ประกายธรรม ๑๔ - ๓

"รู้ง่าย ทำก็ง่าย
แต่คนไม่พยายามหัดทำนั้น คืออะไรเอ่ย ?"

คงจะไม่มีใครที่จะไม่เข้าใจคำว่า "ทำบุญ" หรือ "ทาน" โดยเฉพาะ พุทธศาสนิกชน แม้จะเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่

และท่านเชื่อไหมว่า จุดใหญ่ใจความของ "พุทธศาสนา" นั้น อยู่ตรงนี้ เท่านั้นเอง อยู่ตรงนี้ และเท่านี้จริงๆ

"ทำบุญ" หรือ "ทาน" ก็คือ "การให้" การปฏิบัติธรรมของพุทธ จึงเริ่มด้วย "ทาน" แล้วก็ศีล-สมาธิ-ปัญญา และแท้ๆ จริงๆ แม้จะเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาก็ตาม ก็คือ การหากฎ หาวิธี มาบีบบังคับ หรือ ทำการแวดล้อม ให้กระทำ "บุญ" นั้น หรือทำ "ทาน" นั้นให้ได้ อย่างแท้ อย่างจริง จนคนผู้นั้น กลายเป็น คนใจบุญ สุนทานจริงๆ กระทั่ง ไม่เกิดอารมณ์ เกาะเกี่ยว หวงแหน หรือ เสียดายอะไร ใน "การให้" นั้นๆเลย ไม่ว่าในกรณีใดๆ และทุกครั้ง ที่ทำ แม้จะเป็นการให้ ที่เล็กน้อยที่สุด หรือ จะเป็นการให้ ที่มากที่สุด

"ทำ" ในที่นี้ หมายถึงต้อง "ทำ" จริงๆ และ "ทำ" ให้มาก มิใช่เอาแต่พูด เอาแต่รู้เท่านั้น ข้อใหญ่ใจความ ก็คือ ต้อง "ทำ" ให้ได้ "ทำบุญ" ให้จริง "ทำทาน" ให้จริง และ "ให้" ก็ต้องให้ไปโดยบริสุทธิ์ใจ มิใช่ "ให้" แล้วยังหวัง ตอบแทน

"การให้" ในที่นี้ ก็คือ "ให้ทุกๆสิ่ง" หมายความว่า "ไม่เอาไว้เป็นของเรา" ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้น จะเป็นเจ้าของ เงินทอง หรือ วัตถุธรรมใดๆ ไปตราบ จนกระทั่ง แม้อารมณ์โลภ-รัก-โกรธ-ชังอันใด ก็ไม่เอาไว้ เป็นของเรา เลยจริงๆ เราก็จะกลายเป็น ผู้ไม่มี สมบัติอะไรเลย ไม่มีโลภ ไม่มีรัก ไม่มีโกรธ และ ไม่มีชัง คนผู้นี้แหละ คือผู้ถึง "ที่สุดแห่งทุกข์" ถ้าใครอยาก "พ้นทุกข์"จริงๆ ก็ให้เริ่มหัด "ทำบุญ" และ "ทำทาน" เสียตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไปเถิด อย่ามัวคิด ผัดผ่อน หรือ ที่พระพุทธองค์ ทรงกล่าวไว้ว่า "อย่ามัวประมาทกันอยู่เลย"

มีความจริงแท้อยู่ว่า ถ้าผู้ใดยังไม่เคยควักเงิน จำนวนเล็กน้อย ออกให้แก่ผู้อื่นเลย เขาก็จะไม่กล้าควักเงิน จำนวนมาก ให้แก่ใคร เป็นอันขาด เพราะเขากลัวเงินของเขา จะพร่องไป และโดยนัยนี้เอง ถ้าผู้ใด ไม่เคย ควักเงิน ก้อนสุดท้าย ที่มีในชีวิตของเขาจริงๆ ให้แก่คนอื่นไป โดยไม่เกิดความกลัว แต่อย่างใดเลย คนผู้นั้น ก็จะไม่กล้า ประจัญหน้า กับคำว่า "ไม่โลภ" เพราะเขากลัว จะอดตาย แล้วเขาจะได้ เป็นผู้หมดสิ้น สูญสลาย ถึงภาวะ แห่งความว่างเปล่า เบา สบาย อันเรียกว่า "สุญญตา" หรือเป็น "นิพพาน" นั้นไม่ได้เลย

๒๑ มีนาคม ๒๕๑๔

(รวมบทความเก่า)