ชาดกอดีตชาติของพระพุทธเจ้า
ต้นไทรศักดิ์สิทธิ์ (ทุมเมธชาดก)
ดินฟ้างดงาม
พืชสัตว์งดงาม
มนุษย์ผู้เมตตากรุณา
งดงามเป็นที่สุด
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่
ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภการบำเพ็ญประโยชน์แก่โลก โดยตรัส พระธรรมเทศนาดังนี้
ในอดีตกาล ณ กรุงพาราณสี
พระอัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตทรงพระครรภ์ ครั้นประสูติแล้ว พระประยูรญาติ
ได้ขนานพระนาม พระราชโอรสให้ว่า พรหมทัตกุมาร
พอพระกุมารมีพระชนม์
๑๖ พรรษา ก็ได้ทรงศึกษาศิลปะในเมืองตักกสิลา ทรงเจนจบไตรเพท (คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์
๓ อย่างของพราหมณ์) และทรงสำเร็จศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ
ต่อมาพระราชบิดาทรงพระราชทานตำแหน่งอุปราชแก่พระองค์
ซึ่งในช่วงเวลานั้น... ประชาชน ในกรุงพาราณสี นับถือบูชาเทวดาเป็นมิ่งขวัญ
พากันนอบนบเทวดา โดยเซ่นไหว้ ด้วยการฆ่าแพะ แกะ ไก่ หมู ฯลฯ มากมาย
ใช้ชีวิตเลือดเนื้อของสัตว์กระทำการบวงสรวง อีกทั้งดอกไม้ และของหอม
นานาชนิด พรหมทัตกุมาร จึงทรงดำริว่า
"บัดนี้.....ประชาชนนับถือเทวดาเป็นมิ่งขวัญ
พากันฆ่าสัตว์ทั่วเมือง มหาชนโดยมากฝังใจในอธรรมถ่ายเดียว หากถึงเวลาที่เราได้ครองราชสมบัติ
เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้ว เราจะไม่ให้สัตว์ แม้สักตัวเดียว ต้องได้รับ
ความลำบาก เราต้องหาอุบายไม่ให้ใครๆ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตให้จงได้"
อยู่มาวันหนึ่ง
พระองค์ทรงรถเสด็จออกจากพระนคร ทอดพระเนตร เห็นฝูงชนชุมนุมกัน....
ที่ต้นไทรใหญ่ ต้นหนึ่ง ใครใคร่อยากได้สิ่งใดๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกชาย
ลูกหญิง ยศ และทรัพย์สิ่งของใดก็ตาม ก็พากันบนบาน ต่อเทวดา อันสิงสถิตอยู่
ณ ต้นไทรนั้น
ภาพที่ปรากฏต่อสายตาเบื้องหน้า
ทำให้พระองค์เกิดฉุกคิดขึ้นได้ในทันใดนั้นเอง จึงเสด็จลงจากรถ ทรงดำเนิน
เข้าไปใกล้ ต้นไทรศักดิ์สิทธิ์นั้น ทำการบูชาด้วยของหอม และดอกไม้
แล้วสรงสนานให้ต้นไทร กระทำความเคารพ ประทักษิณ (เดินเวียนขวา) ต้นไม้นั้นอีก
ทำเหมือนกับพวกที่นับถือเทวดา เป็นมิ่งขวัญ เหล่านั้น เสร็จแล้วก็เสด็จขึ้นทรงรถ
กลับเข้าพระนคร
นับตั้งแต่นั้นมา
ก็เสด็จไปที่ต้นไม้นั้นทุกๆวันในเวลาที่ว่าง แล้วทรงทำการบูชาต้นไทรศักดิ์สิทธิ์สม่ำเสมอ
จนกระทั่ง....เมื่อพระราชบิดาสวรรคต
พระองค์ก็ได้เสวยราชย์ ทรงประพฤติทศพิธราชธรรมอย่างเคร่งครัด ดำรงราชสมบัติโดยธรรม
ทรงเว้นจากอคติ ๔ (๑. ฉันทาคติ = ลำเอียงเพราะรัก, ๒. โทสาคติ=
ลำเอียงเพราะชัง , ๓. โมหาคติ = ลำเอียงเพราะหลง, ๔. ภยาคติ = ลำเอียงเพราะกลัว)
แล้วทรงดำริว่า
"ความหวังของเราถึงที่สุดแล้ว
เราได้ดำรงอยู่ในราชสมบัติแล้ว แต่อีกข้อหนึ่งที่เราคิดไว้ตั้งแต่
ในครั้งก่อนนั้น จะต้องทำ ให้ถึงที่สุด ในบัดนี้"
จึงมีพระราชดำรัสเรียกพวกอำมาตย์
พราหมณ์ คฤหบดี และประชาชนมาประชุมกัน แล้วตรัสประกาศว่า
"ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
พวกท่านทราบกันไหมว่า เพราะเหตุใดเรา จึงได้ครองราชสมบัติ"
ประชาชนพากันกราบทูลว่า
"ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทราบเกล้าฯ
พระเจ้าข้า"
พระองค์จึงทรงรับสั่งว่า
"เมื่อเราบูชาต้นไทรศักดิ์สิทธิ์โน้น
ด้วยดอกไม้ของหอม ประคองกระพุ่มมือไหว้อยู่ พวกท่าน เคยเห็น หรือไม่เล่า"
"ขอเดชะ เคยเห็นพระเจ้าข้า"
พระองค์มีพระราชดำรัสต่อไปอีกว่า
"ในครั้งนั้น
เราตั้งความปรารถนาไว้ว่า ถ้าได้ราชสมบัติแล้ว ก็จะกระทำพลีกรรม (บวงสรวงแก้บน)
เพราะเราได้ ราชสมบัติ ด้วยอานุภาพ ของเทวดานั้น บัดนี้เราจะกระทำ
พลีกรรมแก่เทวดา พวกท่าน อย่าชักช้าเลย พากันเตรียมพลีกรรม เป็นการเร็วด่วนเถิด"
พวกอำมาตย์ต่างงุนงง
รีบทูลถามว่า
"ขอเดชะ พวกข้าพระพุทธเจ้าจะจัดสิ่งใดเล่า เป็นของบวงสรวงแก้บน
พระเจ้าข้า"
"ท่านทั้งหลายเมื่อเราบนต่อเทวดา
ได้อ้อนวอนไว้ว่า เราจะบูชายัญด้วยคน ซึ่งประพฤติยึดถือกรรมที่ทุศีล
๕ (๑. ฆ่าสัตว์ , ๒. ลักทรัพย์ , ๓. ประพฤติผิดในกาม , ๔. พูดโกหก-ส่อเสียด-คำหยาบ-เพ้อเจ้อ,
๕. เสพสิ่งของเสพติด มึนเมาให้โทษ อันเป็นที่ตั้ง แห่งความประมาท)
และพวกที่พากันประพฤติยึดถือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ (๑. ฆ่าสัตว์, ๒. ลักทรัพย์,
๓. ประพฤติผิดในกาม, ๔. พูดเท็จ, ๕. พูดส่อเสียด, ๖. พูดคำหยาบ, ๗.
พูดเพ้อเจ้อ ๘. โลภอยากได้ ของเขา, ๙. คิดปองร้ายผู้อื่น, ๑๐. มีความเห็นผิด)
ในรัชกาลของเรานี้จะทำพลีกรรม ด้วยลำไส้ และเลือดเนื้อ ของคนเหล่านั้น
เพราะฉะนั้นพวกท่านจงตีฆ้องประกาศไปว่า
พระราชาของพวกเรา
ครั้งดำรงพระยศเป็นอุปราชอยู่นั่นแล ทรงบนบานเทวดาไว้อย่างนี้ว่า ถ้าทรงได้
ครองราชสมบัติ จะบูชายัญด้วยคนโง่เขลาหนึ่งพันคน ที่ปรากฏว่า ทุศีล
บัดนี้พระองค์มี พระราชประสงค์ จะบูชายัญแล้ว เพื่อนำเอาเครื่องใน
หัวใจ ฯลฯ ของคนทุศีลไปบวงสรวง กระทำพลีกรรมแก่เทวดา เพราะคนอธรรม
มีมากนัก ชาวพระนครทั้งหลาย จงรู้ไว้อย่างนี้เถิด"
พวกอำมาตย์ฟังพระดำรัสแล้ว
ก็เสียววาบขึ้นในใจ แต่ก็รับพระบรมราชโองการว่า
"ชอบด้วยเกล้าฯ พระเจ้าข้า"
แล้วเที่ยวตีฆ้องป่าวประกาศไปทั่วเมืองพาราณสี
อันมีปริมณฑล ๑๒ โยชน์(๑๙๒ กม.) เมื่อชาวประชาทั่วไป ได้ฟังเครื่องแก้บน
ของพระเจ้าพรหมทัตแล้ว ต่างก็ตกใจ กลัวเป็นเครื่องเซ่นบวงสรวง ของพระราชา
จึงพากันเลิกทุศีล จนหมดสิ้น จะหาคนที่ยังยึดถือทุศีลกรรม แม้เพียงข้อเดียว
สักคนหนึ่ง ก็ไม่ปรากฏเลย
ด้วยกุศโลบายอันแนบเนียนนี้เอง
ตลอดเวลาที่พระองค์ทรงครองราชสมบัติอยู่ มิได้ทรงทำให้สัตว์ใด ต้องตายเลย
หรือแม้บุคคลใด ต้องทุกข์ยากลำบาก เพราะสร้างบาปกรรม ทรงโปรดชาวแว่นแคว้น
ทั่วหน้า ให้รักษาศีล แม้พระองค์เอง ก็ทรงบำเพ็ญบุญ ถือศีลให้ทาน จนกระทั่งถึงสิ้นพระชนม์
พระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดง
แล้วตรัสว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เราตถาคตประพฤติประโยชน์แก่โลก แม้ในกาลก่อน
เราก็ประพฤติมาแล้วเช่นกัน
ซึ่งบริษัทในครั้งนั้น
ได้มาเป็นพุทธบริษัทของเราในบัดนี้ ส่วนพระเจ้ากรุงพาราณสีนั้น ได้มาเป็นเรา
ตถาคตนั่นเอง"
ณวมพุทธ
พ.ค.๒๕๓๗
(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๗ ข้อ ๕๐,
พระสูตรและอรรถกถาแปลเล่ม ๕๖ หน้า ๕๔)
ผู้ใดมีเมตตาจิตในสรรพสัตว์
ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า
ไม่ชนะเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเอาชนะ
ผู้นั้นย่อมไม่มีเวรกับใครๆเลย
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๓ ข้อ ๙๑)
(ดอกหญ้า
อันดับที่ ๑๐๒ ก.ค. - ส.ค. ๒๕๔๕)
|