โพธิรักษ์ กับ โพธิกิจ หน้า ๒


บุญบารมีที่สั่งสมมา

"พระพุทธเจ้า" ตรัสว่า "เราไม่เคยได้ยินได้ฟังความรู้นี้มาก่อนเลย"

แล้ว "พระพุทธเจ้า" ก็นำความรู้นี้ออกมาสอนแก่ใครๆ

"พระพุทธเจ้า" เป็น "สยัมภู" ตรัสรู้ได้เอง ซึ่งก็รู้มาจาก "พระพุทธเจ้า" องค์ ก่อนๆ นั่นเอง พระองค์รู้มาแล้ว หลายชาติ มากมาย จนไม่ต้องนับกันเลย

"ศาสนาพุทธ" นั้น ทุกอย่างมาแต่เหตุ อยู่ดีๆ มาเอง-มีเอง-รู้เอง..ไม่ได้ !

เหตุเพราะ ได้ "สั่งสมบุญบารมี" มา ได้ร่ำเรียนศึกษาเคยอบรมบำเพ็ญมา แล้วก็เอาความรู้นี้มาสืบต่อ ยังกุศล ให้ถึงพร้อม เอามาถ่ายทอดเป็นธรรมทายาท

ผมก็รู้จาก "พระพุทธเจ้า" หลายองค์ ผมก็เรียนมา สั่งสมมา ผมก็รับรู้มาจาก "พระพุทธเจ้า" ทุกอย่างมีเหตุ อยู่ๆ มีเอง -รู้เอง -เป็นเอง ไม่ได้ !

ผมเป็น "สาวกสังโฆ" เป็น "สัมมาสัมพุทธสาวก" รับต่อทอดมา

ผมก็มาแนะให้เกิด "ปัญญินทรีย์" เกิด "ปัญญาผล" ให้เกิด "ธรรมวิจัย" ใน เหลี่ยมมุมต่างๆ ผมพูดในสิ่งที่ พวกคุณ ไม่เคย ได้ยินได้ฟังมาก่อน

ผมแน่ใจว่า "ทิฏฐิที่ผมมีอยู่ขณะนี้ เป็น "สัมมาทิฏฐิ" มีปัญญา มีปัญญินทรีย์ มีปัญญาผล มีธรรมวิจัย มี "สัมมาทิฏฐิ" อยู่ในองค์มรรคทั้ง ๘"

ในเรื่องของบุญบารมีที่สั่งสม นั้น เราต้อง "ลดกิเลส" ให้ได้ "ลดกิเลส" ไปเถอะ ! แล้วอยากจะไปเชี่ยวชาญ - ชำนาญ - สามารถ-เก่งกาจในเรื่องใดๆ ก็เชิญ !

แล้วความเก่งนั้นๆ จะไม่เป็นดาบสองคม ย้อนมาเป็นพิษ-เป็นภัยแก่เราเอง จะไม่ยอกย้อนทำร้ายเรา ในภายหลัง เพราะเรามีหลักประกันที่ "ลดกิเลส" ได้

ถ้า ไม่ "ลดกิเลส" แล้วไปเก่งกาจสามารถ จะกลายเป็น "บาป" ยอกย้อน กลับมาแทงตัวเอง หรือ ทำให้ตัวเอง เกิดพิษภัย -เกิดโทษ-เกิดทุกข์

"ลดกิเลส" ได้แล้วจริง เราก็จะรู้จักเลือกด้วยว่า "ควรจะเก่ง ควรจะศึกษาอะไรที่จะเป็นประโยชน์คุณค่า ต่อโลกมนุษย์ ต่อสังคม"

คนเราจะฝึกฝน-จะศึกษาอะไร ก็ฝึกไป จะไปเก่งดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือ ศาสตร์แขนงใดๆ ก็ตาม ใครอยาก จะเก่งอย่างไหน ก็เก่งไป ก็ไปศึกษาค้น คว้าเชี่ยวชาญในทางนั้น สั่งสมกันเป็นชาติๆ ไป

แต่ ก็ต้องพิจารณาถึงเนื้อแท้ความสำคัญด้วยว่า "สิ่งนั้น มีความสำคัญสักแค่ไหน มีประโยชน์อย่างไร กับชีวิต อย่างลึกซึ้งสุดยอดหรือไม่

"พระพุทธเจ้า" เกิดไม่รู้กี่ชาติ ถ้าเชื่อว่า พระองค์ระลึกชาติได้ แต่ละชาติๆ ก็ได้ตั้งจิตมุ่งทิศทางที่จะศึกษา ความเป็น คนประเสริฐ และสิ่งที่ก่อเกิดวัฎสงสาร

พระพุทธเจ้า สนใจเรื่องอื่นๆ มาบ้าง ชาติสุดท้ายจึงเรียนจบหมดทุก ๑๘ วิชา เรียกว่า "จบ ดร. ทุกแขนง" ก็ยอดเยี่ยม มนุษย์แล้ว เพราะได้ฝึกฝนสั่งสมมาทุกชาติ มาชาตินี้เรียนรู้แป...บเดียวก็จบ ซึ่งคนทุกวันนี้จบ ดร. ๔-๕ ใบ ก็ยังมีเลย


สมณพราหมณา

สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้และโลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่ง ด้วยตนเองในโลก มีอยู่

"สมณพราหมณ์" ที่เป็นผู้รู้โลกนี้-โลกหน้า ก็ยืนยันพิสูจน์ด้วยการอธิบาย ด้วยการประกาศแจ้ง ให้พวกคุณ "รู้โลกนี้ ตามบ้าง รู้โลกหน้าตามบ้าง"

พวกคุณ "โชคดี" ที่ได้มาพบ "สมณพราหมณา" ผู้นั้น

ผมนี้แหละ คือ "สมณพราหมณ์ผู้นั้น ผู้ดำเนินชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้และโลกหน้า... ให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองในโลก" นี่ไม่ได้อวดตัวนะ !

เป็น "ยถาภูตัง อัตตานัง อาวิกัตตา" เป็น "ความจริงตามความเป็นจริง"

และ "อสโฐ โหติ อมายาวี" ไม่ได้เป็นเรื่องอวดเรื่องโอ่ ไม่ได้เป็นเรื่องมายา

ผมเปิดเผยตนเอง ด้วยตนเอง ในจิตผมขณะนี้ ไม่ได้คิดอยาก "อวดโอ่" ไม่ได้มีจิตใจ "ฟูฟอง" ถึงกาล ควรบอกกล่าว ก็บอก

ผมไม่ได้พูดเล่นๆ อวดโอ่เหมือนคนโชว์เพชร ร้านเล็กร้านน้อยก็โชว์ สลัมก็โชว์ ในวังก็โชว์ นั่นน่ะเรียกว่า "โอ่อวด" โชว์เขาไปหมด

ผมไม่ได้เป็นคนบ้าๆ บอๆ อย่างนี้ และไม่ได้ทำอย่างนั้น
ผมรู้หมู่กลุ่ม รู้กาละ เทศะ เวลา ในการที่จะพูดถึง และก็พูดด้วยจริงใจ

ผมขอยืนยันว่า "ผมเป็นสาวกที่ถูกต้อง ที่เป็นสัมมา ผมทำงานศาสนาที่ถูกต้อง สิ่งที่รู้ ผมรู้แจ้ง เห็นจริง เป็นสัจธรรม ที่ชัดเจน พิสูจน์ได้ และ กำลังนำพา พิสูจน์อยู่เดี๋ยวนี้" ขอตอบตรงๆ ว่า "ไม่ได้ยกตนสูง หรอกนะ"

เป็น "ความสูง" เองจริงๆ สูงจริงโดยธรรม ที่ได้ทำตนให้ "สูง" แล้ว

แต่ว่า "คน" กำลัง "ข่ม" ผมลงต่างหาก ไม่ใช่ผมยกตน !

อาตมาเป็นได้แค่ "สาวกของพระพุทธเจ้า" นะ อย่างเก่งก็เรียกอาตมาได้ว่า "สัมมาสัมพุทธสาวก" ซึ่งบางคน ได้ยินก็สะดุ้งสะเทือน

ทั้งๆ ที่ ใน "พระไตรปิฎก" ก็มีคำว่า "สัมมาสัมพุทธสาวก" ที่เรียกสาวกของพระพุทธเจ้าที่ปฏิบัติถูก - ปฏิบัติตรง ตามสัมมาสัมพุทธะ และก็มีมาตลอดเวลา

แต่เดี๋ยวนี้ ไม่มีใครสามารถปฏิญาณตนได้อย่างแน่ใจตนเอง และก็ไม่รู้กัน ได้ คือ ไม่เป็น "สัจฉิกรณะ" ไม่เป็นสิ่ง ที่รู้แจ้ง - เห็นจริง

"สติปัญญา" จึงเบลอไปหมด ! ช่วยเหลือสังคมไม่ได้ !

นี่คือ "ศาสนากำลังจะไม่มีเนื้อหาสาระ ไม่มีแก่นแกนกันอย่างมั่นคง"

 


เบื้องหลังสมณพราหมณ์ผู้นั้น

ชาตินี้อาตมาเกิดมา ก็ต้องมีเหตุปัจจัยครบ !

ทำไมอาตมาไม่มีอาจารย์ ทำไมอาตมาจึงไม่มีพื้นเบื้องหลังทางธรรม

ในชีวิตอาตมา ไม่ได้เรียน ไม่ได้ใส่ใจ ไม่เคยสนใจศาสนามาก่อนเลย ไม่มีเบื้องหลังแอบซ่อน ไปศึกษาศาสนา มาจากที่ลึก -ที่ลับไหนๆ

ชาตินี้ ใครก็ได้ บอกสิ ! ยืนยันสิ ! ว่า "อาตมาไปแอบเรียนรู้ธรรมะเมื่อไหร่ ใครเป็นอาจารย์ ถ้าใครรู้ประวัติ เบื้องหลังอาตมา ก็ลองตามสิ"

อาตมาไม่เคยไปเรียนธรรมะจากสำนักไหนๆ ไม่เคยไปเรียนรู้อะไรๆ เกี่ยวกับศาสนา เกี่ยวกับพระ จนรู้แจ้ง เจนจบ รู้จริงมาจากใคร

ไม่เหมือนหลายๆ คน ที่พยายามสนใจธรรมะ ศึกษาธรรมะจากอาจารย์โน้น-อาจารย์นี้ ศึกษาจากตำราโน้น - ตำรานี้ อะไรๆ มาตั้งแต่เล็กแต่น้อย

อาตมามีแต่มุมานะใส่ใจทำมาหากินแบบโลกๆ เลอะเทอะไป ไม่ได้ใส่ใจเลยในศาสนา กลับไปสนใจ "ไสยศาสตร์" ด้วยซ้ำ ไปเล่น "เดรัจฉานวิชา"

แต่ อาตมาก็ไม่ได้รังเกียจศาสนา เพียงแต่ไม่ได้ใส่ใจ

แล้วอาตมาก็ไม่ได้มีเจตนาจงใจ คิดอ่านว่า "จะต้องมาเป็นอย่างทุกวันนี้ มาทำงานอย่างนี้ มาพูดอย่างนี้ ไม่มีเลย ไม่เคยคิดฝันเลยจริงๆ"

มีแต่พากเพียรหัดเป็นนักโฆษก เสแสร้งทำทีพูดไพเราะเพราะพริ้ง เพื่อที่จะให้ได้อยู่ในโลก ให้มีชีวิตวิเศษ ในทาง แบบโลก เป็นคนโลกๆ ด้วยซ้ำ

มีวิมานวาดฝันว่า "จะต้องเป็นคนเก่ง-คนดังทางโลก ในงานอาชีพที่หลงไปแล้ว ที่ รัก รักพงษ์ เขาอยาก จะเป็นยิ่ง -เป็นใหญ่ทางโลก มุ่งหมายอุตสาหะวิริยะด้วยซ้ำ ที่จะขอโด่ง -ขอดังไปอย่างนั้น ใช้เวลา เพียรพยายาม ก็มากมายหลายปี"

แต่อาตมาต้องมาเป็นอย่างทุกวันนี้ ก็เพราะ มีโลกก่อน มีโลกนี้ มีโลกหน้า เป็น "บารมีเก่า" อาตมา ถึงกล่าวว่า "ใครก็ตาม อธิบายให้อาตมาทีว่า อาตมาเอาความรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ (ภูมิธรรม) มาจากไหน"

เป็นนักอ่านก็แสนเลว พระไตรปิฎกส่วนมากที่รู้ๆ อยู่นี่ คนอื่นอ่าน แล้วก็เอามาช่วยป้อน ช่วยบอก เอามาเสนอ ให้ดูบ้าง ก็ได้รู้ได้เห็นความสำคัญขึ้นมา

อาตมาไม่เคยคิดว่า"อาตมาจะมาฉลาดอย่างนี้ มีความรู้ในทางธรรมอย่างนี้"

แต่ก่อนอาตมาก็หลงๆ เลอะๆ ถูกโลกโลกียะเขาเขย่าให้เมา อาตมาก็เมาๆ มึนๆ งงๆ งมๆ คลำๆ โลกหลอก ให้เมา ก็เมาไปตามเขาบ้าง พอพ้นช่วงนั้นแล้ว ถึงเวลาก็รู้ ก็เป็นเอง ก็หายเมาเอง เพราะอาตมา "มีเชื้อเก่า มีบารมีเก่า"

พอหันมาใส่ใจในศาสนา อาตมาจึงปฏิบัติธรรมไว ไม่ช้าไม่นานเลย

เพราะอาตมามีฤทธิ์ในทางธรรมของอาตมาเอง พอรู้ตัวขึ้นมา มีอินทรีย์พละขึ้นมา ก็หยุดเมา ค่อยๆ ฟื้นมารู้ตัว อาตมาถึงได้หันเหชีวิตมาทางนี้

เมื่อมาทางนี้แล้ว ถึงได้รู้ตัว ค่อยๆ หายเมาจากลิงลมอมข้าวพอง ใหม่ๆ ก็ ยังเซ่อๆ อยู่ จนได้ "ภูมิธรรม" ขึ้นมาเรื่อยๆ ก็รู้ว่า "เราไม่ใช่คนที่จะต้องถูกสิง-ถูกทรงอะไรนี่ เราไม่ได้เป็นคนของโลกโลกีย์"

และการเป็นอยู่ทุกวันนี้ อาตมาก็ไม่ได้แกล้งเป็น ไม่ได้แกล้งรู้ ไม่ได้แกล้งฉลาด ไม่ได้แกล้งสบาย ใครแกล้ง ฉลาด แกล้งสบายอย่างอาตมาได้ ก็จงแกล้ง เถิดให้ตลอดชีวิต นี่ถ้าอาตมาไม่รู้โลกก่อนของตน อาตมา ก็จะต้องทึ่ง ต้องงง !

เวลามีคนถามว่า "ทำไมถึงต้องบวช" อาตมาจึงตอบไม่ได้ว่า "ทำไม ?"

ถ้าตอบแล้ว จะเหมือนกับคุยโม้มาก เพราะเมื่ออาตมาสลัดอาการถูกสิง-ถูกทรง สลัดคราบโลกียะ ที่มาฉาบพอก จนสะอาดหมดจดออกมาแล้ว

อาตมาถึงได้รู้ว่า "อาตมาเป็นใคร ? อย่างไร ? ต้องมาทำอะไร ?"

ซึ่งอาตมาก็ยังไม่ได้พูดอะไรมาก แต่ "สารัตถะ" ก็แสดงอยู่ พูดไป ทำไป

อาตมาจึงมาทำงาน-ทำหน้าที่ สิ่งจริงของอาตมาไป ทำอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

 


รู้เอง เห็นเอง แจ้งเอง

เพราะอาตมาไม่มีอาจารย์ ที่ไปศึกษาธรรมะ นำพาธรรมะจากสำนักนั้น สำนักนี้ ที่พาให้ "บรรลุธรรม" อย่างนั้น อย่างนี้ ไม่เคยมี !

เรื่องนี้ จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า "บารมีเก่ามีจริง"

ความรู้ทาง "ศาสนา" ของอาตมา "เหมือนอาจารย์สำนักไหน องค์ไหน"

แล้วอาตมาเอามาโอ่อวดว่า "เป็นของตน โดยเฉพาะธรรมะขั้นลึกๆ ซึ้งๆ"

อาตมาจึงกล่าวได้ว่า "ชาตินี้อาตมาไม่มีอาจารย์ที่ได้ไปเรียนรู้ และได้บรรลุธรรมตามอาจารย์นั้นๆ ได้ความรู้ อันนั้น -อันนี้ พาได้มรรค-ได้ผลอย่างนั้น-อย่างนี้ ก็ไม่มี"

มีแต่ ปฏิบัติเอง เรียนเอง จนรู้แจ้ง จนเข้าใจอะไรต่างๆ นานา กระทั่งสละออกจากโลกีย์ มาทำงาน "ศาสนา" จนป่านนี้ ก็มีคนเข้าใจผิดหาว่า "อาตมาอวดดี ที่กล่าวว่า ตนไม่มีอาจารย์"

เขาแย้งว่า "ก็อ่านหนังสือของใครๆ นั่นไง ก็ต้องถือว่า นั่นก็เป็นอาจารย์"

อาตมาก็อยากจะให้เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ที่อาตมาได้ อาตมาทำนั้น ก็ไม่ได้ทำตามหนังสือของใคร ทำก็ไม่ได้ เหมือนคณะไหน อาจารย์ไหน อย่างตรงกันไปทีเดียว พื้นฐานทั่วๆ ไป ตื้นๆ ก็เหมือนกันบ้าง แน่นอน เพราะของง่าย พื้นฐานสามัญ ใครๆ ก็ย่อมพอรู้ ! แต่ความเห็นขั้นลึก "ถึงมรรค-ถึงผล" นั้น ไม่เหมือนกัน ยิ่งต่างกันเอาด้วยในความละเอียดลึกซึ้ง แล้วจะเรียกว่า "คือครู คืออาจารย์ ไปได้อย่างไร"
ก็เช่นกันกับ "พระพุทธเจ้า" ไปลองศึกษาเรียนรู้จากคนอื่นเยอะแยะ แม้แต่อาฬารดาบส อุทกดาบส แต่พระองค์ ก็ไม่ได้มรรคผลอย่างนั้น ไม่ได้ทางปฏิบัติอย่างนั้น สิ่งที่ "พระพุทธเจ้า" ตรัสรู้ เป็นความรู้ ของพระองค์เอง จริงๆ ต่างหาก

ผลที่ได้ก็ต่างจากฤาษี เดียรถีย์อื่นๆ มีมรรคไม่เหมือนกัน มีผลไม่เหมือนกันจริงๆ มี "คุณค่า" ผิดกันแยะ ! ฉะนั้น อย่าเพิ่งตีขลุม -ตีความกันง่ายๆ

 

๑๐
รู้พระไตรปิฎก รู้พระบาลี (แปลกพิเศษ)

อาตมาเคยบอกกับพวกเราว่า "พระไตรปิฎก" ไม่ว่าเล่มไหน หยิบขึ้นมา จะเป็นสูตรไหนก็ตาม เปิดสูตรมา อาตมา สามารถอธิบายได้ทันที

จนมีคนเพ่งโทษด้วยซ้ำไปว่า "ทำไมไม่เตรียมตัวก่อน"

เขาก็ว่า "แบบนี้ก็เอาความเห็นของตัวเองใส่เข้าไปหมดน่ะสิ !"

ก็ใช่อีกแหละ ! ก็ความเห็นของตัวเองนี่แหละ ตามที่อาตมาเข้าใจ

อาตมาอ่าน "พระไตรปิฎก" เข้าใจ แล้วซาบซึ้งด้วย ถ้าส่วนไหนที่ซึ้ง ก็ซึ้งเลย สัมผัสแล้ว ก็รู้ทันที เข้าใจ ทันที เยอะแยะอธิบายไม่หมด

อย่าง *มหาจัตตารีสกสูตร นี้ อาตมาก็ต้องค่อยๆ อธิบาย ต้องพยายามใช้สำนวนชาวบ้านๆ ของเรา ออกมาเอง เพื่ออธิบายสภาวะนี้ให้ได้รู้กัน อาตมารู้อยู่ในตัวเองนี่แหละ ก็ยังขยายให้คนอื่นรู้ตามยากมาก จึงต้องพยายาม อย่างที่สุด ที่จะใช้ภาษา และ สำนวน โวหาร คารม ปฏิภาณ ซึ่งก็ใช้ภาษาธรรมดา นี่แหละ ที่จะพยายามสอดร้อย ขึ้นบน ลงล่าง ให้สัมพันธ์กัน เพื่อให้คนฟังเข้าใจ

อาตมาพยายามแปล "บาลี" จนพวกเปรียญเก้าประโยคมาฟังแล้ว ก็หาว่า "อาตมาแปลเอาเอง" เพราะเขา ไม่เคยเรียน อย่างนี้ ก็อาตมามีญาณรู้เองอย่างนี้นี่

อาตมาไม่เคยเรียนบาลี แม้เปรียญหนึ่งประโยค...ก็ไม่เคยเรียน นักธรรมตรี ก็ยังไม่เคยเรียนเลย เขาถึงได้ กล่าวหาว่า "อาตมานอกรีตนอกรอย พูดเอาเอง"

ก่อนที่จะว่า "พูดเอาเองนี่" มาฟังเหตุผลกันหน่อยได้ไหม ?

อาตมาว่า "อาตมาอธิบายธรรมะของ "พระพุทธเจ้า" ได้สอดคล้องเหมือนร้อยมาลัย อธิบายได้ อย่างละเอียด -ลึกซึ้ง -หลากหลาย -มีแก่นสาร -มีสาระประโยชน์ ต่อมวลมนุษยชาติ" อย่าเพิ่งรีบผลักไส เร็วไปเลย มาฟังกันบ้างซิ !

ไม่เคยได้ยิน ได้ฟังแบบนี้มาก่อน ก็มาฟังบ้างเป็นไรไป...ฯลฯ

ภาษาบาลีนี้ เป็นภาษาที่ไม่มีการพัฒนาอีกแล้ว เป็นภาษาตายแล้ว เหลือแต่ใน"พระไตรปิฎก" เท่านั้น

อาตมาก็หยิบยกหลักธรรมขึ้นมาจากหลักฐานใน "พระไตรปิฎก" ที่เป็นวัตถุ ตำราชิ้นสุดท้าย ที่ไม่มีอื่นอีก ฝ่าย "เถรวาท" ก็มีแค่ ๔๕ เล่ม ฝ่าย "มหายาน" บ้างก็ว่า มี ๓๐๐ กว่าเล่ม บ้างก็ว่ามี ๖๐๐ กว่าเล่ม

ทั้งหมดนี้ ก็เป็น "ตำราศาสนาของพุทธ" ที่เราจะต้องเอามาเรียนรู้กัน โดยไม่แยก "มหายาน" ไม่แยก "เถรวาท" ไม่ทะเลาะกัน

เพราะการทะเลาะกัน เป็นเหตุให้เกิด "สังฆเภท"

ผู้ใดยังแยก "มหายาน" แยก "เถรวาท" จะเป็น "สังฆเภท"

 

๑๑
ใครกันแน่ ? ไม่จริงใจในศาสนา

พูดด้วยความจริงใจนะ คนไม่รู้ใจอาตมา ก็หาว่า อาตมาไม่จริงใจต่อศาสนา

พระผู้ใหญ่บางท่านก็เข้าใจผิด มองจิตลึกๆ ของอาตมาไม่ออก จะเอาอาตมา ออกจากศาสนาพุทธให้ได้ ก็เห็นจิตใจ ของท่านแน่แท้แล้วว่า "โอ้โฮ ! จะเอาเราออกนอกขอบเขตศาสนาพุทธ พระโพธิรักษ์ อยู่ร่วม ศาสนาพุทธ ด้วยไม่ได้แล้ว"

อาตมาเห็นว่า "ท่านจริงใจ" แต่ท่านมีความรู้-มีภูมิรู้เท่านั้น ใช้คาดคะเนเอา

ยิ่งฟังคำวิเคราะห์วิจารณ์ของท่านมากขึ้น อาตมาก็ยิ่งเห็นว่า "ท่านมีน้ำหนักเชื่อไปมากจริงๆ" ว่า "อาตมา ไม่จริงใจ ต่อพระศาสนา เชื่อว่าอาตมาคงจะมีเลศเล่ห์

ลึกๆ คิดที่จะมาล้มล้างศาสนา" จริงๆ แล้ว ท่านควรมีเจตนาดีให้มากกว่านี้

แต่ท่านกลับไปหาข้อมูลเพิ่มขึ้นให้แก่ "เจตนาร้าย หรือ เจตนาตัวโง่-ตัวผิด"

ยิ่งทำให้อาตมาเห็นว่า "อ้อ ! ท่านเองเป็นผู้ที่เข้าใจไม่ลึก"

ถ้าอาตมา "จริงใจ" ต่อศาสนาจริง ท่านก็ยิ่งเข้าใจผิดออกไปมากว่า "อาตมา ไม่จริงใจต่อศาสนา" เพราะความฉลาด ของท่าน ก็เลยยิ่งวิเคราะห์ ยิ่งหาเหตุผลของท่านไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งพาให้ท่านผิดเพี้ยน จากความจริง ออกไปมาก ใช่ไหม ?

ท่านก็ยิ่งเห็นว่า "อาตมามีใจไม่ซื่อสัตย์ มีเจตนาไม่ดีต่อศาสนา" ท่านยิ่งเข้าใจออกไปอย่างนี้มาก แล้วท่าน เข้าใจผิดหรือถูก ?

ท่านก็ยิ่งเข้าใจผิดมากขึ้น ใช่ไหม ?

อาตมาก็ยิ่งรู้สึกว่า "ท่านยิ่งไม่เข้าเป้า ท่านยิ่งไม่ฉลาดในเนื้อหา แล้วกลายเป็นคนที่ยิ่งไม่หนักแน่น ไม่แหลมคม ไม่ชัดเจน"

ภาษาบัญญัติ และ ตรรกศาสตร์เป็นพิษ เพราะไม่เข้าหา "ความจริง" ให้มาก

มนุษยชาติทั้งหมดทุกวันนี้ รวมทั้งต่างประเทศด้วย ก็เป็นแบบนี้ หลงใหลความรู้ แล้วห่างเหิน ความจริง เพราะราคา ความรู้มีค่าสูง เอามาค้าขายได้ราคาแพง

จึงนิยม ความรู้ กันมาก ประเทศด้อยพัฒนาหลายประเทศ ก็กำลังพยายามให้การศึกษา ให้ความรู้ แล้วก็รับรอง ให้ได้ปริญญาออกมาเป็นใบเบิกทางหางานทำ

คนมีฝีมือจริงๆ ทุกวันนี้ จึงโดนกีดกัน ! โดนกดราคา !

 

๑๒
ประกาศสัจธรรมด้วยญาณ

อาตมาเห็นชัดเจนว่า "อาตมาไม่ยากในเรื่องการสอน"

เพราะว่า "อาตมามีของจริง มีเนื้อใน มีญาณ คือ ตัวธาตุรู้ที่อ่านของจริง"

อาตมาเคยบอกกล่าวกับพวกเราว่า "อาตมาไม่ได้บรรยายธรรมะ หรือขยายความธรรมะ ด้วยตรรก หรือ ด้วยการสันนิษฐาน หรือด้วยการตีความ"

อาตมาบรรยายธรรมะ หรือ พูดภาษาธรรมะด้วย "ญาณ" เรื่องนี้ยากนะ !

คนไม่มีก็ไม่มีจริงๆ คนไม่มี "ญาณ" พูดกันไม่รู้เรื่องหรอก เพราะเขาใช้แต่ ตรรก การตีความ ใช้แต่ความคิด ใช้แต่ เหตุผล เท่าที่เขามีภูมิรู้ มีประสบการณ์

"ญาณ" เป็นความรู้ที่รู้ โดยมีของจริงที่เป็นสัจธรรม ไม่ใช่ภาษา ไม่ใช่ตีความ ไม่ใช่สันนิษฐานออกมา ของจริง ยิ่งลึกละเอียด บางทีพูดกันไม่ได้ พูดไม่ออก

อาตมารู้เอง แต่พยายามจะอธิบายเป็นภาษาคนอย่างไร ? เท่าที่อาตมาเข้าใจ ว่า "ภาษาอันนั้น...สื่ออันนี้ ใช้แทน สภาวะนี้ได้"

อาตมาก็พยายามใช้ แม้แต่ภาษาอังกฤษซึ่งไม่เก่งเลย แต่อาตมาจะใช้ภาษาอะไรเป็นคำแทน เป็นซินโนนีม เป็นไวพจน์ เป็น คำขยาย คำคล้าย คำที่จะชี้สิ่งนี้-สื่อสิ่งนั้นออกมา ให้ได้ทุกแง่มุม

บางคนไม่เข้าใจอาตมา นึกว่า "อาตมาตีความสันนิษฐานคิดๆ ค้นๆ"

จะเห็นได้ว่า "อาตมาไม่ต้องคิดมากหรอก ตอบเร็ว พูดเร็ว"

ถ้าจะคิด ก็คิดหาคำ จะเอาคำอะไร ? มาเรียก สภาวะนี้ ความจริงนี้ ออกมาให้ตรงชัดที่สุด เพื่อให้คุณรู้ ธรรมะลึกๆ เท่านั้นเอง

อาตมาก็ต้องมีเนื้อหา มีแก่นสาร มีธรรมะ มีปฏิภาณ มีนิรุตติภาษา มี "อัตถะปฏิสัมภิทาญาณ" มี "ธรรมะ ปฏิสัมภิทาญาณ" ให้เก่งมากขึ้นทุกวัน

"นวโกวาท" แปล "ธรรมะปฏิสัมภิทาญาณ" ว่า "เหตุ ผู้รู้แจ้งเหตุ"


"อัตถะปฏิสัมภิทาญาณ" ว่า "ผล ผู้รู้แจ้งผล"
อาตมาเห็นว่า "แปลไม่ผิด แต่ไม่ครบรอบ แปลไม่หมด" ก็แปลตามภูมิของเขาใน "นวโกวาท" หรือ ใน "พระไตรป"ฎก" ก็ตาม

"ธรรมะ" ไม่ได้แปลว่า "เหตุเท่านั้น" ต้องแปลว่า "เหตุผลชั้นเชิงทั้งหมด"

คำว่า "ธรรมะ" นี่ รวมทั้ง "อัตถะ" ด้วย

แต่ "อัตถะ" หมายถึง "ผล" หมายถึง "แก่น" เท่านั้น

ส่วน "ธรรมะ" หมายถึง "เปลือกกระพี้นอกในจนถึงแก่น"

"ธรรมะ" รวมเหตุและผลไว้ทั้งหมด แล้วอยู่อย่างมีชั้นเชิง อยู่อย่างสภาพหมุนรอบเชิงซ้อน ยากจนไม่รู้ จะพูดอย่างไร

ตั้งแต่อาตมารู้แจ้งในห้องส้วมที่จะไปทำธุระเบาตอนตี ๒ "โอ้โฮ ธรรมะนี่เป็น อย่างนี้" จากวันนั้นจนถึงวันนี้ อาตมา ยังไม่มีภาษา ที่จะเรียกสิ่งนี้ออกมาได้ทั้งหมด

จนเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่มี อาตมาพูดเป็นภาษาได้ว่า "เป็นสภาพหมุนรอบเชิงซ้อน"

คิดได้คำนี้...คำเดียว ! ตั้งแต่บัดโน้น...จนบัดนี้ ยังไม่มีคำใดดีกว่านี้

สภาพหมุนรอบเชิงซ้อน ถ้าเป็นวงกลมก็ซ้อนกัน ทั้งข้างล่าง-ข้างบน สานไปมา จนไม่รู้จะสานอย่างไร ? ซับซ้อน จึงเรียกว่า "สภาพเหตุและผลที่ซับซ้อนลึกซึ้ง ไม่รู้กี่ชั้น กี่เชิง" ธรรมะเป็นปานนั้น

"นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ" คือ ผู้รู้แจ้งภาษา-คารม-ตัวหนังสือ-อักษร-พยัญชนะ รู้จักภาษา ที่จะเอามาใช้ พูดอธิบาย ขยายความ

"ปฏิสัมภิทาญาณ" ก็เป็นผู้รู้ ผู้มีความเฉลียวฉลาด-มีปฏิภาณ รู้แล้วก็เอาสิ่งเหล่านั้น ออกมาใช้ได้ด้วย

"ปฏิ-ภาณะ" ก็คือ "ทวนรอบเอาออกมาใช้ได้"

ความรู้ที่อาตมารู้ รู้อยู่ในๆ นี้ รู้ยิ่งกว่า "ปฏิภาณ" ที่เอาออกมาใช้ได้

แต่อาตมาก็มี "ปฏิภาณ" เอาออกมาใช้ได้เพิ่มขึ้น มี "นิรุตติภาษา" เพิ่มขึ้น จาก "อัตถะ" และ "ธรรมะ" ที่มีอยู่เก่านี้ ยังใช้ไม่หมด

อาตมาขอยืนยันว่า "อัตถะ ธรรมะ ที่อาตมามีอยู่ เอาออกมาใช้ยังไม่หมด ยังเอาออกมาให้คุณรับรู้ได้เรื่อยๆ ไม่หมด"

 

๑๓
ประกาศศาสนธรรม (เบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย)

อาตมาแน่ใจว่า "อาตมาพยายามประกาศธรรม ให้งามในเบื้องต้น-ท่ามกลาง -บั้นปลาย พยายามจริงๆ" พยายาม อธิบายประกอบให้ "สูง" ขึ้น อยู่ตลอดเวลา

เน้นแกนใหญ่ คือ "ศีล" อาตมาสอน "ศีล" อยู่ตลอดเวลา ๑๐ กว่าปี มาแล้ว ตอนนี้จะขึ้น "สมาธิ" และ ต่อไป จะขึ้น "ปัญญา" ในอนาคต

อาตมาประกาศศาสนธรรมมา ๑๒ ปีแล้ว (พ.ศ.๒๕๑๓-๒๕๒๕)

อาตมาจะเริ่มประกาศ "สมาธิ"
อาตมาจะประกาศ "สมาธิ" แข่งกับ "สมาธิ" (นั่งหลับตา) ที่เขาหลงใหลกัน

อาตมาพูดอย่างนี้ เป็นเชิงให้รู้ว่า "ความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ จะขึ้นมาขัดกัน แล้วจะข่มกัน ไม่ใช่เจตนาร้าย แต่เป็นเจตนาดี ด้วยเมตตาที่สุด"

และถึงเวลาแล้วที่จะต้องข่มกันจริงๆ เพราะ "สมาธิ" ของพระพุทธเจ้า เป็น "สมาธิ" พิเศษ เป็น "สมาธิ" ของ "พระอาริยะ" ท่านเรียกว่า "สัมมาสมาธิ" หรือเรียกว่า "อริโย สัมมาสมาธิ" คือ "สัมมาสมาธิ ของ พระอาริยะ"

ซึ่งไม่ใช่ "สมาธิ" เกลื่อนกลาด-ดื่นดาษทั่วไป ที่ใครๆ ก็เรียนอย่างนั้นมานาน เยอะแยะ "สมาธิ" สาธารณะ แบบนั้น มีมาก่อน "พระพุทธเจ้า" เกิด

"สมาธิ" ของ "พระพุทธเจ้า" นั้น ต้องใช้ "ปัญญา" และ ปฏิบัติตนจนมี "สัมมาในมรรค" องค์ประกอบ (บริขาร) ในการปฏิบัติ "สมาธิ" ก็คือ องค์ทั้ง ๗ ของ "สัมมามรรค" ต้องปฏิบัติตั้งแต่ "สัมมาทิฐิ" จนถึง "สัมมาสติ" แล้วจะสร้าง "อาริยะสมาธิ" ที่เป็น "สัมมาสมาธิ"

เรื่องของ "ปัญญา" อาตมาจะไปเน้นตอนปลายทีหลัง จะพูดกันถึงเรื่องการวิเคราะห์ทาง "ปัญญา" ไปอีก ถึงวาระ เมื่อไหร่ อาตมาจะเปิด จะสอน

การที่เรามี "ศีล" ขัดเกลาเป็น "สมาธิ" ก็เกิด "ปัญญา" ได้ตลอดเวลา เกิดอยู่เสมอ ก็ได้สอนอยู่เสมอ ได้พูด ประกอบกันมา อยู่เรื่อยๆ

แต่ตอนนี้ "ภูมิปัญญา" ยังไม่ถึงกับเฟื่อง เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว ก็จะไปเน้นใน โวหารของ "ปัญญา" อย่างแน่น และมากอีกในอนาคต

ทีนี้จะสนุกตรงที่ว่า "ต่างคนต่างเฟื่องภูมิปัญญาทั้งนั้นเลย"

"เฟื่องจนเฟ้อ" คือ "สติเฟื่อง หลงกันแต่...เหตุผล-นึกคิด"

ที่สุดก็กลายเป็น "เหตุผล คือ ความบ้า อัตตา คือ ความจริง"

เพราะฉะนั้น ต้องทำให้ดียิ่งขึ้น ให้งามในเบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย คือ รู้จักก่อน รู้จักหลัง เช่น ต้องสอนให้ ละ"สักกายะ" ก่อน ละ"อัตตา"

ซึ่งบาลี ๒ คำนี้ ไทยเราแปลว่า "ตัวตน, ตัวของตน" เหมือนๆ กัน ซ้ำๆ กัน ผู้ไม่รู้ความลึกซึ้ง จึงเรียน "ตัวตน" กันเผินๆ แล้วก็เรียนกันผิด สอนกันผิดๆ

ที่จริงแล้ว "สักกายะ" กับ "อัตตา" นั้น มีสภาวะหยาบ ละเอียดคนละระดับ

เมื่อจับลักษณะธรรมที่ผิด ความผิดเพี้ยน จึงเกิดขึ้นได้ จนกลายเป็นผิดฝา ผิดตัว ลากผิด-จูงกันผิดๆ ไปถึงเรื่อง อื่นๆ อีก ก็เลยผิดกันไปใหญ่

ทุกวันนี้เขาเรียน "อนัตตา" กันเลย ไม่มีตัว-ไม่มีตนเลย

"สักกายะ" ไม่พูดถึง หลักการปฏิบัติประพฤติ จะต้องหัดสำรวมอย่างนั้น สังวรอย่างนี้ ไม่มี ! องค์ธรรม เป็นอย่างไร ไม่พูดถึง !

มีแต่อะไรๆ ก็ "ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน" แล้วก็ทำอะไรๆ ตามใจตัว สบาย !

เดี๋ยวนี้ศาสนา "จิตว่าง" ที่เพี้ยนๆ หลงผิดๆ เต็มบ้านเต็มเมือง เฟ้อปัญญา กันหมด "ศีล" ไม่เรียน "สมาธิ" ไม่มีจริง" ไม่มีภาคปฏิบัติที่ถูกต้อง

เรียนแต่ "ปริยัติ" เรียนแต่คิด มีแต่ "จินตามยปัญญา"

อย่างนี้ ไม่งามใน "เบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย" เลย !

๑๔ ตนพึ่งตนได้ (อัตตา หิ อัตตโน นาโถ)

(อ่านต่อหน้า ๓)

 

โพธิรักษ์
กับ
โพธิกิจ



[2]