"คุณครูในดวงใจ" ฆวาลา

๑.คุณครูในดวงใจ
คุณครูที่ผมรักและศรัทธา ก็คือ อาจารย์ปาริชาติ ตันมี เป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษ ที่โรงเรียน หล่มสักวิทยาคม อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์

เหตุผลที่ชอบ... นอกเหนือจากหน้าที่หลักที่สอนวิชาภาษาอังกฤษ ได้อย่างสนุกสนานแล้ว อาจารย์ปาริชาติ ยังเป็นที่ปรึกษา ที่ดีที่สุดคนหนึ่ง ของนักเรียนด้วย สำหรับการไปปรึกษานั้น นักเรียนสามารถเล่าเรื่อง หรือขอคำแนะนำ ได้ทุกเรื่อง โดยไม่แบ่งว่า ศิษย์คนไหน เป็นศิษย์รักของอาจารย์ และ ท่านยังมอบ ทุนการศึกษา ให้แก่ นักเรียนที่เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ด้วย เป็นเงินทุนการศึกษาก็มี เป็นการสอน พิเศษ โดยไม่คิดเงินก็มี และถ้าหากนักเรียนคนนั้น มีผลการเรียน เป็นที่น่าพอใจ อาจารย์ก็จะมี ของรางวัล เล็กๆน้อยๆ ให้แก่นักเรียน ช่วยให้นักเรียน มีความกระตือรือร้น อยากเรียน อยากศึกษามากขึ้น ดังนั้น นักเรียนทุกคน จึงรักและชอบอาจารย์มาก อาจารย์ก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่ช่วยให้กำลังใจ และให้ความรู้ จนผมสามารถ สอบเข้า จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยได้ และ เมื่อผมสอบได้แล้ว อาจารย์ก็ยังเน้นย้ำเสมอว่า "จงตั้งใจเรียน และอย่าลืมตัว" ซึ่งผมจำไว้ในใจเสมอๆ และ ผมจะนำไปปฏิบัติ ให้ได้ดีที่สุด

นายนิพนธ์ พิลา คณะนิเทศศาสตร์
จาก โรงเรียนหล่มสักวิทยาคม อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ๖๗๑๑๐

 

๒.อาจารย์ในดวงใจ
คือ อาจารย์ณกุล เนาว์ช้าง เพราะเป็นอาจารย์ที่มีวิสัยทัศน์ อันกว้างไกล เห็นความสำคัญ ของการศึกษา ของเด็กมาก อาจารย์คอยที่จะพัฒนา ระบบการเรียน การสอนของท่าน ให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ นอกจาก การให้ความรู้ ในแบบเรียนแล้ว ท่านยังเน้น ถึงความสำคัญ ของคุณธรรม จริยธรรม แก่นักเรียน และ คอยให้คำปรึกษา และให้กำลังใจ แก่เด็กนักเรียนทุกคน อาจารย์มีความตั้งใจ ในการสอน และ มีการแสวงหา สิ่งใหม่ๆ มาให้นักเรียน ได้เรียนรู้ อยู่เสมอ อาจารย์ให้ความสำคัญ กับชนบท และ พยายามพัฒนาชนบท ให้เจริญก้าวหน้า เพราะอดีต อาจารย์เคยผ่าน ประสบการณ์ตรงนี้มา จึงสามารถ ที่จะช่วยแก้ปัญหา ตรงนี้ของเด็ก ได้อย่างแท้จริง

นายเอกชัย ภูบาลี คณะทันตแพทย์ศาสตร์
โรงเรียนเมืองคง จ.นครราชสีมา

 

๓.อาจารย์ในดวงใจ
อาจารย์สำลี ธิพรพันธ์ อยู่ที่โรงเรียนบ้านเหล่า เวลาเรียนอาจารย์ก็จะสอน อย่างเต็มที่จริงจัง นอกจากนี้ ก็ยังคอยให้คำปรึกษา แก่นักเรียน ในเรื่องต่างๆ ที่เราไม่เข้าใจ และมีปัญหา และ ก็ยังคอยสอดส่อง ดูแลความประพฤติ ของนักเรียน ถ้าใครประพฤติตัวไม่ดี ก็จะตักเตือน สั่งสอน ไม่ใช่ว่าสอน แต่วิชาความรู้อย่างเดียว

น.ส.ราตรี ยืนยั่ง
โรงเรียนมุกดาหาร จ.มุกดาหาร

 

๔.ครูในใจฉัน
อาจารย์เสาวนิตย์ แก้วโคมลอย เป็นอาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ ระดับชั้น มัธยมศึกษา ปีที่ ๖ ของโรงเรียน เรณูนครวิทยานุกูล อาจารย์ท่านนี้ ท่านสอนนักเรียน โดยให้นักเรียน มีพื้นฐาน ในการเรียนที่ดี ก็คือสอน ให้เข้าใจ ในสิ่งที่เป็นพื้นฐานซะก่อน แล้วค่อยสอน ในระดับที่ยากขึ้นเรื่อยๆ จะไม่สอนนักเรียน เพียงแค่ ผ่านๆ และเป็นทั้งเพื่อน ที่คอยฟังเรื่องราวต่างๆ จากนักเรียน เวลาที่นักเรียน มีปัญหาอะไร อาจารย์ท่านนี้ จะเป็นที่ปรึกษา และคอยให้คำแนะนำ แก่นักเรียน ดังนั้น นักเรีนยทุกคน จึงชอบอาจารย์ ท่านนี้มาก มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่พวกเราทุกข์ใจ เพราะได้คะแนน Ent น้อย อาจารย์ก็มาพูดปลอบ และให้ข้อคิดต่างๆ จนพวกเราสามารถ ยิ้มออกมาได้ อาจารย์จึงเป็นที่รัก ของนักเรียนทุกคน วันไหว้ครู พวกเราก็จะมีของขวัญ ไปมอบให้อาจารย์ทุกปี

น.ส.ประภาพร ยะสะทะ คณะเศรษฐศาสตร์
จ.นครพนม

 

๕.ครูที่ข้าพเจ้าประทับใจ
อาจารย์พัชราภรณ์ ทิพยกานนท์ เป็นครูที่สอนคณิตศาสตร์ให้ข้าพเจ้า ในช่วงตอนที่อยู่ มัธยมศึกษาปีที่ ๕-๖ อาจารย์เป็นคน ที่มีความเข้าอก เข้าใจนักเรียน รู้ว่านักเรียนคิดยังไง (เข้าใจวัยรุ่น) อาจารย์เป็น ที่ปรึกษาของ ห้องข้าพเจ้าเสมอ มีอะไรก็ไปปรึกษาท่าน อาจารย์คุยสนุก ไม่ซีเรียส พูดให้เกิดความคิด มีศิลปะ ในการพูด เพื่อสั่งสอน ถึงแม้ข้าพเจ้า อาจจะไม่ค่อยได้ไปพูดคุย กับอาจารย์เท่าไหร่ แต่ก็ประทับใจ ในตัวท่าน

มาริต พินึกรัมย์
จ.บุรีรัมย์

 

๖.อาจารย์นวลจิรา ใจสมุทร โรงเรียนหนองงูเหลือมพิทยาคม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของผม อาจารย์คอย ช่วยเหลือผมเสมอ และ เมื่อผมมีเรื่องเดือดร้อน ผมก็สามารถไปปรึกษา ขอความช่วยเหลือ จากท่านได้ ไม่ว่าเรื่องอะไร ท่านยังให้คำแนะนำ ตักเตือน เมื่อผมทำผิด และดูแลเพื่อนๆ ของผมด้วย ช่วยพูด กับญาติๆ ให้ผมได้เรียนต่อ ช่วยสนับสนุน เรื่องการเรียน อบรมกิริยามารยาท ให้แก่ผม เพราะตัวผมเอง ไม่ค่อย มีมารยาท และไม่ค่อยรู้จัก เกี่ยวกับการปฏิบัติตน อาจารย์ท่าน ก็ไม่รังเกียจ แต่สอน ให้ผมรู้จัก การปฏิบัติตน ในสังคมที่ดี ทำให้ผมรู้จัก กิริยามารยาทที่ดีงาม และปรับตัว เข้ากับเพื่อนๆได้ เข้ากับสังคมได้

นายอมร ปลั่งกลาง คณะวิศวกรรมศาสตร์
โรงเรียนหนองงูเหลือมพิทยาคม จ.นครราชสีมา

 

๗.อาจารย์กษิรา ประเสริฐสงค์ (อาจารย์สอนวิชาภาษาฝรั่งเศส) โรงเรียนนครนายกพิทยาคม ท่านเป็น กันเอง กับนักเรียน เข้าใจนักเรียน เห็นปัญหา และแก้ปัญหาให้ด้วยความเห็นอกเห็นใจ อาจารย์ เปรียบเสมือน แม่คนที่สอง อย่างแท้จริง อาจารย์มีจิตใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อยู่เสมอ ชอบให้ขนม แก่นักเรียน ให้ความรัก ความห่วงใย ทำงานเพื่อผู้อื่น โดยไม่หวัง สิ่งตอบแทน ทำตามหน้าที่ เพราะอาจารย์ มีจิตใจ ที่ผ่องใส จึงส่งให้ร่างกายสดใส มีความสุขไปด้วย เห็นได้ ใช่เลยว่า อาจารย์หน้าอ่อนกว่าอายุมาก แม้ว่าวัย จะใกล้ปลดเกษียณ เข้าไปทุกที

แต่เพราะอาจารย์ทำงานหนักไป จึงทำให้อาจารย์มีอาการไม่ค่อยดี เกี่ยวกับปอด คืออาจารย์เคยไอ เป็นเลือด อยู่บ่อยๆ จนถึงขั้น ต้องไปโรงพยาบาล แต่หากเป็นเพียงเล็กน้อย อาจารย์จะไม่ยอมหยุด เพราะอาจารย์ ถือว่า นี่คือหน้าที่ อาจารย์ต้องปฏิบัติ อาจารย์ผู้ทำเพื่อพวกผม ผมยินดี ที่ได้เรียนกับท่าน และจะไม่มีวันลืม พระคุณท่านอย่างแน่นอน

ณรงค์เดช พันธะพุมมี คณะรัฐศาสตร์
ร.ร.นครนายกวิทยาคม จ.นครนายก

 

๘.ครูตัวอย่าง (อีกท่านหนึ่ง) หลังจากดิฉันย้ายบ้าน จากต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ แล้วมีโอกาส เข้ามาอยู่วัด (ที่สันติอโศก) จึงมีโอกาสได้พบกับครูสอนภาษาจีน อีกท่านหนึ่ง ท่านมาสอนลูกศิษย์ ที่เป็นคนวัด อยู่หลายชีวิต ด้วยท่าที มีชีวิตชีวา กระชุมกระชวย น่าเรียนต่ออย่างมาก ครูมาสอน โดยไม่คิดมูลค่า เป็นเงินใดๆเลยค่ะ แถมยังลงทุนซื้อสมุด หนังสือ เอกสารประกอบการเรียน โดยเฉพาะ พจนานุกรม ราคาแพงๆ ก็ซื้อให้ อย่างเต็มใจ ขอให้บอก ว่าขาดสิ่งใด แม้ไม่บอก ถ้าครูเห็นว่าขาด จะไม่มีสักครั้ง ที่ครูจะไม่เอาใจใส่ หามาเพิ่มให้เสมอ ดิฉันเรียนไปสำนึกไป "นี้คือใบบุญของศาสนา ส่งเสริมจริงๆเลย..."

ตอนเรียนใหม่ๆ ดิฉันก็ยังเรียนดีเรียนไวพอใช้ได้ ครั้นนานไป "กิเลส" เกียจคร้าน ก็ออกลาย มีปัญหา อย่างนั้น อย่างโน้น ไม่มีเวลาทำการบ้าน ไม่มีเวลาท่องศัพท์ และหัดเขียน ตัวใหม่ๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คนเรามีเวลาเท่ากัน วันละ ๒๔ ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับเรา ว่าจะแบ่งเวลา ทำอะไรบ้าง แต่เวลา เราไม่ต้องการ ทำอะไร หรือ เกียจคร้าน จะทำบางสิ่ง บางอย่าง เรามักชอบใช้คำว่า "ไม่มีเวลา" (แต่มีเรื่องอื่น จำเป็นอื่น เร่งด่วนกว่า จำเป็นกว่า ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) พอดิฉันบอกครู หรือเหล่าซือ "วีรยา วิฑูรเธียร" ว่า "ไม่มีเวลาค่ะ" ยอดวิญญาณครู เต็มเปี่ยมของเหล่าซือ ไม่มีทีท่า ระย่อท้อแม้น้อย ยังคงหา กลเม็ดเด็ดพราย ต่างๆนานา มาช่วยให้ดิฉัน มีความรู้เพิ่ม ให้ได้ ในขณะที่ดิฉันก็ยังยืนยัน "ไม่มีเวลา" เหมือนเดิมค่ะ แต่ก็ยอมรับ กับเหล่าซือว่า "อยากรู้เรื่อง และความหมาย ในนิทานจีนบางเรื่อง" แต่!! ขี้เกียจเรียน ความจริงอันนี้ ไม่กล้าเรียนให้ครูทราบ แต่คิดว่าท่านก็รู้

เหล่าซือยอดขยันป้อนความรู้ให้ศิษย์ยอดเกียจคร้าน อีกวิธีหนึ่งคือ "เวลาหนี่กินข้าว เหล่าซือ จะอ่านนิทาน แล้วแปลให้ฟังนะ" แล้วเหล่าซือก็ทำจริงๆ ถึงจริงๆ เท่าๆกับ ที่ดิฉันช่างเกียจคร้านมากจริงๆ จนสุดท้าย ด้วยภาระ มากขึ้นๆ ของเหล่าซือเองด้วย ดิฉันเลยได้หยุดการเรียน สมใจกิเลส ทั้งๆที่ยังอยากรู้อยู่ ก็ตาม และเหล่าซือ ก็ยังไม่วายเมตตา ทิ้งท้ายให้ว่า "โทรศัพท์ฝึกพูดกับเหล่าซือได้นะคะ จะได้ไม่ลืม" นับเป็น ความคิด ยอดเยี่ยม ที่ดิฉันทำไม่ได้ เพราะไม่ได้ทำ "เมื่อไม่ทำก็ย่อมไม่ได้" ดิฉันโง่ขึ้นเยอะ ในเรื่องภาษาจีน แต่จิตใจ ยังไม่ลืมความปราณี และเอาภาระในหน้าที่ แบบสุดๆ ของเหล่าซือวีรยาค่ะ

จางอี้ลี่

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๑ พฤษภาคม-มิถุนายน ๒๕๔๕ ฉบับ จุดเทียนพรรษา)