ประกายธรรม ๔ เมื่อใด"คน" จึงจะมี "ค่า" แก่ผู้อื่น หรือโลก ถ้าอ่านหัวข้อเรื่องนี้ แต่เพียงผิวเผิน ไม่คิดให้ดี ก็จะงง แล้วก็คิดคำตอบออกมาผิดเป้า หรือผิดความจริง ไปได้อย่างแน่ๆ แต่แม้กระนั้น ก็ตาม ข้าพเจ้าก็เชื่อว่า ก็คงจะมีอีก มากคน ที่อ่านแล้ว ก็ยังนึกคำตอบ ออกมาไม่ได้ หรือแม้ได้ ก็ผิดเอาอย่างจริงๆจังๆ เสียด้วย ไม่เชื่อ ลองติดตามอ่านดู ที่นึกคำตอบออกมาไม่ได้นั้น ก็เพราะไม่รู้ว่า "คน" คืออะไร? นั่นเป็นความสำคัญข้อใหญ่ "คน" อยู่เพื่ออะไร? อีก เป็นความสำคัญ ข้อรองลงมา เอาล่ะ ข้าพเจ้า จะไม่จาระไนออกมา ให้ยืดยาวล่ะว่า "คน" คืออะไร? เพราะโดยจริง ทุกคนก็คงพอจะรู้ๆ ว่า "คน" ก็คือ "ชีวิต" ที่ต้องดิ้นรนอยู่ในโลก แต่ในที่นี้ ข้าพเจ้า อยากจะคุยกัน ในประเด็นที่สอง มากกว่า คือ "คน" อยู่เพื่ออะไร? นั่นเป็นประเด็น ที่ตรงกับหัวข้อ หรือชื่อเรื่อง "คน"เกิดมาแล้ว มี "ชีวิต" อยู่เพื่ออะไร? เดี๋ยวก็จะได้ทราบ แต่ก่อนจะไป กระจ่างใจว่า คนอยู่เพื่ออะไรนั้น ข้าพเจ้าอยากจะชี้ให้เห็นว่า "คน"นั้น ยิ่งเวียนเกิดเวียนตาย มากรอบมากวัฏฏะ เข้าไปเท่าใด ก็ยิ่งมี "จิตใจ" คิดเฉลี่ยแล้ว ยิ่งเลวลง และต่ำลงไป ทุกวันๆ นี่เป็นความจริงแท้ โลกยิ่งมีอายุ มากขึ้นเท่าใด "คน" อันคือ "จิตใจ" หรือ "วิญญาณ" ของโลก ก็ยิ่งนับวันจะถูก "กิเลส" เกาะและพอก เข้าไปๆ หนาขึ้น มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ถ้า "คน" ผู้ใด รักจะมีชีวิตอยู่ โดยไม่มองให้เห็นความจริงแท้ในแง่นี้มุมนี้บ้าง ก็เป็นของแน่นอน "คน" ผู้นั้น ก็ย่อมจะต้องเป็นอยู่ ให้เหมือนกับ "คน" ทั่วๆ ไปทั้งหลายเขา นั่นคือ จะต้องมีจิตใจต่ำลง เลวลง ไปตามลำดับ ด้วยหลักแห่ง ความแท้จริง นั่นเพราะเหตุ อะไรหรือ ก็เพราะว่า ในโลกนี้ หรือโลกไหน ก็ตาม สิ่งอันใด ที่จะทรงอยู่ได้ก็คือ "ความสมดุล" ถ้ามีซ้ายก็มีขวา มีชั่วก็มีดี ทำความสมดุลเอาไว้ ถ้าส่วนใด สิ่งใดมาก ก็จะฉุด หรือมีน้ำหนักมาก ถ่วงตัวเอง ลงไปสู่ทางนั้น เทียบง่ายๆ คนคือ "ชีวิต" คนจะต้องมีหิว (หรือไม่ได้กิน) กับอิ่ม (คือได้กิน) ถ้าผู้ใดเอาแต่หิว ผู้นั้นก็จะต้องดับ "ชีวิต" ลงเร็ว ผู้ใดเอาแต่อิ่ม ผู้นั้น ก็ย่อมจะดับ "ชีวิต" ลงเร็วเช่นกัน ถ้าผู้นั้น กินแต่พอดี ไม่หิว และไม่อิ่มไป ไม่เกินไป ไม่น้อยไป พอดีจริงๆ คนผู้นั้นก็จะมี "ชีวิต" ยืนนานเป็นพิเศษทีเดียว ดังนั้น มีใครคิดบ้างไหมว่า "โลก" ที่เราอยู่ทุกวันนี้ แย่ลงทุกวัน "ชีวิต" ของโลก บาดเจ็บลงไป ทุกวัน ถูก "จิตใจ" หรือ "วิญญาณ" อันคือคนนี่แหละ บ่อนทำลาย ลงไปทุกวันๆ ("ชีวิต" ประกอบด้วย "ลูกโลกทั้งหมด" เป็น "กาย" และ "ชีวิตคน" นั่นแหละ เปรียบได้กับ "จิต" หรือ "วิญญาณ" ของโลก) และ โลกก็จะต้องตาย หรือ หมดชีวิตลง ในอนาคตแน่ๆ คือจะแตกสลายในที่สุด ถ้า "คน" ดีขึ้น มากกว่าเลวลง กว่าที่เป็นอยู่ ในทุกวันนี้ ชีวิตของโลก ก็จะแตกทำลายช้าลงกว่านี้ ถ้าโลกมีคนดี หรือความดี เท่ากับคนเลว หรือความเลว โลกนี้จะอยู่ได้ นิรันดรกาล แต่เพราะเหตุว่า โลกขาดสมดุล ลงไปทุกวันๆ "คน" เลวลงมากกว่าดีขึ้น โลกจึงจะต้องแตก ทำลายเร็วขึ้น นั่นเป็นหลัก แห่งความจริง และนั่นคือ "โลก" ขณะนี้ กำลังใกล้วัน จะแตกลงไป ทุกทีๆ เอาละ เรามาแยกแยะอธิบายให้เห็นซิว่า สิ่งที่วัดให้เห็นว่า "คน" นั้นจิตใจต่ำลง เลวลง โดยไม่รู้ตัว กันอย่างไร? ขึ้นชื่อว่า "คน" ก็คือ ผู้ที่เกิดมาก็ดิ้นรน เพื่อที่จะให้ตนอยู่อย่างดีที่สุด ซึ่ง "ความรับรู้" ที่เคยมีในจิตใจ โดยธรรมชาติ ก็คือ "ได้ "รับรู้" มาว่า "ผู้ที่อยู่ดีทีสุด" ก็คือ ผู้ที่มีสิ่งใดๆ มาให้ทวารตั้ง ๕ "เสพ" ได้สมใจ หรือ บริบูรณ์ ตามใจได้มากที่สุด ไม่มีอื่นเป็นเด็ดขาด จึงเรียกว่า "คน" ตาจะต้องให้เห็น สิ่งที่อยากเห็น ให้ถูกใจถึงใจ หูก็จะต้องได้ยิน ได้ฟังเสียงที่อยากฟัง ให้ถูกใจถึงใจ สิ้นจะต้องได้แตะ ได้รับรส ที่อยากแตะ ให้ถูกใจถึงใจ จมูกจะต้องได้กลิ่น ได้ดมสิ่งที่อยากให้ถูกใจถึงใจ และ ส่วนเนื้อหนังมังสา ร่างกาย ทุกส่วนแหละ ก็จะต้องได้แนบ ได้เสียดสี ได้แตะต้อง กับสิ่งที่ชอบ ที่อยากให้ ถูกใจถึงใจ มีเท่านี้จริงๆ คือ "คน" รับรองว่า ไม่มีอื่นอีกเลย ที่ "คน" ดิ้นรน ปรนเปรอ ให้ตน อยู่ในทุกเมื่อ เชื่อวัน เมื่อได้สิ่งเหล่านี้ มาให้ตน ได้มากที่สุด ก็ดีอกดีใจว่า สุขที่สุด ผู้ที่อยากอยู่ แต่ยังไม่สมใจอยาก ก็พยายามเหน็ดเหนื่อย ดิ้นรนให้ได้มา ถ้าได้มาบ้างแล้ว นิดหน่อย ก็อยากได้มากขึ้น ความพอ หรือ ความจบไม่มี เพราะตัวอย่าง ผู้ที่เขามีมากกว่า หรือ สุขมากกว่า มีอยู่รอบตัว ความสุดใจ หรือ "ถึงใจ" อย่างแท้จริง จนเรียกว่า "จบ" จึงไม่มี นั่นคือ "คน" คือผู้อยู่เพื่อ "เสพสิ่งทั้ง ๕" นี้ คือ "เสพกามคุณ" นั่นเอง มีหน้าที่อยู่เท่านี้ ยังไม่ตายตราบใด ถ้าขึ้นชื่อว่าเป็น "คน" ละก็ ต้องทำหน้าที่ "ดิ้นรน" เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า เพื่อสะสมเงินทอง หรือชื่อเสียง อันแยกออกไป เรียกเป็นหลักใหญ่ๆ ได้ว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ เพื่อนำมาให้ตน แล้วก็ใช้ ลาภ ยศ สรรเสริญนั้นๆ แปรเปลี่ยนเป็นสิ่งต่างๆ อันจะเป็น "อาหาร" นำมาให้ทวาร ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย นี่แหละเสพ และผู้ "รับรู้รส" นั่นคือ "ใจ" และต้อง "ถูกใจถึงใจ" ก็จะเกิดอาการ "สุข" เมื่อผู้ใดเหน็ดเหนื่อยหามาได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นลาภก็ดี ยศก็ดี เป็นสรรเสริญก็ดี คือสิ่งที่ถือว่า เป็นของมี "ค่า" ทั้งนั้น เพราะลาภ-ยศ-สรรเสริญ-นี่แหละ มันจะแปรเปลี่ยน หรือให้คุณ ให้ผลออกมาเป็น "อาหาร" เพื่อให้ทวารทั้ง ๕ เสพได้ ยิ่งมีลาภมากๆ ก็ยิ่งจะเห็นชัด เพราะลาภส่วนมากเป็น "วัตถุ" เป็นส่วนใหญ่ ยิ่งถ้ากล่าวว่า ได้เงินทองมามากๆ ก็จะเรียกได้ลาภมาก เป็นลาภแท้โดยตรงทีเดียว ถ้าได้ยศ ได้สรรเสริญ ก็ยังเป็น "ลาภ" ทางอ้อม ยังเป็นเพียงลาภ ที่ต้องรอคอยผล ซึ่งจะตามมาทีหลัง นั่นคือ ถ้าจะเรียกให้สั้น และให้ตรงๆ เลยทีเดียว คนทุกวันนี้ ก็ต้องการ เงินทอง กับ เกียรติยศชื่อเสียง นั่นแหละ คือ ลาภ กับ ยศ-สรรเสริญ และผลที่เป็นตัวเป็นตน ชัดที่สุด ก็คือต้องแปรทั้งเงิน ทั้งเกียรติยศ ชื่อเสียงนั้น ออกมาเป็น "อาหาร" (ในที่นี้ มิได้หมายความแค่ข้าวปลา แต่หมายถึงทุกอย่าง) ให้หู-ตา-ลิ้น-จมูก -กายเสพ เป็นขั้น สุดท้าย อันเรียกรูปที่ได้เสพ ถูกใจถึงใจ รสที่ได้เสพ ถูกใจถึงใจ เสียงที่ได้เสพ ถูกใจถึงใจ กลิ่นที่ได้เสพ ถูกใจถึงใจ สัมผัสเสียดสี ที่ได้เสพ ถูกใจถึงใจ และเมื่อ "ถูกใจถึงใจ" ก็เรียกอาการนั้นว่า "รสอร่อย" แล้ว การ "เสพรสอร่อย" ก็จะเป็นไป อย่างไม่รู้จบตราบวัน "ชีวิต" ตายลง และ ก็ยังไม่จบลงได้ ก็ยังจะเกิด วนเวียนมา "เสพ" มันใหม่ ลองคิดดูเถิดว่าเห็น "ค่า" ของชีวิตหรือยัง? ลาภ-ยศ-สรรเสริญ เป็น "ค่า" ของชีวิต ได้ไหม? ถูกต้อง แล้วหรือยัง? ตราบใด "คน" ยังไม่ได้คิด ยังไม่ได้วินิจฉัยให้ถ่องแท้ และยังไม่รู้ว่า ตนเกิดมาเพื่ออะไร? ก็จะไม่มีวันรู้ ได้เลยว่า คนนั้นอยู่เพื่ออะไร? แม้เพียงเพื่อเสพสิ่งทั้ง ๕ ตามทวารที่มีนี้ เท่านั้น ก็ยังไม่มีโอกาสรู้ตัว คงได้แต่หน้ามืด ตาบอด ดิ้นรน เหน็ดเหนื่อย ไขว่คว้า "อาหาร" ที่ดีขึ้น-ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ก็แล้วกัน อยู่อย่าง มีข้าวกับน้ำพริก กินทุกมื้อ ทุกวัน ก็ให้น้อยเนื้อต่ำใจ อยากกินผัด กินแกงชั้นดี อยากกินหมูหัน เป็ดย่าง อยู่อย่าง มีขาสองขาเดินโหน "รถเมล์" ก็ให้ น้อยเนื้อต่ำใจ พยายามหาเงินมาให้ได้มากๆ เอาไปซื้อ "รถ" มาทำ "เมล์" จนตัวเองไปไหนๆ เพราะขับเองไม่เป็น ก็จ้างคนมาขับ แล้วตัวเองนั่ง หรือแม้ขับเองเป็น แต่ไม่ขับ เพราะ "หลง" ในยศในศักดิ์ ก็นัยเดียวกัน คือให้ผู้อื่น ขนพาตัวเองไปนั่นเอง จึงเรียกว่า "รถเมล์" เหมือนกัน แต่จ้าง "คนขับ" เฉพาะตัว และจองการนั่ง เฉพาะตัวเสียด้วย การใช้จ่าย ก็แพงขึ้น เงินที่จะต้องหามา ก็ต้องให้มากขึ้น ผลแท้ๆ ของมันก็คือ เพื่อ "การไป" นั่นเอง แต่ "ไป" โดยให้คนได้เสพ ความสบาย ความโก้ ความหรูหรา แม้จะเป็นการ "เสพ" เรื่องอื่น อย่างอื่น ก็นัยเดียวกัน ทีนี้ ลองมาพิจารณาความเป็น "ค่า" ของชีวิตจริงๆ ดูซิว่า อย่างไรมันคือ "ค่า" หรืออย่างไร มันจึงจะ เหมาะควร เรียก "ค่า" กันได้อย่างแท้ จะขอไล่มาจากตัวของเรา หรือตัวของคนเลยทีเดียว ถ้า "คน" คือแท่งท่อน ที่ไม่มีชีวิตจิตใจ มันก็ไม่เสพอะไร เมื่อมันมีชีวิตจิตใจ ที่ยังหลงอยู ยังไม่บรรลุรู้แจ้ง มันก็จะเสพกามคุณ ๕ ดังได้กล่าวแล้ว เป็นธรรมดาของคน ดังนั้น สิ่งที่จะเสพ โดยตรง คือ "รูป" ที่ตาเห็น ทันทีแท้ๆ เดี๋ยวนี้ทันที เช่น มีดอกกุหลาบงาม กับมีตาที่จะเกิดการ "เห็นรูป" และพยายามให้ถูกใจ ถึงใจ "รส" ที่ลิ้นได้สัมผัสจริงๆ เดี๋ยวนี้ มีของกินมีลิ้นแตะ และพยายามให้ถูกใจถึงใจ หรืออื่นๆ อีกทั้ง ๕ ทวาร นั่นแหละ เรียกว่า สิ่งที่ "คน"พึง"เสพ" เป็น "อาหาร" ขั้นแรก เป็นของจริง ถูกตัวถึงตัว จริงๆ ดังนั้น ถ้าผู้ใดมีอาหารทีว่านั้น บริบูรณ์ อยากเสพเดี๋ยวนี้ ก็มีเสพได้ทันที ถ้ายิ่งดีเยี่ยมด้วย รูป-กลิ่น-เสียง-สัมผัสกายครบ ก็นับว่าเป็น "ค่า" ยิ่งแล้ว สำหรับผู้ได้เสพนั้น นี่คือ "ค่า" ชั้นที่หนึ่งและเป็น"ค่า" สำหรับผู้เสพคนเดียว เท่านั้น คนอื่น ผู้ไม่ได้เสพด้วย จะไม่เห็นว่ามันเกิด "ค่า" หรือมี "ประโยชน์" กับเขากัน ตรงไหนเลย เพราะเขา ไม่ได้เสพด้วย เขาไม่ส่วนกับ "อาหาร" ดังกล่าวแล้วนั้น (โปรดเข้าใจให้ดีว่า "อาหาร" ที่ว่านี้ ไม่ได้หมายความเฉพาะ ของรับประทาน หรือ ของเสพทางปาก สัมผัสรส ทางลิ้นเท่านั้น ที่เสพทางหู ตา จมูก กายเรียกว่า "อาหาร" ด้วย) เพราะฉะนั้น จะเรียก "อาหาร" ที่ว่านี้เป็น "ค่า" ก็เรียกได้เพียงว่า "ค่า" ของชีวิต แต่ละคน เท่านั้น ซึ่งเล็กน้อยจริงๆ แคบจริงๆ หน่วยเดียว เท่านั้น ผู้อื่นผู้ใด ไม่ได้เสพด้วย ไม่มีสิทธิ์เอ่ยว่าเป็น "ค่า" เป็น "ประโยชน์"ได้เลย นี่คือ "ค่า" ชั้นต่ำสุด เท่าที่จะต่ำได้ โดยยังไม่ออกไป จากตัวเอง ถึงผู้อื่นเลย ดังนั้น จงสำนึกเถิดว่า อาหารหู อาหารตา อาหารลิ้น อาหารจมูก อาหารกาย ทั้งหลายนั้น มันมีค่า แคบที่สุด ดังได้ลองวิจัยกันออกมานี้ จึงไม่ควรจะหลงใหล เหน็ดเหนื่อย เป็นทาสมันได้ มากมายนัก และ โดยแท้แล้ว จะเรียกว่ามันมี "ค่า" สำหรับ "ผู้อื่น" หรือสำหรับ "โลก" ไม่ได้เลย เป็นอันขาด ผู้ใด ตั้งหน้าตั้งตา ใฝ่ให้แก่ตัว หรือ มุ่งมั่นหามาเสพ แต่ถ่ายเดียว อย่างไม่ลืมหูลืมตา ก็คือผู้ไม่มี "ค่า" หรือ "ประโยชน์" ใดๆแก่ "ผู้อื่น" หรือแก่ "โลก" เลยแม้เท่าขี้เล็บ เรียกได้ว่า ผู้เห็นแก่ตัว และเห็นแก่เสพ อย่างเต็มประตู ทีนี้ "คน" ทุกคนเหน็ดเหนื่อยในขั้นต่อไป นอกจากเพื่อ "อาหาร" อันเป็น "ค่า" ส่วนตัว โดยตรงนั่นแล้ว เขาเหน็ดเหนื่อย เพื่ออะไรอีก เมื่อตรวจตรา ไตร่ตรองกันแล้ว ก็จะเห็นว่า เหน็ดเหนื่อยเพื่อ "ลาภ" ลาภในที่นี้ ห่างขึ้นมาจาก "สิ่งที่เสพ" แท้ๆ ตรงๆ นิดหนึ่ง ทุกวันนี้ เราใช้เงินทอง เป็นแก้วสารพัดนึก กันทั้งโลก ดังนั้น "ลาภ" ตัวแท้ ก็ต้องคือ "เงินทอง" นั่นเอง นอกกว่านั้น จะเป็นเพชรนิลจินดา เป็นสมบัติ วัสดุอื่นใดก็ตาม อันจะแปรเปลี่ยน ซื้อขายออกมา เป็นเงินทองได้ ก็ถือว่าเป็น "ลาภ"ทั้งสิ้น และ"ลาภ" เหล่านี้ ก็ยังคงเป็น "ค่า" ส่วนตัวอยู่นั่นเอง เป็นแต่เพียงว่า มันยังเสพเจ้าลาภนั้น เข้าไปไม่ได้ทันที ตรงๆ เท่านั้น แต่มันก็จะคือ อุปกรณ์ในการจะไป แลกเปลี่ยน ไปแปรมาเป็น "อาหาร" (สิ่งที่เสพ) เพื่อให้ทวาร ๕ แห่งตนเสพนั่นเอง ดังนั้น ถ้าใครรัก "ลาภ" เหล่านั้น หวงแหนไว้เป็นของตัว ไม่ให้กระเด็นเลย แม้แต่เศษ แต่เสี้ยวนิดน้อย "ลาภ" นั้น ก็เท่ากับ" อาหาร" ของผู้เป็นเจ้าของ "ลาภ" นั้นเท่านั้น และจึงมี"ค่า" เท่ากับ "อาหาร" เช่นเดียวกัน หา "ค่า" อื่นนั้นไม่ได้เลย "ลาภ" ในลักษณะหวงแหนเช่นนี้ จึงย่อมเท่ากับ "ไร้ค่า" สำหรับ "ผู้อื่น" หรือ "ไร้ค่า" สำหรับ "โลก" อีกเช่นเดียวกัน "คน" ผู้อยู่เพื่อเสพ โดยลักษณะนี้ ก็คือ คนเห็นแก่ตัว ไร้ค่า ไร้ประโยชน์อยู่เช่นเคย ทีนี้ ก็พิจารณาๆกันถึงขั้นต่อไปว่า "คน" เหน็ดเหนื่อย เพื่ออะไรกันอีก ก็คงพอจะนึกออกกันได้ว่า ต่อจากลาภ ก็คือ "ยศ" นผู้เหน็ดเหนื่อย เพื่อ "ยศ"นั้น ก็อีกหนะแหละ คิดดูให้ดี ก็ไม่พ้นไปจาก ตัวเองได้ อยู่อีกนั่นเอง ยิ่งผู้เป็นข้าราชการแล้ว แน่ๆเลย ต้องปรารถนา "ยศ" อันหมายถึง เงินเดือนเพิ่มมากขึ้น และเงินเดือน หรือ รายได้นั้น คืออะไรล่ะ ก็คือ "ลาภ" และ "ลาภ" อันถ้าผู้เป็นเจ้าของลาภ หวงแหน ไม่ให้กระเด็นเลย ก็คือ "อาหาร" ของผู้นั้นอีกเช่นเคย ดังนั้น "ยศ" ก็ไม่ได้มี "ค่า" อันใดสำหรับ "ผู้อื่น" หรือ สำหรับ "โลก" อีก โดยนัยเดิม "คน" ผู้นี้ก็คือ สิ่งรกโลกชิ้นหนึ่ง อันไร้ค่า ไร้ประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อโลกเช่นเคย ต่อจาก "ยศ" สิ่งที่ผู้คนยอมเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า เพื่อมันก็คือ "สรรเสริญ" อัน "สรรเสริญ" นั้น ถ้าแปล ตรงตัวก็คือ "ยกย่องเชิดชู" หรือ "ผู้อื่นต่างนิยมชมชื่น" นั่นเอง แล้วลองคิดดูซิว่า ผู้ที่ต้องการ "การยกย่องเชิดชู" หรือต้องการ "ความนิยมชมชื่น" จากผู้อื่นนั้น เขาจะต้องการไปทำไม ถ้าไม่ต้องการไป เพื่อประโยชน์ ในทางอ้อม อันผลสุด ก็จะได้มาซึ่ง "ลาภ" นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น นักร้อง คนหนึ่ง ทำมาหากิน ด้วยอาชีพร้องเพลง ก็ย่อมต้องการ "ความนิยมชมชื่น" จากประชาชน หรือย่อมต้องการ "ความยกย่องเชิดชู" ของมหาชน เพื่อการหากิน จะได้กว้างไกล จะได้สะดวก จะได้มากยิ่งขึ้น นั่นคือผล หรือแม้ ข้าราชการก็ดี พ่อค้าก็ดี ก็นัยเดียวกัน ทั้งสิ้น เป็นแต่ว่า "สรรเสริญ" มันเป็น "อาหาร" ที่เดินทางช้า กว่าจะแลกเปลี่ยน จะแปรรูป มาเป็น "อาหาร" ให้เจ้าตัวผู้ได้รับเสพ แต่ก็ไม่พ้น "อาหาร" นั้นไปได้เช่นกัน หากผู้ใด ยังต้องการ "สรรเสริญ" อยู่ ก็จงทราบเถิดว่า ไม่ได้ต้องการไป เพื่อเหตุอันใดเลย นอกจาก เพื่อผลแท้ คือ แปรไปเป็น "อาหาร" มาเพื่อเสพนั่นเอง ดังนั้น "คน" ผู้ยังใฝ่ปรารถนา "สรรเสริญ" ก็ดี ก็คือสิ่งที่ไม่มี "ค่า" สำหรับ "ผู้อื่น" และยังไม่มี "ค่า" สำหรับ "โลก" อีกเช่นเคย นั่นคือ "คน" ผู้อยู่อย่างรกโลก "คน" ผู้มี "โลกธรรม ๔" คือ เสพสุข ลาภ ยศสรรเสริญ จึงได้ชื่อว่า หาค่าใดจาก "คน" ผู้นี้ไม่ได้เลย เมื่อรู้ และ พิจารณากันละเอียด มาถึงขนาดนี้แล้ว ลองตรองดีๆ กันสักนิดเถอะว่า จะหา "คน" ที่มีค่า มีประโยชน์กันได้ จากใครบ้าง ผู้ที่เรา ควรจะรู้จัก ง่ายที่สุด ก็ต้องพิจารณากันไป เป็นขั้นๆ อีกดังนี้ ขั้นแรก เรามาดูการ "เสพ" ของ "คน" กันเสียก่อน "คน" คือผู้ยังเสพกามคุณ ๕ อันคือยึด รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัสเสียดสีทางกาย เป็น "อาหาร" อยู่อย่าง ตั้งอกตั้งใจ นั่นคือ "คน" และ การเสพของเขาก็คือ การบังเบียด ผู้อื่นมา และโดยการบังเบียดตน อันเป็นพฤติกรรมแท้ๆ บังเบียดผู้อื่นมานั้น ไม่ต้องพูดกันมากก็รู้ว่า ไปเอาเปรียบผู้อื่นมา เพื่อให้ตนได้เสพ ดีกว่าเขา ได้เสพ มากกว่าเขา จะด้วยวิธี เอารัด เอาเปรียบ โดยนัยตรง คือ "โกง" หรือ ฉ้อ หรือฉก เขาซึ่งๆหน้าก็ตาม หรือ จะด้วยวิธีทางอ้อม คือ อาศัยฤทธิ์ของอำนาจ ฤทธิ์ของศักดา ฤทธิ์ของเงินทอง ฤทธิ์ของสมองปัญญา หรือ ฤทธิ์ของการให้ผู้อื่น ยินยอม เสียเปรียบโดยกรรมวิธี รักใคร่เอ็นดู โอนอ่อนอย่างไรก็ตาม ล้วนเรียกว่า ผู้เสพนั้น เอาเปรียบผู้อื่น คือ บังเบียดผู้อื่นทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้า ไม่สนับสนุนเลย ทีนี้ บังเบียดตนเอง นี่สิ เป็นเรื่องควรรู้ ควรเข้าใจได้มาก "คน" แทบทุกคน นึกไม่ออก คิดไม่ได้ว่า ตนเอง บังเบียดตนเอง อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แทบจะเรียกได้ว่า ทุกนาที ทุกวินาทีทีเดียว ยิ่งผู้ใด "เสพ" หนัก "เสพ" ไม่วรรคไม่เว้น "เสพ" ทั้งทางกาย "เสพ" ทั้งทางใจ ตลอดขณะจิตเต้นละก็ ยิ่งเป็นผู้บังเบียดตัวเอง เหลือขนาดที่สุด การ "เสพ" นั่นแหละ คือการ "บังเบียดตัวเอง" หละ คิดให้ดีนะ การ "เสพ" ซึ่งได้อธิบายมาแล้ว แต่ต้น ทั้งหมดทั้ง ๕ ทวารนั่นแหละคือ การ "บังเบียดตัวเอง" ผู้ใดยังเสพ รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัสอยู่ ยังละเว้นไม่ได้ นั่นแหละคือ ผู้ยัง "บังเบียดตัวเอง" อยู่ พยายาม ทำความเข้าใจให้ดี ถ้าไปแย่งคนอื่นมา ดังได้กล่าวแล้ว เรียกว่า "บังเบียดผู้อื่น" แต่ถ้าได้มาแล้ว แล้วก็นำมาเสพเข้าไป นั่นแหละ คือ "บังเบียดตัวเอง" ทำไมถึงเรียกว่า บังเบียดตนเอง ก็คือ "คน" นั้นกว่าจะได้สิ่งต่างๆ ทั้ง ๕ นั้นมา "เสพ" ก็ต้องเหน็ดเหนื่อย ต้องใฝ่หา ควานคว้า จึงจะได้ อยู่ดีๆ จะมีเอง มาให้เสพนั้น มันยาก ดังนั้น ที่ทุกคน ดิ้นรน ประกอบกิจ ประกอบการทำงานใดๆ อันแบ่งกัน เป็นชั้นเป็นขั้นต่ำ ขั้นสูงอย่างไร ก็ตามในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่ เขาทำกัน เขาเหน็ดเหนื่อยกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งรูป-รส-กลิ่น -เสียง -สัมผัส เป็นประการ สุดท้าย ให้ตนทั้งสิ้น นอกจาก รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัสนี้ ก็จะมีของจำเป็นจริงๆ สำหรับ ร่างกายคน อยู่นิดหน่อย เท่านั้น นั่นคือ ๑."อาหารแท้" ที่จะเข้าไปสังเคราะห์ในร่างกาย ให้ร่างกายทรงอยู่ได้ อันมี แป้ง โปรตีน คาร์โบไฮเดรท น้ำตาล และอื่นๆ อีกเล็กน้อย ๒.เครื่องนุ่งห่ม อันกันหนาว กันร้อน แมลงสัตว์กัดต่อย ๓.สถานที่ ที่จะให้ร่างกายมันอยู่ นั่ง ยืน เดิน นอน หลบร้อน หลบหนาว เพราะกายเป็นแท่ง มีรูปร่าง มีเนื้อที่ ๔.ยารักษาโรค อันนี้ ไม่ใช่จำเป็นตลอดเวลา เมื่อมีโรคเท่านั้น จึงจะจำเป็น มีเท่านั้นเอง คือ ของแท้ของจริง ที่ "คน" ต้องกิน และใช้อย่างแท้จริง อันไม่เรียกว่า "เสพ" ต้องมีพอดี พอควร นอกกว่า ๔ อย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องใช่ราวอะไรเลย ที่จะต้องวุ่นวาย ดังนั้น ผู้ใดเสพอาหาร (ของกิน) ก็จะต้องเสพให้ได้ อาการสุขไปด้วย "รส" และ "รส" ต้องดี ถ้าไม่ดี ก็ไม่ถือว่าได้ "เสพ" ทีนี้จะได้ "รส" ดีเท่าใด ก็ต้องเลือกหา การเลือกหา เป็นการเหน็ดเหนื่อย ชั้นที่หนึ่ง คือ ต้องเสียเวลา เสียแรงไป บางทีกว่าจะคิด กว่าจะเลือกได้ ใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ และเลือกได้แล้ว กว่าจะได้กิน กว่าจะเดินทาง หรือไปหามา ก็อีกตั้งนาน หรือต้องไปตั้งไกล ต้องเสียค่าใช้จ่าย ค่ารถ ค่าเดินทาง อันต้อง "จับจ่าย" เงิน หรือ "ลาภ" ที่ตัวเองเหน็ดเหนื่อย หามานั้นทั้งสิ้น เพียงเพื่อ จะเอาของจำเป็นแท้ๆ คือ แป้ง โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ฯลฯ ที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น เข้าไปไว้ในร่างกายเท่านั้น แต่ช่างกระไร "บังเบียดตนเอง" เสีย กว่าจะได้จัดการ เอาใส่ท้องเข้าไปได้ ก็ต้อง จ่ายโน่น จ่ายนี่ ไม่รู้กี่ชั้น เพียงเพื่อจะได้เสพ รูป-รส -กลิ่น -เสียง -สัมผัสกาย ประกอบด้วย "อาหารแท้ๆ" นั้นลงไปไว้ในกระเพาะเท่านั้น ดูทีรึว่า "บังเบียดตนเอง" แค่ใด? ถ้าเราไม่ต้องเห็นแก่ รูป -รส -กลิ่น -เสียง -สัมผัสเหล่านั้น เราก็ย่อมกิน "อาหารจริงๆ" อันใด ก็ได้ที่มันมี แป้ง โปรตีน ฯลฯ ที่จำเป็นดังกล่าวแล้ว เข้าไปไว้เท่านั้น ก็จะไม่ต้อง เหน็ดเหนื่อย ไม่ต้องดิ้นรน ทุรนทุกราย ให้เป็นวรรค เป็นเวร อย่างที่เป็นอยู่ กันอยู่นี้เลย คิดให้ดีเถิด นี่แหละคือ สภาพของ "คน" สภาพของผู้ "บังเบียดตนเอง" อย่างไม่รู้เนื้อ รู้ตัวเลย และก็เป็นกันอยู่ เต็มบ้านเต็มเมือง ไม่ยักมีใคร ยอมคิดเห็นได้ หลงกันอยู่ มัวเมากันอยู่อย่างนั้น "เสพอาหารแท้ๆ" เข้าไปในกระเพาะ ก็ต้องจ่ายค่า "เสพ" สะบั้นหั่นแหลก แพงเหลือคณา กว่าจะได้เสพ เอาอาหารจริง อาหารแท้ เพียงไม่เท่าไหร่ เข้าไปไว้ ในกระเพาะ ก็กินเวลา กินทั้งสถานที่ กินทั้ง เหตุการณ์ และกินทั้งเรี่ยวแรงเข้าไป เปลืองไปเหลือจะคำนวณ ยิ่งผู้ใดกินข้าว ในไนท์คลับ ในบาร์ มีพร้อมแม้ดนตรีเสียงเพลง นั่นแหละ จะเห็นเป็นตัวอย่าง ได้ชัดเจนยิ่ง แล้วอะไรกันละ ที่ว่า "ทุกข์?" อะไรกันละที่ว่า "สุข?" ไปกินอย่างนั้นได้ "สุข" หรือ? ที่ต้องเสพสิ่งที่ไม่มี "ค่า"จริง ไม่มี "ประโยชน์"แท้ ดังที่ได้อธิบายมาแต่ต้น คือ รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส แต่ต้อง "จับจ่าย" ไปเพื่อ รูป-รส-กลิ่น ฯลฯ พวกนี้ไปมากมาย อันกว่าจะหา "ลาภ" มาไว้ เพื่อ "จับจ่าย" นั้น ต้องเหน็ดเหนื่อยเท่าใด? ลองคิดดูให้ดีว่า เป็น "ทุกข์" หรือเป็น "สุข" การไม่เหน็ดเหนื่อยลนลาน น่าจะเรียกว่า "สุข" เราไม่เหนื่อย ได้เท่าใด ควรจะเรียกว่า "สุข" เท่านั้น ไม่ใช่ว่า เราเหน็ดเหนื่อยมากๆ เพื่อให้ได้ "ลาภ" มามาก แล้วก็เอาไป เลือกจ่ายในที่แพงๆ ที่ๆมีรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส ครบๆ แต่แพงๆ แล้วแท้จริงก็ได้ "อาหารแท้ๆ" (คือ แป้ง โปรตีน ฯลฯ) เข้าไป ในกระเพาะ เท่ากับที่ๆ ไม่มีรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส ครบเหมือนกัน แต่ได้จ่ายไปแล้ว ที่อุตส่าห์ หามาแทบตาย หมดไปแล้ว แทนที่จะเอาไว้ซื้อ "อาหารแท้ๆ" ได้มากกว่านั้น ก็เอาไปถลุง เพราะเพียงเพื่อเพิ่ม รูป-รส-กลิ่น ฯลฯ เท่านั้น คิดดูเถิดว่า "บังเบียดตนเอง" มากเท่าใด "ทุกข์" มากเท่าใด? "คน" ผู้ไม่ยอมเลิก ก็ยังจะมองไม่เห็น ก็คงยอมเชื่อเขาหลอก ยอมตายอย่างเขา โดยเขาโพนทะนาว่า "อร่อย" โพนทะนาว่า "โก้" โพนทะนาว่า "หรูหรา" โพนทะนาว่า "เป็นคนชั้นสูง" โพนทนาว่า "มีรสนิยมสูง" ผู้โพนทนา ก็พยายามสารพัด จะหาเรื่อง หาข้อมาหลอก เพื่อจะได้ "บังเบียด (เอาเปรียบ) ผู้โง่เง่า ที่หลงลม ตามคำหลอก เอา "ลาภ" มาให้ตน ผู้ถูกหลอก ก็ยอม "โง่" ไป "ติดกับ" เขาโดยยอมให้เขา "บังเบียด" เอา "ลาภ" ตนไป แถมยัง "บังเบียดตนเอง" ดังกล่าวแล้ว อย่างไม่มีใครช่วยได้เลย ถ้าไม่คิดจะช่วยตัวเอง นั่นคือ "ความจริง" นั่นคือ ความแท้ ถ้าใครคิดเห็นจริงได้ และปฏิบัติได้ คือหักห้ามใจ หรือมองให้เห็นจริงว่า รูป -รส -กลิ่น -เสียง -สัมผัสกาย อะไรนั้น มันไม่ใช่ของจำเป็น ถ้าตัดได้ ไม่เสพได้ ก็จะสบาย ไม่เหน็ดเหนื่อย ภาระก็น้อยลง จะป็นผู้ประหยัด เป็นผู้ง่าย ผู้สะดวก สบาย อย่างแท้จริง ถ้าคนผู้นี้ ผู้ตกอยู่ในภาวะสะดวก สบาย หมดภาระ ไม่เหน็ดเหนื่อย เป็นคนประหยัดโดยตนเอง เป็นคนง่ายต่อตนเอง และ ต่อคนอื่นด้วยดังนี้ ไม่เรียกผู้นี้ว่า มี "ความสุข" จะเรียกผู้ตกอยู่ในภาวะ ดังนี้ว่าอย่างไร? ใครๆ ช่วยคิดกันด้วย ! การเสพด้านอื่นๆ จะเป็นการนุ่งห่ม แต่งตัวก็ดี การมีสถานที่อยู่อาศัยก็ดี ก็เหมือนๆกัน นัยเดียวกันทั้งนั้น ถ้าเราไม่หลงโง่จะเสพ จะเอารูป เอารส เอากลิ่น เอาเสียง เอาสัมผัสกาย เข้ามาประกอบละก็ เครื่องนุ่งห่ม ก็เพียงกันหนาวกันร้อน กันแมลงสัตว์ กัดต่อย สถานที่อยู่ก็เพียงเพื่อให้ร่าง ให้กายมันหลบร้อน หลบหนาว เข้านั่ง เข้านอนอะไรอยู่ได้ เท่านั้น ก็เพียงพอแล้ว นั่นคือ "ผู้รู้" อันเป็นผู้รู้ อย่างแท้จริง ที่เราเรียก เป็นภาษาบาลีว่า "พุทธะ" หรือ ผู้พ้นอวิชชานั่นเอง "พุทธศาสนา" คือเรื่องอย่างนี้ ไม่มีเรื่องที่จะ "รู้" อย่างอื่นใด "พระพุทธเจ้า" รู้อย่างนี้ และสอนอย่างนี้ พระองค์ "รู้" ความแท้ความจริง อย่างนี้ ไม่ได้ "รู้" อย่าง "โง่" อย่างที่ "คน" ทั้งหลายหลงตน คิดว่า ตัวเองฉลาด ตัวเองมีปัญญา อยู่อย่างทุกวันนี้ ไม่ใช่เลย ถ้าใครคิดว่า ผู้ฉลาดจะต้อง เป็นผู้ได้ เป็นเจ้าเป็นนาย เป็นใหญ่เป็นโต เป็นผู้สร้าง ผู้ก่อแล้วละก็ ก็จงพยายามคิดถึง พระพุทธองค์นั่นเถิด เป็นตัวอย่าง ทั้งๆที่พระองค์ มีความใหญ่โต มีความเป็นเจ้า เป็นนาย มีอุปกรณ์ในการสร้างก่อมหาศาล เพราะพระองค์ เป็นถึง พระหน่อเนื้อ องค์กษัตริยราช แต่ทำไม พระองค์จึงหลีกเร้น หนีไปเสีย อย่างไม่ไยดี ถ้าลักษณะนี้ การกระทำแบบอย่าง ดังที่พระพุทธองค์ ประพฤติปฏิบัตินี้ ไม่เรียกว่า เป็นการกระทำของ "ผู้ประเสริฐ ผู้ฉลาดที่สุด" แล้ว จะให้เรียก พระพุทธองค์ว่าอย่างไร? ก็ลองคิดดูให้ดี ไม่ใช่เรื่อง ลึกลับซับซ้อนอะไร ดังนั้น เมื่อคนไม่รู้
คนยังหลงงมอยู่ในด้านโง่ โลกจึงเต็มไปด้วยการ "หลอก" กันนานาประการ
หลอกเพื่ออะไร? หลอกเพื่อจะได้ "ลาภ" เป็นวิธีการ "บังเบียด"
อันอำพรางทั้งสิ้น "คนโง่" มาก ก็ย่อมรู้ไม่ทัน ก็ยิ่งยอมให้ "คน"
(ผู้ก็ยังโง่ดักดาน อยู่เช่นกัน) "หลอก" เอา แล้วก็ยอม นำตนไปให้เขา
"บังเบียด" การแต่งตัวให้สวย ให้โก้ การมีบ้าน ให้หรูให้งาม การพักผ่อนหย่อนใจทั้งหลาย
แม้ดูหนัง ดูละคร ดูการละเล่น ดูการกีฬา ดูอะไรก็ตาม หรือเราเล่นเอง เล่นเกมกีฬา
เกมไม่กีฬา ไปจนกระทั่ง เกมการพนัน อะไรกันก็ตาม มันเรื่อง "หลอก"
ทั้งนั้น "หลอก" เพื่อการ "บังเบียด" ใครถูก "บังเบียด"
มากเท่าใด ก็ได้ชื่อว่า "โง่เง่า" มากเท่านั้น ยิ่งดูหนังมาก เอามาคุยโวว่า
ตนได้ดูมาก ก็คือ ยิ่งโพนทะนาว่า ตัวเอง "โง่เง่า" มากเท่านั้น
ยิ่งมีเครื่องแต่งตัวมากมาย ก็ยิ่งแสดงออกว่าตัวเอง "โง่เง่า"มากเท่านั้น
หลงให้เขา "หลอก" ให้เขา "บังเบียด" เอาไป โดยแท้จริง
นุ่งก็นุ่งได้ ทีละชุด ทีละตัว ใช่ว่าจะนุ่งได้ ทีละมากๆตัวไม่ เอามานุ่งกันร้อน
กันหนาว ก็ได้เท่าๆกัน กับไม่ต้องไปถูกหลอก ถึงขนาดนั้น เพียงเพื่อสวย เพื่อโก้
ความฟุ้งเฟ้อ ความบันเทิง ยิ่งมีเพิ่มขึ้นมากเท่าใด ก็คือ โลกยิ่งตำลง "ความหลอก"
ยิ่งมากขึ้น นี่คือ ความแท้ ความจริง แสงสี รสชาติ เสียงสำเนียง กลิ่น และการสัมผัส
กระทบเสียดสี ยิ่งเพิ่มพูน มากขึ้นเท่าใด ดังนั้น เราผู้จะได้ชื่อว่า ไม่โง่เง่า ก็คือ ผู้อย่าถูกเขา "หลอก" โดยยอมตนไปให้เขา "บังเบียด" และอย่ายอมโง่ "บังเบียดตนเอง" ให้มากนัก พูดถึงการ "บังเบียดตนเอง" นั้น เห็นจะไม่มีการถูกหลอก ให้บังเบียดตนเองอันไหน จะหลอกได้รุนแรง และ ถึงใจเท่า การหลอกให้คน "สูบบุหรี่" "ผู้สูบบุหรี่" จึงน่าจะได้ชื่อว่า ผู้ที่ "โง่เง่าเต่าตุ่น" ที่สุดกว่า "คน" ทั้งหลาย เพราะอะไรหรือ? ก็เพราะเป็นการ "ทำลายขั้นสูงสุด" เหนือการทำลายใดๆ ทั้งปวง ผู้สูบบุหรี่ ก็คือ ผู้หลงเสพ
รูป-รส-กลิ่นเท่านั้น และเท่านั้นจริงๆ เมื่อก่อนจะเสพ ยังนำมันมาเป็นแท่ง
เป็นมวน เป็นตัวตน แต่เมื่อตอน เสพมันเข้าไป ก็หาได้มีรูปร่าง ตัวตนอะไร
ตกแตะเข้าไป ในกายของเรา แม้แต่นิดน้อยไม่ ไม่มีเลย ไม่เอาจริงๆ ซ้ำเป็นการ
ทำลายกัน ต่อหน้าต่อตาคือ "เผาด้วยไฟ" กันอย่างโจ่งแจ้ง เผากันจริงๆ
เผากันเป็นขี้เถ้ากันไป ในบัดดล การทำลาย อันใดเล่า จะทำลาย ได้ดีกว่าการ
"เผาไหม้" ไม่มีอีกแล้ว และถ้าคิดให้ดี การเผาบุหรี่นั้น หากไม่มี
"ตัวบุหรี่" (ที่ต้องเอาเงินไปซื้อ) มาคั่น ก็เท่ากับผู้เผานั้น
เอาแบ้งค์มามวนเข้า แล้วก็จุดไฟเผา ให้มันละลาย เป็นขี้เถ้า ลงไปต่อหน้าต่อตา
อย่างยินดี ปรีดาเอาด้วย ยิ่งผู้ใด มีบุหรี่ ราคาแพงๆ มาเผา ยิ่งยกย่อง ยิ่งยินดีกันใหญ่
ยิ่งเป็นซิการ์ มวนละ๔๐-๕๐ บาท ถึง ๑๐๐ บาท นำมาเผาให้ดูได้ ยิ่งโก้ ยิ่งชมเชยกันถึงขนาดว่า
ทำลายได้เก่งได้ นั่นคือ ผลจากการคิด การค้นหาวิธี
"หลอก" วิธี "ทำลาย" กันได้ขนาดถึงขั้นจริงๆ ในสมัยพุทธกาลนั้น
ยังไม่มีบุหรี่ ถ้ามี พระพุทธองค์ จะต้องตราบทบัญญัติไว้อย่างสูง ห้ามบุคคลแตะต้อง
เป็นอันขาดทีเดียว เพราะเป็นการแสดงออก ถึงอาการใจต่ำ ถึงขนาดของ"คน"จริงๆ
ขนาดมีสุราเมรัย อันยังไม่ใช่ การทำลายถึงขั้น ถึงขนาด เท่าการเผาทำลาย ต่อหน้าต่อตา
พระพุทธองค์บัญญัติ ห้ามแตะต้อง เป็นศีลไว้ นี่แหละคือ สิ่งที่แสดงว่า โลกต่ำลง "คน" ต่ำลงทุกวันๆ ยัง-ยังไม่เท่านี้หรอก มันยังจะต่ำ ยิ่งกว่านี้ ถ้าผู้ใด ไม่พยายามยก "จิต" ตัวเอง ทำความ "รู้" (วิชชา) ให้แก่ตัวเอง ก็จะไม่อาจสามารถ อ่านออก เห็นได้ เป็นอันขาด จะคงหมุนไปกับความเป็น "คน" ต่ำลงไป พร้อมกับ ความเป็น "คน" และ "โลก" ลงไป ทุกเมื่อเชื่อวัน ผู้ใดยังคงยอมตนให้ "คนโง่"
เขาคิดหลอก "บังเบียด"อยู่ ผู้นั้นคือ ผู้ยังไม่รู้จัก "ค่า" รู้จัก
"ประโยชน์" ใดๆเลย ดังนั้น ผู้นั้นจะสร้าง "ค่า" หรือ
ทำ "ประโยชน์" ใดๆ ให้แก่ใคร หรือให้แก่ "โลก" ย่อมไม่ได้
ด้วยประการ ใดๆ ด้วย "ค่า" หรือ
"ประโยชน์" แก่ "ผู้อื่น" และแก่ "โลก" จึงคือ
ผู้นั้น ไม่บังเบียดทั้งตนเอง และไม่บังเบียดทั้งผู้อื่น อยู่เพียงเพื่อพอดี
และพอดี เท่าที่ตนเอง จะอยู่อย่างสบายที่สุด ง่ายที่สุด ประหยัดที่สุด สะดวกที่สุด
และนั่นคือ "สุข" ที่สุด แล้วแรงงานส่วนเกิน ที่ผู้นี้จะมีให้แก่
"โลก" และแก่ "ผู้อื่น" นั่นแลคือ "ค่า"
และ "ประโยชน์" อย่างแท้จริง หากผู้ใด ยังแม้ไม่บังเบียดผู้อื่น
แต่ยังบังเบียด ตนเองอยู่ตราบใด ผู้นั้น จะยังไม่มี "ค่า" หรือมี
"ประโยชน์"ใดๆ แก่ "โลก และแก่ "ผู้อื่น" เลยอย่างจริงแท้ที่สุด. ๑๐ มีนาคม ๒๕๑๓ (รวมบทความเก่า)
|