาพุทธ “อวิชชา”ที่แปลว่า โง่ คือ โง่เพราะถูกโลกีย์มันหลอกเช่นนี้เอง ไม่ใช่”โง่”เพราะไม่รู้วิธีการโกง ไม่รู้การทำนา ไม่รู้ว่าเศรษฐศาสตร์คือ อะไร ไม่รู้ว่า โลกเขาสร้างอันนี้ ได้อย่างไร เป็นต้น คนที่ยิ่งฉลาดโกง นั่นแหละคือ คนยิ่ง”โง่” ที่เป็น”อวิชชา” เพราะหลงโลกีย์ฉลาดโลกีย์ แต่โง่ ไม่รู้มายาโลกีย์ ไม่มีภูมิโลกุตระ สังคมโลก”อาริยะ” หรือ ”โลกุตระ” (supra mundane) ที่จะเกิด จะมีขึ้นในสังคมไทย ต่อไปนี้ ไม่ใช่แค่โลก ”อารยะ” (civilize) ตามที่โลกีย์ เขาเป็นเขาเจริญกันเท่านั้น แต่จะเจริญชนิดที่ไม่เป็น ”ทาสโลกีย์” ดังตัวอย่าง ที่กล่าวมา นิดเดียวนี้ ต่อไป และต่อๆไป จะเป็น”สังคมใหม่” ที่มีเศรษฐกิจแบบใหม่ การเมืองแบบใหม่ มีความเป็นอยู่สุข ที่ไม่ถูกหลอก ด้วยมายา หนักหนา สาหัสยิ่งๆขึ้น เพราะ “อวิชชา” ตามความตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้า

แสงอรุณแห่งโลกุตรธรรม
วันนี้เริ่มฉายรังสีปรากฏแล้วในแผ่นดินไทย
.