คำตอบจากต้นไม้
- สิริมา ศรสุวรรณ -

บ่ายวันนี้ผมรู้สึกสดชื่น โล่งอกโล่งใจอย่างไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อน คงเป็นเพราะผมหลับลึก จิตที่เคย โลดแล่น ดิ้นรนได้สงบพัก กระท่อมน้อยชายทุ่งใกล้โรงเลี้ยงวัว แห่งนี้คือสวรรค์บนดิน ที่ผมสร้างด้วย หนึ่งสมองสองมือ ผมตั้งใจใช้ไม้ไผ่เป็นลำทำพื้น ไม่ทุบเป็นฟาก มันนวดหลัง เมื่อผมนอนกลิ้ง พลิกซ้าย พลิกขวา นวดฝ่าเท้าเมื่อผมย่างเหยียบบนมัน ไม่บ่นสักนิด ใจดี หรือ จำยอม ผมไม่รู้

ผมนอนยิ้มกับจิ้งจกที่กำลังแกว่งหางอยู่บนขื่อ ไม่มีใครว่าผมเป็นบ้าเพราะไม่มีใครเห็นผมยิ้ม ผมนึกถึง บรรยากาศ ทางวิชาการ ซึ่งผ่านไปเมื่อไม่นานนี้ ในห้องปรับอากาศ ที่มิอาจปรับอารมณ์ อันตึงเขม็ง ของผม ให้คลายลงได้ ผมสมัครเดินทางจากหมู่บ้าน มาร่วมประชุมกับ นักทฤษฎี ด้านความหลากหลาย ทางชีวภาพ ณ สถาบันการศึกษา อันทรงเกียรติแห่งนี้ เป็นโอกาสดี ที่ชาวบ้าน อย่างพวกผม ได้เรียงหน้า เข้ามารับรู้ เรื่องราวด้านแนวคิดทฤษฎี และ งานวิจัยของคนไทย อีกเผ่าหนึ่ง ซึ่งมีวัฒนธรรมแปลกๆ ผมฟังพวกเขาพูด พอรู้เรื่องบ้าง เพราะประโยค ที่เขาพูดกัน แม้จะเต็มไปด้วย ภาษาอังกฤษ แต่ก็พอมี ภาษาไทยปนอยู่

"เฮ้ย! ไอ้ปลาสกอเปี๊ยนมันเป็นอย่างเดอละเว่ย" ไอ้แหมบกระซิบถามผมดังๆ เมื่อผู้บรรยาย พูดถึง ปลาชนิดหนึ่ง ผมมรรยาทงามพอ ที่จะไม่ตอบทันที เกรงว่า คำตอบของผม อาจเป็นเหตุ ให้ผู้ร่วมประชุม เลิกสนใจ ผู้บรรยายท่านนั้น

"ปลาแมงงอด สกอเปี๊ยน แปลว่า แมงงอด" ผมอวดภูมิทันที ที่โอกาสอำนวย ในวงอาหาร มื้อข้าวกล่อง ใกล้ค่ำ ผมจำได้ว่า แผ่นโฆษณาหนังเรื่อง สกอเปี้ยน มีรูปแมงป่องตัวเบ้อเร่อ นักวิชาการ ระดับรากหญ้า อย่างผม ก็รู้จักเชื่อมโยง เหมือนกันนะครับ

"แล้วความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอย่างเดอ" ไอ้แหมบ ซักผมอีก

"อันเดอบุ๊" ภาษาท้องถิ่นของพวกผมเองครับ แปลว่า มิทราบ

"เต็มพรึ่ด" ทิดไลให้ความกระจ่าง "สัมปะปิ๋สัมปะป้อย" เพื่อนนักวิชาเกิน ที่ร่วมวงข้าวกล่อง อธิบาย ในพากย์ลาว

เวลานั้นผมรู้สึกหายใจไม่ทั่วปอด ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมต้องเครียด โดยไม่จำเป็น แต่เวลานี้ มันกลายเป็น ละครตลกเรื่องหนึ่ง ซึ่งค่อนไปทางตลกเศร้า แต่ก็ทำให้ผมยิ้มคนเดียวได้

กลับจากกรุงเทพฯ พอย่างเท้าเข้าบ้านผมได้รับรายงานว่า มะละกอล้มระเนระนาด ฝนตกกระหน่ำ สี่วันติดๆ กัน ผมปลอบใจตัวเองว่า มะละกอเสียหาย แต่ได้ข้าวก็ยังดี ผมปลูกข้าวพันธุ์ดั้งเดิม สืบมา แต่สมัย ปู่ย่าตายาย ต้นมันสูง พอเอาตัวรอดได้ ฝนตกมากก็ ไม่เป็นไร

เทวดายังปรานีให้ผมพอได้เก็บมะละกอขายประทังชีวิตผมและลูกเมีย กองทัพมะละกอ ที่เคลื่อน ออกจาก หมู่บ้าน มิใช่สำหรับพี่น้องชาวอีสานนะครับ ไปไกลถึงญี่ปุ่นทีเดียว

"คุณเลิกปลูกมันสำปะหลังแต่หันมาปลูกมะละกอซึ่งก็เป็นพืชเศรษฐกิจเหมือนกัน ทำไมคุณไม่ทำ เกษตรทางเลือก นักวิชาการ ที่ต่อต้านพืชเศรษฐกิจ รุกไล่ผม เธอไม่เคยปลูกอะไรเลย นอกจาก ปลูกฝี ตอนเด็กๆ

ผมทำหน้าเจี๋ยมเจี้ยม และสงบปากเพื่อยุติ ความรุนแรง หากผมอธิบาย อาจเกิดสงครามทางวาจา พูดถูก อาจเป็นผิดได้ ที่จริงผมผิด ตั้งแต่เกิดแล้วครับ

"มะละกอเป็นเหมือนพี่เลี้ยงครับ ถ้าน้องโตแล้วพี่เลี้ยงก็ไม่ต้อง" ทิดไล ช่างหาเหตุผล มาอธิบาย ให้ผู้สงสัย พึงพอใจ

ผมยอมรับว่าขณะนี้ผมกำลังสับสนระหว่างแนวคิดกับความเป็นจริงในหมู่บ้าน ยูคาลิปตัส อ้อย มันสำปะหลัง มะละกอ เต็มพรึ่ด มันทำเงิน แต่มันคือพืชทาส

เราจะหลุดจากตรวนที่มองไม่เห็นได้อย่างไร? ผมเฝ้าถามตนเองแล้วซ้ำเล่า

"ลองถามต้นไม้ดูสิ" เหมือนมีใครมาบอกในยามที่ผมงีบหลับไปครู่ใหญ่ เมื่อตื่นขึ้นมา ผมทอดสายตา ทะลุ หน้าต่างกระท่อมออกไป อย่างว่างเปล่า นกกระเจ้า* กระพือปีก สีน้ำเงินเข้ม แซมสีฟ้า สะท้อนแสง ผ่านต้นยางใหญ่ กลางทุ่งนา

มะละกอรากตื้นจึงล้มระเนระนาดเมื่อฝนซัด ต้นยางยืนทะนงสู้พายุ แม้ถูกสายฟ้าฟาด ก็ยืนตาย อย่างสง่างาม ทั้งยังเป็นที่เกาะยึด ของไม้เลื้อยได้ต่อไป

ผมได้คำตอบแล้ว ขอบคุณครับ

๒ ตุลาคม ๒๕๔๕
*นกกระเจ้า คือ นกตะขาบทุ่ง

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๔ พ.ย. - ธ.ค. ๒๕๔๕ จำนวนพิมพ์ ๒๒,๐๐๐ เล่ม)