๖.วัดสำเหร่
สำเหร่ เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ก็ตอนที่มีรถเมล์สาย
จุฬา-สำเหร่ วิ่ง เท่ากับเป็นการ โฆษณา ชื่อเคลื่อนที่ตั้งแต่ "สำเหร่
ไปจนถึง จุฬา และจากจุฬา กลับมาสำเหร่ วันละ หลายคัน คันละหลายเที่ยว
แม้จะมีวัดอยู่หลายวัดในละแวกนั้น แต่ญาติพี่น้องผม
ก็ผูกพันอยู่วัดเดียว คือวัดสำเหร่ วัดอื่นนั้นไปบ้าง แค่ไปเที่ยวงานวัด
แต่เวลาทำบุญ ทำที่วัดสำเหร่ เวลาบวชเณร ผมบวชที่ วัดสำเหร่ เข้าโรงเรียน
ก็โรงเรียนวัดสำเหร่ ผมก็คือศิษย์เก่า โรงเรียนในสังกัด กรุงเทพ มหานครนั่นเอง
เมื่อมาผมเป็น ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร คงจะทำให้ศิษย์เก่า และหนูตัวน้อยๆ
ที่กำลังเรียนอยู่ ในโรงเรียนประถม ของกรุงเทพมหานคร ภูมิใจ
วัดออกจะอยู่ห่างไกล จากบ้านต้องเดินลัดเลาะ
เข้าสวนไประยะทางเป็นกิโล กว่าจะไปทะลุ วัดสำเหร่ แต่เด็กๆอย่างเรา
ก็เดินเสียจนชิน ไม่รู้สึกว่าไกลอะไรเลย ตอนนั้น ผู้คนไม่ใคร่มี ทางค่อนข้าง
จะเปลี่ยว เวลาผ่านต้นมะขามใหญ่ เสียววูบ กลัวผีหลอก เพราะผู้ใหญ่
เล่าให้ฟังว่า ผีชอบสิงสถิต อยู่ตามต้นไม้ใหญ่ๆ โดยเฉพาะ ต้นมะขามต้นนั้น
เด็กฝรั่งไม่กลัวผี มีแต่เด็กไทยเท่านั้น
ที่กลัวกันเสียจริง เพราะหลอกกันมา ตั้งแต่เล็กๆ นี่อายุผม เกือบ ๖๐
แล้ว ยังไม่เคยเจอผีเลย
เรื่องผี กลัวก็กลัว อยากฟังก็อยาก เวลาผู้ใหญ่เล่า
เรื่องแม่นาคพระโขนง ผมนั่งอยู่บน เรือนไม้กระดาน ต้องคอยหลบ คอยระวัง
ช่องกระดาน กลัวแม่นาค จะเอานิ้วเอาเล็บยาวๆ หรือเอาไม้แหย่ ถ้าเป็นบ้าน
สมัยใหม่ เหมือนอย่างขณะนี้ คงนั่งฟังสบาย เพราะพื้นไม้ เข้าลิ้นแนบสนิท
ไม่มีช่องให้ผีแกล้งเราได้
ระหว่างทางจากบ้านไปโรงเรียน ผลไม้มีให้กินอุดมสมบูรณ์
โดยเฉพาะชมพู่ กินกันไม่รู้หมด ถ้าเก็บชมพู่หล่นไม่พอ ปีนต้นเขย่าเสียเดี๋ยวเดียว
จะเอาเท่าไหร่ได้ทั้งนั้น ผมเบื่อชมพู่ ตั้งแต่ตอนนั้น จนถึงตอนนี้
เพราะเมื่อเล็กๆ กินมามาก
หน้ามะม่วง ต้องพกหนังสติ๊กติดตัว เตรียมเอาดิน
ปั้นเป็นลูกกระสุนไว้มากๆ ยิงตัดขั้วเลย ชมพู่ใคร มะม่วงใคร ไม่คำนึง
ถือว่าเป็นเด็กเสียอย่าง ทำอะไรเขาก็ไม่ว่า ขอกันกินเท่านั้น ไม่ละโมภ
ถึงขนาดยิงผลไม้ ไปขายหรอก
โรงเรียนเทศบาล๒๗ วัดสำเหร่ สอน ป.๑ ถึง
ป.๔ มีครูเพียง ๓ คน เป็นครูใหญ่ ๑ ครูพระ ๑ และครูผู้หญิงอีก ๑ ครูที่พวกเรา
ติดกันมากคือ ครูพระ ท่านเป็นพระจริงๆ แต่ทำหน้าที่ ครูตลอดเวลา ท่านดุ
แต่สอนเก่งมาก
อาคารเรียนให้ศาลาวัด เรียนอยู่กับพื้นดิน
วันไหนมีงานบวช หรืองานศพ เราต้องหยุด เพราะไม่มีที่เรียน ดีใจเสียอีก
ที่ได้หยุดบ่อยๆ
ลานวัดมีต้นจันทน์ต้นใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง
พวกเรารีบไปโรงเรียนแต่เช้า เพื่อไปเก็บลูกจันทน์ ที่หล่นลงมา เก็บมาดมหอมๆ
พอช้ำๆ ก็ปอกกินอร่อยดี
ใต้ต้นจันทน์เป็นพื้นทรายเรียบ เหมาะสำหรับ
เล่นลูกหิน และลูกข่าง ลูกหินที่ทำด้วยดินเผา ซื้อมา เล่นได้ไม่นานก็แตก
เหนียวสู้ของเพื่อนไม่ได้ ต้องไปหาลูกหินจริงๆ ที่สะกัดจากหิน แม้จะหายาก
แต่ทนดีเหลือเกิน
ลูกข่างไม่ต้องซื้อเพราะน้าสายหยุด น้าเขยผม
ทำลูกข่างให้เล่นเสมอ ทำจากไม้มะขามเทศ เวลาเหวี่ยงลงไป มีเสียงกระหึ่ม
ตอนอยู่ชั้นประถมต้น หนังสือเรียน มีอยู่เล่มสองเล่ม
เวลานั้นสมุดไม่มี มีแต่กระดานชนวน เขียนแล้วลบ ลบแล้วเขียน แผ่นเดียว
ใช้ได้เป็นปีๆ คอยระวัง ไม่ให้หล่นแตกเท่านั้น เป็นใช้ได้ ไม่ต้องหอบหนังสือ
สมุดไปโรงเรียน กระเป๋าโตๆ เหมือนเด็กทุกวันนี้
เรียนก็เรียนกันเฉพาะเวลาเรียนเท่านั้น
ใครขยันก็ไปท่องหนังสือต่อที่บ้าน เด็กไม่ต้อง เรียนพิเศษ มีเวลาเป็นของตัวเองมาก
ได้รื่นรมย์ กับชีวิตเด็กจริงๆ ความเจริญเติบโต ค่อยเป็นค่อยไป ตามธรรมชาติ
คลองสำเหร่ เป็นคลองลัดจากคลองบางหลวง
ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำใสสะอาด น่าอาบน่าเล่น เหมือนคลองทั่วๆไป
ในสมัยก่อน
หน้าน้ำทีไรเราดีใจ น้ำในคลองล้นตลิ่ง
เราทั้งว่ายทั้งพายเรือเล่น พายออกไปโต้คลื่น ที่ปากคลองสำเหร่ ตื่นเต้นไม่น้อย
ตอนที่นั่งอยู่ในห้องเรียน ก็เหม่อมองดูน้ำในคลอง เร่งเวลาเมื่อไร
จะเลิกเรียน จะได้ไปเล่นน้ำ ให้สมใจ
หน้าน้ำดีอีกอย่าง หิวขนมก็ขึ้นไปบนกุฏิครูพระ
เดี๋ยวเดียวก็ได้ทั้งกระยาสารท กล้วยไข่ และส้มเขียวหวาน ซึ่งมีคนถวายพระมาก
ในฤดูกาลนั้น
ก่อนถึงหน้าน้ำ เวลาจะเข้าพรรษาก็สนุกอีก
ดูขบวนแห่บวชนาคกันไม่เบื่อ มีทั้งแตรวง กระตั้วแทงเสือ สิงโต สาวๆที่ถือดอกไม้
แต่งกายด้วยชุดที่สวยที่สุด เดินกันเป็นกิโลๆ เหงื่อไหลไคลย้อย ยิ่งเดินไกล
ถือว่ายิ่งได้บุญมาก
หน้าบวชมีลิเกให้ดูบ่อย แม่มักจะไล่ให้นอนตั้งแต่บ่าย
เพื่อเก็บแรงไว้ดูลิเกถึงดึกๆ คืนเดือนมืด ผู้ใหญ่ต่างเตรียม คบเพลิงไว้พร้อม
ตัดทางมะพร้าวแห้งๆ มาตุนไว้ กะระยะทาง ให้เหมาะ ทั้งขาไป และขากลับ
ว่าจะต้องใช้คบเพลิง จุดส่องทางกี่อัน ชวนกันถือไป คนละอันๆ เมื่อไฟจากคบ
อันหนึ่งใกล้จะมอด คบเพลิงอันอื่น ก็มาจุดต่อ ประหยัดดี ไม่ต้อง ใช้ตะเกียงน้ำมัน
ไม่ต้องใช้ไฟฉาย เป็นการเสริมสร้าง ความสามัคคีกัน อย่างดีอีกด้วย
แม่พาผมไปฝากครูพระเข้าโรงเรียน วัดสำเหร่ได้ไม่นาน
แม่ก็ไปสมัคร ทำงานบ้าน ที่บ้าน คุณนาย แม้จะได้เพื่อน เพิ่มอีกคน
คือเจ้าวัว แต่เราก็เรียน คนละโรงเรียน วัดกระจับ กับวัดสำเหร่ อยู่คนละทิศ
เลยไม่ได้ เดินไปโรงเรียนด้วยกัน ตื่นเช้า ต่างคนต่างไป
คุณหญิงละออ บุตรสาวคนโตของคุณนาย ได้เล่าถึงเรื่องผมแต่หนหลัง
ให้คุณศิริลักษณ์ฟัง ที่บ้านสำเหร่ เมื่อเราไปเยี่ยมคุณนาย
ตอนที่ผู้ว่าฯ
อยู่กับคุณแม่ และพวกเราที่บ้านหลังนี้ ผู้ว่าฯทำงานไปดูหนังสือไป
ถ้าวันไหน ดูหนังสือสอบ ไม่ทัน ก็ร้องไห้ เพราะต้องสอบให้ได้ที่๑
อยู่ชั้นประถมปลายผมขยันเรียนมากขึ้น ยิ่งขยันยิ่งเรียนสนุก
แม่ไม่ต้องเคี่ยวเข็นผม ในเรื่อง ทำการบ้าน หรือดูหนังสือเลย ผมช่วยแม่ทำงานบ้านเสร็จ
ก็หันมาจับหนังสือ คิดว่า ถ้าผมเรียนเก่งๆ วันหน้า อาจช่วยแม่ หาเงินได้
แม่คงไม่ต้องลำบาก อย่างนั้นไปจนแก่
ถึงจะขยันเรียนอย่างไร ก็ทิ้งเรื่องเล่นไม่ได้
เห็นเด็กรุ่นโตกว่า เขาเล่นก็นึกสนุก เฮโลเล่น ตามเขา เรียกว่า เรียนไปเล่นไป
ตามประสาเด็ก
ไปไหนมาไหนตอนค่ำๆ ได้ยินเสียงจิ้งหรีดร้อง
เพราะๆ เป็นต้องรี่เข้าไป เอาก้อนอิฐวาง เป็นเครื่องหมายไว้ก่อน รีบตื่นขึ้นแต่เช้าตรู่
มือหนึ่งถือชะแลง อีกมือถือถังน้ำ ตักน้ำเต็มถัง ราดลงไป ตรงที่ทำเครื่องหมายไว้
ถ้าจิ้งหรีดไม่ยอมออก ราดซ้ำอีกถัง เดี๋ยวเดียว ก็ตะลีตะลาน วิ่งขึ้นมาให้จับ
เป็นจิ้งหรีดทองดำบ้าง ทองแดงบ้าง นอกจากจะเอาไว้กัด สนุกๆแล้ว ตอนกลางคืน
ยังร้องให้ฟัง เพราะๆอีก
ปลากัดมีชุกที่คูริมถนนตากสิน น้ำจะเน่าขนาดไหนก็ไม่พรั่น
ผมลงไปช้อนเอามาจนได้ ใส่ขวดโหลไว้ ปลากัดจะออกสีสวย คลี่ครีบกางออก
ตอนที่มันโกรธ ใช้เพียงกระจกเงา บานเล็กๆก็พอ เอามาตั้งส่อง ที่ข้างขวดโหล
ปลากัดจำหน้าตัวเองไม่ได้ นึกว่าในกระจก คือหน้าคู่ต่อสู้ เลยตรงรี่เข้าไปกัด
โดยพุ่งปาก เข้าชนขวดโหล ใช้หางโบก เตะไปเตะมา ตอนกัดกันจริงๆ ค่อนข้างจะทารุณ
ปล่อยให้กัด จนครีบหลุด เห็นเลือดแดงๆ ถือเป็นของสนุก สำหรับเรา
ปลาเข็มที่มีอยู่ตามท้องร่องและคูคลอง
เรียกว่าปลาป่า กัดไม่เก่ง กัดเดี๋ยวเดียว ว่ายน้ำ หนีแล้ว สู้ปลาหม้อไม่ได้
ตัวโตกว่า ที่หางมีจุดสีดำ และสีแดงสวย ปลาเข็มหม้อต้องซื้อ แต่ราคาไม่แพง
อดขนม เพียงวันเดียว ก็ซื้อได้
ป้าเหลี่ยน ซึ่งช่วยคุณนายทำงานบ้านอีกคนหนึ่งนั้น
ท่านชอบไปวัด วัดที่ไปประจำ คือ วัดกระจับ วัดที่เจ้าวัว เรียนหนังสือนั่นเอง
นอกจากป้า จะชวนผมไป ให้ช่วยหยิบโน่นถือนี่ และเดินตามหลังแล้ว ยังชวนให้ผมอดขนม
เอาเงินไปติดกัณฑ์เทศน์อีกด้วย พอพระ เอ่ยปากชมผม ต่อหน้าญาติโยม ผมก็หน้าบาน
กลับบ้าน ไปอดขนมต่อ เก็บเงินไว้ ไปติดกัณฑ์เทศน์ ให้พระชมอีก
ขณะที่ผมกำลังบ้ากัดปลา กัดจิ้งหรีดอยู่นั้น
มีอยู่วันหนึ่ง พระท่านเทศน์เรื่องกรรม ใครทำอะไรไว้ จะต้องเป็นอย่างนั้น
ผมก็คิดถึงสัตว์ ที่ผมทรมาน ไปจับมาบ้าง ไปซื้อมาบ้าง ขังเอาไว้กัดกัน
ถ้าชาติหน้า ผมไปเกิด เป็นปลากัด ปลาเข็ม และจิ้งหรีดบ้าง ผมคงแย่แน่ๆ
เลยตัดสินใจ เอาไปปล่อยหมด
ปลาเข็มที่ผมปล่อยลงไป เวลาอยู่ในคลองสีเหลืองอ๋อย
ลงไปว่ายได้ไม่เท่าไร ก็ถูกปลาใหญ่ๆ ฮุบเอาไป ผมยิ่งกลัวบาปมากขึ้น
ต่อมานึกเทียบเคียง กับการกินเนื้อสัตว์ ว่าไม่ถูกเหมือนกัน เป็นการส่งเสริม
ให้มีการฆ่าเพิ่มขึ้น จึงคิดจะเลิกกินเนื้อสัตว์ แต่ก็คิดไม่ออก
ผู้ที่จบโรงเรียนวัดสำเหร่รุ่นก่อนๆ ถ้าเรียนต่อ
มักจะไปเข้า โรงเรียนมัธยม วัดนวลนรดิศ แต่ผมกลับ สมัครสอบคัดเลือก
เข้าโรงเรียน บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ใครๆเข้าโรงเรียนวัด ผมเข้าโรงเรียนบ้าน
แปลกดี
สมัยหนึ่ง ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เรามักจบจากโรงเรียนสวน
(สวนกุหลาบ) แต่ผมนั้น วนเวียน อยู่แต่โรงเรียน วัด กับโรงเรียนบ้าน
ไม่มีโอกาสได้เข้า โรงเรียนสวน เหมือนใครๆ ถึงหน้าแข่งฟุตบอล โรงเรียนบ้าน
สู้กับโรงเรียนสวน สนุกอย่าบอกใครเชียว
ตอนที่แม่ลาออกจากบ้านคุณนาย พาผมกลับไปอาศัยอยู่กับยายนั้น
ผมสอบเข้าเรียนต่อ ชั้นมัธยม ที่บ้านสมเด็จ ได้พอดี และสอบเข้าได้ที่
๑ เข้าไปแล้วตั้งนานจึงรู้ว่า สอบคัดเลือก ได้ที่ ๑ เพราะ ทางโรงเรียน
มีระเบียบรับเด็ก ที่ท่านเจ้าคุณ สมเด็จวัดอนงคาราม ฝากจำนวนหนึ่ง
ซึ่งจะประกาศชื่อ เป็นลำดับต้นๆ ตั้งแต่ลำดับที่ ๑ ไป ส่วนผู้ที่สอบ
คัดเลือกได้เอง จะมีรายชื่อต่อจากนั้น ทั้งนี้ เพราะในสมัยนั้น สมเด็จวัดอนงคาราม
ท่านอุปถัมภ์ โรงเรียนบ้านสมเด็จ เป็นอย่างมาก
ผมโชคดีสอบเข้าบ้านสมเด็จได้ เพราะมีครูดี
ท่านสอนเก่งมาก และเข้มงวด ในเรื่องระเบียบ วินัย มาตั้งแต่ อยู่โรงเรียนวัด
เมื่อมาเป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผมจึงให้ความสนใจ โรงเรียนประถมศึกษา
ในสังกัด กทม. ๔๒๗ โรงเรียน ซึ่งประกอบด้วยครู ประมาณ ๑๔,๐๐๐ คน และ
เด็กนักเรียน ประมาณ ๒๓๐,๐๐๐ คน
ไปที่ไหนผมพูดได้เต็มปากว่า ผมเป็นศิษย์เก่าโรงเรียน
กทม. ผมอยากจะเห็น สถาบันเก่า ของผม เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
โรงเรียนกทม. เมื่อก่อนกับสมัยนี้ มีเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง
ที่ไม่เปลี่ยนแปลง แม้เวลา จะล่วงเลย ไปนานเท่าใดก็ตาม นั่นก็คือ ความยากจน
ของพ่อแม่เด็ก ส่วนใหญ่ ถ้าไม่ยากจน นักจะไม่เอาลูก เข้าโรงเรียนกทม.
ผมไม่อายที่เป็นเด็กโรงเรียนเทศบาล โรงเรียนวัด
เมื่อเป็นผู้ว่าฯได้ประมาณ ๓ ปี ผมไปเยี่ยม โรงเรียนที่ฝั่งธนฯ พบเพื่อนเก่าของผม
ยังเป็นแม่ค้าขายของหน้าโรงเรียน เราคุยกัน ถึงความหลัง สมัยเป็นนักเรียน
อย่างสนุกสนาน ก่อนจากกัน ผมบอกกับเพื่อนผมว่า
บอกความจริงกับคนอื่นเขาครับ ไม่ต้องกลัวว่าผมจะอาย
บอกเขาว่า คุณเป็นเพื่อนผม เป็นเพื่อนผู้ว่าฯ ใครจะทำไม ประวัติเราแก้ไม่ได้
และไม่จำเป็น ต้องไปแก้ ก็เราเคยเป็น เพื่อนกันจริงๆนี่
เพื่อนผมดีใจและภูมิใจที่ผมนึกถึงเขา และยังเป็นจำลองคนเดิม
เกือบ ๕๐ ปีก่อนโน้น เป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้ ก็เป็นอย่างนั้น แกคุยไปยิ้มไป
น้ำตาคลอ
ผมอยากกลับไปเป็นเด็กนักเรียนกทม. เหมือนเมื่อก่อน
สุขกายสบายใจกว่า ตอนเป็นผู้ว่าฯ กทม. อย่างเทียบกันไม่ได้
|