ประกายธรรม ๑๕

จะสร้างปัญญากันอย่างไร ?

"พุทธศาสนา" นั้นเป็นศาสนาที่สูงด้วย "ปัญญา" เข้าใจแง่มุมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี อย่าง ละเอียด และ ลัดเข้าหา ความเป็นประโยชน์ อย่างแท้จริง ได้ง่าย ได้ตรง ทั้งสูงสุดด้วย

ดังนั้น ความสูงสุดขั้น "เจโตวิมุติ" อันเป็นการ "วิมุติ" ได้ด้วยการ "ทำ" จริงๆ ที่มีในศาสนาอื่นๆ จะเป็น "ศาสนาชินะ" ของพระมหาวีระ (นิครนถ์นาฏบุตร) ก็ตาม จะเป็น "เจโตวิมุติ" ในแบบของศาสดาองค์อื่นๆ อีกมากมายก็ตาม พระพุทธเจ้า ของเรา ก็ทรงเข้าใจได้ถ่องแท้ และ จุดสุดโต่งขั้น "เจโตวิมุติ" หมดเกลี้ยง ไม่มีเหลือ เหมือนดัง ของศาสดา ทั้งหลายนี้ ก็เป็น "จุดสุดยอด" ของศาสนา พุทธเช่นนั้น ดังจะเห็นได้จาก พระพุทธพจน์ใน มหาสาโรปมสูตร มีว่า :-

"ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีลาภสักการะ และเสียงสรรเสริญ เป็นอานิสงส์ พรหมจรรย์นี้ มิใช่มี ความถึงพร้อมแห่ง "ศีล" เป็นอานิสงส์ พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีความ ถึงพร้อมแห่ง "สมาธิ" เป็นอานิสงส์ พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีความถึงพร้อมแห่ง "ญาณทัสนะ" (ปัญญา) เป็นอานิสงส์

ภิกษุทั้งหลาย ก็ "เจโตวิมุติ" อันไม่กำเริบอันใดมีอยู่ พรหมจรรย์นี้ มีเจโตวิมุตินั้น นั่นแหละ เป็นประโยชน์ ที่มุ่งหมาย "เจโตวิมุติ" นั่นแหละ เป็นผลสุดท้าย ของพรหมจรรย์"

จากพระพุทธพจน์บทนี้ จึงแยกละเอียด ความเป็นผู้ถึงพร้อม แต่ละขั้น แต่ละระดับ ออก และ แท้จริงนักปฏิบัติธรรมะใดๆ ก็รู้กันว่า ต้องดำเนินการ "ปฏิบัติธรรม" หรือ "สร้างปัญญา" กันด้วยไตรสิกขา อันมีศีล-สมาธิ-ปัญญา และสุดท้ายก็คือ "วิมุติ" อันหมายถึง "เจโตวิมุติ" หรือคือ "ดับสิ้น" แม้แต่ "ปัญญา" นั่นเอง แต่จะมีความละเอียดลออ กันเป็นระดับอย่างไร ก็ลองๆ มาพิจารณาดูกัน หรือ วิจัยกันดู สักนิดเป็นไร

ขั้นแรก ต้องเข้าใจกันให้หมดเสียก่อนว่า "พุทธศาสนา" นั้นมีที่สุดอยู่ด้วย "วิมุติ และก็จะต้อง "วิมุติ" ทั้ง ๒ ส่วนด้วย คือ มีปัญญาวิมุติ กับ เจโตวิมุติ อันเรียกว่า "อุภโตภาควิมุติ" คือ หนึ่ง หลุดพ้นด้วย "รู้" (ปัญญา) สอง หลุดพ้นด้วย "เกิดจริง เป็นจริงที่ใจ" (เจโต) ไม่ใช่สักแต่ "รู้" แบบฟังมา ท่องมา หรือแค่ นำมาคิด มาคาดคะเน มาคำนวณ ประมาณเอา แล้วก็เข้าใจว่า "ลงตัวแล้ว" จน ถึงชั้นที่เรียกว่า "วิมุติ" หรือ "นิโรธ" (ดับสนิท) ได้แล้ว แต่แท้จริง ยังสัมผัส สภาวะ ยังลูบคลำสภาพที่ ยังไม่ว่าง ไม่ดับนั้นอยู่ ด้วยรสชาติต่างๆ ถ้าผู้ใดเข้าใจ สภาวะธรรม ที่เกิดขึ้นกับใจ จนเรียกว่าผ่าน  "วิปัสสนาญาณ" ไปจนได้ถึงขั้น "มรรคญาณ" และ "ผลญาณ" จริงๆ จะเข้าใจได้ทันทีว่า "มรรคญาณ" นั้นคือ ตัว "ปัญญา" คือแสงสว่าง คือ วิชชา คือตัวรู้ และ "ผลญาณ" นั้นคือ "ตัวเกิด จริงๆ  เป็นไปจริงๆในจิต" คือ การลอกคราบ จากจุดเก่า มาพบกับ จุดใหม่ เหมือน "การชักไส้ ออกจากหญ้าปล้อง เขาจะพึงเห็นอย่างนี้ว่า นี้หญ้าปล้อง (มรรคญาณ) นี้ ไส้หญ้าปล้อง (ผลญาณ) ต่างเป็นคนละอัน แต่ไส้ก็ชักออก จากหญ้าปล้อง นั่นเอง... อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษ จะพึงชักงู ออกจากคราบ เขาจะพึงคิดเห็น อย่างนี้ว่า นี้งู นี้คราบ งูอย่างหนึ่ง (เจโต) คราบอย่างหนึ่ง (ปัญญา) แต่งูก็ชักออกจาก คราบนั่นเอง" และ การขาดจากกัน ของหญ้าปล้อง กับไส้ หรือการขาดจากกัน ของงู กับคราบ ก็คือ การตัด "โคตรภูจิต" จากกันส่วนหนึ่งด้วย เป็นการแยกกัน จริงๆ คือ แยกจิต แยกกายได้จริงๆ เป็น ๒ ส่วน ถอด "จิต" ออกจาก "กายรูป" ได้ จริงๆ มิใช่เพียงคิดเอา คาดเอา ตราบใด "ปัญญา" เป็นเพียงแค่ "สุตมยปัญญา" (ฟังมา) หรือแม้ "จินตามยปัญญา" (คิดทบทวนเอา) ก็จะยัง เกิดการผ่านไป สู่จุด "เกิดใหม่" (บรรลุ) ในคนนั้นจริงๆ ไม่ได้ "ปัญญา" จึง จะต้องให้ถึงขั้น "ภาวนามยปัญญา" (ทำให้เกิดจริงๆ มีโอปปาติกโยนิ จริงๆ) แล้ว "ปัญญา" มันจะเลื่อนขึ้น เป็นชั้นๆ เป็นชั้นๆ ตามลำดับ ดังนั้น "มรรคญาณ" อันคือ จิตปัญญา คือ รู้ แล้วก็จึงจะเป็น "ผลญาณ" อันคือ จิตผุดเกิดเป็น จิตดวงใหม่ ผ่องใสกว่าเก่า เรียกว่า จิตเกิดจริง เป็นจริง (เจโต) และการเกิด "ปัญญา" ทั้งการกระทำให้บรรลุ "เจโต" นั้น มันมีมากมาย หลายชั้น หลายรอบนัก มีหยาบๆ ไปหาค่อยๆละเอียดขึ้นๆ เป็นระดับเป็นชั้นๆด้วย ก็ลองทำความเข้าใจ กับการสร้าง "ปัญญา" ที่จะพยายาม ยกตัวอย่าง ให้เห็น ประกอบ ไล่ลำดับ ไปเรื่อยๆนี้ ดูบ้าง

ปัญญาชั้นที่ ๑. คนเรา "รู้" ได้ หรือมี "ปัญญา" รับมา "รู้" ก็ด้วยประสาทสัมผัส ภายนอก ธรรมดาๆ  เรียกว่า ปัญญาชั้นต้น เป็นการ "รู้" ได้ง่ายๆ ตื้นๆ มีกันได้ ทุกคน เช่น หูได้ยินเสียงก็รู้ จมูกได้กลิ่นก็รู้ ตาเห็นรูปก็รู้ ลิ้นสัมผัสรสก็รู้ ผิวกาย ทุกส่วน สัมผัสของแข็ง ของอ่อน ความร้อน ความเย็นก็รู้ และแม้เคยรู้มาแล้ว อย่างนั้น นำมาคิดเองขึ้นในใจก็รู้ ถ้าใครจำได้มากก็เรียกว่า ผู้นั้น "รู้" มากกว่าได้ด้วย นี่ แหละคือ "สุตมยปัญญา" เป็นปัญญาชั้นต้น ของความรู้ รู้ธรรมดาๆ มีความจริงเพียง รู้กายภายนอก และกายภายใน บางอย่างตื้นๆ เต็มที คนผู้นี้ยังไม่รู้ว่า "ใจ" หรือ "จิต"  คืออะไร? รู้ได้ด้วย "ตาเนื้อ" แท้ๆ "เจโต" ยังไม่มี หรือ ปัญญาทางจิต ยังไม่เกิด เรียกว่าสักแต่ว่า "รู้" จากรับมาคือ "เวทนา" แล้วก็จำได้ คือ "สัญญา" โดยแยก ไม่ออกว่า ควรรับ หรือ ควรจำหรือไม่

ปัญญาขั้นที่  ๒ ก็คือ คนที่ช่างคิด ช่างค้น ช่างคำนวณ หาเหตุ หาผล ก็นำสิ่งที่ เคยเห็น เคยได้ยิน เคยได้สัมผัส มาค้นคิด หาเหตุ แห่งการเป็นมา รู้ผลของสิ่งนั้นๆได้ ด้วยปัญญาแห่งการค้นคิด พินิจ พิจารณา ซึ่งก็รู้ได้ มากน้อย ไม่เท่ากัน เช่น คนบางคน ช่างคิด แค่ว่า กับข้าวอย่างนี้ เขาทำยังไงจึงอร่อย แล้วก็นำมาคิดค้น จนรู้ว่า ทำอย่างนั้น อย่างนี้  มีไอ้นั่น ผสมไอ้นี่ คนนี้ก็คิดค้น ได้แค่ขั้นนี้ บางคนช่างคิด ไปจนถึงว่า "น้ำ" นี่มันมีอะไร ผสมกับอะไร?  จึงเป็น "น้ำ" หรือ "น้ำ" มันเกิดมาจาก อะไร? เขาก็ไปคิดค้นหา โดยฟัง คนพูดมาบ้าง และ ไปอ่านจากตำรามาบ้าง (แต่ยังไม่ได้ไปแยกธาตุน้ำดู) เพียงนำมาคิด ถึงมุม ถึงเหลี่ยม ถึงเหตุและผล อันควร เป็นของมันเท่านั้น ดังนี้ เป็นต้น แต่ที่คิดกันอยู่มากที่สุด ก็คือ ทำอย่างไร? เรา จะรวย ทำอย่างไร? เราจะเอร็ดอร่อย สนุกเพลิดเพลิน สะดวกสบาย ทำอย่างไร? เราจะมีลาภอุดม มียศสูง มีสรรเสริญมากล้น นี่เรียกว่า ปัญญาขั้นคนธรรมดา และสูงกว่า คนช่างคิด ธรรมดาๆ ขึ้นมาได้บ้าง แต่ ก็ยังไม่เคย เป็นนักปฏิบัติ คือยังไม่ลงมือ นำสิ่งที่สงสัย มาวิจัยวิเคราะห์ แยกธาตุ หรือ ทำการผสม ปรนปรุง มันออกมา ให้เกิดผล กับตนจริงๆเลย แม้การจะก่อให้เกิด ลาภ เกิดยศ เกิดสรรเสริญ กับตนก็ตาม ก็เพียงคิดฟังฟุ้งเฟื่องไว้เท่านั้น แถม เต็มไปด้วยเหตุผล น่ารวย น่าได้ยศ น่าได้สรรเสริญ ด้วยซ้ำไป แต่ยังไม่เคยลงมือ จะเรียกว่า มีผลเป็น "เจโต" ไม่ได้ มันได้แค่ ขั้นเรียกว่า "จินตามยปัญญา" เป็น ปัญญารู้ กายภายนอก และกายภายใน ลึกขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังไม่รู้ "จิต" หรือ "ใจ" อยู่นั่นเอง จึงเป็นการ "รู้" ด้วย "ตาเนื้อ" ขั้นละเอียด ขึ้นมาหน่อย ยังไม่มีการ ตัด "โคตรภูจิต" แม้ "จิต" ตัวหยาบๆ รอบสั้นๆ จึงยังไม่มีจิตตัวใดเกิด มี แต่"จิต" ตัวเก่า ที่ถูกคิดค้น ปรนปรุง อันเรียกว่า "สังขารธรรม" แล้วก็ "รู้" ได้ เป็น "ผล" จากการคิดนั้น สิ่งที่รู้ได้จากผลแห่งการคิดนี้ เรียกว่า "วิญญาณ" ก็ ยังเป็นการ "รู้" ที่ยังแบ่งไม่ออกอยู่ดีว่า อะไรควรแยกเป็นอะไร คงได้รับ เอาไว้หมด จึงคงฝังแน่นอยู่ในจิต เป็นอุปาทาน

ปัญญาขั้นที่ ๓ ก็คือ คนผู้นั้น ได้ลงมือนำสิ่งที่คิดที่สงสัย หรือที่ได้ "รู้" นั้นมา วิเคราะห์ แยกธาตุจริงๆ หรือ ทำการผสม ปรนปรุงจริงๆ เช่น กับข้าวอย่างนี้ มันอร่อยอย่างนี้ ทำอย่างไร ก็นำมาทำจริงๆ จนเห็น กับข้าวนั้น "เกิด" ขึ้นมาโดยตน เอง ทำกับมือเองจริงๆ สงสัยว่า "น้ำ" มันเกิดมาจากอะไร? ก็นำมาแยกธาตุ จนพบไฮโดรเจน ๒ หน่วย กับ ออกซิเจน ๑ หน่วยจริงๆ เห็นตัวตน ของไฮโดรเจน กับ ออกซิเจน ที่เป็น "ตัวตน" อันละเอียด เป็นลม เป็นแก๊สได้ จริงๆ และแม้สงสัยว่า ทำอย่างไรจะรวย? ก็คิดค้นเห็นทาง จนแน่ใจว่า ค้าขายจะ รวย  ก็ลงมือค้าขายจริงๆ หรือแน่ใจว่า ทำราชการ จะได้ยศ ก็ลงมือทำราชการ ให้ได้จริงๆ  การทำกับข้าวนั้น มันง่าย ก็จะเห็นผลง่าย เร็ว การแยกธาตุน้ำ ยากขึ้นมาหน่อย แต่ก็จะเกิด ผลได้ เห็นได้ สัมผัสได้จริงๆเหมือนกัน และถึงอย่างนั้น ก็จะยังรู้มากกว่านี้ไม่ได้  คือไม่รู้ว่าทำไม? กับข้าวนั้น เอาสิ่งนั้น ผสมกับสิ่งนั้น โขลกอย่างนั้น ยัดอย่างนี้ จึงเรียกว่า "อร่อย" หรือ ไฮโดรเจน ๒ หน่วย มันทำ ปฏิกิริยากับ อ๊อกซิเจน ๑ หน่วยยังไง เหตุผลอย่างไร มันจึงรวมตัวกัน แล้วแปรสภาพ มาเป็น "น้ำ" ก็ยังเข้าใจ ลึกซึ้งไม่ได้ ยิ่งการค้าขาย เมื่อคิดว่า จะทำให้ รวย พอไปค้าขายจริง กลับขาดทุนย่อยยับก็มี หรือบางทีก็รวยได้ แต่ก็ยังไม่รู้ได้ ว่าทำไมถึงรวย เพราะบางคน เขาทำอย่างเรา เหมือนกันก็ไม่เห็นรวย แต่บางคน ทำอย่างเรา รวยกว่าเราก็มี เรียกว่า เห็นผล เกิดผล สัมผัสผล จากลงมือทำ ดังนี้ จึงเรียกว่า "ภาวนามยปัญญา" ตาที่รู้เห็นได้ ขั้นนี้ จึงตั้งชื่อว่า "ตาทิพย์" คือ เห็นรูปการณ์ได้จริงๆ แม้การมีบทบาท เดินทาง คลี่คลายการ "เกิดผล" ในสิ่ง ที่หยาบๆ ก็พอรู้ แต่การเดินทาง หรือ คลี่คลาย ของไฮโดรเจน กับออกซิเจน จะยังไม่เห็น ไม่รู้แน่ จะเห็นได้ สัมผัสได้ ก็แต่ "รูป" ของมัน แม้มันจะเล็ก จะละเอียด ก็ยังอุตส่าห์เห็น ."รูป" มันได้ ถึงขั้น ที่กล่าวได้ว่า เห็น "รูปทิพย์" หรือตัวตนของ สิ่งเล็กละเอียด   ดังนี้  จึงจะเรียกได้ว่า  ถึงขั้น  "ปฏิเวธธรรม" ถ้าปฏิบัติ "ฌานจิต" ก็จะเห็น "รูปสัญญา" หรือ "รูปนิมิต" ได้ทีเดียว ถ้าปฏิบัติ "สติปัฏฐาน" ก็จะรู้เห็น "กิเลส-ตัณหา" ได้ ขั้นนี้แหละ เรียกว่า "เจโต" ปัญญาขั้นเห็นจิตจริง รู้ "ตัวตนของอุปาทาน" หรือ "สัญญา" หรือ "วิญญาณ" ได้ อันเป็น "ตัวตนของจิต" ที่เรียกว่า สมมุติ ที่หลงยึดมั่น กำหนดจำไว้ ไม่ยอมปล่อยทิ้ง นั่นเอง แต่คนผู้นี้ ก็ยังไม่ปล่อย เพราะเพิ่งรู้ ได้ชั้นต้น ยังไม่แน่ใจ จึงยังมี "วิจิกิจฉา" อยู่

ปัญญาขั้นที่ ๔ ก็คือ คนผู้นั้น รู้แจ้งเหตุผลของกับข้าวที่ทำได้แล้ว่า "อร่อย" เพราะ มันมีน้ำปลาดี ผสมได้ส่วน มีเนื้อดี ได้ส่วนพอดี มีผักดี ได้ส่วนพอเหมาะ ที่จะปรุง ออกมาเป็น "รูป" นั้นๆได้ตามต้องการ และจะให้ "รส" อย่างนั้นด้วย หรือไฮโดรเจน ๒ หน่วย มีพลังงาน เท่านั้น ออกซิเจน หน่วยหนึ่ง มีอำนาจ เท่านั้น ฤทธิ์ของสองสิ่งนี้ ทำปฏิกิริยากันได้รอบ หรือได้ "พลังงานก่อตัวสัมบูรณ์" ถึงขีดของมัน มันก็แปร "รูป" มาเป็น"น้ำ" ได้ และรู้ได้ว่า ที่ค้าขายรวย เพราะ เรานำของ เหมาะสมมาทำการ เรามีจังหวะดี โอกาสดี อยู่ในย่านดี หรือ เราฉลาดหาเหลี่ยม หามุมอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เป็นอันรู้เหตุ และผล ลึกซึ้ง ขึ้นมาได้อีก การรู้ อย่างนี้ก็เป็น "ปัญญา" ขั้นลึก เรียกว่า "รู้นามธรรมในนามธรรม" หรือเห็น "นาม" ได้แม้ที่ซ่อนอยู่ใน "รูป" อันเล็กละเอียดอีกที เห็นการคลี่คลายเดินทาง ของ "รูปละเอียด" ได้ จึงเรียกว่า เห็นด้วย "ตาธรรม" แม้เห็น "รูปสัญญา" หรือ "รูปนิมิต" นั้นๆ ก็เห็น "เวทนา" หรือ ความรู้สึกใน "รูปนิมิต" ได้ หรือรู้ "ใจ" ของ "รูปนิมิต" นั้นๆ ขั้นนี้แหละ จึงจะเรียกว่า เห็นกายในกายแท้ๆ หรือ เห็น จิตในจิต เป็น "ปัญญาวิมุติ" แท้ๆ ขั้นตัด "โคตรภูจิต" กันจริงๆ ถอดคราบออกมา เป็นจิตใหม่ มี "จิตเกิด" ตัวใหม่ เรียกซ้อนลงไปก็ได้ว่ามี "ปัญญาวิมุติ" เป็น "โสดาปัตติมรรค" (มรรคญาณ) และจะมี "เจโตวิมุติ" เป็น "โสดาปัตติผล" (ผลญาณ) การจะเห็นแจ้ง ดังนี้ได้ ก็ด้วยการเพ่งแทงด้วย "สมาธิจิต" อันมีพลัง จริงๆ เรียกว่า มีแสงสว่างพร้อม (ค่าของพลังจิต) มีตาอันใสคม (ค่าของสติ ปัญญา) มีสิ่งที่จะเห็นได้จริง (รูปละเอียดแท้)  จึงจะ "เกิดผล" แท้ได้ (เป็น "เจโต" ตัวใหม่) รู้อย่างนี้ เรียกว่า รู้อย่างนับเป็นผู้มี "ปัญญาญาณ" หรือเกิด "ญาณทัสสนะ"  พุทธศาสนานับ "จิตรู้" ตัวนี้เป็น "ปัญญา" ตัวที่ ๑ คือ พ้นโง่แล้ว มี "ปัญญา" จริงๆ เสียที มีการตัด มีการลอกออกได้แล้ว หนึ่งชั้นจริงๆ

ปัญญาชั้นที่ ๕ ก็คือ รู้แจ้งชัดยิ่งกว่านั้นมากขึ้นไปอีก จนดูเป็นการ "หักมุมกลับ" ไป เลยว่า ที่อาหาร มันอร่อย ก็เพราะไป "หลง" มันเข้า ไปเชื่อตามคนทั้งหลายเขา ชวนเชื่อว่า ถ้ามีผักเปรี้ยวหวาน ที่ประกอบด้วย ของที่ปรุงอย่างนี้ๆ และจะอร่อย อย่างนี้นะ ก็ไปจำมา ไปหลงเชื่อเขามา (มีโมหะ) พอมาได้กินอาหาร อย่างนี้เข้า และผลปรากฏตรงกับ ที่ได้ไปหลงจำมา หรือหลงเชื่อมา ก็เลยสมใจ ถูกใจ พอใจ เรียกสิ่งนี้ว่า  "อร่อย" แล้วก็ยึดถือ ผูกพัน (อุปาทาน)  จะต้องกินให้ได้อย่างนี้ จะต้องหาอย่างนี้ มาให้ได้เสมอ มากๆยิ่งดี ทุกเวลานาที ยิ่งดีใหญ่ แต่ถ้าไม่ไป "หลง" (ถูกหลอก) จำมา "หลง" (โง่) เชื่อมา "ความอร่อย" มันก็ไม่มี ภาษา เรียกว่า "อร่อย" ก็ไม่มี ก็ไม่เห็นจะต้อง อยากกิน ผัดเปรี้ยวหวานนั้น กินอะไรก็ได้ เพราะรู้แจ้งเสียแล้วว่า  ที่แท้ก็ "การปรุง" (สังขาร) อย่างหนึ่งเท่านั้นเอง เราจะเอาเนื้อ เอาผัก เอาน้ำปลา อย่างนั้น ไปทำเป็น "แกง" มากินก็ได้ หรือแม้ จะนำมากิน โดยวิธีต้มจืดๆ แล้วก็กิน น้ำปลา น้ำเปรี้ยว น้ำหวาน กินทีหลังก็ได้ มันก็ ไอ้กินธาตุของผัก ของเนื้อ ของน้ำปู น้ำปลาต่างๆ ชนิดเดียวกัน ลงไป ในกระเพาะ เท่านั้นเอง ก็เหตุเพราะ ไปหลง "การปรุง" (สังขาร) นั่นแหละ จึง "ทุกข์"

และไฮโดรเจน  ๒ หน่วย กับออกซิเจนหน่วยหนึ่ง ที่รวมตัวกัน จนเป็น "น้ำ" นั้น ก็ คือ ธาตุชนิดหนึ่ง ที่มีออกซิเจนกับไฮโดรเจน โดยมันรวมกัน เป็น "ตัวตน" (อัตตา) มีไฮโดรเจน เป็น "นาม" และ มีออกซิเจน เป็น "รูป" เกาะกันแน่น ด้วยพลังงาน จำนวนหนึ่ง (อุปาทาน) ถ้าตราบใด ไม่มีพลังงาน ที่มีค่า สามารถ ทำลาย พลังงาน แห่งการยึดเกาะ (อุปาทาน) ของ "น้ำ" นี้ได้ มันก็จะยังคง ดำรงตัวอยู่ใน "รูป" ของน้ำ ถ้าใครสามารถ หาพลังงาน ที่มีค่า ขั้นสามารถ ทำลายตัวตน ของน้ำออกได้ เขาก็จะได้ อ๊อกซิเจน และ "ตัวตน" ของน้ำก็สลายไป ดับสูญ (นิพพาน) ไปด้วย ดังนี้ และในคนมีพลังงานนี้ ทั้งในร่างกาย ของคน ก็ต้องใช้น้ำ เพราะมันมีออกซิเจน อันเป็นธาตุสำคัญ ที่เราต้องใช้  พร้อมกันนั้น มันเป็น "น้ำ" (ธาตุน้ำ) มันก็ยังเป็น ธาตุที่ร่างกายเรา ต้องใช้ด้วย  จึงรู้มากขึ้น กว่าแต่ก่อนว่า ของนี้มีประโยชน์ กับร่างกาย แต่ก็ไม่ไป หลงมัวเมา ปรุงมันเล่น หรือแยกธาตุมันเล่น จะเอามันมาใช้ จริงๆ กับเรา ก็เพราะเมื่อเรา ต้องใช้มัน มากไป ก็ไม่เอา น้อยไปหน่อย ก็หาเติม ก็เท่านั้นเอง ส่วนธาตุอื่นๆ หรือของอื่นๆ เช่น ท่อนไม้ ตะกั่ว ไซยาไนด์ อะไร ต่างๆ อันไม่จำเป็นเลย สำหรับร่างกายเรา เราก็ไม่เอา ไม่อยากได้มา แม้จะ เป็นทองคำ เพชร พลอย มีมาให้เรา เราก็ไม่รับ หรือแม้จะมีอยู่ เป็นของตน ก็ แจกแก่ผู้อื่น ให้เหมาะสม เป็นประโยชน์ที่สุด ไปกับผู้อื่นเท่านั้น เราไม่ "หลง" ใน ของไม่จำเป็น อย่างแท้จริง อันจะเกื้อกูล ร่างกาย และความเป็นอยู่ ให้เกินความ เป็นไปอย่างพอดี จะรับอยู่เฉพาะ ปัจจัย ๔ ซึ่งมี อาหาร-เครื่องนุ่งห่ม-ที่อยู่-ยา แต่เพียง พอเหมาะ ไม่มากไป เป็นอันขาดด้วย

และแม้การค้าขายจนรวยนั้น ก็เข้าใจได้อย่างแจ้งด้วยว่า เรายังบังเบียด ผู้อื่นอยู่ เรายัง "โลภ" อยู่ เราต้องเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องการ "รวย" อยู่ แท้จริง เราค้าขายเพียงพอดีๆ เพื่อให้มาพอใช้สอย คุ้มปากคุ้มชีวิต ให้เป็นไปพอดีๆ ก็พอแล้ว หรือ ถ้ามีทางที่เหมาะควรกว่า เช่น เห็นทางว่า แม้เราจะไม่ค้าขาย เราเอา ชีวิต "ของเราไปช่วยเผยแพร่ความจริง" อันนี้ให้คนอื่นๆ ที่เขายังไม่รู้ ได้รู้ตาม และ ตัวเราเอง ยังชีพอยู่ เพียงเล็กน้อย กินเพียงวันละมื้อ หรือสองมื้ออย่างมาก เครื่องนุ่งห่ม ก็แค่ผ้า พันกาย ที่อยู่ก็เพียงพออาศัย กันแดด กันฝน กันลม กันหนาวก็ พอแล้ว เราก็จะหยุดค้าขาย ออกบวชได้ แล้วก็เผยแพร่ ความรู้ ความแท้จริงอันนี้ ให้คนอื่นรู้ตาม โดยนัยเดียวกัน การจะหายศ หาสรรเสริญ โดยวิธีใดๆ ก็จะไม่รับ มา "ปัญญา" ขั้นนี้แหละ คือ พระอริยเจ้า ซึ่งจะมีสูงขึ้นๆ เป็นระดับๆ จาก พระสกิทาคามี ไปเป็นพระอนาคามี และ เป็นพระอรหันต์กัน ในขั้นที่เรียกว่า รู้ เหลี่ยมของทุกข์ พร้อมทั้งรู้เหตุ รู้วิธีดับเหตุได้ และ ก็ดับมันได้ด้วย ลอกออกทีละ ชั้นๆ เล็กลงๆ หรือ ละเอียดเข้าๆ หรือ สูงขึ้นๆ ตามลำดับขั้นของความเป็น "อริยะ" ขั้นสูงขึ้นๆ นั้นๆ  ตาที่เห็นได้ดังนี้ เรียกว่า "ตาปัญญา" แท้ๆ และมี "ปัญญาวิมุติ" เป็น "มรรคญาณ" กับ "ผลญาณ" เกิดปะติดปะต่อกันไป ตามแรง "ภาวนา" ของ ผู้ได้ "กระทำ" ให้ "เกิด" นั้น ปัญญาขั้นที่ ๖ นั้น เป็นขั้นสูงสุด ยอดเยี่ยม เรียกว่า รู้ชัดเจน จนสิ้นรอบ เป็น "ปริวัฏสาม" ซึ่งมิได้ หมายความว่า สิ้น ๓ รอบแบบง่ายๆ แต่หมายความว่า ละเอียด กลาง หยาบ หรือ เบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย เบื้องใน ตอนกลาง ข้าง นอก สูง กลาง ต่ำ อดีต ปัจจุบัน อนาคต เร็ว ปานกลาง ช้า ฯลฯ อันอาจจะแบ่ง เป็นสิบรอบ ร้อยท่า พันวิถีก็ได้ และแท้จริงนั้น ยิ่งกว่าพันรอบ หมื่นวิถี ทว่า ใน ภาษาก็พูดได้เท่านี้ หมายถึง วัฏน้อย (สภาพน้อย) วัฏกลาง (สภาพประมาณปานกลาง) วัฏใหญ่ (สภาพยืดยาว กว้างไกล) อันจะเข้าใจหยาบๆ ก็ได้ และ ละเอียดลึกซึ้งก็ได้ สำหรับ ปัญญาขั้นนี้นั้น นับเป็น การรู้แจ้ง ครบทุกสภาพ รู้แจ้งโลก รอบมหาจักรวาล  เรียกว่า "โลกวิทู" รู้ชัด แม้การเกิด ของสิ่งอันใด ใช้พลัง "นาม" เท่าใด จึงจะได้รอบแห่งความเป็น "รูป" (อัตตา หรือมวล) ถ้าจะทำลาย "รูป" นั้น ให้แตกดับ สลายไป พ้นสภาวะรูปนั้น ไปเป็นอื่น จะต้องใช้ "พลัง" เท่าใด? เมื่อไปตกในสภาวะ "รูป" ในวัฏใหม่ จะเล็ก-ใหญ่เท่าใด? จะทำลาย "รูป" นั้นอีกได้ด้วย "พลัง" เท่าใด? จนที่สุด ถึง "สุญญตาแห่งความไม่มี" ความเป็นสิ่งนั้น และท้ายสุด แห่งการไม่เป็นสิ่งอันใด อันหนึ่งอีกเลยนั้น ย่อมไม่มีในที่ ไหนๆ นอกจาก การเคลื่อนไป การแปรไป ของความเป็น สิ่งนั้นๆ เท่านั้นในโลก นั่น คือ ทุกสิ่งทุกอย่าง ครองไว้ด้วย "อนัตตา" ไม่มีความแท้เที่ยง ไม่มีความยึด ครองมั่นคง โดยไม่เปลี่ยนแปร ในที่ไหนๆ ปัญญาชั้นรู้ได้ดังนี้ เรียกว่า "ตาพุทธะ" ผู้ซึ่งสามารถทำลาย "อัตตาของจิต" ที่มันเล็กยิ่งกว่า "อัตตาของยูเรเนียม" ให้สลายตัวได้ แล้วใครที่เคยเรียนรู้ ทางวิทยาศาสตร์มาแล้ว ก็ช่วยคิดด้วยว่า พระพุทธองค์  มี "อัตราเร่ง" เท่าใด ไปยิง "มวลทางจิต" ให้สลาย และจะได้ "พลังกัมมันตภาพรังสี" ออกมาเป็นเท่าใด? นั่นแหละคือ "ประภามณฑล" (ขอบเขตของเอกภาพ และสนาม) ของพระพุทธองค์ ในวาระ ที่ทรงกระทำ "ปรินิพพาน" แต่ออกฤทธิ์ และรส "เย็น" ไม่เผาผลาญ เพราะรังสีนั้นเป็น "สันติรังสี" แท้ๆ อันเป็น ปฏิภาคกลับของ "กัมมันตภาพรังสี" ที่โลกใช้อยู่ขณะนี้

๒๔ มิถุนายน ๒๕๑๔