รู้รักสามัคคี
ฟ้าเมือง ชาวหินฟ้า


คำว่า "รัก" ที่เรานำมาใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไปนั้น เราใช้ในความหมายที่แตกต่างกันหลายนัย เช่นเดียวกับคำอื่นๆ อีกหลายคำ อาทิ คำว่า "ขัน" ซึ่งในบางกรณีเราหมายถึงอาอัปกิริยาของไก่ที่กำลัง "ขัน" หรือบางครั้งเราก็หมายถึง เรื่องน่าหัวเราะ (น่า"ขัน") หรือบางครั้ง เราก็ใช้ในความหมายของ ภาชนะที่เป็น "ขัน" ใส่น้ำ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเราใช้คำว่า "รัก" สะท้อนสภาวะจิตลักษณะต่างๆ ซึ่งถึงแม้จะใช้ในหลายความหมาย ที่สะท้อนคุณลักษณะ ของอารมณ์จิต ที่แตกต่างกัน แต่ก็มีลักษณะ เป็นสภาวะจิต อย่างหนึ่งๆ เหมือนกัน จึงก่อให้เกิดความสับสนในการใช้ศัพท์คำนี้เพื่อการติดต่อสื่อสารได้ง่ายยิ่งกว่าศัพท์คำอื่นๆ ที่ มีความหมายหลายนัย ดังตัวอย่างกรณีของคำว่า"ขัน" ที่กล่าวมาเป็นต้น

เราใช้คำว่า "รัก" ในความหมายที่แตกต่างกันอย่างน้อย ๒ นัยใหญ่ๆ คือ

๑. หมายถึงความพอใจ ชอบใจ อยากครอบ-ครองเป็นเจ้าของสิ่งนั้นๆ ด้วยความหวงแหน เช่น ความรักของชายหนุ่ม ที่มีต่อหญิงสาว ความรักในทรัพย์สินสมบัติ ความรักในชื่อเสียงของตัวเอง ฯลฯ

๒. หมายถึงความเมตตาหรือความปรารถนาดีต่อสิ่งนั้นๆ ซึ่งจะนำไปสู่ความอาทรเกื้อกูล และการเสียสละ เพื่อสิ่งดังกล่าว โดยไม่หวังผลตอบแทนอะไรเพื่อตัวเอง เช่น ความรักเมตตาของพ่อแม่ (บางคน) ที่มีต่อลูก ครู (บางคน) ที่มีต่อศิษย์ ตลอดจน พระศาสดาของศาสนาต่างๆ ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก เป็นต้น

ขณะที่ "ความรัก" ในความหมายแรกจะนำไปสู่การไขว่คว้า แสวงหาครอบครองเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ เพื่อตัวของตน อันจะเสริมสร้างให้มนุษย์มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้นๆ "ความรัก" ในความหมายประการหลัง จะนำไปสู่ความเกื้อกูล และการสละออก อันจะช่วยลดความเห็นแก่ตัวตนของมนุษย์ให้น้อยลงๆ การใช้ศัพท์คำๆ เดียวกัน ออกเสียง เหมือนกัน สะกดเหมือนกัน แต่ใช้ในความหมายที่แตกต่างตรงข้ามกันคนละขั้วเช่นนี้ จึงนำไปสู่ความสับสนได้ง่าย

"ความรัก" ในความหมายอย่างแรกมักจะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรง ตลอดจนการเบียดเบียน ทำร้ายกัน ในสังคม ส่วน "ความรัก" ในความหมายอย่างหลังจะนำไปสู่ความเอื้ออาทรเกื้อกูล ความสมานฉันท์และความสงบ สันติ ร่มเย็นในมวลหมู่สังคม

คำว่า "รู้รักสามัคคี" ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสไว้นั้น เป็นคำที่กินความสะท้อน คุณลักษณะ ของ "ความรัก" ในความหมายแบบหลังนี้ได้อย่างลึกซึ้ง โดยสะท้อนให้เห็นองค์ประกอบ แห่งความหมาย ของคำว่า "รัก" ที่ประกอบไปด้วยมิติของปัญญาหรือ "ความรู้" และมิติของความสมานฉันท์ หรือ "ความสามัคคี"
ในสาราณียธรรม ๖ (สาราณิยสูตรที่ ๒) อังคุตตรนิกายปัญจก-ฉักกนิบาต พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ ข้อ ๒๘๒) พระพุทธเจ้าได้ตรัส ถึงองค์ประกอบของ ธรรมะอันเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน (หรือการรู้รักสามัคคี) ว่า ได้แก่

๑. การมีพฤติกรรมทางกายที่ประกอบด้วยเมตตา (เมตตากายกรรม)

๒. การมีพฤติกรรมทางวาจาที่ประกอบด้วยเมตตา (เมตตาวจีกรรม)

๓. การมีพฤติกรรมทางใจที่ประกอบด้วยเมตตา (เมตตามโนกรรม)

๔. การแบ่งปันเฉลี่ยลาภที่ได้มาโดยชอบ (สาธารณโภคี)

๕. การพัฒนาตนให้มีศีลที่บริสุทธิ์เสมอกับเพื่อนพรหมจรรย์ (ศีลสามัญญตา)

๖. การพัฒนาตนให้มีทิฏฐิที่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์เสมอกับเพื่อนพรหมจรรย์ (ทิฏฐิสามัญญตา)

สาราณียธรรม ๖ ประการ สะท้อนให้เห็นถึง มิติ ๖ ด้านของความระลึกถึงกันด้วย "ความรัก" ที่เป็น"สาราณียะ" ซึ่งประกอบไปด้วยความปรารถนาดีต่อกันทั้งทางกาย วาจา ใจ ขณะเดียวกันก็มี "ความรู้" ความเข้าใจ ในวิธี การแก้ปัญหา หรือแก้ทุกข์ อย่างถูกต้องเสมอกัน (ทิฏฐิสามัญญตา) มีแนวทางการประพฤติปฏิบัติ ที่เป็นไป เพื่อการแก้ปัญหา โดยเสมอสมานกัน (ศีลสามัญญตา) และก็มีการแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน (สาธารณโภคี)

ในพระสูตรเดียวกันนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสขยายความถึงคุณลักษณะ ๗ ประการ ที่เกิดขึ้นจากสาราณียธรรม คือ

๑. สาราณียะ (การระลึกถึงกัน) โดยปรกติเรามักจะระลึกถึงแต่ตัวเองด้วยการยึดเอาตนเป็นศูนย์กลาง หรือที่ตั้ง ถ้าเราลอง "ระลึกถึง" คนอื่นโดยเอา "ใจเขามาใส่ใจเรา" บ้าง จินตนาการว่า หากเราต้องเป็นคนๆ นั้น ต้องมี บทบาท หน้าที่ ซึ่งถูกกำหนด ด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ มากมายแบบเดียวกับคนๆ นั้น เราจะมีอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และมีพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจ อย่างไรบ้าง

หากตำรวจหรือฝ่ายผู้บริหารบ้านเมือง "ระลึกถึง" หัวอกของชาวบ้านที่มาเดินขบวนประท้วงในเรื่องต่างๆ ว่าคนเหล่านี้ ได้เผชิญกับปัญหาภาวะบีบคั้นอะไรมาบ้าง อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ซึ่งถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขข้อจำกัด จนมีอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดที่นำไปสู่การมีพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจ แบบนั้นๆ ได้อย่างไร และถ้าเราเป็น ฝ่ายชาวบ้าน ที่ตกอยู่ภายใต้ภาวะ เงื่อนไขอย่างนั้น เราจะถูกกำหนดให้มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ตลอดจน มีพฤติกรรม ทางกาย วาจา ใจ แบบเดียวกัน อย่างนั้นๆ หรือไม่

ในทำนองเดียวกัน ฝ่ายชาวบ้านก็ลอง "ระลึกถึง" หัวอกของฝ่ายตำรวจหรือผู้บริหารบ้านเมือง ที่ต้องทำหน้าที่ เผชิญกับม็อบต่างๆ ว่าบุคคลเหล่านั้น อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ ของสังคม ซึ่งถูกกำหนดด้วยเงื่อนไข ให้ต้องแสดง บทบาทอย่างไร ทำไมจึงมีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด และมีพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจ แบบนั้นๆ ถ้าหากเราเป็นตำรวจ หรือเป็นผู้บริหารบ้านเมืองที่ตกอยู่ภายใต้ภาวะเงื่อนไขอย่างนั้น เราจะถูกกำหนดให้มีความรู้สึกนึกคิด และ มีพฤติกรรม ทางกาย วาจา ใจ แบบเดียวกันนั้นๆ หรือไม่

การ "ระลึกถึงกัน" ด้วยท่าทีที่ถูกต้อง (สาราณียะ) เช่นนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ความ "รู้รักสามัคคี"
ตามนัยแห่ง หลักสาราณียธรรม

๒. ปิยะกรณะ (การปฏิบัติต่อกันอย่างเหมาะสม) เมื่อมีการ "ระลึกถึงกัน" ด้วยท่าทีที่ถูกต้อง ความ"เข้าอกเข้าใจ" ในเงื่อนไขข้อจำกัดที่เป็นตัวกำหนดภาวะความบีบคั้นให้แต่ละฝ่ายมีพฤติกรรมเช่นนั้นๆ ก็จะเป็นพื้นฐาน ที่นำไปสู่ การประพฤติ ปฏิบัติต่อกันด้วยความเมตตาทั้งความเมตตาทางกาย (เมตตากายกรรม) ความเมตตาทางวาจา (เมตตาวจีกรรม) และความเมตตาทางใจ (เมตตามโนกรรม)

๓. ครุกรณะ (เคารพในสิทธิและเงื่อนไขข้อจำกัดของกันและกัน) ความรู้สึกนึกคิด ที่ประกอบด้วย พื้นฐานของ ความเมตตา ทั้งทางกาย วาจา ใจ จะช่วยให้แต่ละฝ่าย เกิดท่าทีในการประพฤติปฏิบัติต่อกัน ด้วยความเคารพ ในสิทธิหน้าที่ ตลอดจนเงื่อนไขข้อจำกัดของกันและกัน เพราะมีความตระหนักรู้ว่า หากเรา ต้องตกอยู่ ภายใต้เงื่อนไข ข้อจำกัด และภาวะบีบคั้นแบบเดียวกับฝ่ายนั้นๆ เราก็คงจะมีบทบาท ของพฤติกรรม ทางกาย วาจา ใจ เช่นนั้นๆ เหมือนกัน

๔. สังคหะ (หาข้อสรุปในทิศทางที่เกื้อกูลต่อข้อจำกัดของแต่ละฝ่าย) ความเคารพในสิทธิ และเงื่อนไข ข้อจำกัด ของกันและกัน จะนำไปสู่การปรึกษาหารือเพื่อหาข้อยุติร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ในทิศทางที่เกื้อกูล ต่อเงื่อนไขข้อจำกัด ของแต่ละฝ่าย โดยต่างฝ่ายอาจจะไม่ได้อย่างที่ตนต้องการทั้งหมด แต่ก็ไม่สูญเสียทั้งหมด อย่างที่ตนเกรงกลัวด้วย จะมีการเฉลี่ยประโยชน์ เพื่อให้เกิดอรรถประโยชน์สูงสุดโดยภาพรวม (สาธารณโภคี)

๕. อวิวาทะ (ปล่อยวางทิฏฐิ ไม่ทะเลาะกัน) เมื่อได้ข้อสรุปในทิศทางที่เป็นไปเพื่อความเอื้ออาทรเกื้อกูลต่อกัน ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ ของแต่ละฝ่ายแล้ว การปล่อยวางทิฏฐิ ความยึดมั่นถือมั่น ที่เคยคิดจะเอาชนะกัน ให้ได้ดังกล่าว ก็จะเป็นไปโดยง่ายขึ้น ตลอดจนจะมีความเคารพต่อมติของการประชุม และเคารพในกฎกติกา ที่เกิดจากการปรึกษาหารือ ด้วยความ ถ้อยทีถ้อยอาศัยจนเกิดข้อยุติโดยธรรม หรือเกิดความ "ยุติธรรม" ดังกล่าว

๖. สามัคคียะ (สร้างความสมัครสมานสามัคคี) การแก้ปัญหาความขัดแย้ง ด้วยกระบวนวิธีแห่งสาราณียธรรม ตามขั้นตอนที่กล่าวมา จะนำไปสู่การสร้างความสมัครสมานสามัคคี ของผู้คนในสังคม เพราะเป็นกระบวนวิธี ที่ช่วยให้เกิดการอบรม กล่อมเกลา ทางสังคม (Socialization) ที่นำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อปรับทิฏฐิความเห็น ให้สอดประสานกัน มากขึ้น มีความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น (ทิฏฐิสามัญญตา) ขณะเดียวกัน การหันหน้า เข้าหากัน มากขึ้น เช่นนี้ จะส่งผลให้เกิดแบบชีวิต ของวัฒนธรรม ในการแก้ปัญหา ด้วยกระบวนวิธี แห่งสันติธรรม เสมอสมาน สนิทเนียนยิ่งๆ ขึ้น ด้วย (ศีลสามัญญตา)

๗. เอกีภาวะ (ก้าวไปพร้อมกันอย่างเป็นเอกภาพ) ผลของ "ความรัก" ที่คลี่คลายพัฒนาไปสู่ความ "รู้รักสามัคคี" ตามนัยแห่งสาราณียธรรมที่กล่าวมาโดยลำดับ จะนำไปสู่ความเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวกัน ของสังคม ซึ่งผู้คน จะอยู่ร่วมกัน อย่างอบอุ่น มีความรักใคร่กลมเกลียวกัน เคารพกัน ไม่ทะเลาะวิวาทกัน และสังคมที่ก้าวไป พร้อมกัน อย่างเป็นเอกภาพเช่นนี้ จะสามารถปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างกว้างไกลไพศาลเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ ตลอดจนจะสรรสร้างให้เกิด สภาพสังคมสิ่งแวดล้อม ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาจิตใจ ของผู้คน ในสังคมนั้นๆ ให้เกิดความเจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้น

ความ "รู้รักสามัคคี" ที่ประกอบไปด้วยมิติของ "ความรู้" มิติของ "ความรัก" และมิติของ "ความสามัคคี" ตามนัย แห่งสาราณียธรรมนี้ จึงเป็นเรื่องที่มีคุณค่าความสำคัญอย่างยิ่งที่ควรช่วยกันพัฒนาให้เกิดมีเกิดเป็นขึ้น โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ในสังคมปัจจุบัน ที่มีแนวโน้มจะเกิดความขัดแย้ง รุนแรงกันมากขึ้นๆ เพราะการแย่งชิง ทรัพยากรในโลก ที่เริ่มร่อยหรอลงๆ อันเนื่องมาจากลัทธิบริโภคนิยม ที่เสริมสร้างให้ผู้คนบริโภคกัน อย่างไม่รู้จัก ประมาณ ในโลก ทุกวันนี้

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๕ ม.ค.-ก.พ.๒๕๔๖)