หน้าแรก >[01] ศาสนา > พุทธสถาน > สันติอโศก > ที่ตั้งสำนักงาน-ประวัติ บุคลากร ระเบียบ กิจกรรม องค์ความรู้ ผลิตภัณฑ์

 ค. ประเพณีและกิจกรรมที่สำคัญ ของชาวชุมชนสันติอโศก 

๑. งานอโศกรำลึกและงานบูชาพระบรมสารีริกธาตุ

ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ได้พาหมู่สงฆ์และญาติธรรม ประกอบพิธีเฉลิมฉลอง พระบรมสารีริกธาตุฯ ที่อยู่ภายในเจดีย์ทองคำ บนยอดโดมสูงสุด ของพระวิหารพันปี เจดีย์บรมสารีริกธาตุ และเนื่องจากปี ๒๕๓๙ เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงครองสิริราชสมบัติ เป็นปีที่ ๕๐ พ่อท่านฯ และชาวอโศก จึงได้ร่วมฉลอง “วันกาญจนาภิเษก” ด้วยการถือเอา พระเจดีย์ทองคำนี้ เป็นราชสักการะ แด่องค์พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมงคลสมัยนี้ด้วย ชาวอโศกจึงถือเอา วันที่ ๙ มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันที่มาร่วมกัน สักการะบูชา พระบรมสารีริกธาตุฯ

ในวันนี้ นอกจากจะมีการฟังธรรมจากพ่อท่านฯ และสมณะแล้ว ยังมีรายการและกิจกรรม ที่น่าสนใจอื่นๆ ด้วย ส่วนที่ขาดไม่ได้คือ “โรงบุญมังสวิรัติ” ที่ชาวชุมชนสันติอโศก พร้อมใจกันจัดขึ้น สำหรับญาติธรรม และผู้สนใจที่มาร่วมงาน

และในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ ๑๐ มิถุนายน ก็จะเป็นงานอโศกรำลึก งานนี้จัดครั้งแรก เมื่อวันที่ ๕ มิ.ย. ๒๕๒๕ ที่ปฐมอโศก เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที อย่างเป็นรูปธรรม ต่อพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ซึ่งเกิดวันที่ ๕ มิ.ย. ต่อมาเมื่อเกิด “กรณีสันติอโศก” ในปี ๒๕๓๒ ทำให้พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ และหมู่สงฆ์ชาวอโศก ต้องเปลี่ยนรูปแบบ ให้ต่างไปจาก พระทางเถรสมาคม และใช้คำนำหน้าว่า “สมณะ” แทนคำว่า “พระ” ในวันที่ ๑๐ มิ.ย. ๒๕๓๒ พ่อท่านฯ จึงดำริให้ย้ายวันอโศกรำลึก มาจัดในวันที่ ๑๐ มิ.ย. แทน เพราะท่านไม่ประสงค์ จะให้ยึดติดตัวบุคคล ควรให้ความสำคัญกับ หมู่มวลมากกว่า คือ เป็นการรำลึกถึง อโศกทั้งมวล ที่ได้เสียสละ อดทน ต่อสู้ร่วมกันมา อย่างสันติวิธี

งานนี้ นอกจากจะจัดที่ปฐมอโศกแล้ว ยังได้เคยย้ายไปจัดที่ สันติอโศก ราชธานีอโศก สีมาอโศก จนมาลงตัว เหมาะสม ที่สันติอโศก เมื่อปี ๒๕๔๑ จึงได้จัดที่สันติอโศก ตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา

ในวันนี้ จึงเป็นวันผนึกคุณธรรมสำคัญ ของชาวอโศกทั้งมวล ที่ตั้งใจจะปฏิบัติ ให้เป็นจริง ตามความหมายของ วันอโศกรำลึก ๑๗ ประการ คือ

๑. เป็นวันส่วนตัว
๒. เป็นวันเงียบ
๓. เป็นวันอิ่ม
๔. เป็นวันเล็กๆ น้อยๆ
๕. เป็นวันอบอุ่น
๖. เป็นวันอิสระ
๗. เป็นวันสะอาด
๘. เป็นวันสูญ
๙. เป็นวันให้

๑๐. เป็นวันง่ายๆ

๑๑. เป็นวันสดชื่น

๑๒. เป็นวันรวมแก่น

๑๓. เป็นวันจริงใจ
๑๔. เป็นวันรัก
๑๕. เป็นวันลึก
๑๖. เป็นวันกตัญญู
๑๗. เป็นวันระลึกถึงพระคุณของบรรพชน

๒.  งานบูชาบุพการี

งานนี้ เป็นงานที่คณะครูและนักเรียนพุทธธรรมวันอาทิตย์ และโรงเรียนสัมมาสิกขา สันติอโศก ได้จัดขึ้น เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกถึง พระคุณของแม่ หรือบุพการี จะจัดในวันอาทิตย์ ที่ใกล้เคียงกับวันที่ ๑๒ สิงหาคม ซึ่งเป็น “วันแม่แห่งชาติ” เพื่อความสะดวกแก่ผู้ปกครอง ของนักเรียน และผู้มาร่วมงาน

เริ่มงานด้วยการกราบแม่ หรือพ่อ หรือผู้ปกครอง ที่เป็นตัวแทนของแม่ โดยนักเรียน จะกราบที่ตักของ “แม่” และบางคน อาจจะมอบของขวัญ ที่ทำจากฝีมือของตนให้ “แม่” ด้วย นับเป็นช่วงเวลา ที่น่าซาบซึ้ง ประทับใจ

จากนั้นก็เป็นการแสดงของนักเรียนพุทธธรรมวันอาทิตย์ และนักเรียนสัมมาสิกขาฯ สัมภาษณ์ผู้ปกครอง มีการมอบรางวัล แก่ผู้ชนะการประกวดเรียงความ เนื่องในวันแม่ และสัมภาษณ์นักเรียน ที่ได้รับรางวัล แล้วปิดงาน ด้วยการรับโอวาท จากสมณะ

๓.  โรงบุญมังสวิรัติ ๕ ธันวามหาราช

‘ชาวอโศก’ ได้ร่วมกันจัดโรงบุญมังสวิรัติ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๕ เป็นปีแรก ที่บริเวณท้องสนามหลวง และด้วยสำนึกถึง พระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวง ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ จึงร่วมใจกันจัดโรงบุญมังสวิรัติ ต่อเนื่องกันมาทุกปี และขยายวงกว้าง ไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภาค

และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงมีพระชนมายุครบ ๖ รอบ ชาวอโศก ก็ได้ร่วมแรง ร่วมใจกัน จัดโรงบุญมังสวิรัติ เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศล เป็นจำนวน ๗๒๐ แห่ง ทั่วประเทศ

นอกจากจะจัดให้มีโรงบุญมังสวิรัติ เนื่องในวโรกาส ‘๕ ธันวามหาราช’ แล้ว ในวันสำคัญต่างๆ ก็มีการจัดโรงบุญ แจกอาหารมังสวิรัติด้วยเช่นกัน

๔.  การอบรม “อุโบสถศีล” ถือศีล ๘

เป็นการฝึกเข้าวัดปฏิบัติธรรม ประจำทุกเดือน สำหรับญาติธรรมที่ยังมีภาระ เรื่องครอบครัวอยู่ และต้องการจะปฏิบัติขัดเกลา เพื่อพัฒนาตนเอง จัดอบรมในช่วงสุดสัปดาห์ ของสัปดาห์ที่สามของเดือน โดยมีเป้าหมายคือ

๑. เพื่อให้ญาติธรรม ไม่ห่างเหินจากการปฏิบัติธรรม
๒. เพื่อกระตุ้นญาติธรรม ให้ตื่นตัวขวนขวายในการปฏิบัติธรรม
๓. เพื่อมีเวลาฝึกเจโตสมถะ อย่างจริงจังมากขึ้น
๔. เพื่อฝึกปฏิบัติศีล ๘ หรืออุโบสถศีล ตามประเพณีไทยที่สืบกันมา
๕. เพื่อเป็นแบบอย่าง ทั้งกระตุ้นปวงชน ให้สำรวมในกามารมณ์
๖. เพื่อผนึกพลังคนดีมีศีล ร่วมสร้างประเพณีอันดีงาม ให้อนุชนสืบไป

๕. กิจกรรม “หนุ่มสาวเข้าค่ายจริยธรรม”

กำหนดอายุผู้เข้าอบรม ๑๗–๒๕ ปี ค่าใช้จ่ายฟรีตลอดงาน โดยมีเป้าหมาย ดังนี้

๑. เพื่อให้หนุ่มสาวได้รู้จัก เข้าใจและใกล้ชิดพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น
๒. เพื่อปลูกฝังและส่งเสริมศีลธรรมให้เกิดมีขึ้น ในวัยหนุ่มสาว
๓. เพื่อเรียนรู้อยู่ร่วมมิตรดี สหายดี สังคม สิ่งแวดล้อมดี ซึ่งเป็นสังคมพุทธบริษัท
๔. เพื่อพัฒนามนุษยสัมพันธ์ในเชิงสร้างสรร ในวัยหนุ่มสาว
๕. เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้หนุ่มสาว ผู้แสวงหาชีวิตที่ดีกว่า
๖. เพื่อผนึกพลังสามัคคีคนหนุ่มสาว ซึ่งอยู่ในวัยสร้างสรร

สำหรับกิจกรรมนี้ มีแนวทางการฝึกอบรมถือศีล ๕ ละอบายมุข รับประทานอาหารมังสวิรัติ วันละ ๒ มื้อ

 

 ง. งานประจำปีของชาวอโศก 

เป็นงานที่นักบวชและญาติธรรมชาวอโศกทุกชุมชน ไปร่วมอบรมบำเพ็ญธรรมกัน เป็นประจำทุกปี

๑. งานตลาดอาริยะปีใหม่อโศก

คำว่า “อาริยะ” หมายถึง วัฒนธรรมของผู้เจริญ ผู้ประเสริฐ เป็นความเจริญทางจิตวิญญาณ ไม่ใช่เจริญทางวัตถุ งานนี้จัดที่ชุมชนราชธานีอโศก จ.อุบลราชธานี ระหว่างสิ้นเดือนธันวาคม และต้นเดือนมกราคม ของทุกปี รวม ๔ วัน โดย มีวัตถุประสงค์ คือ

๑. รักษาประเพณีการบิณฑบาต
๒. ช่วยกันสร้างตลาดอาริยะ
๓. ฟังสัจจะสาระจากปฏิบัติกร
๔. ฝึกตื่นนอนแต่เช้า
๕. ชาวเราได้ร่วมสังสรรค์
๖. ช่วยกันทำงาน
๗. เบิกบานใจและผ่อนคลาย

อุดมการณ์ของตลาดอาริยะ

๑. กำไรของชีวิต คือ การให้ และการเสียสละ
๒. สินค้าที่ขาย ต้องขายต่ำกว่าทุน (ตั้งใจขาดทุน นั่นคือ ‘เสียสละ’)
๓. เจตนาให้ผู้ซื้อสินค้าได้แสดงน้ำใจ เปิดโอกาสให้ผู้อื่นซื้อ อย่างแบ่งปัน ไม่โลภ

“ตลาดอาริยะ” จึงเป็นตลาดอย่างผู้ที่ตั้งใจผลิต แล้วจำหน่ายจ่ายแจก อย่างเสียสละจริงๆ เท่าที่เราสามารถทำได้ ตามฐานานุฐานะ ของแต่ละบุคคล ฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่มีเลือด แห่งการเสียสละ อย่างแท้จริง และมีเลือดแห่งการสร้างสรรค์ ที่แข็งแรงพอ เพราะการไปเอา ผลผลิตของคนอื่น มาเสียสละนั้น ไม่ได้ผลเต็มที่ เราจึงต้องผลิตจาก แรงกาย หยาดเหงื่อ เลือดเนื้อ สร้างผลผลิตของเราเองขึ้นมา โดยหัดเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ไม่ไปยินดี ในการสะสมอะไรมาก และไม่เกียจคร้าน เมื่อขยันหมั่นเพียร สร้างสรรค์อยู่ทุกวัน ก็จะเกิดผลผลิต หนุนเนื่องตลอดเวลา ทั้งไม่สะสมกักตุน กินน้อยใช้น้อย แล้วก็สะพัดออก ตั้งใจเสียสละ เราก็จะมั่นใจ ในความขยันหมั่นเพียร มั่นใจในความสามารถ สมรรถนะของเราว่า มีความสามารถพอ จะสร้างสรรค์ สะพัดออกไปสู่สังคมได้

๒. งานพุทธาภิเษกสุดยอดปาฏิหาริย์

เป็นงานอบรมฝึกบำเพ็ญธรรม สติปัฏฐาน ๔ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ มีผู้เข้าอบรม ๑๐๒ คน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า ๒,๐๐๐ คน จัดที่พุทธสถาน ศาลีอโศก ต.โคกเดื่อ อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ ในช่วงวันมาฆบูชา ของทุกปี เป็นเวลา ๗ วัน อากาศค่อนข้างร้อน เป็นการบำเพ็ญตบะอย่างดี

กฎระเบียบพื้นฐาน สำหรับผู้เข้าร่วม ในงานปลุกเสก ‘พระ’ แท้ๆ ของพุทธ แบ่งเป็นหมวด ดังนี้

หมวดสังวรศีล

ถือศีล ๘ เป็นอย่างต่ำสุดทุกคน
ศึกษา “ศีล ๕” ให้เข้าใจ จำได้ และรู้ยิ่ง ๆ ขึ้น
พยายามปฏิบัติศีล ๘ ให้เป็นสติปัฏฐานให้ได้ คือพยายามมีสติระมัดระวังสังเกตตน อย่าให้มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ละเมิดศีล ๘ ให้มากที่สุด อยู่ตลอดเวลาที่ปลุกเสกฯ โดยเฉพาะกายกรรม วจีกรรมต้อง ได้จริง ๆ

หมวดสำรวมอินทรีย

ไม่สวมเสื้อผ้าสีฉูดฉาด หรือที่ไม่สุภาพ
ยืน เดิน นั่ง นอน พึงรู้ตัวและสำรวมเสมอ
พึงมักน้อย สันโดษ วิเวก ไม่หลงสวรรค์ในรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัสใน
อาบน้ำได้วันละครั้งเป็นอย่างมาก (ผู้จะลดยิ่งกว่านั้น ก็ตามแต่กำลังอินทรีย์)
อยู่ในบริเวณงานปลุกเสกฯ ไม่สวมรองเท้า

หมวดโภชเนมัตตัญญุตา

รับประทานอาหารวันละหนเดียว
ไม่รับประทานของเล่นของว่างใด ๆ ไม่หุง ไม่ต้ม ไม่ชงอะไรขึ้นมาดื่มมากินนอกเวลา
ไม่ดื่มน้ำแข็ง น้ำอัดลม น้ำเปรี้ยว น้ำหวาน ฯลฯ
ห้ามสะสมกักเก็บอาหารหรือของกินใด ๆ ภายในบริเวณงาน
ห้ามสูบบุหรี่ ไม่กินหมาก ไม่นัดยานัตถุ์ ไม่บริโภคสิ่งเสพติดใดๆ
บริขารเครื่องใช้ส่วนตัวในงาน เช่น ที่ปูนอน มุ้ง ผ้าห่ม ฯ ให้จัดหามาเอง และพยายามหัดใช้ให้น้อย
ไม่เรี่ยไรใดๆ โดยเฉพาะ “เงิน”
ไม่นำของมีค่ามาในงาน เงินก็ให้พกมาแต่น้อยที่สุด เท่าที่จะทำได้

หมวดชาคริยานุโยค

ไม่นอนกลางวันและพยายามไม่ทำตนให้โงกง่วง
ไม่ทำในเรื่องที่ไม่ควรทำในงานเช่นนี้
ไม่พูดในเรื่องที่ไม่ควรนำมาพูดในงานเช่นนี้
ไม่คิดในเรื่องที่ไม่ควร หยุดคิด หรือฝึกหยุดเสียให้ได้
ควรมีสติเป็นผู้ตื่น-เบิกบาน และรู้ตัวอยู่เสมอว่า เวลากำลังล่วงไปๆ ขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ ดีหรือไม่ดี และดีกว่านี้ เราพึงปรับปรุงขึ้นอีก มีหรือไม่ ?

ถ้าผู้ใด ยังไม่แน่ใจว่าจะทำตามกฎต่อไปนี้ได้ ก็ยังไม่ควรสมัครเข้าพิธีปลุกเสกฯ (โดยเฉพาะเด็กและคนแก่ ที่ประพฤติปฏิบัติตามกฎต่างๆ นี้ไม่ได้ เพราะดูจะกลายเป็น การทรมานเกินฐานะ )

๓. งานปลุกเสกพระแท้ๆ ของพุทธ

เป็นงานอบรมฝึกบำเพ็ญธรรมสติปัฏฐาน ๔ เช่นเดียวกับงานพุทธาภิเษกฯ จัดที่พุทธสถานศีรษะอโศก อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ในช่วงเดือนเมษายน ของทุกปี เป็นเวลา ๗ วัน จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ มี ผู้เข้าอบรม ๑๐ กว่าคน ปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า ๒,๐๐๐ คน มีกฎระเบียบพื้นฐาน เช่นเดียวกับงานพุทธาฯ แต่บรรยากาศร่มรื่นกว่า อากาศค่อนข้างเย็น และจะปฏิบัติเคร่งครัดกว่างานพุทธาฯ ซึ่งถือว่าเป็นการอบรมครั้งแรก

๔. งานอโศกรำลึก และงานบูชาพระบรมสารีริกธาตุ

จัดที่พุทธสถานสันติอโศก ถ.นวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ (มีรายละเอียดของงาน เช่นเดียวกับ หมวด ค. ประเพณีและกิจกรรมสำคัญฯ)

๕. งานมหาปวารณา

ตามประเพณีของชาวอโศก หลังจากออกพรรษาแล้ว เดิมกำหนดไว้ว่า เป็นอาทิตย์ที่สอง หลังออกพรรษา สมณะจากพุทธสถาน และสังฆสถานต่างๆ จะมาประชุมปวารณา ออกพรรษา ร่วมกันที่ พุทธสถานปฐมอโศก ซึ่งจัดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ และตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ เป็นต้นมา หมู่สงฆ์ได้เลื่อนวันมหาปวารณา มาอยู่ในช่วง ระหว่าง วันที่ ๗ พ.ย. ของทุกปี ซึ่งเป็นวันบวชของพ่อท่านฯ เอามาผนวกอยู่ด้วยกัน เป็นการแสดงความกตัญญู ต่อผู้ให้กำเนิด หมู่กลุ่มชาวอโศก

“มหาปวารณา” คือพุทธประเพณีอย่างหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้พระสงฆ์ ในพุทธสถาน กระทำการปวารณาตัวต่อกัน หลังจากได้อยู่ร่วมกันมา ตลอดพรรษากาล มีจุดมุ่งหมาย เพื่อยังศาสนจักร ให้ดำเนินไปได้อย่างมั่นคง และเจริญไพบูลย์ โดยอาศัยความสามัคคี แห่งสงฆ์สันนิบาต ที่ยินยอมพร้อมใจให้ว่ากล่าว ตักเตือนซึ่งกันและกันได้ ในฐานะแห่งกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นทั้งหมดทั้งสิ้น ของพรหมจรรย์

เป้าหมายของการประชุม เพื่อให้หมู่สมณะ มีโอกาสได้ชี้ข้อบกพร่อง ซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ในหมู่สงฆ์ชาวอโศก

นอกจากนี้ ยังเป็นการทบทวนการทำงาน ในรอบปีที่ผ่านมา กำหนดวางหลักเกณฑ์ และเป้าหมายการทำงาน ในปีต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับ สภาวะความเป็นจริงของสังคม

และยังมีการประชุมย่อย แยกพรรษาต่างๆ ด้วย เช่น สมณะมัชฌิมะ ๕-๙ พรรษา, สมณะเถระล่าง ๑๐–๑๔ พรรษา, สมณะเถระบน ๑๕–๑๙ พรรษา และสมณะมหาเถระ ตั้งแต่ ๒๐ พรรษาขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการกลุ่ม เกิดความแน่นแฟ้น สามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อช่วยกันเข็นกงล้อพระธรรมจักร ให้เป็นที่พึ่งของ พุทธศาสนิกชน อย่างแท้จริง

 จ. การเข้าพักค้างและสถานที่พักค้าง 

ผู้ที่ประสงค์จะมาพักในฐานะ “อาคันตุกะ” เพื่อศึกษาปฏิบัติ ทั้งหญิงและชาย ต้องถือศีล ๘ เป็นอย่างต่ำ มีความสำรวมสังวร ให้ดูเหมาะสม และจะอยู่ได้ไม่เกิน ๗ วัน หากจะอยู่เกิน ๗ วัน ก็ต้องแจ้งต่อหมู่สงฆ์ ตอนทำวัตรเช้า เรียกว่า “วิกัปป์” เพื่อให้หมู่สงฆ์พิจารณาดูว่า สมควรจะอยู่ต่อได้หรือไม่ หากหมู่สงฆ์เห็นสมควร ก็สามารถอยู่ปฏิบัติ ตามกฎระเบียบที่มีอยู่ ในฐานะ “อาคันตุกะจร” แล้วสามารถขอเลื่อนเป็น “อาคันตุกะประจำ” เมื่อพร้อม และต้องการจะอยู่ปฏิบัติ ให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น

๑. คนวัด และผู้ที่ตั้งใจมาศึกษาปฏิบัติธรรมกับชาวอโศก จะต้องพยายามถือศีล ๘ ให้ได้เป็นอย่างต่ำ

ฝ่ายชาย

เขตพุทธสถาน นอกจากเป็นกุฏิของนักบวชแล้ว ยังเป็นที่พักของคนวัดฝ่ายชายด้วย โดยจะพักอยู่ในบริเวณพุทธสถาน และบนพระวิหารพันปีฯ

ตึกสัมมาสิกขาสันติอโศก อยู่แถบซอยประสาทสิน เป็นที่พักของ นักเรียนสัมมาสิกขาฯ ฝ่ายชาย และผู้ดูแลฝ่ายชาย

ชั้นบนของศูนย์มังสวิรัติ เป็นที่พักของคนวัดฝ่ายชาย

ฝ่ายหญิง

ตึกขาว และตึกนวล อยู่แถบซอยเทียมพร เป็นที่พักของคนวัดหญิงและนักเรียนสัมมาสิกขาฯ ฝ่ายหญิง

ทั้งนี้ จะต้องได้รับอนุญาตจาก “สมณะ” ผู้ดูแล สำหรับฝ่ายชาย และต้องได้รับอนุญาตจาก “สิกขมาตุ” ผู้ดูแล สำหรับฝ่ายหญิง และต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของพุทธสถานฯ

๒. ชาวชุมชน จะต้องเป็นผู้ที่ถือศีล ๕ ละอบายมุข เป็นอย่างต่ำ

“อาคารตะวันงาย ๑” อยู่แถบซอยเทียมพร เป็นผู้ที่ถือศีล ๕ ละอบายมุข รับประทาน อาหารมังสวิรัติ

“อาคารตะวันงาย ๒” อยู่แถบซอยประสาทสิน เป็นผู้ที่ถือศีล ๕ ละอบายมุข รับประทาน อาหารมังสวิรัติ

ผู้พักอาศัยที่ “อาคารตะวันงาย” ทั้งสองแห่งนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการ อาคารตะวันงาย ในที่ประชุม ‘ชุมชนสันติอโศก’ ก่อน

ทาวน์เฮาส์ (ซอยกลางของพุทธสถานสันติอโศก) เป็นผู้ที่ถือศีล ๕ ละอบายมุข

พุทธสถานสันติอโศก จึงเกิดจากการร่วมรวมพลัง ทั้งแรงกายแรงใจ สร้างสรร ด้วยความเสียสละ อย่างเต็มใจ และด้วยแรงศรัทธา ในพระพุทธศาสนาของ กลุ่มพุทธบริษัทชาวอโศก อันประกอบด้วยนักบวช อุบาสก อุบาสิกา เป็นการพิสูจน์ และยืนหยัดยืนยัน ความเป็นไปได้ของการอยู่ร่วมกัน เป็นสังคมทวนกระแส โดยมีรากฐานความคิด ความเชื่อมั่นในทฤษฎี มรรคองค์ ๘ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างเป็นรูปธรรม ที่มีพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ เป็นผู้นำพา โดยเรียกแนวคิด และการประพฤติ ปฏิบัตินี้ว่า “ระบบบุญนิยม” ซึ่งเชื่อว่า จะนำพาสังคม ไปสู่ความสงบสุข ร่มเย็น เป็นทางรอด อย่างแน่นอน

ระบบนี้เริ่มต้นจากการสร้างคนดีมีศีล ให้ได้ก่อน คนดีที่ว่านี้ คือบุคคลที่จะต้อง ฝึกฝนตน สู่ทิศทางเหนือโลก (โลกุตระ) ลดละการบำเรอตน เข้าถึงอริยสัจธรรม ไปตามลำดับขั้น จนเกิด “โลกุตรจิต” อยู่เหนือโลกียะ อันเป็นเหตุแห่งการแก่งแย่ง เอาเปรียบเอารัด เบียดเบียนกัน ในสังคม

ดังนั้น คนดีจึงเข้าไปขวนขวายอนุเคราะห์สังคม อนุเคราะห์โลก (โลกานุกัมปายะ) ช่วยเหลือปวงชน อย่างเสียสละ จริงใจ ซึ่งตรงตามลักษณะ ของพุทธศาสนาที่ว่า เป็นไปเพื่อ พหุชนหิตายะ คือมีประโยชน์เกื้อกูล แก่ปวงชนทั้งหลาย และ พหุชนสุขายะ มีความเจริญสุข แก่ปวงชนทั้งหลาย

ชาวอโศกมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี เสียสละ สร้างสรร ทำประโยชน์แก่สังคม อย่างมี ‘พลังร่วม’ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ จากวิกฤตเศรษฐกิจ ในปัจจุบัน ที่มิได้กระทบกระเทือนเศรษฐกิจ ระบบบุญนิยมในชุมชน ของเราเลยแม้แต่น้อย เราสามารถ อยู่ท่ามกลางสังคมหมู่ใหญ่ ที่ประสบปัญหาต่างๆ ได้อย่างแข็งแรง ทั้งยังเป็นที่พึ่งพิง ของสังคมหมู่ใหญ่ด้วย

ชุมชนสันติอโศก จึงเป็น “ชุมชนบุญนิยม” ที่ยืนหยัดอยู่ในสังคมเมือง เพื่อพิสูจน์สัจธรรม ในพุทธศาสนาดังกล่าว ว่ามีผลทำได้จริง ในยุคปัจจุบันนี้ แม้อยู่ท่ามกลาง กระแสของราคะ โทสะ โมหะ เบียดเบียนกัน ด้วยความโลภ โกรธ หลง และเอารัดเอาเปรียบกัน เป็นความ “หลงวน” อยู่ในวัฏฏะอย่างไม่รู้จบสิ้น.

จาก “ชาวอโศก”

มี.ค. ๒๕๔๕

พิมพ์ครั้งที่ ๑ : มีนาคม ๒๕๔๕ จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม
พิมพ์ที่ : บริษัท ฟ้าอภัย จำกัด โทร. ๐๒–๓๗๕–๘๕๑๑
ผู้พิมพ์โฆษณา : นางสาวลัดดา ปิยะวงศ์รุ่งเรือง