กินให้หมดจาน ถ้อยคำสิริมงคล - สุวลี


เวลาพูดถึงความดี มักจะมีปัญหาเมื่อไปเน้นแต่ "นามธรรม"
นามธรรมจับต้องไม่ได้ เป็นได้แต่อุดมคติ เวลาปฏิบัติความดี จำเป็นต้องลง "รูปธรรม"
สังคมสับสน วุ่นวาย หากไม่ชี้ความดีที่เป็นรูปธรรมให้ชัดเจน
ผมอยากจะทำความดี ฉันอยากจะทำความดี จะเริ่มตรงไหน?

มาเริ่มตรงสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด และมีโอกาสที่จะฝึกฝนทุกคน

"กินให้หมดจาน" หญ้าปากคอก แต่ก็เพราะหญ้าที่คลุมทั่วแผ่นดินมิใช่หรือที่ทำให้โลกไม่ร้อนจัด

การทำความดีต้องเป็นบูรณาการ หมายถึง ทำความดีต้องทำได้ในทุกกิจกรรม ทุกสถานการณ์

ทุกครั้งที่กินข้าว มาหัดรับผิดชอบการกระทำของตนเอง "กินให้หมดจาน" รู้บ้างไหม หากเหลือข้าว
คนละไม่กี่เม็ด ถ้าเอามารวมกัน จะได้กี่กระสอบ เลี้ยงคนทั้งประเทศได้กี่ประเทศ ?

การมองอย่างยิ่งใหญ่ เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ

"อย่าประมาทในโทษภัยอันมีประมาณน้อย" แม้ไม้ขีดก้านเดียวก็เผาเมืองวอดวาย งูพิษตัวเล็ก ก็อาจกัดตาย เหลือข้าว เหลือกับนิดๆ จะอะไรกันหนักหนา!

"กินให้หมดจาน" มาเถอะ มาช่วยกันสร้างความละเอียดของจิตใจ มาช่วยกันดูแลผลประโยชน์ ของธรรมชาติ

"ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า หลายคนเหนื่อยยาก..."

กว่าจะได้ข้าวมาหุงกินกันหิว ต้องใช้กระบวนการมากมาย ทั้งแรงงาน สติปัญญา และเวลา ที่เคลื่อนผ่าน

โดยตัวของมันเอง ก็เหมือนหญิงสาวที่ตั้งท้อง และสุดท้าย คลอดลูกออกมา ทุกขั้นตอน ล้วนผ่าน ความระมัดระวังเป็นอย่างดี

"กินให้หมดจาน" เพราะเราจะไม่ละเลยความยากลำบากทั้งหลายที่ผ่านมา

มด ๑ ตัว ช้าง ๑ ตัว ต่างก็มีคุณค่าในตัวของมัน ต่างต้องวิวัฒนาการ พัฒนาเติบโตกี่ล้านปี ก็ยังตอบไม่ได้

มนุษย์อาศัยตัวเงินเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนและแสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

เราอ้างกับมนุษย์ด้วยกันได้ แต่เราไม่อาจอ้างกับธรรมชาติที่ฟูมฟักสรรพสิ่ง

ธรรมชาติไม่รับรู้เงินของใคร ใครเป็นเจ้าของ

ธรรมชาติรู้แต่ว่า ตัวเองเป็นผู้แบ่งปัน ให้มีกินมีใช้ ให้คนเราอิ่มปากอิ่มท้อง

หากหว่านเมล็ดพันธุ์ ธรรมชาติก็จะรักษาเวลาให้ตรงนัด กี่เดือน กี่ปี ต้องมีผลิตผล ก็รีบทำให้ทัน

"กินให้หมดจาน" วันนี้ของหลายๆ คน บริโภคด้วยสัญชาตญาณ อร่อยก็รีบกิน ไม่อร่อยก็ทิ้งขว้าง

"กินให้หมดจาน" วันนี้ของหลายๆ คน เพียงแค่กินข้าวเหลือข้ามวันก็กินไม่ลง กินไม่ได้

ผิดกับดินแดนบางแห่ง ที่แค่จะให้มีกินก็ยังเป็นไปไม่ได้

นรกในบางประเทศเป็นเรื่องจริง นรกในประเทศในบางพื้นที่นั้น จริงยิ่งกว่าจริง

คนอดอยาก คนขาดอาหารมีเป็นล้าน แต่มนุษย์ผู้ยโส หัวสูง กลับกินทิ้งกินขว้าง !

วันนี้อาจไม่มีมนุษย์หน้าไหนกล้าลงโทษ แต่อีกไม่นาน ฟ้าดินจะเสด็จมาเอง ประทานให้สาสม แก่ผู้คึกคะนอง ที่หลงสำคัญว่า ตัวเองเป็นเจ้าของ สมบัติของแผ่นดิน

"กินให้หมดจาน" พระสารีบุตรท่านไม่รอคาถาบทนี้ แต่ท่านตักอาหารให้พร่องท้อง ตักทีเดียว ไม่ตักอีก ตักทีเดียว ให้พร่อง ๗ ช้อน จะได้ไม่อิ่มมาก

มิซูโน หมอดูชาวญี่ปุ่น เมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว ทำนายอนาคตของลูกค้า...

"อย่ากินเกินฟ้ากำหนด เพราะหากแม้โหงวเฮ้งจะดีปานใด ชีวิตก็มีโอกาสประสบปัญหา และอุปสรรค...."

"กินน้อย" เป็นสิ่งที่ดี และดีกว่านี้ "ควรกินให้หมด!"

คนเราทุกวันนี้มีพฤติกรรม "เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า" อยู่ตลอดเวลา

คนหนึ่งสร้างพากเพียรอุตสาหะ กล่อมเกลี้ยง เลี้ยงดู แต่อีกคนหนึ่งกลับหยาบคาย ถือวิสาสะ เอาแต่ใจ ไม่สนใจว่า กว่าจะฟูมฟักขึ้นมา มันลำบาก ยากแค้นขนาดไหน

"กินให้หมดจาน" จึงไม่ใช่ธรรมะธรรมดาแต่เป็นอภิธรรมะ

คนที่ยังกินทิ้งขว้าง เขาจะสบตามองสิ่งที่อยู่รอบตัวให้เต็มที่ได้อย่างไร?

อยากเป็นคนดี มาเริ่มบทที่ ๑ กันเถอะ "กินให้หมดจาน" ทำให้ได้ แล้วค่อยศึกษาบทที่ ๒ ต่อไป...

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๒ ก.ค. - ส.ค. ๒๕๔๕)