ประกายธรรม ๖-๒ หลงใหลใน "ตัวตน" ลองอ่านดู เพราะคำพูด คำว่า "ตัวตน" นั้น ทำความเข้าใจให้แก่คน ได้ยากเหลือเกิน ผู้รู้ทั้งหลาย ก็เพียรพยายามกัน คนละไม้คนละมือ เพื่อจะทำให้ เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ได้รู้จักมัน เพราะเหตุว่า ใครยังเห็นแก่ "ตัวตน" อยู่นั่นเอง คือผู้ยัง "ทุกข์" ใครเข้าใจแทงทะลุแล้ว ผู้นั้นก็เป็นอัน "พ้นทุกข์" "ตัวตน" คือ การยึดถือเอา เข้าใจเอาว่า สิ่งนั้นเป็นจริง สิ่งนั้นมี สิ่งนั้นเป็นของแท้ เช่น เราเห็นว่า ร่างกาย ของเรา เป็น "ตัวตน" ก็คือ เข้าใจว่า เรามีร่างกาย เป็นของจริงของแท้ เป็นของคงทนถาวร เป็นของยั่งยืน แล้วส่วนใดใน "คน" ที่เป็นตัวที่ เห็นว่า ก็ "ใจ" ที่อาศัยอยู่กับ ร่างกายนั่นเอง เป็นผู้ "เห็นว่า" โดย มองกันเอง เข้าใจกันเองว่า "ร่างกาย" ก็เป็นของ "ใจ" และ "ใจ" ก็เป็นของ "ร่างกาย" ต่างก็เป็น ของกัน และกัน ร่างกายก็คือผัว ใจก็คือเมีย เมื่อเข้าใจว่า ตัวเป็นของกันและกัน ก็จะร่วมสังเคราะห์กัน ก็ได้ "ลูก" ออกมา เป็น "ตัวตนของเรา" เสียทุกทีไป แล้วๆเล่าๆ อยู่อย่างนั้นเอง ก็หลง ก็รัก ก็ฟูมฟัก มันไปตาม ที่ธรรมชาติ เขากำหนดตราไว้ หรือหลอกไว้ว่า "ลูก" คือ "เรา" "ลูก" คือ "เชื้อสายของเรา" "ลูก" คือ "ตัวตนของเรา" เช่นกัน นั่นเอง แท้จริง ไม่ใช่เลย มันคนละร่าง คนละกาย คนละส่วน คนละตอนแท้ๆ ลองคิดดู ในชั้นต้นนี่ก่อนให้ดีๆ ดังนั้น มันจึงมีของอยู่ ๒ อย่าง คือ "ร่างกาย" กับ "ใจ" นั่นคือ พระพุทธองค์ ท่านทรงสอน ให้กำหนด ให้รู้ให้ดี ทำความเข้าใจให้ดีว่า "ร่างกาย" มันเป็น "รูป" และ "ใจ" มันเป็น "นาม" ทำไมถึงว่า "ร่างกาย" เป็น "รูป" เพราะร่างกาย คือแท่ง คือก้อนวัตถุ หรือ ก้อนสสารก้อนหนึ่ง มีธาตุต่างๆ สังเคราะห์รวมๆกันอยู่ เป็น "ของตาย" เป็นของไม่มีความรู้สึก เป็นของไม่มีฤทธิ์เดช จะช่วยตัวเอง แม้ขยับเขยื้อนตัวเอง เอาเองก็ไม่ได้ จะช่วยตัวเองให้เคลื่อนไหวใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น นั่นคือ ร่างกายเหมือนโต๊ะ เหมือนเก้าอี้ เหมือนบ้าน เหมือนรถยนต์ ที่ไม่มีพลังงานใดๆเลย แม้พลังงานไฟฟ้า ในหม้อ แบตเตอรี่ และ พลังงานนอนนิ่ง ในอณูของน้ำมัน ดังนั้น ร่างกายแท้ๆ ถ้าไม่มี "ใจ" อยู่ด้วย จึงคือ วัตถุแท่ง ที่นับวัน จะผุกร่อน หรือ เสื่อมสลายไปนั่นเอง จะคงความเป็นร่างเป็นกาย เป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น นิรันดร หาได้ไม่ ร่างกายของคนเรา รู้ได้ชัด เพราะเกาะกุม กันอยู่ อย่างไม่เหนียวแน่น ถ้า "ใจ" ออกจาก "กาย" ไปไม่นาน ก็ผุก็เปื่อย ให้เห็นได้เร็วไม่ชักช้า ไม่เหมือนไม้ ที่เขาเอามาทำโต๊ะ ทำเก้าอี้ มันเกาะกุม กันอยู่ เหนียวแน่นกว่า แม้จะตัดมาจากต้นแล้ว มันตายลง เหลือแต่ร่างกาย คือเนื้อไม้จริงๆ พลังงาน ในเนื้อไม้ หรืออันคือ "ใจ" ของมัน เหมือนกับ แยกออกไปแล้ว เนื้อไม้ที่ไร้พลังงาน หรือไร้ใจนั้น ก็ยังเกาะกุม กันอยู่นานกว่า เพราะกรรมของจิต ปรุงกันคนละแบบ หรือ การก่อสร้าง ร่างกายของต้นไม้ เป็นไปด้วย จิตคนละอย่าง มีกรรมวิธี เน้นหนัก ไปคนละทาง เนื้อไม้กับ ร่างกายคน จึงมีความเกาะกุม ผิดกัน มันจึงผุกร่อน ช้านานกว่าร่างกายคน แต่มันก็ต้องผุกร่อนลงไป ทุกวันเช่นกัน แม้เป็นเหล็ก เป็นโลหะ เป็นหิน เป็นแก้ว เป็นพลอย เป็นเพชร ก็เช่นกัน นัยเดียวกันทั้งสิ้น จึงต้องพยายาม ทำความเข้าใจ ให้ดีว่า "รูป" คือ สมบัติที่ไม่มีชีวิต สมบัติที่หยุด ดีดดิ้นเพื่อตนเองแล้ว สมบัติที่ตายลงแล้ว สมบัติที่ไม่ยอม เป็นไปใดๆ อีกแล้ว สมบัติที่ไม่รับรู้อะไรอีกเลย สมบัติ ที่นิ่งท่าเดียว โดยตัวเอง จะช่วยตัวเอง ให้เคลื่อนไหวไป อย่างไรก็ไม่ได้ นอกจาก อณูในตัวมันเองเคลื่อนไหว เพราะหมดพลัง เกาะกุม แล้วค่อยๆ ร่วง แตกแยกสลายตัวออกไปเท่านั้น เป็นอาการวิ่งเข้าหาความสูญเปล่า หรือวิ่งเข้าหาสภาวะ แห่งความว่าง มิใช่อาการวิ่งเข้าหา การเกาะกุมปั้นก่อ เพื่อเพิ่มมวลสาร ส่วน "ใจ" นั้นคือ สมบัติอีกส่วนหนึ่งของโลก พระพุทธองค์ ทรงตรัสเรียกว่า "นาม" "นาม" มันมีคุณสมบัติตรงกันข้ามกับ "รูป" มันคือ ตัวที่ยังมีชีวิต ตัวที่ไม่หยุดดีดดิ้น ตัวที่ยังไม่ตาย ตัวที่ยังเป็นไปอยู่ ไม่มีที่สิ้นสุด ตัวที่พยายาม รับรู้อะไรให้ได้มากที่สุด ที่จะสามารถ ตัวที่มีแต่เคลื่อนไหว วิ่งวุ่น ดิ้นรนท่าเดียว โดยตัวเองหากไม่มี พาหนะ คือ ร่างกาย (หรือ "รูป" นั่นเอง) ให้อาศัยเป็นยาน เป็นอุปกรณ์ เป็นเครื่องมือแสดงอาการดีดดิ้น แสดงอาการไม่ตาย แสดงอาการเป็นไปอยู่ แสดงอาการ เป็นผู้รู้ ผู้ฉลาด แสดงอาการเคลื่อนไหว แสดงอาการวิ่งวุ่น แสดงอาการดิ้นรน แล้วละก็ เจ้า "ใจ" หรือ "นาม" นี้ ก็จะไม่มีท่า เหมือนกัน ก็จะมีคุณสมบัติเท่ากับ "รูป" หรือ "ร่างกาย" เช่นกัน คือ ตาย คือนิ่ง คือ ไม่รู้อะไร หรือ ไม่เคลื่อนไหวใดๆ แต่ว่าจะเป็นร่างกาย ที่ละเอียดมาก เล็กจนเรียกว่า "ไม่มีรูป" และก็จะ หมดสภาพ ความเป็น "นาม" ลงเช่นกัน นั่นคือ "ความว่าง" คือ "สุญญตาธรรม" หรือคือ "ความไม่มีอะไรเลย" ดังนั้น "นาม" จะคงความเป็น "นาม" อยู่ได้ หรือ "ใจ" จะคงความเป็น "ใจ" อยู่ได้ ก็จะต้องอาศัย "ร่างกาย" อยู่ตราบนิรันดร เมื่อหมดภาวะ จะอาศัยร่างกายที่โตใหญ่ เห็นชัดๆ เป็นวัตถุ สสาร แท่ง ก้อนจริงๆ ไม่ได้แล้ว ก็ไปอาศัย "ร่างกาย" ที่เล็กลงจนเรียกว่า "ไม่มีรูปร่าง" อันภาษาไทยเรียกว่า "กายทิพย์" แต่แท้จริงนั้น เป็น "ร่างกาย" จริงๆ แต่เป็นร่างกายที่ "คน" ธรรมดาๆ ผู้หลงตนว่าตัวเก่ง (โดยเฉพาะ นักวิทยาศาสตร์ ทั้งหลาย) นี้ ไม่สามารถมองเห็น หรือจับต้องสัมผัสได้ เพราะเล็กละเอียดวิจิตร อย่างแท้จริง (ผู้ได้ฝึกฝน ตัวเอง เข้าไปอยู่ แดนทิพย์นี้ เท่านั้น จึงจะแจ้งจริงได้) ดังนั้น "ร่างกายที่ไม่มีรูป" หรือ "กายทิพย์" นั้น จึงถูกเรียกว่า "นามกาย" ก็ได้ ก็เช่นกัน อันเดียวกันและ "นามกาย" หรือ "กายทิพย์" นึ้ก็จะมี "ใจ" หรือมี "นาม" ยึดครอง อาศัย ก่อสร้าง "ตัวตน" ก่อสร้าง "ชีวิต" หรืออาศัย แตกตัว แพร่เชื้อสาย เผ่าพันธุ์ อันถ้าเป็น "ตัวตน" แท้ๆ เป็นแท่ง เป็นก้อน เราก็เรียกกันว่า "ลูก" นั่นเอง แม้พลังงานไฟฟ้า ที่มีรูปกับนาม คือ โปรตอน กับอิเล็กตรอน สังเคราะห์กัน หรือ แตะกันแล้ว แตกตัวออก เป็นตัวใหม่ อยู่ไม่ขาดระยะนั้น ก็คือ การสืบพันธุ์ ยึดตัวตน ของชีวิตไฟฟ้านั่นเอง การเกิดการดับ ของไฟฟ้าว่าเร็ว การเกิดการดับของจิตนั้น ยิ่งเร็วกว่า ยิ่งเป็นจิตชั้นใน ขั้นละเอียด เป็นอรูปาวจรจิต เป็นโลกุตตรจิต หรือ เป็นพุทธจิต ยิ่งเร็ว และ มีสมรรถภาพยิ่งกว่า พลังงานไฟฟ้า เป็นไหนๆ ดังนั้น "ลูก" (ลูกจริงๆ อันเกิดจาก การผสมพันธุ์ของคน) ก็คือ "กายทิพย์" ที่พ่อและแม่ (รูปและนาม) ยึดถือ หรือปั้นสร้างออกมา นั่นเอง แต่ "กายทิพย์" อันนี้ มีสภาวะเป็นกลุ่ม เป็นก้อนกว่า "กายทิพย์" ที่เกิดจาก แขนง "ใจ" เพราะเป็น "กายทิพย์" ที่จะเรียกขานว่า "กายทิพย์" ยากเสียแล้ว ด้วยมันถือกำเนิด มาจากแขนง "ร่างกาย" คือส่วนที่เป็น "รูป" นั้น ก็เป็นแท่งเป็นก้อน เป็นมวลสารที่โตขึ้น มามากแล้ว จึงเลยขั้นเรียกว่า "กายทิพย์" แต่ก็เป็นส่วนที่เป็น "รูป" ใน "คน" ที่ซ้อนเล็ก อยู่ในตัว "คน" อีกที "รูป" ที่ว่านั้นก็คือ "ไข่" ที่ค่อยๆ เกาะกลุ่มขึ้นมา ในร่างกายของ เพศหญิง นั่นเอง แล้วก็รอการผสม หรือ สัมพันธ์กับ "นาม" อันคือ "ตัวเชื้อ" (อสุจิ) จากเพศชายอีกที เมื่อใด "นาม" ในตัวคน คือ "ตัวเชื้อ" ที่เล็ก ละเอียดนี้ เข้าไปเกาะสัมผัส "ไข่" แล้ว ยึดถือผูกพันกับเจ้า "ไข่" เป็นของกันและกัน ขึ้นมา "ตัวตนของลูก" ก็จะเกิดให้กับพ่อ และแม่ทันที ปรุงเป็น "ตัวตน" ทางโลกออกมา ให้เห็นพร้อมไปด้วย ร่างกายกับใจ เป็นทอดๆ อยู่ดังนี้ นั่นคือ สัมพันธ์ลูกโซ่ของ "รูป" ของ "นาม" ต่างๆ สมบัติใดๆ ในมหาสากลจักรวาลนี้ มีความเป็นไปดังนี้ ทั้งสิ้น ไม่มีสรรพสิ่งใด จะไม่มีความเป็นอยู่อย่างนี้ ถ้าใครอ่าน สภาวะธรรมใด ออกว่า สิ่งใดครองสภาวะใดเป็น "รูป" (สิ่งที่ถูกรู้) สิ่งไหนครองสภาวะใดเป็น "นาม" (สิ่งที่เข้าไปรู้) ผู้นั้นก็คือ ผู้รู้แจ้งโลก ผู้รู้แจ้งธรรม ผู้รู้อุบัติโลก ผู้รู้อุบัติธรรม ดังนั้น จึงไม่หลง ไม่เข้าใจผิด ไม่งง ไม่ลืมตัวว่า "ตนคือตัวตน" จึงไม่ยึดถือ หรือผูกพันรักใคร่ เพราะเข้าใจได้ อย่างไม่ ฟั่นเฟือนว่า "คน" ประกอบด้วยสภาวะธรรม ที่เขาเรียกว่า "ร่างกาย"นั้นส่วนหนึ่ง และ สิ่งที่เขา เรียกกันว่า "ใจ" นั้นอีกส่วนหนึ่ง ร่างกายมีหน้าที่ เป็นพาหนะให้ใจขับเคลื่อน ก็ปล่อยให้มัน ขับเคลื่อนไป อย่าไป หลงสร้าง หลงก่อ "ตัวตน" ก่อความไม่จบ ก่อปฏิกิริยา ลูกโซ่ (ปฏิจจสมุปบาท) ออกมาอีก ถ้าใคร ยังเข้าใจไม่ได้ว่า "ลูก" คือ "ตัวตนแท้ๆ" ที่เป็นตัวตนทางวัตถุ แท่งก้อน เลยทีเดียว ผู้นั้น ก็จะยังหลงสร้าง "ลูก" สร้าง "ตัวตน" ที่เป็นภาระหนักแท้ๆออกมา ถ้าใครเข้าใจได้ว่า "ลูก" คือ "ตัวตน" ที่เป็นภาระ แล้วก็ไม่ปรารถนาจะมี ไม่ปรารถนาจะยึดถือ ผู้นั้น ก็จะไม่สืบพันธุ์ ก็จะพ้นทุกข์ ในการยึดถือ ตัวตนแท้ๆ ตัวตนที่ก่อเกิดตัวตนจริงๆ ไปได้ขั้นหนึ่ง เป็นการตัด ปฏิกิริยาลูกโซ่ (ปฏิจจสมุปบาท) ขั้นหยาบได้ คือ ผู้พ้นอวิชชาแล้วขั้นหนึ่ง แล้วผู้นั้น ก็เพียรเพ่ง มามอง ให้ออก ตรองให้เห็นว่า ตัวตนที่เป็น "กายทิพย์" ตัวตนที่มันอาศัยร่างกาย ที่เล็กวิจิตรยิ่งกว่า อณูใด ที่นักวิทยาศาสตร์ ยังไม่อาจจะเห็นตัวมันได้ อันเราเรียกว่า "จิต" หรือ "วิญญาณ" ถ้าใครไม่ยึดถือแม้ "ตัวตน" ที่เป็น "กายทิพย์" ตัวตนที่เป็น "จิต" เป็น "วิญญาณ" ออกมาเลยเป็นอันขาด ผู้นั้นก็ตัด ปฏิกิริยา ลูกโซ่ (ปฏิจจสมุปบาท) ขั้นละเอียดขาด ผู้นั้นก็พ้นอวิชชา อีกขั้นหนึ่ง คือ พ้นอวิชชาขั้นแรก นั้น ก็คือ พ้น "กามาสวะ" และพ้นขั้นนี้ ก็เรียกว่า พ้น "ภวาสวะ" ผู้นี้แหละคือ พระอรหันต์ เป็นผู้มีความรู้ เป็นผู้มี ความแจ้ง ถ่องแท้ ไม่ยึดถือ เห็นโลกเป็นโลก เห็นธรรมเป็นธรรม เรียกว่า พ้นความไม่รู้ คือ พ้น "อวิชชาสวะ" ผู้พ้นอวิชชาแล้ว ทั้ง "กามภพ" คือรู้แจ้ง "ตัวตน" ที่เป็นแท่ง เป็นก้อน ที่เห็นจริง เห็นจัง ดีดดิ้น อยู่ในโลกนี้ได้ คือ "ร่างกาย" พร้อมทั้งเห็นแจ้ง "ตัวตน" ที่เล็ก ละเอียด "ไม่มีรูปร่าง" ที่ศัพท์ทางพระ เรียกว่า "รูปภพ" แท้จริง คือภพที่ไม่มี รูปร่างกายแท้ๆ นั่นเอง คือ "ใจ" ผู้รู้แจ้งทั้งความหยาบ (รูป) และ ความละเอียด (นาม) ได้ดังนี้ และสามารถ ตัดปฏิกริยาลูกโซ่ หรือ ตัดการสืบพันธุ์ หรือ การทำให้ มันก่อเกิดต่อ และต่อๆไปได้อีก หรือที่ทางภาษาพระ เรียกว่า ปรุงแต่ง นั่นแหละ ผู้นั้นก็จบลง อย่างสง่า ผ่าเผย เป็นผู้พ้นทุกข์ โดยแท้จริง ตามนัยแห่งพุทธศาสนา อย่างถูกต้อง ตรงแท้ การตัดปฏิกิริยาลูกโซ่ (ปฏิจจสมุปบาท) ก็คือ การตัดการสืบพันธุ์ (ตัด "สังขารธรรม") ตัดการสืบต่อ (ตัด "สันตติ") ตัดการขยาย เรื่องทุกเรื่อง ทุกๆเหตุเสียนั่นเอง (ดับ "สมุทัย") ดังนั้น จุดแรกของคน ก็คือ ต้องไม่สร้างการเกิด (ชาติ) ที่เป็นตัวตนชัดๆ คือ สร้าง "ลูก" นั้นหนึ่ง เพราะลูกคือ ตัวตนที่เป็น วัตถุธรรม ที่เห็นชัดเจนแท้ๆ อันเรียกว่า "รูป" ดังนั้น เราจะต้อง "ดับรูป" นี้ให้ได้ เป็นขั้นหนึ่งก่อน จุดที่สอง ก็ต้อง "ดับนาม" นั่นเอง นามคือ "จิต" คือ "ใจ" จึงต้องดับ การจะให้จิต มันสร้างการเกิด ที่เป็น ตัวตน ที่ละเอียดเห็นไม่ได้ เพราะเป็นนามธรรม หรือ กายทิพย์ มันไม่มีรูป อันเราเรียกว่า "นาม" ดังนั้น ถ้าเรา "ไม่คิด" ใฝ่ฝัน คิดปรุงอะไรออกมาอีก อะไรๆทางด้าน "จิต" ก็จะ "ดับ" ลงด้วย นั่นคือ อย่าคิดอะไร ให้มันเป็นการก่อ การเกิด อย่าคิดสร้าง คิดสืบพันธุ์ ต้องหยุดคิด หยุดปรุงแต่ง จึงจะพ้นทุกข์แท้ ดับได้ทั้ง "รูป" และทั้ง "นาม" คงไว้แต่ "ความรับรู้" ในตัวเราเท่านั้นก็พอ เรามีชีวิตอยู่เพียง "รับรู้โลก" เท่านั้นก็ได้ เราจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง มันเป็นไปตามวิถี ตามครรลอง ของมัน อันแล้วแต่ฤทธิ์ของกรรม และฤทธิ์ของกิเลส ของสิ่งใดๆ เราจะเห็นชัด เห็นแจ้ง ความแท้ (ปรมัตถ์ หรือ อริยสัจ) และ จะเห็น ความทุกข์ (สังขารธรรม) ได้อย่างชัดแจ้ง ดั่งผู้ยืนอยู่เหนือยอด ขั้วโลกทีเดียว คนผู้ยังไม่ดับรูป ดับนามอย่างเรา เขาก็จะดีดดิ้น ปรุงแต่งสืบพันธุ์ สร้างก่อ ต่อและต่อไป อยู่อย่างนั้น สรรพสิ่งอื่นก็เช่นกัน อันใด มันไม่หยุด มันไม่ดับ ให้ถูกให้ตรง มันก็จะสืบต่อ มันก็จะเคลื่อน จะหมุน จะกลิ้งไปอยู่อย่างไม่จบ แม้สัตว์ แม้พืช แม้แร่ธาตุ อากาศ และ กายทิพย์ใดๆ ผู้ใด "วาง" มือได้ดังนี้ ก็จะคือ ผู้สอดส่องโลก ด้วยแสงสว่าง เป็นผู้มีตาทิพย์ เห็นโลก แจ้งโลก ทะลุโลก ทุกชั้น ทั้งหยาบ และละเอียด สิ้นเชิง ดังได้แยกแยะมาแล้ว และเป็นการเห็นอย่างแท้ เพราะโลก ประกอบด้วย ความเป็นไปของ "รูป" และ "นาม" เท่านั้น มีปริมาณ ตั้งแต่เล็ก จนเรียกว่า "สุญญตา" (ความว่าง) ก่อตัวโตขึ้น เป็นมีรูป มีร่างที่ยังเล็ก จนคนต้อง เรียกว่า ไม่มีรูป หรือ กายทิพย์ (มวลสาร) ในภาษาของข้าพเจ้า แต่ไม่ใช่ ในความหมาย ของนักวิทยาศาสตร์แล้ว รูป (มวลสาร) กับนาม (ความว่าง) ก็จะสืบพันธุ์กัน แตกตัว แพร่ลูกหลานออกไป สร้างตัวตนออกมา นานัปการ กลายเป็น "โลก" หมุนไป ไม่หยุดหย่อน จากเล็ก แล้วก็ค่อยๆ โตขึ้น ใช้เวลา จากเร็ว แล้วก็นานช้าขึ้น ตามวาระ โลกก็มีอยู่ เท่านั้น คือ มีเล็กแล้วก็โต แล้วก็กลับเป็นเล็กลงไปอีก จากเร็วแล้วก็นานช้าขึ้น แล้วก็กลับเร็ว เข้าไปอีก ดังนั้น ทุกสรรพสิ่ง จึงไม่มีอะไรเลย ไม่มีสิ่งใดยึดครอง ความเที่ยงแท้ ความเป็นจริงเป็นจัง เป็น "ตัวตน" แท้ๆ นอกจากความไหลเรื่อย ของสภาวะเล็กแล้วก็โต โตแล้วก็เล็ก เร็วแล้วก็นานช้าขึ้น แล้วก็กลับเร็วไปอีก อยู่ดังนี้นิรันดรกาล คือ เกิดขึ้น (ระยะที่ผู้ใดเริ่มเห็นว่า "มี" หรือ "เป็น") ตั้งอยู่ (ระยะที่ผู้ใด นึกคิด ยึดถือ เป็นตัวตน) แล้วก็ดับไป (ระยะที่ผู้ใดเห็นว่า "พ้นไป" หรือ "หมดลง" หรือ "สิ้นสภาพ ความเป็นอย่างนั้น") ผู้ใด จะแก้ไขกฎนี้ ไม่ได้เลย เป็นอันขาด อันพระพุทธองค์ทรงเรียกว่า "ไตรลักษณ์" หรือ ความเป็นไป อย่างธรรมดาสามัญ นั่นแล ดังนั้น "สามัญลักษณ์" ก็เรียกกัน ๖ ตุลาคม ๒๕๑๓
|