๑๖. ร่วมกันสู้ หน้า ๑๘๘

เข้าเฝ้า

เวลาประมาณสองทุ่ม นายทหารมาส่งข่าวว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีรับสั่ง ให้เข้าเฝ้าด่วน

เขาพาผมนั่งรถไปแวะที่ กองกำลังรักษาพระนครก่อน ที่นั่น ผมพบพี่ๆ นักเรียนนายร้อยรุ่น ๕ ที่เป็นแม่ทัพ นายกองหลายคน รวมทั้ง พลเอกสุจินดา พูดคุย ทักทายกันตามปกติ สักพักท่าน องคมนตรี พลเอกเปรม ก็ไปถึง ทั้งท่านองคมนตรี พลเอกสุจินดา และผม นั่งรถเป็นขบวน ตรงไปยัง พระตำหนักจิตรลดา

ผมเกิดความสงสัย เพิ่งสองทุ่มกว่าๆ ทำไมถนน จึงเงียบเชียบ ไม่มีรถแล่นสักคัน เห็นทหารยืนถือปืน รักษาการณ์ เป็นกลุ่มๆ มีเครื่องกีดขวาง เตรียมไว้พร้อม เหมือนเป็นสนามรบอีกเช่นกัน ไปที่ไหนๆ ก็พบแต่สนามรบ

ตอนที่เจ้าหน้าที่เชิญไปขึ้นไปเฝ้า พลเอกสุจินดา หันมากระเซ้าผม “มีจำลองคนเดียวเท่านั้น ที่แต่งชุดนี้ เข้าเฝ้าได้”

ท่านประธานองคมนตรี อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์, ท่านองคมนตรี พลเอกเปรม และพลเอกสุจินดา แต่งชุด สากลหมด มีผมคนเดียว ใส่เสื้อม่อฮ่อม และกางเกง สีน้ำเงินเก่าๆ เพราะผมมีชุดเดียว ใส่ตั้งแต่วันถูกจับ จนถึงวันเข้าเฝ้า

เสื้อม่อฮ่อมแสนจะยับยู่ยี่ เพราะผมเพิ่งซัก ในห้องขัง แล้วไม่ได้รีด รองเท้า แม้จะใหม่เอี่ยม แต่ก็เป็น รองเท้าแตะฟองน้ำ ที่ทหารอากาศซื้อให้ ชุดเข้าเฝ้าของผม จึงแปลกที่สุด

เมื่อคลานเข้าไปถึงหน้าที่ประทับ ผมจึงรีบกราบบังคมทูล “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้า ปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า พลตรีจำลอง ศรีเมือง ขอพระราชทานอภัย ที่แต่งกาย ไม่เหมาะสม ในการเข้าเฝ้า พระพุทธเจ้าข้า”

พระองค์ท่านตรัสว่า ไม่เป็นไร

แล้วทรงมีกระแสพระราชดำรัส ติดต่อกันนาน ๑๕ นาที ซึ่งต่อมาภายหลัง ทั้งหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ ได้นำไปเผยแพร่ หลายครั้งแล้ว ขอนำกระแส พระราชดำรัส มาบันทึกไว้ ณ ที่นี้อีกด้วย

“คงเป็นที่แปลกใจ ทำไมถึงเชิญให้ท่าน มาพบกันในวันนี้ เพราะว่า ทุกคนก็ทราบว่า เหตุการณ์ มีความยุ่งเหยิงอย่างไร แล้วก็ทำให้ ประเทศชาติล่มจมไปได้

แต่ที่แปลกใจก็อาจมีว่า ทำไมเชิญพลเอกสุจินดา คราประยูร และพลตรีจำลอง ศรีเมือง เพราะว่า อาจจะมีผู้ที่เป็นตัวแสดง ตัวละครมากกว่านี้

แต่ว่าที่เชิญมาเพราะว่า ตั้งแต่แรกมีเหตุการณ์ ทั้งสองท่าน เป็นผู้ที่เผชิญหน้ากัน แล้วก็ในที่สุด ตอนหลัง เป็นการต่อสู้ หรือการเผชิญหน้า กว้างขวางขึ้น ถึงได้เชิญสองท่านมา แล้วก็การเผชิญหน้า ตอนแรก ก็จะเห็นจุดประสงค์ ทั้งสองฝ่าย ได้ชัดเจนพอสมควร

แต่ต่อมาภายหลัง ๑๐ กว่าวัน ก็เห็นแล้วว่า การเผชิญหน้านั้น เปลี่ยนโฉมหน้า ไปอย่างมาก จนกระทั่ง จะออกมาอย่างไรก็ตาม เสียทั้งนั้น เพราะว่าจะทำให้มีความเสียหาย ในทางชีวิต เลือดเนื้อ ของคนจำนวนมาก พอสมควร แล้วก็ความเสียหายทางวัตถุ ซึ่งเป็นของ ส่วนราชการ และส่วนบุคคล เป็นมูลค่ามากมาย

นอกจากนั้น ก็มีความเสียหาย ในทางจิตใจ และในทางเศรษฐกิจ ของประเทศชาติ อย่างที่จะนับพรรณนาไม่ได้

ฉะนั้น การที่จะเป็นไปอย่างนี้ต่อไป จะเป็นเหตุผล หรือต้นตอ อย่างไรก็ช่าง เพราะเดี๋ยวนี้ เหตุผลเปลี่ยนไป

ถ้าหากว่าเผชิญหน้ากันแบบนี้ต่อไป เมืองไทย มีแต่ล่มจมลงไป แล้วก็จะทำให้ประเทศไทย ที่เราสร้างเสริม ขึ้นมาอย่างดี เป็นเวลานาน จะกลายเป็นประเทศ ที่ไม่มีความหมาย หรือ มีความหมาย ในทางลบอย่างมาก ซึ่งก็เริ่มปรากฏผลแล้ว

ฉะนั้น ต้องแก้ไขโดยที่ดูว่า มีข้อขัดแย้งอย่างไร แล้วก็พยายาม ที่จะแก้ไขตามลำดับ เพราะว่า เดี๋ยวนี้ปัญหาที่มีอยู่ ทุกวันนี้ สองสามวันนี้เปลี่ยนไป ปัญหาไม่ใช่เรื่องของที่เรียกว่า “การเมือง” หรือเรียกว่า ของการดำรงตำแหน่ง เป็นปัญหาของการสึกหรอ ของประเทศชาติ ฉะนั้น จะต้องช่วยกันแก้ไข

มีผู้ที่ส่งข้อแนะนำ ในการแก้ไขสถานการณ์ มาหลายฉบับ หลายคน จำนวนเป็นร้อย แล้วก็ทั้งในเมืองไทย ทั้งต่างประเทศ ที่ส่งมาให้ ที่เขาส่งมา การแก้ไข หรือการแนะนำว่า เราควรจะทำอย่างไร ก็มีต่างๆ นานา ตั้งแต่ตอนแรก ก็บอกว่า แก้ไขวิธียุบสภา ซึ่งก็ได้หารือ กับทางทุกฝ่าย ที่เป็นสภา หมายความว่า พรรคการเมืองทั้งหมด ๑๑ พรรค ใน ๑๑ พรรคนี้ คำตอบมีว่า ไม่ควรยุบสภา ส่วนมี ๑ รายที่บอกว่า ควรยุบสภา ฉะนั้น การที่จะแก้ไข แบบที่เขาเสนอมานั้น ก็เป็นอันว่าตกไป

นอกจากนั้น ก็มีเป็นฎีกา แนะนำวิธีการ ต่างๆกัน ซึ่งกได้พยายาม เสนอไปตามปกติ คือ เวลา มีฎีกาขึ้นมา ก็ส่งไปให้ทาง สำนักนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไข ตามแบบนั้น

ตกลงมีแบบยุบสภา และมีอีกแบบหนึ่ง คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้ตามประสงค์ ที่ต้องการ หมายความว่า ประสงค์เดิม ที่เกิดเผชิญหน้ากัน ซึ่งความจริงวิธีนี้ ถ้าจำได้ เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ ก็ได้พูดต่อสมาคมที่มาพบ จำนวนหลายพันคน แล้วก็ดูเหมือนว่า พอจะรับฟังกันโดยดี เพราะเหตุผล ที่มีอยู่ในนั้น ดูจะแก้ปัญหาได้พอสมควร ตอนนี้ก็ขอย้ำว่า ทำไมพูดอย่างนั้นว่า ถ้าจะแก้ก่อนออกก็ได้ หรือออกแล้วแก้ก็ได้ อันนั้น ทุกคนก็ทราบดีว่า เรื่องอะไร ก็เรื่อง รัฐธรรมนูญ ซึ่งครั้งนั้น การแก้รัฐธรรมนูญ ก็ได้ทำมาตลอด มากกว่าฉบับเดิม ที่ตั้งไว้ ได้แก้ไข แล้วก็ก่อนที่ไปพูดที่ ศาลาดุสิดาลัย ก็ได้พบพลเอกสุจินดา ก็ขออนุญาต เล่าให้ฟังว่า พบพลเอก สุจินดาแล้ว พลเอกสุจินดา ก็เห็นด้วยว่า ควรจะประกาศใช้ รัฐธรรมนูญนี้ และแก้ไขต่อไปได้ อันนี้ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้

และตอนหลังนี้ พลเอกสุจินดา ก็ได้ยืนยันว่า แก้ไขได้ ก็ค่อยๆแก้ ให้เข้าระเบียบ ให้เป็นที่เรียกว่า เป็น “ประชาธิปไตย” อันนั้นก็ได้พูดมา ตั้งหลายเดือนแล้ว ในวิธีการที่จะแก้ไข

แล้วข้อสำคัญที่ทำไม อยากให้ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ แม้จะถือว่า รัฐธรรมนูญนั้น ยังไม่ครบถ้วน ก็เพราะเหตุว่า รัฐธรรมนูญนั้น มีคุณภาพพอใช้ได้ ดีกว่าธรรมนูญ การปกครองชั่วคราว ที่ใช้มา เกือบปี เพราะเหตุว่า มีบางข้อบางมาตรา ซึ่งเป็นอันตราย แล้วก็ไม่ครบถ้วน ในการที่จะปกครองประเทศ

ฉะนั้น ก็นึกว่า ถ้าหากว่าสามารถ ที่จะปฏิบัติ ตามที่พูด ในวันที่ ๔ ธันวาคมนั้น ก็นึกว่า เป็นการกลับ ไปดูปัญหาแต่เดิม ไม่ใช่ปัญหาวันนี้

ปัญหาวันนี้ ไม่ใช่ปัญหาของการบัญญัติ หรือแก้ไข รัฐธรรมนูญ ทุกวันนี้ คือ ความปลอดภัย ขวัญดีของประชาชน ซึ่งเดี๋ยวนี้ประชาชนทั่วไป ทุกแห่งทุกหน มีความหวาดระแวงว่า จะเกิดอันตราย มีความหวาดระแวงว่า ประเทศชาติจะล่มจม โดยที่จะแก้ไขลำบาก

ตามข่าวที่ได้ทราบมาจากต่างประเทศ เพราะเหตุว่า ในขณะนี้ ทั้งลูกชายลูกสาว ก็อยู่ต่างประเทศ ทั้งสองก็ทราบดี แล้วก็ได้พยายาม แจ้งให้กับคนที่อยู่ ในประเทศเหล่านั้นว่า ประเทศไทย จะยังแก้ไขสถานการณ์ได้ แต่รู้สึกว่า จะเป็นความคิด ที่เป็นความคิดแบบ หวังสูงไปหน่อย ถ้าหากว่า เราไม่ทำให้ สถานการณ์อย่าง ๓ วัน ที่ผ่านมานี้ สิ้นสุดไปได้

ฉะนั้น ก็ขอให้โดยเฉพาะสองท่าน พลเอกสุจินดา และพลตรีจำลอง ช่วยกันคิด คือ หันหน้ากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่า เป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของ หนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน เข้าหากัน ไม่เผชิญหน้ากัน แก้ปัญหา เพราะปัญหามีอยู่ ที่เวลาเกิด จะใช้คำว่า “บ้าเลือด”

เวลาคนมีการปฏิบัติรุนแรง จะลืมตัว ลงท้ายก็ไม่รู้ว่า ตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่า จะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วก็ที่แพ้ที่สุดก็คือ ประเทศชาติ ประชาชน จะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะ ในกรุงเทพมหานคร

ถ้าสมมุติว่า ในกรุงเทพมหานคร เสียหายไป ประเทศก็เสียหายไป ทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไร ที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกอง สิ่งสลักหักพัง

ฉะนั้น จึงขอให้ทั้งสองท่านเข้ามา คือ ไม่เผชิญหน้ากัน และ สองท่านนี้ เท่ากับเป็นผู้แทน ของฝ่ายต่างๆ คือไม่ใช่สองฝ่าย

ฝ่ายต่างๆ ที่เผชิญหน้ากัน ให้ช่วยกันแก้ปัญหา ปัจจุบันนี้ คือความรุนแรงที่เกิดขึ้น แล้วก็เมื่อ เยียวยาปัญหานี้ได้แล้ว จะมาพูดกัน ปรึกษากันว่า จะทำอย่างไร สำหรับ ให้ประเทศชาติ ได้มีการสร้าง พัฒนาขึ้นมาได้ กลับคืนมาได้โดยดี อันนี้เป็นเหตุผล ที่เรียกท่านทั้งสองมา และก็เชื่อว่า ทั้งสองท่านก็เข้าใจว่า จะเป็นผู้ที่ได้สร้างประเทศ จากสิ่งสลักหักพัง แล้วก็จะได้ผล ในส่วนตัว มากกว่าได้ทำดี แก้ไขอย่างไร ก็แล้วแต่ ที่จะปรึกษากัน ก็มีข้อสังเกตเท่านี้

ท่านประธานองคมนตรี ท่านองคมนตรีเปรม ก็เป็นผู้ใหญ่ ผู้ที่พร้อมจะให้ การแนะนำ ปรึกษา หารือกัน ด้วยความเป็นกลาง ด้วยความรักชาติ เพื่อสร้างสรรค์ประเทศ ให้เข้าสู่การพัฒนา ขอฝากให้ช่วยกันสร้างชาติ”

 

เมื่อกราบถวายบังคมลาออกมาแล้ว คณะทั้งหมดก็นั่งหารือกัน ที่ห้องชั้นล่าง

พลเอกสุจินดาเสนอว่า จะออกโทรทัศน์ ชี้แจงให้ประชาชนทราบ

ผมเสนอว่า ควรจะพูดให้ละเอียดว่า จะสนับสนุน ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็น นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยไม่มีบทเฉพาะกาล

องคมนตรี พลเอกเปรม ท่านเห็นด้วย

แต่พลเอกสุจินดาแย้งว่า พูดละเอียดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะท่านเป็นหัวหน้า ฝ่ายบริหาร จะเป็นการไปบีบบังคับสภา จะขอพูดสั้นๆ ว่า “จะสนับสนุน ให้มีการแก้ไข รัฐธรรมนูญ”

ผมขอให้เพิ่มคำว่า “โดยเร็ว” ไปด้วย ก็ตกลง

ในการพูดทางโทรทัศน์กับประชาชน ผมจึงพูดตอนหนึ่งว่า ในชั้นนี้ ท่านนายกรัฐมนตรี กล่าวไว้สั้นๆ ก่อนว่า จะสนับสนุน ให้มีการแก้ไข รัฐธรรมนูญโดยเร็ว

ออกโทรทัศน์เสร็จ ตอนเวลาสองยามเศษ ผมจึงบอกทหารอากาศ ที่ควบคุมผมว่า แม้ผมจะได้รับการปล่อย ให้กลับบ้านได้ ผมก็ยังไม่กลับ เพราะดึกมากแล้ว ขอกลับไปนอนที่ กองพันทหารสารวัตรอีก ๑ คืน

ห้องขังห้องเดิม ก็เปลี่ยนเป็นห้องนอนทันที เพียงแต่เอากุญแจออก และไม่มีทหาร ถือปืนเฝ้า เท่านั้นเอง

ห้องขัง คือ ห้องนอน ถ้าใจเป็นสุข
ห้องนอน คือ ห้องขัง ถ้าใจเป็นทุกข์

ตั้งแต่คืนที่เข้าเฝ้าเป็นต้นมา เพื่อปฏิบัติตามกระแส พระราชดำรัส ผมจึงเลี่ยง ไม่พบผู้สื่อข่าว และไม่ให้สัมภาษณ์ทั้งสิ้น เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็มๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้สื่อข่าวไทยหรือต่างชาติ โดยบอกกับเขาตรงๆ ว่า ให้สัมภาษณ์ไม่ได้ ผมจะเสียหายอย่างยิ่ง

โปรด ปล่อย “คนซื่อ คนดี
พลตรีจำลอง ศรีเมือง”

ชาวเกาหลี ได้ชุมนุมประท้วง ที่หน้า
สถานเอกอัครราชทูตไทย ในกรุงโซล
เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๕


 

อ่านต่อ ๑๗ ปฏิกิริยาในต่างแดน

จากหนังสือ ... ร่วมกันสู้ ... พลตรี จำลอง ศรีเมือง * เข้าเผ้า * หน้า ๑๘๘