ธรรมปัจเวกขณ์
วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๒๕

ตอนนี้พยายามย้ำยืนยันในเรื่องของ "สังคหวัตถุ" เพราะว่าจำเป็นเหลือเกิน ที่เราจะต้องพยายาม เคี่ยวเนื้อใน คือ ให้เป็นสามัคคี ให้เป็นหมู่เป็นกลุ่ม ให้สนิทเนียน เข้ากันได้แนบแน่น เข้าแก่น เป็นแก่น เป็นเนื้อ มันจะเป็นไปได้ก็เพราะ เราจะต้องรู้จัก การให้ หรือการทาน หรือ การเสียสละ การปลด ปล่อยออก เรียกว่า ทาน เราจะเป็นอภัยทาน วัตถุทานก็ประกอบกัน มันมาที่จิตใจ มันมาที่ อภัยทาน อภัยทานคือหมดภัย เรามีแต่ให้ทางวัตถุ ทางใจ ให้ความโลภที่เรามี สละออก ความโลภ สละความโกรธ สละความอาฆาต พยาบาท เรียกว่า อภัย เราต้องให้ได้ ปลงได้ เราติดเรายึด อยู่ในใจ เราข้อง เราเคือง เราปฏิฆะ ก็ปล่อยวาง ให้เกลี้ยงสิ้น---

นี่พูดง่ายๆ พูดอย่างสรุปเอาง่ายๆ ส่วนจะมีเหตุ มีปัจจัยอะไร เราก็ต้องใช้เวลา ศึกษามา มากหลายแล้ว ต้องฝึกหัด ต้องทำจริง เกิดทาน นี่แหละเป็นสูงสุด ไม่ว่าในแง่เชิงใด ว่ากันจริงแล้ว ที่สุดแห่งที่สุดแล้ว เกิดมาเป็น ผู้ที่จะสร้างสรร เพื่อให้แก่โลก เพราะฉะนั้น อาการ หรือกิริยา หรือคุณธรรม สูงสุด ของศาสนา ทางพระเจ้า เขาบรรยาย แม้ในพุทธเรา ก็บรรยาย จึงเป็นสภาพของ พระผู้ประทาน หรือให้ เราพูด เป็นศัพท์สูง เราก็เรียกว่า ประทาน คือผู้ให้ เป็นพระผู้ให้ เป็นพระผู้สร้างสรร ขยันเพียร กอบก่อ และ เป็นพระจิตวิญญาณบริสุทธิ์ คือเป็นผู้มี จิตไม่มีความโลภ ความโกรธเลย บริสุทธิ์ ผุดผ่อง สบายเบา นั่นแหละ เป็นอาการของ จิตวิญญาณสูงสุด ของมนุษย์ เราจะไม่มีความโลภ ความโกรธ เราจะว่าง สบาย บริสุทธิ์ สร้างสรรไป อย่างจริง สร้างแล้วเพื่อให้คนอื่น อะไรก็ตามแต่

แม้แต่เราเอง กินอยู่หลับนอนนี่ เราก็ทำไป เพื่อให้ขันธ์ มันก่อเกิด มีพลังงาน มีบทบาท แล้วเราก็มาใช้ บทบาทนั้น ให้เกิดกรรม กรรมการงาน เพื่อไปเป็นประโยชน์ แก่ผู้อื่น นั่นแหละ ส่วนใหญ่ สำหรับเราเอง ไม่มีอะไรมากมาย เพราะฉะนั้น คำว่าทานนี้ จึงเป็นบท เป็นหัวข้อ เป็นหลัก ที่สำคัญที่สุด ที่เราจะถึงจุดนี้ ให้สมบูรณ์ มีเปยยะวัชชะ ซึ่งก็เคยอธิบายแล้ว ก็อธิบายอีก ซ้ำซาก ว่า เราจะต้อง เข่นกัน เราจะต้องเคี่ยวกัน เราจะต้องกระหนาบ กระหน่ำกัน ติเตียนกัน บอกแล้ว บทชมเชยนั้น บอกคำเดียว ครั้งเดียว ก็รู้กันแล้ว แต่บทที่จะขัดเกลา บทที่จะกระหน่ำ กระหนาบ ชี้โทษแล้ว ชี้โทษอีกนี้ มันไม่พูด ครั้งเดียว พูดครั้งเดียวไม่ได้ มันต้องพูดแล้วพูดเล่า ซ้ำซาก เพราะฉะนั้น เราจะทำอย่างไร ให้คนนี่ ดื่มเอาคำตำหนิ ดื่มเอาคำกระหนาบ คำกระหน่ำ พวกนี้ได้ เปยยะวัชชะ โดย พยัญชนะ โดยภาษา โดยความหมาย ทำอย่างไร ให้เขาหวามคำติเราได้ ทำอย่างไร ให้เขาดื่มคำติของเรา อย่างฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ไม่เกิดการขุ่นเคือง ไม่เกิดการแหนงหน่าย รับแล้วเอาไปทำ รับฟัง รับเชื่อ เห็นจริง แล้วเขาปฏิบัติตาม ได้อย่างเร็วไว จะทำอย่างไร---

เพราะฉะนั้น คนที่ทำให้คนอื่น เกิดเปยยะวัชชะได้ จะเกิดการสังเคราะห์ เกิดการพัฒนา คนนั้นจะเปลี่ยนแปลง คนนั้นจะปรับปรุง คนนั้นจะเดินก้าวหน้าไปทีเดียว เพราะเขาจะรู้ชั่วของตน แล้วล้างชั่วของตน ละชั่วของตน คำตำหนิสิ่งชั่วแหละ ใครจะไปตำหนิสิ่งดี แล้วต้องตำหนิให้ถูก ตำหนิให้ถูก แล้วก็ตำหนิ ให้สมเหมาะ สมควร ตำหนิให้สมเรื่องสมราว สมตัวสมบุคคล ตำหนิได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ตำหนิได้ อย่างเกิดการพัฒนาได้ นี่เป็นความสามารถอย่างมาก นักสังคมสงเคราะห์ หรือ นักสังเคราะห์ ที่จะสังเคราะห์มนุษย์ สังเคราะห์โลก สังเคราะห์ตนก็ตาม เราจะสงเคราะห์ตนเอง เราก็ต้อง ตำหนิตนเอง แล้วตำหนิจริงๆ ตำหนิอย่างที่ถูกต้อง ตำหนิแล้ว ก็ปรับปรุงเอง ตำหนิตนเอง ปรับปรุงตนเอง อันนี้ มันไม่ยากอะไร แต่ทีนี้ ในเรื่องสังคหวัตถุนี่ มันเกี่ยวกับผู้อื่น เพราะฉะนั้น ต้องทานให้แก่ผู้อื่นได้ จะต้องให้ ผู้อื่น ดื่มคำตำหนิได้ จะต้องเข้าถึงแก่น อัตถจริยา จะ ต้องเข้าถึงแก่น ถึงพฤติกรรม ที่เป็นเนื้อหา แก่นสาร ที่ถูกต้อง---

อาตมาแน่ใจว่า อาตมาอยู่ในสารัตถะ มีอิริยาบถ มีอัตถจริยา มีพฤติกรรมที่เป็นแก่นสาร แต่คน ชาวโลก เขาตำหนิ เพราะคนชาวโลก เขาไม่อยากให้อาตมาติเขา ว่าเขา กล่าวประท้วงเขา กล่าวชี้ผิด ให้แก่เขา เขาไม่อยาก ไม่อยากจริงๆ ไม่อยากให้อาตมาพูด เขาจะใช้โวหาร นโยบาย ความสามารถ แม้แต่อำนาจ อันบาตรใหญ่ เขาก็จะพยายามใช้ ให้อาตมานี่ไม่ต้องพูด เพราะยิ่งพูด มันยิ่งถูก อาตมานี่ พูดถูกเสียด้วย เขาแก้ตัวไม่ได้ แก้ไม่ได้ เขาก็เลยต้องใช้คารมอื่นว่า ดีแล้วก็ดีไป อย่ามาว่าคนอื่น บ้าง หรืออะไรอื่นๆ อีกบ้าง จริงๆ อาตมาอยู่ในพฤติกรรมอย่างนี้ มีจริยาอย่างนี้ อาตมาแน่ใจ ว่า อาตมาไม่ได้ทำผิดอะไร แล้วอาตมา ก็แนะนำพวกคุณ ให้คุณเป็นให้ถึง แต่ระวังอย่าขี้ตามช้าง เรายังไม่ถึงบทบาทอย่างนั้น ไปติเขาโดย ผิดภูมิ ผิดฐาน เรายังไม่ใหญ่ปานนั้น ยังไม่มีฤทธิ์ปานนั้น ระวังจะไปเจอของแข็ง เราจะลำบาก สิ่งนี้ไม่ใช่ขู่ แต่ต้องสมส่วน ไม่สมส่วนแล้วผิดพลาด ไม่เจริญ แล้วก็จะถูกเขา ปราบปรามไปง่ายดายด้วย---

เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องดำเนินบท ดำเนินการกระทำ ในเรื่องของท่านให้ได้ นี่เป็นจริยธรรม อันเป็นแก่น ในเรื่องของ การทำให้ผู้อื่น สามารถทำให้เขาดื่ม คำตำหนิ ติเตียนได้ นี่เป็นความสามารถ เป็นแก่น การที่จะชมเชยเขานั้น ทำง่าย ใครก็สามารถ ใครก็ทำได้ นั่งชมเชยเขาไป ทั่วบ้านทั่วเมือง รับรอง ไม่มีปัญหาอะไร ทำได้ เมื่อไรก็ทำได้ ง่ายดี แต่จะตำหนิเขาให้ได้ นี่แหละ มันแสนยาก มันเป็นเนื้อ เป็นแก่นของสังคม การสังเคราะห์สังคม จึงประกอบไปด้วย อาการอย่างนี้---

อันสุดท้าย สี่อย่างนั้น จะต้องสมานให้ได้ จะต้องทำ ให้ทุกคนเข้ากัน เราเข้ากับเขา เขาเข้ากับเรา แม้จะอยู่ห่างกัน ก็เข้ากันอยู่ กำลังพยายามที่จะเข้ากัน กระเถิบเข้าไป สมานกันให้ได้ ไม่ใช่ทำให้ แตกร้าว ไม่ใช่ทำให้พัง ทำลาย เราทำงานมานี้ เราไม่ได้ทำให้แตกร้าวเลย เราไม่ได้ทำให้ทำลายเลย เราขอยืนยัน---

เราพยายามชี้ความแตกต่าง เราพยายามชี้ผิดชี้ถูก ให้ชัดเจน ให้เห็นความแตกต่าง ว่าผิดกับถูก มันต่างกันนะ ต้องแยกกันให้ออกนะ ไม่ใช่ทำความแตกแยก เราไม่ได้โกรธใคร ไม่ได้เคืองใคร เราเข้ากับ สิ่งที่ควรเข้าได้เข้า ไอ้สิ่งที่เข้าไม่ได้ มันเป็นสัจจะ ชั่วกับดี จะให้มาเข้ากัน พยายามที่จะจัด ให้โมเมปนกัน จับไอ้ที่ถูกกับที่ผิด ไปปนๆ ปนกัน แล้วก็อำพราง กลบเกลื่อนเอาไว้ เอ้า! อยู่ด้วยกัน อยู่ด้วยกัน เป็นด้วยกัน นั่นแหละ เป็นอย่างงี้ๆ แต่เขาก็แก้ตัว มาเป็นอย่างถูกไม่ได้ เราทำอย่างถูก ก็ไปขัด ไปขวางเขา บาดหูบาดตาเขา เขาทำอย่างนั้น เราถ้าว่าบาด ก็บาดเหมือนกัน เพราะว่าผิด มันก็บาดตาเราได้ แต่เราจะวางใจได้ โดยไม่ บาดตา บาดใจ อะไรก็ตาม มันก็ดูขัดกัน อยู่นั่นแหละ เพราะฉะนั้น ยิ่งขัดกันมาก ถ้าเอาจริงแล้วนะ เรากล้านะ อย่าทะเลาะ อย่าร้องนะ เอาไหมละ ถ้าเข้าไปรวมกันแล้ว มันก็ขัดเด่นกันชัดๆ ผิดก็อย่างหนึ่ง ถูกก็อย่างหนึ่ง อย่าร้องนะ ขอเราทำอย่างนี้ คุณก็ทำอย่างนั้น แล้วอย่าร้อง มันข่มกัน ก็ต้องยอม อันไหน มันดีกว่า เขาตัดสินเอง ชาวบ้าน ประชาชน เอาไหมละ แท้จริงก็ไม่เอา แล้วจะขอให้เรา ไปเป็น อย่างที่เขาเป็น ก็อย่างที่เขาเป็นมันผิด เราจะไปเป็นตามเขา ได้อย่างไร---

อันนี้ ก็เป็นข้อสุดท้ายที่ว่า เอ้า! ต่างคนต่างทำ ก็แล้วกัน เรามีสิทธิ์พูดว่า เขาไม่ดี ในส่วนที่เราเห็นว่าไม่ดี อย่างบริสุทธิ์ใจ เขาก็มีสิทธิ์ที่จะพูด เราว่าไม่ดี แม้คุณไม่บริสุทธิ์ใจ คุณก็ยังพูดอยู่เลย แต่ถ้าคุณบริสุทธิ์ใจ คุณจะพูดได้ไหมเล่า ถ้าเราถูกจริง แล้วเขาจะพูด ว่าเราผิดได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ตรงนี้แหละ มันต้อง จริงใจกัน มันต้องถึง ที่สุดกัน ถ้าเขามีปัญญา เขาก็จะไม่ว่าเราผิด แต่ถ้าเขาไม่มีปัญญา เขาก็จะว่าเราผิด อยู่นั่นเอง ก็ว่าไป เพราะว่าเขาไม่มีปัญญา จะรู้ว่าเราผิด เราก็ถูกเขาว่า เราอาจจะหลงตัวเรา ว่าเราถูก เราก็ต้องว่าเราถูก แล้วพิสูจน์ซิ ต่างพิสูจน์ไปว่า มันจะลงตัวอย่างไร มันจะมีจริงอย่างไร---

อันนี้เป็นทางสุดท้าย ไม่รู้จะทำอย่างไร ให้คนเข้าใจ ทางสุดท้ายได้ เมื่อยึดแล้ว คนไหนเห็นว่า อันนั้นถูก จงทำ ใครเห็นว่า อย่างนี้ถูก จงทำ แล้วกาละเวลา จะเป็นตัวตัดสิน ผลมันจะไปถึงที่สุด อันนั้นๆ เอง นี่พูดถึงเรื่อง แนวแตกแยกที่สุด แต่เราจะไม่พยายามทำ ให้เกิดแตกแยก เราจะประสาน เราจะสมาน เอาเนื้อดี เข้าทดแทน เนื้อร้ายเราก็จะค่อยๆ จะไล่มันออก ไล่มันออก เหมือนไล่ขี้ทอง เหมือนไล่ขี้กาก ไล่กาก ของการฝัดข้าว ไล่ขี้กาก ไล่ขี้ของทอง เราต้องค่อยๆ ไล่ออกไปจริงๆ---

ทุกวันนี้ เราก็ไม่ได้หมายความว่า เราไล่กัน อย่างตีระ ตีรานอะไร เราก็ค่อยๆ ไล่ ค่อยๆ บอก ค่อยๆ ชี้ เป็นระดับๆ เรารู้อยู่ว่า แต่ว่าเราจะพูด ความไม่ดีทั้งหมด ไปทีเดียวนั้น เราพูดได้ทันที เราชี้ให้มากกว่านี้ แต่ว่า เราก็ต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ในเรื่องการที่จะบันยะบันยัง อันนั้นแหละ คือการ สมานอัตตา ไม่ว่าจะเป็น ข้างนอก ใหญ่ หยาบ เห็นว่าขัดกันชัดๆ หรือแม้แต่ในนี้เอง ในหมู่กลุ่ม ของเราเอง ต้องสมานอัตตา ต้องดูฐานะ แต่ละบุคคลไม่เท่ากัน อันนั้นเขาได้เท่านั้น เขาสมาทานเท่านั้น ก็ต้องรู้ เขตขอบของเขา ว่าเขาสมาทานศีล ๕ เขตขอบเท่านั้น อธิศีลของศีล ๕ มันก็ประมาณ นั้น เขาสมาทานศีล ๘ ก็ประมาณ ขนาดนั้น ต้องดู ขอบเขตของเขา ประมาณให้ดี เราอย่าไปให้ เขาเกินมา เขาเกินมา มันไม่ไหว ก็เขา สมาทานแล้วว่า เขาเป็นแค่นั้น ก็สมเหมาะ กับฐานะของเขา แล้วต้องดู อย่าให้เหลื่อม อย่าให้เพี้ยน แต่จริง ผู้มีฐานะที่จะดึงขึ้นมาสู่สูง แม้คุณจะสมาทานศีล ๘ แต่คุณได้แล้ว พอแข็งแรงแล้ว เขาก็จะดึงขึ้นไป ให้ยิ่งกว่าศีล ๘ ที่เป็นอธิศีล ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้นๆ หรือมีศีล ที่สูงยิ่งขึ้น---

ผู้นั้น ผู้เจ้าตัวเอง ก็จะต้องรู้กาลเทศะเหมือนกัน หรือ ผู้ที่จะดึงเขาขึ้นด้วย นโยบาย ก็ต้องรู้ใน กาลเทศะ เหมือนกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ถ้อยทีถ้อยมีเจตนาดี แล้วค่อยบันยะบันยังไป ประสม ประสานกัน จึงจะเรียกว่า สมานอัตตา หรือ สมานัตตตา ด้วย---

หรือแม้แต่ที่สุด ผู้ที่สูงแล้ว จะอนุโลมหลายๆ อย่าง เพื่อทำสิ่งที่เป็นแก่นสารบ้าง ของๆ ผู้ที่ต่ำ เราต้อง อนุโลม เราต้องไม่ถือชั้นวรรณะ จนหยิบก็ไม่ได้ เป็นคนเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ หยิบโหย่ง ของอื่นๆ ที่เป็นสิ่งที่เป็นแก่นสารสาระ เราก็ตีค่า เป็นศักดินา เราไม่ทำ ไม่แตะ ไม่ต้อง หยิบไม่ได้ แบกไม่ได้ หามไม่ได้ สัมพันธ์ไม่ได้ มันก็ห่าง มันเกิดช่องว่าง เกิดวรรณะ เกิดศักดินา---

เราจะต้องอ่านให้จริง แล้วก็อนุโลมปฏิโลม ตามกาลเทศะฐานะ ให้ถูกต้อง ประสมประสานด้วย ความจริงใจด้วย แล้วเราก็ต้องรู้กาล ที่จะต้องแสดงออก ให้เห็นว่า เราไม่ได้รังเกียจ แสดงออกทางกาย ทางวจี ทางมโน พรั่งพร้อม สมส่วน ทุกสิ่งอย่าง ก็จะดูเป็นไปได้ครบ กลมกลืน เกิดการ สังเคราะห์โลก เจริญงอกงาม อยู่ทั้งหมด เรื่องทาน เรื่องเปยยะวัชชะ หรือ อัตถจริยา เรื่องสมานัตตตา จะค่อยๆ อธิบาย มีพิศดาร มีแทรกซ้อน มีอะไรต่ออะไร แง่เชิง ต่างลึกขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ก็จะต้อง น้อยลงแหละ ความที่จะลึกซ้อน มันก็ละเอียดขึ้น ก็น้อยลงๆ แต่เราจะต้อง ติดตามศึกษา เข้าใจแล้ว ปฏิบัติอบรมให้เป็น เอาแต่รู้ด้วยบัญญัติ ภาษาเท่านั้น ไม่ สำเร็จในประการทั้งปวง---

เราจะต้องปรับปรุง โดยเฉพาะต้องเราเองนี่แหละ ใครจะมาปรับปรุงตัวเราเอง ได้ยิ่งกว่าเราแล้ว เป็นไม่มี เราต้องปรับปรุง ตัวเราเองนี่แหละ ได้ดีที่สุด ฟังความคิดอ่านของคนอื่น ผู้รู้ท่านจะไม่บังคับเรา จะไม่เผด็จการเรา แน่นอน แต่ท่านจะต้อง พยายามทำให้เรา เกิดปัญญา อย่างยิ่ง และทำให้เราเกิด มีเรี่ยวแรง ในจิตในตน ที่สามารถปราบล้มล้าง สิ่งที่เป็นอกุศล สิ่งที่เป็นทุจริตทั้งหลาย สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม เป็นบาป เป็นชั่ว เราจะต้องมีเรี่ยวแรง ทั้งกายและปัญญา ทั้งใจและปัญญา กระทำให้ลงตัวได้ อย่างแท้จริง---

ถ้าเราทำได้แล้ว ในสังคหวัตถุ ๔ นี้ ความสามัคคี ความรวมหมู่รวมกลุ่มจะเกิด ไม่ใช่ตัวหนังสือ ไม่ใช่ตัวภาษา ไม่ใช่ความหมายเปล่า แต่มันเป็นของจริงที่ เราทำสอดคล้อง ตามทฤษฎีของ พระพุทธเจ้า แล้วเราจะเกิด ความเป็นปึกแผ่น สามัคคี และ เป็นแก่นที่แข็งแรง แน่นหนา นิรันดร.---