ประกายธรรม ๑๔

"พุทธ" สอนให้เรียนรู้อะไร

-เมืองพุทธ ชาวพุทธ ?!
เมืองไทยเราเรียกกันว่า "เมืองพุทธ" เพราะมีพุทธศาสนิกชนมากมาย และยังดำเนิน ครรลองของพุทธ ได้ตรงแท้อยู่ กว่าประเทศใดๆ

แต่นั่นแหละ แม้จะได้ตำแหน่งชนะเลิศ อันน่ายินดีออกอย่างนั้น พุทธศาสนิกชน สมัยพุทธศักราช ๒๕๐๐ ปีเศษ มาแล้วนี้ ก็หาได้เรียนเพื่อ "รู้" พุทธศาสนากันไม่

นอกจาก พอคลอดออกมาจาก ท้องพ่อ-ท้องแม่ ที่เป็นพุทธแล้ว ก็ได้รับตำแหน่งเป็น "พุทธศาสนิกชน" ไปเองโดยอัตโนมัติ

แล้วเด็กคนนั้น หรือ คนผู้นั้น ก็จะได้รับการเสี้ยมสอน อบรมแต่ในทาง "โลก" (โลกียะ) ได้รับการประคบ ประหงม ยัดเยียด ให้ไปร่ำเรียน เสาะหา ก็แต่ "วิชา" ทางวัตถุกันเท่านั้น (ในหลักสูตรการเรียน ไม่มีวิชา พุทธศาสตร์ อันน่ายินดีมาก สมกับที่ควรยินดีเลย ซึ่งแตกต่างกับโรงเรียน ที่ศาสนาอื่นๆ เขาเข้ามาตั้งอยู่ ในเมืองไทยแท้ๆ)

 

- ความเจริญ...ที่ควรเป็น
เราไม่เจริญ ได้อย่างถึงที่สุดทาง "วัตถุ" ตามที่ควรจะเป็น (อยากจะเป็น "นิกส์")

แต่เราเจริญอยู่แล้วทาง "ธรรม" (จิตใจ)

ก็ทำไม ไม่เอา "จุดเด่น" อันนี้มาใช้ หรือ "ส่งเสริม" ให้มากกว่า

กลับไพล่ไปปะติดปะต่อทางที่เป็นไปไม่ได้ ก็ขอให้ลองคิดกันดู?

- คารวะ อะไร? ใครรู้
จนแม้บางคน ที่เกิดมาในชื่อว่า "พุทธศาสนิกชน" แต่ไม่รู้จักกระทั่งคำว่า "คารวะ" หมายความว่าอย่างไร?

ไพล่ไปรู้แต่ ยศ-เกียรติ-ฐานะทางวัตถุ และ รู้ดีในคำว่า "ประจบประแจง" เพื่อยศ-เกียรติ

"จิตใจบริสุทธิ์" อันเรียกว่า "คารวะ" ไม่มีเลย! หาได้ยาก!

 

- อะไร คืออะไร? น่ารู้
และที่สุด "พุทธศาสนิกชน" ไม่รู้จักแม้คำว่า ...

"พระ" หมายความว่าอย่างไร?

"ความดี" ที่แท้จริง (อริยสัจ) คือ อย่างไร?

จึงไม่รู้ว่า "ชีวิต"แท้ๆ คือ อะไร?

 

- รู้ รู้ รู้แต่อะไร?
รู้แต่ "โลก" (โลกีย์) รู้แต่ "สมมุติ"

แล้วก็ดำเนินชีวิตไปอย่างไม่เป็นชีวิตที่ดี คือ มีแต่การบังเบียดแก่งแย่ง

แต่เขาก็ยังหวังกันอย่างลมๆแล้งๆ อยู่ตามโลกหลอกเสมอว่า เขาจะพบ "สันติสุข" ในที่สุดด้วย "วัตถุ"

มันจะเป็นไปได้หรือไม่? ขอให้คิดด้วยเหตุผลเอาเองเถิด...

 

- พุทธแบบไหน? ที่แพร่หลาย
ดังนั้น "พุทธ" ที่เขาทั้งหลาย ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชน ดังกล่าวนี้ ได้รู้ได้เข้าใจ มากที่สุด

ก็แต่เพียงเห็นจารีต-เห็นประเพณี ที่ "คน" ส่วนใหญ่ แสดงออกกัน "ทางกาย" กับ "ทางวจี" เพื่อทำกิจนอกๆ กิจกระพี้ๆ ที่แฝงอยู่ ในพุทธศาสนา เท่านั้น เช่น สวดมนต์ ทอดกฐิน สร้างโบสถ์ สร้างพระเครื่อง พรมน้ำมนต์ ...ฯลฯ

แต่เขาจะไม่รู้ในทาง "ใจ" (กิจที่เป็นแก่นแท้)เลย ว่า ที่เขาแสดงออก "ทางกาย" อย่างนั้น หมายความว่า อะไร? แสดงออก "ทางวจี" อย่างนั้น หมายความว่าอย่างไร?

 

- พุทธศาสนา คือ...
"ศาสนาพุทธ" คือ "ใจ" (นามธรรม) และทุกอย่างมุ่งเอาที่ "ใจ" เท่านั้น

ดังนั้น แม้จะทำอะไรอย่างอนุโลม เอาวัตถุ เอาจารีต เอาประเพณี ร้อยแปด พันประการ อย่างไร มาประกอบ ก็เป็นการอนุโลม แสดงออก ในรูปแบบของ "กายกรรม" หรือ "วจีกรรม" ที่จะให้เลื่อนไหล หรือ โยงใย ชักจูง ให้เข้าไปสู่ "ใจ" ทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนั้น ถ้าใครผู้ใดเข้าใจได้ชัดเจนดังนี้ จึงจะมี "กาย" มี "วจี" ที่ถูก

คือ จะแสดงออก "ทางกาย" อย่างไร? ก็ยังเชื่อมโยงอยู่กับ "ใจ"

จะแสดงออก "ทางวจี" อย่างไร? ก็กลั่นกรองออกมาจาก "ใจ"

ให้ "ใจ" เป็นใหญ่ "ใจ" เป็นประธาน "ใจ" เป็นผู้แสดง

แม้ "กายกรรม" แม้ "วจีกรรม" อย่างไร? ก็กลั่นกรองจาก "ใจ" ออกมาแล้ว ทั้งสิ้น ไม่ให้! กายกรรมของโลก วจีกรรมอย่างโลกๆ มาเป็นผู้นำ มาเป็นตัวอย่าง

 

- ผู้มี "ใจ" เป็นประธาน ต้องฝึก "ใจ"
"กายกรรม" และ "วจีกรรม" ของผู้ใช้ "ใจ" (ที่ดี) เป็นประธานได้ จึงเป็น "กรรม" ที่ดี เป็นการกระทำ ที่แสดง ออกมา เป็นไปในทางดี - ทางสูง - ทางถูก

เพราะ "ใจ" ได้ควบคุมให้ทำ โดยก่อนทำ ใจได้กลั่นกรองแยกแยะ เลือกสรรแล้ว จึงสั่งออกมา

แต่นั่นแหละ ก่อน "กาย" กับ "วจี" จะอยู่ภายใต้อำนาจของ "ใจ" คนผู้นั้น จะต้องได้รับ "การฝึกอย่างดี" มาแล้ว ไม่เช่นนั้น จะไม่มีทาง เป็นไปได้ เป็นอันขาด

นี่แหละคือ คนผู้จะ "บรรลุ" จะต้องได้ "ปฏิบัติ" เสียก่อน

คือ คนผู้"บรรลุธรรม"นั้น จะต้องผ่านการลงมือ "กระทำจริงๆ จังๆ"

จนได้รับสัมผัส ได้รับกระทบ จนแจ้ง "รสธรรมชาติ" ในตนจริงๆ เสียก่อน จึงจะเรียกว่า "รู้แจ้งแทงทะลุ" เรียกว่า "ปฏิเวธธรรม"

"นักธรรมะ" ทั้งหลาย จึงควรรู้ และ ซาบซึ้ง ในหลักเกณฑ์อันนี้ให้ได้

จึงจะได้เป็น "ผู้บรรลุแท้ๆ" เป็น "ผู้รู้จริงๆ" ไม่หลง ไม่ปลอม ไม่กึ่งๆกลางๆ อยู่เพียงเปลือกกระพี้

- ทำให้ "จริง" เพียงหนึ่งเดียว
ดังนั้น ถ้า "นักธรรม" ผู้ใด ได้ยินคำสั่งสอนใดๆ มาแล้ว เพียงหัวข้อเดียว

แล้วก็นำมา "ปฏิบัติตาม" จนถ่องแท้ รู้แจ้งแทงทะลุ เข้าไปเรื่อยๆ ใน "ธรรมะ" ข้อนั้นๆ

แล้วผู้นั้นแหละ จะเห็นสภาวะธรรม ที่ลึกลงไปได้เรื่อยๆ จากธรรมะ เพียงหัวข้อเดียวนั่นเอง

แล้วเขาก็จะพยายามแทงทะลุ "ธรรมะ" นั้น ลงไปจนสุดลึก ผู้นั้นก็จะบรรลุ สุดยอดได้ (มโนปุพพัง คมา ธัมมา ฯ)

 

- ความรู้ท่วมหัว...
แต่ ตรงกันข้าม ถ้า "นักธรรม" ผู้ใด มัวแต่ไปฟัง ไปอ่าน ไปท่อง เอาคำสั่งสอนของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา

แล้วก็"จำๆๆ"ไว้ ให้ได้มากๆ ยิ่งมากก็ยิ่งดีใจ ได้รู้มาก รู้ทุกมุมทุกเหลี่ยม ทุกหัวข้อที่เป็น "พระธรรม"

ต่อให้ท่องมาได้หมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่ไม่เคยลงมือปฏิบัติ จริงๆจังๆ ให้เกิดผลแจ้ง แล้วแทงทะลุ ต่อๆ และ ต่อๆลงไป ในสภาวะธรรม นั้นๆ เลย

คนผู้นั้นแหละ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเรียกขานว่า "ตัวคัมภีร์เปล่า" (ปทปรม) เช่น มหาเปรียญ ทั้งหลาย เป็นส่วนมากนั่นเอง

"ปริยัติ" หรือ การเรียนรู้หัวข้อธรรม จึงไม่ใช่การเรียนเพื่อท่องจำ เอาหัวข้อธรรม ให้หมดทั้ง ๘๔,๐๐๐

 

- ปริยัติ สำคัญไหม?
"ปริยัติ" นั้น มีความหมายเพียงว่า ให้รู้จักหัวข้อธรรม ที่พระพุทธเจ้า ทรงสอนไว้บ้าง เท่านั้นเอง

แม้รู้เพียงข้อเดียว ก็ได้ ก็เพียงพอในการจะนำมาค้นคิด พิจารณา และวิจัย (ธัมมวิจัย) จนเกิด "ศรัทธา" แล้วก็ลงมือ นำมา "ปฏิบัติ" จริงๆจังๆ

มันไม่จำเป็นเลยที่จะไปท่อง "สมมุติบัญญัติ" (ชื่อสภาวะธรรม และ อาการธรรม) อยู่แล้วๆ เล่าๆ

แต่ไม่นำมาใช้เป็น"ศีล" (กฎที่กำหนดให้ตนเองประพฤติ) บังคับตนเองให้ลงมือ ดำเนินการกระทำ กับตน อย่างมีสติ ควบคุมซักที

 

- ศีล สมาธิ ปัญญา
-"ศีล" ห้วข้อ "ธรรม" ข้อใดๆ ก็ตาม คือ "ศีล"

เมื่อนำมาพิจารณาจนเข้าใจ ว่า "ธรรม" ข้อนี้ จะลงมือ "ปฏิบติ" ได้อย่างไร ?

แล้วก็ตั้งใจ"ปฏิบัติ"จริงๆ

-"สมาธิ" โดยมี "สติ" ควบคุมกำกับ ให้ตนทำให้ได้ตาม "ศีล" หรือ หัวข้อ "ธรรม" นั้น (คือ บังคับตน หรือ ตั้งใจให้ตนเอง กระทำตามนั้น นั่นเอง)

การมี "สติ" ควบคุมตนให้ทำให้ได้ ตามกฏ หรือ กติกา ที่ตนตั้งให้แก่ตนไว้ได้ นี่เอง คือ "สมาธิ" (อย่าไป หลงเข้าใจ ความหมายของ "สมาธิ" ว่า นั่งหลับตา)

-"ปัญญา"
เมื่อ ทำได้เป็นแน่แท้ถูกต้องขึ้นมาทีใด มันก็จะมี "ผล" เกิดออกมาทีนั้น "ผล" นั้น เรียกว่า "ปฏิเวธธรรม"

ถ้า "ผล" มันเกิดที่เราจริงๆ แต่เรายังอ่านไม่ออก ในเหตุและผลของมัน เช่น เราไม่กินข้าวเย็น หรือ ลดอาหาร ลงมา กินเพียงวันละ ๒ เวลา เราปฏิบัติดังนี้ ตามห้วข้อธรรม

แม้จะทำไปแล้ว ก็ยังมองเห็น "ผลดี" ไม่ได้ ก็เรียกว่า "ปัญญา" ยังไม่เกิด ยังไม่ถ้วน "ปัญญาบารมี"

เราก็จะต้องคอยอ่าน คอยสังเกต ในการกระทำ การปฏิบัติของเราเรื่อยๆไป

สักวัน เราก็จะแจ้งใน "ผลดี" นั้น จนได้

และ พร้อมกันนั้น "ผลเสีย" ที่มีอยู่ในการปฏิบัตินั้น ก็จะมีด้วย

ก็จงให้เลือกเอา "ผลดี" นั้นไว้ ทิ้ง "ผลเสีย" นั้นไป

แล้วเพ่งค้นหา "ผลดี" กับ "ผลเสีย" ในส่วนเล็ก ที่เราเลือกไว้นั้น ต่อไปอีกเรื่อยๆ มันจะยังมีปนเปกันอยู่ ในนั้นเสมอ

นี่แหละคือ "การปฏิบัติธรรม" ที่แท้จริง ที่ถูกต้อง

 

-เรียนรู้ศาสนาทำไม?
การเรียนพุทธศาสนา คือ การเรียนรู้ "ค่า" ของรูปธรรม (วัตถุ) และ นามธรรม (พลังงานอำนาจ)

เมื่อรู้ "ค่า" ของอะไรได้ ว่า สิ่งใด "สูง" สิ่งใด "ต่ำ" เราก็ "เลือก" เอาส่วน "สูง" ให้ถูก สิ่งใด "ดี" สิ่งใด "ชั่ว" เราก็ "เลือก" เอาส่วน "ดี" ให้ถูก

และสิ่งใด "ถูก" สิ่งใด "ผิด" เราก็ "เลือก" เอาส่วน "ถูก" ให้เป็น

เมื่อ "เลือก" เป็นแล้ว เราก็ "ทิ้ง" หรือ "ละ" ส่วนที่ "ต่ำ" -ส่วนที่"ชั่ว" -ส่วนที่ "ผิด" เสีย

ยึดเอาส่วนที่ "สูง" ส่วนที่ "ดี" ส่วนที่ "ถูก" ไว้ ปฏิบัติต่อไป

นั่นคือ เราทำตามพระพุทธพจน์ โอวาทปาฏิโมกข์ ข้อที่ว่า "ละชั่ว ประพฤติดี"

-ทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส

และในส่วนหลังที่เรากลั่นกรองแล้ว และเข้าใจว่าเป็นส่วนที่ "สูง" ส่วนที่ "ดี" ส่วนที่ "ถูก" นั้น

ก็ให้เราเพ่ง และมองให้ทะลุใน "ผล" ที่เรายังประพฤติอยู่ ให้ได้

มันจะ "เกิดผล" (ปฏิเวธธรรม) ทั้งสูง-ทั้งต่ำ หรือ ทั้งดี-ทั้งชั่ว อยู่ในส่วนที่ กลั่นกรองแล้วนั้น อยู่อีกนั่นแหละ

เราจงเรียนรู้"ค่า "ของ"สภาวะธรรม" อันนี้ให้ออก แยกให้เป็น เห็นให้ได้อีก

เมื่อเห็นได้ แบ่งแยกออกว่า การยังประพฤติอยู่อย่างนั้น ก็ยังมี "ส่วนดี-ส่วนชั่ว" ปนๆกันอยู่ ก็ให้แยก เอาส่วน "ชั่ว" ทิ้งอีก คงเหลือไว้แต่ "ส่วนดี" ซึ่งจะเล็กลง จะละเอียดเข้า จะบริสุทธิ์ยิ่งๆขึ้น

นี่เอง คือ เราปฏิบัติตนตามโอวาทปาฏิโมกข์ ในข้อที่ว่า "ทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส"

คือ การกระทำอย่างนี้เอง

คือ เจียมใจตัวเองให้เล็ก ให้ละเอียดเข้า ด้วยการกระทำอย่างนี้

จะยกตัวอย่างให้ฟังง่ายๆ เช่น คนสองคน นาย ก. กับ นาย ข. มีฐานะ และสภาพ เท่าเทียมกัน เหมือนกัน ทุกอย่าง ไปได้รับเงิน มาจากนาย ค. ตัวนาย ก.ได้ ๑๐ บาท นาย ข.ได้ ๒๐ บาท

ลองคิดดูซิว่า ท่านจะเป็นคนเช่นนาย ก. หรือ นาย ข.ดี?

ถ้าท่านเป็นคนโลกๆ อยู่ในโลกีย์ ท่านก็จะเลือกเป็น นาย ข. เพราะได้ ๒๐ บาท มันก็ต้องดีทางโลก สูงทางโลก

แต่ในทาง "ธรรม" มันผิด มันเป็นความชั่ว มันเป็นความต่ำ

มันผิด หรือชั่ว-ต่ำ อย่างไร?

ก็คือ การเอา ๒๐ บาท มาให้ตนนั้น ก็เท่ากับเรายึดครองสมบัติ (สภาวะรูปธรรม) มาแบกไว้ก้อนโต แทนที่ จะเป็น คนละโลภ (อโลภะ) เราก็ได้ชื่อว่า "โลภ" จึงเป็นผู้ตกอยู่ในฐานะ "คนต่ำ" (ทางธรรม)

บางคนจะนึกแย้งออกมาทันทีว่า เราไม่ได้ "โลภ" นี่ ก็นาย ค.เขาให้เอง

ถ้าใครคิดอย่างนี้ จงลองตั้งใจพิจารณาให้ดี

โจทย์ข้อนี้ ข้าพเจ้าทดสอบคนแบบวางกล ๒ ชั้น คือ ข้าพเจ้าสมมุติ นาย ก. นาย ข.ซ้อนขึ้นมา เพื่อทดสอบ "ความอยาก" ของคน แบบจิตละเอียดขึ้น แทนที่ข้าพเจ้า จะถามตรงๆ ว่า "คุณเอาเงินไหม จะเอา ๑๐ บาท หรือ ๒๐ บาท"

ถ้าถามอย่างนี้ คุณก็จะตอบกับข้าพเจ้าตรงๆได้ง่ายๆ ว่า "เอา ๑๐ บาท เท่านั้นแหละ" เพราะคุณจะนึกรู้ ทันที ว่า ถ้าต้องการ ๒๐ บาท จะเป็น "โลภะ"

แต่นี่ข้าพเจ้าสมมุติ นาย ก.นาย ข. ซ้อนขึ้นมาอีก เมื่อคุณไปเลือกเป็น นาย ข. ผู้ได้ ๒๐ บาท ก็เท่ากับ คุณแสดง "จิตโลภ" ของคุณ ออกมาว่า "เอา ๒๐ บาท" นั่นเอง

คิดให้ดีอย่างเดียวกันแท้ๆ

นี่แหละคือ แง่คิด แง่พิจารณาธรรม เมื่อพิจารณาออก เข้าใจได้ เห็นแจ้งอย่างถูกต้อง ดังนี้

 

คนฉลาด
คนที่ฉลาดอย่างโลก หรือ เป็นคนอย่างโลกๆ จึงเลือกเป็นนาย ข.ผู้ได้ ๒๐ บาท

จะไม่หันไป "ทำตนให้น้อยลงอย่างบริสุทธิ์ใจ" เลย สักโอกาส

ดังนั้น ผู้แจ้งธรรม หรือยึดการปฏิบัติธรรม จึงจะเลือกเป็น นาย ก. ทิ้งการประพฤติอย่าง นาย ข.เสีย

ฝึกฝน-หัดตน ละ-วาง-ทิ้งการกระทำที่จะได้มา "มาก" (อันเรียกว่า โลภะ อยู่ทุกขณะ ที่เรียกว่ามาก) เสีย จริงๆ เราก็จะเป็น "ผู้ถูก-ผู้สูง"

ถ้าเรากระทำเป็น "ผู้น้อยลงๆ" อยู่ ดังนี้เสมอ แม้จะมีโอกาสได้มาก อย่างบริสุทธิ์ อย่างไรก็ตาม ก็พยายาม "น้อย" ลงเสมอๆ เราก็จะ "บรรลุ" สูงขึ้น (ทางธรรม) เสมอๆ

แต่ถ้า ใครยังไม่ได้ทำอย่างนี้จริงๆ "จิต" ของคนผู้นั้น จะเข้าใจ "สภาวะธรรม" ที่สูงขึ้นกว่านี้ อันเรียกว่า "ว่าง-เบา-สงบ-ไม่เดือดร้อน" นั้น ไม่ได้!

ต้องลองทำจริงๆ เดินเข้าสู่สนามแห่งความเป็นอย่างนั้น จริงๆ (กล้าจน) จึงจะเข้าใจ สภาวะธรรมที่สูง ที่ละเอียดได้จริง

เมื่อทำได้ขั้นนี้แล้ว ขั้นต่อไปก็จะคัดเลือก วิจัย "ค่า" ของ "ความดี-ความชั่ว" หรือ "ค่า" ของ "ความผิด-ความถูก" ที่เป็นธรรม ถูกแท้ ที่เป็นโลกุตตระ ได้จริงๆ

คนไม่ทำดังนี้ เพราะเขากลัวอดตาย

 

-ใคร? กล้าจน!
แต่ถ้า ผู้ใดไม่กลัวตาย และกล้าทำ อย่างไม่สะทกสะท้านได้จริงๆ

ผู้นั้นแหละ จะเห็นความ "ไม่ตาย" เกิดในตน (อมตธรรม)

 

- พุทธสอน... โลกุตตระ
พอเข้าขั้น "โลกุตระ" นั้น มันเป็นเรื่องของพลังงาน หรือ อำนาจ ที่แสดงฤทธิ์ออกมา อย่างมองไม่เห็นตัว มันเป็น "นามธรรม" (ใจ)

ดังนั้น คนธรรมดาๆ ที่มองทุกสิ่งทุกอย่างด้วย "ตาเนื้อ" จึงจะเห็นพลังงาน -อำนาจ หรือ เห็น "ค่า" อ่านความแตกต่าง ของพลังงาน -อำนาจทางนามธรรม (ใจ) นี้ ออกไม่ได้ง่ายๆ จึงจะเดาถูกต้อง ตรงแท้ ไม่ได้จริงๆ

ฉะนั้น ต้องลงมือ "ทำ" กับตนเอง โดยตนเอง

"พุทธ" สอนให้เรียนรู้อย่างนี้ ให้ปฏิบัติอย่างนี้ ให้ดำเนินชีวิตอย่างนี้ (อริยมรรค ๘)

ไม่ใช่สอนให้ท่องตำรา ให้ฟังเขาเฉยๆ แล้วหลงดีใจว่า เรา "ได้รู้" แล้ว อยู่เท่านั้น

และ "พุทธ" สอนให้ อ่าน"ค่า"ของพลังงาน อ่าน "ค่า" ของอำนาจทางนามธรรมให้ออก ให้ทะลุ

"พุทธ"ไม่ได้สอนให้อ่านแต่เพียง"วัตถุ" ไม่ต้องไปมัวงมอยู่กับ "รูปธรรม" นอกตัวเรา ให้เสีย เวลามากกว่า "นามธรรม"

จงหัด "ละชั่ว-ประพฤติดี" อย่างที่ว่านี้เสียเถิด...

และ ทำ "ใจ" ให้บริสุทธิ์ผ่องใส ตามนัยดังกล่าวนี้ คือ อ่าน "นามธรรม" (ใจ) ให้ออกว่า อย่างไร คือ ค่าสูง? อย่างไร คือ ค่าต่ำ?

แล้ว"ละทิ้ง" สิ่งที่เป็น"ค่าต่ำ" นั้นๆ ลงไปเรื่อยๆๆๆ (คือ ละชั่วที่ละเอียด อันอ่านเห็นได้ยาก ลงไปเรื่อยๆ)

แล้วคุณจะถึงที่สุด
หยุดลงตรง...แดน (ภพ) แห่งความนิ่ง แดนว่าง แดนอิสระ แดนนิพพานเอง อย่างแน่นอนแท้จริง.

๔ พฤษภาคม ๒๕๑๔

(รวมบทความเก่า)