มนุษย์มงคล (มหามังคลชาดก)

"วัตถุมงคล"ทั้งหลายในโลกนี้ ไม่มีวัตถุใดเลยแม้สักอย่างเดียว ที่จะทำความเจริญอันดีงามให้แก่ตัวของตัวเองได้ จะมีก็แต่"มนุษย์มงคล" เท่านั้นเพียงอย่างเดียว ที่จะสร้างมงคลให้ตนเองดีงามขึ้นได้ ทั้งยังจะสร้างมงคลสุขอันอบอุ่นเกื้อกูลแก่คนอื่นได้ แก่คนทั้งชาติได้ แก่คนทั้งโลกได้

พระพุทธองค์จึงตรัสถึง"มงคล"ที่แท้จริงว่า ก็คือการประพฤติที่ดีงามของมนุษย์เรานั่นเอง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับวัตถุมงคลใดๆเลย

ณ นครราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ ปรากฏมีบุรุษคนหนึ่งตะโกนขึ้นด้วยเสียงอันดัง ท่ามกลาง
ฝูงชนที่เนืองแน่นว่า

"วันนี้มงคล(สิ่งที่นำความสุขความเจริญมาให้)จะเกิดมีแก่เรา...มงคลจะเกิดมีแก่เรา....."
กล่าวแล้วเขาก็จากไป ปล่อยให้ผู้คนทั้งหลายพากันสงสัย หันมาไต่ถามกันว่า
"อะไรหนอที่เป็นมงคล"
ในที่นั้นเอง....พลันมีชายคนหนึ่งเอ่ยขึ้นก่อนว่า

"การได้เห็นสิ! เป็นมงคลอย่างยิ่ง เช่น ตื่นแต่เช้าก็ได้เห็นวัวควาย เห็นหญิงมีครรภ์ เห็นหม้อเต็มด้วยน้ำ เห็นเนยข้นเนยใส เห็นผ้าใหม่ เห็นข้าวปายาส(ข้าวสุกที่หุงด้วยนมวัว) เป็นต้น การได้เห็นอย่างนี้แหละถือว่าเป็นมงคล นอกจากนี้ไม่ถือว่าเป็นมงคล"

หลายๆคนพากันพยักหน้าสนับสนุน
"คนผู้นี้พูดถูกต้องแล้ว"
แต่ก็มีเสียงคัดค้านดังขึ้นว่า
"นั่นไม่ใช่มงคล การได้สดับฟังสิ! เป็นมงคล เช่น ได้ฟังว่านี่สมบูรณ์ นี่เจริญ นี่สบาย นี่น่ากิน นี่น่าใช้ ดังนี้ การได้ฟังอย่างนี้จึงจะเป็นมงคล นอกนั้นไม่ใช่"

ก็มีหลายคนเช่นกันที่คิดว่า
"อย่างนี้สิ! ถึงจะพูดถูก"
แต่ก็ยังคงมีผู้ไม่เห็นด้วยแย้งว่า
"นั่นก็ไม่ใช่มงคล การได้สัมผัสแตะต้องสิ ! จึงจะเรียกว่าเป็นมงคล คือได้แตะแผ่นดินหรือหญ้าเขียวๆ

ได้จับผ้าที่สะอาด ได้หยิบเงินทอง ได้จับต้องอาหารของกิน การได้จับต้องอย่างนี้จึงจะเรียกว่าเป็นมงคล อย่างอื่นไม่ใช่มงคลหรอก"

มีคนพวกหนึ่งยินดีกับความคิดนี้
"ท่านกล่าวถูกต้อง"
เมื่อเป็นเช่นนี้ มหาชนทั้งหมดจึงมีความคิดที่แตกต่างกันอยู่ ๓ จำพวกคือ ๑. พวกได้เห็นเป็นมงคล (ทิฏฐมังคลิกะ) ๒. พวกได้สดับฟังเป็นมงคล(สุตมังคลิกะ) ๓. พวกได้จับต้องเป็นมงคล (มุตมังคลิกะ) ต่างคนต่างก็ไม่ยอมมีความคิดเห็นร่วมกันได้

เรื่องนี้จึงลุกลามไป....แม้กระทั่งเหล่าเทวดา(เหล่าคนใจสูง)ทั้งหลาย ก็ไม่อาจตัดสินได้ว่า ใครถูกต้องที่สุด ดังนี้ในที่สุดท้าวสักกจอมเทพ(ผู้ใหญ่ของหมู่คนในสูง) ทรงแก้ปัญหาด้วยความคิดที่ว่า

"ในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก(โลกของคนใจสูง) จะมีก็แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น ที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ เราจะพาเทวดาทั้งหลายไปเข้าเฝ้าพระองค์"

ท้าวสักกจอมเทพจึงพาเหล่าเทวดาไปทูลถามปัญหา พระศาสดาทรงกรุณาประทานคำตอบด้วยมงคลสูตร ตรัสแสดง"มหามงคล ๓๘ ประการ"ให้ฟัง......

เมื่อจบมงคลสูตรนั้น เทวดาจำนวนมากได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วที่ได้เป็นพระโสดาบันนั้นก็นับไม่ถ้วนเลย

ด้วยเหตุการณ์ดังนี้เอง มหามงคลจึงปรากฏแก่มนุษย์ทั้งหลายแล้ว ทำให้ภิกษุทั้งหลายสรรเสริญคุณของพระศาสดาในธรรมสภาว่า

"พระศาสดาทรงแก้ปัญหาเรื่องมงคล ซึ่งพ้นวิสัยของผู้ใดอื่นจะแก้ได้ ทรงตัดความรำคาญใจของมนุษย์(คนใจประเสริฐ)และเทวดา(คนใจสูง)เสียได้ ดุจทำให้ดวงจันทร์ส่องสว่างอยู่ในท้องฟ้า ฉะนั้น ท่านทั้งหลายพระพุทธองค์ทรงมีปัญญามากถึงเพียงนี้"

ขณะนั้นพระศาสดาเสด็จมาถึง เมื่อทรงทราบเรื่องที่เหล่าภิกษุสนทนากันแล้ว ก็ตรัสว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การแก้ปัญหาเรื่องมงคล โดยที่เราเป็นผู้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ(ความรู้แจ้งที่รู้ถูกต้องได้ด้วยตัวเอง)แล้วในบัดนี้ ไม่น่าอัศจรรย์เลย ไม่เท่าเมื่อครั้งเรายังเป็นพระโพธิสัตว์(พระอรหันต์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า) ประพฤติธรรมอันประเสริฐอยู่ เราเคยแก้ปัญหามงคลดังนี้ ตัดความสงสัยของมนุษย์และเทวดาทั้งหลายได้ นั่นจึงน่าอัศจรรย์มากกว่านัก"

แล้วทรงนำเอาเรื่องราวนั้นตรัสให้ฟัง


ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี ปรากฏมีทารกน้อยคนหนึ่งกำเนิดในตระกูลพราหมณ์ ซึ่งสมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ อยู่ในนิคมตำบลหนึ่ง โดยที่บิดามารดาได้ตั้งชื่อให้ว่า รักขิตกุมาร

เมื่อรักขิตกุมารเจริญเติบโตขึ้นแล้ว ได้ไปร่ำเรียนจนจบศิลปวิทยาที่เมืองตักกสิลา พอกลับมาบ้านแล้ว
ก็มีภรรยาอยู่ครองเรือนของตน กระทั่งบิดามารดาล่วงลับไป จึงได้ตรวจตราดูทรัพย์สินที่มีอยู่มากมายมหาศาล แต่แทนที่จะดีใจ กลับบังเกิดความสังเวชใจ เบื่อหน่ายที่จะต้องแสวงหาทรัพย์ใหม่ ต้องคอยดูแลรักษาทรัพย์เดิม และต้องระแวงระวังทรัพย์ที่มีอยู่ให้ปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย เขาจึงตกลงใจยกทรัพย์ส่วนหนึ่งให้ภรรยา แจกจ่ายข้าทาสบริวาร และทำการให้ทานแก่คนทั่วไปเป็นการใหญ่

ในที่สุดก็ละออกจากกาม ไปบวชเป็นดาบสอยู่ที่ป่าหิมพานต์ กระทำความเพียรเผาผลาญกิเลส จนได้ฌานและอภิญญาบังเกิดขึ้น อาศัยเพียงเผือกมันและผลไม้ในป่าเป็นอาหารเท่านั้น กระทั่งต่อมา......ได้มีอันเตวาสิก(ลูกศิษย์)มาสมัครเป็นบริวารมากมายถึง ๕๐๐ คน

อยู่มาวันหนึ่ง ลูกศิษย์ทั้งหลายได้เข้าไปหาพระดาบส ครั้นนมัสการแล้วกล่าวว่า

"ข้าแต่ท่านอาจารย์ นี่ก็ล่วงพ้นฤดูฝนแล้ว พวกข้าพเจ้าปรารถนาออกจากป่านี้ จาริกไปตามชนบทต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความอดทนแข็งแรง ให้แก่ร่างกายและจิตใจของตน จึงมาขออนุญาตกับอาจารย์"

รักขิตดาบสได้ฟังดังนั้น ก็กล่าวว่า

"ถ้าปรารถนากันเช่นนั้น พวกท่านก็จงไปกันเถิด แต่เราจะยังคงอยู่ที่นี่แหละ"

ดาบสเหล่านั้นจึงนมัสการลาอาจารย์ ออกจาริกไปตามชนบททั้งหลาย จนกระทั่งไปถึงนครพาราณสี ได้แวะพักอยู่ในพระราชอุทยาน ชาวเมืองเมื่อทราบข่าวก็พากันมาเคารพสักการะเป็นจำนวนมาก

มีวันหนึ่ง ชาวเมืองหลากหลายประชุมสนทนากัน ที่เรือนรับแขกในนครพาราณสี พูดคุยกันถึงเรื่อง"มงคล" บ้างก็ว่าการได้เห็นนั้นเป็นมงคลอย่างยิ่ง เช่น ได้เห็นโคเผือก ได้เห็นหม้อเต็มด้วยน้ำ ได้เห็นผ้าใหม่ ได้เห็นข้าวปายาสอย่างดี ฯลฯ แต่บางคนก็ว่า การได้สดับฟังต่างหากเป็นยอดมงคล เช่น ได้ฟังคนพูดถึงข่าวดี พูดถึงความเจริญ พูดถึงความสบาย พูดถึงอาหารรสเลิศ ฯลฯ แต่อีกพวกก็ว่า การได้จับต้องจึงจะเป็นมงคล เช่น ได้จับต้องแผ่นดิน จับหญ้าเขียวๆ จับผ้าสะอาด จับเงินทอง จับอาหารดีๆ ฯลฯ

ทั้งสามพวกนี้ ต่างฝ่ายก็ยินดีในมงคลของตน เชื่อในความถูกต้องอย่างของตน คนทั้งหมดจึงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แล้วก็ไม่อาจที่จะมีความเห็นร่วมกันได้ว่า อย่างใดเป็นมงคลแท้จริง ครั้นเมื่อไม่อาจตัดสินได้ จึงพากันไปเข้าเฝ้าพระเจ้าพรหมทัต แต่พระราชาก็ไม่สามารถจะตอบมงคลปัญหานี้ได้

พระราชากับผู้สงสัยทั้งหมด จึงไปยังพระราชอุทยาน ถามมงคลปัญหากับหมู่ดาบสทั้งหลาย แม้เหล่าดาบสก็กล่าวว่า

"มหาบพิตร อาตมาทั้งหลายก็มิอาจตอบมงคลปัญหานี้ได้ เห็นทีจะมีแต่อาจารย์ของพวกอาตมาเท่านั้น ซึ่งเป็นผู้มีญาณปัญญามาก พำนักอยู่ที่ป่าหิมพานต์ จะไขข้อมงคลนี้ให้จับใจมนุษย์และเทวดาทั้งหลายได้"

พระราชาทรงสดับแล้วตรัสกับเหล่าดาบสว่า

"ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ดินแดนหิมพานต์นั้นไกลนัก และไปยากลำบากยิ่ง พวกเราไม่อาจจะไปที่นั้นได้ ถ้าจะให้ดีแล้ว พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดกลับไปยังสำนักอาจารย์ เรียนถามเรื่องมงคลนั่นไว้ แล้วทรงจำให้ขึ้นใจ นำกลับมาบอกเล่าให้แก่พวกเราฟังด้วยเถิด"

เหล่าดาบสพิจารณาแล้ว ก็ยอมรับปากตามนั้น ออกเดินทางกลับไปสู่ป่าหิมพานต์ ครั้นเมื่อถึงแล้วได้สนทนาบอกเล่าเรื่องต่างๆ ให้อาจารย์ฟัง วิงวอนว่า

"พวกข้าพเจ้าทั้งหลายจะขอโอกาสต่อท่านอาจารย์ ได้โปรดเฉลยมงคลปัญหา ให้แจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด ว่าอะไรเป็นมงคล จะทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้อันความสวัสดี(ความดีความเจริญ)คุ้มครองแล้ว ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า"

รักขิตดาบสจึงตอบปัญหานั้นด้วยญาณรู้อันยิ่งว่า

"แม้เทวดาและพรหมทั้งปวง ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย บุคคลใดอ่อนน้อมอยู่เป็นนิจ ด้วยเมตตา บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวเมตตาของบุคคลนั้นว่า เป็นสวัสดิมงคล(ความดีความเจริญ)ในสัตว์ทั้งปวง

ผู้ใดประพฤติถ่อมตนแก่สัตว์โลกทั้งผอง แก่หญิงและชายพร้อมทั้งเด็ก เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำชั่วร้าย ไม่กล่าวลำเลิกถึงเรื่องเก่าๆ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวความอดกลั้นของผู้นั้นว่า เป็นสวัสดิมงคล

ผู้ใดเป็นผู้มีปัญญาดี มีความรู้แจ้งปรุโปร่ง เมื่อเหตุเกิดขึ้นไม่ดูหมิ่นมิตรสหายด้วยศิลปะ-ทรัพย์-สกุลและชาติกำเนิด บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่ดูหมิ่นสหายของผู้นั้นว่า เป็นสวัสดิมงคลในสหายทั้งหลาย

สัตบุรุษ(ผู้สัมมาทิฐิ) เป็นผู้ชอบคุ้นเคยกับใครๆ เป็นมิตรแท้ เป็นผู้มีคำพูดมั่นคง เป็นผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร เป็นผู้แบ่งปันทรัพย์ของตนให้แก่มิตร บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการได้ประโยชน์เพราะอาศัยมิตร และการแบ่งปันของผู้นั้นว่า เป็นความสวัสดิมงคลในมิตรทั้งหลาย

ภรรยาของผู้ใดมีวัยเสมอกัน อยู่ร่วมกันด้วยความปรองดอง ประพฤติตามใจกัน เป็นคนใคร่ธรรม ไม่เป็นหญิงหมัน มีศีลโดยสมควรแก่สกุล รู้จักปรนนิบัติสามี บัณฑิตทั้งหลายกล่าวคุณความดีในภรรยาของผู้นั้นว่า เป็นสวัสดิมงคลในภรรยาทั้งหลาย

พระราชาเป็นเจ้าแผ่นดิน ทรงพระอิสริยยศใหญ่ ทรงทราบความสะอาดและความขยันหมั่นเพียรของราชเสวก(ข้าราชการในราชสำนัก)คนใด และทรงทราบราชเสวกคนใดเป็นผู้ไม่ร้าวรานกับพระองค์ ทั้งทรงทราบราชเสวกคนใดมีใจจงรักภักดีต่อพระองค์ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวคุณความดีของราชเสวกนั้นๆว่า เป็นสวัสดิมงคลในพระราชาทั้งหลาย

บุคคลใดมีศรัทธาให้ข้าวน้ำ ให้ดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ มีจิตเลื่อมใสยินดีในการให้ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวความศรัทธาในการให้ของบุคคลนั้นว่า เป็นสวัสดิมงคลในสวรรค์(สภาวะสงบของผู้มีจิตใจสูง)ทั้งหลาย

สัตบุรุษทั้งหลายผู้รู้แจ้งด้วยญาณ(ความรู้สัจธรรม) ผู้ยินดีแล้วในสัมมาปฏิบัติ เป็นพหูสูต แสวงหาคุณ เป็นผู้มีศีล ทำบุคคลอื่นให้บริสุทธิ์ด้วยอริยธรรม บัณฑิตทั้งหลายยกย่องความดีของสัตบุรุษนั้นว่า เป็นสวัสดิมงคลในท่ามกลางพระอรหันต์

ความเป็นมงคลอันสวัสดีเหล่านี้ ผู้รู้สรรเสริญแล้วว่า มีสุขเป็นผลกำไรในโลก ชนผู้มีปัญญาทั้งหลายพึงเสพความสวัสดีเหล่านี้ไว้ในโลก ส่วนมงคลทั้ง ๓ คือ การได้เห็น การได้สดับฟัง และการได้จับต้องนั้น ล้วนมิใช่มงคลแท้จริง"

พอดาบสทั้งหลายได้รับฟังมงคลแท้จริงเหล่านั้นแล้ว ครั้นล่วงไปได้ ๗ วัน ก็ขออนุญาตอาจารย์ ลงไปนครพาราณสีอีกครั้ง เพื่อให้คำตอบเรื่องของมงคล แด่พระเจ้าพรหมทัตกับชาวเมืองทั้งหลาย

นับตั้งแต่นั้นมา มงคลก็ปรากฏในโลก ได้มีผู้ประพฤติในข้อมงคลนั้นมากมาย พวกเขาเมื่อตายไปแล้ว ก็ได้สุคติ(ทางไปดี)เกิดในโลกสวรรค์(โลกของคนใจสูง) ส่วนรักขิตดาบสนั้นก็เจริญพรหมวิหาร ๔ พาหมู่ดาบสไปเกิดในพรหมโลก(โลกแห่งความเมตตา-กรุณา-มุทิตา-อุเบกขา)

พระศาสดาแสดงชาดกนี้จบแล้ว ตรัสว่า
"หมู่ดาบสในครั้งนั้น ได้มาเป็นพุทธบริษัทในบัดนี้ ลูกศิษย์ผู้ถามมงคลปัญหานั้น ได้มาเป็นพระสารีบุตรในบัดนี้ ส่วนรักขิตดาบสนั้น ก็คือเราตถาคตนั่นเอง"

ณวมพุทธ
ศุกร์ ๒๔ พ.ย.๓๘
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๑๔๗๓
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๙ หน้า ๙๔๓)


พระพุทธองค์ตรัส
นี้เป็นอุดมมงคล (มงคล ๓๘) คือความดีความเจริญอันสูงสุด หากเทวดา(คนใจสูง) และมนุษย์ (คนใจประเสริฐ) ทั้งหลายกระทำมงคลเช่นนี้ไว้แล้ว จะเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ต่อข้าศึก ทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดี ในที่ทุกสถาน

๑. ไม่คบคนพาล
๒. คบหาบัณฑิต
๓. บูชาบุคคลที่ควรบูชา
๔. อยู่ในถิ่นที่สมควรอยู่
๕. การทำบุญ(ชำระกิเลส)สะสมไว้ก่อน
๖. ตั้งตนไว้อย่างถูกต้อง
๗. เป็นผู้รับฟังใส่ใจศึกษามาก
๘. มีศิลปะฝีมือเยี่ยม
๙. มีวินัยที่ศึกษาดีแล้ว
๑๐. กล่าวแต่ถ้อยคำที่ดี
๑๑. บำรุงบิดามารดา
๑๒. ช่วยเหลือบุตร
๑๓. ช่วยเหลือภรรยา
๑๔. ทำงานไม่ให้คั่งค้าง
๑๕. ทำทานเสียสละ
๑๖. ปฏิบัติธรรม
๑๗. ช่วยเหลือญาติ
๑๘. ทำงานที่ไม่มีโทษ
๑๙. งดเว้นการทำบาป
๒๐. เหนี่ยวรั้งกาย-วาจา-ใจ ออกจากของมอมเมาให้โทษ
๒๑. ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
๒๒. มีความเคารพ
๒๓. มีความถ่อมตน
๒๔. ยินดีพอใจในความมักน้อย
๒๕. มีความกตัญญู
๒๖. ฟังธรรมเสมอๆ
๒๗. มีความอดทน
๒๘. เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย
๒๙. พบปะสมณะ
๓๐. สนทนาธรรมเสมอๆ
๓๑. พากเพียรเผากิเลส
๓๒. ประพฤติพรหมจรรย์(มรรคองค์ ๘)
๓๓. เห็นอริยสัจคือความจริงอันประเสริฐว่านี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับทุกข์ นี้เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
๓๔. กระทำนิพพานดับกิเลสทุกข์ให้แจ้ง
๓๕. จิตไม่หวั่นไหว แม้สัมผัสอยู่กับโลกธรรม
๓๖. จิตไม่เศร้าโศก
๓๗. จิตปราศจากธุลี(กิเลสแม้เล็กแม้น้อย)
๓๘. จิตเกษม
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ "มงคลสูตร" ข้อ ๓๑๘)