ประกายธรรม ๑๐ ถ้าไม่อยากตายเร็ว จะทำอย่างไร คนเราถ้าเสียเวลาหันมาพิจารณาความเป็น "คน" หรือ "ความเป็นตัวตน" หรือ "ความมีชีวิตอยู่" ของตน สักนิดเดียว ก็จะพึงทราบได้ไม่ยากเลย ว่า คนเราทั้งหลายทั้งปวงนั้น อยู่ด้วย "ความอยาก" หรือ อยู่โดยอาศัย "ความต้องการ" ทั้งสิ้น ถ้าใคร "หมดความอยาก" หรือ "หมดความต้องการ"อันใด อย่างจริง อย่างแท้ บริสุทธิ์ยิ่งกว่าบริสุทธิ์ โดยจริงๆ แล้ว ผู้นั้นก็จะไม่ขอ มีชีวิตอยู่ อย่างแน่ๆ เช่น "องค์พระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า" ของเรา เป็นต้น เมื่อพระองค์หมด "ความต้องการ" ใดๆ ทั้งมวลแล้วจริงๆ จึง "แหนงหน่าย" การมีชีวิตอยู่ต่อไปทันที แม้พระองค์จะสามารถ กระทำตน ให้มีชีวิตอยู่ต่อไปอีก ได้กว่า ๘๐ พรรษา เป็น ๑๐๐ พรรษา หรือกว่า ๑๐๐ ขึ้นไปอีก ตามที่พระองค์ ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า "ตถาคต แม้ปรารถนา จะยังชีวิต ให้ตั้งอยู่ จนกัปป์หนึ่ง หรือ ยิ่งขึ้น ไปกว่ากัปป์ ก็ย่อมจักทำได้ โดยมิต้องสงสัยเลย" ถึงกับพระอานนท์ ต้องทูลถาม อย่างประหลาดใจยิ่ง ด้วยความไม่รู้ เพราะ พระอานนท์ ยังเข้าใจได้เพียงว่า ถ้าคนเราจะทำตนไม่ให้ตาย หรือ ยืดอายุตัวเองได้ ก็ต้องมียา อายุวัฒนะเท่านั้น หาได้รู้ซึ้ง ถึงความแท้จริง ในสรรพสิ่ง อันเป็นสภาวะธรรมในโลก ดังพระพุทธองค์ไม่ จึงได้ทูลถามออกมาด้วยความอยากรู้ว่า "ทำอย่างไร พระเจ้าข้า"
แต่พระดำรัสตอบ ของพระพุทธองค์ แทนที่จะเป็น ยาอายุวัฒนะ อันควรมีรากไม้ต่างๆ หรือมีธาตุต่างๆ อันพึงจะเอามา ผสมรวม เป็นตัวยาอายุวัฒนะ สำหรับกินต่ออายุ เป็นต้น หรือ จะเป็นกรรมพิธีอย่างใด อย่างหนึ่ง อันประกอบด้วย พิธีการ ผสมกับเวทมนตร์ คาถาอาคมต่างๆ ก็เปล่าทั้งสิ้น ยาอายุวัฒนะ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสบอกแก่พระอานนท์ นั้น ไม่เป็น "วัตถุธรรม" ใดๆ ไม่เป็นทั้ง "วัตถุธรรม" แท้ๆ อันคือ ยาที่พึงจะได้ ด้วยการปรุงขึ้นมา ดังกล่าว ไม่เป็นทั้ง "วัตถุธรรม" เทียมๆ อันคือ พิธีการทางไสยศาสตร์ ดังกล่าวแล้ว แต่เป็น "นามธรรม" แท้ๆ ชัดๆ เลยทีเดียว ซึ่งบุคคลทุกคน พึงหามาใส่ตนได้ มีอยู่ในโลกทั่วๆไป กระจาย อยู่ในอณูทุกอณู ของบรรยากาศ แต่ "คน" ผู้ไม่เห็นความสำคัญเท่านั้น จึงไม่ใฝ่เอา ไม่ปรารถนา คว้ามา ประดับตน ที่จริงยาอายุวัฒนะขนานนี้ เก่งฉกาจเยี่ยมที่สุด เหนือที่สุดใด ไม่ใช่ยาอายุวัฒนะ แค่รักษาคนไม่ให้ตายเท่านั้น จะนำมาใช้ในกรณ ีต่ำกว่ารักษาชีวิต ไว้ทั้งชีวิตก็ยังได้ คือ นำมาใช้เพื่อสร้าง "สรรเสริญ" ให้ตนก็ได้ นำมาใช้เพื่อสร้าง "ยศ-เกียรติ" ให้ตนก็ได้ และ แม้จะนำมาใช้ เพื่อสร้าง "ลาภ" ให้แก่ตนแท้ๆ อย่างคนโลกๆ ก็ยังได้ ยาอายุวัฒนะขนานนั้น ก็คือ "อิทธิบาทธรรม" นั่นเอง เป็น "นามธรรม "แท้ๆ เป็น "ตัวยา" ที่ทุกคน พึงค้นหา มาปรุง ให้กับตนได้จริงๆ ไม่ต้องไปซอกซอน ขุดหาเอามาจากป่าเขา ไม่ต้องไปยากเย็น เที่ยวเสาะหา เอาจาก บรรดา อาจารย์ไสยศาสตร์ทั้งหลาย ตัวยาขนานแท้ "ยาอายุวัฒนะ" หรือ "อิทธิบาทธรรม" ที่ว่านี้ มีตัวยาอยู่ ๔ อย่าง เท่านั้น คือ:- ๑. ฉันทะ ๒. วิริยะ ๓. จิตตะ ๔. วิมังสา ถ้าบอกกันเพียงชื่อตัวยา โดยเฉพาะเป็น ภาษาบาลีอย่างนี้ "คน" ผู้จะใช้ ค้นหากันตายเปล่า ก็ไม่พบตัวยา จึงจะขอคลี่ความ ขยายเป็นภาษาไทยๆให้ฟัง พยายามอ่านช้าๆ ดีๆ อย่าอ่านอย่าง ดูถูกคำอธิบาย ด้วยหลงตน ว่า เรารู้แล้ว เป็นอันขาด แม้ผู้ที่คิดว่า ตัวเองเคยรู้แล้วนั่นแหละ ลองตั้งใจอ่าน คำอธิบายนี้ดู ว่า จะเหมือนที่ตนเคยรู้ไหม ? ๑.ฉันทะ ตัวยาแรก คือ "ฉันทะ" "ฉันทะ" ตัวนี้ หมายถึง ความรัก ความชอบ ความปรารถนา ความยังต้องการ ความยังอยากให้มีอยู่ ความเพ่ง เอามาให้ตน ความไม่อยากให้หมดไป แม้จากโลก หรือ โดยตรง
ก็คือ ไม่อยากให้หมดไปจากตน และที่สุด ไม่หมดสิ้นความเป็นรูปธรรมนั้นๆ อันได้แก่ รูปธรรมทุกชนิด ตั้งแต่ร่างกาย ของตนเอง เป็นต้น ไปเลย จนกระทั่ง ถึงทุกสรรพสิ่ง ทีเดียว นั่นคือ ความยังยึดเอาไว้ ถ้ารัก "ชีวิต" ก็ยึดถือความมีชีวิตไว้ รักความมีชีวิต ปรารถนาความมีชีวิต เพ่งเอา หรือ หมายใจให้ชีวิตคงอยู่ ไม่อยากให้ชีวิต ดับสูญลงไป นั่นแหละ แท้ๆ จึงคือ ความยึดถือ ความมั่นหมายใจเอาว่า จะต้องมีอยู่ ถ้ายิ่งผู้ยังมีอวิชชา ก็คือ ผู้หลงว่า จะต้องเป็นอย่างนั้นแน่ๆ ผู้ไม่รู้ว่า อย่างนั้นโดยแท้จริง มันไม่ใช่ของแท้ มันไม่ใช่ของจริง มันเป็นของที่เราต้องการยึดเอาไว้ต่างหาก แม้จริง มันก็เพียงแสดงสภาวะ แสดงอาการ แสดงรูปร่าง ให้ปรากฎแค่นั้น แล้วเราก็ไปหลงใหล ว่า มันต้องตั้งอยู่ดังนี้ตลอดไป มันต้องคงอยู่ อย่างนี้ตลอดไป มันต้องเจริญ มันต้องดี มันต้องสวย มันต้องอร่อย มันต้องไพเราะ มันต้องถูกใจถึงใจ ทุกประการให้ได้ หลงคิดเอาเอง แล้วก็อยากให้เป็นอย่างนั้น
เป็นสมบัติอย่างนั้น อยู่กับตนตลอดไป ๒.วิริยะ "วิริยะ" ตัวยานี้ ก็คือ ความพากเพียร ความต้องทำ ความมุ่งหวังในใจ มันบังคับให้ทำ การทำอยู่เรื่อยๆ การพยายามให้ตนทำมากๆ การสร้างสิ่งนั้นให้เกิดกับตน การก่อสิ่งนั้นๆ เสมอๆ และให้มากยิ่งขึ้น การทำเพื่อจะได้มาซึ่งสิ่งนั้นๆ การรักษาเก็บเอาสิ่งนั้นๆไว้ ไม่ให้สูญหายไป การเพิ่มพูนสิ่งนั้นๆ ไว้ ไม่ให้พร่อง แต่ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป นั่นคือ การส่งเสริม "ฉันทะ" ให้คงอยู่ การรักษา "ฉันทะ" เอาไว้ การไม่ปล่อย "ฉันทะ" ให้หลุดไป การพยายามให้มี "ฉันทะ" เพิ่มขึ้น และนั่น จึงคือ การคงรักษาความยึดถือนั้นๆเอาไว้ การไม่ปล่อย ให้ความหลงใหลใน "ตัวตน" ต้องหลุดไป การพยายาม ให้ความยึดถือ ความหลงใหล ว่า มี "ตัวตน" มีเพิ่มมากขึ้น ความพยายาม ให้ตัวตนยั่งยืน ยิ่งขึ้นด้วย นั่นคือ ความต้องการ "ชีวิต" ให้คงอยู่ แล้วก็พยายามทำ เพื่อให้ชีวิตนั้น อยู่ได้ ยึดชีวิตไว้ให้ดีพร้อม กับพยายาม บำรุงส่งเสริมมันมากขึ้น ซึ่งก็คือ ยึดถือชีวิตเอาเป็นเอาตายทีเดียว ก็เพื่อความเหนียวแน่นของ "อุปาทาน" นั่นเอง ๓.จิตตะ "จิตตะ" ตัวยานี้ ก็คือ เอา "จิต" นี่แหละใส่เข้าไปในสิ่งนั้นๆ ทีเดียว เรามี "จิต" เท่าใด -ก็เอาใจใส่ให้หมด เรามีความรู้สึกเท่าใด -ก็เอาใส่ลงไป ในความพยายาม ทำให้มี "ตัวตน" หรือ "ชีวิต" ให้หมด เรามีความกำหนดจดจำ หมายรู้ในสิ่งใดๆ -ก็เอาใส่ลงไป ในการพยายาม ทำให้มี "ตัวตน" หรือ "ชีวิต" ให้หมด เรามีเรื่องราว หรือมีอะไรอื่นส่วนนอก ที่จะนำมาร่วม -มาผสม เพื่อชูช่วย ส่งเสริม "ตัวตน" หรือ "ชีวิต" ให้มีอยู่ ได้เท่าไหร่ ก็เร่งเก็บเอามา กวาดเอามา ผสมลงไป เรามีความรู้ มีความเข้าใจเท่าไหร่ ก็เร่งนำมาใส่ลงไป ในความพยายามนี้ ทั้งหมด เพื่อร่วมในการยึดถือ "ตัวตน" หรือ "ชีวิต" เอาไว้ และเรามี "เจตนา" เท่าใด ก็เพิ่มเพ่งลงไปให้มาก มี "จิต" อยู่เท่าใด ก็เพิ่มเพ่งเข้าไปให้ดี มีสมาธิเท่าใด ก็รวบรวมลงไปให้แน่ว มีความฉลาด (ตามแบบโลกียปัญญา) อยู่เท่าใด ก็นำมาใช้ให้สิ้น ถ้ารักจะอยู่ละก็ แม้จะฉลาดอย่างเอารัด เอาเปรียบ ฉลาดอย่างโกง ฉลาดอย่างเอาชนะ ฉลาดอย่างบังเบียด ก็เอา เห็นแก่ตัวตน กับชีวิตเราเท่านั้นเป็นใหญ่ นั่นคือ การเห็นแก่ตัวแท้ๆ การยึดถือเอาตัวตน เป็นใหญ่แท้ๆ การทุ่มเท ยึดถืออย่างหมดเนื้อ หมดตัว แม้แต่จิตทั้งหมด ก็นำมาถม-มาเทลงไป ในการพยายามเอา "ตัวตน" ไว้ เอา "ชีวิต" ไว้ ซึ่งก็นัยเดียวกัน ก็คือ การเพิ่มพูนความเป็นไป ความเหนียวแน่น ของอุปาทาน หรือ เพิ่มความยึดถือให้มั่น ให้แน่นเข้ายิ่งๆขึ้น นั่นเอง ยึดอะไรล่ะ ก็ยึดในสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราอยากให้ได้มา หรือให้มีอยู่อย่างนั้น ตลอดกาล นั่นเอง ๔.วิมังสา "วิมังสา" ตัวยาตัวนี้ ก็คือ การค้นคว้า การทดลอง การพิจารณา หาทางที่จะเพิ่มพูน การกระทำอยู่นี้ ให้ดียิ่งขึ้น การหาวิธี ที่ดีที่สุดให้ได้ เพื่อนำมาทำ -มาก่อ -มาสร้าง การทำให้แจ้ง ให้รู้ถึงวิธีที่ดีที่สุด ที่จะนำมาส่งเสริม เพิ่มพูนการกระทำ ที่ทำอยู่นี้ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป การพิจารณา หาทุกช่องทุกทาง ให้รู้เหลี่ยม รู้มุม รู้ประตู ซึ่งชะงัดที่สุด ที่จะทำให้สิ่งที่กระทำอยู่นี้ ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นไปอย่างเยี่ยม ยิ่งกว่าเยี่ยมใดๆ การส่งเสริมการกระทำ ที่ทำอยู่อย่างนี้ยิ่งๆขึ้น ให้ถึงที่สุด นั่นคือ การส่งเสริมการยึดถือ เพิ่มพูนชีวิต ด้วยการ กระทำนี้ อีกวิธีหนึ่ง นั่นเอง เป็นเครื่องมือชูช่วย ความยึดถือ อันคือ "อุปาทาน" โดยแท้อีกเช่นเคย ตัวยาทั้ง ๔ รวมความแล้ว ตัวยาทั้ง ๔ นี้ ก็คือ จุดสุดยอด แห่งความทำให้ "ตัวตน" เป็น "ตัวตน" ทำให้ "ชีวิต" เป็น "ชีวิต" ทำความยึดถือ (อุปาทาน) ให้เป็นของจริง ยิ่งกว่าจริงใดๆ ทั้งหมด ทำสิ่งที่รัก-ที่ต้องการ-ที่อยากนั้น ให้มี-ให้เป็น-ให้ได้มา-ให้คงอยู่ ตลอดกาลนั่นแล จนกว่า จะสุด ความสามารถ ดังนั้น ใครจะนำ "ตัวยา" ที่มีคุณลักษณะ หรือ คุณภาพ อย่างนี้ (ทั้ง ๔ อย่าง) ไปใช้กับการกระทำใดๆ หรือ ไปทำกับสิ่งใด ให้มันเจริญขึ้น ก็ย่อมทำได้ทั้งนั้น ได้อย่างแท้อย่างจริง อย่างแน่นอนด้วย ไม่ว่าสิ่งนั้น จะดีหรือเลว จะต่ำหรือสูง จะหยาบ หรือ ละเอียด เพราะฉะนั้น จึงสามารถสร้างก่อ แม้กระทั่ง "ชีวิต" ให้เกิดได้ และ รักษาแม้ "ชีวิต" ให้ทรงอยู่ และ ให้เจริญ ได้ด้วย เนื่องจาก พระพุทธองค์ ทรงทราบชัดแจ้ง ว่า ถ้าเรารู้จัก "ความละเอียด" ที่สุดได้ เราก็ย่อมก่อ "ความละเอียด" นั้นๆ ก่อน พอกพูน "ความละเอียด" นั้นๆ ขึ้น ความละเอียด หรือความเล็กยิ่งนั้นๆ ก็จะค่อยๆโตขึ้น เป็นตัวเป็นตนขึ้น เป็นรูป เป็นร่างขึ้น ความเป็น "ตัวตน" จึงก่อเกิดขึ้นมาได้ เมื่อมันมีครบพร้อมทั้ง "นามธรรม" อันได้แก่ วิญญาณ จิต และ "รูปธรรม" อันคือ รูปแท่งร่างกาย สองสภาวะนี้ เกาะกุมปรุงแต่งกันอยู่ มันก็เป็น "ชีวิต" เท่านั้นเอง มันก็มีบทบาท ตามความเป็นจริง เป็นจัง ของมัน ตามความเติบใหญ่ ของมัน ตามความชัดเจน เป็นรูป เป็นร่างแท้ๆ เป็น "ตัวตน" แท้จริง กระโดดโลดเต้นให้เห็นได้ ตามที่ตาและความรับรู้ ของผู้ยัง "ไม่รู้ซึ้ง" ถึงเบื้องหลังแห่งการ "ก่อเกิด" อันแท้จริง จริงๆเลย เรียกมันอย่างปักใจ ว่า "ชีวิต" ความไม่รู้...จุดเริ่มต้นของสรรพสิ่ง ผู้ไม่มีปัญญารู้แจ้ง จาก "ต้นเหตุ" หรือ ไม่มีปัญญารู้ "ความละเอียดสุดยอด" อันเป็นจุดเริ่มต้น ของสรรพสิ่งได้ เมื่อเห็น "ชีวิต" จึงเห็นเป็น "ตัวตน" เห็นเป็น "รูปร่าง" แท้ๆ (ที่มันโตแล้ว) จึงหลง ว่า สิ่งนั้น เป็นของจริง หลงยึดเอา ว่า จะต้องเป็นอยู่อย่างนี้ได้เสมอ และเห็นว่าเป็นของมีค่า เป็นของมีประโยชน์ เป็นของ มีแก่นสาร เป็นของที่ต้องรัก ต้องหวงแหน ต้องอาลัย ต้องทะนุถนอม สุดท้าย แห่งความหลง จึงต้อง พะวงหลงใหล เอาใจใส่ ยอมเป็น "ทาส" มัน เหน็ดเหนื่อยทุกอย่าง เพื่อจะหาทุกอย่าง มาบำรุง-มาชูช่วย ให้มันทรงอยู่-ตั้งอยู่- เจริญอยู่ ด้วยความหลง -ด้วยความงมงาย -ด้วยความมืดบอด ทั้งปวง โดยเข้าใจว่า "ชีวิต" หรือ "ตัวตน" มันต้องได้ความงาม ต้องได้ความอร่อย ต้องได้ความหอม ต้องได้ ความไพเราะ ต้องได้ความอบอุ่น ต้องได้ความเสียดสี ซาบซ่าน ต้องได้ความนิ่มนวล ต้องได้ยศ -เกียรติ ต้องได้สรรเสริญ นั่นแล ที่เข้าใจว่า เป็น "สุข" ของชีวิต "คน" จึงไม่หยุดหย่อนอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อซอกซอน เพียรพยายาม หาความงาม -ความอร่อย -ความหอม -ความไพเราะ -ความอบอุ่น -ความเสียดสีซาบซ่าน -ความนิ่มนวล และ ยศ-เกียรติ-สรรเสริญ มาป้อนเจ้า "ตัวตน" ที่เข้าใจว่า "ชีวิต" ต้องมี (สิ่งนั้น) อยู่ และ หลงว่า "ตัวตน" ของตน นั่นเอง ไม่ได้เป็น "ทาส" ของอะไร แต่จริงๆ เป็น "ทาส" ของสิ่งเหล่านี้โดยแท้ๆ เพราะ หลงว่า "ชีวิต" มีอยู่ หลงว่า "ตัวตน" มี จึงต้องไขว่คว้า "อยาก" ได้อาหารต่างๆ ทั้งหลาย อันหลงว่าเป็นของ "อร่อยใจ" มาให้ชีวิต มาให้ "ตัวตน" เพื่อ "ชีวิต" จะได้ไม่สูญสลายไป เพื่อ "ตัวตน" จะได้คงอยู่ สรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ยิ่งอยากมาก ยิ่งตายเร็ว แต่แท้จริง มันก็หา "คงอยู่" ให้สมเหน็ดสมเหนื่อยไม่ ยิ่งเหน็ดเหนื่อย เพราะเอาเรี่ยว-เอาแรง -เอามันสมองไปใช้ เพื่อหา "อาหาร" มาป้อนมันมากเท่าใด ก็ยิ่งเท่ากับ "ฆ่า" ชีวิตตนเอง มากเท่านั้น ยิ่งดิ้นรน หลงใหล ว่า จะต้องหา "ลาภ" มา เพื่อแลกรูปสวย -รสอร่อย -กลิ่นหอม - เสียงไพเราะ -สัมผัส อบอุ่น เสียดสี ซาบซ่า นิ่มนวล ดิ้นรน หลงใหล ว่า จะต้องหา "ยศ-เกียรติ" มา เพื่อจะส่งเสริมการได้ "ลาภ" ให้สูง ขึ้นมาอีก หรือ เพื่อตกแต่ง ให้ชีวิตสง่าขึ้น ดิ้นรน หลงใหล ว่า จะต้องหา "สรรเสริญ" มาตกแต่งชีวิต ยิ่งขึ้นไปอีก ก็นั่นแหละ คือ ยิ่ง "ฆ่าชีวิต" ตนเองให้ดับลง ให้หมดความมี "ชีวิต" ลงเร็ว ตามจำนวนปริมาณของ "ความอยาก" ที่มันมีมันมาก "อยาก" มากเท่าใด ก็ยิ่ง "ตาย" เร็ว เท่านั้น เพราะอะไร ก็เพราะยิ่งใช้กาย ทั้งใจมาก ทำงานมาก ก็ยิ่งเสื่อมโทรมสึกหรอมาก มันก็ยิ่งชำรุด ถึงความพินาศ เร็วเท่านั้น เหมือนของ หรือ สรรพสิ่ง ทุกสิ่งเหมือนกัน ยิ่งใช้มาก ก็ยิ่งพินาศ หรือ บุบสลาย พังทลายไว ก็เช่นกัน ไม่ผิดเพี้ยนกันตรงไหน คนหลงชีวิต ซึ่งแท้จริง ผิดหมด! ยิ่งดิ้นรนมาก หาเครื่องบำรุง มาให้มันมาก ยิ่งตายเร็ว ยิ่งพินาศเร็ว ดังนั้น ผู้รู้จึงไม่ไปทำตัวเป็น "ทาส" ของ "ชีวิต" ไม่ยอมหลงว่า จะต้องเหน็ดเหนื่อย เพราะ ความเหน็ดเหนื่อย ความใช้แรงกาย แรงใจมากมาย คือการ "ฆ่าชีวิต" ตัวเอง อาหารแท้ๆ เพื่อชีวิตที่ยืนยาว ดังนั้น จึงได้สืบสาวราวเรื่องดูให้ถ่องแท้ ว่า ... อะไร คือ อาหารแท้ๆ? อะไร คือ ความจำเป็นจริงๆที่สุด? ที่ "ชีวิต" มันใช้จริงๆ ถ้าจะอนุโลมยอมให้ "ชีวิต" มันยังอยู่ หรือ ถ้าจะต้องการ "บทบาท" ของ "ตัวตน" ให้เป็นประโยชน์แก่โลก -แก่ผู้อื่น -หรือ แก่ผู้หลงใหล ทั้งหลาย อันมีอยู่จำนวนมากมายกว่า ผู้ไม่หลงใหลในโลกนี้ นั่นเอง ผู้รู้ จึงค้นคว้าได้ ว่า อาหารแท้ๆ ไม่ใช่ความสวย -ความอร่อย -ความหอม -ความไพเราะ -ความอบอุ่น เสียดสี นิ่มนวล หรือ ยศ-เกียรติ และ สรรเสริญ ทั้งสิ้น อาหารแท้ๆ ที่จะให้ "ชีวิต" หรือ "ตัวตน" อยู่แสดงบทบาท ได้อย่างดีจริงๆ และเนิ่นนาน แข็งแรงด้วย ก็คือ ข้าวสุก-ขนมสดธรรมดาๆ ที่มันมีธาตุโปรตีน แป้ง น้ำตาล เกลือแร่ วิตามิน ไขมัน พอเหมาะ พอสมเท่านั้น ป่น รวมๆ กัน เหมือนรำ ก็ได้ ปั้น เป็นก้อนรวมๆกัน เหมือนอิฐ เหมือนหิน ก็ได้ ละลาย เป็นของเหลวมา เหมือนน้ำข้น -น้ำใส อย่างไรก็ได้ หรือ จะกินพืช ผัก ผลไม้ เกลือแร่ โดยตรงก็ได้ จึงไม่มีความจำเป็น จะต้องใช้คำว่า "ปรุง" ไม่จำเป็นต้องเหน็ดเหนื่อยแกง เหนื่อยผัด เหนื่อยยำ เหนื่อยคิดอ่าน ดัดแปลงเป็น ขนมขะต้ม ให้พิสดาร วิตถารอย่างไรออกไป อาหารของปราชญ์แท้ ผู้รู้จึงไม่หลงแกง ไม่หลงผัด ไม่หลงพะโล้ หรือดอง หรือยำอะไร กินอย่างใดก็ได้ ขอให้สิ่งที่กินเป็น "ธาตุ" ที่จำเป็น เป็นใช้ได้ ผู้รู้ จึงกินอาหารแท้ๆ อย่างไม่ต้องเสีย ความเหน็ดเหนื่อย จึงเป็นผู้ได้เต็มที่ ไม่เสียพลัง ไม่เสียแรงกาย
แรงใจใดๆ จึงมีชีวิตทนทานกว่า ดังนี้ รู้พัก-รู้เพียร ยังมีอีกประตูหนึ่ง ที่จะรักษา "ชีวิต" ไว้ให้ได้นาน ก็คือ "การนอน" ผู้รู้ ก็เข้าใจ "การนอน" ได้อีกแหละ ผู้ไม่รู้ ผู้โง่ ผู้หลงใหลเท่านั้น ที่เห็นการนอนเป็นของอร่อย เป็นของที่ต้องเสพ อย่างพิสดาร วิตถาร ก็อีกแหละ ผู้ยังหลง เขาก็พากันหลง ว่า การนอน อย่างสบายที่สุด ดีที่สุด สบายของเขาก็คือ จะต้องอบอุ่น สัมผัสเสียดสี ซาบซ่าน นุ่มนิ่ม และอยู่ในบรรยากาศที่ หอมหวนได้ ก็ยิ่งดี มีเสียงไพเราะฟังด้วย ก็ยิ่งเพลิน เสร็จแล้ว "จิต" ของเขา ก็ยัง "ทำงาน" อย่างเพลิน อยู่กับความเพลิน ความอบอุ่น ความซาบซ่าน นุ่มนิ่ม ความหอมหวน เหล่านั้น เมื่อ "จิต" มัน "เพลิน" มันก็ได้ชื่อว่า "ทำงาน" อยู่ แล้วมันจะ "นอน" ได้อย่างไร ? "นอน" ให้เป็น ยังชีวิตให้ยืนยาว "การนอน" คือ การทำความหยุดนิ่ง ให้ทั้งกายและจิต เป็นการพักผ่อน อย่างแท้ เป็นการสงบ เหมือนรถยนต์ หยุดติดเครื่อง ไม่วิ่งนั่นเอง แต่เพราะความเข้าใจยังไม่พอ ของผู้หลงอยู่ จึง "นอน" ไม่เป็น คือ นอนอย่างให้ "จิต" ยังเสพ จิตยังกิน อาหาร จิตยังทำงานอยู่ คนผู้ยังหลงอยู่ จึงถือได้ ว่า พักผ่อนน้อย แม้จะ "พักผ่อน" ก็ทำไม่เป็น มันจึงไม่พอดี ไม่บริบูรณ์ เพราะความไม่เข้าใจ ไม่รู้ จึงทำให้แก่ตน อย่างไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องที่สุดใน "การนอน" ก็คือ ต้องนอนอย่างสงบ ไม่ให้จิตฟุ้งซ่าน หรือ ยังเสพอยู่ ทั้งความทุกข์ และ ความสุขนั่นแหละ จึงจะถูกที่สุด เรียก "การนอน" นั้น ว่า "ตถาคตไสยาสน์" คือ "นอน" อย่างมี "สติ" ควบคุมตนได้ มีสมาธิ จิตดิ่งสนิท ต้องตัดทั้งความรู้สึกทุกข์ (ฟุ้งซ่านในกิเลสตัณหา)
และต้องตัดทั้งความรู้สึก ที่เราพึงเสพด้วย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสนั้นๆด้วย
"การนอน" ที่แท้-ที่ถูกต้อง จึงคือ สิ่งที่ยากเย็น แสนเข็ญที่สุด สำหรับ "คน" ผู้ยัง หลงใหลอยู่ ชีวิตที่สมดุล "ชีวิต" ของอะไรก็ตาม ถ้ามี "ธาตุ" เข้าไปสังเคราะห์ ไปเพิ่มเติม ส่วนที่สึกหรออยู่ได้ และให้พักผ่อน พอเหมาะ ก็จะมีโอกาสเป็นอยู่ หรือ ตั้งอยู่ได้นานกว่าปกติ อย่างแน่นอน ดังนั้น ใครรักจะให้ "ชีวิต" คงทน อยู่ได้นาน จึงจะต้องรู้จัก "กินและนอน" และ รู้จักเพลา "ความอยาก" ลง เพราะ การมี "ความอยาก" อยู่ ก็คือ การให้ "จิต" ติดเครื่อง ทำงานอยู่ ตลอดเวลา นั่นเอง มันจึงต้อง "เผาผลาญอาหาร" อยู่ตลอดเวลา และ ประสาท หรือ อวัยวะ ที่จิตนั้นๆพึงใช้ทำงาน จึงสึกหรอไปด้วย เพราะความไม่ได้พักผ่อน หรือ หยุด หรือ เพลาการทำงานจริงๆ เหมือน รถยนต์ รถไฟ เหมือนของทุกๆอย่าง ถ้ามี "อาหาร" ให้มันพอ มันก็ให้พลังงานต่อไป ถ้าใช้มันมาก มันก็สึกกร่อนเร็ว ผู้รู้ จึงกินไม่เปลือง นอนก็ไม่มาก เหตุเพราะรู้จักลด ความอยาก ลงไปได้ นั่นเอง เมื่อไม่คิดฝัน-คิดสร้าง-คิดอยากทำอะไร "จิต" ก็พักผ่อน-ก็สงบ "อาหาร" ก็ไม่เปลือง "เครื่องอุปกรณ์ ของร่างกาย" (อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย) ที่จิตใช้เป็นส่วนประกอบทำงาน ก็ได้พัก การทำงาน นั่นคือ ความเป็นอยู่สุข อย่างแท้จริง ๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ (รวมบทความเก่า)
|