พระโสดาบัน ... ... ... ภูมิโสดาบัน

ผู้ที่จัดอยู่ภูมิโสดาบัน จะต้องมีญาณทั้ง ๗ จึงจะชื่อว่าเป็นผู้เพียบพร้อมด้วย
โสดาปัตติผล ได้แก่

๑. คนผู้นั้นจะต้องเป็นผู้รู้แจ้งชัดในปริยุฏฐานกิเลส เช่นว่าเรายังมีนิวรณ์ ๕ กลุ้มรุม ซึ่งก็เป็นนิวรณ์กิเลสในขั้นปริยุฏฐาน (หมายถึงกิเลสในระดับที่เบาบางกว่านิวรณ์ขั้นวีติกกมกิเลส) ตามฐานะแห่งภูมิของอาริยชนระดับนี้ เราก็จะต้องรู้แจ้งในกิเลสนั้นๆได้จริง เป็นต้น หรือเราจะมีปริยุฏฐานกิเลสอย่างอื่นกลุ้มรุม เราก็สามารถรู้กิเลสนั้นๆได้ กล่าวคือ เป็นผู้มีจิตตั้งไว้ดี เพื่อตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย

พระพุทธเจ้าจึงทรงยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องสามัญที่ปุถุชนทั่วไปจะเป็นเช่นนี้ มีเช่นนี้ เพราะเป็นโลกุตระ เกิดได้ เป็นได้เฉพาะอาริยสาวกผู้มีภูมิบรรลุจริงเท่านั้น

๒. คนผู้นั้นเป็นผู้ไม่หนีหน้า “เหตุที่จะเกิดกิเลส” หรือไม่ใช่นักปฏิบัติธรรมผู้เอาแต่หลบหนีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดกิเลส แต่ต้องเป็นนักปฏิบัติธรรมผู้กล้าประจัญกับเหตุ คบคุ้นกับปัจจัยนั้นๆ ตามชีวิตปกติสามัญอย่างเหมาะสมแก่ฐานะ โดยกล้าประจัญกับสงครามกิเลส กล้าคบคุ้นกับ
สนามรบที่จะฆ่ากิเลสนั้นเสมอ (อาเสวนา) จนสามารถฆ่าละล้างหรือจนระงับดับกิเลสนั้นลงได้ นับเป็นความเจริญ (ภาวนา) และต้องกระทำอยู่เสมอ กระทำให้มากๆ (พหุลีกัมมัง)

๓. คนผู้นั้นจะมีปัญญาญาณรู้ชัดได้ว่า “ทิฏฐิที่ประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ และมรรคผลชนิดที่เราปฏิบัติได้ผลมาแล้วนี้” นั้น มันไม่เหมือนกันกับ “ทิฏฐิอื่นชนิดอื่นของนักปฏิบัติอื่น ซึ่งแม้เขาจะได้ผลของเขาก็จะเป็นอย่างอื่นๆ” ดังนั้น ผู้ที่ได้ผลอย่างสัมมานี้แล้ว จึงเห็นแจ้งแน่ชัดว่า ไม่มีแบบไหนๆ จะมาเหมือน หรือยิ่งนอกศาสนาพุทธก็ยิ่งไม่มีอย่างนี้

พระพุทธเจ้าจึงทรงยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องสามัญที่ปุถุชนทั่วไปจะเป็นเช่นนี้ มีเช่นนี้ เพราะเป็นโลกุตระ เกิดได้เป็นได้เฉพาะอาริยสาวก ผู้มีภูมิบรรลุจริงเท่านั้น

๔. ผู้บรรลุแล้วจะมีชีวิตเป็นอยู่ตาม “ศีลที่ตนได้แล้ว” นั้นอย่างสบายๆ ไม่ลำบากใจเพราะศีล มีชีวิตไปกับศีลที่ทำได้แล้วสบายๆเป็นธรรมดาสามัญ แต่หากถ้าเมื่อใดมีการบกพร่องในศีล หรือผิดพลาดในศีลที่ตนได้แล้วนั้นขึ้นมา ก็จะรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจทันที และจะรีบปลงอาบัติด้วยสำนึกอย่างเร็วพลันทีเดียว แล้วสำรวมในข้อผิดพลาดนั้นๆต่อไป เปรียบเสมือนมือหรือเท้าของเด็กน้อย หากถูกถ่านไฟร้อนเข้าเมื่อใด จะรีบชักมือชักเท้านั้นหนีเร็วพลันฉะนั้น

กล่าวคือ คนผู้นี้เป็นผู้มี “หิริ-โอตตัปปะ” ต่อศีลต่อธรรมของตนอย่างแท้จริง จะรักศีลสงวนธรรมที่ตนได้นั้นๆให้มั่นคงอยู่เสมอ หากตนเกิดบกพร่อผิดพลาดในศีลที่ตนได้ตนดีแล้วนั้นขึ้นเมื่อใด ก็จะสำนึกทันทีและรีบแก้คืนกลับ ทำศีลนั้นให้บริสุทธิ์ดังเดิมโดยเร็วมิชักช้า ความรักศีลรักธรรม ความสำนึกในศีลในธรรมจะมีเป็นปกติธรรมดาของผู้เป็น “โสดาบัน”

ซึ่งจะแตกต่างจาก “คนผู้ไม่ใช่โสดาบัน” หรือบุคคลผู้ไม่มีศีล ผู้ไม่รักศีล รักธรรมอย่างชัดเจน เพราะผู้ไม่รักศีลรักธรรมหรือผู้ไม่มีศีลนั้น แม้เขาจะทำผิดศีล เขาก็ไม่รู้ไม่ชี้ หรือแม้รู้ว่าเขาผิดศีลเขาก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจอะไร จะผิดศีลก็ผิดไป ไม่เห็นจะน่าตกอกตกใจอะไร แล้วผู้ไม่ใช่โสดาบัน ก็จะไม่นำพาในศีลในธรรมต่อไป เป็นปกติสามัญ ตามธรรมดาของปุถุชน เขาก็จะเป็นธรรมดาสามัญอยู่อย่างนั้นไปอีกนานเท่านาน

พระพุทธเจ้าจึงทรงยืนยันว่าธรรมดาสามัญของปุถุชนทั่วไป จึงไม่ใช่ธรรมดาสามัญที่อาริย-บุคคลเป็นได้และเป็นอยู่ เพราะเป็นโลกุตระ เกิดได้เป็นได้เฉพาะอาริยสาวกผู้มีภูมิบรรลุจริงเท่านั้น แต่ทั้งสองต่างก็มีความเป็นธรรมดาสามัญปกติของตน ๆ ทว่าคนละวิสัย

๕. คนผู้อยู่ในภูมิโสดาบัน หรือผู้ถึงพร้อมด้วยมรรคผลแล้วนี้ จะต่างจากนักปฏิบัติธรรมที่ยังไม่สัมมาทิฏฐิ หรือผู้มีทิฏฐิอื่น ๆ ถึงขนาดเป็นผู้มีสมรรถนะพิเศษหรือมีความสามารถพิเศษ ชนิดที่ปุถุชนทั่วไปเป็นอย่างนี้ไม่ได้ แต่ผู้ถึงพร้อมด้วยมรรคผลแล้วจริง จะมีสมรรถนะพิเศษนี้ได้อย่างเป็นธรรมดาเป็นปกติในชีวิตกันเลย

กล่าวคือคุณภาพแห่งสมรรถนะพิเศษที่ว่านี้ จะมีทั้งสามารถเป็นผู้ปฏิบัติฌานไปพร้อม ๆ กับขณะที่มีชีวิตปกติลืมตาโพลง ๆ มีอิริยาบถสามัญธรรมดาของคนที่กระตือรือร้นขวนขวาย ทำการทำงานต่าง ๆ หรือประกอบอาชีพไปด้วย และทั้งขณะเดียวกันพร้อม ๆ กับที่ทำการทำงานทำอาชีพอยู่นั่นและก็ปฏิบัติธรรมโดยสามารถพิจารณา “กายในกาย..เวทนาในเวทนา..จิตในจิต..ธรรมในธรรม” ไปด้วย มีสติสัมโพชฌงค์..ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์..วิริยสัมโพชฌงค์ คอยเพ่งพุ่งมุ่งปรารถนาแรงกล้าในการปฏิบัติธรรมให้แก่ตนเองไปในตัวชนิดมีประสิทธิภาพของปริญญา ๓ หรือสัมมัปปธาน ๔ คล่อง
แคล่วแววไวตามความสามารถของแต่ละบุคคลว่าใครจะเก่งมากเก่งน้อย อย่างเป็นธรรมดาเป็นปกติของชีวิตทีเดียว ทั้งธุรกิจการงานไม่ว่างานต่ำงานสูงต่าง ๆของสังคมหมู่กลุ่ม ทั้งตนเองก็ยังมีความแพ่งพุ่งมุ่งดิ่งขันแข็งอยู่กับการปฏิบัติธรรมเพื่อสร้างสัมมาในองค์มรรคทั้ง ๘ ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น ซึ่งก็คือการปฏิบัติอธิศีลสิกขา..อธิจิตสิกขาและอธิปัญญาสิกขาครบสูตรอยู่ในขณะนั้นนั่นเอง ไม่ต้องแยกเวลาแยกสถานที่ไปเป็นคนละเวลา เฃ่น เวลาทำงานทำอาชีพก็เวลาหนึ่ง หากจะปฏิบัติธรรมหรือปฏิบัติฌานก็ต้องหยุดทำงานหยุดอาชีพ ไปอยู่แต่ในที่จำเพาะในเวลาจำเพาะอีกที่หนึ่งอีกเวลาหนึ่งต่างหาก

การปฏิบัติธรรมของพุทธที่สัมมาทิฏฐิตามหลักมรรคองค์ ๘ ไม่ต้องแยกเวลาแยกสถานที่แต่อย่างใดเลย

เพราะคุณภาพหรือประสิทธิภาพในข้อที่ ๕ ของคนผู้เป็นโสดาบันตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นี้ต้องเป็นผู้มีความสามารถปฏิบัติธรรมหรือปฏิบัติฌานอยู่พร้อม ๆ กันกับการทำการทำงานทำอาชีพมีอิริยาบถใด ๆ อยู่ตามปกติคนสามัญ

เปรียบเสมือนแม่โคลูกอ่อนที่เล็มหญ้ากินด้วยและชำเลืองเลี้บงดูลูกน้อยไปด้วยพร้อม ๆ กัน หมายความว่าทั้งสองอย่างทำอยู่ในขณะเดียวกัน

ซึ่งข้อนี้เป็นที่น่าสังเกตอย่างสำคัญว่า ผู้ปฏิบัติตามหลักมรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นสัมมาทิฏฐิจริงแล้วนั้น ผู้ยิ่งบรรลุธรรมของพระพุทธเจ้าถูกตรงแน่แท้ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงยืนยันไว้ ก็จะเห็นว่ายิ่งเป็นคนกระตือรือร้นขวนขวาย ในกิจในงานสร้างประโยชน์แก่สังคมยิ่ง ๆ ขึ้นด้วย และยิ่งสมาธิแน่วแน่ (ไม่ใช่สมาธิในขณะนั่งหลับตา แต่เป็นสัมมาสมาธิที่มีในทุกอิริยาบถ) กล่าวคือมีจิตรู้ครบ ๖ ทวาร ตื่นเต็มแววไว แต่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง (เอกัคคตารมณ์) เพ่งดิ่งชำนิชำนาญในการปฏิบัติธรรมไปพร้อมกันกับขณะที่ทำการทำงานภายนอกยิ่งขึ้น โดยรู้ทันกิเลสไปในขณะมีสัมผัสอยู่กับอะไรต่ออะไรต่างๆนั้นด้วย ชนิดที่เป็นธรรมดาสามัญปกติในชีวิต ไม่ใช่ทำเป็นครั้งเป็นคราว หรือทำอย่างยากลำบาก ต้องฝืดต้องฝืน จึงเป็นผู้มีประโยชน์สร้างสรรเอางานเอาการในหมู่ในคณะในสังคม เป็นคนขยันขวนขวายเพราะ คิด พูด ทำ สิ่งที่ควรทำ มีอาชีพสร้างสรรอยู่ ไม่ได้แยกการปฏิบัติธรรมปลีกหนีจากการมีชีวิตประจำวัน อันเป็นปกติธรรมดาไปจากสังคมแต่อย่างใด

อาริยบุคคลที่สัมมาทิฏฐิจริง จึงไม่ใช่คนผู้ยิ่งปฏิบัติธรรม ยิ่งกลายเป็นคนเอาแต่หลงอยู่นิ่ง ๆ ว่าง ๆ หยุด ทื่อๆ หรือยิ่งหนีสังคม ไม่ประกอบการงานอะไร แล้วหลงนับถือกันว่า “นี้แหละคือผู้อยู่สงบ-ผู้ตัดขาด-ผู้หลุดพ้น” อย่างพาซื่อ ตามที่ชาวพุทธส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้ ได้พากันหลงเข้าใจผิด เอียงโต่งไปหาลัทธีฤาษีชีไพรดาบส ผู้เอาแต่หลงติดป่าติดถ้ำกันนั้นไม่

บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิของพระพุทธเจ้าจะต้องปฏิบัติจนถึงขึ้นชื่อว่า เป็นธรรมดาสามัญกันทีเดียว ซึ่งกว่าจะฝึกฝนจนมีได้เป็นได้ในอาริยธรรม ถึงขั้นชื่อว่า เป็นธรรมดาสามัญ หรือเป็นปกนิสัย (ธัมมตา) ปานนั้น จึงไม่ใช่ธรรมดาสามัญของปุถุชนเป็นกันอยู่แน่ๆ

พระพุทธเจ้าจึงทรงยืนยันว่า ธรรมดาสามัญของ “ปุถุชน” ทั่วไป จึงไม่ใช่ธรรมดาสามัญที่อาริยบุคคลเป็นได้และเป็นอยู่ เพราะเป็นโลกุตระ เกิดได้เป็นได้เฉพาะอาริยสาวกผู้มีภูมิบรรลุธรรมจริงเท่านั้น แต่ทั้ง ๒ ต่างก็มีความเป็นธรรมดาสามัญปกติ (ธัมมตา) ของตน ๆ ทว่าต่างก็เป็นคนละวิสัย

๖. คนผู้อยู่ในภูมิโสดาบัน หรือผู้ถึงพร้อมด้วยมรรคผลแล้ว จะต่างจากนักปฏิบัติธรรมที่ยังไม่สัมมาทิฏฐิ หรือผู้มีทิฏฐิอื่นๆ ถึงขนาดมีกำลังพิเศษหรือมีความสามารถพิเศษ ชนิดที่ปุถุชนทั่วไปเป็นอย่างนี้ไม่ได้ แต่พระโสดาบันเป็นอยู่อย่างนั้นได้ปกติในตนสามัญธรรมดา

เพราะผู้ที่มีภูมิโสดาบันหรือผู้ถึงพร้อมด้วย “มรรค-ผล”แล้วจริง จะเป็นได้อย่างแข็งแรง
(พลตา) ถึงขั้นเรียกได้ว่ามีความเป็นอำนาจ (พลตา) ในตนเอง จนตนเองได้พึ่งอย่างวิเศษ (นี่คือ อัตตา หิ อัตตโน นาโถ แท้ๆ) และมีความเป็นกำลัง (พลตา) จนสามารถสืบทอดเนื้อแท้ของพระศาสนาไว้ได้ทีเดียว

กล่าวคือ คนผู้นี้จะสามารถเข้าใจและรู้จักธรรมของพระพุทธเจ้าที่ตรัสแสดงไว้ดีแล้ว แม้จะมีบัณฑิตคนใดแสดงธรรมต่างๆ ออกมาอย่างไร ก็จะรับได้รู้ได้ ตั้งใจไตร่ตรองเลือกเฟ้นเอาได้ ว่าอย่างนี้คือพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า อย่างนั้นไม่ใช่ จึงกอปรก่อประโยชน์ได้ ทำใจในใจจนเกิดคุณค่าได้ มีใจที่เต็มไปด้วยความเอาใจใส่ต่อธรรมทั้งปวง และเป็นผู้จดจ่อตั้งใจใฝ่ฟังเอามาไตร่ตรองอย่างดี อย่างแข็งแรงถึงขั้นเรียกได้ว่า ความเป็นกำลัง, ความเป็นอำนาจ (พลตา)

นับว่าเป็นผู้สามารถเก็บเอาพระสัทธรรม ของพระพุทธเจ้าได้ สามารถคุ้มครองพระสัทธรรม ของพระพุทธเจ้าไว้สืบทอดต่อไปได้ เพราะเป็นอาริยสาวกจริง ผู้มีเชื้อ “พุทธ แท้” ย่อมสืบทอดต่อพันธุ์ “พุทธแท้” (นี่เป็นเพียง “เชื้อแท้ระดับต้น คือ โสดาบัน” หากเป็นผู้มี “เชื้อแท้ระดับสูงกว่านี้” ก็ยิ่งจะสืบทอดต่อพันธุ์แท้ได้คุณภาพดีกว่าขึ้นไปอีก)

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ความเป็นปกติสามัญธรรมดา” นั้น เป็นความธรรมดา (ธัมมตา) เช่นใด ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นอยู่กับ “ปุถุชน” หรือเป็นอยู่กับ “อาริยชน” แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมี “ความต่าง” ในความเป็นธรรมดาของคน ๒ ฐานะนี้แน่นอน โดยเฉพาะผู้ที่มี “อาริยธรรม” ในตนได้แล้ว จนเป็นธรรมดานั้น มันไม่ใช่ความเป็นธรรมดาสามัญที่ปุถุชนทั่วไปเขาเป็นอยู่ และปุถุชนย่อมเป็นเช่นอาริยสาวกเป็น ไม่ได้ เพราะเป็นโลกุตระ ที่เกิดได้เป็นได้เฉพาะอาริยสาวกเท่านั้น แต่ทั้ง ๒ ต่างก็มีความเป็นธรรมดาสามัญปกติ (ธัมมตา) ของตนๆ

๗. คนผู้อยู่ในภูมิโสดาบัน หรือผู้ถึงพร้อมด้วยมรรคผลแล้ว จะต่างจากนักปฏิบัติธรรมที่ยังไม่สัมมาทิฏฐิ หรือผู้มีทิฏฐิอื่นๆ ถึงขนาดมีกำลังพิเศษหรือมีความสามารถพิเศษ ชนิดที่ปุถุชนทั่วไปเป็นอย่างนี้ไม่ได้ แต่พระโสดาบันเป็นอยู่อย่างนั้นได้ปกติในตนสามัญธรรมดา (ธัมมตา)

เพราะผู้ที่มีภูมิโสดาบัน หรือผู้ถึงพร้อมด้วย “มรรค-ผล” แล้วจริง จะเป็นได้อย่างแข็งแรง
(พลตา) ถึงขั้นเรียกได้ว่า มีความเป็นอำนาจ (พลตา) ในตนเองจนตนเองได้พึ่งอย่างวิเศษ (นี่คือ อัตตา หิ อัตตโน นาโถ แท้ๆ) และมีความเป็นกำลัง (พลตา) จนสามารถสืบทอดเนื้อแท้ของพระศาสนาไว้ได้ทีเดียว

กล่าวคือ คนผู้นี้จะสามารถเข้าใจและรู้จักธรรมของพระพุทธเจ้าที่ตรัสแสดงไว้ดีแล้ว แม้จะมีบัณฑิตคนใดแสดงอยู่ก็จะรับได้รู้ได้ ตั้งใจไตร่ตรองเลือกเฟ้นเอาได้ ว่า อย่างนี้คือพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า อย่างนี้ไม่ใช่ และมีมรรคผลจนแข็งแรงสมฐานะ นอกจากจะมีพละแข็งแรง (พลตา) แล้ว

ย่อมได้ความรู้อรรถ (อัตถเวท) หมายถึง ได้สิ่งที่เป็นแก่นแท้บรรลุผลตามที่มุ่งหมาย

ย่อมได้ความรู้ธรรม (ธัมมเวท) หมายถึง ได้ความจริงต่างๆ ทั้งที่เป็นสิ่ง เป็นปรากฏการณ์ เป็นเหตุ เป็นผลต่างๆ ซึ่งมีทั้ง “สมมติธรรม” และ “ปรมัตถธรรม” มากมายเชิงชั้นสลับซับซ้อน ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม ตามบารมีเท่าที่ผู้นั้นๆจะสามารถ

ย่อมได้ความสุขใจยินดีร่าเริงอิ่มเอม (ปามุชช) อันเกิดขึ้นจากธรรม

อย่างแข็งแรงถึงขึ้นเรียกได้ว่า มีความเป็นกำลัง, มีความเป็นอำนาจ (พลตา)

นับว่าเป็นผู้สามารถเก็บเอาพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าได้ สามารถคุ้มครองพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าไว้สืบทอดต่อไปได้ เพราะเป็นอาริยสาวกจริง ผู้มี “เชื้อ (พุทธ) แท้” ย่อมสืบทอดต่อพันธุ์ “พุทธแท้”

พระพุทธเจ้าทรงยืนยันไว้ชัด ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๒ ข้อ ๕๔๓–๕๕๐ ว่า “อาริยสาวกผู้ประกอบด้วย ‘ญาณ ๗’ นี้แล้ว ย่อมเป็นผู้เพรียบพร้อมด้วยโสดาปัตติผล ฉะนี้แล”