โลภจูงไป..ใจแปรเปลี่ยน (คุตติลชาดก)

ยุคสมัยโลดแล่นไกล
โลภจูงไปใจแปรเปลี่ยน
เป็นลูกศิษย์เคยเล่าเรียน
กลับเบียดเบียนผู้เป็นครู

คราวที่พระศาสดาประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ครั้งนั้นภิกษุทั้งหลายได้กล่าวกับพระเทวทัตว่า "ดูก่อนพระเทวทัต พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอาจารย์ของท่าน ท่านพึ่งพาอาศัย พระพุทธองค์ ศึกษาในธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้า ตรัสสอน จนทำฌาน ๔ (สภาวะอันประณีตยิ่ง ๔ ขั้น) ให้เกิดขึ้น ก็แล้วบัดนี้ ท่านจะมาทำตัว เป็นศัตรู ต่อผู้ที่ชื่อว่า เป็นอาจารย์นั้น ไม่สมควรเลย"

พระเทวทัตฟังแล้ว ก็กล่าวแก้เช่นนี้เสมอว่า "ดูก่อนท่านทั้งหลาย พระสมณโคดมเป็นอาจารย์ ของเราละหรือ ในเมื่อธรรมวินัยทั้งปวง เราเรียนด้วย กำลังของตนเอง ทั้งนั้นมิใช่หรือ ฌานทั้ง ๔ เราก็ทำให้เกิด ด้วยตนเอง แท้ๆ"

เหตุการณ์เป็นอย่างนี้ กระทั่ง...วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า "พระเทวทัตได้บอกคืน ความเป็นลูกศิษย์ แก่พระพุทธองค์เสียแล้วหนอ มิหนำซ้ำยังกลับ เป็นศัตรู ต่อพระพุทธองค์ อีกด้วย"

ขณะนั้นเอง พระศาสดาเสด็จผ่านมาพอดี ทรงปฏิสันถารว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกำลัง สนทนากัน ด้วยเรื่องอะไรอยู่"

ครั้นภิกษุกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "เทวทัตมิใช่บอกคืนอาจารย์ แล้วมาเป็นศัตรูต่อเรา ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน ก็เคยทำเช่นนี้มาแล้ว"

จากนั้นทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าแก่ภิกษุทั้งหลาย


ในอดีตกาล...ครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัต เสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี ปรากฎ ทารกน้อยคนหนึ่ง เกิดในตระกูล นักขับร้อง มารดาบิดาได้ตั้งชื่อให้ว่า คุตติลกุมาร

เมื่อกุมารเจริญวัยขึ้น ได้ศึกษาเล่าเรียนทางคนตรี การดีดสีตีเป่าอย่างช่ำชอง จนกระทั่ง สำเร็จศิลปะ การดนตรี และ ขับร้อง ได้เป็นศิลปินเพลง ชั้นยอด มีชื่อเสียง กระจายก้อง ไปทั่วชมพูทวีป จนได้ขนานนามว่า คุตติลคนธรรพ์ (คนธรรพ์ คือ ชาวสวรรค์ ผู้ชำนาญการ ดนตรีและขับร้อง)

คุตติละนั้นใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ประพฤติตน เป็นคนโสด ไม่ยอมแต่งงาน กับหญิงใด และมีความกตัญญู กตเวที ต่อพ่อแม่ยิ่งนัก แม้ภายหลังเมื่อพ่อแม่ล้มป่วยกระทั่งตาบอด คุตติละก็ยัง เลี้ยงดูพ่อแม่ อย่างเอาใจใส่ เป็นอย่างดี

ในกาลนั้นเอง เหล่าพ่อค้าชาวพาราณสี ได้เดินทางไปค้าขายสินค้า ที่เมืองอุชเชนี ซึ่งกำลังจะจัดให้มี มหรสพ การละเล่นต่างๆ ขึ้น จึงเรี่ยไรกันหาดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ตลอดจน ของขบเคี้ยว เป็นอันมาก โดยมาประชุมกัน ณ ลานกว้าง แล้วให้จัดหาว่าจ้าง นักดนตรีชั้นยอด มาแสดงสักคน

ที่เมืองอุชเชนีนี้เอง มีเด็กหนุ่ม นักร้องคนหนึ่งชื่อ มุสิละ ดังนั้นพวกพ่อค้าจึงจ้างเขา ให้มาขับร้องและเล่น ดนตรีให้ฟัง

ในงานนี้ แม้มุสิละจะพยายามดีดพิณ ให้มีความไพเราะสุดฝีมือปานใดก็ตาม เสียงพิณ ที่มากระทบหู ของเหล่าพ่อค้านั้น ก็ปรากฎดุจดัง เสียงเกาเสื่อรำแพน ฉะนั้น เพราะพ่อค้า ชาวพาราณสีทั้งหมด เคยได้ฟัง ดนตรีอันไพเราะ จับจิตจับใจ จากการดีดสีของ คุตติลคนธรรพ์ มาก่อนแล้ว แม้สักคนเดียว จึงมิได้แสดงอาการ ชื่นชม หรือ ชอบใจ พิณของมุสิละเลย

มุสิละเมื่อเห็นบรรดาพ่อค้าเฉยเมย มิได้ยินดีกับเสียงพิณของตน จึงคิดว่า "เราคงจะดีดพิณ ที่ขันสายตึงเกินไป พวกพ่อค้านี้ จึงไม่สนใจเป็นแน่ เราจะลดลงมา ให้เหลือระดับปานกลาง"

แม้มุสิละดีดพิณเสียงกลางแล้ว พวกพ่อค้าก็ยังนั่งฟังเฉยอยู่ เขาจึงคิดเอาเองว่า "พวกนี้คงฟังดนตรีไม่เป็น ไม่รู้จักความไพเราะของเสียงพิณ"

คิดดังนั้นแล้ว มุสิละจึงแกล้งทำ สายพิณให้หย่อน แล้วดีดพิณไป อย่างทำเป็น ไม่รู้เรื่องอะไร แต่พวกพ่อค้า ก็ยังคงเฉยเมยดังเดิม มิได้ว่ากล่าวอย่างใดเลย

ในที่สุดมุสิละก็อดทนต่อไปไม่ได้ จึงต้องกล่าวขึ้นว่า "ดูก่อนพ่อค้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ดีดพิณให้ฟังแล้ว แต่พวกท่าน ก็นั่งนิ่งเฉย ไม่เป็นที่พอ ใจละหรือ"

พวกพ่อค้าจึงพากันตอบว่า "ก็ท่านดีดพิณประสาอะไรของท่านเล่า พวกเราฟังแล้ว มิเข้าใจเลยว่า ท่านขึ้นเสียง พิณดีดสีอะไรอยู่"

มุสิละโดนหมิ่นเช่นนั้น ก็สอนคำออกไปทันที "พวกท่านไม่ยินดีในเสียงพิณ เพราะไม่รู้จักฟัง หรือเพราะว่า ได้เคยฟังอาจารย์ ที่เก่งกว่าข้าพเจ้ามาแล้ว"

พวกพ่อค้าก็ตอบตามตรงว่า "เสียงพิณของท่านนั้น ฟังแล้วเหมือนสตรีกล่อมเด็ก เมื่อเทียบกับที่พวกเราได้เคยฟัง เสียงพิณ ของคุตติลคนธรรพ์ แห่งพาราณสี"

มุสิละได้ฟังดังนั้น ถึงกับชะงักงันสักครู่ แล้วกล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงรับเอาค่าจ้างที่ให้มาคืนไป ข้าพเจ้า ไม่ต้องการ ค่าจ้างนี้ ก็ แต่ว่าหากพวกท่าน จะเดินทางกลับพาราณสีเมื่อใด ช่วยพาข้าพเจ้าไปด้วย"

ดังนั้นเอง ในเวลากลับพวกพ่อค้าจึงพามุสิละมาด้วย แล้วช่วยพามาถึงที่อยู่ คุตติลคนธรรพ์ จากนั้น พวกพ่อค้า จึงค่อยแยกย้าย กลับบ้านของตน มุสิละก้าวเข้าไปในบ้าน ของคุตติลคนธรรพ์ แต่ไม่พบใคร เห็นเพียงพิณคู่มือ ของคุตติลวางอยู่ จึงยกขึ้นมาลองดีดดู เสียงพิณจึงกังวานขึ้น เป็นเหตุให้ พ่อแม่ผู้ตาบอดของ คุตติลคนธรรพ์ กล่าวเสียงดัง ออกมาจากในห้องว่า "สงสัยพวกหนูจะมากัดสายพิณเล่นซะแล้ว"

มุสิละได้ยินดังนั้นจึงวางพิณลง แล้วเข้าไปไหว้ท่านทั้งสอง ทักทายแนะนำตัวเอง บอกจุดประสงค์ ในการมา ให้รู้ว่า ต้องการจะขอเรียน ศิลปะการดนตรี จากคุตติลคนธรรพ์ ซึ่ง ขณะนั้น คุตติละออกไปทำธุระ นอกบ้านอยู่ มุสิละ จึงนั่งรอ ด้วยการพูดคุย เอาใจเป็นอย่างดีกับ พ่อแม่ จนกระทั่ง คุตติลคนธรรพ์กลับมา จึงปฏิสันถาร บอกเหตุผล ที่ตนต้องการ ให้รับรู้

ฝ่ายคุตติละนั้น ได้สังเกตบุคลิกท่าทาง ลีลาอาการ จริตนิสัยของมุสิละแล้ว ให้มีความรู้สึกว่า มุสิละเป็นคนไม่ดีนัก ไม่น่าไว้ใจ เมื่อคิดเช่นนี้จึงกล่าวว่า "อย่าเลยนะ เจ้าจงไปหาอาจารย์อื่นเถิด ศิลปะของเรานี้ ไม่เหมาะสม แก่เจ้าดอก"

มุสิละได้ยินอย่างนั้น เห็นว่าคุตติละไม่ยอมรับตนเป็นศิษย์แน่ จึงรีบคลานไปจับเท้าพ่อ แม่ทั้งสองของคุตติละ ใช้มือลูบไล้ ให้สงสารตน แล้วอ้อนวอนว่า "ขอคุณพ่อคุณแม่ช่วยมีเมตตากรุณา ให้ลูกชายของท่าน รับข้าพเจ้า เป็นศิษย์ ถ่ายทอด ศิลปะการดนตรี ให้ด้วยเถิด"

เมื่อเป็นเช่นนี้ คุตติลคนธรรพ์ก็ถ่ายทอดวิชาดนตรี ตลอดจนนำพามุสิละติดตามไปใน พระราชวังด้วย จึงทำให้มุสิละ พลอยคุ้นเคย กับพระเจ้าพรหมทัตมากขึ้น และในการอบรมสั่งสอนนั้น คุตติละสอนวิชาให้ทุกอย่าง ที่ตนมีความรู้ อยู่ทั้งหมด โดยไม่ปิดบัง อำพราง สิ่งใดไว้เลย จนกระทั่งวันหนึ่ง กล่าวว่า "นี่แน่ะมุสิละ เจ้าได้เรียน ศิลปะการดนตรี ของเราจบ หมดสิ้นแล้ว อย่างช่ำชอง บัดนี้ เจ้าจะทำอย่างไรต่อไป"

มุสิละคิดในใจว่า "ตอนนี้เราเก่งมากแล้ว กรุงพาราณสีนี้ ก็เป็นเมืองใหญ่เลอเลิศในชมพูทวีป ขณะนี้อาจารย์ ก็เริ่มมีวัย ชราภาพแล้ว ฉะนั้น เราควรจะอยู่ ในเมืองนี้แหละ" จึงบอกกับอาจารย์ว่า "ข้าพเจ้า จะรับราชการ อยู่ในเมืองนี้"

คุตติลคนธรรพ์รับรู้ดังนั้น จึงเข้าไปเฝ้าพระราชา แล้วกราบทูลให้ทรงทราบว่า "ลูกศิษย์ของข้าพระองค์ มีใจปรารถนา จะเข้ารับราชการ เพื่อสนอง พระคุณแด่พระองค์ ขอพระองค์ทรงโปรดพระกรุณา พิจารณาเบี้ยหวัด ให้แก่เขาด้วย พระเจ้าข้า"

พระราชาทรงอนุเคราะห์ รับสั่งว่า "ดีแล้ว เราจะให้เขาได้ครึ่งหนึ่ง ของเบี้ยหวัดที่ท่านได้"

คุตติละ จึงนำเรื่องนี้ กลับมาบอก แต่มุสิละกลับกล่าวว่า "ข้าพเจ้าจะเข้ารับราชการ ก็ต่อเมื่อ ได้รับเบี้ยหวัด เท่ากับอาจารย์เท่านั้น ถ้าหาก ไม่ได้รับเบี้ยหวัดเท่า ก็จะไม่ขอรับราชการเลย"

"อ้าว! เพราะเหตุใดกันเล่า"

"ก็เพราะ ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ศิลปะต่างๆ เท่าที่ท่านอาจารย์มีอยู่ จนหมดสิ้นแล้ว มิใช่ หรือ"

"อืม! ถูกแล้ว ความรู้ของเจ้ารู้เท่าเทียมที่เรารู้ทั้งหมด"

มุสิละจึงย้ำคำหนักแน่นว่า "ก็ในเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เหตุใดพระราชา จึงพระราชทานเบี้ยหวัด ให้แก่ข้าพเจ้า เพียงครึ่งหนึ่ง ของอาจารย์เล่า"

คุตติลคนธรรพ์จึงต้องนำความนี้ ไปกราบทูลแด่พระราชาอีกครั้ง พระเจ้าพรหมทัต ได้สดับดังนั้น ก็ตรัสว่า "ถ้าหากเขาสามารถ แสดงศิลปะการดนตรี มีฝีมือทัดเทียมกับท่านได้ เราก็จะให้เบี้ยหวัดแก่เขา เท่ากับท่าน"

เมื่อมุสิละ ได้รับการแจ้งบอกดังนั้น จากอาจารย์แล้ว ก็เข้าเฝ้าพระราชา เพื่อกราบทูลว่า "ข้าพระองค์ จะแสดงฝีมือ ให้พระองค์ ได้ทรงทอดพระเนตร พระเจ้าข้า โดยจะขอ แข่งขันกับอาจารย์ให้ชม ในวันที่ ๗ นับแต่วันนี้ไป"

พระเจ้าพรหมทัต ทรงทัดทานตำหนิว่า "อันการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกับอาจารย์นั้นไม่ดี ไม่สมควรเลย เจ้าคิด จะทำ เช่นนั้น จริงๆหรือ"

มุสิละยังคงยืนยันว่า "ข้าแต่พระองค์ โปรดจัดให้ข้าพระองค์ได้แสดงฝีมือ แข่งเทียบกับอาจารย์ ในวันที่ ๗ นั้นเถิด พระองค์จะได้ ทรงทราบความจริงว่า ฝีมือใคร จะยอดเยี่ยมกว่ากัน"

เมื่อเป็นเช่นนี้ พระเจ้าพรหมทัตจึงรับสั่งให้ประกาศทั่วพระนครว่า "ในวันที่เจ็ดนับแต่วันนี้ไป คุตติลคนธรรพ์ กับลูกศิษย์ จะแสดงศิลปะการดนตรี แข่งขันกัน ที่ประตูวัว ชาวเมืองทั้งหลายผู้สนใจ จงมาประชุม ฟังการประชัน ดนตรีเถิด"

ฝ่ายคุตติละเมื่อทราบข่าวแล้ว ก็บังเกิดวิตกกังวลว่า "ลูกศิษย์ของเราคนนี้ ยังหนุ่มแน่น มีกำลังแข็งแรงอยู่ ส่วนตัวเราสิ แก่ชราลง กำลังกายก็ถดถอย กิริยาอาการ ก็ไม่กระฉับกระเฉง เหมือนเก่าก่อน ในการแข่งขันนั้น หากลูกศิษย์ แพ้อาจารย์ ย่อมไม่แปลกประหลาดอะไร แต่ถ้าอาจารย์เกิดพ่ายแพ้ลูกศิษย์เข้า ก็น่าละอาย ขายหน้า ยิ่งนัก เห็นทีเรา จะต้องหลบหน้า หนีไปเสียในป่า คงจะดีกว่า"

ท่ามกลางความคิดลังเลสับสนนั้น คุตติลคนธรรพ์กลัวว่า อาจจะพ่ายแพ้ต้องอับอาย จึงหลบเข้าไปพัก อยู่ในป่า ครั้นอยู่ในป่า ก็เกรงกลัวการทำผิด ต่อพระกระแสรับสั่ง ของพระราชา ที่ได้ประกาศแล้ว จึงกลับมาพัก ที่บ้านอีก ซึ่งกระทำการ กลับไปกลับมา ดังนี้ทุกวัน จนย่างเข้าวันที่ ๖ ด้วยอาการเร่าร้อน กระวนกระวายใจ

ตอนนั้นเอง...ขณะได้รับทุกข์ใหญ่หลวงอยู่ในป่า ท้าวสักกะจอมเทพ (หัวหน้าใหญ่ของ ผู้มีจิตใจสูง) ทรงรับรู้เหตุการณ์นั้นแล้ว จึงเสด็จมาปรากฎให้เห็นเป็นรัศมีเรืองรองสว่าง ไสว ตรัสกับคุตติลคนธรรพ์ว่า "เราคือเทวดาผู้เป็นใหญ่ จะเป็นที่พึ่งให้แก่ท่าน ท่านจงบอกความทุกข์ให้เราฟัง Šแล้วเราจะช่วยท่านได้"

คุตติละยินดียิ่งนัก รีบก้มลงกราบแล้วเอ่ยว่า "ข้าพระองค์ได้สอนศิษย์ชื่อ มุสิละ ให้เรียนวิชาดีดพิณ ๗ สาย จนกระทั่ง เขาสามารถดีดพิณ ให้มีเสียงไพเราะ จับจิตจับใจคนฟัง แต่แล้ว เขากลับมาขันดีดพิณ แข่งสู้กับข้า พระองค์ ข้าแต่ท่านจอมเทพ พระองค์โปรดเป็นที่พึ่ง ให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด"

ท้าวสักกะตรัสปลอบประโลมว่า "อย่ากลัวไปเลย เราจะเป็นที่พึ่งของท่าน จะช่วยเหลือท่านเอง เพราะเราเป็น ผู้บูชาคุณ ของอาจารย์ ฉะนั้น ศิษย์จะไม่ชนะท่านได้หรอก แต่ท่านจะชนะศิษย์" แล้วท้าวสักกะก็ทรงแนะนำวิธีต่างๆ ทั้งยังมอบห่วงทองคำให้อีก ๓ ห่วง เพื่อใช้ในการแข่งขัน ก่อนจะเสด็จกลับได้ตรัสย้ำไว้ว่า "ท่านจงกลับไปพัก ที่บ้านเถิด ทำใจให้สงบ อย่าได้กังวล หวั่นเกรงใดๆ อีกเลย"

ครั้นถึงเวลาเช้าวันรุ่งขึ้น... พระราชาเสด็จลงจากปราสาท แล้วประทับนั่ง กลางบัลลังก์ ณ มณฑป ที่ประดับประดาไว้ ใกล้ประตูพระราชวัง เหล่าอำมาตย์ และสตรีอีก หนึ่งหมื่นนาง พราหมณ์ ชาวเมือง ต่างมา ร่วมชุมนุม กันคับคั่ง

เช้านี้ คุตติลคนธรรพ์อาบน้ำลูบไล้กายแล้ว บริโภคอาหารรสเลิศต่างๆ จากนั้นก็ถือพิณ คู่มือออกจากบ้าน ตรงไปยังที่นั่งของตน ที่เขาจัดไว้ ส่วนมุสละนั้น ได้มานั่งรอ อยู่ก่อนแล้ว โดยมีหมู่มหาชนทั้งมวล แวดล้อม มุงดู แน่นขนัด

พอถึงเวลา...ทั้งสองก็ประชันดีดพิณทันที แสดงฝีมืออย่างทัดเทียมกัน จนทำให้ มหาชนโห่ร้อง ยินดีกับการบรรเลง อันไพเราะนั้น

เมื่อฝีมือเสมอกัน คุตติลคนธรรพ์ จึงทำตามที่ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงบอกไว้ โดยเด็ด สายพิณสายที่ ๑ ทิ้งไป เมื่อมุสละเห็นดังนั้น จึงปลดสายพิณสายที่ ๑ ของตนออกไปบ้าง แล้วทำการบรรเลงพิณ แข่งกันอีก

ตอนนี้เอง คุตติละ ก็เด็ดสายพิณสายที่ ๒, ๓, ๔,๕,๖,๗ ทิ้งไปอีก เป็นลำดับ ซึ่งมุสิละ ก็ทำตามเช่นกัน แต่เสียงพิณ ของคุตติละนั้น แม้เหลือเพียงคันพิณเปล่าๆ ก็ยังคงดัง กังวานก้อง ไปทั่วพระนคร ส่วนเสียงพิณ ของมุสิละนั้น ค่อยๆมีเสียง ลดน้อยลง จนเมื่อเหลือคัน พิณเปล่า ก็ไร้เสียงโดยสิ้นเชิง

และแล้ว...เสียงโห่ร้องและธงก็โบกสะบัดขึ้นทุกทิศทาง คุตติลคนธรรพ์เห็นเป็น โอกาสเหมาะแล้ว จึงโยนห่วงทองที่ ๑ ขึ้นไปในอากาศ ทันใดนั้น...นางอัปสร (นางผู้มีจิตใจสูง) ๓๐๐ นาง ก็ปรากฎออกมาขับฟ้อน เมื่อโยนห่วงทองที่ ๒ นางอัปสรอีก ๓๐๐ นาง ก็ลอยมาฟ้อนรำ เบื้องหน้าพิณของ คุตติลคนธรรพ์ ครั้นโยนห่วงที่ ๓ นางอัปสรอีก ๓๐๐ นาง ก็ลงมาฟ้อนรำต่อหน้าผู้ชมทั้งหลาย บนลานแข่งขันนั้น นั่นคือ ความพ่ายแพ้ ตกอยู่กับมุสิละ อย่างเด็ดขาด ชัดเจนแล้ว

เมื่อผลออกมาเช่นนี้ ฝูงชนก็พากันลุกฮือขึ้น ส่งเสียงดุด่าคุกคามมุสิละอย่างรุนแรง "เจ้ากล้าแข็งข้อกับอาจารย์ อวดเก่งทำตัวตีเสมออาจารย์ ไม่เคารพอาจารย์ ไม่ รู้จักประมาณตน"

จากนั้นก็ขว้างก้อนดิน ก้อนหิน ท่อนไม้ ใส่มุสิละมากมาย ทำให้ถึงตายได้ ส่วนคุตติลคนธรรพ์นั้น ทั้งพระราชา และชาวเมือง พากันโยนทรัพย์ให้มากมาย ดุจฝน ลูกเห็บ โปรยปรายลงมา

แล้วพากันยกย่องสรรเสริญในฝีมือดนตรีของคุตติละว่า เป็นเลิศยอดเยี่ยมกว่าใครๆ ในชมพูทวีป อีกทั้งพรรณาถึงศีล และ คุณธรรม อันดีงาม ของคุตติลคนธรรพ์ ที่มีความกตัญญูกตเวที ต่อพ่อแม่ผู้มีพระคุณ

พระศาสดาทรงนำชาดกมาเทศนาจบแล้วตรัสว่า
"มุสิละในครั้งนั้น คือพระเทวทัตในบัดนี้ ท้าวสักกะคือพระอนุรุทในบัดนี้ พระเจ้า พรหมทัตคือ พระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนคุตติลคนธรรพ์ คือเราตถาคตเอง"

*ณวมพุทธ*
(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๗ ข้อ ๓๓๖ พระสูตรและอรรถกถา แปลเล่ม ๕๗ หน้า ๔๘๔)

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๐ มีนาคม - เมษายน ๒๕๔๕)