น.ส. นภวรรณ (ผึ้ง) วิสิฐศรีศักดิ์

ชีวิตวัยเด็ก
เป็นคนจังหวัดพะเยา เกิดในครอบครัวที่อบอุ่น เป็นลูกคนโต เป็นหลานคนแรก ของครอบครัว (พ่อเป็นลูกคนแรก ของปู่กับย่า แม่ก็เป็นลูกคนแรก ของตากับยาย) จึงได้รับการเอาใจ(ใส่) อย่างมาก จากทุกคนในบ้าน โดยเฉพาะย่า จะรักและตามใจ จนหลายคนเกรงว่า จะเสียคน พ่อกับแม่ จึงส่งไปเรียนที่ลำปาง ตอนจะขึ้นชั้น ม. ๒

ที่บ้านมีอาชีพค้าขาย เห็นความลำบากของคนในครอบครัว ตั้งแต่จำความได้ ทุกคนช่วยกัน ทำหากิน เราเองก็ต้องช่วยทำงานบ้าน เอาของมาตั้ง วางขายหน้าร้าน ตอนเช้ามืด ค่ำจะปิดร้าน ก็ต้องขนของ เก็บเข้าร้าน เป็นประจำทุกวัน ไม่มีวันหยุด นอกจากเทศกาล ร้านค้าบ้านนอก ต่างจังหวัด สมัยก่อน ไม่มีวันหยุด ไม่มีเวลาปิดเปิด ที่แน่นอน ลูกค้ามาเมื่อไ รก็ขายเมื่อนั้น ตื่นมาก็เปิดร้าน เหมือนเปิดประตูบ้าน ยิ่งเปิดเช้ามาก ก็ยิ่งได้เปรียบ เพราะได้ลูกค้าก่อนใคร และจะปิดร้านก็ต่อเมื่อ จะพักผ่อนตอนค่ำ เหมือนปิดประตูบ้าน พอมีน้อง ก็ต้องดูแลน้องคนเล็กเป็นหลัก (อายุห่างกัน ๙ ปี) จะไปเล่นที่ไหน จะทำอะไร ก็ต้องเอาน้องไปด้วย บางครั้ง ก็ไม่อยากเอาไป เพราะทำให้เราเล่นไม่สนุก ต้องเป็นกังวล คอยดูแลน้อง เมื่อไหร่ที่ห่วงเล่น มากกว่าห่วงน้อง ก็จะโดนแม่ดุ

การเรียนค่อนข้างเรียนดี ตอนประถมได้รับรางวัลเรียนดีทุกปี เพราะพ่อเคี่ยวเข็ญ ตรวจการบ้าน ให้อ่านหนังสือ จัดตารางสอน เตรียมชุดนักเรียน ที่จะใส่ในวันรุ่งขึ้น และ ขัดรองเท้านักเรียน ทุกคืนก่อนนอน ไม่เคยเสียประวัติ ในเรื่องไม่ส่งการบ้าน หรือไม่ตั้งใจเรียน เรียนหนังสือ นั่งแถวหน้าเสมอ (เพราะตัวเล็กด้วย) ไม่เคยไปโรงเรียนสาย ไม่เคยโดดเรียน (น้ำท่วมโรงเรียนก็ยังไป จนคุณครูบอก ให้กลับบ้าน พ่อถึงยอมมารับกลับ เพราะไม่มีใคร มาเรียนเลย) ทรงผม เสื้อผ้า ถุงเท้า ตรงตามระเบียบทุกอย่าง เรียกว่าแทบไม่เคยผิดวินัย แต่ก็ไม่ได้เป็นเด็ก ที่เรียบร้อยนัก ชอบวิ่งเล่นตี่จับ เล่นเตย โปลิศจับขโมยกับเพื่อนๆ ในเวลาพัก เป็นเด็กร่าเริง ครูจะชมเสมอ ความดีทั้งหมด ยกให้พ่อกับแม่ ที่เคี่ยวเข็ญ และเป็นตัวอย่างด้วย จึงมีผลมาถึงตอนโต ที่ทำให้ไม่ค่อยกล้าทำอะไร ผิดระเบียบ นอกกฎเกณฑ์

พอโตขึ้น พ่อแม่ก็กำลังสร้างฐานะ ไม่ค่อยมีเวลาดูแลลูก จึงส่งลูกไปเรียน โรงเรียนประจำ (ร.ร.อรุโณทัย จ.ลำปาง) ก็ได้ฝึกช่วยเหลือตนเอง ฝึกการอยู่ร่วมกับคนอื่น ฝึกระเบียบวินัย โรงเรียนนี้ เป็นโรงเรียนคริสต์ มีซิสเตอร์ดูแล (ซิสเตอร์อุทัยวรรณ คุโรวาท) ได้อะไรดีๆ จากซิสเตอร์ อย่างมาก รวมทั้งเรื่องความละเอียด ที่ลูกผู้หญิงควรรู้ ควรปฏิบัติ ท่านมีส่วนอย่างมาก ค่าเล่าเรียน และค่าหอพักแพงมาก เมื่อเทียบกับฐานะของพ่อแม่ ซึ่งยากจน หาเงินตัวเป็นเกลียว ส่งลูกเรียนทั้ง ๓ คน พอจบ ม.๓ ก็เรียนต่อ ม.ปลายที่ ร.ร.มัธยม ประจำจังหวัดลำปาง

ช่วงวัยรุ่น ไม่เคยไปดูคอนเสิร์ต สังสรรค์เฮฮา ตามร้านไอศกรีม หรือตามหน้าโรงหนัง (แหล่งนัดพบ ของวัยรุ่น จังหวัดลำปาง ประมาณปี ๒๕๒๕-๒๕๒๘) ก็มีบ้างที่ชอบดารา นักร้อง ชีวิตช่วงวัยรุ่น มีความสุขดี ไม่เคยนึกเสียดาย ที่เราไม่เคยไปบันเทิงเริงรมย์ แบบนั้น แม้จะมีเพื่อนชวน แต่ก็ไม่นึกอยากไป หรืออยากลอง จะใช้เวลาว่าง ไปกับการอ่านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็น นวนิยายไทย จีนกำลังภายใน เรื่องสั้น เรื่องแปล นิทาน การ์ตูน อ่านทุกอย่าง ไม่ได้ซื้อ เพราะไม่มีเงิน แต่เป็นสมาชิก ร้านเช่าหนังสือ ใกล้โรงเรียน

พบอโศก
การเรียนระดับ ม.ปลาย อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สอบเอ็นทรานซ์โควต้า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ติดคณะ สังคมศาสตร์ แต่สละสิทธิ์ เพราะใฝ่ฝัน อยากเรียนธรรมศาสตร์ เนื่องจาก เคยมีคนบอกว่า ถ้าจะเรียนบัญชี ต้องบัญชีธรรมศาสตร์ อุตส่าห์มากวดวิชาที่กรุงเทพฯ แต่ก็เจออุปสรรค ไปเรียนได้ ๓ วัน ก็ป่วยถึงขั้น เข้าโรงพยาบาล ด้วยโรคปวดหัว ไมเกรน นอนโรงพยาบาลตั้ง ๖ คืน แม่มานอนเฝ้า ประทับใจแม่มาก แม่จะอารมณ์ดี พูดตลก ให้เราหัวเราะ อยู่เรื่อย ราวกับไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาล ทั้งๆ ที่แม่เป็นคนขี้กังวลมาก ในที่สุด ความฝันก็สลาย เอ็นทรานซ์ไม่ติด ขนาดวันสอบ ยังต้องหอบยา ไปกินด้วยวันละ ๓ เวลา ชีวิตจึงผันแปร มาเป็นลูกพ่อขุนรามคำแหง เลือกเรียน สาขาบัญชี เพื่อจะได้ช่วยกิจการ ของพ่อแม่ที่บ้าน ในอนาคต

การเรียนในมหาวิทยาลัยเปิด บางคนอาจจะคิดว่า เป็นชีวิตที่น่าพิศมัย อิสระ เป็นตัวของตัวเอง เรียนก็ได้ ไม่เรียนก็ได้ เวลาว่างก็มาก แต่สำหรับดิฉันแล้ว กลับรู้สึกงงงวย บางวันว่าง จนไม่รู้ จะทำอะไร เที่ยวก็ไม่ชอบ เดินห้างสรรพสินค้าก็ไม่ชอบ แต่ชอบดูหนังมาก ครั้นจะดู ก็ไม่มีเงิน ก็เลยลงที่ ร้านหนังสือเหมือนเดิม เวลาเรียน ต้องใช้ความอดทนสูง ต้องแย่งที่นั่ง ต้องขวนขวาย ช่วยเหลือตัวเอง อย่างมาก เพื่อนก็ไม่ค่อยจะมี ปีแรกของการเรียน ที่ราม ๒ (บางนา-ตราด ก.ม.๘) ได้รู้จักญาติธรรมท่านหนึ่ง คือคุณน้าสุนันท์ เปิดร้านขาย อาหารมังสวิรัติ มีเพื่อน ชวนไปกิน ทั้งอร่อยและราคาถูก คนขายก็ใจดี พูดจาไพเราะ แถมยังมีหนังสือธรรมะ ให้อ่านอีกด้วย คุณน้าชวนไปสันติอโศก แต่ก็ไปแค่ครั้ง ๒ ครั้ง เพราะอยู่ไกล เดินทางไม่สะดวก พอขึ้นปี ๒ ต้องเรียนที่ราม ๑ จึงย้ายหอพัก มาอยู่แถวหัวหมาก ปีนี้เอง ที่เริ่มมาวัดบ่อยขึ้น เพราะมีหมู่กลุ่ม ซึ่งก็คือกลุ่ม รามบูชาธรรมนั่นเอง เริ่มต้นจากไปชมงาน บูชาอาสาฬหะ ที่กลุ่มฯ จัด ประทับใจมาก ในภาพลักษณ์อัธยาศัยไมตรี ตั้งแต่มาอยู่กรุงเทพฯ ไม่เคยรู้สึกดีๆ อย่างนี้เลย รับน้องกลุ่มไหนๆ ก็ไม่เคยไป เพราะไม่ชอบ การเข้าสังคม ลักษณะอย่างนั้น จึงตัดสินใจ ไปรับน้อง กับกลุ่มรามบูชาธรรมคนเดียว เพราะชวนใคร ก็ไม่มีใครไป ไปแล้วก็ยิ่งประทับใจ ชอบปฐมอโศกมาก เหมือนบ้านที่ต่างจังหวัด รู้สึกมีแต่คนดีๆ ตอนนั้นจิตใจ สดชื่นมาก ปิดเทอมกลับบ้าน ที่ต่างจังหวัด เอารูปไปให้ที่บ้านดู เขาก็พลอยรู้สึก ดีไปกับเราด้วย โดยเฉพาะแม่ ชื่นชมคุณลุงจำลอง ศรีเมือง มาก (มีรูปที่นักศึกษา ถ่ายกับลุงจำลองด้วย) ในขณะเดียวกัน ที่บ้านก็รู้สึกแปลกใจว่า ทำไมเราถึงชอบวัดนี้ ทั้งๆ ที่ไม่มีทีท่าว่า สนใจเรื่องศาสนา เอาเสียเลย ตอนเด็กๆ ที่ไปวัดไปวา ก็ไปตามผู้ใหญ่เท่านั้นเอง

เมื่อมีหมู่กลุ่มก็ทดลองปฏิบัติ เริ่มจากกินมังสวิรัติ มาช่วยงานวัด รู้จักญาติธรรม หลายคน ศรัทธาสมณะ (สมัยนั้นเรียกพระ) สิกขมาตุมาก สัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่น ในการปฏิบัติธรรม ที่พระพุทธเจ้าสอน ไม่ได้บวชแค่ตามประเพณี กราบได้สนิทใจ ได้ข้อคิดหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับ การดำเนินชีวิต ได้รู้อะไรใหม่ น่าตื่นเต้น น่าเรียนรู้ ชอบอ่านหนังสืออโศกมาก มักจะนั่ง อ่านหนังสือ ที่ห้องสมุด สมาคมผู้ปฏิบัติธรรม เป็นประจำ มีความสุข ที่ได้มาวัด มากกว่า ไปเรียน ที่มหาวิทยาลัย

ความดีมีละเอียด
แต่เดิม รู้สึกว่าตนเองก็เป็นคนดี เพราะเป็นเด็กดีของพ่อแม่ ซื่อสัตย์ ประหยัด เชื่อฟังผู้ใหญ่ ไม่เที่ยวเตร่ และพ่อแม่ก็ไว้วางใจมาก ไม่เคยมาดูว่า ลูกตัวเองอยู่อย่างไร ให้เงินใช้เป็นเทอม ซึ่งเราก็สามารถ จัดสรรใช้ได้พอ โดยไม่ต้องขอเพิ่มเลย บางครั้ง ยังมีให้เพื่อนยืม อีกต่างหาก แต่ก็ไม่มาก พอมาวัดได้รู้อะไรมากขึ้น ก็เห็นว่า เท่านี้ยังดีไม่พอ มีคนที่ดีกว่าอีกเยอะแยะ และมีความดี อีกมากมาย ที่เรายังไม่เคยทำ เราว่าเราประหยัดแล้ว ที่นี่เขายังประหยัดกว่าอีก ก็เริ่มฝึกฝนตัวเองให้ดีขึ้น ด้วยการปฏิบัติศีล ๕

เรียนอยู่ ๖ ปี จึงจบปริญญาศิลปศาสตร์ แล้วมีโอกาส กลับมาช่วยงานของโรงเรียน พุทธธรรม สันติอโศก (ช่วงที่ยังเรียนไม่จบ ก็มาช่วยสอนนักเรียน พุทธธรรมวันอาทิตย์ เป็นประจำ) ได้พบความสุข รู้สึกว่า ตนเองได้ทำอะไร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์กับผู้อื่นบ้าง ไม่ต้องไปดิ้นรน กับชีวิต เป็นหมาหอบแดด เหมือนเพื่อนๆ แรกๆพ่อแม่ก็ไม่เข้าใจ ขัดแย้งกัน ในเรื่องเป้าหมาย และ การปฏิบัติตัว ในการดำเนินชีวิต แต่ก็ยอมรับ ในความดีของที่นี่ จนทุกวันนี้ ยอมรับ ได้มากขึ้น แม้จะยังไม่ ๑๐๐% ก็ตาม เป็นเพราะตัวเอง ที่ยังทำความดีได้ไม่ถึงขั้น ให้พ่อแม่ หายห่วง คลายกังวลได้ ก็คงต้องใช้เวลาต่อไป

มิตรดี สหายดี เป็นทั้งสิ้นของพรหมจรรย์
ทุกวันนี้มีความสุขกับการใช้ชีวิต อยู่กับสังคมอโศก ไม่เคยกลัวว่า จะไม่มีใครดูแล ยามเรา เจ็บป่วย หรือแก่เฒ่า มั่นใจว่าได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว แต่ยังไม่ค่อยมั่นใจ ในความดีของตนเอง พยายามศึกษาเรียนรู้ ที่จะทำดีไปเรื่อยๆ มีความดีอีกมากมาย ที่ยังไม่ได้ทำ เพราะยังลด กิเลสไม่ได้มาก จึงทำประโยชน์ต่อผู้อื่นได้น้อย มีความเชื่อ อย่างสนิทใจว่า ยิ่งคนลดกิเลส ได้มากเท่าไร ยิ่งทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้มาก เวลาเกิดปัญหา เกิดความทุกข์ สิ่งที่ทำให้เรา คลายใจได้ คือ คิดถึงเรื่องกรรม และคิดว่า เรายังทำดีน้อยไป

ปัจจุบัน เป็นพนักงานบริษัทแด่ชีวิตฯ (ขายสินค้าปลอดสารพิษ มังสวิรัติ ในแนวทางบุญนิยม) ซึ่งเป็นบริษัทฯ ส่วนกลางของสันติอโศก รู้สึกอบอุ่นมาก อยู่ในแวดวงของคนที่รักดี ใฝ่ดี และ กำลังพยายาม ทำดีกันทุกคน

 

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๓ กันยายน - ตุลาคม ๒๕๔๕)