คาถาธรรม ๑๑

สันโดษ

ความเป็นอยู่ อันเป็นสุข ของมนุษย์นั้น คือ มนุษย์ที่มีจิต ปราศจากนิวรณ์ ความเป็น ผู้สันโดษ ผู้ใดรู้จักความมีชีวิต ว่าชีวิตไม่จำเป็น จะต้องเปลือง ไม่จำเป็น จะต้องผลาญ ไม่จำเป็น จะต้องดิ้นรน เพื่อที่จะเอามา บำเรออะไรกัน มากมาย ชีวิตรู้จักจุดยืน รู้จักความทรงอยู่ พออาศัย มีปัจจัยสี่ มีเครื่องประกอบการงาน ที่จะสร้างสรร ตามเรี่ยวแรง ความสามารถ และ ความสำคัญ หรือ ความจำเป็นของ สังคมมนุษยชาติ

ผู้ที่มีอิทธิบาท มีความขยันหมั่นเพียร มีความสันโดษ อย่างแท้ชัด เป็นผู้ที่มี ความปรารถนาดี ขยัน หมั่นเพียร อดทน ขวนขวาย สร้างสรร มีน้ำใจ และ เสียสละ ให้แก่มนุษยโลกอยู่ ย่อมเป็นคน ภาคภูมิในบุญกุศล ในคุณค่าประโยชน์ ของตน ๆ และ เป็นคนที่มีจุดยืน อันมั่นคง รู้จักชีวิตที่แท้ว่า พอเท่านี้ อาศัยเพียงเท่านี้ ชีวิตก็ยืนยาวอยู่ ตราบตาย ได้อย่างสบาย

ผู้มีปัญญารู้ชัดแจ้ง ละล้างกิเลส และ นิวรณ์ของตนออก ประมาณหนึ่ง เท่านั้น ไม่ถึงหมด ผู้นั้นก็จะรู้ว่า ชีวิตนั้น พ้นทุกข์ได ้อย่างสบายกว่า ปุถุชน ผู้ถูกหลอกล่อ ให้ดิ้นรน แสวงหา เล่าๆ ไม่รู้จักหยุดหย่อน และ ชีวิตไม่รู้จักสันโดษ หรือ ไม่รู้จักพอ

ผู้มีดวงตา ผู้มีปัญญาแท้ และ ได้ลด ล้าง ละ ได้พิสูจน์ความจริง เท่านั้น จึงจะเป็นผู้พบ ความสุขอันวิเศษ ที่เรียกว่า "อุปสโมสุข" หรือ "วูปสโมสุข" ได้

ขอให้ท่านทั้งหลาย จงกำหนดเรียนรู้ชีวิต อันเป็นสุข และ มนุษย์ที่เจริญ เพราะมีคุณค่า ประโยชน์นั้น ให้จริงเถิด แล้วทำตน หรือ มีชีวิตตน อยู่อย่าง ผู้ไม่ได้หลงโลก แต่เป็นผู้อยู่ อย่างเหนือโลก ได้แท้ๆ

๑ มิถุนายน ๒๕๒๘


เป็นผู้รู้ยิ่งเอง

ผู้ได้ทดลองปฏิบัติ เพื่อลด ละ หน่าย คลาย จนกระทั่ง รู้จักสภาพ ความหลุดพ้น ความว่าง จากสิ่งที่เราติด เราเสพ เราเคยอยาก มีสภาพที่ลด ละได้ ว่างได้ ติดต่อเป็นสภาพ ยาวนาน พอสมควร เราจะได้เกิด ความรู้สึกว่า เมื่อเราว่าง ไม่ได้เสพ และ เราว่างจาก ความอยาก ในสิ่งที่เราเคยติด เคยอร่อย เคยอยากได้ อยากมี อยากเป็นนั้น มันเบา สบายอย่างไร พ้นภาระอย่างไร สิ้นความดิ้นรน เดือดร้อน อย่างไรๆ

ผู้เคยปฏิบัติ ได้ผลอย่าง แท้จริงนั้น อ่านรู้อารมณ์ เช่นนั้นๆ ได้เอง เป็นปัจจัตตัง จะรู้เหตุแห่งทุกข์ คือ ความอยาก ความติด ความเสพ จะรู้ว่า เมื่อดับเหตุทุกข์ คือ ความอยาก ความติด ความเสพนั้นๆ เมื่อดับได้ แม้ชั่วระยะหนึ่ง อันพอสมควร ก็จะเห็นสภาพ ที่พ้นทุกข์ หรือ สงบ ว่าง เบา สบายได้ ความรู้ ที่รู้เหตุแห่งทุกข์ เช่นนี้ ความรู้ ที่รู้ทุกข์ เพราะเมื่อ เราอยาก เพราะเราติด เราเสพ เราจะรู้ว่ามันทุกข์ เราจะรู้ว่า เราต้องบำเรอ เราจะรู้ว่า เราจะต้องเป็นทาส ที่จะต้องสรรหา แสวงหา ด้วยความยากบ้าง ง่ายบ้าง ก็ตาม แต่เมื่อเราหยุดได้ เลิกได้ หลุดพ้นได้ เพราะจับตัว เหตุแห่งทุกข์ได้ และ ประหารได้ ดับได้ ยิ่งดับสนิทสิ้นเชิง ผู้นั้น ก็จะรู้จัก มรรค-ผล จะรู้จัก อริยสัจสี่ ซึ่งเป็น อริยสัจสี่ตัวจริง เป็นสภาวธรรม รู้ เราก็รู้ ของเราเอง สภาวะที่เป็น อริยสัจ ทั้งสี่นั้น เราได้ปฏิบัติมา ด้วยมรรค องค์แปด อย่างไร มีสติ มีโพชฌงค์อย่างไร เราได้สำรวม สังวรกันอย่างไร ผลได้ เป็นลำดับมา อย่างไร เราจะเป็น ผู้รู้ยิ่งเอง เป็นปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ แน่แท้

การปฏิบัติธรรม ของพระพุทธเจ้า จึงไม่ใช่กดข่ม โดยไม่รู้จักหน้าตา เหตุแห่งทุกข์ ไม่ใช่ทำ อย่างเหมาเข่ง แต่รู้แน่ชัดลงไป ถึงเหตุปัจจัย มีเหตุ มีปัจจัย มีตัวที่มันเป็น ตัวเหตุ แห่งสิ่งปัจจัยนั้นๆ ตัวการแห่งกิเลสนั้นๆ จึงเป็นความรู้ หรือ วิชชา ที่แน่ชัด แม่นตรง และ ถ้าเผื่อฆ่าได้ อย่างชัดแท้ ตามทฤษฎี ของพระพุทธองค์ ก็ความจริง ที่ตรงมั่น ที่เรียกว่า สัจธรรมนั้น ก็ย่อมเกิดได้ มีได้ ความเป็นผู้ ไม่มีกิเลส ไม่มีตัณหา ละเอียดไป จนกระทั่ง ถึงอุปาทาน หรือ ความไม่มีโลภ โกรธ หลง จึงจะลด และหมดสิ้นได้ อย่างชัดเจน ละเอียดลออ ไม่หลง ไม่เหมาเข่ง ไม่สะกดจิต ให้ตนเอง หลับๆ ลืมๆไป แต่เป็นวิชชาแท้ ปัญญาแท้ และ เจโต หรือ จิตย่อมวิมุตติ หลุดพ้นแท้ ดับสนิท ไม่กลับกำเริบได้ อย่างแท้จริง วิชชานี้ จึงเป็นวิชชา ที่ประเสริฐสูงสุด ชัดเจน เป็นสัจธรรมที่สุด

พิสูจน์เถิด พุทธบุตรเอ๋ย อย่าทำอย่างหลงๆ เลอะๆ แต่สังวร ระวังให้ได้ พากเพียรให้เป็น ของตน ๆ ที่ได้มรรค ได้ผลเถิด แล้วผู้นั้น จะมั่นใจเองว่า เราไม่ได้ผิดทาง เราเดินทางถูก เข้าไปสู่นิพพาน ของพระพุทธเจ้า ได้อย่างชัดเจน

๓ มิถุนายน ๒๕๒๘


ผู้ปลงภาระ

ชีวิตของผู้ปลงภาระ เป็นชีวิตที่เบา ง่าย สบาย แต่ภายในชีวิต ที่เบา ง่าย สบายนั้น ก็เป็น ชีวิตที่คล่องตัว เป็นชีวิตที่สามารถ จะดำเนินกิจ จะทำการงานใดๆ ก็ได้อย่าง แคล่วคล่อง และ ผู้ประเสริฐย่อมขยัน ย่อมขวนขวาย ย่อมรู้กิจ รู้คุณค่า รู้ประโยชน์ ดังนั้น ชีวิตที่เบา ง่าย สบายนั้น จึงเป็นชีวิต ที่มีความคล่อง มีความเร็ว มีความชำนาญ มีกิจกรรม ที่เป็นประโยชน์ โภคผล อันมากมาย พร้อมกระนั้น ก็ไม่ได้แบกประโยชน์ โภคผลต่างๆ ที่ตนมี ความสามารถสร้าง สามารถกระทำ นั้นๆไว้เลย ประโยชน์ โภคผลนั้นๆ จึงเป็นของ ไม่หนัก สำหรับ ผู้ที่ปลงภาระได้ทั้งวัตถุ ได้ทั้งขันธ์ ได้ทั้งกิเลส ตัณหา อุปาทาน ทั้งหมดแล้ว ผู้ปลงภาระ จึงเป็นผู้เบา ว่าง สบาย แต่เป็นตัวจักร ที่สามารถผลิต สร้างสรร ประโยชน์ โภคผล ให้แก่สัตวโลก และมนุษยโลก ทั้งปวงอยู่นิรันดร์

๔ มิถุนายน ๒๕๒๘


ตั้งใจทำจริง

รู้แล้วดี ได้เข้าใจชัดแล้วว่าประเสริฐ ผู้หวังความประเสริฐ ก็ต้องตั้งใจ ทำจริงๆ คนที่จะทำจริง ต้องตั้งใจ สำรวมสังวร มีสติอยู่ประจำตน อยู่เสมอ แล้วก็พยายาม พยายาม และพยายาม ปฏิบัติอย่างจริงจัง เดินโพชฌงค์ ๗ ให้เต็ม ทุกก้าวไปเสมอๆ ไม่มีทางอื่น อีกเลย ที่มนุษย์จะพบ ความประเสริฐได้

ทางนี้เป็นทางก้าว เป็นทางเดิน ที่พระสัมมา สัมพุทธเจ้า อุบัติขึ้นเท่านั้น จึงจะมีทางเดิน ด้วยทฤษฎี อันยิ่งใหญ่นี้ได้

๕ มิถุนายน ๒๕๒๘


พึงฝึกตนให้ได้ทุกขณะ

ถึงแม้พระสารีบุตรเจ้าให้มาก ว่าขนาด อัครสาวกเบื้องขวา ของพระสัมมา สัมพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้า ตรัสยืนยันว่า แม้สารีบุตรนั้น เป็นรองเรา ผู้ปานฉะนั้น ก็ยังต้องฝึกตน ไปจนตาย หรือ แม้แต่สมเด็จ พระสัมมา สัมพุทธเจ้าเอง ก็ยังตรัสยืนยัน พระองค์เองว่า ตถาคต ยังไม่ได้สันโดษ ในกุศล หรือ แม้พระองค์เอง ก็ไม่สันโดษ ในกุศลทั้งหลาย หมายความว่า แม้สมเด็จ พระสัมมา สัมพุทธเจ้า เองแท้ๆ ก็ยังต้องพึง สั่งสมกุศล ยังไม่ ประมาท ในกุศลทั้งปวง ยังไม่พอ ในกุศลทั้งหลาย เพราะฉะนั้น เราเอง ซึ่งเป็น สาวกภูมิ เท่านั้น อย่าพึงประมาท เป็นอันขาด ในกุศลทั้งปวง จงพึงฝึกตน อบรมตน มีโพธิปักขิยธรรม ตั้งแต่ สติปัฏฐาน ๔ จนถึง มรรค องค์ ๘ อันเป็นหลักใหญ่ พึงสำรวม สังวรตน ประพฤติตน ไปชั่วนิรันดร์เถิด

สิ่งใดที่เราทำได้ เบา ว่าง พ้นทุกข์แล้ว ย่อมเป็นอันได้แล้ว สิ่งใดยังไม่ได้ เมื่อเราไม่ตั้งอยู่ ในความประมาท เราจะพึงได้ พึงเป็น พึงเจริญ อยู่ทุกเมื่อ

เมื่อไร ผู้ใด ตั้งอยู่ในความประมาท แล้วไซร้ ผู้นั้นย่อม เป็นอันตกต่ำ เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ทุกท่าน ทุกคน ทั้งหลายเอ๋ย จงพึงฝึกตน ให้ได้ทุกขณะ จนตลอดชีวิตเถิด

๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๘


ชีวิตที่มีระบบ

ปัญญา ปัญญินทรีย์ หรือ ปัญญาผล ของมนุษย์ เมื่อปฏิบัติ ถูกทาง เกิดผลธรรมขึ้นมา พอสมควร เจ้าของปัญญา เจ้าของปัญญินทรีย์ ปัญญาผล นั้นๆ จะรู้ จะเห็นว่า ชีวิตที่มี ระบบ หรือ ชีวิตที่มี ความเป็นอยู่ อย่างโลกียะ กับชีวิตที่มี ความเป็นอยู่ อย่างโลกุตระนั้น ต่างกัน มีทิศทางที่ ทวนกระแสกัน มีความเห็น ความเข้าใจ ที่แน่ชัดต่างกัน ว่าอันหนึ่ง เป็นไป เพื่อความง่าย เรียบ เบา สบาย จะรู้จักว่า ภาระ แม้แต่จะเป็นงาน เช่นเดียวกัน แต่ก็เป็นภาระ ที่หนักหนากว่ากัน ภาระที่ต้องเอา ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข เป็นเครื่องล่อ เป็นเป้าหมายนั้น เป็นภาระที่หนัก แก่งแย่ง ทุกข์ร้อน กระหืดกระหอบ ยิ่งกว่าภาระ ที่เราทำโดย ไร้ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข เป็นเป้าหมาย หรือ เป็นเครื่องล่อ การทำภาระ ให้เสร็จสิ้นไป เพื่อเป็นงานแห่งงาน เป็นประโยชน์แห่งประโยชน์ จบในตัว ของมันเอง เท่าที่ มันจะมี สมรรถภาพ หรือ มีคุณค่า ประสิทธิภาพ เท่าที่ผู้นั้นสามารถ สามารถ งาน หรือ ภาระเช่นนั้น จึงเป็นงานและภาระ ที่เบากว่ากัน อย่างมาก

ผู้ประสบด้วยตนเอง จะเป็นผู้รู้ ด้วยตนเอง จะเป็นผู้ตระหนัก ในปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาผล ผู้ที่มีความลึก ของปัญญา ความหนักแน่น ของปัญญา หรือ ความเกิดปัญญา อันสูงจริง ก็จะยิ่ง รู้แม่น รู้ชัด รู้อย่างจริงจัง กว่ากันและกัน ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น

๑๓ กรกฎาคม ๒๕๒๘


ทฤษฎีเอก

การปฏิบัติธรรม ที่ใช้หลักมรรค องค์ ๘ ถ้าเราเรียกว่า ทฤษฎีเอก เราเรียกเท่านั้น ถ้าเราเรียกรวม ขยายไปให้ครบ เราก็เรียกว่า "โพธิปักขิยธรรม ๓๗" ผู้ที่ปฏิบัติตามทฤษฎี ยิ่งใหญ่นี้ จะต้องรู้ตัว ทั่วพร้อม อยู่ตลอดเวลา มีสติตื่น รู้เท่าทันสัมผัส รู้เท่าทันสิ่งแวดล้อม ประชุมกันขึ้น ทั้งภายนอก และภายใน เราเรียกว่า "กาย" และ รู้ตามไป จนกระทั่งถึง "จิต" ที่เราเรียกว่า อารมณ์ด้วย ในจิตแบ่งออกเป็น เวทนา แล้วก็มีหลักวัด เรียกว่า "เจโตปริยญาณ" แล้วก็รู้สภาพของ สิ่งที่เราจะจัดการ เรียกว่า "ธรรมารมณ์" ตั้งแต่นิวรณ์ ๕ ไปทีเดียว จนถึงอริยสัจ ๔ ผู้ที่ได้ปฏิบัติอยู่ ตลอดเวลา สัมผัสกับอะไร ก็สามารถ วิจัยธรรม ระลึกรู้ถึง ความจริง ตามความเป็นจริงได้ แล้วก็ใช้วิธี ตัดขาด สะกด ข่ม ทำให้สลายไป ด้วยวิธีเรี่ยวแรง หรือ ทำด้วยพิจารณา เทียบเคียง หาเหตุผล เพื่อไล่อารมณ์ ไล่กิเลส ไล่สภาพ ที่เราต้องการ ให้สลาย ซึ่งเป็นสาเหตุแท้ มาจากจิตใจ ที่เรายึดอยู่ ถืออยู่ อาศัยอยู่ ให้จาง คลาย ให้ลด ละไป ผู้กระทำเช่นนั้น เรียกว่า ได้ทำต่อสภาพ ที่มีจริง เป็นจริง เป็นการปฏิบัติธรรมแท้ ไม่ใช่การนึกคิด เหตุผลรู้ แล้วรู้เข้าใจ เท่านั้น แต่จะเกิดสภาพ ได้จริง เป็นจริง แล้วรู้ของจริง เห็นของจริง จึงเรียกว่า ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาผล

ที่เกิดปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาผลนั้น ก็เพราะมีจิต หรือเจโต ที่ได้ละล้าง ลดกิเลส ตัณหา อุปาทานลงไป ให้เรารู้ ให้เราเห็น ให้เราสัมผัส ของจริง จริงๆ จึงมีทั้งเจโต ที่มันจางคลาย หรือ มันวิมุติ

ปัญญาเช่นนั้น จึงเรียกว่า การรู้ของจริง ตามความเป็นจริง ไม่ใช่รู้ เพราะเข้าใจ แต่รู้ยิ่งกว่าเข้าใจ เพราะรู้ของจริง อย่างชัดแท้ และมันก็ เข้าใจความจริง ที่จริงนั้นแท้ๆยิ่ง จะเทียบเคียงจาก ทฤษฎีหลัก หรือ เทียบกับสูตร เทียบกับ คำสอนใดๆ ก็ตรงทั้งสิ้น ตามที่พระพุทธองค์ ตรัสไว้ ทุกประการ

เพราะสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ของเรานั้น ท่านสอนความจริง และ ในความจริง นั้นแหละ มันทำให้ เราเป็นคน มีความรู้ อันที่เปรียบมิได้ด้วย

๑๔ กรกฎาคม ๒๕๒๘


สันติภาพเอ๋ย

สันติภาพเอย สันติภาพเอย สันติภาพเอ๋ย
โลกอธรรม อำนาจเด่น เป็นของปองหมาย
แข่งรวย แข่งอาวุธร้าย กลายเป็นบ้า
คนทำตน วน จนเกิดความสับสน ซ่อนซ้อนเชิงกล บาปหนา
หลงอวิชชา เพี้ยนว่าความรู้
ต่างแนวคิด โลมหลงจิต ต่างฝันสันติธรรม
แย่งกัน แยกกรรม เลยร้าย ทำลายหมู่
กลายเป็นพรางใจ มีศึกในตัวสันติซ้อนชอนไช อดสู
ค้นความจริงดู รู้จริงให้จริง
สันติภาพเอย สันติภาพเอย สันติภาพเอ๋ย
ด้วยโพชฌงค์ องค์ทั้ง ๘ แห่งทางทวนกระแส
ปราชญ์องค ์ผู้ทรงพุทธแท้ แลจริงยิ่ง
ใครเรียนตรงตาม งาม ต้น กลาง จรดปลาย ไล่ผีที่ใจถูกสิง
พ้นมารพาลพิง นี้จริงยิ่งกว่า
โลกเมืองคน ทนทุกข์ยาก หลากหลาย รายล้อม
หากเย็น ให้ยอมน้อม รับธรรมนำข้า
พึงบำเพ็ญเพียร เรียน เลิก ละ ขยัน กล้าจน เถิดหนา
ศีลนำ กรรมพา พบสันติเอง
สันติภาพเอย สันติภาพเอย สันติภาพเอ๋ย

๑๘ กรกฎาคม ๒๕๒๘


สันติภาพ

สันติภาพเอย สันติภาพเอย สันติภาพเอ๋ย โลกอธรรม อำนาจเด่น เป็นของปองหมาย แข่งรวย แข่งอาวุธร้าย กลายเป็นบ้า คนทำตน วน จนเกิดความสับสน ซ่อนซ้อนเชิงกล หวาดผวา หลงอวิชชา ว่าเป็นความรู้ ต่างแนวคิด โลมหลงจิต ต่างฝันสันติธรรม แย่งกัน แยกกรรม เลยร้าย ทำลายหมู่ กลายเป็นพรางใจ มีศึกใน ตัวสันติซ้อนชอนไช อดสู ค้นความจริงดู รู้จริงให้จริง สันติภาพเอย สันติภาพเอย สันติภาพเอ๋ย ด้วยโพชฌงค์ เ ดิ น ม ร ร ค ๘ เป็นทางทวนกระแส ปราชญ์องค์ ผู้ทรงพุทธแท้ แลจริงยิ่ง ใครเรียนตรงตาม งาม ต้น กลาง จรดปลาย ไล่ผี ที่ใจถูกสิง พ้นมาร พาลพิง นี้จริงยิ่งกว่า โลกเมืองคน ทนทุกข์ยาก หลากหลาย รายล้อม หากเย็น ให้ยอม น้อมรับธรรม นำข้า พึงบำเพ็ญเพียร เรียน เลิก ละ ขยัน สร้างสรร กล้าจน เถิดหนา ศีลนำ กรรมพา พบสันติเอง

๑๙ กรกฎาคม ๒๕๒๘


วิมุตติรส

ผู้มีธรรมรส จะรู้ จะแจ้งในใจ ขึ้นมาเอง ว่ารสแห่งธรรมนั้น เป็นรสเช่นไร โลกียรส เราก็เคย รู้มากันทั้งนั้น ว่าเป็นรส แห่งการบำบัด เสพสม เมื่อเราต้องการ เมื่อเราอยากได้ เราก็ได้เสพสม ก็เป็นสุข อย่างโลกียรส แต่เมื่อเรามา ปฏิบัติธรรม เราได้รับรสสงบ รับรส ที่ไม่ต้องหยาบ เราก็สบาย เราก็สงบอยู่ ยิ่งได้สัมผัส สิ่งที่เราเคยอยาก แล้วเราก็ วางเฉยได้ ไม่ต้องกระหาย ไม่ต้องอยาก ไม่ต้องดิ้นรน ก็ยิ่งจะเห็นจริง ในรสที่ ไม่มีความอยาก รสที่ไม่ต้อง ดิ้นรน รสที่ไม่ต้อง กระหายอะไร ก็ไม่เกิดสิ่งที่ จะต้องเป็นภาระ เป็นความหนัก เป็นความ ต้องไปแสวงหา ต้องไปดิ้นรน เอามันมาเสพสม สภาพรส ที่เป็นธรรมรส ในลักษณะ เบาบาง จาง หรือ ยิ่งสงบ สนิท ก็เป็นวิมุติรส อย่างนี้

บุคคลที่ได้ปฏิบัติธรรม พึงสังเกต พึงอ่าน เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่ออธิปัญญา หรือ ญาณทัสสน วิเศษ ว่าสิ่งเหล่านี้ มีจริง เป็นจริง เมื่อเราละวาง ปลดปล่อย หรือ ดับได้แล้ว ในสิ่งใด ที่เราทำได้ กับแต่ก่อน ที่เราเคยมีโลกียรส เราจะได้เปรียบเทียบดูว่า รสที่เป็นโลกียรส ที่เราเคยเสพสม กับรส ที่ไม่ต้องการเสพสม ที่ไม่ต้องมีภาระ ที่ไม่ต้องแสวงหา ที่ไม่ต้องบำบัด บำเรอให้แก่ตน ไม่ต้องเป็นกิจ ที่จะต้องไปกระทำ มาให้เสพสม ให้แก่ตน เป็นความหยุด ให้แก่ตนได้ อารมณ์ ว่างๆ อารมณ์วางๆ อารมณ์เฉยๆ เช่นนั้น กับอารมณ์ ที่ได้เสพสุข สมใจ เป็นโลกียรสนั้น เราต้องการสิ่งใด เราเห็นว่า รสใดเลิศ รสใดดีกว่า เราพอใจ ในรสอย่างไรกันแท้ เมื่อเราได้ ทั้งสองรส ยิ่งมีเหตุปัจจัย ที่เราเคย ทั้งสองอย่าง สองรส เราจะเป็นผู้รู้ยิ่ง เห็นจริง ว่าเรา ยินดีในรสใด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า ธรรมรสนั้นเลิศ วิมุติรสนั้น ไม่มีสิ่งใดเทียม เราจะอยู่ ในฟากใด เราจะรู้ด้วยหัวใจ ของเราเอง ด้วยปัญญา หรือ ญาณของเราเอง ว่าเราเห็นดี ในรสพระธรรม หรือ ยังเห็นดี ในโลกียรสอยู่ สิ่งใดที่เรา ยังไม่ละล้าง จางคลายพอ โลกียรส หรือ รสที่เสพสมโลกๆ มันยังจะดึงดูด ความยินดี ของเราอยู่ ถ้ายิ่งมันเอียงมาข้าง ฝ่ายธรรมรส หรือวิมุติรส เราจะรู้สึกได้โดยตน ว่าเรารู้แจ้ง ความสิ้นกิจ เบาภาระ จากต้องไป บำเรอแสวงหาตน ญาณปัญญา จะต้องรู้รอบ ด้วยเช่นนั้น จึงเรียกว่า ผู้ไม่ต้องแสวงหา

ผู้หยุด ผู้ไม่ต้องมีจิตอีก เพราะไม่มีตัวเหตุ แห่งความอยาก มากระตุ้นเรา ต้องไป หามาให้บำเรอตนอีก

อาการที่เป็นวิมุติแท้ มันจะสิ้นกิจ สิ้นภาระ หรือ หยุดที่จะต้อง บำเรอตัวตน บำเรอตน อย่างแท้จริง เช่นนี้เอง ที่เรียกว่า ผลธรรม ที่เราได้ปฏิบัติ เป็นโลกุตระ แม้สิ่งที่เคยเสพ สิ่งที่เคยหลง เคยติด จะอยู่ในโลก ถ้าเรามีจิตวิมุติ แน่แท้ มั่นคง อาเนญชา เป็นจิตที่ไม่ วกเวียนกลับอีก ถอนสิ้นอนุสัย อาสวะแล้ว จิตนั้น จะมีแต่ธาตุรู้ ของจริง ตามความเป็นจริง ที่ผู้อื่นเป็นทาสอยู่ ก็เป็นทาส ส่วนเรานั้น พ้นความเป็นทาสแล้ว อย่างเด็ดขาด สมบูรณ์ เราก็จะรู้ว่า สมบูรณ์จริง สะอาดจริง ขนาดใด ๆ แม้จะยังไม่ถึงที่สิ้นสุด ถอนอาสวะ เราก็จะพอรู้

ยิ่งถอนอาสวะแล้ว ยิ่งจะรู้ชัด รู้จริงว่า สัจธรรมแห่งความจริง อย่างนี้ ยังมีอยู่ในโลก เมื่อผู้นั้น ได้พากเพียร ปฏิบัติถูกตรง ตามทฤษฎีของ พระพุทธเจ้า จึงจะรู้ยิ่ง เห็นจริงว่า กิเลสนี้ ละล้างได้ สูญตา สูญภาพ อนัตตา หรือ ความสิ้นกิเลสนั้น มีจริง แม้จะเป็นเหตุหนึ่ง ปัจจัยเดียว สองเหตุ สองปัจจัย หรือ ยิ่งหลายๆเหตุ หลายๆ ปัจจัย

จงเร่งพากเพียรเถิด เราก็จะหมดกิเลสได้ ทุกเหตุ ทุกปัจจัย ด้วยความมั่นคง มั่นใจ ด้วยประการฉะนี้

๒๐ กรกฎาคม ๒๕๒๘


 

จงเป็นคนตั้งมั่น เอาจริง

อย่าเป็นคนยึดมั่น ถือมั่น แต่ จงเป็นคนตั้งมั่น เอาจริง ความยึดมั่น ถือมั่น เป็นความหลง เป็นความโง่

ผู้ฉลาด ย่อมมีปัญญารู้ และตัดสินได้ว่า นั่นถูก นั่นผิด นั่นดี นั่นควรแล้ว หรือ นั่นเป็นมติ นั่นเป็นสิ่งที่ตัดสิน เด็ดขาดแล้ว แล้วเราก็เลิก ยึดมั่น ถือมั่น

ส่วนความตั้งมั่น ความเอาจริงนั้น เราจะดำเนินต่อไป เราจะรู้กุศล เราจะรู้สิ่งควร เราจะรู้ สิ่งที่เป็นสัมมา อันพอเหมาะ อันพอดี อันเป็นมติ อันเป็นสิ่งที่ ได้ตัดสิน ทั้งตน และหมู่กลุ่ม แล้วเราก็จะดำเนิน ตามมติ ที่ตัดสิน ตามสิ่งที่ได้ตกลง อย่างเห็นดีที่สุด สมควรที่สุดแล้ว ให้เป็นไป อย่างตั้งมั่น เอาจริง

สุดท้าย ความบรรลุผล ความเจริญ ก็จะเกิดได้จาก ความไม่ยึดมั่น ถือมั่นของเรา แต่เพราะ ความตั้งมั่น เอาจริงของเรา อย่างสำคัญ

๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๘


คาถาธรรม ๑๒ / คาถาธรรม ๑๓ / คาถาธรรม ๑๔