ประกายธรรม ๘

"อรหันต์" นั้นมีอยู่เต็มโลก
แม้ท่านก็เคยเป็น "อรหันต์" เชื่อหรือไม่ ?

ก่อนจะเข้าใจแจ่มแจ้งถึงเรื่องราว ตามหัวข้อข้างบนนี้ ก็จะต้องทำความเข้าใจ "ความแท้จริง" ต่างๆ ไปตามลำดับ ขั้นเสียก่อน

มิฉะนั้น ท่านผู้อ่านจะต้องหาว่า ข้าพเจ้าพูดเล่นแน่ๆ

แต่ขอยืนยันอย่างแท้จริง ว่า ข้าพเจ้าไม่ได้กล่าวเล่นๆ

เป็นดังนั้นจริงๆใน "คน" ทุกๆคน แต่ "คน" ทุกคนไม่รู้เองต่างหาก

 

"อรหันต์" คืออะไร?
"อรหันต์" คืออะไร ? นี่ ควรจะรู้ให้ได้อย่างถูก อย่างแท้ อย่างชัดกันด้วย ไม่เช่นนั้น เราก็จะไม่รู้ ว่า ในโลกนี้มี "อรหันต์" หรือ ที่ควรรู้ยิ่ง ก็คือ แม้เราเอง ก็มีวาระเป็น "อรหันต์" เหมือนกัน ในบางโอกาส

"อรหันต์" นั้น คนเข้าใจผิดกัน มากมายก่ายกอง ผิดจากความหมาย อันบ่งบอกถึงลักษณะ ถึงความแท้จริง โดยเพี้ยนไป เป็นสิ่งสูง เกินขนาดไป นั้นหนึ่ง และเพี้ยนไป เป็นสิ่งที่ผิดความจริงไปเลยนั้น อีกหนึ่ง


 

อรหันต์ คือ มนุษย์พิสดาร ?
เข้าใจพระอรหันต์เพี้ยนไป เป็นสิ่งสูงเกินขนาดไปนั้น ก็คือ มีผู้เข้าใจว่า "อรหันตบุคคล" หรือ "พระอรหันต์" จะต้อง เป็นผู้ที่สูงส่ง ด้วยประการทั้งปวง

สูงจริงๆ แต่สูงอย่างไร? ผู้เข้าใจเอาเองนั้น ก็ไม่รู้ ก็ได้แต่เปรียบเทียบเอา ว่า ต้องไม่ใช่ "คน" ธรรมดา ก็เลย เข้าใจผิดอยู่ในใจ อยู่เช่นนั้นเอง ว่า ถ้าตราบใด "คน" ยังมีสองแขน สองขา มีตา มีจมูก กินข้าว เดินดิน อยู่ปนๆ อยู่กับคนธรรมดาด้วยกัน อยู่อย่างนี้ละก็ "คน" ผู้นั้นจะเป็น "อรหันตบุคคล" หาได้ไม่

"อรหันตบุคคล" จะต้องแปลกไปกว่า "คน" จะต้องพิสดารไปกว่า "คน" แน่ๆ พอเห็นปุ๊บ! จะต้องสะดุดตา หรือ รู้ได้ปั๊บ! เลยว่า นี่คือ "อรหันตบุคคล"

และเขาก็วาดไม่ออกบอกไม่ได้ เหมือนกันว่า จะให้ "อรหันตบุคคล" ผู้นั้นแปลกไป หรือ พิสดารไปอย่างไร ?

เพียงแต่ในจิตสำนึกมี ว่า ต้องแปลก ต้องพิสดารเท่านั้น

แต่ตัวผู้รู้สึกอย่างนั้นเอง ก็มองไม่ออก เข้าใจไม่ได้ว่า ความแปลก ความพิสดารของ "อรหันตบุคคล" แปลก และ พิสดารอย่างไร ?


 

พระอรหันต์ คือ คนธรรมดาๆ ?
อย่าเข้าใจผิดเลย "อรหันตบุคคล" หรือ "พระอรหันต์" นั้น ไม่ได้แปลกเปลี่ยน พิสดารอะไร ไปจากความเป็น "คน" หรอก

"อรหันตบุคคล" ก็คือ ผู้มีรูปร่างหน้าตาคงเดิมเป็น "คน" อย่างเดิม ยังไม่มีกระบังที่หน้าผาก ยังไม่มีชฎา ยังไม่มี เกือกแก้ว และจะไม่ Tall, Dark and Handsome ด้วย

อาจจะไม่หล่อ ไม่สวย ไม่ผุดผาดอิ่มเอิบซาบซ่า เหมือน "คน" ผู้ยังเต็มไปด้วย กิเลส แห่งความรัก "รูปสวย" รัก "รูปงาม" และ รัก "รูปหล่อ" ทันสมัย เท่-สมาร์ต- น่าทึ่ง เป็นอันขาด

นั่นคือ "ความจริง" นั่นคือ "ความตรง-ความถูก" ของลักษณะ "อรหันตบุคคล"

ถ้าจะนับ ว่า แปลก ว่า พิสดาร ก็คงจะผิดจาก "สำนึก" ที่ผู้คาดคิดเอาไว้ ตรงนี้เอง และ เป็นมุมกลับด้วย

เพราะ "อรหันตบุคคล" ไม่มี "ความหลง" แล้วในใจของท่าน ท่านมี "ร่างกาย" ก็ย่อมเหมือนไม่มี

ดังนั้น ท่านจะไม่อีนังขังขอบกับร่างกาย ว่า จะอ้วนท้วนสมบูรณ์ หล่อเหลา ได้รูป-ได้ร่าง อย่างไร?

และ จะไม่อีนังขังขอบกับเครื่องแต่งกาย ว่า จะสวย จะงาม จะทันสมัย หรือ เหมาะสมกับสังคม สถานที่ หรือไม่?

แต่ ท่านก็จะมีร่างกาย เพียงให้มันทรงอยู่ได้ จะนุ่งห่มเพียงเพื่อ คลุมกาย กันร้อน -กันหนาว -กันแมลง เท่านั้น เป็นสภาพร่างกาย หรือ สภาพของ "คน" ธรรมดา ที่ไร้ความหล่อ -ไร้ความสวย -ไร้ความสง่า - ไร้ความโอ่อ่า - ไร้ความเท่ -ไร้ความทึ่ง พอเห็นปุ๊บ! ก็จะสะดุดตาปั๊บ! แน่ๆ

ด้วยเหตุดังนี้เอง จึงจะเห็น "อรหันตบุคคล" ไม่ได้ง่ายๆ เพราะสภาพที่เห็นได้ ไม่ได้ "สูง" ดังวาดไว้

เช่น จะต้องสมบูรณ์เพียบพร้อม-สง่า แต่งกายดีมีราศี หรือ มีรัศมี จนบางที คนที่คิดเอาไว้ หรือปรุงแต่ง หรือ วาดรูปไว้ มักจะวาด อย่างสุดสวย และแถมมีรังสี มีความพิเศษ ไปในทางที่เด่นๆ แบบทางโลกนึกคิด เอาเสียด้วย

ความตรงกันข้ามด้วยประการดังนี้ จึงทำให้ "คน" ไม่พบ "อรหันตบุคคล" และไม่มีโอกาส ได้พานพบ "อรหันตบุคคล" เป็นอันขาด ทั้งๆที่อาจจะได้เห็น มาแล้ว หลายครั้ง เพราะความสูงที่วาดไว้ อย่างคน กับความ "สูง" ที่ "อรหันตบุคคล" มีอยู่ในตัวท่านนั้น มันเป็นความสูงกัน คนละเรื่อง คนละลักษณะ


 

พระอรหันต์ คือ อภินิหารบุคคล?
อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ คนเข้าใจความเป็น "อรหันต์" ผิด นอกรีตนอกรอยของ "อรหันต์" แห่งพุทธศาสนา ออกไปเลย

คือ เข้าใจ ว่า "อรหันตบุคคล" จะต้องเป็น คนเก่ง คนมีอภินิหาร เป็นคนที่สามารถ เล่นแร่แปรธาตุได้ เป็นผู้ที่ จะแสดงกลต่างๆได้ เป็นนักสะกดจิต เป็นหมอดู เป็นนักบังคับฟ้า กำหนดดินได้ เป็นนักอะไร ต่างๆ นานา อันผิดแผกไปจาก  "คน" ธรรมดาๆ อันเป็น การเข้าใจผิด นอกลู่นอกทาง จากเรื่องของ "พุทธศาสนา" โดยตรงเอาเลย

และก็มีมากเหลือเกิน ที่เข้าใจผิด ไปในทำนองนี้ แม้แต่ "นักธรรมะ" และผู้ที่เป็น "พระสงฆ์" เอง

จริงๆแล้ว "อรหันต์" ไม่ใช่ "บุคคล" เหล่านั้น ไม่ใช่ผู้จะต้องเป็น "นัก" อะไร ดังกล่าวแล้วนั่นเลย

บุคคลผู้มี "อภินิหารพิสดาร" อะไรเหล่านั้น ไม่ใช่คุณสมบัติที่จำเป็น อะไรเลย ที่ "พระอรหันต์" จะต้องมี

แต่ถ้ามีใน "พระอรหันต์" ใด ก็ย่อมจะมีได้เป็นได้ ด้วยธรรมดา และท่าน จะไม่ยินดี แสดงอวดอ้าง ออกมา ให้ใครเห็นด้วย นอกจาก เกิดเอง เป็นเอง ตามวาระ ตามสภาพ ซึ่งนานๆ จะมีจะเกิด สักครั้ง

หรืออาจจะไม่มี ไม่เกิดเลยสักครั้ง ตราบจนท่าน "ปรินิพพาน" ไปเลยก็เป็นได้ ไม่ใช่จะต้องเกิด ต้องมี ต้องทำ สิ่งเหล่านั้น ทุกวัน ทุกชั่วโมง ตามที่คนต้องการ หรือ แม้คนไม่ต้องการ ก็ยังอวด จึงต้องขอปรับ ความเข้าใจกัน เป็นขั้นต้นเสียก่อน มารู้จักพระอรหันต์กันเถอะ!

เมื่อความเข้าใจ "ไม่ถูก-ไม่ตรง" กับสภาพความเป็นจริง ที่ "พระอรหันต์" เป็นได้ ดังนี้แล้ว "คน" จะพบเห็น จะได้รู้จัก "อรหันตบุคคล" หรือ "พระอรหันต์" กันได้อย่างไร?


 

ถ้ายังงั้น "อรหันต์" คืออะไรแน่ ?
ถ้าพูดกันโดยศัพท์ "อรหันต์" ก็คือ ผู้ทำ "นิพพาน" ทำ "นิโรธ" หรือทำ "ความดับ" ให้แก่ตนเองได้ โดยตั้งใจ นั่นคือ ความหมายของ "อรหันต์" แท้ๆ ตรงๆ ดังนั้น

ขณะใด "คน" ผู้ใด ทำตนเองให้อยู่ในสภาวะ "นิพพาน" หรือ "นิโรธ"

ขณะนั้น "คน" ผู้นั้น ก็เป็น "พระอรหันต์" หรือเป็น "อรหันตบุคคล" เต็มที่

คือ เป็นผู้ที่ "พ้นออกไปแล้วจากทุกข์" หรือ "พ้นออกไปแล้วจากโลกีย์นั้น จากเหตุที่ก่อทุกข์" ในขณะนั้น

และเมื่อเลิกจากสภาวะ "นิพพาน" หรือ "นิโรธ" ปล่อยจิตให้รับรู้ รับกระทบ รับรู้สึก กับสิ่งที่จะพบ จะเห็น จะสัมผัส คือ ให้ "เวทนาเจตสิก" ทำงานนั่นเอง

คนผู้นั้น ก็พ้นสภาวะ "นิพพาน" ก็เป็น "พระอริยบุคคล" ธรรมดา หรือ ถ้าจะเรียกว่าเป็น "คน" ก็เป็น "คน" ที่มี "สติครองตน" ซึ่งไม่ใช่ "คน" ธรรมดา

เพราะ "คน" ธรรมดา นั้น อยู่ตาม "ยถากรรม" หรือ อยู่กับ "อารมณ์ครองตน" เป็นส่วนใหญ่

ดังนั้น ถ้าใครอยากพ้นสภาวะความเป็น "คน" ยกระดับตนขึ้นเป็น "พระอริยเจ้า" ก็จงหัดมี "สติครองตน" ให้ได้ อย่าอยู่อย่างมี "อารมณ์ครองตน"

พูดกันสั้นๆ "อรหันต์" จึงคือ "ผู้พ้นทุกข์" หรือ "คน" ผู้อยู่ในสภาวะ "พ้นทุกข์" นั่นแหละ เรียกว่า ผู้นั้นเป็น "อรหันตบุคคล" จะเป็นผู้รับรู้ อารมณ์ทุกอย่างได้ และ เป็นผู้เลือกปรุง "รสสัมผัส" ตาม "ปัญญา" หรือ ตาม "ความประสงค์" แห่งตน (ผู้นี้แหละ คือ ผู้อยู่ในสภาวะ "สอุปาทิเสสนิพพาน")

ถ้าพ้นสภาวะ (พ้นทุกข์) นี้ไป ก็เป็นผู้ไม่พ้นทุกข์ คือ ไม่อยู่ในสภาวะนิพพาน หรือ "สภาวะดับ" นั่นเอง


 

"สภาวะดับ" หรือ "สภาวะนิพพาน" คืออะไร?
"ดับ" หรือ "นิพพาน" ก็คือ ...

ความไม่มีอะไรที่เป็น โลภะ-โทสะ-โมหะ

ความไม่รับรู้โลกียรสเลย

ความไม่มียึด ไม่มีเสพย์อะไรเลย

ความรับกระทบสัมผัสอะไร ก็ไม่นำมาเป็นอารมณ์ อะไรเลยทั้งสิ้น

รู้เหมือนไม่รู้ เฉยๆเมยๆ ไม่มีรัก ไม่มีโกรธ

นั่นแหละ คือ "ดับ" คือ"นิพพาน" ล่ะ ...

ลองนึกดูดีๆ ทำความเข้าใจให้ดี ว่า สภาวะอย่างนี้ มันคือ อย่างไรกันแน่ ?

นึกให้เห็นจริง นึกให้ออกให้ได้ ว่า สภาพอย่างนี้ เราเองเคยเป็น เคยมี เคยผ่าน เคยพบไหม ?

ข้าพเจ้าเชื่อ ว่า คนทุกคนมีโอกาสพบ "สภาวะ" นี้


 

ผู้พบสภาวะ "นิพพาน"
แต่ผู้พบสภาวะ "นิพพาน" นี้ เหล่านั้น ไม่มีโอกาสทราบ เพราะไม่ทราบว่า "นิพพาน" หรือ "นิโรธอริยสัจ" และ หรือ "ความดับ" นี้ มันเป็นอย่างนี้!

"ความดับ" หรือ "นิพพาน" หรือ "นิโรธอริยสัจ" นี้ ก็คือ ...

ความไม่มี "รสชอบ" และ ไม่มี "รสชัง" เลย จริงๆ

มีแต่การกระทบสัมผัสตามธรรมดาๆ ที่ได้รับทางหู - ทางตา - จมูก - ลิ้น - กาย - ใจ รู้ชัด สภาพที่มากระทบ มาสัมผัสนั้น อย่างไม่ลุ่มหลง ด้วยอารมณ์ยินดี และไม่มีอารมณ์ ยินร้าย

เป็นผู้รู้ความจริงของสภาพนั้นๆ ตามความเป็นจริง ...

รู้เสียง รู้รูป รู้สี รู้กลิ่น รู้รส รู้สภาพเย็นร้อนอ่อนแข็ง ในการกระทบกาย

รู้รูปธรรม รู้นามธรรม ที่ปรากฎใน "ใจ" ได้ชัด

โดยไม่โลภ-ไม่โกรธ แม้นิด-แม้น้อยเลย จริงๆ

นั่นแหละ คือ อาการของ "ความดับ" หรือ "นิพพาน" หรือ "นิโรธอริยสัจ" อ่านทบทวน ทำความเข้าใจ ให้ดี ให้พอ "คน" ธรรมดาๆ จะมีโอกาส "ดับ" อย่างนี้ น้อยนัก น้อยจริงๆ แต่ก็จะเคยมีในชีวิตทุกคน

และอาการ "ดับ" ดังกล่าวนี้ จะเกิดกับ "คน" ได้ทั้งที่ "ลืมตา" และ ทั้งที่ "หลับ" อยู่ แต่ในสภาวะลืมตานั้น มีโอกาสเกิดน้อย ยิ่งกว่าหลับ


 

หลับนั่นแหละ "นิพพาน" ?
คนธรรมดา จึงมีโอกาสเคยตกอยู่ในสภาวะ "ดับ" ในเวลา "หลับ" เสียแหละมาก แต่ไม่นานเป็นอันขาด

แม้จะหลับ ก็จะตกอยู่ในสภาวะ "ดับ" นี้ ได้ไม่นานเลย สำหรับคนธรรมดาๆ

ยิ่งอยู่ในขณะ "ลืมตา" แล้ว ยิ่งจะตกอยู่ในสภาวะ "ดับ" ช่วงสั้นที่สุด สั้นจริงๆ จนตนเอง ก็ไม่มีโอกาส นึกรู้เห็นได้เลย

"ความดับ" ที่เรียกว่า "นิพพาน" หรือ "นิโรธอริยสัจ" นั้น คือ "ความดับ" หรือ "ความสงบสนิท" ขั้นไม่มีการ "ปรุงแต่ง" หรือไม่มีการ "รับรสสุข - รสทุกข์" อะไรทั้งสิ้น ในอารมณ์นั้น -ใน จิต นั้น

จะเรียกขานโดยใช้ศัพท์ ก็อาจจะเรียกได้ว่า ช่วงนั้นแหละ คือช่วงกำลังตัด "วัฏฏะ" หรือเป็นช่วงที่ ไม่มี "ปัจจยาการ" หรือ "สันตติ" ขาดลงจาก สุขเวทนา - ทุกข์เวทนา หรือ แม้โสมนัสเวทนา - โทมนัสเวทนา ก็ไม่มี

จะมีก็แต่ความรู้สึกเฉยๆ กับสภาพที่กำลัง รับกระทบสัมผัสนั้นอยู่ ด้วยปัญญารู้ชัด ว่า สภาพรูป -รส - กลิ่น - เสียง - สัมผัส ที่กำลังรับรู้ รับแจ้งอยู่นั้น เป็นอย่างนั้นๆ ตามความแท้ของรูปธรรม ที่มากระทบเรานั่นเอง

"อาการ" ดังนี้เอง ที่เรียกว่า "ดับ" เรียกว่า "นิพพาน" หรือ "นิโรธอริยสัจ" คือ ช่วงระยะโอกาสนั้น


 

จงตายตั้งแต่ยังไม่ตาย
แม้ "ตัวตน" ของเราจะมีอยู่ ก็มีแต่ "ตัวตน"

แต่ "จิตใจ" นั้น ไม่มีโลภะ - โทสะ - โมหะ แล้ว ไม่ "รับรสที่เป็นทุกข์ใดๆ" เลย หรือ ไม่รับรู้อาการ ที่ "กระทบ" หรือ "สัมผัส" แล้วจะให้จิตเรา "หลงชอบ-หลงชัง" ไปด้วย

คือ ไม่ยอมรับ "ปรุง" ใดๆเลย "รู้" ก็สักแต่ว่า "รู้" ตามรูปธรรมเดิมแท้ ที่เขามากระทบนั้นๆ

"สภาวะ" ดังกล่าวนี้ เป็นสภาวะที่มีได้ เกิดได้ ในคนทุกคน ไม่ใช่ของที่ต้องไปค้น ไปหามาจากไหน หรือ ไปสร้าง ไปก่อ เอาจากที่ใด อยู่ที่ตัวคนนี่เอง แต่ "คน" ไม่รู้จักมันเอง และไม่ยอมหัดทำตน ให้อยู่ในสภาวะนี้ ให้ได้เอง ต่างหาก

เพราะฉะนั้น หากสภาวะ "ดับ" นี้ เกิดกับ "คน" ผู้ใดก็ตาม

"คน" ผู้นั้น เมื่อนั้น ก็คือ ผู้ตกอยู่ในสภาวะ "นิพพาน" หรือ "นิโรธ"

นั่นคือ ผู้นั้นได้ชื่อว่า ขณะนั้นเป็น "อรหันต์"


 

คนธรรมดาๆ ก็เป็น "อรหันต์"!
แม้คนธรรมดาๆ ก็เช่นกัน ก็เรียกว่า ขณะนั้น (สภาวะดับ) คือ "อรหันต์" ได้ เป็น "อรหัตตผลจิต" ที่เรียกว่า "นิโรธ"

แต่ มันเป็น "อรหันต์" ที่บังเอิญ

เป็น "อรหันต์" ที่ไม่จงใจทำตนให้เป็นไป

เป็น "อรหันต์" ที่แม้ตัวเอง ก็ไม่รู้ตัวเองได้เป็นอันขาด

จึงไม่นับ ไม่เรียกว่า เป็น "ผลจิต" ที่ตนได้สะสมฝึก ใส่จิตของตน แต่ก็เป็นไปจริง เป็นไปได้ และ เป็นไปอยู่ กับคนทุกคน

นั่นคือ ที่ข้าพเจ้ากล่าวเป็นหัวข้อว่า "อรหันต์" นั้นมีอยู่เต็มโลก ก็โดยนัยนี้นั่นเอง

แต่ "คน" ก็ไม่เสพรส "อรหันต์" หรือไม่รับรส "อรหัตตผล "นั้นเลย เพราะไม่รู้จักมัน และไม่รู้ตัวเอาด้วย ในขณะ ตกอยู่ใน สภาวะอรหันต์ หรือ สภาวะอรหัตตผลนั้น จึงไม่ได้เสวยผลนั้น

ดังนั้น การเป็น "อรหันต์" ของคนผู้นั้น จึงสูญเปล่า

"อรหัตตผล" นั้น จึงไม่มีผล ไม่เกิดผลใดๆ ให้กับผู้เป็นเจ้าของเลย แม้นิดน้อย

เพราะเขาไม่รู้ตัว จิตของเขารับสภาวะนี้ไม่ได้ มันละเอียดลออ หรือมันสูงเกินกว่า จิตของเขาจะรู้ จะรับได้ "ผล" นี้เท่ากับไม่เกิด - เท่ากับไม่มี ใน "คน" ธรรมดา จึงไม่รู้ "รสอริยสุข" นั้น


 

ผู้รู้รสแห่งนิพพาน
ถ้าผู้ใดเพียง "รู้" ว่า "รสอริยสุข" หรือ "อรหัตตผล" มีดังที่กล่าวมานี้

และ "รส" ของ "อรหัตตผล" เป็น "รส" ที่ได้สัมผัสกับจิตบ้างแล้ว

และ "รับรู้รส" บ้างแล้ว ว่า "ดีเลิศ" เหลือเกิน จะต้องขอเสพรส "อรหัตตผล" นี่แล เป็นยอดของชีวิต ให้ได้ หรือ ผู้นี้ได้ติดในรส "อรหัตตผล" อย่างถอนตัว ไม่ขึ้นแล้ว จะเพราะบังเอิญ หรือ จะเพราะเกิดด้วย เหตุใด ก็ตามแต่ ได้แตะชิม "รสอรหัตตผล" นี้เข้าไปแล้ว และ แน่ใจใน "รสอมตะ" นี้ยิ่งแล้ว

ผู้นี้ก็จะได้ชื่อ ว่า "อริยบุคคล" ทันที (เริ่มจากโสดาบัน...)

และ ท่านผู้นี้ ก็จะเพียรหาทาง หาวิธีสร้าง "อรหัตตผล" ให้ตนเองเสพให้ได้ ให้มากขึ้นๆ

และ ถ้าผู้ใด ได้พากเพียร จงใจทำ จงใจหาวิธี สร้าง "สภาวะดับ" หรือ "สภาวะนิพพาน" อันคือ "ความไม่มีชอบ - ไม่มีชัง" เลย นี้ ให้กับตนเองได้

ผู้นั้น ก็คือ ผู้ทำความเป็น "อรหันต์" ให้กับตนเองได้ นั่นเอง

ถ้าทำได้ช่วง ๑ วินาที ก็เรียกว่า ท่านผู้ได้ทำ "อรหัตตผล" ให้ตนลิ้มชิมได้แล้ว ๑ วินาที ก็ได้ชื่อว่า เป็น "อรหันต์" ได้แล้ว ๑ วินาที จึงเรียกท่านผู้นี้ว่า "อริยบุคคล" ขั้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เรียกว่า ไม่ใช่ "คน" ธรรมดาแล้ว

เป็นผู้ปรุง "รส" หรือ "อาหาร" อันเรียกว่า "อรหัตตผล" และเป็นผู้ทำ "อรหัตตผล" หรือ "ความไม่มีชอบ - ไม่มีชังเลย" หรือ ทำ "นิพพาน" ให้ตนเองลิ้มได้ เป็นคนเก่งแล้ว มีความสามารถแล้ว ซึ่งก็ยังน้อยนิดนัก

แต่ก็จงแน่ใจเถิด ว่า ท่านผู้นี้จะไม่มีวันหันเหไปทางใด และท่านผู้นี้ จะไม่เห็นดีเห็นงามใน "รส" ใดอีกแล้ว ในชีวิตของท่าน นอกจากรส "อรหัตตผล" หรือ รส "นิพพาน" นี้ หรือ รส "นิโรธอริยสัจ" หรือ รส "ความดับ" หรือ รสแห่ง "ความไม่มีชอบ ไม่มีชังเลย" หรือ รสแห่ง "อริยสุข" หรือ ความว่างเปล่า สูญเปล่า อันเรียกว่า "สุญญตา" นี้ แต่ไม่ใช่ "สูญ" จากความไม่รู้อะไร เป็น "นิโรธ" แบบ "อสัญญี" คือ ดับหมด แม้อะไร ก็ไม่รู้ เอาเลย อย่างนั้นไม่ใช่ "นิโรธอริยสัจ" นั่นเป็น "นิโรธพรหม" ไม่ใช่"พุทธ" อย่าเพิ่งรำคาญ!

ท่านผู้อ่านก็คงจะรำคาญ หรือ บางท่านอาจจะงงๆอยู่บ้าง ที่ข้าพเจ้านำเอา คำต่างๆ มาเทียบเคียง "หรือ" อย่างนั้น "หรือ" อย่างนี้ กันอยู่นั่นแล้ว มากมายก่ายกอง

เช่นว่า "อรหันต์" ก็คือ "ผู้นิพพาน" หรือ "ผู้นิโรธ" ฯลฯ หรือ "นิพพาน" ก็คือ "อรหัตตผล" หรือคือ "สุญญตา"

และแล้ว "สูญ" ก็ยังคือ ความไม่สูญ ฯลฯ อะไรทำนองนี้

ต้องพยายามตีความให้ถึงเนื้อ เอาให้ได้เถิด เพราะความแท้จริง ไม่ใช่ภาษา และ แม้ภาษาเรียก ก็ไม่จำเพาะ เจาะจง อะไรลงไป ตรงเผงๆนัก เป็นเพียง คำกำหนด ให้ประมาณเวลา และประมาณการ ในสิ่งที่ ไม่มีตัวตน - ไม่มีรูปร่าง -ไม่ใช่วัตถุ -ไม่ใช่สสาร ที่จะก่อรูป - ก่อร่าง มีรูป - มีร่าง ให้เห็น ให้จับ ให้ชี้ ได้ตรงเผงๆ

มันจึงค่อนข้างยากมากอยู่ทีเดียว เพราะมันเป็นเรื่อง "ไม่มีที่จิต" ส่วนทุกสิ่ง ทุกอย่างนั้นมัน "มี" แถมจิต ของเรา ก็ยัง "มีรู้" อยู่อีกด้วย

ที่ "ไม่มีในจิต" นั้น มันไม่มีชอบ ไม่มีชัง หรือ ไม่มีรัก ไม่มีเคือง ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ

มีแต่ "ปัญญา" อัน "สะอาด" ไม่มีโมหะเอาด้วย


 

ธรรมะขั้นสูง (ปรมัตถ์)
เรื่องของ "ธรรมะ" ขั้นสูงสุด ที่ใช้ภาษาบาลีเรียกว่า "ปรมัตถ์" (ปรม+อัตถ) นั้น เป็นเรื่องของ "นามธรรม" โดยแท้ ไม่ใช่เรื่องของ "วัตถุธรรม" เลย เป็นอันขาด แต่มันก็เกี่ยวกับ "วัตถุ" ที่จะโยงใยอยู่กับ "ใจ" ดังนั้น การศึกษาใดๆ อันเป็นเรื่องการเจริญ -การก้าวหน้าทางวัตถุ การก่อ -การสร้างทาง "วัตถุธรรม" จึงไม่อยู่ ในข่าย ที่นักปฏิบัติธรรม จะต้องสนใจ เอาใจใส่เป็นอันขาด

ผู้ตัดทิ้งได้มากเท่าใด ยิ่งคือ ผู้เป็น "นักปฏิบัติธรรม แห่งพุทธศาสนา" แท้ยิ่งขึ้นเท่านั้น

และ "การปฏิบัติธรรม" ก็ไม่ใช่การยึดอยู่แต่ "ภาษา" หรือ วนเวียนอยู่แต่ กับ "ศัพท์แสง" คำใดๆ เท่านั้นไม่ !

การรู้ของ "ธรรมะ" เรียกว่า "รู้แจ้ง เห็นจริง" อันเป็น "รู้" ขั้นเรียกว่า "วิชชา" นั้น เป็นการ "รู้แจ้ง" ตัว "นามธรรม" ต่างๆ อย่างแท้ อย่างจริง ให้ถึงใจ ขั้นลึกสุดของใจ อันเรียกขานกันว่า "อาสวะ" หรือ "อนุสัย" นั้น ให้ได้

ซึ่งตัว "นามธรรม" เหล่านั้น ในภาษาเรียก ก็ตั้งชื่อมาเรียกกัน เพื่อให้คนเข้าใจได้ ถูกฝาถูกตัว ซึ่งบางที ก็ลำบากมาก เพราะว่า โดยแท้จริงแล้ว "นามธรรม" ต่างๆ มันแปรเปลี่ยน สภาพเท่านั้นเอง มันไม่ใช่ มีมากตัว อะไรเลย


 

"นามธรรม" หลายหลาก คือ หนึ่งเดียว
ถ้านับโดยจริงแล้ว "นามธรรม" ที่มีชื่อเรียกต่างๆ นานา นั้น ก็มีตัวเดียว เท่านั้นเอง ที่เราเรียกว่า "นาม" นั่นแหละ มันอยู่ในสภาวะ ที่แปรเปลี่ยน จากใหญ่ ไปสู่เล็ก จากเล็กไปสู่ใหญ่ จากช้าไปสู่เร็ว จากเร็วไปสู่ช้า จากหนึ่ง ไปเป็นสอง จากสองไปเป็นสาม ฯลฯ อยู่ไม่หยุดหย่อน และให้ฤทธิ์-ให้รส จากน้อยเป็นมาก จากมาก เป็นน้อย ผิดแผกกันไป ตามสภาพเท่านั้น

และในสภาวะช่วงต่างๆ นั้น เราก็แบ่งออกเป็นช่วงๆ แล้วก็ตั้งคำเรียก กำหนด แจ้งสภาวะของ แต่ละช่วง แต่ละตอนไว้

เช่น สภาวะอย่างหนึ่งเรียก "จิต" สภาวะอย่างหนึ่งเรียก "มานะ" สภาวะอย่างหนึ่งเรียก "ปฏิฆะ" บ้าง "อุทธัจจะ" บ้าง หรือ "เวทนา" บ้าง "สัญญา" บ้าง และ แม้สภาวะหนึ่ง ที่เรียกว่า "อาสวะ" หรือ "อนุสัย" นั้น

ก็ล้วนแล้วแต่ "จิต" ซึ่งแท้ที่จริง ก็คือ ตัว "นามธรรม" ตัวเดียวนั่นเอง

เหมือนเช่น เราเรียก "คน" ผู้เกิดใหม่ๆ ว่า ทารก เด็กอ่อน เด็กแดงๆ หรือ เรียก ลูกอ่อน

ดูเถอะ! เฉพาะเด็กเกิดใหม่ ยังเรียกได้หลายคำ

พอโตมาหน่อยก็เรียก หนู เด็กชาย เด็กหญิง เด็กไม่เดียงสา

พอโตไปก็เรียกเด็กหนุ่ม เด็กสาว เด็กเดียงสา หรือ เด็กแตกพาน เรียกนักเรียน เรียกจิ๊กโก๋ จิ๊กกี๋ จนก้าวขึ้นไปเรียก หนุ่ม สาว แฟน เรียกคู่ควง เรียก พระเอก นางเอก เรียกนักศึกษา เรียกผัว เรียกเมีย

และแล้วก็หนุ่มใหญ่ สาวใหญ่ หรือเรียกนาย เรียกนาง เรียกพ่อ เรียกแม่

ไปจนกลางคน ก็ยังมีคุณนาย คุณหญิง มีนายห้าง ลูกจ้าง เสมียน มี ข้าหลวง มีชาวนา ชาวสวน

จนแก่ชรา ก็ผ่านตำแหน่งต่างๆ มามากมายก่ายกอง ซึ่งที่ยกมากล่าวนั้น หรือ ยังไม่ได้ยกมากล่าว อีกทั้งหลายก็ดี ล้วนแล้ว แต่ชื่อเรียก สภาวะ "คน" แต่ละขนาด แต่ละช่วง ของการแปรเปลี่ยน ความเป็น "คน" ของคนทั้งสิ้น

แต่ภาษาเรียก "คน" ทั้งหลาย ที่ข้าพเจ้ายกมานั้น เป็นภาษาไทย และบางคำ ชื่อยังนำไปเรียก ภาวะของคน บางช่วง บางตอน ซ้ำๆ ซ้อนๆ กันได้

ส่วนภาษาที่ใช้เรียก "นามธรรม" ที่เราเรียน เราได้ยิน ได้ฟังมา ส่วนมากนั้น นอกจากจะซ้ำๆ ซ้อนๆ กันได้ เหมือนเช่นนั้น ยังแถมเป็น ภาษาบาลีอีก มันจึงยิ่งงง ยิ่งชวนให้เข้าใจผิด เข้าใจไม่ตรง ออกไปเรื่อยๆ

โดยแท้จริงแล้ว ก็คือ ชื่อกำหนดที่ตั้งขึ้นมา เรียกสภาวะของ "นามธรรม"

บางอันตั้งเรียกให้รู้ไปถึง ว่า เป็น "กริยา" ของนามธรรม

บางอันตั้งเรียก เป็น "ตัวตน" ของนามธรรม

จึงจะต้องพยายามเข้าใจให้ถึง "ความแท้จริง" ของมันให้ได้


 

เพียงแค่ปริยัติ...ไม่อาจลุถึงปรมัตถ์

ถ้าเรียนแค่ "ปริยัติ" หรือแค่จากตัวหนังสือ หรือฟังอธิบาย (ทฤษฎี)

จะไม่ "รู้เรื่อง" หรือ "รู้แท้" "รู้จริง" ได้อย่างแน่แท้ เป็นอันขาด

และผู้นั้นจะยกระดับ "จิต" ของตนเองขึ้นสูง ไม่ได้ด้วย ไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆ เพราะผู้เรียน รู้เพียงจาก ตัวหนังสือนั้น จะไม่รู้ "ตัวตน" แท้ๆ ของ "นามธรรม" ตัวใดเลย

เหมือนช่างกลผู้เรียนแต่ตำรา ไม่เคยจับตัวจริงของ เครื่องยนต์กลไกเลย แม้แต่น็อตสักตัว (ที่จริงช่างกล ก็ยังดีกว่า เรียนเป็นนักธรรม เพราะยังมี รูปภาพ ของเครื่องยนต์ให้ดู) ดังนั้น ช่างกลจะทำจริงๆ หรือเป็น "ช่างกล" จริงๆ ไม่ได้เด็ดขาด แต่ตรงกันข้าม ผู้หยิบจับ เครื่องยนต์ กลไกจริงๆ อยู่เสมอ นั่นแหละ จะเป็น "ช่างกล" ได้เร็วและแท้จริง โดยไม่จำเป็นต้องรู้ชื่อ รู้นาม ของเครื่องชิ้นใด ส่วนไหนเลย ก็ได้

โดยนัยนี้เอง คำว่า "อรหันต์" แท้จริงนั้น ก็คือ "ช่างกล" นั่นเอง เป็นช่างขั้นซ่อม จักรยานถีบธรรมดา เพียงขันน็อต เชื่อมต่อได้ ก็เป็นช่าง ขั้นต่ำหน่อย ถ้าเป็น ช่างซ่อมจักรยานยนต์ ก็สูงขึ้นไปอีก และ สูงขึ้นไปจน รถยนต์ เครื่องบิน จรวดอะไรโน่น ก็เป็นระดับ เป็นขั้นขึ้นไป แต่ก็ได้ชื่อว่า "ช่างกล" ทั้งนั้น


 

พุทธศาสนาสอนอะไร ?
ดังนั้น ความจริงแล้ว "พุทธศาสนา" ไม่ได้สอนอะไรมากเลย

สอนให้รู้ความจริงแท้ของตัว ที่ไม่มีรูป ไม่มีร่าง ที่มันยุ่งเกี่ยว อยู่ในตัวคน หรือตัวเราเองนี่แหละ ให้ได้รู้ ละเอียด ลออ และต้องเรียกว่า ศึกษาตัวนี้ "ตัวเดียว" เท่านั้น เป็นขั้นสุด

แต่ก็ต้องศึกษาไต่ระดับมา จาก "วัตถุ" หรือ "ความมีรูปร่าง" ชัดๆ ที่เราจะอาศัย สืบสื่อต่อทอด มาได้ ละเอียดขึ้นๆ แล้วจึงมาถึง "จิต" ถึงตัวที่ "ไม่มีตัว" ที่มัน แปรเปลี่ยนสภาวะยืดหยุ่น อยู่อย่างพิสดาร ตัวนั้น ก็คือ ตัว "นามธรรม" นี่เอง

และที่มันยุ่งมันยากมากมาย ที่คนตามไปรู้ไปแจ้งไม่ได้ ก็เพราะแม้จะเรียนรู้ "นามธรรม" เองนั้น ก็ยังมี "รูปธรรม" ตัวตน อยู่ใน "นามธรรม" นั้นด้วย คือ "นามธรรม" ตัวที่แปรเปลี่ยนตัวเองเป็น "รูปธรรม" แล้ว นั่นเอง อันนี้เอง ที่มันยาก เพราะคนเข้าใจแต่เพียง ว่า "รูปธรรม" คือ "วัตถุธรรม" เท่านั้น จึงแบ่งแยกเพียง "รูป" กับ "นาม" ได้เพียงขั้นหยาบ

พอไปถึงขั้นละเอียด มองเห็นก็ไม่ได้ เมื่อแยกไม่ได้ ก็เป็นอันไม่"รู้" อะไรมากกว่า หรือสูงกว่า "โลก" ไปได้แน่ ก็คงอยู่ กับโลก อันมีแต่รูป แต่ร่าง เป็นตัว เป็นตน มีของ "อร่อย" นี่เท่านั้นนั่นเอง เลยรู้ความแท้จริงของตัว "รสอร่อย" อันไม่มีรูป ไม่มีร่างไม่ได้ ว่า มันคืออะไร? มันเป็นผู้ช่วย ตัวสำคัญของโลกอย่างไร? หรือ มันคือ เครื่องมือ ชิ้นสำคัญของโลก ขนาดไหน?

จะฆ่ามัน หรือ จะเห็นมัน เพื่อจับมันมา "ปหาน" ได้อย่างไร? จึงทำไม่ได้สักที


 

จงรู้สภาวะสองให้ชัดแจ้ง
การเรียนรู้ทางพุทธศาสนา เรียนรู้ให้ได้ถึงความแท้จริง ว่า อาการดิ้นอยู่ หรือ แปรเปลี่ยนอยู่ มันมีอยู่ สอง สภาวะ เท่านั้นในโลก (คือ นาม-รูป, ไม่มี-มี) ไม่ว่าโลกนี้ หรือโลกไหน

และตราบใดที่รู้จนชัดเจนชัดแจ้งไม่ได้ ว่า ของสองสภาวะนี้ มันก็เป็นของสิ่งเดียว หรือ สิ่งที่หมุนเวียน เปลี่ยนแปร มาจากสภาวะแรก สภาวะเดียว เท่านั้นเอง คือ "ความไม่มีอะไรเลย" หรือ ทำตนให้นิ่ง อยู่ใน สภาวะหนึ่ง เท่านั้น ไม่ให้เกิด ความดิ้นความหมุน (นิพพาน)

เมื่อรู้แท้ รู้จริงไม่ได้ และไม่สามารถระงับ หรือดับทุกสิ่งทุกส่วน ในตัวตน ของตนเองลงได้ ถึงขั้น ความไม่มีชอบ - ไม่มีชังเลย หรือ ความนิ่งสงบ สนิทอยู่ มีแต่ "รู้" เฉยๆ

ผู้นั้นก็ถึงกาละ "ดับ" ไม่ได้แน่ๆ และจะถึงกาละ "พินาศสิ้น" ถึงกาละ "จบสิ้นไม่มีเชื้อ" อย่างแท้จริง ไม่ได้เลย


 

จงทำตนให้พินาศสิ้น
ผู้ถึงกาละ กระทำให้ตน "พินาศสิ้น" ได้โดยตน ชั่วกาลนาน (ปรินิพพาน) ดังนี้ จึงเรียกว่า "พระอรหันต์" ถ้าผู้ที่ "รู้" ได้ ว่าโลกนี้ มีสภาวะแรก สภาวะเดียว คือ "ความไม่มีอะไรเลย" (สุญญตา)

และสามารถทำ "ความไม่มีอะไรเลย" อันเป็น "ของตนเอง" ให้ตนเองได้ ในช่วง ระยะยาวนาน แต่ยังไม่ถึง ขั้น "ดับหมดสิ้น" ถึงขั้น "พินาศ" จน "จบไม่มีเชื้อชั่วกาลนาน"

คือเพียงทำให้เป็นช่วงยาวนานเท่านั้น ท่านผู้นั้นก็ได้ชื่อว่า "พระสกทาคามี" แท้ๆ เต็มๆ เป็นผู้ทำตน ให้ถึงกาละ เข้าสู่ "นิพพาน" ได้บ้างแล้ว ซึ่งยังไม่แน่ใจเสียทีเดียว

แต่ถ้าผู้ใดเพียง "รู้" ว่า สภาวะแรกสภาวะเดียว คือ "ความไม่มีอะไรเลย" เป็นอย่างไร แต่ ทำ "ความไม่มี อะไรเลย" ให้กับตนเองไม่ได้ ในทันทีที่ต้องการ ท่านผู้นั้น ก็คือ "พระอริยเจ้า" ขั้นต่ำลงไปอีก เรียกว่า "พระโสดาบัน"

ส่วนพวกฤษี เดียรถีย์ หรือผู้ปฏิบัติธรรมแบบดับ หลับตาเอานั้น ที่จริงก็สามารถทำ "นิพพาน" ให้ตน ได้แล้วแหละ แต่ว่าจะทำได้ ก็ต่อเมื่อ เข้าสู่ "สมาบัติ" บ้าง หรือ ในบางโอกาส อันยังไม่แน่นอน เด็ดขาด ตามที่ประสงค์ จะทำทุกคราวไป คือ ยังไม่มีความเก่ง พอถึงขนาด

จะทำ "นิพพาน" ให้ตนได้เมื่อใด ก็ต้องตั้งท่าให้ดี แล้วก็ใช้เวลา ค่อยๆระงับจิตตน ตัวความมีอะไร ออกไป ๆๆ จนถึง "ความไม่มีอะไรเลย" ซึ่งต้องใช้เวลา ใช้พลังงาน การกระทำมากกว่า และไม่แน่ว่า จะเวียนกลับ อีกหรือไม่ เพราะไม่มีความรู้แท้ รู้ชัดในจิต อันละเอียดของตน


 

ผู้ที่ได้ชื่อว่า "พระอรหันต์ -อนาคามี -สกทาคามี -โสดาบัน"
ผู้ที่ได้ชื่อว่า "พระอรหันต์" ของพุทธศาสนาแท้ๆนั้น ต้องการจะ "นิพพาน" เมื่อใด ก็ "ดับ" หรือ ทำ "ความไม่มี โลภะ-โทสะ-โมหะ" ให้กับตนเอง ได้ทันทีโดยไว เป็นอัตโนมัติ ผู้นั้น จึงได้ชื่อว่า "พระอรหันต์" แท้

และ "พระอรหันต์" ก็ยังมีขั้นต่ำ-ขั้นสูง อีกมากมายหลายระดับ หรือ มีความเก่งประกอบตน แตกต่างกัน อยู่อีก ก็อีก

ส่วนผู้ที่เอาแต่รู้เฉยๆ ว่า สภาวะแห่ง "ความไม่มีอะไรเลย" นั้นเป็นอย่างไร และก็ได้เฝ้าพากเพียรหัด  "ดับ" หัดทำอยู่ ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ได้ใน "ความไม่มีอะไรเลย" ของเรื่องบางเรื่อง

เช่น "ดับ" เรื่องรูปได้บางอย่าง เรื่องรสได้บางอย่าง เรื่องกลิ่นได้บางอย่าง เรื่องเสียงได้บางอย่าง เรื่องสัมผัสได้ บางอย่าง เป็นจำนวนๆ ไม่หมดเสียทีเดียว ท่านผู้นี้ก็ชื่อว่า "พระสกทาคามี"

ถ้าทำได้มาก คือ ดับได้มากจำนวนขึ้น ก็เรียกว่า "พระสกทาคามี" ขั้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

จนถ้าดับ รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส ภายนอกได้ขาด ไม่เวียนมาปรุง มามีบทบาท อยู่ภายนอก ได้จริงๆ เหลือภายใน ที่จะต้องดับมอด ไปในที่สุดได้ ก็เรียกผู้นี้เป็น "พระอนาคามี"

แต่ก็เป็น พระอนาคามีขั้นต่ำ หรือพระสกาทาคามี ขั้นสูงนั่นเอง มันก็จะเป็นระดับๆ อยู่ดังนี้ ต่ำๆ สูงๆ อยู่ทุกขั้น ไม่มีขีดตายตัว ลงไปได้ เสียทีเดียวหรอก

ส่วนผู้รู้เพียง "รูป" กับ "นาม" คือ สภาวะสองสภาวะ อันเกิดมาจากต้น สภาวะแรก สภาวะเดียว แล้วก็มา มีบทบาท แปรเปลี่ยน หมุนเวียน ครองสภาวะรูป กับสภาวะนาม อยู่เท่านั้น ยังไม่รู้อะไร มากไปกว่านี้ ยังทำอะไร ให้กับตนเองก็ไม่ได้ (และ "รู้" คำนี้ คือรู้ถูกตัว ถูกตนของมัน ที่ตนเองจริงๆ ด้วย มิใช่ "รู้" แต่ภาษาเท่านั้น) ผู้นี้ก็เป็น "พระโสดาบัน"

แต่ผู้จะเป็น"พระโสดาบัน"ได้ ก็ต้องรู้ได้อย่างแท้ ถึงใจด้วยนะ ว่า สภาวะรูป เป็นอย่างไร? สภาวะนาม เป็นอย่างไร ? และรู้ด้วย ว่า สภาวะ ทั้งสองนั้น ไม่เที่ยง ทรงอยู่ไม่ได้ ทั้งสองสภาวะ จะเคลื่อน จะหมุน จะแปรเปลี่ยน อยู่ตลอดเวลา รู้ถึงตัวตนแท้ๆ ที่ไม่มีรูป ไม่มีร่าง ของสองสภาวะนั้นด้วย จึงจะเรียกว่า ผู้นี้เป็น "พระโสดาบัน"


 

ผู้รู้ รู้แค่ไหน ?
ไม่ใช่ ว่า เพียงผู้ที่อ่านคำอธิบายของข้าพเจ้านี้ เข้าใจแล้ว จะได้ชื่อ ว่า "รู้" ทันที นั้น ยังไม่ได้

ต้องเอา"ความรู้-ความเข้าใจ"นี้ ไปเทียบ ไปสอบกับ "สภาวะจริงๆ" ที่จะเกิดขึ้น กับตัวเรา ให้แจ้งใจแน่ๆ เสียก่อน ว่า "สภาวะรูป" นั้น คือ สภาวะอย่างนี้แน่ๆ และ "สภาวะนาม" นั้น คือ สภาวะอย่างนี้แน่ๆ

บางคน "รู้" จากอ่าน-จากฟังมาจาก คัมภีร์อื่นๆ ใดๆ นานเป็น ๑๐-๒๐-๓๐- ๔๐ ปี

ก็ยัง "รู้ไม่ถึงใจ" รู้ไม่แท้ จนตายไปก็ยัง "ไม่รู้" ก็มีมากมายก่ายกอง

และมีเป็นจำนวนมากคนกว่า ผู้ที่ได้ "รู้ถึงใจ" ตั้งหลายๆเท่าด้วย


 

การรู้ให้ถึงใจ ต้องปฏิบัติ
การ "รู้ถึงใจ" ดังกล่าวนี้ จึงสำคัญยิ่ง สำหรับการเรียน พุทธศาสนา

เพราะจะ "รู้ถึงใจ" ได้ ต้องลงมือ "ปฏิบัติ" อย่างจริงจังเท่านั้น จะสักแต่ว่า "ปฏิบัติ" ไม่ได้เลย

แม้จะสักแต่ "ปฏิบัติ" ไปนาน ตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ไม่มีหวังได้ "รู้ถึงใจ" เป็นอันขาด

เหมือน "พระสงฆ์" ที่ผ่านพิธีบวชเข้าไปนุ่งเหลือง ห่มเหลือง โกนหัว และตั้งหน้าตั้งตา ปฏิบัติวินัย ยึดศีล ยึดพรต ปฏิบัติอยู่อย่างนั้น ผู้ใดสักแต่ว่า ปฏิบัติ ก็จะคงเป็น "สมมุติสงฆ์" อยู่อย่างนั้นเอง ตราบตาย แล้วเกิด มาบวชใหม่ อีกกี่ร้อยชาติ ก็คงไม่มีอะไร "รู้ถึงใจ" ได้

คงจะเป็นแค่ "พระสงฆ์ปลอม" หรือ สงฆ์เพียงเรียกขาน สมมุติ กันอยู่เท่านั้น จะก้าวขึ้นเป็น "อริยสงฆ์" หรือ ผู้ได้ "รู้ถึงใจ" ไม่ได้เลย

ต้องเอาใจใส่ ปฏิบัติอย่างจริงจัง พิจารณาใน "การปฏิบัติ" ของเราทุกอย่าง ให้ออก แม้เราท่องบ่น ธรรมะ อะไร? เราก็นำธรรมะนั้น มาพิจารณา คิด อ่าน ให้เข้าใจ ให้รู้ว่า คืออะไร? ทำไปทำไม? ประโยชน์อะไร จะเกิด?

เทียบเข้ากับ "ใจ" ของเรา สังเกต "อาการใจ" ของเรา ให้รู้ตรงกับ "ปริยัติ" ที่เคยเรียน "ธรรมะ" ที่เคยท่อง เสมอ แล้วมี "ผล" เกิดหรือยัง? ตรงตามที่ท่านว่าไว้ไหม?

ถ้า "ผล" มันเกิดแล้ว นั่นแหละเราจะ "รู้ถึงใจ" ล่ะว่า อะไรกันแน่ ถูกหรือผิด


 

ถ้าศีลใด-พรตใด "ผิด" เราก็ละเสีย
ศีลใด-ผลใด "ถูก" เราก็จะเห็นผล เป็นมรรคที่ถูก ที่ยึดต่อไปได้

ไม่ใช่สักแต่ว่า "ท่องๆๆ และท่องให้ได้คล่องๆ มากๆ" เพื่อนำไปสวด ไปเทศน์ ในงานนั้นงานนี้ ไม่ใช่เลย

หรือแม้ที่ท่านกำหนดให้ฉันข้าว อย่างมาก ๒ มื้อนั้น ปฏิบัติไปทำไม? ก็ต้องนำมาคิดอ่าน -มาพิจารณา หาเหตุผลให้ออก

และพระสูตรที่ท่านให้นำมาพิจารณา เรื่องอาหาร มีว่ากระไร ก็เอามาประกอบ

ถ้าทำอย่างนั้น จะเกิดผลอย่างไร? ทำอย่างนี้ จะเกิดผลอย่างไร? ก็ต้องปฏิบัติไปพร้อมกับ ใช้สติปัญญา ตรองไป ทุกสิ่งทุกอย่าง

หรือแม้ "ถือศีล" ก็ต้องนำศีล นำข้อห้ามเหล่านั้น มาคิดอ่าน ให้รู้เหตุ รู้ผล หรืออื่นๆ ใดๆ ทุกกฎ ทุกข้อ นั่นแหละ ต้องพิจารณา คิดอ่าน ปฏิบัติด้วยสติ ตรองให้รู้แจ้งทุกอัน

นั่นคือ หลักสำคัญของ "การปฏิบัติธรรม" อันพระพุทธองค์ตรัส เรียกว่า "วิปัสสนา" นั่นเอง

คนส่วนมากเข้าใจว่า "วิปัสสนา" จะต้องไปนั่งสมาธิ นั่งหลับตาเพ่ง เท่านั้น นั่นคือ ความเข้าใจผิด อย่างมหันต์ ทีเดียว


วิปัสสนา

"วิปัสสนา" ไม่ได้หมายความ ว่า นั่งสมาธิ หรือ นั่งหลับตา

โดยแท้จริงแล้ว "วิปัสสนา" ถ้าจะแปลเอาจริงๆ ให้ถูกกับที่ คนหมู่หนึ่ง หลงผิดแล้ว ก็แปลว่า "ปลุกสมาธิ" หรือ ปลุกความสงบ (สมถะ) หรือ ต้องตื่นอยู่เสมอ ต่างหาก "วิปัสสนา" แปลว่า รู้ทั่วอยู่เสมอ คิด อ่าน เพ่งพิจารณา ให้รู้ความละเอียดของ สภาวะทุกสภาวะให้ได้ นั่นต่างหาก คือ "วิปัสสนา"

ดังนั้น แม้การไปนั่งสมาธิ ทำใจให้สงบเป็น "สมถะ" ได้สนิทนิ่ง ก็ให้เอา "ความรู้ตัว" เข้าไปแทรกอยู่ใน "จิตตัวสงบ" นั้น ให้ได้

แล้วคิดอ่านพิจารณาออกให้เห็น ว่า ในความสงบขั้น "สมถะ" นั้น มันคืออะไร? "จิต" มันค่อยๆ แปรเปลี่ยน จาก "ไม่สงบ" เข้าไปอยู่ ในสภาวะ "สงบ" สนิท นั้น มันแปรไป ในรูปลักษณะอย่างไร? ให้รู้ละเอียด รู้ให้ชัด ให้เข้าใจ ให้ถ่องแท้

แล้วเราจึงจะนำเอาอาการแปรเปลี่ยนไปนั้นๆ มาหัดทำ "จิต" ของตน ในภาวะของคน "จิตตื่น" หรือ มี "สติสัมปชัญญะ" ธรรมดาๆ นี้ให้ได้ เราจึงจะทำ "จิต" ให้ "สงบสนิท" แม้ลืมตา หรือแม้ "จิตตื่น" นี้ได้


 

ทำอย่างไร? ให้ "พ้นทุกข์"
ถ้าเราทำความ "สงบสนิท" หรือทำ "ความไม่มีอะไรเลย" ให้ตนเองได้ แม้ในขณะ "จิตตื่น" นี้ เราก็ "พ้นทุกข์" เราก็ "นิพพาน" เราก็ "นิโรธ" ได้ทุกเมื่อ ทุกขณะ

ถ้าทำได้มากครั้ง เราก็ได้เป็น "อรหันต์" มากครั้งขึ้นเรื่อยๆ

ก็ให้หัดฝึก-หัดซ้อม-หัดทำไป จนทำ "จิต" ให้"สงบสนิท" หรือ ทำ "จิต" ให้อยู่ใน ความไม่มีชอบ -ไม่มีชังเลย หรือ ทำ "นิพพาน" ทำ "นิโรธ" ให้ตัวเองได้ จนแคล่วคล่อง ชำนิชำนาญเด็ดขาด เราก็ได้ชื่อว่า ทำได้ อย่างแน่นอน เป็น "สมุจเฉท" นั่นเอง

นั่นคือ เราได้ชื่อว่าเป็น "พระอรหันต์" แท้ๆ เที่ยงๆ


 

นิพพาน นั้น ยิ่งกว่าสุข
คำว่า "อรหันต์" จึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ไม่ใช่เรื่องสูงเกินขนาด ที่จะเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่ไม่เคยมี -ไม่เคยพบ - ไม่เคยเห็น

ทุกคนเคยมี-เคยพบ-เคยเห็น แต่ไม่เคย "รู้" เท่านั้น

จงพยายามหัด "รู้" ให้ได้ จะรู้จากคนอื่นไม่ได้ จะต้องรู้จากใน "ตนเอง" นี่เอง

"รู้ได้ชัด" เมื่อใด เมื่อนั้นแหละ ผู้นั้นจะ "รู้รส" ของความเป็น "อรหันต์"

แล้วจะติดใจ "รส" นั้น ไปไม่มีไถ่ถอนเลยจริงๆ

เป็นแน่นอน ขอให้ได้ลิ้ม"รส" ของความเป็น "อรหันต์" ให้ถึงใจ และรู้ตัว สักครั้งเถอะ ครั้งเดียวเท่านั้นแหละ ท่านก็ จะได้ชื่อว่า เป็น "พระโสดาบัน" ทันที

แล้วท่านจะมุ่งยึด "รส" นี้เป็น "รส" หนึ่ง และ "รส" เดียวแห่งชีวิตจริงๆ

ไม่เชื่อ ก็ลองดูเถิด!


 

พระอรหันต์ มีหลายระดับ
ดังนั้น ในสายตาของคนธรรมดา ที่ยังเข้าใจผิด อยู่ด้วยประการต่างๆ ดังที่ได้พูดถึงมาแล้ว หรือ ประการอื่น ที่ยังไม่ได้พูดถึงก็ดี

จึงทำให้คนส่วนมากยังเข้าใจว่า "พระอรหันต์" ก็คือ ผู้ที่เพียบพร้อมต่างๆ นานา และจะต้องเพียบพร้อม อยู่ตลอดเวลา ทุกลมหายใจ เข้าออกด้วย

จะไม่มีการแสดงอารมณ์ ในความรู้สึกใดๆเลย จะยิ้มก็ไม่ได้ จะพูดอะไรออกมา อันแสดงออกไป ในทางโลก ก็ไม่ได้ จะแสดงอาการ รู้สึกอะไรก็ไม่ได้

ต้องไม่มีอะไร อันแสดงความเหมือน มนุษย์ธรรมดา เหมือน "คน" หรือ มีอารมณ์ - มีอาการ เช่นคนธรรมดา แสดงออก มาจาก "พระอรหันต์" นั้นเลย

ความเข้าใจดังนี้ เป็นความเข้าใจผิด ข้อใหญ่ข้อหนึ่ง ที่ทำให้คนไม่พบ ไม่เห็น พระอรหันต์

เพราะเมื่อเห็น "พระอรหันต์" องค์ใด ท่านมีความสำรวมในกาย - วาจาน้อยไปบ้าง ก็ปักใจเลย ว่า ท่านผู้นี้ ไม่มี "คุณธรรม" ถึงขั้น "อรหันต์"

ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วว่า "อรหันต์" นั้น มีหลายหลายขั้น หลายระดับ

ความบริสุทธิ์ บริบูรณ์พร้อมด้วย กาย-วาจา-ใจ จึงมีตามลำดับ ตามขั้นของ "พระอรหันต์" ขั้นต่างๆ นั้น

และ "ความละเอียดลออ" แห่งกายกรรม -วจีกรรม -มโนกรรม ก็ย่อมมีมากมาย หลายระดับ จนวัดไม่ได้ แบ่งไม่ได้ แต่ถ้าเข้าใจ ก็ไม่มีปัญหา

พระอรหันต์ขั้น "พระสารีบุตร" ก็มี "บารมี" (สิ่งที่ได้สะสม ฝึกเพียร หรือปฏิบัติใส่ตน จนมากมาย) ในด้านใด ด้านหนึ่งมาก

แต่ในด้านใดอื่น ที่ยังด้อยอยู่ ก็จะต้องยังด้อยอยู่ เช่น อิริยาบถที่ ไม่ค่อยสุขุม สงบเสงี่ยม ของท่านพระสารีบุตร เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าใครไปเห็นท่านพระสารีบุตร เดินชนโน่นชนนี่ กระโดด โลดแล่นอยู่ ไม่สำรวมกิริยา ในการไปมา เท่าที่ควร ใครผู้ไม่รู้จัก พระสารีบุตร และไม่เข้าใจพอ ก็จะไม่เชื่อว่า ท่านผู้นี้คือ ท่านพระสารีบุตร ท่านผู้นี้เป็น พระอรหันต์เจ้า และแท้จริงแล้ว ท่านเป็นถึง "พระอัครสาวก" ผู้เยี่ยมยอด ทางปัญญา บารมี ด้วยซ้ำไป

แต่เนื่องด้วย "กรรม" ของท่าน ได้สั่งสมไว้ในเรื่อง อิริยาบถ สมัยชาติก่อนๆ ๕๐๐ ชาติ ของท่าน เป็น "ลิง" ท่านจึง ล้างอิริยาบถ ที่ไม่สงบเสงี่ยม เหล่านั้น ออกจากตน ยังไม่หมดได้ง่ายๆ ทั้งๆ ที่ท่านศรัทธา และ เห็นดี เห็นชอบ ในความสงบเสงี่ยม อันท่านได้สัมผัส ได้พบจาก อิริยาบถของท่าน "พระอัสสชิ" ผู้เป็น ปรมาจารย์ ของท่าน ด้วยซ้ำไป

แต่ท่านพระสารีบุตร ก็ยังมีอิริยาบถ กระโดกกระเดก ไม่สงบเสงี่ยมอยู่ ยังไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องได้

หรือแม้ "พระอรหันต์เจ้า" องค์อื่นๆ ใดๆ ก็ย่อมเหมือนกัน กรรมใด ตนยังล้าง ยังชำระไม่สิ้น จากตน กรรมนั้น ก็ยังคงอยู่ ยังจะแสดงออกอยู่

พระอรหันต์ใด มีปกติพูดเสียงดัง ก็คงจะยังพูดดังอยู่

พระอรหันต์ใด ยังติดยกมือยกไม้ ประกอบการพูดเสมอ ก็จะยังทำอยู่ แต่ท่านก็จะต้อง พยายามลด พยายามละ อาการกิริยา อันบกพร่องต่างๆ นี้ ของท่านเอง ทุกองค์ แต่มันก็ต้องใช้เวลา ไม่เช่นนั้น พระพุทธองค์ จะไม่ใช้เวลา สะสมบารมี สำรอกกรรมต่างๆ ทำความบริบูรณ์พร้อม ให้แก่พระองค์เอง อยู่นาน ไม่รู้กี่แสน อสงไขยกัปหรอก

ดังนั้น จึงต้องเข้าใจให้พอ ว่า "พระอรหันต์" นั้น มิใช่ผู้ "พร้อมมูล" แล้วด้วย ประการทั้งปวง ไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ บริบูรณ์พร้อม ด้วยประการทั้งปวง ทั้งกาย-วาจา-ใจ ดั่งเช่น "พระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า" ทีเดียวหรอก

ผู้ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์พร้อม ไม่มีข้อตำหนิได้เลยนั้น ก็มีแต่ "พระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า" เท่านั้นจริงๆ

จงเข้าใจให้พอว่า "พระอรหันต์" คือ ผู้ทำ "นิพพาน" ให้ตนเอง ตามที่ตนต้องการได้เท่านั้น ไม่ได้หมายถึง ความพร้อมมูล อะไรอื่น จนเกินเหตุ เกินการ

อย่าเอาความพร้อมมูล บริสุทธิ์ผุดผ่องของ "พระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า" มาเทียบ มาวัดกับ "พระอรหันต บุคคลธรรมดา" เป็นอันขาด


 

พระอรหันต์มิใช่ผู้ "พ้นทุกข์" สิ้นเชิง
และคำว่า "พระอรหันต์" ก็ไม่ใช่ผู้ที่ "นิพพาน" ไม่มี "ทุกขเวทนา" หรือ ไม่มีความรู้สึกทุกข์ อยู่ตลอดเวลา ทุกลมหายใจ เข้าออกด้วย

"ทุกข์" อันนี้ ไม่ใช่ทุกข์โลกียะ แต่เป็นทุกข์ของโลกุตตระ คือ ทุกข์ที่รู้เหตุ รู้ปัจจัย และรู้สังขารใดๆ จนเกินเหตุ จนต้องทำ "นิพพาน" ให้ตนเอง

ท่านก็พิจารณาเอา ถ้า "ทุกข์" นั้น ไม่ควรทน ท่านก็ทำ "นิพพาน" ให้ตน แล้วหลีกพ้นจาก "ทุกข์" นั้นไป

ถ้า "ทุกข์"นั้น ไม่หนักหนาอะไรเกินไป หรือ "ทุกข์" นั้น เป็น "ทุกข์" ที่ควรยอมทน เพื่อ "ผล" ที่ดี เพื่อสิ่งที่ควร สิ่งที่สูง ท่านก็ไม่ทำ "นิพพาน" หนีจาก "ทุกข์" นั้น

"พระอรหันต์" ท่านนั้น ก็จะไม่ทำ "นิพพาน" ให้ตนเอง เพราะท่านรู้ว่า ขณะนั้น ท่านทำอะไรอยู่ ควรหรือ ไม่ควร และ "ทุกข์" ที่กำลัง ดำเนินอยู่นั้น ท่านควรรับไหม? ควรทนไหม?

เรื่องมันก็เท่านั้น ลักษณะดังนี้แล ที่เรียกว่า "สอุปาทิเสสนิพพาน" หรือ "นิพพานดิบ"

ผู้ได้ชื่อว่า "พระอรหันต์" คือ ผู้มีสติครองตน เป็นผู้พ้นอวิชชาแล้ว

ดังนั้น ความรู้แห่งภูมิของ "พระอรหันต์" ขั้นนั้นๆ นั่นแล จะเป็นสิ่งตัดสินให้แก่ "พระอรหันต์" นั้นๆ


 

พระอรหันต์ก็มี "อารมณ์"
ดังได้อธิบายมาแล้ว ว่า "นิพพาน-นิโรธ" คือ ภาวะไม่รับรู้ "รส" ของ "ทุกข์" ที่เกิดนั้นๆ

ขณะใดที่ "พระอรหันต์" ท่านใดทำ "นิพพาน" ให้ตนอยู่ ในเรื่องใด ท่านก็คือ ท่อนไม้ หรือคือ ก้อนหิน สำหรับ เรื่องนั้น ท่านก็เฉยๆ นิ่งๆ ไม่มีผลอะไร กับเรื่องนั้นๆ ก็เท่านั้นเอง

แต่ขณะใด ท่านไม่ทำ "นิพพาน" ให้ตนเอง ท่านก็เป็น "คน" เหมือนเราๆนี่เอง มีความรู้สึก (เพราะท่าน ยังไม่ตาย) ก็ย่อม คือ คนผู้รับรู้ "อารมณ์" เหมือนคนธรรมดา เป็นแต่ว่า ท่านผู้นั้นมี "สติครองตน" ควบคุม "อารมณ์" ไว้ได้ ตามต้องการ มี "อำนาจ" จะให้อารมณ์ ปรุงแต่ง มากน้อยเท่าใด ก็ได้ จะปล่อยให้ "อารมณ์" มีเหมือน ปุถุชนธรรมดา ท่านก็ทำได้

แต่ ท่านก็ย่อมจะรู้ดี ว่า ควรปล่อยหรือไม่ ?

ถ้าสิ่งใดเป็น "อกุศล" จนเกินเหตุ ท่านก็ย่อมไม่ปล่อยให้ "อารมณ์อกุศล" นั้น "เกิด" อย่างแน่ๆ

จงเข้าใจให้ดีให้พอ ไม่ใช่ "พระอรหันต์" คือ ความตายด้าน ไม่มีอารมณ์แล้ว ไม่มีความรู้สึกแล้ว ไม่ใช่เช่นนั้นเลย

จงอย่าเข้าใจผิด


 

วาสนา-บารมี-กรรม
"คน" นั้น "ก่อกรรม" อันมี กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม มานานนับชาติ และจะได้สร้าง "ความเคยชิน" ในกรรมใดๆ ไว้มากน้อยอย่างไร ก็ล้วนแล้วแต่ "วิถีกรรม" ของผู้นั้นๆ เช่น พระสารีบุตร เป็นต้น ท่านเคยเกิด เป็นลิงมาถึง ๕๐๐ ชาติ ความเคยชิน อันสั่งสมมาเป็น "บารมีกรรม" ที่มีอิริยาบถ ไม่หยุดนิ่งอยู่ได้ กระโดก กระเดก ก็ย่อมติดเป็นนิสัย สันดานของท่านมา

สิ่งที่ติดมากับตัวมากๆ นั่นแหละ เราเรียกว่า "บารมีกรรม" หรือ "วาสนาบารมี" มันต้องค่อยๆล้าง ค่อยๆลด ออกจากตัว ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่า เราจะทำได้ ในทันทีก็หาไม่

ดังนั้น แม้ท่านจะมี "ปัญญาบารมี" จนถึงเป็น "พระอรหันต์" ขั้น "อัครสาวก" ก็ดี ความกระโดกกระเดก มันก็ยังมีอยู่ ในตัวท่าน ยังไม่สิ้นไปได้

หรือ เช่น "พระกุณฑธานะ" ผู้ซึ่งเป็น "พระอรหันต์เจ้า" พระองค์หนึ่ง เช่นกัน ท่านมี "บารมีกรรม" หรือ "วาสนาบารมี" ในข้อที่ติด ในการไม่ยอมแพ้ใครง่ายๆ และ ปากร้าย คือ มีนิสัยชอบเอาชนะ ชอบถกเถียง นั่นเอง ไม่ว่าใคร จะพูดล่วงเกินมา-ไม่ได้ เป็นโต้ตอบ ให้ถึงอกถึงใจ กลับไปเสมอ

และยังมีข้อเสียอื่นๆ อีกในตัวท่าน ที่ติดเป็น "บารมีกรรม" หรือ "ความเคยชิน" มาแต่ชาติเก่าก่อน ที่ยังละ ไม่ขาด ล้างยังไม่หมด

เหตุการณ์ที่แสดงว่า แม้จะบรรลุเป็น พระอรหันต์แล้ว แต่ก็ยังละขาดอุปนิสัย อันติดตัวมา ที่ยังละขาด ไม่ได้ ของท่าน ที่น่าเล่าก็คือ...

ครั้งหนึ่ง "พระพุทธเจ้า" ทรงใช้ "พระอานนท์" ให้ไปคัดเลือก "พระอรหันต์" เพื่อจะให้ร่วมไปฉันอาหาร ที่ทรงรับนิมนต์ไว้

จึงสั่ง "พระอานนท์" ว่า ให้คัดเลือกเอาเฉพาะ พระที่เป็น "อรหันต์" แล้วเท่านั้น โดยวิธีให้ใบสลากเอาไว้

"พระอานนท์" ไปถึงพบ "พระกุณฑธานะ" ท่านก็บอกพระอานนท์ ให้นำสลากไปให้ท่าน

พระอานนท์เอง ไม่ยอมเอาสลากไปให้ท่าน เพราะพระอานนท์ไม่รู้ และไม่คิดว่า พระกุณฑธานะ จะเป็น "พระอรหันต์เจ้า" องค์หนึ่ง

(คิดดูเถอะ ขนาดพระอานนท์ ผู้คลุกคลีอยู่กับอริยสงฆ์แท้ๆ ยังไม่อาจจะอ่าน พระอรหันต์ บางองค์ออก วัดคุณธรรม ของพระอรหันต์ บางองค์ ยังไม่ได้)

ท่านพระกุณฑธานะ ก็ไม่ยอม ยืนยันเสียงแข็ง ให้พระอานนท์ นำสลาก ไปให้ท่านจนได้

พระอานนท์ จึงต้องยอมถวายสลาก ให้ท่านรับไว้ เป็นองค์แรก

"พระกุณฑธานะ" จึงได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ ให้เป็น "เอตทัคคะ" ในเรื่องเป็นผู้จับสลาก เป็นองค์แรก ด้วยเหตุ จากนิสัย ไม่ยอมลดรา วาศอก อันติดมา ในสันดาน นั่นเอง

เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจว่า "พระอรหันต์" คือ ผู้ที่มี กาย-วาจา-ใจ สำรวม เรียบร้อย พร้อมบริบูรณ์ ทุกส่วนนั้น ยังไม่ได้ จะเอา "ตา" ธรรมดาๆ ของ "คน" ไปวัด "อรหันตบุคคล" จึงยากยิ่ง

ขนาดพระอานนท์แท้ๆ ยังวัดไม่ได้ จึงอย่าเพิ่งเข้าใจผิด เป็นอันขาด

ด้วยประการต่างๆ ที่แยกแยะอธิบายมานี้ ที่ทำให้ "คน" พบ "อรหันต์" ได้โดยยาก


 

ท่านรู้จัก "พระอรหันต์" ไหม ?
จึงขอทำความเข้าใจไว้ด้วยว่า อย่าเข้าใจคำว่า "อรหันต์" ให้ผิดเพี้ยนไปจาก ความจริง ความแท้ของการเป็น "อรหันต์" เป็นอันขาด

ไม่เช่นนั้น เมื่อท่านพบ "อรหันตบุคคล" จริงๆ ท่านจะไม่มีโอกาส รู้ได้เลยว่า ท่านพบ "พระอรหันต์" และ อาจจะ "ทำบาป ทำกรรม" อันไม่ควร โดยไม่เจตนา เพราะความรู้เท่า ไม่ถึงการ ก็เป็นได้

จึงควรจะทำความเข้าใจ กับคำว่า "อรหันต์" ให้ดีให้พอ

ด้วยคนส่วนมาก ในขณะนี้ ปัจจุบันนี้ ยังไม่เข้าใจคำว่า "อรหันต์" เลยวาด "พระอรหันต์" ไว้ผิดความแท้ ความจริง เสียทั้งนั้น จึงไม่เชื่อว่า "อรหันต์" จะมีอยู่ในโลกนี้

ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า "อรหันต์" ยังมีอยู่ในโลกขณะนี้ ยังไม่สูญสิ้น ไปเสียทีเดียวหรอก อายุของศาสนา เพิ่งจะ กึ่งพุทธกาล ยังจะมี "อรหันต์" อยู่ ยังไม่แล้ง "อรหันต์"

เพราะ "พระธรรม" ของพระพุทธองค์ ยังพอมีเชื้อที่แท้จริง อยู่มาก (แต่ก็เจือจางไปเต็มทีแล้ว เพี้ยนๆ ผิดๆ ไปกว่า ครึ่งแล้ว จึงน่าจะได้ "คิด" กันบ้าง)

โดยเฉพาะ เมืองไทยเรานี่แหละ ยังมี "อรหันต์" มากกว่าเมืองใด ...

ถ้าเข้าใจ ว่า "อรหันต์" คืออะไร? ท่านก็จะไม่งง ไม่สงสัย และจะเชื่อ จะเห็นได้ ตามที่ข้าพเจ้ายืนยัน นั่นทีเดียว...

๒๕ เม.ย.๒๕๑๓


(รวมบทความเก่า)