ประกายธรรม ๙ "ทำไมผู้ปฏิบัติธรรมจึงไม่บรรลุ ข้าพเจ้าเองก็ไม่ทราบ เหมือนกันว่า ในจำนวนคนทั้งหลาย ทั่วสากลโลกนี้ จะมีใครพึงพอใจ หรือปรารถนา ในความเป็น "พระอริยเจ้า" กันจริงจังแน่แท้ สักแค่ไหน? เพราะเท่าที่เห็น เท่าที่ได้รับรู้แจ้ง ในวงแห่งพุทธศาสนา เมืองไทยนี้ ก็นับได้ว่า เป็นแว่นแคว้น ที่เรียกได้ อย่างเต็มปากว่า "เมืองแห่งพุทธ" และก็พุทธศาสนาเท่านั้น จึงจะมี "พระอริยเจ้า" ขั้นที่ ๑ (โสดาบัน)
ขั้นที่ ๒ (สกทาคามี) ขั้นที่๓ (อนาคามี) และขั้นที่ ๔ (อรหันต์) อันพระพุทธองค์
ได้ทรงยืนยัน ไว้อย่างแน่ชัดว่าสมณะ ๔ เหล่าดังนี้ จะไม่มี ในศาสนาใด เป็นแน่แท้
(เพราะศาสนา อื่นใด ไม่รู้ความละเอียดแห่งจิต จนจะสามารถแบ่งระดับ ความต่ำสูง
ของจิตอริยะได้ แต่ถ้าใครมีภูมิธรรม ก็สามารถอ่าน และจัดระดับต่ำสูง ให้กับพระ
ในศาสนาอื่น หรือ แม้กับคนทุกคนได้) ผู้บำเพ็ญเพียร ผู้พร้อมใจน้อมใจพลี และได้ประกาศทำสัญญา แก่เพื่อนพุทธศาสนิกชนทั้ง หลายว่า ตนจะได้ ตั้งใจ เดินทางไปสู่ความเป็น "พระอริยเจ้า" โดยพิธีอุปสมบทกัน อย่างครื้นเครงบ้าง และ ไม่ครื้นเครง แต่เป็นไปโดยแท้โดยจริงบ้าง ก็มีจำนวนมากมาย ก่ายกองอยู่ แม้ในจำนวนเหล่านั้น ก็ช่างหาพระอริยเจ้า ได้ยากเย็นเสียนี่กระไร ดูช่างไม่สมดุลกับ ความเป็น "พุทธ" ความมีตำแหน่ง "เมืองแห่งพุทธ" เลยจริงๆ ยิ่งในกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ฯ หรือในเขตแคว้น ใกล้เคียงแผ่นดิน อันเรียกว่า
เมืองหลวงนี่แล้ว อันมีพระสงฆ์ หรือผู้ประกาศ แก่พุทธศาสนิกชนว่า ตนจะทำตนเป็นผู้เดินทาง
ไปสู่ความเป็น พระอริยเจ้า ให้ได้ ให้มีจำนวนมากมาย กว่าจังหวัดใดๆ ยิ่งหาดูได้
ยากยิ่งเสียกว่า งมเข็มในมหาสมุทร แท้ที่จริง เพียงขั้นที่
๑ (โสดาบัน) ตามที่พระพุทธองค์ ท่านกำหนดชี้ เป็นขั้นต่ำสุด ของ "พระอริยเจ้า"
บรรดา ท่านพระอาจารย์ และท่านผู้มียศ มีใบรับรองเหล่านั้น ก็หาได้ก้าวเข้าไปใกล้ไม่
ยังคงคือ "ปุถุชน" ในร่างของ "อาจารย์" ในร่างของผู้มียศ
ในร่างของ ผู้มีใบรับรอง คุณวุฒิทางธรรมะ อยู่ทั้งนั้น ยังเป็น ผู้ไม่เที่ยงแท้
ต่อพระนิพพาน อันแท้จริง ยังเป็นผู้ที่มีหวัง ตกนรกอบายภูมิ อยู่ทั้งสิ้น
เพราะท่านที่อยู่ไกลๆเหล่านั้น ท่านขยัน "ทำ" แต่ไม่ค่อยได้ "เรียน" ส่วนพระอาจารย์ทั้งหลายนั้น ท่านขยัน "เรียน" และขยัน "สอน" แต่ไม่ขยัน "ทำ" "เรียน" ในที่นี้ก็คือ เรียนพระคัมภีร์ เรียนพระวินัย และเรียนพระอภิธรรม เรียนพระสูตร พร้อมกับเรียน สังคมศึกษา แห่งวงการศาสนา ตั้งหน้าตั้งตาเรียน จนครูบาอาจารย์ผู้สอน ให้ใบรับรองว่า ท่านเหล่านี้ได้ "เรียน" จริง และตั้งหน้าตั้งตา "เรียน" เขยิบจากหนังสือ และตำราเล่มเล็กๆ กำหนดจดจำ (ฝังสัญญา หรือ สร้างสัญญา ให้ยึดนั้นหนาแน่น) แตกฉานไปได้ จนตำราเล่มใหญ่ๆ ใครถามวรรคไหน บทไหน ยกออกมาพูด ออกมาอธิบายได้ ทุกวรรคทุกตอนละเอียด ถี่ถ้วน คล่องปาก คล่องคอ จนเป็นที่ โดดเด่น เป็นสง่า ได้ยศมาให้ตนกันมากมาย (นั่นเรียกว่า เก่งทางทฤษฏี เก่งปริยัติ คล่องด้วยเหตุผล ทางภาษา) เมื่อได้ยศถา ได้ตำแหน่ง ก็ก้าวเข้าไปสู่สังคม แห่งวงการศาสนา กันละทีนี้ ก็ประหนึ่งว่า ได้รับบรรจุ เข้าเป็น "ข้าราชการแห่งวงการศาสนา" ไม่ใช่ประชาชน ราษฎรธรรมดากันแล้ว หรือไม่ใช่ "พระสามัญ" แล้ว (แต่ไม่ใช่พระอริยเจ้า)
นี่หรือคือกิจของสมณะ? เวลาจึงมีให้สำหรับ "งาน" ในด้านนี้แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาเดินทางกันไปใน "ทาง" นี้กันหมด ทางด้านดังกล่าวนี้คือ "ทางแห่งเขาวงกต" ใครเคยเดินเข้าไปกันบ้างเอ่ย? รู้ตัวได้ไหม? รู้ตัวไหมว่าไม่ใช่ทางอันคือ "สัมมาอริยมรรค" หรือ "ทางไปสู่ความพ้นทุกข์ที่ถูกที่แท้ของผู้ฉลาดจริง"
ตำราชีวิต มีแต่ "อ่าน" และการ "อ่าน" ก็ไม่ต้องไปลงทุนซื้อหาหนังสือ หรือ ตำราจากที่ใดมาอ่านด้วย ตำราเล่มใหญ่ที่สุดที่จะต้องอ่านให้มากที่สุดก็คือ ตำราที่มีพร้อมแล้วในตัวเอง อันคือ "ชีวิตจิตใจ และ ร่างกาย" ของตนเองนั่นเอง ตำราอื่นใดจากที่ไหน ก็ไม่ใช่ตำราแท้ที่จะใช้ได้จริงจังเลย
เพราะว่า แม้ใครจะไปเรียนรู้ภาษา จากตำรา เล่มใดมา ไปเรียนรู้จาก ได้รับฟังคำสอน
มาจากผู้ใด ก็ตาม ก็จะต้องนำเอาภาษา ที่ได้เรียนรู้มานั้น มาเปิดอ่าน เปิดใช้
ประกอบไปในการ "อ่าน" ชีวิตจิตใจ และ ร่างกายของตน นี่เอง
รู้มาก ยากนาน ลองนึกลองคิดบ้างเถิด ท่านพุทธศาสนิกชน ทั้งหลายเอ๋ย อย่าเพิ่งเอาสิ่งที่มี ที่เป็นในชนหมู่มาก มาเป็น เครื่องวัดว่า นั่นถูก นั่นดี นั่นเป็นไปอย่างชอบแล้ว เพราะความถูกต้องแท้จริง อันเรียกว่า ปรมัตถสัจจะ ของพุทธศาสนา นั้น สูงส่งละเอียดลออนัก เป็นความจริงแท้ ที่มีอยู่ในคนหมู่น้อย เป็นความถูกต้องจริงแท้ ที่มีประสิทธิภาพสูงส่ง มีน้ำหนักมากยิ่ง จึงแม้จะมี จำนวนน้อย ก็สามารถเป็น สมดุลยภาค ฝ่ายข้างหนึ่งที่จะถ่วง สมดุลยภาค ฝ่ายข้างของคน หมู่มาก ที่เขาเป็นอยู่ไว้ได้ ดังนั้น การที่เข้าใจกันว่า คนหมู่มากเขาเป็นอยู่นั้น ถูกต้องแล้ว จึงไม่ใช่สิ่งตัดสิน ที่เที่ยงแท้ถูกแน่ จริงจังหรอก สำหรับพุทธศาสนา เพราะอะไร? เพราะว่า ความถูก กับ ความผิด นั้น มันอยู่กันคนละข้าง เป็นตรงกันข้าม หรือความดี กับ ความชั่ว มันก็คือ จุดที่อยู่ตรงกันข้ามกัน เป็นเส้นตรง อันเดียวกัน อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น ถ้าคน หมู่มากถูก คนหมู่น้อยก็ผิด ถ้าคนหมู่มากผิด คนหมู่น้อยก็ถูก มันจะถูกหรือผิด ไปทางเดียวกัน ไม่ได้ เป็นอันขาด ตามหลักแห่ง ปรมัตถสัจจะ
ทานบารมี และแม้ที่สุดก็จะเหลือเพียง ธรรมประทีป หรือธรรมปัญญา อันคือ ความรู้จริงในทางธรรม ซึ่งเป็นสมบัติ ที่พระอริยเจ้า จะมีมากที่สุด ในตน เป็นเบื้องสุดท้าย ก็จะต้องบริจาค และแจกจ่าย "ธรรมประทีป" นั้นออกไป เป็นทานเสียด้วย ต้องไม่เก็บงำไว้ แต่ในตนนั่นแล จึงจะเป็น ปรมัตถสัจจะ เป็นความจริงแท้ ที่เที่ยงตรง สุดยอด
ทำไมจึงไม่บรรลุธรรม? ก็เพราะว่า เห็นไม่ถูกทาง นั้นหนึ่งและ ไม่ได้ปรารถนาจะเป็นพระอริยเจ้าจริงจัง นั้นอีกหนึ่ง จะขอยกเอากรณีหลังคือ "ไม่ได้ปรารถนาจะเป็น พระอริยเจ้าจริงจัง" นั้นขึ้นมาคุยกันเสียก่อน ข้าพเจ้า แน่ใจว่า คนไม่ปรารถนา จะเป็นพระอริยเจ้า จริงจังนี่แหละ จะเป็นกรณีที่ยิ่งใหญ่ หรือมีจำนวนมากกว่า อีกกรณีหนึ่ง ที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงนั้น เพราะว่า การเป็นพระอริยเจ้านั้น โดยแท้จริง ในฐานะที่เป็น พุทธศาสนิกชน ก็เป็นของแน่นอนว่า ตำแหน่ง "พระอริยเจ้า" นั้น ย่อมเป็นตำแหน่ง ที่สูงส่ง เป็นที่เคารพ บูชาเทิดทูน สำหรับทุกคน และถ้าใครได้อยู่ ในตำแหน่งนั้น ผู้นั้นก็ย่อมจะ ปีติและสุข (อย่างแท้) เป็นแน่นอน จึงยังมีผู้ใฝ่ ผู้อยากได้ตำแหน่งนี้ อยู่อย่างยิ่ง ก็มีผู้พยายามจะได้ชื่อว่าเป็น พระอริยเจ้า อยู่ดังนี้ แต่ทว่า ก็เพียงใฝ่ เพียงอยากได้ อยากเป็น โดยใจจริง ไม่ได้ตั้งใจจะปฏิบัติตน จะหาทาง จะเดินทางไปสู่ ความเป็น พระอริยเจ้า อย่างจริงจัง กันเอา เสียเลย แท้จริงนั้น ต้องการเพียง "นาม" เพียง "ชื่อ" ของคำว่า "พระอริยเจ้า" เท่านั้นมาให้ตน
หลงเสพสุขทุกรูปแบบ แม้จะยังมีชีวิตปะปนอยู่กับคน เห็นรูปสวย สัมผัสรสอร่อย สัมผัสเสียงไพเราะ สัมผัสกลิ่นหอม สัมผัส เสียดสีกับ ความนุ่มเนียน ซาบซ่าน อย่างไรก็ตาม ก็จะต้องไม่รับเอา ไม่เสพ ไม่ต้องการ ไม่วุ่นวาย เฉยชา กับสิ่งเหล่านั้น ให้ได้
ใจไม่เด็ด ตัดไม่ขาด แต่ถ้าผู้ใดปรารถนาจะเป็น พระอริยเจ้าจริงจัง ถ้ารู้ได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ดังนี้ ก็จะ "ทำ" จริงๆ จนเลิกขาด ไม่เวียนกลับ ไปหลงสุข กับสิ่งต่ำนั้น เรื่องต่ำนั้นๆ ได้ เลิกเวียนเรียกว่า ดับโลกนั้น หรือเหนือโลกนั้นๆ และ จะได้เป็น พระอริยเจ้า จริงๆ ด้วย
กามคุณสุดรัก ยากจะหักใจ ด้วยกรณีสำคัญดังนี้เอง จึงไม่ต้องกล่าวให้ยืด ให้ยาวความไปหรอกว่า ท่านเหล่านั้น จะเป็น พระอริยเจ้า ไม่ได้ ด้วยอะไรอื่นอีก เพราะแม้จะรู้ทาง หรือแม้จะเข้าใจ หลักปฏิบัติอยู่ ท่านเหล่านั้น ก็จะไม่กล้าเดิน ไม่กล้าปฏิบัติ อยู่นั่นเอง จึงไม่มีทางจะได้เป็น พระอริยเจ้า ตราบโลกแตก ถ้าใครตั้งใจจะทิ้ง จะละ และเพ่งบำเพ็ญเพียรจริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่า ถือศีล รักษาวินัย เคร่งอยู่เฉยๆ ละก็ ผู้นั้น ก้าวไปได้แน่ๆ ขอรับรอง เห็นไม่ทุกทาง ธรรมะนี้ละเอียดลออ จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย แต่ถ้าไม่เห็น หรือยังไม่แจ้ง มันก็ยังเป็น ผู้อยู่ใน ความยาก อยู่นั่นเอง และ โดยแท้จริงแล้ว ถ้าจะเรียกให้ถูก ให้ตรง ก็ควรเรียกว่า "ยาก" เพราะในจำนวนคน ส่วนมากแล้ว ทำกันไม่ค่อยได้ และเห็น ไม่ค่อยได้ เสียด้วย เห็นไม่ได้อย่างไร? เห็นไม่ได้ก็คือ เขาเข้าใจเป็นทางตรงกันข้าม อยู่เสมอนั่นเอง เช่น ข้าพเจ้า จะบอกว่า อย่าไปดู หนังละครเลย มันสนุก เพลิดเพลิน มันเป็นความชั่ว เป็นความผิด คนผู้มองไม่เห็น ก็จะมอง ไม่เห็นจริงๆ ก็ความสนุกเพลิดเพลิน มันเป็นความชั่ว ความผิดได้ยังไง? คนทั้งโลก เขาหาความสนุก เพลิดเพลิน กันอยู่ทั้งสิ้น แล้วเขาก็จะย้อนถาม ออกมาทันทีว่า มีใครบ้างไหม ไม่หาความสนุกเพลิดเพลิน? ก็จะตอบ ได้ทันที เช่นกันว่า คนที่จะเดินไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า นั่นแหละ ไม่หาความสนุกเพลิดเพลิน โดยพยายาม ตัดความสนุกเพลิดเพลิน ออกไปให้สิ้นจากจิตใจให้ได้ หรือ ถ้าข้าพเจ้าจะบอกว่า อย่ามัวเมา หลงเสาะแสวงหา แต่ความสุขสมใจ มาเสพอยู่เลย มันเป็นความชั่ว เป็นความผิด คนผู้มองไม่เห็น ก็จะมอง ไม่เห็นจริงๆ ก็ใครไม่หวัง ความสุข แม้ "พระอริยเจ้าก็หวังความสุขไม่ใช่หรือ?" นั่นแหละคือ ความเข้าใจ ยังไม่ได้ ความเห็นยังไม่ได้ พระอริยเจ้าท่านหวังความสุข ก็ไม่ใช่ความสุขเช่นคนธรรมดาหวัง ความสุขของพระอริยเจ้า ก็คือ ความพ้นทุกข์แท้ (โดยแท้จริงนั้นคำว่า "สุข" มันไม่มี มันมีแต่อาการบำบัด แล้วเรียกสิ่งนั้นว่าสุข ถ้าไม่มี "ทุกข์" มาก่อน ก็จะไม่มีคำว่า "สุข" เลยเป็นอันขาด) หรือเป็นความทุกข์ โดยตรง ตามสายตาของคน นั่นเอง ส่วนความสุข ของคนธรรมดานั้นคือ ความสมใจ ในทุกสิ่งที่ตนปรารถนา เรียกว่า ความสุข พระอริยเจ้า ก่อนจะเป็น พระอริยเจ้า (คือปุถุชน) ก็คือ "คน" ผู้ปรารถนาความสมใจ เช่นคนธรรมดา คือ ปรารถนากินดี อยู่ดี มียศ มีเกียรติ มีสรรเสริญ เมื่อสมใจ ในสิ่งเหล่านั้น ก็เรียกว่า "สุข" แต่ผู้จะเป็นพระอริยเจ้า จะต้องไม่กินดี อยู่ดี ต้องไม่พยายามหาทางก่อยศ และไม่ยินดี ในสรรเสริญ ต้องไม่สร้าง สิ่งเหล่านี้ ขึ้นในใจ ต้องพยายามหลีกเว้น เช่น อยากกินดี อยากกินอาหารแพงๆ อาหารอร่อยๆ ก็ต้องพยายาม ละเว้นให้ได้ ถ้าละเว้นได้ ไม่มีอารมณ์นั้น ในใจได้จริง (จิต "สงบ" ไม่ดิ้นไม่อยาก) ก็เป็น "สุข" แต่คนธรรมดา ถ้าให้ละเว้นอย่างนั้น ก็โอดครวญเป็นทุกข์ กัดกรุ่นอยู่ในใจทันที (เพราะจิต มันจะเต้นผางๆ มันจะดิ้นมันจะทุรนทุราย มัน "สงบ"ไม่ได้นั่นเอง "สุข" ของคนกับ "สุข" ของพระอริยเจ้า มันจึงไม่เหมือนกัน มันก็ตรงกันข้าม กันอยู่ดังนี้ สุขของพระอริยเจ้านั้น มี "สงบ" สุขของปุถุชนนั้น มีรส มีรูป มีกลิ่น มีเสียง มีสัมผัส ตามที่ตนหลง ในแบบ ในขนาดนั้นๆ ฯลฯ หรือ ตามที่ตนชอบ ตนยึด ถ้ามีใครมายกย่องสรรเสริญ คนธรรมดาก็ดีใจปลื้มใจสุขใจ แต่ถ้าไม่มีใครมา ยกย่องสรรเสริญ ก็พยายาม หาทาง ให้คนยกย่อง สรรเสริญ อยู่ทุกทาง แต่ผู้จะเป็น พระอริยเจ้านั้น กลับตรงกันข้าม ถ้าใครมายกย่อง สรรเสริญ ก็จะต้องพยายามไม่สุข ไม่ยินดี ให้ได้อย่างจริงๆ และต้องไม่คิดอ่านหาทาง ให้คนมายกย่อง สรรเสริญตน (ส่วนที่เป็นความดี ที่ท่านทำ โดยบริสุทธิ์ใจแล้ว มีคนมาสรรเสริญเอง ก็เป็นธรรม)
โลกกับธรรม อยู่คนละฟากฝั่ง "คนชั่ว"เท่านั้นที่ทิ้งลูกทิ้งเมียได้ง่ายๆ เพราะเขาไม่รักลูกรักเมีย และคนผู้นี้ (คนชั่วนี้) เขาก็จะไม่ไป บำเพ็ญธรรม เพื่อทำใจให้บริสุทธิ์ ผ่องใส ใฝ่สงบ เป็นอันขาด "คนดี" ที่รักลูกรักเมียอย่างมากเท่านั้น ที่จะทิ้งลูกทิ้งเมีย ได้ยากยิ่ง และคนผู้นี้เองที่ เมื่อตัดใจหนีไป เขาก็จะต้อง เห็นแล้วว่า การหนีไป หรือทิ้ง "ความรักความห่วงใย" นี้ไป ก็จะต้องทิ้งไปสู่ "ความดี" ที่ดีกว่า "ความสูง" ที่สูงกว่าความรัก ความห่วงใย อันมีต่อลูกต่อเมีย เป็นแน่แท้ เขาจึงจะตัดใจทิ้งไปได้ ถ้าเขาไม่เห็นแท้ เห็นจริงว่ามีสิ่งที่เหนือกว่า "ความรักความห่วงใย" ในลูกในเมีย เขาจะไม่ยอม "ตัดใจ" ความรักความห่วงใย ไปสู่สิ่งนั้น เป็นอันขาด เพราะการทิ้ง การตัดใจของเขา มันเป็นการทารุณ หัวใจ ของเขา ยิ่งเขารักมากเท่าใด ห่วงมากเท่าใด นั่นแหละ เขายิ่งจะทารุณ และเจ็บปวดหัวใจ ของเขาอย่างยิ่ง เท่านั้น ถ้าเขาไม่เห็นว่า สิ่งที่เขาอุตส่าห์พยายาม กรีดใจตัวเอง ตัดใจตัวเองนั้น เป็นสิ่ง "ดีกว่า สูงกว่า" เขาจะกรีด ใจตัวเอง ตัดใจตัวเองทำไม เขาก็อยู่กับลูกกับเมีย ไม่ดีกว่าหรือ? คนทั่วไป (ผู้ไม่รู้ความจริงนี้) ก็จะไม่ กล่าวร้าย หาว่าเขาทิ้งลูกทิ้งเมียไปด้วย และเขาก็จะไม่เจ็บปวด หัวใจตัวเอง เพราะตัดใจ ละทิ้งลูกเมีย ทั้งๆที่รัก และเป็นห่วงด้วย เนื่องจากเขารู้ความพอดีแล้วจริง เขาแจ้งในคำว่า "กรรม" แล้วจริง เขาแทงทะลุ คำว่า "ชีวิต" ได้แล้วแท้ๆ ด้วยความเข้าใจไม่พอ รู้ไม่พอดังนี้ของคน จึงทำให้คนประณาม กล่าวหา พระพุทธองค์ว่า เป็นคนใจดำ อำมหิต ที่ตัดลูกตัดเมีย ทิ้งลูกทิ้งเมียไปบวช แต่กระนั้นก็ตาม ผู้มีความรู้สึก ดังนี้ ก็ยังถือว่าดี แสดงว่า เป็นคนดี มีความรับผิดชอบชั่วดี จึงได้รู้สึก และ เห็นดังนี้ได้ ดังนั้น ถ้าจะให้ คนผู้นี้ ตัดลูกตัดเมีย ไปบ้าง ก็จะลำบากยากยิ่ง การกระทำที่ลำบาก ยากยิ่งเช่นนี้ นี่แหละ เป็นไปอย่างถูก เป็นไปอย่างแท้ เพราะเป็นการกระทำ ที่ตรงกันข้าม กับปุถุชนธรรมดา ที่ใจชั่ว ไม่มีรักห่วง และหรือ ถ้าไม่มีรักห่วงจริงๆ ก็จะมีปัญญาแท้ ที่รู้เห็นเข้าใจ ในหน้าที่อันควรทำ จนพอดีอย่างแท้จริง เพราะดังได้กล่าวแล้วว่า "ความถูกกับความผิด" หรือ "ความดีกับความชั่ว" นั้นมันคือ จุดปลายของ เส้นตรง เส้นเดียวกัน มันจะอยู่ ตรงกันข้ามกันเสมอ ถ้าคนผู้ใด ไม่ได้มีความรักลูกรักเมียเลย ไม่รับผิดชอบ ลูกเมียตนเองเลย คนผู้นั้นก็คือ "คนชั่วคนบาป" แม้เขาจะตัดลูก ตัดเมีย ของเขาไป เขาก็ไม่ต้องทำ ในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ จิตใจของเขา แต่อย่างใด เขาจะไม่ทุกข์ ทรมานอะไร เขาจะตัดได้ทันที เพราะเขาไม่มีความรัก ความห่วงใย ในลูกในเมียเลย แต่ถ้าให้เขา ยังรับผิดชอบ ให้รับภาระอยู่ นั่นสิคือ ให้เขาทนทุกข์ ซึ่งลักษณะอาการ มันตรงกันข้ามกัน ทีเดียวกับ "คนดี" ผู้รักลูกรักเมีย แต่จะให้ตัด ให้ทิ้งลูก ทิ้งเมียไป นี่แหละ คือความจริง นี่แหละคือ ต้องคิดให้เห็น ต้องคิดให้แจ้ง
ญาติปริวัฏฏังปหายะ ข้าพเจ้าเคยออกตัวกับใครๆ หลายครั้งหลายคราเต็มทีว่า ข้าพเจ้ายังไม่ออกวิเวก หนีไปหาความสงบ ไม่ตัดปล่อยน้องๆ ทันทีนั้น ก็เพราะ เขาเป็นน้อง ข้าพเจ้าเห็นว่า เป็น "กรรมเก่า" อันตามมา ให้ข้าพเจ้า ชดใช้ เพราะเหตุว่า ทำไม? ข้าพเจ้าจะต้องเกิดมา เป็นพี่คนโต และทำไม? พ่อแม่จึงจะต้อง มาตายพราก จากไปหมด ทิ้งน้อง ถึง ๖ คน ไว้ให้ข้าพเจ้า สมบัติใดๆ ก็ไม่ทิ้งไว้ให้ข้าพเจ้า เพื่อใช้จ่ายเลี้ยงดูน้องๆ เสียด้วย ต้องให้ข้าพเจ้า บากบั่น เหน็ดเหนื่อย เพราะอะไรกัน ? มันไม่มีเรื่องอื่นเลย นอกจากจะยกไปให้เป็น "กรรมเก่า" หรือ "หนี้เก่า" ที่ข้าพเจ้าเอง ได้สร้างไว้ จึงต้องมา รับกรรมนี้ และมันก็เป็น "กรรมเก่า" เป็น "หนี้เก่า" จริงๆ
กรรมเก่า-กรรมใหม่ เหตุเพราะ ข้าพเจ้าอยากสร้างความชั่ว ก่อบาป โดยไปรักในรูป ในรส ในกลิ่น ในเสียง ในสัมผัส นั่นเอง ข้าพเจ้า จึงได้ก่อกรรม สร้างลูก ออกมา ด้วยความเลวของตัว ที่ได้ลนลาน เสพรูป-รส-กลิ่น-เสียง -สัมผัส นั่นเอง จึงต้อง เกิดมีลูกขึ้นมา ดังนั้นแม้ ข้าพเจ้า จะรัก และ ห่วงลูกเมีย มากเท่าใด ข้าพเจ้าก็จะต้อง พยายาม หาทางตัดใจ ละขาดให้ได้ไวที่สุด เพราะจะได้ล้างความชั่ว ของตนออกไป ให้ได้เร็วที่สุด และ ก็คิดว่า จะตัดได้เร็วกว่า ตัดน้องๆแน่ การตัดขาดลูกเมียให้ได้ แทนที่จะตัดน้องๆ
ให้ได้ก่อนนี้ คนธรรมดา เห็นได้ด้วยยาก ถ้าจะเปรียบกับ สมบัติวัตถุ ก็เปรียบได้กับ
เราจะสละ เงินแสน กับสละเงินพัน การจะตัดใจ สละเงิน จำนวนแสน ออกไปนั้น มันย่อม
ยากกว่า การจะสละเงินพัน ออกไปอย่างแน่นอน แต่ถ้าไปมัวคิดงมอยู่ว่า ต้องตัดเงินพันก่อน หรือหัดสละ เงินพันเสียก่อน แล้วค่อยขยับขึ้นมา ตัดเงินหมื่น เงินแสน แล้วละก็ อีกหลายชาติ กว่าจะมีใจบริสุทธิ์ มีความแกร่งในจิตมี "จาคบารมี" กล้าถึงขั้น จะสละ เงินแสนได้ บางทีอาจจะไม่ได้เอาเลย ก็ได้ในชาตินี้ จะได้ก็เพียงสละ เงินพันแล้วพันเล่า ไปเปล่าๆ ไม่มี "จาคบารมี" ถึงขั้นสุดยอดได้สักทีนั่นเอง การบริจาคเงินแสนก็เหมือนกับ ตัดขาดลูกเมีย และการบริจาคเงินพัน ก็เหมือนกับตัดขาดน้องๆ ดังนี้ ซึ่งเพื่อนๆ ทั้งหลาย เมื่อได้ฟัง ความเห็นนี้ ก็มีคนเห็นด้วย น้อยเต็มที ต่างเห็นขัดแย้ง กับข้าพเจ้า แทบทุกคน หรือแม้ผู้อ่านอยู่ ขณะนี้ก็เถอะ ข้าพเจ้าก็เชื่อว่า จะต้องเห็นขัดแย้ง กับข้าพเจ้าแน่ๆ คือจะต้องเห็นว่า ตัดลูกตัดเมียสิ ไม่ควรตัด แต่ตัดน้องสิ ควรตัดกว่า โดยความแท้จริงที่เรียกกันว่า ปรมัตถสัจจะแล้ว ความเป็นชีวิตนั้น ทุกชีวิตเท่ากัน โดยแท้ ไม่มีใคร จะมีสิทธิพิเศษ อะไรกว่าใคร แม้คนกับสัตว์ ก็มีชีวิต ที่ควรจะถือเป็น "ชีวิต" เท่าเทียมกัน ดังนั้น ถ้าใครยังเข้าใจ ความเท่าเทียมกัน ของชีวิตดังนี้ไม่ได้ ก็คือ ยังจะเข้าใจ ในข้อความที่ข้าพเจ้า อธิบาย ไปแล้ว ยังไม่ได้ นั่นคือยังเข้าใจ การสละเงินแสน เพื่อสร้างจาคบารมี ให้ได้ ซึ่งจะเป็น จาคบารมี ที่เหนือกว่า การสละเงินพัน ไม่เข้าถึงใจแท้ อยู่นั่นเอง ความจริงแท้ ปรมัตถสัจจะ มันเป็นดังนี้จริงๆ มันตรงกันข้ามกันอยู่ ทุกขณะ ทุกเวลา ดังนั้น ถ้าเราจะทำดี เราก็ต้องยอม ให้อีกฝ่ายหนึ่ง เห็นว่าชั่ว และ คนกำลังทำชั่วอยู่ นั่นแหละ โลกเขาก็เข้าใจว่าดี โลกก็เป็น ดังนี้เอง การกระทำดีหรือชั่ว ที่กล่าวถึงนี้ จะต้องเป็นการกระทำ ที่เป็นจริง เป็นโดยแท้บริสุทธิ์ เกิดจาก ใจจริงด้วย มิใช่แกล้งเสแสร้ง เช่นว่า ไม่ได้รัก หรือห่วงใย ในลูกเมียเลย แต่ทำทีว่า รักห่วงเต็มที่ แล้วก็ หาโอกาส หาทางทิ้งลูกเมียไป ถ้าเป็นเช่นนี้ คนผู้นั้นก็ ไม่ใช่ "ความจริง" ทำโดยกิเลส ตัณหา อุปาทาน ไม่ใช่นักปฏิบัติธรรม ที่แท้จริง ไม่ใช่ "คนดีจริงแท้" จึงไม่อยู่ในข่าย ที่ข้าพเจ้า อธิบายมาทั้งหมดนี้
พระเวสสันดรเห็นแก่ตัวจริงหรือ? มีหลักที่จะยึดถือในการ "ปฏิบัติ" ให้ไปสู่ดีอยู่ว่า กิเลสตัวใดแรง ให้ระงับตัวนั้นให้ได้ ยิ่งระงับตัวแรงร้าย ตัวใด ลงได้ ยิ่งถึงซึ่ง "ความดี" ยิ่ง เท่านั้น นั่นคือ ยิ่งรักแรง รักมาก ยิ่งปรารถนาแรง ปรารถนามากเท่าใด ยิ่งควร ตัดให้ได้ มากเท่านั้น เพราะ "ความรัก" ความปรารถนา เป็นโลภะ เป็นกิเลส ดังนั้น การตัดลูกเมีย ซึ่งแน่นอนต้องยากกว่า เป็นกิเลสตัวที่ร้ายแรงกว่า เพราะเป็น "ความรัก" ที่สูงยิ่งกว่า "ความรัก" ที่มีต่อน้องๆ ด้วยเหตุนี้ ถ้ามีโอกาสเลือก ก็จะต้องเลือกทำ สิ่งที่ยากกว่า "ความดี" จึงจะเป็น ความดี ที่สูงขึ้น การล้างกิเลส จึงจะล้างออกไปได้ มากกว่า ถ้าใครพยายามกระทำให้ได้โดยนัยดังนี้ ทุกกรณีแล้วไซร้ ก็จะเป็นผู้หักโค่นลบล้าง กิเลส ตัณหา อุปาทาน ได้เก่ง และ จะสู่ความเป็น พระอริยเจ้า ได้เร็วยิ่งขึ้น การเห็น จึงต้องพยายามเห็นให้เป็น เห็นให้ถูก เห็นให้แท้ แล้วปฏิบัติให้ถูก ให้แท้ให้ได้ ตามความเห็นที่แท้ ที่ถูกนั้น เรื่องของ "ความเห็น" ให้ถูก ให้แท้ ให้เป็น สำคัญมากทีเดียว ถ้าใครยังเห็นไม่ถูก ไม่ต้อง มันก็ยังตรงกันข้าม อยู่เท่านั้น ดังได้อธิบายมาแล้ว ทำอย่างไรเราจะ "เห็นเป็น" หรือ "เห็นถูก"ได้? เป็นข้อที่น่าจะเล่าสู่กันฟัง พระพุทธองค์สรรเสริญยกย่องธรรมะข้อ "วิปัสสนา" เป็นเอกเป็นเลิศว่า เป็นธรรมที่จะนำพาไปสู่ "วิมุติ" หรือ "พ้นทุกข์" หรือ บรรลุความดี ความถูกต้อง อย่างแท้จริง ได้ ดังนั้น จึงควรจะเข้าใจคำว่า "วิปัสสนา" ให้ดี ให้ได้ ว่าคือ ธรรมะที่มีความหมาย ที่ถูกที่ต้อง หรือที่ตรง อย่างไรกันแน่ มีคนมากกว่ามาก ที่พอกล่าวคำว่า "วิปัสสนา" ขึ้นมาทีใด ก็ให้นึกไปถึง คนนั่งหลับตานิ่ง บางทีก็เลยเถิดไปว่า เป็นคนนั่ง เพื่อให้เห็นเทวดา เห็นผี เห็นพรหม หรือ เห็นเลขท้ายล็อตเตอรี่ หรือเป็นหมอดูอะไร ไปโน่น นั่นไม่ใช่ "วิปัสสนา" เลย นั่นคือการปฏิบัติ "ฌานจิต" คือนั่งหลับตา เจริญฌานสมาธิ และถ้าไปนั่ง หลับตา เจริญฌานสมาธิ เพื่อเห็นเลขท้าย ล็อตเตอรี่ หรือ ดูหมอด้วยละก็ ยิ่งคือการปฏิบัติ ที่นอกลู่นอกทาง ของ พุทธศาสนา ไปเลยทีเดียว คนที่ปฏิบัติ ดังนั้น ไม่ใช่พุทธศาสนิกชน ผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชน อย่าไปมัวเมา คบหาเป็นอันขาด "วิปัสสนา" ไม่ใช่การนั่งหลับตาเท่านั้น และไม่ได้มีความหมายว่า นั่งหลับตาด้วย "วิปัสสนา"นั้น มีความหมายว่า มีสติและพยายาม ผูกสติอยู่กับจิต ให้ได้มากขณะที่สุด พร้อมกับใช้ สตินั้น คิดอ่าน หาเหตุผล หรือให้สตินั้น รู้อะไรๆ ในจิตให้ละเอียด ให้แท้ให้จริง ให้ได้ นั่นคือ ความหมายของ คำว่า "วิปัสสนา" เพราะฉะนั้น การปฏิบัติ "วิปัสสนา" จึงกระทำได้ แม้มีสติสัมปชัญญะ ลืมตาเดินเหิน ทำงานอะไรๆ อยู่อย่าง ธรรมดานี้ และ กระทำได้ แม้ในขณะเจริญฌานจิต หรือ เจริญฌาน สมาธิคือ นั่งหลับตานิ่ง การกระทำ ก็กระทำ โดยนัยเดียวกันคือ ถ้าเป็นขณะที่เรา ลืมตาตื่นๆ อยู่ในแบบ คนธรรมดานี้ เราก็พยายามผูกสติ หรือ มีสติ กำกับจิตใจ ให้ได้มากขณะที่สุด พร้อมกับให้สติ คิดอ่าน หาเหตุผล ในขณะที่เรากำลังคิด เรากำลังพูด และเรากำลัง จะทำอะไรลงไป หรือ เรากำลังประสบ กับเรื่องอะไร เราก็ต้องคิดอ่าน พิจารณา เรื่องนั้นๆ ให้ออก เป็นสองประตู ให้ได้เสมอคือ ประตูไหน เป็นประตูดี ประตูไหน เป็นประตูชั่ว หรือ ประตูไหนถูก ประตูไหนผิด เรื่องใดๆก็ตาม จะเป็นเราพบคนอื่น กำลังกระทำอยู่ หรือเรา กระทำเองอยู่ก็ตาม จะพิจารณา แยกออกได้ เป็นสองแง่ ดังนี้เสมอ ไม่ถูกก็ผิด ไม่ดีก็ชั่ว ไม่สูงก็ต่ำ ไม่หมดก็มีอยู่ ไม่ขี้เหร่ก็สวย ไม่ได้ก็เสีย ฯลฯ คือ จะต้อง เป็นสภาวะ ๒ สภาวะ คู่กันอยู่ดังนี้ ทั้งสิ้น แล้วเราก็เลือก เอาสภาวะใด สภาวะหนึ่ง จึงกระทำ ลงไป ตามสภาวะที่เลือกแล้วนั้น และการเลือกกระทำ ก็จงใช้หลัก "ได้มา หรือ เสียไป" เป็นหลัก ตัดสิน ถ้าการกระทำใดเป็นการ "ได้มา" นั่นคือ การกระทำนั้นเป็น โลภะ เป็นกิเลส เป็นความชั่ว จึงจะต้อง พยายาม เลือกกระทำ ในสิ่งที่เป็นการ "เสียไป" (สละออก, ไม่เอามา) ให้ได้เสมอๆ จึงจะได้ชื่อว่า ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติถูก ปฏิบัติควร เพราะการ "เสียไป" การ "สละออก" การ"ไม่เอามา" คือ"ทาน" คือ "จาคบารมี" อันเป็นการ บำเพ็ญกุศล เป็นการกระทำ เพื่อตัวเราแท้ๆ เพราะสิ่งอันใด ก็ตาม ถ้าเรา "ไม่เอามา" สิ่งนั้น ถ้าเป็นสิทธิ์ของเรา อย่างแท้จริงแล้ว ก็เท่ากับ เราฝากคนอื่นไว้ หรือสะสมไว้ เราไม่จำเป็น ต้องไปจดจำ ไปกำหนดกฎเกณฑ์ว่า เราจะฝากไว้กับใคร? เมื่อไหร่? อย่างไร? ขอให้เราปฏิบัติโดย เลือกในทาง "ไม่เอามา" หรือ "สละออก" หรือ "เสียไป" ให้ได้ในทุกกรณีเถิด นั่นแหละคือ ความถูกแท้ ความดีแท้ บุญแท้ กุศลแท้ เพราะในโลกนี้ ไม่มีอะไรเป็นของฟรี เราจะไม่ได้อะไรมาฟรีๆ เป็นอันขาด ถ้าเราไม่สะสมไว้ ไม่ฝากไว้ หรือ ไม่สละออก เอาไว้แล้ว เราจะไม่มีอะไรเลย นั่นคือ เราจะไม่มีบุญ ไม่มีกุศลใดๆ ดังนั้นถ้าใครปฏิบัติ โดยการมีสติ แล้วก็คิดอ่านพิจารณา เรื่องทุกเรื่อง พิจารณาการกระทำ ของเราทุกอย่าง คือ คิด (มโนกรรม) พูด (วจีกรรม) และทำจริงๆ (กายกรรม) ให้ได้ตามหลักที่ อธิบายแล้วนี้คือ ไม่เอามา สละออก หรือเสียไปให้ได้ทุกสิ่ง ทุกอย่างแล้วไซร้ คนผู้นั้น ก็จะได้ชื่อว่า เป็นผู้สั่งสมบุญ สร้างกุศลบารมี โดยการ "บริจาค" หรือการให้ การไม่เอานี่เอง จะไม่มีใครเลย อยู่ดีๆ ไม่มีกุศลเก่า ที่ตนได้สั่งสมไว้ แต่จะอาจสามารถ ถูกล็อตเตอรี่ รางวัลที่ ๑ ได้ ไม่มีจริงๆ ทุกอย่างต้องเกิดด้วยเหตุ มีมาก่อนคือ ได้สละออกเอาไว้ สะสมไว้เป็นบุญบารมี หรือ เป็นกุศล เสียก่อน เมื่อก่อเหตุ คือสะสมไว้เต็มแล้ว จึงจะได้รับผล นั้น ถ้าเหตุยังไม่เต็ม ผลก็จะยังไม่เกิด สรุปผลก็คือ อย่าพยายาม "เอามา" เป็นอันขาด แม้สิ่งใดๆ จะเป็นสิทธิของเราก็ตาม พยายามหัด อดออม ตัดทุกอย่างให้น้อยลง เช่น เรากินข้าววันละ ๓ มื้อ ก็พยายามลดให้เหลือ ๒ มื้อ และ พยายามลดลง ให้เหลือมื้อเดียว เราก็จะมีหรือสะสมไว้ถึง ๒ มื้อ หรือ เราควรจะได้เสพสุข จากการมีลาภ มียศ มีสรรเสริญ อะไรก็ตาม เราก็อย่าไปรับมา ตัดออก เฉยเสีย สละไปเสีย ลาภ ยศ สรรเสริญนั้น ก็จะสะสมไว้ หรือแม้เราควร จะได้ รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส ที่ดีๆ เป็นที่ถูกอกถูกใจ อันใดมา เราก็อดออม ไม่ยอมรับมา สละไป นั่นคือ เราสะสมไว้ เป็นบุญ เป็นกุศลทั้งสิ้น ชาติแล้วชาติเล่า ถ้าใครได้ทำไว้มากเท่าใด เราก็จะมีบุญ มีกุศล เป็นบารมีมากเท่านั้น ทับทวีเป็นลำดับ ไปเสมอ มันจะไม่สูญหายไปไหน ข้อสำคัญ สะกดอก สะกดใจ ไม่เอามาในสิ่งต่างๆ ดังกล่าวนั้น ได้หรือเปล่า เท่านั้น เห็นลาภ ก็ขี้คร้าน จะอดไม่ได้ ก็จะเสพลาภนั้นเสีย ถ้าเสพสิ่งใด หรือ รับสิ่งใด มาเสียก็คือ ไม่มีบุญ หรือกินบุญ ในสิ่งนั้นไป ก็ไม่มีบุญเก็บ ไม่มีกุศลเก็บ ถ้าเห็นรูปสวย ก็อยากได้รูปสวย แล้วก็เสพ รูปสวยนั้น ก็ไม่เหลือ รูปสวยนั้นเก็บ หรือสะสม เราก็ไม่มีบารมี ในรูปสวยนั้น ดังนี้ เป็นต้น เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงคือ ผู้ได้สะสมบุญบารมี ดังกล่าวนี้ มานานับชาติ พระองค์จึงมีล้นฟ้า แม้ชาติสุดท้าย ของพระองค์ ก่อนมาเป็นพระพุทธเจ้า คือเป็น พระเวสสันดร พระองค์ก็ "ทาน" ก็สละออก จนไม่มีอะไรจะสละ หรือ ชาติก่อนๆ ใดๆ พระองค์ก็สละ มาทุกชาติ บำเพ็ญกุศล บำเพ็ญความดี ด้วยหลักดังนี้ มาทุกชาติ เกิดชาติใหม่ต่อมา พระองค์จึงยิ่ง มีมากขึ้น บริบูรณ์ขึ้น ล้นฟ้ามากขึ้น ด้วยทุกอย่าง ทั้งรูปสมบัติ และ อรูปสมบัติ และอันสิ่งที่ได้ชื่อว่า "ความดีแท้ๆ" นั้นจึงคือ ไม่เอา ไม่รับ ไม่ยึดไว้ ไม่ยินดีในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ หรือ แม้ในรูป -รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัสใดๆ นั่นเอง คือสิ่งที่ถูก ที่แท้ ที่จริง ที่ควร ที่ชอบ ผู้ปฏิบัติ "ความดีแท้ๆ" ดังนี้ได้นั่นแหละ จึงคือ "พระอริยเจ้า" และถ้าทำได้ บริสุทธิ์หมดสิ้น ทำได้จริงจัง แม้จะมีสิทธิ์ หรือ เป็นเจ้าของ โดยชอบธรรม ในสมบัติล้นฟ้า ก็ยังไม่เอา ไม่รับ ดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงกระทำ เป็นตัวอย่าง มาแล้วนั่นแล คือยอดสูงสุด แห่งพระอริยเจ้าแล ดังนั้นตำแหน่งของ "ยอดแห่งคน" ก็คือผู้สั่งสมกรรม กระทำตน จากการ "ได้มา" ด้วยการ "ขอ" และการ "บังเบียด" และการ "สะสม" ลาภ-ยศ -สรรเสริญ จากต่ำสุด ให้ก้าวขึ้นไปหาสูงสุด ทำได้เร็ว ทำได้ไว เท่าใด ก็พอใจ มากเท่านั้น เรียกง่ายๆ ก็คือ วันนี้เป็นขอทาน พรุ่งนี้พยายาม เป็นบรมมหากษัตริย์ จักรพรรดิราช ให้ได้ ก็เรียกว่า ได้เป็น "ยอดแห่งคน" หรือ ปุถุชนที่สูงที่สุด ซึ่งก็ตรงกันข้ามกับตำแหน่งของ "ยอดแห่งพระอริยเจ้า" เพราะยอดแห่ง พระอริยเจ้าก็คือ ผู้สั่งสมกรรม กระทำตน จากการ "สละออก" ด้วยการให้ และการไม่บังเบียด และการไม่สะสมลาภ -ยศ - สรรเสริญ จากสูงสุด (อย่างคน) ให้ก้าวไปหาต่ำสุด (อย่างคน) ทำได้เร็ว ได้ไวเท่าใด ก็พอใจมากเท่านั้น เรียกง่าย ๆ ก็คือ วันนี้เป็นพระบรมมหากษัตริย์ - จักรพรรดิราช พรุ่งนี้พยายาม เป็นขอทานให้ได้ (อันคือ ผู้ไม่มีอะไรเลย นอกจาก "บาตร" ใบเดียว สำหรับใช้อุ้มขออาหาร ก็คือ "ขอทาน" เราดี ๆ นั่นเอง เข้าใจให้ดี) นั่นแลคือ "ยอดแห่งพระอริยเจ้า" และการเป็นไป ต้องเป็นไปให้แท้ ให้ได้ด้วยใจ ด้วยปัญญา สามารถด้วย จึงจะเป็น "ความแท้" แม้ "ขอทาน" จะกลับกลายขึ้นไปเป็น บรมกษัตริย์ จักรพรรดิราช ในวันรุ่งขึ้น ก็จะต้อง ขึ้นไปด้วย ปัญญา บารมี เมื่อเป็นบรมกษัตริย์ จักรพรรดิราช ก็จะต้องมีภูมิปัญญา มีความสามารถ พรั่งพร้อมในตน พร้อมที่จะอยู่อย่าง บรมกษัตริย์จักรพรรดิราช อย่างแท้จริงด้วย ไม่ใช่ขึ้นไป เพียงสวมตำแหน่งเฉยๆ เหมือนพวกลิเก ละคร แต่โดยแท้ โดยจริงแล้ว ยังมีปัญญาบารมี อยู่แค่ขอทานอย่างเดิม จะปกครอง หรือ จะใช้สติ ปัญญาอย่างใด ในตำแหน่งนั้น ก็ไม่เป็น และทำไม่ได้ นั่นก็เป็นเรื่องไม่จริง เป็นเรื่องเก๊ เป็นเรื่อง ไม่เที่ยง ไม่ตรง ไม่ถูก ถ้าเป็นไปได้ มันต้องเป็นได้อย่าง สิบโทฮิตเลอร์ ของเยอรมัน เปลี่ยนตนเองขึ้นเป็น จอมเผด็จการ ในทันที และ เขาก็เป็น "ยอดคน" ได้ในทันทีจริงๆ ด้วยปัญญาบารมี ของเขาจริง ๆ เพราะเขาสามารถ เปลี่ยนจริง เปลี่ยนด้วยความสามารถ ในตัว ในปัญญา ทั้งหมด มิใช่ใส่แต่หัวโขน นั่นจึงจะแท้ จะถูก จะจริง และนัยเดียวกัน ผู้เป็นบรมกษัตริย์จักรพรรดิราช จะกลับกลายมาเป็นขอทาน ในวันรุ่งขึ้นก็ดี ก็จะต้องลงมา ด้วยปัญญาบารมี เป็นข้อใหญ่ใจความ เช่นเดียวกัน ไม่ใช่เสแสร้ง ไม่ใช่แกล้งทำ เหมือนเรื่อง นิทรา-ชาคริต หรือ อย่าง พระเจ้ากาหลิบ หรือ เรื่องนิทาน อะไรนั่น ต้องทำด้วยจริง ด้วยใจแท้ ทำแน่ๆ ด้วยปัญญา อันแทงตลอดว่า เป็นขอทาน โดยการสละออก ให้หมด สิ้นเสีย อย่าได้ยึดเอาอะไรไว้เลย แล้วเราจะเป็นสุข เป็นโดยจริง โดยแท้ อย่างเห็นแจ้งในจิต ในวิญญาณ แล้วก็ลงมือกระทำทันที โดยไม่มีกังวล ไม่เกิดอาการทุกข์ กระวนกระวายอะไร ผู้นั้น จึงจะเป็น ขอทาน ที่มีตำแหน่งกำกับ อย่างสูงส่ง ไม่มีใดเทียบว่า "ยอดแห่งพระอริยเจ้า" เพราะเป็น ผู้เต็มเปี่ยม ด้วยปัญญา บารมี อย่างแท้จริง และแล้ว ท่านก็หมดสิ้นจาก "ทุกข์" ทั้งหลายทั้งปวง โดยสิ้นเชิง โดยจริงด้วย
อีกฝั่งฟากฟ้าหนึ่ง สำหรับผู้ปฏิบัติแบบหลับตาข่มจิต ก็นำวิปัสสนา ไปใช้ร่วมด้วยได้คือ พยายามมีสติ ตามจิตของตนเอง เข้าไป แม้ในจิตภวังค์ ขั้นรูปภพ-อรูปภพ ผู้ที่จิตตกภวังค์ แบบหลับตาก็คือ ผู้ถึงภาวะ อยู่ในจิตสมถะ ดังนั้น จึงคือผู้หลับๆ ตื่นๆ สติก็จะขาดจากจิต แต่ถ้าหัดฝึกวิปัสสนา ก็คือ แม้จะหัดนั่ง ทำจิตให้ตกภวังค์ ก็ต้องไม่ทิ้งสติ ต้องแทรกเจ้าสติ ความระลึก รู้ตัวนี้ ตามจิตเข้าไป ให้ถึงภวังคจิต ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นภวังค์ชั้นไหน แม้จะเข้าไป ในภวังค์ลึก ๆ จนกระทั่ง เป็นภพ ขั้นสูง ๆ สูงขึ้นคือ จิตยิ่งละเอียด ยิ่งเล็กลงไป ผ่านกามาวจรจิต (จิตคนธรรมดา คือ จิตสำนึก) ลึกเข้าไปสู่ รูปาวจรจิต (จิตขั้นความคิดความฝัน หรือจิตกึ่งสำนึก) และ ลึกละเอียด เข้าไปถึง อรูปาวจรจิต (จิตขั้นใต้สำนึก) แม้ในจิตขั้นลึกสุดยิ่งกว่านั้น "สติ" ก็ยังตามเข้าไประลึกรู้ เข้าไปพิจารณา เข้าไปอ่าน และ เข้าไปควบคุม เข้าไปรู้ชัดเจน แจ่มแจ้งอยู่ได้ แล้วเลือกทำแต่ในความดีแท้ ๆ โดยเลือก วิธีตัดสิน ดังได้อธิบายมาแล้ว ถ้า "จิต" เรามีความคิด มีความปรารถนาในสิ่งใด ก็ต้องใช้สติรู้ ใช้ปัญญาเลือก พิจารณาทำ ในสิ่งที่เป็น ความดี (กุศลธรรม) คือ ไม่ทำด้วย "กิเลส" ไม่ทำด้วยความต้องการเสพรส (รู้กาม) ไม่ทำให้มีความยึด ไว้ในจิต ไม่ว่ายึดไว้ในรูป ลักษณะใดๆ ไปจนถึง ลักษณะอาฆาตจองเวร (รู้พยาบาท) ไม่ทำเพราะ หลงใหล ติดยึด เสพจิตสงบ จิตหยุด จิตดับ (รู้ถีนมิทธะ) ไม่หลงในจิตรู้ ที่เป็นธรรมวิจัย หรือ วิตก วิจาร และ ไม่รำคาญ ในจิตปรุง ที่ตนเจตนาก่อขึ้นนั้นๆ (รู้อุทธัจจะ กุกกุจจะ) และ ต้องทำการตัดสิน เด็ดขาด เป็นยุติ ให้ได้ ในความรู้ ความเข้าใจนั้น ๆ (รู้วิจิกิจฉา) เมื่อต้องการปัดเป่าเรื่องใด ๆ ที่อยู่ในจิตก็ทำได้ หยุดลงได้ เมื่อต้องการจะให้มี ก็ทำได้ อยู่ในจิตโดยตรง แท้ ๆ ก็เรียกว่า เป็นผู้สร้าง เจโตสมถะ ให้แคล่วคล่อง ให้มีความเด็ดขาด เก่งกล้า มีกำลัง (พละ) และ พร้อมกันนั้น ก็เรียนรู้ จิตของตน ที่ยังมี ความหลง (โมหะ) จิตที่ยังไม่เข้าใจใน สมมุติสัจจะทั้งหลาย ให้แจ่มแจ้ง ในสมมุติสัจจะ ให้ได้ชัดแจ้งจริงจัง จนไม่หลงยึด ไม่หลงติด ได้จริงๆ ทั้งสมมุติสัจจะ ที่อยู่นอกตน ที่เราไปหลงมัน และ ทั้งสมมุติสัจจะ ที่อยู่ในตน คือ ขันธ์ ๕ ของเราเป็นที่สุด แล้วก็ไม่หลงยึด หลงติดมัน ปล่อยวางมันได้ ถูกรูป ถูกนาม ของขันธ์ ๕ แท้ๆ ได้จริง แล้วเมื่อลืมตาออกมาก็นำมาใช้กับ การกระทบสัมผัส จนไปเกิดรส เกิดอารมณ์ที่จิต เราก็รู้ในจิต ในเวทนา -สัญญา -สังขาร -วิญญาณ ได้ถูกตัว ถูกตนแท้ได้ และดับได้ (นิโรธ) หรือ แม้จะยอมให้มีปรุงอยู่ (ปุญญาภิสังขาร) เราก็รู้ชัด รู้แจ้งเท่าทัน และ ยอมให้มีอยู่ได้ โดยไม่มีรัก ไม่มีชัง ไม่มีชอบ ไม่มีเคือง เรียกว่า สิ้นโลภะ สิ้นโทสะ แท้ได้ ผู้นั้นก็เป็นอันสิ้น "อวิชชา" เป็นที่สุดได้ ดั่งนี้คือ "วิปัสสนา" ที่เอาไปใช้ใน "จิต" ในขณะหลับตา จนได้ผลออกมา เป็นการบรรลุได้ จนตลอด แม้กระทั่ง ลืมตา ก็เป็นบริบูรณ์สิ้นเชิง การปฏิบัติโดยดำเนินการมาจาก "นั่งหลับตา" ดั่งกล่าวก็คือ เราเอื้อมเข้าไปฝึกหัด เรียนรู้จิต -เจตสิก -รูป(จิต) จนไปสั่ง จิตตัวลึกๆ ที่อยู่ถึงก้นบึ้งของ "จิต" ของเราได้ เราก็จะรู้เห็น "รูปจิต" และ "อรูปจิต" ถูกตัวถูกตน และ ดับได้ถูกตัวถูกตน เมื่อมาลืมตา รับผัสสะทางทวาร ๕ ต่างๆ แล้วมันก็เลื่อนไหล เข้าไปในจิตเป็น "อุปทายรูป" ต่างๆ เราก็รู้ ได้อีกเหมือน เมื่อนั่งหลับตา และ ดับมันถูกตัวได้สำเร็จ จะปล่อยให้ปรุงอยู่ โดยไม่เกิดราคะ - โทสะใด ๆ มีปัญญาเข้าใจรู้ควร ในการปรุงนั้น ๆ อยู่ (ญาณสัมปยุติ) ก็ทำได้จริง ก็เรียกว่า เป็นการปฏิบัติจากใน มาหานอก แต่ถ้าผู้ใด "วิปัสสนา" ในภาวะธรรมดา
คือ อย่างคนตื่น ๆ อยู่ ดังที่ได้อธิบาย ผ่านมาก่อนแล้วนั้น เราก็จะทำจาก
"จิต" ตัวนอก ๆ ผัสสะหยาบ ๆ แล้วจึงจะค่อย ๆ ฝึกจิตตน ให้หัดตัด
หัดดับเข้าไป หาจิตตัวลึก ๆ ก็จะค่อยลึกเข้าไป ๆ มันจะมีสะพาน เชื่อมเข้าไป
ถึงจิตตัวในลึก ๆ ได้ชัดได้ง่าย จึงการนั่งหลับตา ปฏิบัติแบบเจโตสมถะมาก่อน ก็ต้องปฏิบัติให้ถูก ให้แท้ ให้ตรง ให้ควร ให้ชอบ ไม่ใช่นั่ง หลับตา แล้วก็ยังให้จิต ไปมองหา เลขท้าย ล็อตเตอรี่ ไปทาย ลักษณะรูป -รส-กลิ่น-เสียง -สัมผัส ทาย โชคชะตา ทายโชคลาภผู้คน สร้างกิเลส ตัณหา อุปาทานอยู่ ทั้งแม้ขณะ ไม่ได้นั่งหลับตา ก็จะต้อง สำรวม สังวร พากเพียร ประหารสิ่งที่ควรประหาร ปรับปรุง สิ่งที่ควรปรับปรุง ไปทุก ๆ ขณะเสมอ ๆ เป็นอนันตัง จึงจะถูกแท้ ถูกจริง และเจริญเป็นสูงสุด (อริยอรหันต์) ถ้าผู้ใดยังทำให้เป็นการขัดแย้ง "ความดีแท้ ๆ" ดังได้เล่ามานี้ ผู้นั้นก็จะยังไม่บรรลุ เป็นพระอริยเจ้าได้ซักที ตราบโลกแตกพินาศ แล้วจะได้เป็นพระอรหันต์เจ้ากันได้แต่ไหน ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๑๓ (รวมบทความเก่า) |