บทเรียนจากบ้านด่าน
วิธีสร้างชุมชนปลอดยาเสพติดในสองปี

ในอดีต ตำบลที่ตำรวจสงขลาหนักใจมากที่สุดในเรื่องคดีความที่เกิดขึ้นถี่ยิบคือตำบลเกาะแต้ว ชานเมือง สงขลา ตำบล ที่อยู่ระหว่าง ชายทะเลอ่าวไทย และเขาสูง ที่ชาวบ้านเรียกว่า เขาเทียมดา หรือเขาเทวดา ทางฝั่งตะวันตก ตำบล เกาะแต้วมี ๑๐ หมู่บ้าน และประชากรส่วนใหญ่ ของที่นี่ นับถือ ศาสนาอิสลาม จะด้วยเหตุใด ยังไม่มีใคร ให้คำอธิบาย ได้แน่ชัด ที่ชุมชนมุสลิม จะมีปัญหา คนติด ยาเสพติด มากกว่า ชุมชนที่นับถือ ศาสนาพุทธ และ เกาะแต้ว ก็ไม่อยู่ ในข้อยกเว้น ก่อนปี ๒๕๔๓ นั้น พูดได้ว่า ตำบล เกาะแต้ว เป็นชุมชน ที่มีปัญหา การระบาด ของยาเสพติด รุนแรงที่สุด แห่งหนึ่ง ของจังหวัด สงขลา

แต่วันนี้ปี ๒๕๔๕ พูดได้ว่าชุมชนที่นี่มีปัญหายาเสพติดน้อยที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา.. นายอับดุลกอนี หมัดเจริญ กำนันตำบลเกาะแต้ว บอกว่า ปัจจุบัน ชุมชนสามารถแก้ปัญหา ยาเสพติด ไปได้ ประมาณ ๘๐-๙๐% หรือ แก้ไปได้ เกือบหมดสิ้น จากชุมชนที่มีคนขายยาเสพติด แทบทุกตรอก ซอกซอย มีคนเสพยาอยู่ทั่วไป มาเป็นชุมชน ที่ไม่มีคนขายยา และคนเสพยา ที่เหลืออยู่น้อยมาก ต้องหลบๆ ซ่อนๆ แทบไม่มีที่อยู่

ปาฎิหาริย์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ปาฏิหาริย์ย่อมมาจากพระเจ้า

ปัญหายาเสพติดเป็นเหตุให้ชุมชนที่นี่เสื่อมทราม สุดขีดในอดีต เกาะแต้วเคยเป็นแดนอันตราย สำหรับ สุจริตชน คนที่ขับมอเตอร์ไซค์ พาแฟนไปเที่ยว อาจถูกทุบหัว และผู้หญิงถูกวัยรุ่นรุมโทรม จนเสียผู้เสียคน เหตุการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้น จนเป็นเรื่องปกติ ธรรมดา ผู้นำชุมชน และคนที่เกี่ยวข้อง แม้แต่ตำรวจ ก็ไม่รู้ จะแก้ไข อย่างไร คนท้องถิ่นใกล้เคียง ที่รู้ตื้นลึก หนาบาง จะเลี่ยงชุมชนนี้ กำนันอับดุลกอนีวัย ๔๖ ปี ซึ่งเป็นกำนัน มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ และ เพิ่งได้รับ แหนบทองคำ ในปี ๒๕๔๕ นี้ บอกสาเหตุสำคัญ ของเรื่องราว อุกฉกรรจ์ต่างๆ ส่วนใหญ่ มาจาก ปัญหายาเสพติด คนเสพยา จะพากันไปมั่วสุม ทำเรื่องชั่วๆ กันเต็มบ้าน เต็มเมือง แต่หมู่บ้านของเขาเอง เป็นเพียงหมู่บ้านเดียว ในจำนวนหมู่บ้านมุสลิม ๖ หมู่บ้าน ที่รอดพ้น จากปัญหานี้มาได้ เพราะความเพียรพยายาม ที่จะจัดการ อย่างเข้มงวด ของเขาเอง และนั่น อาจจะเป็น เหตุผลหลัก ที่เขาได้รับเลือกเป็นกำนัน หลังจากได้รับเลือก เป็นกำนัน ปัญหาที่เขามุ่ง จัดการ ทั้งตำบล เรื่องแรก คือเรื่องยาเสพติด

วิธีการของเขาคือการประชุมผู้นำจากทุกกลุ่ม องค์กรชาวบ้าน ทั้งที่เป็นทางการ และ ไม่เป็นทางการ รวมทั้งผู้นำ ทางศาสนา อิสลาม มาช่วยกันคิด หาหนทางแก้ปัญหา ด้วยมาตรการต่างๆ ซึ่งมามีผลสรุป สุดท้ายว่า วิธีการสำคัญ คือ ต้องใช้หลักศาสนา เข้ามาดำเนินการ และกลไก ในการดำเนินการสำคัญ คือมัสยิด ซึ่งมีอยู่ ๔ มัสยิด ในตำบล ร่วมกับฝ่ายปกครอง คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

การใช้หลักศาสนาเข้ามาดำเนินการไม่ใช่การ อบรมจริยธรรมหรือให้สถาบันทางศาสนารณรงค์ต่อต้าน ยาเสพติด แต่ใช้หลัก กฎหมายอิสลาม และการลงโทษทางสังคม เข้ามาจัดการ หลักทั่วไปของศาสนา คือ ถ้าสมาชิกในชุมชน ทำผิดหลักศาสนา ก็สามารถถูกลงโทษได้ พูดได้ว่าชุมชนมุสลิมนั้น ปกครองด้วย ผู้นำทางศาสนา

เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๓ หลังจากประชุมทำความเข้าใจกันหลายครั้ง มัสยิดต่างๆ ในตำบลเกาะแต้ว ออกประกาศ ทั่วทั้งชุมชน เนื้อหาคล้ายคลึงกัน คือว่า ด้วยบทลงโทษสมาชิกประจำหมู่บ้าน ที่เกี่ยวข้อง กับยาเสพติด ทั้งเสพ ทั้งขาย บางมัสยิด เพิ่มเข้าไปด้วยว่า รวมทั้งพวกดื่มน้ำเมาด้วย เพราะการดื่มน้ำเมา ผิดหลักศาสนา ประกาศฉบับนั้น ให้เวลา สมาชิก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง มาเป็นคนดี สองเดือน บทลงโทษ ผู้กระทำผิด จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๓ ประกาศของมัสยิดบ้านด่าน ซึ่งเป็นมัสยิด ใหญ่ที่สุด กำหนดโทษผู้ดื่มน้ำเมา หรือ เกี่ยวข้อง กับสารเสพติด ๙ ข้อ สำหรับคนมีครอบครัว และ ๑๔ ข้อ สำหรับ วัยรุ่น ที่ยังไม่มีครอบครัว

สาระสำคัญของบทลงโทษเหล่านั้นไม่มีการจำขัง ไม่มีการจับส่งตำรวจ แต่เป็นการลงโทษทางสังคม และ ให้มา ปฏิบัติกิจ ทางศาสนา

กลวิธีทำงานร่วมกันของผู้นำศาสนา และผู้นำทางการคือถ้าสมาชิกในหมู่บ้านรู้เบาะแสจะมาแจ้ง โต๊ะอิหม่าม โต๊ะอิหม่าม จะออกหนังสือ แจ้งให้คนที่ทำผิดมาพบ เพื่อแก้ปัญหา ภายใน ๗ วัน แต่คน ที่ส่งหนังสือ คือกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นฝ่ายปกครอง ป้องกันการข่มขู่ผู้นำศาสนา เพราะคนติดยา บางราย ขว้างหนังสือนั้นทิ้งเสีย ต่อหน้าก็มี

บทลงโทษหลักๆ ของคนที่ฝ่าฝืนไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือน้ำเมา สำหรับคนที่มีครอบครัวแล้ว และ ไม่เลิก เมื่อผู้นำศาสนา เรียกมาตักเตือนแล้ว คือห้ามสมาชิกในชุมชน ไปงานเลี้ยง ของครอบครัวนั้น ตัดออกจาก การเป็น สมาชิกกลุ่ม ทุกกลุ่มในชุมชน ถ้าสมาชิกในครอบครัวนั้นตาย แทนที่จะมีคนไปร่วมฝัง ทั้งผู้นำ ศาสนากลุ่มใหญ่ และเพื่อนบ้าน ก็จะมีแต่โต๊ะคนเดียวเท่านั้น ห้ามสมาชิกในหมู่บ้าน ไปกินบุญ หลังงานฝังศพ

ปกติชุมชนที่นี่ทุกหมู่บ้านจะมีระบบสวัสดิการร่วมกัน คือเมื่อมีคนตายแต่ละครอบครัว จะลงช่วยเงิน ๕๐ บาท ซึ่งมากพอ ที่จะทำงานศพแบบมุสลิม ซึ่งต้องจัดการ ให้เสร็จใน ๒๔ ชั่วโมง ถ้าครอบครัวไหน เกี่ยวข้อง กับเรื่องนี้ ห้ามไม่ฟัง จะไม่มีการจ่ายเงินช่วย ดังกล่าว แม้แต่บาทเดียว

บทลงโทษยังกำหนดต่อไปอีกว่า ถ้าสมาชิกในชุมชนคนไหนฝ่าฝืนไปช่วยครอบครัวดังกล่าว จะถูกปรับ ครั้งละ ๒๐๐ บาท ถ้าไม่จ่ายค่าปรับ จะถูกลงโทษ "บอยคอต" เหมือนครอบครัวที่เกี่ยวข้อง กับยาเสพติด นั้น สำหรับผู้นำทางศาสนา ประจำมัสยิด เช่น อิหม่าม คอเต็บ บีลัน และ คณะกรรมการ ถ้าไปกินงานบุญ ครอบครัวที่ถูกลงโทษ จะถูกปรับ คนละ ๕๐๐ บาท ถ้าไม่ยอมจ่ายค่าปรับ จะถูกลงโทษ เหมือนครอบครัว ที่เกี่ยวข้อง กับยาเสพติด และ ถูกปลด ออกจากตำแหน่ง

สำหรับสมาชิกในชุมชนที่ยังไม่แต่งงาน และไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ห้ามแล้วไม่เลิก มีบทลงโทษ คล้ายคลึง กับคนมีครอบครัว และเพิ่มเข้าไปอีกว่า ถ้าคนคนนั้น จะแต่งงาน ต้องไปบอกโต๊ะอิหม่ามว่า ตนเอง จะเลิก ถ้าไม่เลิก โต๊ะอิหม่ามจะไม่ทำนิกะห์ (แต่งงาน) ให้

ประกาศฉบับนี้ ระบุว่าถ้าสมาชิกคนใดต่อต้านหรือไม่ให้ความร่วมมือ จะต้องโทษ เหมือนกับคน ที่ทำความผิด

บทลงโทษดังกล่าวถือเป็นการใช้ กฎหมาย อิสลาม ที่เรียกว่ากฎหมาย ฮูกมปะกัต

ถ้าคนที่ทำความผิด มาสารภาพเพื่อที่จะเลิกจากยาเสพติดและน้ำเมา ต้องมาทำละหมาด ในเวลาสุโบ๊ะ ที่มัสยิด ให้ครบ ๔๐ วักตู จึงจะได้รับสิทธิ เหมือนคนธรรมดา หรือถ้าทำตามนี้ไม่ได้ ก็ให้มาละหมาด ในเวลากลางคืน ต่อเนื่องกัน ๖๐ วัน และ ต้องเรียนศาสนาด้วย ในระหว่างที่ต้องปฏิบัติศาสนากิจนั้น จะยังคงถูกลงโทษ ดังกล่าวมาแล้วอยู่

บทลงโทษดังกล่าวไม่มีการจับส่งตำรวจ ไม่มีโทษประหารชีวิต เหมือนกฎหมายปัจจุบัน แต่สำหรับ คนในชุมชน ที่ต้องอยู่ ด้วยการพึ่งพิงกัน มายาวนาน นี่ร้ายแรงยิ่งกว่า การประหารชีวิตเสียอีก กำนันบอกว่า ในช่วงแรกๆ คนไม่ค่อยเชื่อถือ ว่าจะทำได้จริง แต่เมื่อโดนเข้าสองสามคน เพื่อนบ้านปฏิเสธ การไปร่วมงาน ทุกชนิด ทุกคนก็หวั่นเกรง ที่มัสยิดบ้านด่าน มีคนมาแก้ไขตัวเอง ด้วยการทำละหมาด เกือบร้อยคน สองสามปี ที่ผ่านมา มีคนในครอบครัว ที่ทำผิด เสียชีวิตลง หลายราย และถูกลงโทษ ตามประกาศ ไม่มีใคร ไปช่วยงานศพ เป็นที่น่าเวทนามาก ทำให้กฎหมายนี้ ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาทันที มีบางครอบครัว สมาชิก ในครอบครัวทำผิด มีแม่มาอยู่ด้วย แม่เกิดตายลง คนอื่นมาช่วยไม่ได้ ต้องยกศพ ไปทำพิธี ที่มัสยิด (เพื่อให้คนอื่น มาช่วยได้) และคนที่จัดการเรื่องศพ ต้องเป็นคนอื่น ที่ไม่ใช่ลูก เพื่อนบ้าน จึงจะมาช่วยได้

แม้ว่านี่เป็นการใช้หลักศาสนา เข้ามาจัดระเบียบสังคม แต่ปัจจัยสำคัญที่สุด กำนันบอกว่า คือ ความร่วมมือ ร่วมใจ ของชาวบ้าน ถ้าไม่มีสิ่งนี้ ทุกอย่างก็ล้มเหลว ปัจจุบัน ทุกคน จะช่วยเป็นหู เป็นตาให้ผู้นำ แจ้งเบาะแสว่า ใครเกี่ยวข้อง กับยาเสพติด เพื่อให้ชุมชน เอาตัวมาลงโทษ คนติดยา ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ปาฏิหาริย์การล้างยาเสพติด ออกจากตำบล ภายในสองสามปี เกิดขึ้นได้ ด้วยปัจจัยนี้ และ ไม่ได้เกิดปัญหา คนแจ้งถูกฆ่า เพราะ "คนที่ทำจะโกรธใครไม่ได้ เพราะมันกลายเป็น เรื่องของคน ทั้งสังคม ทั้งชุมชนช่วยกัน"

นี่เป็นผลงานที่ทำให้กำนันคนนี้ได้รับแหนบทองคำ และเป็นกำนันแหนบทองคำ ที่คนทั้งประเทศ ควรภูมิใจ ได้อย่างแท้จริง

ปัจจุบันมัสยิดทั้งอำเภอจะนะ ในจังหวัดเดียวกัน เริ่มทำงานปราบยาเสพติด ด้วยวิธีเดียวกัน และแผ่ขยาย ไปยัง ชุมชนอื่นๆ ในภาคใต้ตอนล่าง อีกจำนวนมาก

คัดมาจาก หนังสือ "แลใต้" ฉบับที่ ๙๔ ปีที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๕

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๔ พ.ย. - ธ.ค. ๒๕๔๕ จำนวนพิมพ์ ๒๒,๐๐๐ เล่ม)