๕. ร่วมกันสู้ หน้า ๕๕ - ๖๖ |
|
เขียนถึงพี่ที่เป็นนายกฯหลังจากที่ผมเขียนจดหมายถึงพี่จ๊อดและพี่สุ ไปแล้ว ผู้สื่อข่าวหลายคน ถามหาฉบับที่สอง ผมก็บอกว่า ไม่มีหรอก ฉบับที่สอง เพราะไม่มีอะไรจะเขียน ผู้ใหญ่บางท่าน มียศทหารเป็นพลเอก ก็สนับสนุนให้ผมเขียน ท่านเจ้าอาวาส วัดใหญ่วัดหนึ่ง ในเขตลาดกระบัง ชมว่า "อาตมาอ่านจดหมาย ของโยมผู้ว่าฯ ที่เขียนลงในหนังสือพิมพ์ อาตมาอ่านถึง ๓ เที่ยว ดีจริงๆ" ในงานเลี้ยงแสดงความยินดี ให้กับศิลปินแห่งชาติ ผมไม่คิดเลยว่า จะได้รับคำชม จากนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ คือ คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่บอกกับผมว่า "จดหมายฉบับที่เขียนถึง พลเอกสุนทร และ พลเอกสุจินดา ผู้ว่าฯ เขียนได้ดีมาก เก็บเอาไว้ จะเป็นจดหมาย ประวัติศาสตร์ ของการเมืองไทย" และแล้ว เมื่อเหตุการณ์บังคับ ผมก็ต้องเขียนขึ้นมา อีกฉบับหนึ่ง ฉบับนี้ เขียนถึงพี่สุ โดยเฉพาะ
ได้ผลอีกเช่นเคย หนังสือพิมพ์หลายฉบับ นำไปลงพิมพ์หน้า ๑ บางฉบับพิมพ์ลายมือของผม ซึ่งวันนั้น ผมเขียนด้วยความรีบร้อน มีทั้งสกปรกและ ขีดฆ่าบางแห่ง ถ้ารู้ว่าจะเอาลายมือ ไปพิมพ์หมด จะได้เขียนให้ดีหน่อย เพราะลายมือผม ไม่ใคร่จะดี อยู่แล้วด้วย ผมมั่นใจว่า ทั้ง ๒ ฉบับ พี่สุคงได้อ่านแน่ เป็นจดหมาย เกี่ยวข้องกับการเมือง ที่เขาอ่านกันเยอะแยะ แล้วนายกรัฐมนตรี จะไม่อ่านได้อย่างไร เป็นจดหมายถึงนายกฯ โดยตรงเสียด้วย ในวันเดียวกันกับที่ผมเขียนจดหมาย แจกหนังสือพิมพ์นั้น ผมได้แถลง กับผู้สื่อข่าวว่า การที่พรรคพลังธรรม ต้องออกมาต่อสู้ ก่อนพรรคอื่นนั้น ไม่ได้มีเจตนา ที่จะเป็นผู้นำ ในการต่อต้าน แต่เห็นว่า พรรคพลังธรรมมี ส.ส. ในกรุงเทพฯ จำนวนมาก หากล่าช้า จะได้รับคำตำหนิ จากประชาชน อีกอย่างหนึ่งนั้น ในขณะนี้ ใกล้การประชุมสภา จึงไม่อาจรออีก ๓ พรรคได้ สำหรับการดำเนินการ ในสภานั้น ทางพรรคจะเสนอ ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่า ความวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเพราะ กติกาไม่ถูกต้อง ตอนห้าโมงเย็น ได้มีการแจกจ่ายใบปลิว เรียกร้องให้ประชาชนทั่วไป ร่วมประท้วง คัดค้านนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มาจาก การเลือกตั้ง และให้แต่งดำ ในวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๓๕ แล้วมาพร้อมกัน บริเวณหน้ารัฐสภา วันที่ ๑๕ เมษายน นายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร หัวหน้าขบวนการรัฐบุรุษ ได้เดินทางไปสนับสนุน เรืออากาศตรี ฉลาด ประกาศร่วมอดข้าว ประท้วง พร้อมจะแต่งชุดดำไว้ทุกข์ด้วย วันที่ ๑๖ เมษายน นายสุพัฒน์ ธรรมเพชร ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมอดข้าวประท้วง โดยมี นายชวน หลีกภัย และ เพื่อน ส.ส. ออกมาส่ง และให้กำลังใจ ต่อจากนั้น ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ได้ประกาศ มาอยู่เป็นเพื่อน ประท้วงด้วย ๓ วัน เนื่องจากกำลังตั้งครรภ์ ๔ เดือน จึงจะทำเพียง ถือศีล ๘ ซึ่งจะร่วมกับชาวบ้านอีก ๓๐ คน อดข้าวเย็นเพื่อประท้วง ซึ่งต่อมา ได้มีเยาวชน จากพรรคความหวังใหม่ อีก ๑๐ คน มาร่วมอดข้าวประท้วงด้วย นางสาวดาว สีหานาม ชาวสวนยาง จังหวัดพัทลุง ร่วมอดอาหารประท้วง พลเอกสุจินดา เพิ่มอีกคนหนึ่ง ตัวแทนองค์กรเอกชน อันได้แก่ ครป. สนนท. และกลุ่มพรรคฝ่ายค้าน ๔ พรรค จัดให้มีการปราศรัย โดยใช้ชื่อว่า "รวมพลัง ประชาชนเพื่อพิทักษ์ ประชาธิปไตย" จัดที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เย็นวันที่ ๒๐ เมษายน นับเป็นประวัติการณ์ ของการปราศรัย ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งมีคนฟังมากมาย ขนาดนั้น ผู้คนแออัดยัดเยียด เต็มไปหมด แทบไม่มีที่ว่าง เหลืออยู่เลย ซึ่งหัวหน้า พรรคฝ่ายค้านทุกคน ได้ไปปราศรัยด้วย กลุ่มนักศึกษา สนนท. ขอให้ประชาชนร่วมลงชื่อ เรียกร้องนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ได้ชื่อรวมกันทั้งหมด หลายหมื่นชื่อ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เสนอ ๓ ประการ คือ ๑.ให้ ๕ พรรคร่วมรัฐบาล เลิกสนับสนุน พลเอกสุจินดา พรรคพลังธรรม เรียกประชุมกรรมการบริหาร และ ส.ส. เป็นการด่วน พิจารณาเรื่องวิกฤตการณ์ ทางการเมือง โดยเฉพาะ เห็นว่า การเรียกร้อง ให้พลเอกสุจินดา ลาออกไปสมัคร ส.ส.นั้น หากตำแหน่ง ส.ส.ไม่ว่าง พลเอกสุ จินดา ก็ไม่สามารถสมัครได้ ตามกฎเกณฑ์ ของกฎหมายเลือกตั้ง พลเอกสุจินดา สมัครได้เพียง จังหวัดเดียวเท่านั้น คือกรุงเทพฯ เนื่องจาก พรรคพลังธรรม มี ส.ส.อยู่ครบทุกเขต ในกรุงเทพฯ ส.ส.พรรคพลังธรรมทุกคน และทุกเขต ที่ไปร่วมประชุม ในวันนั้น จึงพร้อมใจกัน อาสาจะลาออก เปิดทางให้ พลเอกสุจินดา สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งนี้จะเลือกสมัคร ในเขตไหนก็ได้ วันที่ ๒๔ เมษายน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมนักข่าว แห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ได้จัดอภิปราย ระดมความคิดเห็น ในหัวข้อเรื่อง "ประชาชนต้องการได้อะไร จากรัฐบาลใหม่" ในการระดม ความคิดนี้ มีนักวิชาการ จากหลายที่ มาแสดงความเห็น สรุปได้ว่า นักวิชาการ หมดหวังกับรัฐบาลของ พลเอกสุจินดา โดยสิ้นเชิง วันที่ ๒๖ เมษายน มีผู้มาร่วมอดข้าวกับ เรืออากาศตรี ฉลาด อีกประมาณ ๒๐ คน ได้จัดให้มีการทำบุญ ตักบาตร ที่บริเวณ หน้ารัฐสภา เรืออากาศตรีฉลาด เรียกร้องให้วัดใจ เผด็จการอีกครั้ง โดยนัดให้มีการชุมนุมใหญ่ หน้ารัฐสภา ในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๓๕ แล้วจะยอมเข้ารักษาตัว ในโรงพยาบาลวชิระ ในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๓๕ แต่จะยังคง อดอาหารต่อ วันที่ ๑ พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติ พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และพนักงานบริษัท ไทรอัมพ์ จำนวน ๒,๐๐๐ คน ได้มาเยี่ยม ให้กำลังใจ นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หลังจากนั้น ก็เคลื่อนขบวนสมทบกับกลุ่ม กรรมกร ย่านพระประแดง อ้อมน้อย อ้อมใหญ่ พากันมุ่งหน้าไป อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมกับชูป้ายผ้า และโปสเตอร์ เรียกร้องให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง และขอร้อง ให้ผู้กุมอำนาจ คืนอำนาจให้ประชาชน ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ได้ร่วมอดอาหาร ประท้วงเป็น เวลา ๒๔ ชั่วโมง ในฐานะแม่ของลูกคนหนึ่ง ซึ่งจะกำเนิดขึ้น บนแผ่นดิน ที่ผู้มีความไม่จริงใจ ขึ้นปกครองประเทศ "แม่และลูกได้ร่วมกันต่อสู้" ด้วยมือ และ จิตใจ อันว่างเปล่า เพราะอยากเห็น สิ่งที่ดีงามในสังคม วันเดียวกันนี้ ตัวแทนกลุ่มแนวร่วมประชาชน พิทักษ์ประชาธิปไตย จำนวน ๓ คน ได้เข้าร่วมอดอาหาร ประท้วงด้วย วันที่ ๓ พฤษภาคม เลขาธิการสหพันธ์ นิสิตนักศึกษา แห่งประเทศไทย (สนนท.) แถลงว่า การจัดชุมนุม ปราศรัยใหญ่ ที่ท้องสนามหลวง ในวันที่ ๔ พฤษภาคมนั้น จัดโดย สนนท. และคณะกรรมการรณรงค์ เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ต้องเปลี่ยนจาก ลานพระบรมรูปทรงม้า มาเป็นสนามหลวง เนื่องจาก เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ยอมให้จัดที่นั่น โดยไม่แจ้งเหตุผล ตัวแทนของกลุ่มนักวิชาการ เพื่อประชาธิปไตย ๑๐ สถาบัน ได้มีการประชุมร่วมกัน และลงมติ ส่งตัวแทน ของนักวิชาการ เข้าร่วมการอดข้าวด้วย โดยจะเวียนกันอดข้าว สถาบันละ ๑ คน ต่อหนึ่งวัน โดยเริ่มจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย ๑๐ สถาบัน ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ มหิดล สุโขทัยธรรมาธิราช ศิลปากร เกษตร สงขลานครินทร์ รังสิต รามคำแหง และสถาบันเทคโนโลยีสังคม (เกริก) มติของกลุ่มนักวิชาการ ๑๐ สถาบัน มีมติให้ พลเอกสุจินดา ลาออก ในวันที่ ๖ พฤษภาคม และเรียกร้อง ให้อาจารย์ มหาวิทยาลัย และนักศึกษา ทุกสถาบัน หยุดการสอนและการเรียน เพื่อมาร่วมแสดงประชามติ ในวันนั้น พร้อมกับ มีตัวแทน ของกลุ่มนักวิชาการ ร่วมอดอาหาร วันละ ๑ คนด้วย
|
|
จากหนังสือ... ร่วมกันสู้ ...พลตรี จำลอง ศรีเมือง * เขียนถึงพี่ที่เป็นนายกฯ * หน้า ๕๕ - ๖๖ |