- สังโฆ -

ลุงเหมือน
บ้านชั้นเดียวหลังเล็กบนเนิน เนื้อที่ ๘๓ ตารางวา คือบ้านหลังแรกที่เราสามคน พ่อ แม่ ลูกเข้าอยู่อาศัย โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า เพราะเป็นบ้านที่ปลูกด้วยน้ำพักน้ำแรง ช่างปลูกสร้างบ้านของเรากลางเนื้อที่ มีบริเวณ รอบบ้านทุกด้าน ใครต่อใครต่างพูดว่า ทำไมถึงไม่ปลูกให้ตัวบ้าน ชิดไปด้านหลัง หรือ ด้านหน้า ของรั้ว จะได้มีที่ว่างสำหรับปลูกต้นไม้และทำสนามหญ้าได้มากกว่านี้ เป็นเพราะเราไม่มีความรู้ และนึกไม่ถึง เขาปลูกให้อย่างไร ก็เอาอย่างนั้น

จวบจนกระทั่ง ลูกชายจะแต่งงาน เราจึงคิดต่อเติมบ้าน ให้ครอบครัวใหม่ของลูกอยู่ด้วย อย่างเป็นสัดส่วน โดยใช้เนื้อที่ ที่เหลืออยู่ปลูกสร้างบ้านหลังเล็ก มีห้องนอน ห้องน้ำเบ็ดเสร็จ สร้างตามยาว ขนานกับรั้ว ด้านหลัง แต่ยกพื้นสูงกว่าหลังเดิม แถมยังมีเนื้อที่ใต้ถุน ไว้เก็บของอีกด้วย พอวางแบบแปลนเสร็จ เราก็ติดต่อ หาช่างก่อสร้าง ช่างชุดที่มารับงานต่อเติมส่วนนี้ ให้เรามีอยู่ด้วยกัน ๖ คน หัวหน้าช่าง วัยกลางคน มีลูกน้อง วัยหนุ่ม ๔ คน และวัยชรา ๑ คน ชื่อ ลุงเหมือน

ลุงเหมือนอายุ ประมาณหกสิบกว่า ผิวคล้ำ เดินค้อมตัว ทำงานด้วยท่าทาง ทะมัดทะแมง ไม่สวมเสื้อ และรองเท้า (คงเพื่อความคล่องตัว หรือร้อนก็ไม่ทราบ) พูดเสียงดัง สำเนียงเหน่อ แบบลูกทุ่ง แกมักจะถูก เด็กรุ่นหนุ่ม ล้อเลียนอยู่บ่อยครั้ง เมื่อทำงานผิดพลาด หรือเชื่องช้า ไม่ทันใจใคร ด้วยสังขาร ไม่อำนวย เหมือนวัยหนุ่ม แต่แกก็ตั้งใจทำหน้าที่ของแก อย่างเต็มความสามารถ พวกช่างจะห่อข้าว มื้อกลางวัน มากินกัน เพราะเราจ้างแบบเหมาจ่าย ตอนพักเที่ยง เขาจะล้อมวง กินข้าวด้วยกัน พลางพูดคุย สรวลเสเฮฮา ทำให้ฉัน นึกได้ว่า ความสุขของคนนั้น อยู่ที่ใจนี่เอง ไม่ว่าจะลำบาก เหน็ดเหนื่อยแค่ไหน หากมีความพอใจ ก็เป็นสุข ได้เหมือนกัน หลังอาหาร พวกช่างมักจะนอนเอาแรงก่อนทำงานช่วงบ่าย เรามีน้ำเย็น จากตู้เย็น ใส่ถาด พร้อมแก้วน้ำดื่ม วางไว้ให้ บางวันมีขนม ก็แบ่งกันกิน

งานก่อสร้าง เป็นงานหนัก โดยเฉพาะกับชายชรา อย่างลุงเหมือน ฉันนึกแปลกใจ ตั้งแต่แรก เห็นแล้วว่า เหตุใด คนอายุปูนนี้ จึงต้องมาทำงาน หนักมากเช่นนี้ แต่ลุงเหมือน ก็มาทำงาน ให้เราทุกวัน จนกระทั่ง
วันหนึ่ง ฉันไม่เห็นแก จึงถามนายช่างใหญ่ว่า "วันนี้ลุงเหมือนไม่มาหรือ" ได้รับคำตอบว่า "แกไม่สบาย" อีกสองวันต่อมา ลุงเหมือนกลับมาทำงานเหมือนเดิม ฉันชวนคุย และถามอาการเจ็บป่วย "หายดีแล้วหรือ" แกตอบว่า "ค่อยยังชั่ว" (ดีขึ้นแล้ว) แต่ฉันเห็นแกยังไอ และจามฟืด มีน้ำมูกไหล แสดงว่า คงเป็นไข้หวัด ฉันจึงกลับเข้าไปในบ้าน หยิบผ้าขนหนูผืนเล็ก สำหรับเช็ดหน้า มาส่งให้ แล้วถามว่า "กินยาแก้ไข้หวัดไหม" แกสั่นหัวปฏิเสธ

ด้วยความสงสาร และเห็นว่าแกไม่เหมาะ กับงานหนักอย่างนี้ ทั้งยังเจ็บป่วยอีก ฉันจึงเลียบเคียง ถามถึง ครอบครัวของแก ลุงเหมือนเล่าด้วยสำเนียงปนเหน่อ พอพูดถึงลูกชาย ท่าทางแกเปลี่ยน เป็นสดชื่น นัยน์ตา เป็นประกาย แสดงความรัก ความปลาบปลื้มใจ "ลูกผมเป็นตำรวจ ต.ช.ด. ทำงานดี นายรัก" ฉันถามต่อว่า "เขาอยู่กับลุงหรือเปล่า" แกตอบว่า "เขาอยู่บ้านพัก นานๆ จะมาหาสักครั้ง งานเขาเยอะ" "เขาให้เงินลุง ไว้ใช้ไหม" ฉันใช้คำถาม ที่ไม่เหมาะสมเท่าไร เพราะเกินเลย ถึงเรื่องส่วนตัวมากไป แต่แก ก็บอกว่า "มันเคยถามว่า พ่อมีเงินใช้ไหม ผมก็บอกว่ามี ทั้งที่ไม่มี คนอย่างผม ไม่ขอลูกกินหรอก มันจะถามทำไม ถ้าจะให้ ก็ให้มาเลย จะให้ผมบอกมันว่า ผมไม่มีกินได้อย่างไร" ด้วยเสียงสั่นเครือ น้ำตาคลอเบ้า แล้วไหลลง อาบแก้ม ฉันรู้สึกสงสารจับใจ นายช่างใหญ่ บอกว่าที่จ้างแก ก็เพื่อช่วยเหลือ ให้แกพอมีเงินไว้กิน แม้แก จะทำงาน ไม่ค่อยไหวก็ตาม ช่างน่าอนาถใจ อะไรเช่นนี้

ทำไมหนอ ลูกที่เลี้ยงดูมาจนเติบใหญ่ พอเรียนจบ มีอาชีพ มีรายได้ มีโอกาสดีกว่าพ่อแม่ จึงไม่คิด ที่จะส่งเสีย เลี้ยงดูตอบแทน พระคุณของท่าน ผู้บัดนี้เปรียบเสมือน ไม้ใกล้ฝั่ง ให้มีความสุขสบาย ในบั้นปลาย ของชีวิต คำว่า "ความกตัญญู" คงต้องรีบเร่งสั่งสอน อบรมกัน ให้เป็นเรื่องเป็นราว และ ให้ความสำคัญ เป็นอันดับแรก ในกระบวนการเรียน การสอนจริยธรรม ในโรงเรียนเสียทีละกระมัง

- บ้านสังโฆ -

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๕ มกราคม - กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖)