๑๐. ร่วมกันสู้ หน้า ๑๓๔

ดนตรีเพื่อประชาธิปไตย

หยุดพักการชุมนุมได้ยังไม่ทันครบ ๒๔ ชั่วโมง พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค ก็แถลงข่าวว่า ไม่ได้เป็น อย่างที่ประธาน สภาผู้แทนราษฎร พูดในโทรทัศน์ พรรคไม่ได้ตกลงด้วย ในการแก้รัฐธรรมนูญ ประธานสภาฯ พูดไปโดยพลการ หนังสือพิมพ์ ก็นำไปพิมพ์ พาดหัวโตๆ ให้ประชาชนทราบว่า “เบี้ยวอีกแล้ว”

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้ยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า ที่พูดออกไปนั้น มีการประชุมหัวหน้าพรรค และผู้แทนของพรรค ทั้ง ๙ จริง ตกลงจะร่วมกัน แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อช่วยให้เหตุการณ์ต่างๆ สงบลง ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ส.ส. และพรรคการเมือง ที่จะช่วยกันแก้ปัญหา

บางพรรคบอกว่า ไม่มีการพูดกันถึงเรื่อง ที่จะแก้ไขให้นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง

ในขณะที่บางพรรคบอกว่า ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นนั้น จะต้องมีบทเฉพาะกาล ๔ ปี คือ ให้พลเอกสุจินดา เป็นนายกฯ ไปให้ครบ ๔ ปีเสียก่อน จึงจะมีนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง

ประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมเป็นแสน รวมทั้งประชาชน ที่อยู่ทางบ้านอีกนับล้านๆ คน ได้ยินได้ฟังแล้ว ก็ทราบได้ทันทีว่า ถูกหลอกอีกแล้ว หลอกกันไม่มีสิ้นสุด เมื่อไรจะเลิกกันเสียที

คณะผู้จัดให้มีการชุมนุม ได้เรียกประชุม องค์กรต่างๆ ทั่วประเทศ ที่โรงแรมรอแยล ซึ่งก่อนหน้านั้น ๑ วัน หมอสันต์ หมอเหวง และ ครูประทีป ก็นัดพบผม บอกว่า กำลังจะรวบรวมองค์กร จังตั้งเป็น สมาพันธ์ประชาธิปไตย ขอให้ผม เป็นกรรมการร่วมด้วย ผมได้ใช้เวลา ชี้แจงอยู่นาน กว่าทั้ง ๓ ท่านจะเห็นด้วยว่า ผมไม่ควรมีชื่อ เป็นกรรมการ เพราะผมเพิ่งไปร่วม ต่อสู้ทีหลัง หลังจากที่หลายๆคน ได้ร่วมกันต่อสู้ มาเป็นเดือนแล้ว ถ้าให้ผมเป็นกรรมการ ประเดี๋ยวใครๆ ก็หาว่าผม เป็นหัวโจกอีก

ครั้นเมื่อถึงวันประชุม ผมไปร่วมฟังเฉพาะตอนท้าย ก่อนที่จะมีการแถลงข่าว ที่ประชุมเสนอชื่อผม เป็นกรรมการอีก ผมค้านอีก แต่ผู้แทนของทุกองค์กร เสนอเป็นเสียงเดียวกัน ขอให้ผมเป็นกรรมการ มิฉะนั้น การต่อสู้ จะอ่อนลงอีกมาก ผมเลยจนใจ ต้องเป็นกรรมการจนได้

ทางด้านรัฐบาล ก็มีการเคลื่อนไหว เช้าวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พลเอกสุจินดา เดินทางไปกรมตำรวจ เยี่ยมให้กำลังใจตำรวจ ที่ดูแลการชุมนุม ซึ่งต้องเหน็ดเหนื่อย ติดต่อกันหลายวันหลายคืน

ตามแผนซึ่งได้วางไว้อย่างแนบเนียน รัฐบาล จะระดมประชาชน จังหวัดต่างๆ สนับสนุน พลเอกสุจินดา เป็นนายกฯ ให้ได้ถึง ๕ ล้านคนนั้น พอถึงเวลาเข้าจริง รวมได้อย่างมาก ประมาณ 2 หมื่นคน เท่านั้น ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ต่างก็เสียหน้าไปตามๆกัน

พลโทชัยณรงค์ หนุนภักดี แม่ทัพภาคที่ ๑ ได้แถลงข่าว ถึงการเตรียมการ ของกองกำลัง รักษาพระนคร หากมีการชุมนุม ในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พร้อมทั้งให้ความเห็นว่า คงสงบเรียบร้อย เหมือนครั้งก่อนๆ ไม่มีอะไรรุนแรง น่าเป็นห่วง แต่อย่างใด

การแสดงดนตรีที่สวนจตุจักรนั้น กทม. เคยจัดขึ้นบ่อยๆ แต่ไม่มีครั้งไหน ที่ผู้คนมากมาย เหมือนวันที่ ๑๕ พฤษภาคม เพราะเป็นดนตรี เพื่อประชาธิปไตย เพื่อสิ่งที่หลายคนใฝ่หา

แม้พวกเราจะประกาศ ไปอย่างโจ่งแจ้ง แล้วก็ตามว่า เป็นการชุมนุม ฟังดนตรีธรรมดาๆ ไม่มีการปราศรัย แต่รัฐบาลก็พยายามขัดขวาง ไม่ให้มีการชุมนุมอยู่ดี ได้เกณฑ์ตำรวจ ไปปิดกั้นถึง ๒,๐๐๐ คน เมื่อพิจารณา ลักษณะ ภูมิประเทศแล้ว สวนจตุจักร ปิดกั้นง่ายกว่าที่อื่นๆ เพราะมีรั้วรอบ ขอบชิด

ตำรวจพยายามขัดขวาง ไม่ให้เล่นดนตรี ไม่ให้ใช้เครื่องขยายเสียง การขัดขวางนี้ เริ่มตั้งแต่ บ่ายสองโมง พอตกเย็น ผู้คนไปร่วมกันมากเข้าๆ ตำรวจก็ไม่สามารถ สกัดกั้นพลังมหาชนได้ ผู้ร่วมชุมนุม สามารถจัดการแสดงดนตรี ตามที่ได้นัดแนะกันไว้

เป็นดนตรีฟรีๆแบบเดิม ผู้จัดไม่ต้องเสียเงิน ไปหามา ผู้ดูก็ไม่ต้องเสียเงินเข้าชม นักร้องนักดนตรี นอกจากเสียเวลา เล่นไม่ได้เงินแล้ว ยังเสี่ยงต่อการ ถูกกลั่นแกล้งอีก รัฐบาลใช้วิธีการ ต่างๆนานา กดดันบีบคั้น ขัดขวาง ไม่ให้ศิลปิน ไปร่วมกับผู้ชุมนุม เช่น แอ๊ด คาราบาว และอริสมันต์ เป็นต้น แต่ก็ไม่สำเร็จ ค่ำวันนั้น มีวงดนตรีไปร่วมงานมาก แต่ละวง เตรียมเพลงไว้ ไม่ต่ำกว่า ๑๐ เพลง ถูกตัดทอนลงเหลือ วงละ ๔ เพลง เท่านั้น เพื่อเปิดโอกาส ให้แสดงได้ทั่วทุกวง

ร้องเพลงไป เล่นดนตรีไป ก็พูดเรื่องประชาธิปไตยไป พูดแง่มุมต่างๆกัน พูดออกมาจากหัวใจ ของแต่ละคน ฟังแล้วไม่เบื่อ สมกับชื่อ “ดนตรีเพื่อประชาธิปไตย” จริงๆ ใครไปฟังก็ติดใจ นัดพบกันใหม่ ๑๗ พฤษภา ที่สนามหลวง

ในวันเดียวกันนั้น หลังจากที่สถานีวิทยุ และโทรทัศน์ ได้บิดเบือนข่าวสาร ในระหว่าง การชุมนุมมาตลอด บรรดาผู้แทนสื่อมวลชน โดยเฉพาะ ภาคเอกชน และนักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ได้จัดให้มีการประชุม ปรึกษาหารือ เกี่ยวกับเรื่องสิทธิ และ เสรีภาพ ของสื่อมวลชน ในสถานการณ์ปัจจุบัน ได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน ขึ้นมาคณะหนึ่ง มีหน้าที่สอดส่อง การเสนอข่าวสาร และได้ประกาศ กับประชาชนว่า ขอให้ฟังข่าวสาร ที่ถูกต้อง จากสถานีวิทยุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สถานีวิทยุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสามารถสอบถามข่าว จากศูนย์ข่าว สมาพันธ์ประชาธิปไตย ได้ตลอดเวลา


 

กระบี่มื้อเดียว
เป็นจอมกระบี่มื้อเดียว
กินแต่ผักใบเขียวไม่กินเนื้อ
อยู่ง่ายกินง่าย นุ่งฝ้ายนอนเสื่อ
มีชีวิตที่เหลือเพื่อเมตตา
อำลาออกราชการ
จากทหารสู่วิถีธรรมะ
ช่วงชีวิตผกผันกลางรัฐสภา
เพราะไม่ยอมให้ทำแท้งเสรี
มหาจำลอง มหาจำลอง
มหาจำลอง มหาจำลอง

ใบหน้าวาจาและรอยยิ้ม
ดูอาบอิ่มซื่อตรงและตั้งใจ
ร่วมต่อสู้เคียงบ่าและเคียงไหล่
เพื่อขับไล่อำนาจเผด็จการ
คืนนั้นฉันเองยังหวาดกลัว
เสียงปืนรัวที่หมายคือลูกหลาน
ต่างหลบหนีลี้กายกันลนลาน
นึกสงสารมหาจำลอง
มหาจำลอง มหาจำลอง
มหาจำลอง มหาจำลอง

นักรบในวรรณกรรม
คือผู้นำในโลกมายา
นักบุญในใจประชา
คือมหากระบี่มื้อเดียว
นักรบในวรรณกรรม
คือผู้นำโลกมายา
แต่นักบุญใจอหิงสา
คือมหาจำลอง

มหาจำลอง มหาจำลอง
มหาจำลอง มหาจำลอง

เป็นจอมกระบี่มื้อเดียว
และนายพลคนเดียวแห่งกองทัพ
ที่ต่อสู้จนตัวต้องโดนจับ
ไปพร้อมกับพี่น้องชาวประชา
ตามสมญา นายร้อยห้อยกระบี่
นับแต่นี้นามกระบี่อหิงสา
ในประวัติศาสตร์เดือนพฤษภา
คืนที่ฝนปนห่ากระสุนปืน
มหาจำลอง มหาจำลอง
มหาจำลอง มหาจำลอง

แอ๊ด คาราบาว


 

อ่านต่อ ๑๑ รัฐบาลช่วยการชุมนุม

 

จากหนังสือ ... ร่วมกันสู้ ... พลตรี จำลอง ศรีเมือง * ดนตรีเพื่อประชาธิปไตย * หน้า ๑๓๔