เราได้อะไรจากหนังสือกามนิต
เกี่ยวกับพุทธศาสนา
ยิ่งยศ มณฑลผลิน

เมื่อผมเรียนหนังสือชั้นมัธยมปีที่ ๖ มีหนังสือเรียนภาษาไทย เรื่องกามนิต ภาคบนดิน เมื่อเรียนอยู่ ชั้นมัธยม ปีที่ ๔ ถึงชั้นมัธยม ปีที่ ๕ (ช่วงปี ๒๔๘๑-๒๔๘๙) ได้เรียนวรรณคดี เช่น สังข์ทองตอนตีคลี รามเกียรติ์ ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ อิเหนาตอน ศึกกุหมังกุหนิง ราชาธิราช ตอนศึกฝรั่งมังฆ้อง สามก๊ก ตอน แตกทัพเรือ นิทราชาคริต เวนิชวานิช หนังสือในเชิงนวนิยายนั้น ทุกโรงเรียน ห้ามนักเรียน นำเข้ามาอ่าน เพราะถือว่า เป็นนิยายประโลมโลก อ่านแล้ วเด็กจะใจแตก ชิงสุกก่อนห่าม ไม่ตั้งใจเรียน ใครเอาเข้ามา ครูพบ จะโดนตี และยังริบหนังสือ ไปเป็นสมบัติของครู นักเรียนเพิ่งมาเจอะเจอ หนังสือเรียน ที่มีเรื่อง รักๆใคร่ๆ ก็เรื่องกามนิต นี่แหละ เห็นจะเป็นเพราะ อยู่ชั้นมัธยมปี่ที่ ๖ พอจะรู้รักษา ตัวรอดได้แล้ว อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการ อุตส่าห์เปลี่ยนชื่อ หนังสือกามนิต เป็นวาสิฏฐี คงจะเกรงกลัว กับคำว่า "กาม"

ความจริงหากท่านหยิบหนังสือมาอ่าน พิจารณาเฉพาะ ตอนที่เกีjยวกับ พระพุทธศาสนา ท่านจะได้อะไร มากทีเดียว ซึ่งจะขอคัดตัดตอน มาให้อ่าน

ในคำนำที่ผู้เรียบเรียงคือ เสถียร โกเศศ และ นาคะประทีป เขียนไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ ว่า "ท่านผู้รจนา เรื่องนั้นๆ ย่อมกล่าวถึง พระองค์ด้วยความเคารพ เป็นที่ตั้ง"

ในบทที่ ๑ ขึ้นต้นอย่างไพเราะว่า "ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จลง มาตรัสรู้ ในมนุษย์โลกแล้ว และถึงวาระ อันควรจะเสด็จ เข้าสู่ปรินิพพาน พระองค์ได้เสด็จ สู่ที่จาริก ไปใน คามชนบท ราชธานีต่างๆ แห่งแควhนมคธ จนบรรลุกรุงราชคฤห์มหานคร"

ได้บรรยายบรรยากาศในวันนั้นว่า "ขณะพระองค์เสด็จมาใกล้เบญจคีรีนคร คือราชคฤห์ เป็นเวลา จวนสิ้น ทิวาวาร แดดในยามเย็น กำลังอ่อนลง สู่สมัยใกล้วิกาล ทอแสงแผ่ซ่าน ไปยังสาลีเกษตร แลละลิ่ว เห็นเป็นทาง สว่างไปทั่วประเทศ สุดสายตา ดูประหนึ่ง หัตถ์ทิพย์ มาปกแผ่ อำนวยสวัสดี เบื้องบน มีกลุ่มเมฆ เป็นคลื่นซ้อนซับ สลับกัน เป็นทิวแถว ต้องแสงแดด จับเป็นสีระยับวะวับแวว ประหนึ่ง เอาทรายทอง ไปโปรยปราย เลื่อนลอยลิ่วๆเรี่ยๆ รายลง จดขอบฟ้า ชาวนาและโคก็เมื่อยล้า ด้วยตรากตรำ ทำงาน ต่างพากันดุ่มๆ เดินกลับเคหสถาน เห็นไรๆ เงาหมู่ไม้อันโดดเดี่ยว อยู่กอเดียว ก็ยืดยาว ออกทุกทีๆ มีขอบ ปริมณฑล เป็นรัศมี แห่งสีรุ้ง"

อีกตอนหนึ่งกล่าวว่า "ครั้งกระโน้น พระองค์เป็นผู้แสวงหาความหลุดพ้นทุกข์ ต้องต่อสู้กับ กิเลสมาร อันหนาแน่น ต้องกระทำทุกรกิริยา ซึ่งมนุษย์อื่น ที่แกล้วกล้าสามารถก็ย่อท้อ ทำไม่ได้ จนภายหลัง ทรงเห็นแจ้ง ซึ่งสังสารทุกข์ เสด็จออกจากทุกข์แล้ว ได้ตรัสรู้เป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันความเป็นไป ของพระองค์ ครั้งกระโน้น ตลอดมาจนครั้งกระนี้ ก็เหมือนดั่ง กลางวันในฤดูฝน พอรุ่งเช้า มีแสงแดด มาแผดจ้า แล้วนภากาศ พะยับอับแสง เกิดพายุแรง ฟ้าคะนอง ก้องสะท้าน ซ่านด้วยเม็ดฝน ครั้นแล้ว ท้องฟ้า ก็หายมืดมน กลับสว่างสงบเงียบ มีวิเวกเหมือนภูมิประเทศ ในยามเย็น ที่กล่าวแล้ว จนกว่า พระอาทิตย์ จะอัสดงดิ่งหาย ไปในขอบฟ้า

อันพระอาทิตย์จะอัสดงลงฉันใด สำหรับพระตถาคตในขณะนี้ ก็มีฉันนั้น พระองค์ได้ ทรงสั่งสอน เวไนยสัตว์ ให้เห็นแจ้ง ซึ่งกองทุกข์ ทรงแสดงธรรม อันแท้จริง ให้ประจักษ์ และ ประทานหลัก ความหลุดพ้น จากทุกข์ แก่มนุษย์นิกรทั่วโลกธาตุ มีบริษัทสี่ เป็นผู้สืบศาสโนวาท เผยแพร่พระธรรม ของพระองค์ ให้แพร่หลาย และ ประพฤติปฏิบัติ ด้วยกาย วาจา ใจ รักษาไว้ ตลอดจิรกาลาวสาน

แม้เมื่อพระองค์ประทับอยู่ขณะนั้น ก็ได้ทรงจินตนาการ อันเกิดขึ้นด้วย พระปริวิตก ถึงที่ได้เสด็จมา โดดเดี่ยว ตลอดวันว่า "ถึงเวลาแล้ว ในไม่ช้า เราก็จะละสังขารนี้ไป คือสังสาระ ซึ่งเราได้ถ่ายถอนตน หลุดพ้นแล้ว ตลอดจน ยังผู้ที่มาภายหลัง ให้หลุดพ้นด้วย แล้วเข้าสู่ความดับสนิท ด้วยอำนาจ แห่งปรินิพพานธาตุ"

เรื่องได้ดำเนินมาถึงตอนที่กามนิต ได้พบพระพุทธองค์ ในขณะทรงประทับแรมคืน ที่บ้านช่างหม้อ ได้ทรงแสดงธรรม ให้แก่กามนิต

"พระธรรมที่ทรงประกาศ คือธรรมอันให้แจ้งความจริงอย่างยิ่ง สี่ประการ สี่ประการนั้น คืออะไร ได้แก่ ความจริง อย่างยิ่ง คือทุกข์ ความจริงอย่างยิ่ง คือเหตุของทุกข์ ความจริงอย่างยิ่ง คือการดับทุกข์ทั้งสิ้น และ ความจริง อย่างยิ่ง คือทางที่ไปถึง ความดับทุกข์ทั้งสิ้น

ดูก่อนภราดา ความจริงอย่างยิ่ง คือทุกข์นั้นอย่างไร ได้แก่ ความเกิดมานี้เป็นทุกข์ ความที่ชีวิต ล่วงไปๆ เป็นทุกข์ ความเจ็บป่วยเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความอาลัย ความคร่ำครวญ ความทนลำบาก ความเสียใจ และความคับใจ ล้วนเป็นทุกข์ ความพลัดพราก จากสิ่งที่รัก เป็นทุกข์ ความประจวบ กับสิ่งที่ไม่รัก เป็นทุกข์ ความที่ไม่สมประสงค์เป็นทุกข์ รวมความ บรรดาลักษณะต่างๆ เพื่อความยึดถือ ผูกพัน ย่อมนำทุกข์ มาให้ทั้งนั้น" ดูก่อนภราดา นี่แหละความจริงอย่างยิ่ง คือทุกข์

"ก็แหละความจริงอย่างยิ่ง คือเหตุของทุกข์นั้นอย่างไร ได้แก่ ความกระหาย ซึ่งทำให้เกิด มีสิ่งต่างๆ อันความเพลิดเพลินใจ และ ความร่าน เกิดตามไปด้วย เพลิดเพลินนัก ในอารมณ์นั้นๆ คือกระหาย อยากให้มีไว้บ้าง กระหายอยากให้คงอยู่บ้าง กระหายอยากให้พ้นไปบ้าง ดูก่อนภราดา นี้ความจริงอย่างยิ่ง คือเหตุของทุกข์

ก็แหละความจริงอย่างยิ่ง คือการดับทุกข์ทั้งสิ้นนั้นอย่างไร ได้แก่ ความดับสนิท แห่งความกระหาย นี้เอง ไม่ใช่อื่น เสียสละได้ ความปลดเสียได้ ซึ่งความกระหายนั่นแหละ และ การที่ความกระหายนั้น ไม่ติดพันอยู่ ดูก่อนภราดา นี่แหละ ความจริงอย่างยิ่ง คือการดับทุกข์ทั้งสิ้น

ก็แหละความจริงอย่างยิ่งคือทางไปถึงความดับทุกข์ทั้งสิ้นนั้นอย่างไร ได้แก่ ทางอันประเสริฐ มีองค์แปด คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ ดูก่อนภราดา นี่แหละ ความจริงอย่างยิ่ง คือทางไปถึง ความดับทุกข์ทั้งสิ้น"

ในท้ายแห่งเทศนา พระองค์ทรงประมวลพระธรรมบรรยายทั้งหมด ในคราวเดียวกัน เสมือนด้วยเรือน อันตะล่อมขึ้น ด้วยยอดเด่น เห็นสง่างาม รุ่งเรืองได้แต่ไกล ด้วยพระวาจา ว่าดั่งนี้ "ดูก่อนอาคันตุกะ ผู้แสวงบุณย์ ความเกาะเกี่ยว ใคร่กระหายต่อความเกิด ย่อมเป็นเหตุ ให้ถึงความเกิด หากตัด ความใคร่ กระหาย เช่นนั้นเสียได้ขาด ท่านก็ย่อมไม่เกิด ในภพไรๆอีก

อันภิกษุ ผู้พ้นจากความเกาะเกี่ยวยึดถือ พึงใคร่ในอารมณ์ไรๆแล้ว ย่อมบังเกิดญาณ ความรู้แจ้ง ขึ้นภายในจิต อันสงบแจ่มใส ปราศจากอวิชชา ความมืดมัวว่า "วิมุติความหลุดพ้นนั้น บัดนี้เป็น ผลประจักษ์แล้ว นี้คือ ความเกิด เป็นครั้งที่สุด สิ้นความเกิดใหม่ ในภพโน้นแล้ว"

ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้า มิได้ชี้ความดับทุกข์ ว่าเป็นสุดทางปฏิบัติ หรือมิได้สอน ให้กำหนดรู้ความทุกข์ เป็นทางปฏิบัติก่อน เอาแต่พร่ำด้วยวิธี ยกสมบัติสวรรค์ ในชาติหน้า มาชมเพื่อล่อใจว่า เมื่อตายแล้ว จะไปเกิดใหม่ ในสิบหกชั้นฟ้า ได้เสวยศฤงคาร สมบัติสวรรค์ ในชาติหน้านั้น มีแต่ความสุข ได้อย่างใจ ทุกประการ เพียงเท่านี้ จะมีผลเป็นอย่างไร คงมีสาวก อเนกอนันต์ มีความเชื่อถือยินดี รับรองคำสั่งสอน ไว้โดยเร็ว และ คงเพียรพยายาม เพื่อความหลุดพ้น จากโลกมนุษย์ ด้วยความเต็มใจ แต่หารู้สึกไม่ว่า ควรเพียร เพื่อหลุดพ้น แต่เป็นไป ในอาการเช่นนี้ ย่อมเป็นการรั้งเอาตัณหา คือความร่านกระหาย ติดไปด้วยกัน กับตน อย่างแน่นหนา ต้องเวียนไปเวียนมา ในเหตุแห่งความทุกข์ จะหลุดพ้นไป ไม่พ้นเลย เปรียบเหมือน สุนัขเฝ้าบ้าน ผูกล่ามไว้กับเสา พยายามจะให้ หลุดพ้น เครื่องล่ามไป แต่ก็รั้งเอา เครื่องล่ามนั้น ไปด้วยรอบๆเสา ก็หาหลุด ไปได้ไม่ อุปมาฉันใด ภิกษุผู้ตั้งความเพียร เพียงไรก็ตาม แต่เมื่อรั้ง เอาตัณหา ต้นเหตุทุกข์ มาเพลินใจไว้ด้วย ก็ต้องวนเวียน รับทุกข์แล้วทุกข์เล่า ไม่ออกจากภพ น้อยใหญ่ไปได้ มีอุปไมย อย่างเดียวกัน

อีกตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่กามนิต "ดูก่อนอาคันตุกะ ทั้งนี้ก็เช่นเด็ก ไม่เดียงสา คนหนึ่ง กำลังยืนอยู่ เด็กคนนี้ ปวดฟัน เจ็บร้าวไปหมด พอเห็นแพทย์ผู้มีความรู้ เชี่ยวชาญ ก็วิ่งไปหา และบอกถึงความทุกข์ ให้ฟังว่า ข้าพเจ้าขอความกรุณา ให้ใช้ความรู้ของท่าน ช่วยทำให้รู้สึกเกิดปีติสุข แทนความเจ็บปวด ที่มีอยู่ ในขณะนี้" แพทย์ตอบว่า "ความรู้ที่มีอยู่ ก็คือถอนเหตุ เจ็บปวดนั้นเสีย ที่จะทำให้เกิดสุข ทั้งๆไม่ถอน เหตุเจ็บปวดเสียก่อน ย่อมไม่ได้" แต่เด็กนั้นไม่พอใจคร่ำครวญว่า "ได้ทนความเจ็บปวด รวดร้าว ที่ฟัน มานานแล้ว จึงควรได้รับรส แห่งความบันเทิงสุขแทน และก็ได้ทราบว่า มีแพทย์วิเศษ ที่สามารถทำให้เกิด ความสุขได้ โดยไม่ต้อง ถอนฟัน ที่เจ็บออก เข้าใจว่า ท่านคือแพทย์วิเศษ ที่อาจทำให้ เมื่อท่านไม่สามารถ จะทำได้ ก็ต้องไปหาแพทย์อื่น" ว่าแล้ว เด็กคนนั้นก็ไป มีแพทย์เถื่อน ทำปาฏิหาริย์เล่นกลได้ มาจากแคว้น คันธาระ ตีกลอง ร้องโฆษณาว่า "ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง ความไม่มีโรค เป็นที่มุ่งของมนุษย์ ผู้ใดมีความเจ็บป่วย ทนทุกข์เวทนา ร้ายแรงเพียงไร ก็อาจรักษา ให้กลับเป็น ผู้มีแต่ความสุข ความบันเทิง ทั่วทั้ง สรรพกายได้ โดยเสียค่ารักษา อันย่อมเยาว์ เด็กเจ็บฟัน วิ่งไปหาแพทย์เล่นกล และขอให้ช่วย เปลี่ยนความทุกข์ ให้เป็นความบันเทิงสุขด้วย แพทย์เล่นกล ก็อวดอ้าง และรับรองว่า ตนมีความรู้ ความชำนาญ ในทางนี้ ว่าแล้ว เรียกค่ารักษาเสียก่อน เอานิ้วแตะที่ฟัน เสกคาถาอาคม ตามพิธี เด็กนั้น รู้สึกหายเจ็บปวด วิ่งกลับบ้าน โดยความแช่มชื่น รื่นเริงเป็นสุข

"ต่อมาไม่ช้า ครั้นความรู้สึกเป็นสุขนั้นค่อยจืดจางลงไป ความเจ็บปวดก็มาแทนที่อีก ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะ ไม่ถอน เอาต้นเหตุ แห่งความเจ็บปวดนั้น ออกเสียก่อน"

วาสิฏฐีนางเอกของเรื่องเล่าว่า ได้เห็นพระพุทธองค์ครั้งแรก หลังจากที่ได้รอนแรมมาไกล เพื่อเฝ้าพระองค์ ณ ป่าประดู่ลาย ในจังหวัดโกสัมพี "เห็นพระภิกษุสูงอายุองค์หนึ่ง ออกมาจากป่า ทรวดทรง ผึ่งผาย สมเป็น เชื้อกษัตริย์ มีลักษณะสูง พระพักตร์อิ่มด้วยศานติ ทันใดนั้น ฉันก็นึกขึ้น ทันทีว่า องค์นี้กระมังหนอ คือ พระมุนี ศากยบุตร ซึ่งเขาขนาน พระนามว่า "พระพุทธเจ้า"

ในพระหัตถ์กำใบประดู่ลาย ทรงหันไปทางหมู่พระภิกษุ และตรัสว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันใบไม้ที่เรากำไว้ กับใบไม้ที่มีอยู่ในป่าโน้น ข้างไหนจะมากกว่ากัน"

พระภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า

"ใบไม้ในพระหัตถ์มีจำนวนน้อยกว่าที่มีอยู่ในป่าโน้น พระเจ้าข้า" ณ บัดนี้ ฉันทราบแล้วว่า ผู้กล่าวนั้น คือ พระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสต่อไปว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจริงก็เช่นนั้น สิ่งที่เราตถาคตได้เห็นแจ้งแล้ว แต่มิได้แสดง แก่พวกท่าน ยังมีมากกว่า ที่ได้แสดงแล้ว มีอุปมาเหมือน ใบประดู่ลาย ที่อยู่ในมือเรา กับที่มีอยู่ ในป่าฉะนั้น ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เป็นไฉน เราจึงไม่แสดง ให้ฟังทั้งหมด ก็เพราะไม่เป็นสาระประโยชน์ เพื่อความหลุดพ้น ไม่เป็นเบื้องต้น ของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไป เพื่อความหน่ายโลกีย์ ไม่เป็นไป เพื่อจืดจาง ความรักใคร่ยินดี ไม่เป็นไป เพื่อความเย็นใจ ไม่เป็นไป เพื่อความรู้แจ้ง ไม่เป็นไป เพื่อความตื่นเต็มที่ และในที่สุด ก็ไม่เป็นไป เพื่อนิรพาณ"

แล้วพระบรมศาสดาตรัสต่อไปว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สิ่งใดแล ที่เราได้แสดงแก่ท่าน สิ่งนั้นคือ ความจริง เราได้แสดง แก่ท่านว่า ความทุกข์คืออะไร เหตุแห่งทุกข์คืออะไร ความดับทุกข์คืออะไร และ ทางดับทุกข์ คืออะไร เหล่านี้ เราได้แสดงแล้ว ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราได้แสดงแล้ว ก็เป็นอันแสดงจบแล้ว สิ่งใด เราไม่ได้แสดง ก็คงเป็นรายย่อย แสดงอยู่ในความจริงสี่ประการ"

พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงทางพ้นทุกข์จากสงสารวัฏ ด้วยวิธีกำจัดภพ คือความคิด กำจัดความดิ้นรน แส่อยาก และ ความหลงผิด ในมายาให้สิ้นแล้ว ก็บรรลุความดับรอบข้าง คือ พระปรินิพพาน เป็นคำชี้แจง อันอัศจรรย์ นิพพานเปรียบเหมือน เป็นเกาะโดดเดี่ยว อยู่ท่ามกลาง มหาสมุทร อันเดือดร้อน ด้วยความเกิดมา มีหน้าผา แห่งศิลาชายเกาะนี้ คือมฤตยูซัดส่ายไม่เยือกไหว กลับกระจาย ตีฟอง สู่ทะเล ห้วงสงสารวัฏ ตามเดิม ในมหาสมุทรนี้มีเรือ คือพระธรรม แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า แล่นตัดไปสู่เกาะนั้น โดยปลอดอันตราย แต่ต้องฝ่ามรสุม คือตัณหา มานะทิฏฐิ และที่ทรงกล่าวถึง สถานบรมสุขนั้น มิใช่ตรัส ตามปรัมปรา หรือ จากกวีผู้ร้อยกรอง ตามความนึกฝันของตน แต่ทรงแสดง ตามที่ได้ทรงประสบ ตรัสรู้มาแล้ว ด้วยพระองค์เอง

พระบรมศาสดาทรงสั่งสอนให้กำจัดศัตรูภายใน ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง พระองค์มิได้ ทรงปลดเปลื้อง ความทารุณกักขฬะ อย่างโน้นอย่างนี้ แต่ว่าทรงปลดเปลื้องทุกข์ ให้หมดสิ้นเชิงเท่านั้น แล้วทรงกล่าว ถึงความทุกข์ ซึ่งมีอยู่ทั่วสากล และติดตามตนไปเหมือนเงา วาสิฏฐี ได้ฟังธรรม ตามนัย ที่พระองค์ ทรงแสดง ว่าสิ่งทั้งปวง ย่อมมาแต่เหตุ เมื่อถึงกำหนด สิ้นเหตุก็ล่วงไป อันความผันแปร ไม่คงที่นี้ คือ มายา แต่ความหลง ปิดบัง มิให้บุคคลเห็น เลยเป็นเหตุก่อทุกข์ เดือดร้อนใจ ตราบใด ความดิ้นรน เพื่อความอยากได้ ใคร่เป็นอยู่ ยังไม่ได้ถูกทิ้งถอน จนกระทั่งราก ตราบนั้น ทุกข์ย่อมติดตามไปด้วย ทุกขณะ บุคคล จะหนีทุกข์ไม่พ้น ตราบใดยังปล่อย ให้ความดิ้นรน งอกงามอยู่เสมอ ชวนเกิดความปรารถนาต่อ หรือ ผัดใหม่เรื่อยไป ตราบนั้น ทุกข์ก็ยังคงทับถม หนาแน่นอยู่ เมื่อบุคคล ยังติดใจ ในความเป็นโน่น เป็นนี่ อย่างไม่จืดจาง เขาย่อมชื่อว่า เป็นเครื่องมือ เพิ่มกำลัง ความรัดรึงตน ให้กระชับแน่น ในสงสารวัฏ ยิ่งจมดิ่ง ในความทุกข์ ลงทุกที ไม่มีทางโผล่พ้นขึ้นมาได้

และยังไม่ฟังที่พระองค์ ตรัสเทศนาถึงความไม่คงที่ แห่งบรรดาสิ่งที่มีความเกิด ตรัสถึงความดับไป แห่งสิ่ง ทั้งปวง ที่ธรรมชาติปรุงแต่งขึ้น ตรัสถึงลักษณะ ความล่วงไปเรื่อย เป็นกระแสน้ำ แห่งบรรดารูป และนาม สรรพสังขารธรรม ล้วนเป็นของไม่คงที่ เลือกเอาอย่างใจ ไม่ได้ทั้งนั้น แล้วทรงแสดงให้เห็นว่า ความปรารถนา เพื่อเกิด ในภพใหม่ใดๆ ภพนั้นๆ ย่อมไม่ถาวร คงที่อยู่ได้เลย

ในตอนท้ายๆของหนังสือเล่มนี้ กล่าวถึงห้วงเวลาที่พระพุทธเจ้า จะเสด็จปรินิพพานว่า "ช่องว่างน้อยๆ ในป่ารัง มีพระภิกษุ ราวสองร้อยองค์ ยืนเฝ้าอยู่ เป็นรูปอัฒจรรย์ ณ ท่ามกลางที่นี้ มีต้นรัง ขนาดใหญ่ สองต้น กำลังออกดอก เป็นกลุ่มก้อน ขาวไสว ระวางควงไม้รังทั้งคู่นี้ เห็นพระพุทธเจ้า ประทับบรรทม บนพระแท่น ซึ่งปูลาด ด้วยผ้าสีเหลือง มีพระหัตถ์ขวา หนุนพระเศียร ดอกรังก็โปรยเกสร เป็นละอองลงมา อาบพระองค์

ด้านพระปฤษฎางค์ถัดไปไกล คือเขาหิมพาน มีหิมะปกคลุมเป็นนิจนิรันดร แต่บัดนี้ ถูกความมืด เข้าปกคลุม

พระพุทธเจ้าตรัสกะพระอานนท์ก่อนกว่าผู้อื่นหมด เพราะท่านมายืนเฝ้าอยู่ เฉพาะพระพักตร์แล้วว่า "สำแดงอานนท์ เรารู้ได้ดีว่า ท่านร้องไห้ โศกเศร้าถึงเรา และท่านคงคิดอยู่ว่า ท่านยังไม่สิ้นอาสวะกิเลส ยังไม่บรรลุ ความเห็นแจ้ง สำแดงอานนท์ ท่านจงเลิกคิด อย่างนั้นเสียเถิด จงอย่าปริเทวนาการ จงอย่าโศกเศร้า สำแดงอานนท์ เราได้บอกแก่ท่านแล้วมิใช่หรือ ว่าบรรดาสิ่งที่ยึดถือ รักใคร่ ย่อมมีอัน ต้องจากไป ธรรมดา ย่อมเป็นธรรมดา ของมันกระนั้น สิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นเอง โดยสภาพธรรม เราไม่ได้ จัดการให้เกิดขึ้น แต่ชอบออกรับ ว่าเป็นของเรา สิ่งนั้นๆย่อมมีอาการแปรไป ตามธรรมดาวิสัย เราจะดิ้นรน ให้เป็นอย่างใจ เราติดไม่ได้ นอกจาก ออกรับเอาเป็นของเราเหลวๆ และในที่สุด มันก็ต้องล่วงลับไป ด้วยอำนาจ แห่งธรรมดา เราจะฝืน ให้คงอยู่ ไม่สำเร็จเลย จะได้ก็แต่ ความคลั่งเพ้อออกมา รับเอาเสีย เต็มแปล้ นับประสาอะไร ตัวท่านเอง ก็อย่าทะนง ย่อมตกอยู่ ในอำนาจธรรมดา ที่จะบันดาล ให้เป็นอย่างไร ได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ธรรมดาทั้งหลาย จึงเป็นอัตตา คือ เลือกไม่ได้ ไม่สำเร็จด้วยเรา สักอย่างเดียว มันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป มันรวมกันแล้ว ย่อมจากไป ปรุงมันขึ้น มันก็แตกสลายไป สำแดงอานนท์ ท่านได้ปฏิบัติ เรามานาน ด้วยความเต็มใจจงรัก ไม่มีอิดเอื้อนท้อถอย ชื่อว่า ได้พยายามดีแล้ว จงใช้ความพยายาม อันสม่ำเสมอนั้น มาในทางบำเพ็ญเพียร ในไม่ช้า ท่านจะหลุดพ้น จากกิเลส ดำกฤษณา ทิฏฐิความเห็นเชือน และ อวิชชาความไม่รู้แจ้ง เห็นผิดไปตามมายา"

พระพุทธเจ้าตรัสเฉพาะแก่พระอานนท์แล้ว ก็ทรงทอดทัศนาการ มายังเหล่าพระสาวก ที่ยืนเฝ้าอยู่เป็นวง ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย บางทีท่านทั้งหลายจะนึกว่า พระธรรมนั้น ขาดศาสดาเสียแล้ว พระศาสดาไม่มี ต่อไปแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านอย่าพึงคิดอย่างนั้น ธรรมที่เราแสดงไว้ เมื่อเราล่วงไป จักเป็นศาสดา ของพวกท่าน เพราะฉะนั้น ท่านอย่าพึงยึดถือ เอาสิ่งภายนอก เป็นที่พึ่ง จงถือพระธรรม เป็นที่พึ่งให้มั่น พระธรรมนั้น จะเป็นความสว่าง แก่ท่านเอง จะเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง"

ล่วงมาสักครู่ พระองค์ตรัสอีกว่า

"ภิกษุทั้งหลาย บางทีจะมีบางท่าน ที่เกิดความสงสัยขึ้น ในส่วนศาสดา หรือในส่วนพระธรรม ท่านจงถามเสีย ให้สิ้นระแวงเถิด เพื่อไปภายหน้า ท่านจะได้ไม่โทษตนเอง ว่าเมื่อพระศาสดา ยังทรงมีชีวิตอยู่ ก็มิได้ไถ่ถาม อะไรไว้"

พระพุทธเจ้าเสด็จศัยยาสน์อยู่ที่นั้น มีแสงเดือนในวันเพ็ญ สีเหลืองอ่อนมาทั่วพระวรกาย ประหนึ่งว่า เทพบุตร กำลังเตรียม การสนานพระสรีราพยพ ในครั้งสุดท้าย กล่าวคือ โปรยละออง เกสรดอกไม้ลงมา

พระองค์เผยพระโอษฐ์อีกครั้งหนึ่ง เป็นพระปัจฉิมวาจา ที่จารึกไว้แก่สังสารโลก เป็นพระสัจธรรม อันล้ำเลิศว่า

"ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตขอเตือนท่าน อันสังขารทั้งหลาย มีแต่เสื่อมไปเป็นธรรมดา ขอท่านทั้งหลาย จงบำเพ็ญกุศล ให้เต็มที่ ด้วยความไม่ประมาทเถิด"

ครั้นแล้วสิ้นพระดำรัส สิ้นพระสุรเสียง หับพระโอษฐ์ หลับพระเนตร พระอัสสาประสาท ซึ่งเคยระบาย ตามธรรมดา ค่อยๆแผ่วเบา ลงๆทุกที แล้วก็สิ้นกระแสลม โดยพระอาการสงบ พระภิกษุองค์หนึ่ง ประกาศว่า พระบรมศาสดา เสด็จปรินิพพานแล้ว

อนิจจา แสงเดือนเพ็ญผ่องกระจ่าง จับพระพักตร์อยู่เมื่อกี้ ก็จางซีด ขมุกขมัวลง ท้องฟ้าสลัวมัว พยับครึ้ม อากาศเย็นเฉียบ จับหัวใจ น้ำค้างหยดเผาะๆ เป็นหยาดน้ำตาแห่งสวรรค์ เกษรดอกรังร่วงพรู เป็นสาย สหัสธารา สรงพระพุทธสรีระ จักจั่นเรไร สงัดเงียบ ดูไม่มีแก่ใจจะทำเสียง ธรรมชาติรอบข้าง ต่างสลด หมดความคะนอง ทุกสิ่งทุกอย่าง

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๑ พฤษภาคม - มิถุนายน ๒๕๔๕ ฉบับ จุดเทียนพรรษา)