เพลงความซ้ำซาก


ความซ้ำซาก หมายเลข ๑
ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย (เซ็ง) หรอก!
แต่แท้จริงเป็นการสร้าง “ความปกติ”
และความถาวร มั่นคง สถิตเสถียร
ให้เกิด ให้เป็นขึ้นมา ต่างหาก
ดังนั้น . . . . .
ผู้ไม่พยายามเพียรกระทำความซ้ำซาก
ในสิ่งในเรื่องที่ควรกระทำอย่างยิ่ง
จึงคือ . . . . .
ผู้จะไม่ถึงความสำเร็จกิจนั้นๆ ได้เลย
แล้ว “ความยากลำบาก” ใดๆ
ก็จะเป็น “ความง่าย” สบายเบา
ไม่ได้เป็นอันขาด.

๑๐ ก.ค. ๒๕๒๓
(“แสงสูญ” ฉบับที่ ๑๑/๒๕๒๕ : กีฬาเอ๋ย)

 

ความซ้ำซาก หมายเลข ๒
ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย (สุดเซ็ง) ดอก !
ไม่เช่นนั้นเราจะยิ่งนอน ก็ยิ่งจะเบื่อการนอน
ยิ่งได้ทรัพย์ ยิ่งจะเบื่อการได้ทรัพย์
ยิ่งได้ยศ ยิ่งจะเบื่อการได้ยศ
ยิ่งได้สรรเสริญ ยิ่งจะเบื่อการได้สรรเสริญ
ยิ่งได้สุข ก็ยิ่งจะเบื่อการได้สุข เป็นแน่แท้
ซึ่งความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

แต่ “ความมีอารมณ์เบื่อหน่าย”
ในสิ่งที่ “ยิ่งซ้ำซาก ก็ยิ่งทำให้ได้ดี ได้มั่นคง ให้ง่ายเบา” นั้น
มันคือตัว “หน้าโง่” ร้อยเปอร์เซ็นต์ ของเราเองต่างหาก
หรือ ที่แน่แท้จริงก็คือ กิเลสสดๆ
ที่มันกำลังจะมีชัยชนะอย่างกระหยิ่ม นั่นเอง.

๑๐ ก.ค. ๒๕๒๓
(“แสงสูญ” ฉบับที่ ๑๒/๒๕๒๖ : คุณครูเอ๋ย)


ความซ้ำซาก หมายเลข ๓
ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย (แสนเซ็ง) ดอก!
แต่แท้จริงแล้ว . . . .
ยิ่งซ้ำซากเรายิ่งจะกลายเป็นเคยในกิจนั้น
ง่ายในกิจนั้นเป็นที่สุดนั่นต่างหาก

รู้เถิดว่า . . . . . . . .
ถ้าเจ้ากิเลสตัวที่ชื่อว่า “ความเบื่อหน่าย” นี้
มันเข้ามาเยี่ยมกราย ในอารมณ์คุณเมื่อไร
เมื่อนั้นแหละ คือ
คุณกำลังประจัญต่ออุปสรรคตัวเลวร้าย และฤทธิ์มาก
แต่เยียบเย็นและแสนแสบที่สุด
ที่จะทำให้คุณล้มเหลวในกิจนั้นๆ เอาง่ายๆ
กว่าอุปสรรคร้อยแปดอื่นใดทีเดียว !

แท้จริงมันคือ มารลวง
หรือความหน้าโง่ชั่วแวบของเราร้อยเปอร์เซ็นต์ แท้ๆ จริงๆ
ซึ่งคุณอย่าเผลอให้มันอยู่กับเราหลายแวบ เป็นอันขาด
มิฉะนั้น มันจะเกิดเป็นความหน้าโง่ตัวถาวร
อยู่กับเรา พร้อมกับความล้มเหลวอย่างสมบูรณ์

ถ้าคุณแน่ใจว่า กิจนั้นดีแน่แล้ว
เป็นกิจที่น่าได้ น่ามี น่าเป็น อย่างยิ่งแล้ว
อย่าโง่เสียเวลามีอารมณ์เบื่อหน่ายเลย
แม้แต่เสี้ยววินาทีเป็นอันขาด.

๑๐ ก.ค. ๒๕๒๓
(“แสงสูญ” ฉบับที่ ๑๓/๒๕๒๖ : อาหารเอ๋ย ๑)


ความซ้ำซาก หมายเลข ๔
ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่ายเลย จริงๆ
ไม่เช่นนั้น กลางวันแล้วก็กลางคืนที่ซ้ำซากนี้
จะมีอยู่แล้วๆ เล่าๆ ไม่ได้เป็นอันขาด
ดังนั้น ถ้าคุณแน่ใจว่ากิจนี้ดีแน่แล้ว
เป็นกิจที่น่าได้น่ามีน่าเป็นอย่างที่สุดแล้ว
คุณจงรู้เถิดว่า อารมณ์เบื่อหน่ายที่เกิดขึ้น กับคุณเมื่อใด
นั่นคือ ความล้มเหลวในกิจนั้นของคุณ
กำลังโผล่หน้ามาเยี่ยมกรายคุณ อย่างถึงหน้าบ้าน แล้วทีเดียว
หากคุณไม่ไล่เจ้าตัวอารมณ์นี้ ออกไปจากหน้าบ้าน
อย่างเร็วด่วนให้ได้แล้วละก้อ
ไม่นานเลย
คุณก็จะอยู่กับความล้มเหลว
และ แต่งงานกับเจ้าความเบื่อหน่าย ในกิจนั้น
อย่างสุดรักสุดบูชา

๑๐ ก.ค. ๒๕๒๓
(“แสงสูญ” ฉบับที่ ๑๔/๒๕๒๖ : อาหารเอ๋ย ๒)


ความซ้ำซาก หมายเลข ๕
ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่ายเลย จริงๆ
ไม่เช่นนั้น คุณจะต้องเป็นทุกข์และ ทรมานมาก
ที่คุณจะต้อง เดิน-ยืน-นั่ง-นอน
หรือต้องกิน ต้องอุจจาระอยู่อย่างซ้ำซากแท้ๆ เหมือนกัน
คุณจะหัดซ้ำซากในอะไร ก็จะได้
คุณจะเลิกไม่ซ้ำซากในอะไร ก็จะได้ เป็นที่สุด
ดังนั้น ถ้ากิจใดคุณแน่ใจว่ากิจนั้นดีแน่แล้ว
เป็นกิจที่น่าได้ น่ามี น่าเป็น
หรือกิจนั้นต้องเป็น ต้องอยู่ ต้องอาศัย อย่างที่สุดแล้ว
คุณอย่าให้มี “ความเบื่อหน่าย”
เกิดมาแทรกคั่นในกิจนั้นๆ เป็นอันขาด
แต่จงมีความร่าเริง “ฉันทะ” กับกิจนั้นๆ เสียเลย
“วิริยะ” พากเพียรเต็มที่ บากบั่น มั่นสู้ไม่ถอย
“จิตตะ” คือเปิดใจ ปล่อยใจ วางใจ ยกหัวใจ
ให้กับกิจนั้นๆ ไปเลย
แล้วก็ “วิมังสา” คือ ลงมือฝึกปรือ ใช้ปัญญา ทำกับกิจนั้น
ให้ดีที่สุดขึ้นเรื่อยๆ ให้ได้เสมอ
ฉะนี้แล คือ ทฤษฎีแห่งความสำเร็จ
ที่จะพ้นทุกข์แท้
และจะสร้างสรรความประเสริฐสุดได้จริง.

๑๑ ก.ค. ๒๕๒๓
(“แสงสูญ” ฉบับที่ ๑๕/๒๕๒๖ : อาหารเอ๋ย ๓)


ความซ้ำซาก หมายเลข ๖
ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่ายเลยจริงๆ
แต่ตัว “ความเบื่อหน่าย” นั้นแหละ
คือตัว “ทุกข์” แท้ๆ
และคือ ตัวที่จะทำให้ผลักเบนจาก “ความดี”
หรือจาก “ความไม่ดี” กันอย่างสำคัญเลยทีเดียว

ดังนั้น ถ้าใครใช้ปัญญาวิเคราะห์ จนรู้แน่ใจแล้ว
ว่า นี้คือ “ความไม่ดี”
ก็จงตัดขาดหลีกเร้น อย่า “ซ้ำซาก” อยู่
ว่า นี้คือ “ความดี”
ก็จงตัดขาด “ความเบื่อหน่าย” ออกไปให้เด็ดขาด
แล้วจงซ้ำซากอยู่เถิด
จนกว่าเราจะหมดสิ้นเหตุปัจจัย

ผู้ถึงธรรม คือ ผู้ทำกุศลกรรมนั้นๆ
ซ้ำๆ ซากๆ ได้แล้ว สบายๆ ไม่มีเบื่อ
ผู้ยังไม่ถึงธรรม คือ ผู้ทำกุศลกรรมแท้ๆ
ซ้ำซากมากไป ก็จะเบื่อ.

๑๑ ก.ค. ๒๕๒๓
(“แสงสูญ” ฉบับที่ ๑๖/๒๕๒๗ : การศึกษาเอ๋ย )

 

ความซ้ำซาก หมายเลข ๗
ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่ายเลย
แท้จริงนั้น “ความซ้ำซาก” คือ
ความอมตะ คือความนิรันดร์
ข้อสำคัญคือ เราจะซ้ำซากกิจนี้อยู่
เพราะมันยังชื่อว่าดี
ว่าสมควรแล้วอยู่จริง
หรือจะไม่ซ้ำซากกิจนี้ต่อไปแล้ว
เพราะมันชื่อว่า ไม่ดี
ว่าไม่สมควรแล้ว
โดยใช้ปัญญาอันยิ่งแท้
อย่างปราศจากความลำเอียง
และหรือ อย่างไม่มีความเห็นแก่ตัวเลย
ด้วยสัปปุริสธรรม ๗ กันจริง เท่านั้น
ดังนั้น ผู้ถึงธรรมแล้ว
จึงไม่มี “ความเบื่อหน่าย” ในอะไรเลย
และจะไม่ติดแม้ในสิ่งส่วนที่ชื่อว่า
ดียิ่งยอดใดๆ ด้วย
แต่ท่านรู้เป็น-รู้ตาย รู้เกิด-รู้ดับ รู้พัก-รู้เพียร
และท่านตัด-ท่านต่อของท่านได้แน่แท้
เด็ดขาดถึงที่สุดแล้วจริงๆ.

๑๕ ก.ค. ๒๕๒๓
(“แสงสูญ” ฉบับที่ ๑๗/๒๕๒๗ : อาชีพเอ๋ย ๒ )

 

ความซ้ำซาก หมายเลข ๘
ความซ้ำซาก
ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่ายหรอก
ถ้าการซ้ำซากนั้นเป็นไปเพื่อ
ทำให้เกิดความละหน่าย
เกิดความเลิก ความพราก
ความละคลายแล้วละก้อ
ยิ่งจะต้องซ้ำซากให้ยิ่งๆ เสียด้วยซ้ำ ตะหาก
เพื่อความหน่าย ความเลิก ฯลฯ นั้นๆ
จะได้เต็ม จะได้เป็นจริง จะได้สำเร็จ จบครบ
และแล้วที่สุดแห่งที่สุดอีก
เรายังจะต้องมาทำใจไม่ให้หน่ายชัง
ไม่ให้รังเกียจสิ่งที่เราละหน่าย
ให้สัมพันธ์ต่อสิ่งที่เราละหน่ายมานั้นๆ ได้
หากสัมผัสก็สมานกันอยู่ได้
โดยไม่ทุกข์ ไม่ผลัก-ไม่ดูด ไม่ชอบ-ไม่ชัง
เป็นสุดท้ายจริงๆ ด้วยซ้ำไป -เห็นไหม?

๑๖ ก.ค. ๒๕๒๓
(“แสงสูญ” ฉบับที่ ๑๘/๒๕๒๗ : อาชีพเอ๋ย ๓)


ความซ้ำซาก หมายเลข ๙
ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย หรอก !
ถ้าความซ้ำซากนั้นคือ การสร้างสรร
คือ ความดี คือ ความเจริญจริงแล้ว
ความซ้ำซากนั้นๆ ยิ่งจะทำให้เราง่าย
เราเคย เราสบายในกิจนั้นๆ ต่างหาก
และถ้าแม้นเราโมหะ หรืออวิชชา
ก็จะทำให้ติดให้หลงเอาเสียด้วยซ้ำ
ติดหลงความได้เปรียบ-ความชั่ว ซวยหนัก
แต่ติดหลงความเสียสละ-ความดี ซวยน้อย
จึงต้องรู้ให้แท้ว่า . . . . .
อะไรๆ ในโลกนี้ ก็ไม่น่าติดน่าหลง เป็นอันขาด
แล้วเราก็ไม่ต้องมีความน่าเบื่อหน่ายใดๆ เลย
หรือ ถ้าจะมีเป็นสุดท้ายจริงๆ
ก็ความเป็นผู้เด็ดไม่ขาด ในความซ้ำซากนั้นๆ
เท่านั้นแหละ คือ “ทุกข์” เหลือ

๑๖ ก.ค. ๒๕๒๓
(“แสงสูญ” ฉบับที่ ๑๙/๒๕๒๗ : อาชีพเอ๋ย ๔)

 

ความซ้ำซาก หมายเลข ๑๐
ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย หรอก !
แต่ถ้าความซ้ำซากนั้นยิ่งทำให้ติด
คือ ทำให้ยิ่งซ่ารส ยิ่งหวงแหน ยิ่งอร่อย
ทำให้หลงเสพย์ไม่ปล่อย ไม่หยุดวน ละก้อ
จงเลิกซ้ำซากสิ่งนั้นมาก่อน
แล้วค่อยตั้งหลักเข้าไปฝึกเคยฝึกชิน
จนซ้ำซากสัมผัสสัมพันธ์กันได้ เป็นที่สุดเถิด
หากสิ่งนั้น กิจนั้น เป็นกุศล เป็นการสร้างสรร ถูกธรรมแท้ๆ

แต่ถ้าสิ่งนั้น กิจนั้น เป็นอกุศล เป็นความไม่เจริญ
ไม่สร้างสรรอะไร ไม่จำเป็นอะไร
ก็จงหยุดซ้ำซากให้ได้เด็ดขาดเถิด
หรือ ยิ่งติดสิ่งนั้น กิจนั้นอยู่เก่า-อยู่เดิม แล้วละก็
ยิ่งจะต้องหัดเลิก หัดห่างการซ้ำซากนั้นๆ มาให้ได้
จนเลิกขาดได้เป็นที่สุดเทอญ
แล้วจะใช้ภาษาเรียกว่า “เบื่อหน่ายสิ่งนั้น” ก็ได้
และก็จงเข้าใจเถอะว่า แม้อย่างนั้น . . . .
จิตเราต้อง “ไม่ชอบ-ไม่ชัง” ในอะไรเป็นที่สุด.

๑๖ ก.ค. ๒๕๒๓
(“แสงสูญ” ฉบับที่ ๒๐/๒๕๒๘ : การศึกษาเอ๋ย)