ศีลธรรม จิต ปรมัตถธรรม
- อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง -

ธรรมสวัสดี
วันนี้เราจะได้พูดกันถึงเรื่องของจิต ๒ ประเภท หรือ ๒ ระดับ คือ จิตศีลธรรม และ จิตปรมัตถธรรม

จิตในระดับศีลธรรม จัดว่าเป็นจิตของบุคคลที่ได้พัฒนาจากความเป็นปุถุชน คือบุคคลที่ยังหนา อยู่ด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน ขึ้นมาสู่ระดับของความมีศีลธรรม คือในระดับของความเป็นคนดี มีสัมมาทิฏฐิ อยู่ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ใช่ ระดับสูงสุด ถ้าเป็นบุคคลทั่วไปก็เรียกว่าเป็นผู้มีศีลเป็นผู้มีธรรม คือมีการรับศีล สมาทานศีล ศีล ๕ บ้าง ศีล ๘ บ้าง มีการไปฟัง พระธรรมเทศนา มีการทำบุญทำทาน มีการช่วยเหลือผู้อื่น ตามกำลัง แล้วก็มีความตั้งใจ ที่จะไม่ เบียดเบียนผู้อื่น แต่ก็อาจจะยังมีการเบียดเบียนอยู่บ้าง โดยไม่เจตนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือการเบียดเบียนตนเอง

ที่เบียดเบียนตนเองก็เพราะไม่รู้ว่านี่คือการเบียดเบียน การเบียดเบียนก็คือการที่ทำให้จิตนั้นไม่สงบ ไม่สบาย เกิดมีความทุกข์ มีความดิ้นรน วุ่นวายสับสน อึดอัดขัดใจสารพัดเกิดขึ้น นี่คือลักษณะ อาการของ ความทุกข์ ใช่ไหม แม้ในคนดี ซึ่งอยู่ในระดับศีลธรรม ก็ยังมีอาการอย่างนี้ เกิดขึ้นได้เรื่อยๆ ในทางธรรมเราเรียกว่า เป็นการถูก เบียดเบียน แต่ในทางโลก ผู้ที่เป็นคนดีในระดับศีลธรรม อาจจะไม่รู้สึกว่า นี่คืออาการที่กำลังถูกเบียดเบียน ด้วยความทุกข์แล้ว

ถ้าจะพูดกันถึงเรื่องถูกเบียดเบียน ก็มักจะไปมองว่าถูกเบียดเบียนโดยผู้อื่น คนนั้นเบียดเบียนฉัน คนนี้ เบียดเบียนฉัน หรือ เหตุการณ์อย่างนี้ เบียดเบียนฉัน สังคมเบียดเบียนฉัน แต่ไม่ค่อยมีใครมองเห็นว่า อาการเบียดเบียนนี้ เกิดขึ้นเพราะตนเอง

ทำไมจึงว่าเกิดขึ้นเพราะตนเอง ก็เพราะว่าได้ปล่อยชีวิตของตนให้เป็นชีวิตที่ถูกกัดด้วยความทุกข์อยู่ ตลอดเวลา กัดด้วยความทุกข์ เพราะอะไร ก็เพราะเหตุว่าจิตนั้นยังเป็นจิตที่แม้จะเป็นจิตของคนดี แต่ก็เรียกว่า ยังเป็นจิต ที่เป็นทาส ยังมีอวิชชา ครอบงำอยู่บางส่วน เป็นทาสของอะไร ก็ทาสของกิเลส โลภ โกรธ หลง ทาสของตัณหา ความอยาก ทาสของอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น

เพราะฉะนั้นพอมีสิ่งกระทบเข้ามา ผัสสะกระทบเข้ามาเท่านั้นเอง ขาดสติทันที ปล่อยให้กิเลส เข้ามาครอบงำ ปล่อยให้ ตัณหา ความอยาก ปล่อยให้อุปาทานเข้ามาครอบงำ ขณะที่ขาดสติ ก็ขาดปัญญาประกอบไปด้วย ทำให้มอง ไม่เห็นว่า แสงสว่าง ที่จะทำให้จิต เยือกเย็น ผ่องใสขึ้นได้นั้น เป็นอย่างไร ชีวิตจึงถูกกัดอยู่ ตลอดเวลา

นี่แหละจึงเรียกว่า แม้จะเป็นคนดีก็ยังมีชีวิตที่ถูกกัดด้วยความทุกข์ จนกระทั่ง บางครั้งถึงกับร้องออกมาว่า ไม่อยาก ทำความดีแล้ว ไม่อยากเป็นคนดีแล้ว เพราะทำแล้วก็ไม่เห็นได้ดี ไม่อยากเป็นคนดีละ เบื่อ บางทีก็เลยเถิด ไปถึงว่า เป็นคนชั่วดีกว่า ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องลำบากที่จะต้องอุตสาหะ ทำความดี ให้คนอื่นมองเห็น

ขณะนั้นใจถูกเบียดเบียน เป็นทุกข์แล้วแต่ไม่รู้ เพราะในระดับศีลธรรมนั้น จะเห็นธรรมะ หรือเข้าใจธรรมะ ก็แค่ใน ระดับศีล คือ การสมาทานศีล ประพฤติศีล แล้วก็ในระดับแค่ฟังเทศน์ ฟังธรรมพอรู้เรื่องบาป เรื่องบุญ เรื่องทำทาน เรื่องการทำ สิ่งที่เป็นกุศลบ้าง เป็นบางครั้ง แต่ยังมิได้ปฏิบัติธรรม อย่างแท้จริง

ปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริงก็คือ เมื่อจิตสงบแล้ว เป็นสมาธิแล้ว ก็ใคร่ครวญธรรมไปจนกระทั่ง ถึงขั้นของ วิปัสสนา ที่จะพัฒนาปัญญา ให้เกิดความประจักษ์แจ้ง ในสิ่งที่เรียกว่าสัจธรรม

ถ้าหากว่าอยู่ในระดับของศีลธรรม เมื่อมาเจริญสมาธิภาวนา ก็มักจะอยู่ในประเภทที่ท่านเรียกกันว่า เหมือนหิน ทับหญ้า คือในขณะนั้น จิตมีความสงบ มีความสบาย ความเย็นอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ก็พอใจ อยู่กับความสงบ ความสุขแค่นั้น ไม่พยายามใช้จิต ที่มีสมาธิ ที่มีความสงบ พัฒนาปัญญาให้เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นพอออกจากสมาธิ มีผัสสะเข้ามากระทบ ก็ถลาเข้าไป ผวาเข้าไปเอาเรื่องกับเจ้าผัสสะนั้น เป็นสุขเวทนาบ้าง เป็นทุกขเวทนาบ้าง เป็นอทุกขมสุขเวทนาบ้าง จิตใจก็เกิด ความระส่ำระสาย เกิดความวุ่นวาย สับสน และ ในขณะนั้นแหละ ที่เรียกว่า เป็นอาการของจิต ที่ถูกเบียดเบียน เพราะไม่ยอม ใช้วิปัสสนา

พอออกจากสมาธิภาวนา ก็เปรียบเหมือนกับการยกหินที่ทับหญ้าออก หญ้าไม่สามารถ จะงอกขึ้นได้ ในขณะที่ หินนั้น ทับหญ้าอยู่ แต่เมื่อยกแผ่นหินนั้นออก หญ้าก็งอกขึ้นมาได้อีก ถ้าจะอุปมา หญ้าก็เหมือนกับ กิเลส ตัณหา อุปาทาน ที่ถูกจิต ซึ่งเป็นสมาธิภาวนาทับอยู่ คืออำนาจของจิตที่เป็นสมาธิ ที่เกิดจาก การเจริญ สมาธิภาวนา นั้นทับอยู่ ในขณะนั้น จิตมีความสงบ มีสติ เยือกเย็น ผ่องใส ในระดับหนึ่ง กิเลส ตัณหา อุปาทาน ก็ไม่เข้ามา รบกวน แต่พอออกจากสมาธิ เมื่อใด กิเลส ตัณหา อุปาทาน ก็ได้โอกาส เข้ามาจู่โจม แล้วก็เลยเป็นจิต ที่ยังคงตกอยู่ ใต้อำนาจ ของความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยาก ความยึด อย่างที่เคยเป็น พอมีผัสสะ มากระทบจิต ก็ผวาไปอย่างเดิม ทั้งๆที่ โดยปกติ ก็เป็นคนดี อยากจะทำ แต่ความดี ช่วยเหลือคนอื่น ทำบุญ ทำทาน ด้วยการสงเคราะห์ต่างๆ นานา กลัวบาป พยายามจะทำบุญ อยากไปสวรรค์ ไม่อยากตกนรก อะไรอย่างนี้ เป็นต้น

ศีลเป็นบาทฐานของสมาธิ สมาธิเป็นบาทฐานของปัญญา ถ้าผู้ใดที่เจริญสมาธิแล้วมาพอใจอยู่แค่การมีศีล การสามารถ ทำสมาธิ ให้จิตสงบได้ ไม่พิจารณาใคร่ครวญธรรมต่อไป จนถึงระดับของวิปัสสนา ที่ทำให้เกิด ปัญญา ประจักษ์แจ้ง ในธรรม ปัญญาที่แท้จริง ในทางธรรม ก็ไม่เกิดขึ้น ก็เลยอยู่แค่ในระดับ ของศีลธรรม มีความสุข อยู่กับ การทำความดี แต่พออะไร ที่ผิดไปจากหนทางแห่งความดี ที่เคยปฏิบัติ หรือในทัศนคติ ที่เห็นว่า ต้องอย่างนี้ จึงจะดี ก็รับไม่ได้

เมื่อรับไม่ได้แล้ว มันก็จะเกิดอาการกระทบให้เกิดเป็นอารมณ์ของความถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง หรือ ความหลง วนเวียน อย่างตัดสินใจไม่ได้ว่า ควรเป็นอย่างไรบ้าง เพราะไม่พยายาม ที่จะพัฒนาปัญญา ด้วยวิธีการ ที่เรียกว่า วิปัสสนา การใคร่ครวญธรรม ด้วยการดูจดจ่อ ด้วยสติ เข้าไปที่ความรู้สึกภายใน ที่เกิดขึ้น แล้วก็พิจารณา จนกระทั่ง ประจักษ์แจ้ง ทีละน้อยๆ ในเรื่องของกฎไตรลักษณ์ กฎอิทัปปัจจยตา อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น

จึงพูดได้ว่า จิตในระดับนี้เป็นระดับของจิตศีลธรรมที่ยังมีการขึ้นๆ ลงๆ ยังไม่มีรากฐานมั่นคง ที่จะรองรับ ความมีศีลธรรมนั้น ให้หนักแน่น เข้มแข็ง แล้วก็แกร่งกล้า ไม่โซซัดโซเซ หรือว่าโลเลง่ายๆ อันนี้แหละ จึงเรียกว่า เป็นจิต ในระดับศีลธรรม เพราะไม่สามารถ ที่จะมีความประจักษ์แจ้ง ในความเป็นเช่นนั้นเอง หรือ ความเป็น ธรรมดา ของสิ่งทั้งหลาย ทั้งปวง หรือความเป็นเพียงสิ่งสักว่า ตามธรรมชาติเช่นนั้นเองหนอ ทั้งนี้ก็เพราะ ไม่รู้จัก หนทางเดิน อันประเสริฐ ที่ท่านเรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่เคยดำเนินชีวิต หรือสมาทานว่า วิถีชีวิตของเรา จะต้อง ดำเนินไปตาม หนทางแห่ง อริยมรรค มีองค์ ๘ จะเดินไปให้ถึงที่สุด แห่งหนทาง ที่เป็นจุดหมาย ปลายทาง หรือ เป็นเป้าหมาย สูงสุดของชีวิต

เมื่อไม่ดำเนินตามหนทางของอริยมรรค นั่นก็หมายรวมไปถึงความไม่สนใจ ในความหมาย ของธรรมะ ๔ ประการ คือ เรื่องของ ธรรมชาติ ตัวธรรมชาติที่เป็นสภาวธรรม (กฎของธรรมชาติ กฎไตรลักษณ์ อิทัปปัจจยตา อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท) ตลอดจนกระทั่ง นำสิ่งเหล่านั้น เข้ามาประพฤติ ปฏิบัติที่ใจ จึงไม่สามารถ ที่จะรักษาใจ ให้มั่นคง อยู่ในความเป็นคนดี ได้อย่างถาวร พอมีอะไรมากระทบ ถูกกัด ด้วยความทุกข์มากเข้า ก็ย่อท้อ ไม่อดทน ไม่สามารถ ที่จะบังคับใจ ให้เดินต่อไป เพราะไม่มีรากฐาน อันจะควบคุมใจ ให้มั่นคง อยู่ในหนทาง แห่งพระธรรม ต่อไปได้

เมื่อมาถึงขั้นนี้ บางครั้งคนดีอย่างนี้แหละ ก็ถึงขนาดที่ว่าจะยอมเปลี่ยนทิฏฐิ จากสัมมาทิฏฐิซึ่งเป็น ทิฏฐิ ที่ถูกต้อง ในหนทางธรรม ไปสู่ความเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นที่ไม่ถูกต้อง ไม่อยู่ในทำนองคลองธรรม นั่นก็คือ เกิดความคิดที่ว่า จะไม่ทำความดี อีกต่อไปละ เพราะว่ามันไม่เห็นได้ดี เป็นคนดีแล้ว ทำไมมันถึง ต้องร้องไห้ เป็นคนดีแล้ว ทำไมมันถึง ต้องทุกข์ จะเห็นได้ว่า ที่เป็นอย่างนี้ เพราะว่าคนดีที่อยู่ ในระดับของ จิตศีลธรรมนั้น เมื่อกระทำความดีอันใด ก็มักจะกระทำ ด้วยความหวัง หวังว่าจะได้รับสิ่งดีๆ เป็นการตอบแทน หรืออย่างน้อย ที่สุด ก็คำขอบใจ ความยกย่องชมเชย แต่เมื่อทำไปแล้ว ไม่ได้รับอะไร ตอบแทน ครั้งแรกอาจจะพอทนได้ แต่พอหลายๆ ครั้งเข้า ยังไม่ได้รับอะไร ตอบแทน ดังที่เคยหวังเลย ก็รู้สึกผิดหวัง เสียใจ เศร้าหมอง ขมขื่น จึงอยากจะเลิกล้ม การทำความดี หรือการเป็นคนดี โดยไม่สำนึกว่า การมีทิฏฐิเช่นนั้น (คือทิฏฐิ ที่เปลี่ยนแปลงว่า จะเลิกทำความดี หรือจนกระทั่งบางทีถึงกับว่า ทำความชั่ว ดีกว่า) การเปลี่ยนจาก สัมมาทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิ อย่างนั้น ตนเองจะต้องตกอยู่ในความทุกข์ สักเพียงใด จะยิ่งกว่า เมื่อครั้ง ที่ยังยอม เป็นคนดี รักความเป็น คนดี มากสักเพียงใด

โดยปกติผู้ที่มีจิตสำนึกเป็นคนดีหรือมีธรรมชาติที่รักความดีนั้น เมื่อมีอะไรมากระทบ แล้วเกิดสับเปลี่ยน ทิฏฐิ ขึ้นมา ตามอารมณ์ ที่ถูกกระทบ ไปทำอะไร ที่ขัดต่อธรรมชาติ ของความเป็นคนดี ที่เคยเป็น เคยคิด บ้างไหมว่า จิตสำนึก ที่มีอยู่ในเนื้อในตัว ตามธรรมชาติ ของความเป็นคนดีนั้น มันจะมาหลอกหลอน เยาะเย้ยให้ต้อง นอนสะดุ้ง อยู่หลายตลบ หวาดผวาอยู่ตลอดเวลา เพราะตอนที่เราเป็นคนดี เรารักความดี ก็เพราะเรารู้ว่า ถ้าทำความชั่วแล้ว ผลมันจะตอบ สนองอย่างไร ทั้งข้างนอก และข้างใน แต่บัดนี้ เพราะความโกรธ ความขัดใจ ผิดหวัง ที่ไม่ได้อย่างใจ ก็เลยลองมา ทำความชั่วเสียบ้าง

คนที่เคยทำชั่ว อยู่ตลอดเวลา จนเป็นนิสัย เขาจะไม่สะดุ้ง ต่อการที่เขาเคยทำความชั่วหรอก เหมือนอย่าง คนพูดปด หลอกลวงคนอื่น ตลอดเวลา เขาจะพูดปด จะหลอกลวงสักกี่สิบครั้ง เขาก็ไม่สะดุ้ง เพราะเขาทำ เสียจน เป็นนิสัยแล้ว แต่คนที่ไม่เคย ทำอย่างนั้น พออยากจะมาเปลี่ยนเข้า เท่านั้นเอง มันจะนอนสะดุ้ง มันจะหวาดผวา มีความละอาย เกิดขึ้น แล้วก็มีความรู้สึกกลัวว่า ใครเขาจะรู้เท่าทัน การทำความชั่วของตน

นี่แหละ ถ้าคนดีเกิดเปลี่ยนพฤติกรรมขึ้นมาอย่างกะทันหันเพราะถูกกระทบแล้วเกิดอารมณ์ จนทนไม่ได้ ใจของคนดีคนนั้น ก็จะตก อยู่ภายใต้ นิวรณ์ที่ร้ายกาจ

คงจำได้ นิวรณ์คือเครื่องกั้นไม่ให้ทำความดี หรือทำความดีไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นความดี ในทางโลก หรือ ความดี ในทางธรรม นิวรณ์ที่ร้ายกาจที่สุดที่จะเข้ามาทำให้จิตใจนี้สับสน พะวักพะวน วนเวียนไปมา ก็คือเจ้าตัว สุดท้าย ที่เรียกว่า วิจิกิจฉา ลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ คือไม่แน่ใจขึ้นมาว่า กลับไปทำความดีใหม่ จะดีไหม หรือว่าจะทำ ความชั่วต่อไป ถ้าหากว่า ทำความชั่วแล้ว คนอื่น เขารู้เข้าจะเป็นอย่างไร มันมีความละอาย มีความกลัว มีความหวั่นหวาด ทำให้จิตใจนี้ ว้าวุ่นขุ่นหมอง อยู่ตลอดเวลา หาความสงบ หาความเย็นใจ ไม่ได้เลย

นี่เห็นไหม ในระดับศีลธรรมมันยังมีอาการสะดุ้ง ยังไม่เป็นจิตที่มั่นคงจนเดินต่อไป ตามหนทาง ที่ถูกต้องได้ แม้จะมีอะไร เข้ามากระทบ มันไม่สามารถจะเป็นอย่างนั้นได้ คนดีที่มีจิตอยู่ในระดับของศีลธรรม จะถูกกัด อยู่อย่างนี้ ตลอดเวลา ถูกกัดด้วยความทุกข์ ที่เกิดขึ้น ตามเหตุปัจจัย ที่ได้กระทำ เมื่อความทุกข์ เข้ามา กัดกินใจ มากเข้าๆๆ ทั้งที่พยายาม เป็นคนดีนี่แหละ ก็จะรู้สึกว่า ชีวิตนี้มันชักจะมืดลงๆ จนทนไม่ได้ มันรู้สึกว่า อยากกลั้นใจตาย เสียดีกว่า ถ้าหากว่า ต้องจมอยู่ในทะเล ของความทุกข์ เพราะความเป็นคนดี

ไหนจะเหน็ดเหนื่อยในการที่อุตสาหะทำความดีช่วยเหลือผู้อื่น ทำการงาน อย่างชนิด ไม่เห็นแก่ชีวิต เพื่อให้การงาน นั้นสำเร็จ กระทำความดีต่อพี่น้องญาติมิตร หรือสามีภรรยา ลูกหลานที่อยู่ใน ครอบครัว เดียวกัน ตลอดจน กระทั่ง กว้างไปถึง การทำความดี ต่อสังคม แต่ทำอย่างชนิดมีความหวัง หวังตั้งใจว่า เมื่อทำความด ีต้องให้ดี เหมือนดั่งที่ ตั้งใจทำ พอไม่ดีอย่างที่ตั้งใจทำ ทนไม่ได้ เกิดความทุกข์ขึ้น หรือจะพูดง่ายๆ ก็ว่า ถูกความดีนั่นแหละ มันกัดเอา

ที่จริงความดีไม่ได้กัด แต่เพราะทำด้วยความยึดมั่นถือมั่น มีอุปาทาน มันก็เลยกัดเอา เมื่อเกิดความรู้สึก เดือดร้อนใจ เผาไหม้เกรียม อยู่ทุกขณะ ทุกวันๆ จนสุดที่จะทน จนวันไหนรู้สึกว่าสุดที่จะทนแล้ว และ เป็นผู้มี สติปัญญา เฉลียวฉลาด พอสมควร ก็อาจจะบอก ตัวเองว่า มันน่าจะมีอะไร สักอย่างหนึ่งนะ ที่จะช่วยเรา ให้พ้นจากความทุกข์ ที่ถูกกัด เราก็ได้รับคำสั่งสอน อบรมมา แต่เล็กแต่น้อย จากทางบ้านด้วย ทางโรงเรียนด้วย ว่าการเป็นคนดีนี้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างไร และ ความดีนี้ เป็นสิ่งที่ช่วยค้ำจุน ให้ผู้คน ได้อยู่ร่วมกัน อย่างมี ความสุข เพื่อให้สังคม เป็นสุขได้อย่างไร เราก็พยายามทำความดี อย่างสุด ความสามารถ แล้วทำไม ความดี จึงยังเป็นเหตุ ให้เกิดความทุกข์อีก

ถ้าเป็นผู้ที่ฉลาด มีสติปัญญา ก็จะคิดค้นหาหนทาง มันมีอะไรอีกไหม มันมีอะไรมากกว่านี้อีกไหม ที่จะช่วย ให้คนที่เป็นคนดี ซึ่งทำความดี อย่างเต็มที่แล้วนี้ ไม่ต้องมีความทุกข์ ไม่ต้องเดือดร้อน สามารถที่จะทำ ความดี ต่อไปได้ ด้วยความชื่นบาน เบิกบาน อิ่มเอิบอยู่เสมอ ในการทำความดีนั้น

ถ้าหากว่าการทำความดี การเป็นคนดี แล้วยังต้องเกลือกกลิ้ง กับความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ก็แสดงว่า การเป็นคนดี หรือมีความดีนี้ มันยังไม่เพียงพอละสิ เมื่อใดที่คิดไปนึกไป แล้วมาถึงคำถามอันนี้ดีมาก พอมาถึงคำถามอันนี้ จะดีมาก เพราะจะเป็นประกาย หรือจุดเริ่มต้น ให้เกิดความรู้สึก มานะพยายาม ที่จะต้องคิดค้นต่อไป การเป็นคนดี ไม่เพียงพอ แน่ทีเดียว ไม่เพียงพอแน่ มันต้องมีอะไร ที่สูงไปกว่า การเป็นคนดี หรือการทำดี

เพราะเหตุว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ได้ตรัสแล้วว่า การทำความดี การเป็นคนดี มีศีลธรรม เป็นสิ่งที่ดี แต่จะมีศีลธรรม ในระดับใด มันถึงจะช่วยให้จิตใจนี้ ไม่เป็นทุกข์ จะต้องแสวงหา

สิ่งนี้จะกระตุ้นเตือนให้เกิดความอุตสาหะพยายามค้นหาหนทางอย่างถึงที่สุด ดิ้นรนจนสุดชีวิต ที่จะพยายาม ดึงจิต ให้พ้นออกไป จากการถูกกัด ด้วยความทุกข์ แล้วบางทีอาจจะได้ยินคำพูด ที่ครูบาอาจารย์ หรือเหล่า ผู้เฉลียวฉลาด ท่านพูดให้ฟังว่า "ทุกข์เกิดที่ใด ก็ต้องดับตรงนั้นสิ" ทุกข์เกิดที่ใด ก็ต้องดับที่ตรงนั้น ทุกข์เกิด ที่ตรงไหนล่ะ ก็คงตอบได้เองใช่ไหมว่า สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นทุกข์ ก็อยู่ตรงสิ่งที่ สมมุติเรียกกันว่า "ใจ" เพราะฉะนั้น ความรู้สึก "ทุกข์" หรือความรู้สึก ที่สมมุติเรียกว่า "สุข" ก็ดี มันก็เกิดขึ้น ที่ภายใน เมื่อสิ่งที่เรียกว่า อาการขอ งความทุกข์ เกิดขึ้นที่ภายใน เราก็ต้องหันมาดับที่ใจสิ ไม่ใช่ ไปดับที่อื่น หรือไม่ใช่ไปดับ ที่ข้างนอก

พอมองเห็นจุดนี้ ก็จะมีการศึกษาค้นคว้าในเรื่องของธรรมะและปฏิบัติธรรมะต่อไป ในระดับของ ศีลธรรมนั้น ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ มาในระดับ ของการทำดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทำบุญทำทาน กลัวบาป กลัวนรก พยายามทำดี ที่จะส่งชีวิตของตน ให้อยู่ในภาวะ ของสิ่งที่เรียกว่า สวรรค์ ก็จะมอง เห็นว่า การศึกษาธรรมะ เพียงเท่านั้น ไม่พอแน่ เพราะพอเรามาศึกษา สิ่งเหล่านี้ เราก็อดไม่ได้ ที่จะไปยึด ในเรื่องบุญ ยึดในเรื่องบาป ยึดในเรื่องสวรรค์ ยึดในเรื่องนรก พอทำอะไรเข้า ก็มีแต่ความหวังว่า มันจะต้อง มีสวรรค์เกิดขึ้น และ สวรรค์ในที่นี้ ก็คือ ความที่ได้อย่างใจ ก็คือหวังที่จะได้รับการตอบแทน อย่างที่ใจคิด อาจจะเป็นวัตถุสิ่งของ หรือ อาจจะเป็น รางวัล ความยกย่อง หรืออาจจะเป็น เกียรติยศชื่อเสียง หรือ การเลื่อน ตำแหน่งการงาน เงินเดือนขึ้น อะไรก็สุดแล้วแต่ ที่คนดีทำความดีแล้ว ก็อดที่จะหวังไม่ได้

พอคนดีในระดับศีลธรรมคิดค้นจนกระทั่งมาถึงจุดนี้ ก็พูดได้ว่า กำลังเริ่มเดินเข้าสู่ หนทางสว่างแล้ว เริ่มมองเห็น แสงสว่าง อยู่รำไร คือกำลังจะพบหนทางแก้ไขความทุกข์ที่ถูกจุด แก้ไขตรงจุดที่เกิดของเหตุ ตรงไหนเป็นจุด ที่เกิดทุกข์ เราจะแก้ที่ตรงนั้น ก็จะมีการศึกษา ค้นคว้า ในเรื่องของธรรมะต่อไป ด้วยการศึกษา เรื่องของใจ หรือเรื่องของจิต ศึกษาเรื่องของความทุกข์ เพื่อหาวิธี ดับทุกข์อย่างถูกต้อง ให้สามารถ ดับทุกข์ให้จงได้

นี่ก็เรียกว่า ผู้นั้นบุคคลนั้นกำลังเข้าสู่การพัฒนาชีวิตในหนทางที่ถูกต้องแล้ว เริ่มเดินเข้าสู่หนทาง ที่ถูกต้อง และในขณะที่ กำลังแสวงหานั้น ได้กำไรอีกอย่างหนึ่งก็คือ ลืมความทุกข์ ลืมความทุกข์จาก ความผิดหวัง ที่กัดกินใจ เพราะจิตจะมามัวมุ่ง แต่การศึกษา หาธรรมะ ในระดับที่สูง ต่อไปอีก เพื่อจะดึงจิตใจ ที่ตกอยู่ ในความทุกข์นั้น ให้รู้จักหนทาง ที่จะผ่อนคลาย ความทุกข์ได้ เพื่อที่จะให้พ้น จากความยึดมั่น ถือมั่น ในเรื่องของ ความดี ในระดับศีลธรรม ซึ่งไม่ช่วยให้พ้นทุกข์นั้น ไปสู่การเรียนรู้ธรรมะ เพื่อดับทุกข์ที่ใจ เรียกว่า เป็นการเรียนรู้ธรรมะ ในระดับสูงขึ้นไป สูงกว่าระดับของศีลธรรม จนอาจถึงที่สุดแห่งทุกข์ ก็ว่าได้ และ ธรรมะ ในระดับสูงนี้แหละ เราเรียกว่า ปรมัตถธรรม

ปรมัตถธรรมคืออะไร

ศีลธรรมเป็นระดับของความรู้สึกหรือการกระทำที่ยังติดอยู่ในสิ่งสมมุติว่า เป็นตัวเป็นตน ถ้าจะพูดง่ายๆ ในระดับของ ศีลธรรม ยังเป็นการประพฤติปฏิบัติในระดับที่สมมุติว่าเป็นตัวเป็นตน เพราะฉะนั้น จึงมีตัวฉัน ที่ทำความดี และเมื่อฉันทำความดีแล้ว ฉันก็หวังจะได้รับผลตอบแทน จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ดังที่ยก ตัวอย่างมาแล้ว อย่างน้อยที่สุด ก็การยกย่อง คำขอบใจ

ทีนี้เมื่อรู้ว่า เมื่อมี "ตัวฉัน" มันก็มีทุกข์อยู่เรื่อยๆ เพราะมันมีตัวฉัน เข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งมีสิ่งที่เป็น "ของฉัน" เข้ามา พัลวันอยู่ด้วย มันก็ทำให้จิตใจนี้ หนักหน่วงอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่น จึงเกิดความทุกข์ ก็เลย หันมาศึกษ าหาหนทาง ที่จะเข้าถึงธรรมะ ที่จะช่วย ดึงจิต ให้พ้นจากระดับของความทุกข์ ให้เหนือ ขึ้นมาอีก ในระดับของ ความเป็นคนดี ไม่พอแล้วมันยังทุกข์อยู่ ก็จะขึ้นสู่ธรรมะ ระดับสูง ที่เรียกว่า "ปรมัตถธรรม"

ปรมัตถ์ แปลว่า ลึกซึ้ง สูงสุด
และธรรมะที่ลึกซึ้งสูงสุดนี้ก็คือธรรมะที่เป็นเรื่องจริงของธรรมชาติ ที่จะให้ ประโยชน์สูงสุด แก่ชีวิต เรียกว่า เป็นธรรมะชั้นจริง ไม่ใช่ธรรมะชั้นมายาหรือชั้นหลอกๆ ตามสมมุติกัน เพราะการที่จะ สมมุติกัน ในเรื่องของความดี หรือ คนดีนั้น ในแต่ละสิ่งแวดล้อม ความหมาย ของความดี หรือทัศนคติ เกี่ยวกับความดี เกี่ยวกับความเป็นคนดี ก็อาจจะแตกต่างกันได้ เราจึงเรียกว่า นั่นเป็นเพียง สิ่งสมมุติ แล้วก็ยังมีตัวตน เกี่ยวข้องอยู่ เป็นอันมากทีเดียว

แต่เมื่อมาถึงปรมัตถธรรม จะเป็นธรรมะที่เกี่ยวกับเรื่องที่ลึกซึ้ง สูงสุด เป็นเรื่องธรรมะชั้นจริง คือ เป็นเรื่องจริง ของธรรมชาติ เป็นระดับ ของธรรมะ ที่ไม่เกี่ยวข้อง กับสิ่งที่สมมุติ หรือเรื่องสมมุติ เป็นธรรมะ ที่บอก ที่สอน เรื่องของ ความไม่มีตัวตน หรืออัตต
นี่แหละ คือความหมาย ของคำว่า ปรมัตถธรรม

เมื่อพูดถึงปรมัตถธรรม ก็จะไปเกี่ยวข้องกับ ปรมัตถสัจจะ สัจจะก็คือความจริง เพราะฉะนั้น ปรมัตถสัจจะ ก็คือความจริง อย่างสูงสุด เป็นความจริงที่เด็ดขาด เช่น กฎของธรรมชาติ ดังที่กล่าวแล้ว กฎของ ธรรมชาตินี้ มีธรรมชาติ เป็นผู้พูด ผู้แสดง

คำที่เนื่องกับปรมัตถ์ ที่น่าจะรู้และเข้าใจด้วยอีกคำหนึ่ง ก็คือคำว่า ปรมัตถโวหาร โวหารก็คือคำพูด แต่ทว่า มีการใช้ ศิลปะ ในการพูด แฝงอยู่ ทำให้เกิดมีความหมายได้หลายทาง นี่คือโวหารทั่วๆ ไป แต่ถ้าเป็น ปรมัตถโวหาร ก็หมายถึง โวหารอันลึกซึ้ง สูงสุด มีแต่ความจริง ไม่มีความหลอกลวง ไม่มีความเป็นมายา ไม่มีความสมมุติ สอดแทรกอยู่ หรืออีกนัยหนึ่งอาจเรียกว่า ปรมัตถโวหารก็คือ ภาษาที่เป็น ชั้นโลกุตตระ เป็นภาษาธรรมล้วนๆ พูดกันด้วย ธรรมะล้วนๆ ไม่ต้องมีตัวตน

พูดกันตามธรรมะล้วนๆ คืออย่างไร ก็พูดกันตามแบบของอิทัปปัจจยตา คือสิ่งที่เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย เช่น ถ้าจะถามกันว่า เป็นยังไง วันนี้ไม่สบายหรือ เป็นเพราะอะไรล่ะ ถ้าอย่างโลกๆ หรือแม้แต่ในระดับ ศีลธรรม ก็อาจจะบอกกันว่า ก็เพราะวันนี้ ถูกกระทบมา ตั้งแต่เช้าเลย ถูกว่า ถูกตำหนิติเตียน ถูกวิพากษ์ วิจารณ์ ซึ่งเรารู้สึกว่า ไม่เป็นความจริงเลย นี่มองข้างนอก ตามสมมุติ ที่ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นี่คือ การพูดกัน ในระดับโลกๆ ซึ่งเรียกว่าเป็นภาษา ตามสมมุติโวหาร ก็ว่าได้ เพราะพูดตาม สมมุติสัจจะ คือ เป็นความจริง แต่จริงตามสมมุติ สมมุติที่กำหนดกันว่า ถ้าพูดอย่างนี้ดี ใช้ได้ พูดอย่างนั้นไม่ดี ใช้ไม่ได้ หรือสมมุติเรียก นี่คือแก้ว นั่นนาฬิกา นี่ไมโครโฟน สารพัดชื่อ เป็นหมื่นเป็นแสน เป็นล้านชื่อ ในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่ เป็นไปตาม สมมุติสัจจะ ทั้งนั้น ซึ่งเมื่อมันเป็นสิ่งสมมุติแล้ว มันก็ไม่ใช่สิ่งจริง เมื่อไม่ใช่สิ่งจริง มันก็อาจเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ

แต่ถ้าพูดกันอย่างปรมัตถโวหาร พอได้ยินถามว่า เป็นยังไง วันนี้ไม่สบายหรือคำตอบอย่างปรมัตถโวหาร ก็จะตอบว่า "ก็เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย เช่นนั้นเองแหละ" เห็นไหม ตอบอย่างไม่รู้สึกเดือดร้อน ไม่รู้สึกกระทบ เพราะมันเป็นไป ตามเหตุปัจจัย ที่ได้กระทำ

กฎอิทัปปัจจยตาก็บอกแล้วว่า ประกอบเหตุปัจจัยอย่างใด ผลก็เป็นอย่างนั้น เช่น วันนี้รู้สึกว่า ไม่สบายเลย ก็เพราะว่า ร่างกายนี้ ทำงานหนัก มันก็อ่อนเปลี้ยเพลียแรง มันก็ไม่ค่อยจะมีความสดชื่น ไม่แข็งแรง ที่จะต่อสู้ กับงาน ในวันใหม่นี้อีก มันก็เลยรู้สึกซีดเซียว เหนื่อยเปลี้ย ทำนองนั้น นี่มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ได้โทษใคร เป็นเหตุปัจจัย ที่เกิดขึ้น เนื่องมาจาก การทำงาน มากเกินกำลัง จนกระทั่ง มันคงเกิน ความพอดีไป จึงเป็นผล ให้เป็นความรู้สึก ไม่สบายในวันนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัย ที่ทำให้ไม่สบาย อย่างนี้ ก็แก้ไขเสีย เอาละ ต่อไปนี้ จะไม่ทำการงานอะไร ให้เกินกำลังสุดเหวี่ยง สุดโต่ง จนไม่มีเวลา พักผ่อน ไม่มีเวลากิน ไม่มีเวลานอน ไม่มีเวลาที่จะออกกำลังกาย บริหารกาย เพื่อให้มีสุขภาพ ที่แข็งแรง ตามสัดส่วนที่ควรเป็น ปรับเปลี่ยน เหตุปัจจัยใหม่ วันต่อไป ก็ย่อมจะมีความสบายมากขึ้น

อย่างนี้เรียกว่าเป็นการพูดจาโต้ตอบกันในแบบปรมัตถโวหาร คือพูดกันแต่สิ่งที่เป็นธรรมะล้วนๆ ไม่มีเรื่อง ของตัวตน บุคคล เข้ามาเกี่ยวข้อง นี้แสดงถึงความแตกต่างกัน ในระดับศีลธรรม และ ระดับปรมัตถธรรม

ในขณะที่ระดับศีลธรรมนั้นยังคงยึดอยู่ในสมมุติแห่งความเป็นตัวตน แต่ระดับ ปรมัตถธรรม จะเป็น การศึกษาธรรมะ และ การปฏิบัติธรรมะ เพื่อให้สามารถลด ละ เลิกความยึดมั่นถือมั่น ในความเป็น อัตตา ตัวตน ให้น้อยลงๆๆ จนถึงที่สุด ซึ่งจะกระทำได้ ก็ด้วยการศึกษา ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง แล้วนำปริยัติ ที่ได้เรียนรู้ จนเข้าใจ แจ่มแจ้งแล้วนั้น มาประพฤติปฏิบัติที่ใจ (ไม่ใช่ประพฤติปฏิบัติ ด้วยการขีดเขียน หรือท่องจำ) ประพฤติ ปฏิบัติที่ใจ ด้วยการใคร่ครวญ สอดส่องด้วยใจ ที่จดจ่อ อย่างมีสติ ดูเข้าไปที่ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพื่อให้สัมผัส กับสิ่งอันเป็น สัจธรรม คือ เรื่องของกฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องของกฎ อิทัปปัจจยตา อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท จนกระทั่ง เกิดความประจักษ์แจ้งที่ใจ ในสัจธรรมนั้นๆ ชัดขึ้นๆๆ ทุกขณะ ในที่สุด ก็จะมองเห็นว่า สิ่งทั้งหลาย ทั้งปวง ที่เป็นไป หรือเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม มันล้วนแล้วแต่ เป็นเพียงกระแสของความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุ ตามปัจจัยเช่นนั้นเอง ไม่เกี่ยวข้อง กับบุคคล หรือเหตุการณ์ หรืออะไร มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามธรรมชาติ เช่นนั้นเอง พยายามศึกษา เรียนรู้ และนำมาฝึกฝนปฏิบัติ จนจิตนี้กลมกลืน แจ่มแจ้งอยู่กับ สิ่งที่เป็นสัจธรรม ความยึดมั่น ถือมั่น ความเป็นตัวตน ที่มีอยู่ แม้ในระดับ ศีลธรรม ก็จะค่อยๆ จืดจางไป ลดละไป คลายไป ความทุกข์ก็น้อยลง

ความยึดมั่นถือมั่นในความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนน้อยลงเพียงใด ความทุกข์ก็น้อยลงเพียงนั้น คือจะไม่มี ความเป็น ตัวตน ออกมารับผัสสะ ที่มากระทบ ผัสสะก็เป็นเพียงว่าผัสสะที่เกิดขึ้น ตามธรรมดาธรรมชาติ เช่นนั้นเอง เป็นแต่เพียงสิ่งสักว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีอะไร มากไปกว่านี้ เพราะฉะนั้น ชีวิตที่เคยถูกกัด ด้วยความทุกข์ ก็จะถูกกัด น้อยลงๆ จนกระทั่ง ไม่มีความทุกข์อันใด จะมากัดใจ ที่เข้าถึงสิ่ง อันเป็น ปรมัตถธรรม คือ สัจธรรมนี้ ได้อีกเลย ก็จะเป็นจิตที่มีแต่ความเยือกเย็น ผ่องใสอยู่เป็นนิจนิรันดร์ คือยิ่งขึ้นๆ ตามลำดับ

เมื่อปฏิบัติไปๆๆ จนประจักษ์แจ้งในสัจธรรม เข้าถึงความรู้สึกที่เป็นอนัตตา คือความที่ไม่มีอะไร เป็นตัว เป็นตน ให้ยึดมั่น ถือมั่นเลย สักอย่างเดียว ก็จะมีคำถามเหลืออยู่ว่าแล้ว ชีวิตต่อไปนี้ จะทำอะไรล่ะ ตัวตนก็ไม่มีแล้ว แล้วชีวิต ที่ยังมีลมหายใจ เหลืออยู่นี้ จะให้ทำอะไร

คำตอบในทางธรรมก็คือ ก็ทำหน้าที่สิ ทำหน้าที่ของมนุษย์ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์เพื่อประโยชน์สุข ที่จะเกิดขึ้น แก่เพื่อนมนุษย์ แก่สังคม แก่โลก และตัวผู้กระทำ ก็จะมีแต่ความสุขสงบ เยือกเย็น ผ่องใส ยิ่งขึ้นๆ ไม่ต้องมี ความเดือดร้อน หรือถูกความทุกข์กัด เพราะความยึดมั่น ถือมั่น ในความเป็นตัวตน

อันที่จริงผู้ใดที่ปฏิบัติมาถึงขั้นนี้แล้ว คือเข้าถึงสัจธรรมแห่งความไม่มีตัวตน มีแต่ความว่าง จากความเป็นตัว เป็นตนแล้ว ก็จะมีคำตอบเอง คำตอบจะเกิดในใจเอง จะสำนึกได้เอง ว่า ต่อไปนี้ เราจะไม่ต้องเสียแรง เสียพลัง ไปกับความรู้สึก คิดนึก ที่ต้องยึดมั่น ถือมั่น ในสิ่งนั้นสิ่งนี้ โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นตัวตน มันมีความเป็นอิสระ เพราะฉะนั้น เราก็จะสามารถทุ่มเท พลังของชีวิต ทั้งหมด ที่ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น พลังกาย พลังใจ พลังสติปัญญา พลังแห่งความรู้ ความสามารถ ปฏิภาณไหวพริบ ประสบการณ์ทั้งหมด ลงไปในสิ่งๆ เดียว สิ่งนั้นก็คือ การพยายามทำ ตามหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ ของมนุษย์ให้เต็มที่ ให้สุดกำลัง ให้เกิด ประโยชน์สูงสุด ให้คุ้มค่า แก่การที่ได้ เกิดมา เป็นมนุษย์ จะได้ฝาก สิ่งอันเป็นประโยชน์ มีคุณค่าแก่ชีวิต แก่โลกมนุษย์ไว้ มันช่าง เป็นสิ่ง ที่น่าอิ่มใจ น่าภาคภูมิใจ เป็นอย่างยิ่ง ใช่ไหม

อยากจะขอเล่านิทานเซนสักเรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นภาพที่อุปมาให้เห็นชัดขึ้นในเรื่องของจิตระดับ ศีลธรรม และ จิตระดับ ปรมัตถธรรม

นิทานเซนเรื่องนี้ บางท่านก็อาจจะเคยได้ยินมาแล้ว คือเรื่องอาจารย์เซน กับหญิงสาว ในชุดกิโมโน กล่าวถึง อาจารย์เซน สองท่าน เดินออกไปทำธุระด้วยกันในเมือง เผอิญวันนั้น เป็นวันที่มี ฝนตกหนัก น้ำท่วมถนน เมื่อท่านทั้งสอง เดินมาถึงมุมถนนแห่งหนึ่ง ก็เห็นหญิงสาวสวย สวมชุดกิโมโน ถุงน่องรองเท้าพร้อม ยืนอยู่ที่ ริมถนน เตรียมจะข้ามไป อีกฟากหนึ่ง แต่ก็รีๆ รอๆ หันซ้ายหันขวา ไม่กล้าย่ำลง ไปในน้ำ เพราะกลัวว่า ถุงเท้ารองเท้า จะเปียก และชุดกิโมโนสวยๆ นี้ก็จะพลอยเปรอะเปื้อนไปด้วย ยืนยับยั้งชั่งใจ จ่อเท้า ลงไปแล้ว ก็ยกเท้าขึ้น จดๆ จ้องๆ อยู่อย่างนั้น

อาจารย์เซนทั้งสองท่านมองเห็น ท่านหนึ่งก็เฉยๆ แต่อีกท่านหนึ่ง ได้เดินตรงเข้าไป อุ้มหญิงสาว ที่กำลัง ยืนรีรอ ไม่รู้จะตัดสินใจ อย่างไร พาข้ามไปส่ง ที่ฟากถนน ฝั่งตรงข้าม ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง โดยมิได้พูดจากันเลย แล้วทั้ง สองท่าน ก็เดินจากไป เพื่อทำธุระของท่าน จนเสร็จ เมื่อกลับ ไปถึงวัด เพื่อนอาจารย์ ที่มิได้เป็น ผู้เข้าไปอุ้ม หญิงสาว ซึ่งคงจะอัดอั้นตันใจ มาตลอดทาง ก็อดรนทนต่อไป ไม่ได้ จึงถามขึ้นว่า "ทำไมท่าน ถึงทำอย่างนั้น ท่านก็รู้อยู่แล้วว่า การทำอย่างนั้นน่ะ ไม่เหมาะสม ไม่สมควร เราเป็นอะไร"

เราเป็นอะไร นี่คิดอย่างไรแล้ว "เราเป็นพระเซน เป็นอาจารย์เซน" เพราะฉะนั้น ความเป็นอาจารย์เซนนี้ จะต้องมีกฎ ระเบียบอะไร หลายอย่าง นี่แสดงว่า ท่านทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเลยนะ อาจารย์เซน ท่านที่ไปอุ้ม หญิงสาว พาข้ามฟาก ก็ตอบว่า "ผมอุ้มเธอ ไปวางที่ ขอบถนนแห้ง ในที่ที่เธอต้องการจะไป ผมก็วางเธอ ไว้ตรงนั้น เสร็จสิ้นแล้ว นี่ท่านยังแบกเธอมา จนกระทั่งถึงวัด ของเราเชียวรึ"

นี่หมายความว่าอย่างไร ทั้งๆ ที่อาจารย์องค์ที่ต่อว่าไม่ได้ไปอุ้มไปแบกหญิงสาวคนนั้นเลย สักนิดเดียว แต่ทำไม อาจารย์เซน อีกท่านหนึ่ง ที่เป็นผู้ไปอุ้ม จึงบอกว่า ท่านนี่แบกหญิงสาวมา จนถึงวัดเชียวนะ มองออกไหมว่า อาจารย์นั้น แบกหญิงสาว มาที่ตรงไหน แบกด้วยอะไร ก็คือแบกอยู่ที่ใจนั่นเอง ใจที่อึดอัดขัดเคือง แล้วก็อาจจะ ปนความโกรธ ที่เห็นเพื่อน กระทำเช่นนั้น เพราะเหตุว่า มันผิดไปจาก ความถูกต้อง ตามความรู้สึก ของอาจารย์เซน ท่านนั้น ท่านมีทัศนคติ และความยึดมั่น ถือมั่นว่า หากเป็นอาจารย์เซน ที่ดีงาม ที่ถูกต้องแล้ว ต้องอย่างนี้ๆ ออกนอกทาง สักนิดเดียวนี่ ไม่ถูกแล้ว ผิดแล้ว ทั้งๆ ที่อาจารย์เซน ที่ไปอุ้มหญิงสาว ก็มิได้ มีความรู้สึก ผิดปกติ เช่น ไปชมเชยว่า สาวน้อยคนนี้สวยงามนะ ก็ไม่ได้เอ่ยปากสักคำ หรือว่า จะไปอ้อยอิ่ง อาลัยอาวรณ์ว่า เธอจะเดิน ต่อไป ได้ยังไง เสื้อก็สวย เดี๋ยวก็ต้อง ไปข้ามน้ำครำ ลุยขี้โคลนให้ลำบากอีก ก็จะเปื้อนอีกหรอก ท่านก็ไม่ได้พูด อุ้มเอาไปวางไว้ แค่นั้น

มองเห็นไหมว่า จิตในระดับศีลธรรมและจิตในระดับปรมัตถธรรมต่างกันอย่างไร อาจารย์เซนสองท่านนี้ ก็ได้ชื่อว่า เป็นอาจารย์เซน เหมือนกัน แต่ว่าในระดับของจิตนั้น เท่ากันไหม ก็คงจะพอมองเห็นว่า ยังไม่เท่ากัน ไม่เท่ากัน ที่ตรงไหน ก็ตรงที่อาจารย์เซน ท่านที่ต่อว่านั้น อยู่ในระดับของจิตศีลธรรม เพราะเหตุว่า ยังคงยึดติด ในความสมมุติว่า เป็นตัวเป็นตน ยังยึดมั่น ในสิ่งที่เรียกว่า เป็นความดี ในทัศนะ ที่ได้ยึดกันเอาไว้ นอกจากนั้น ก็ยังมี ความรู้สึกหวัง เมื่อหวังก็มีความผิดหวัง และ ความสมหวัง ในกรณีนี้ อาจารย์เซน ท่านที่ต่อว่า มีความผิดหวัง ในเพื่อนของท่าน ที่ท่านหวังว่า น่าจะทำในสิ่งที่ดีงาม ที่ถูกต้อ งตามทัศนะของท่าน แต่เพื่อน ไม่ทำอย่างนั้น ท่านจึงรู้สึก ผิดหวัง

ในความผิดหวังก็ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลาว่า ทำไมนะถึงทำอย่างนั้น ก็อึดอัดขัดใจ และวุ่นวายใจ จนกระทั่ง เก็บเอาไว้ไม่ได้ ต้องต่อว่า ระเบิดออกมา อาจารย์เซนท่านนั้น มีผัสสะเกิดขึ้น เมื่อมองเห็นเพื่อน ไปอุ้ม หญิงสาว อายตนะภายใน คือนัยน์ตา มองเห็นรูป แล้วจักขุวิญญาณ ก็เกิดขึ้น เมื่อมารวมกัน ก็เกิด เป็นผัสสะ กระทบใจ เข้าอย่างจัง แล้วหยุดไม่ได้ เพราะมันไม่ถูกต้อง ตามทัศนคติ ที่ท่านยึดมั่นไว้ สติมาไม่ทัน ปัญญามา ไม่ทันว่า มันเป็นเพียง สิ่งสักว่า ก็ช่วยกันไปตามธรรมดา เมื่อเห็นเพื่อน มนุษย์ตกทุกข์ ได้ยาก คิดไม่ทัน คิดได้อย่างเดียวว่า นี่ไม่ตรงตาม ทัศนคติ ที่ตนถือว่าดี ว่าถูกต้อง

ผัสสะอันนี้มันจึงเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนาขึ้นในใจ แล้วก็ไม่หยุดแค่เวทนา อึดอัดขัดใจ อยู่ตลอดเวลา เป็นปัจจัย ให้เกิดตัณหา เกิดความอยากจะว่า แต่ยังระงับเอาไว้ได้ เพราะอยู่ในระหว่าง การเดินทาง กลางถนน หนทาง ความยึดถือ ในความดี ในระดับศีลธรรม ได้ยับยั้งเอาไว้ ไม่ให้ต่อว่าออกไป ในทันที ข้างนอกไม่ต่อว่า แต่ข้างใน เป็นอย่างไร อึดอัด ร้อนรุ่ม ไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจ อย่างรุนแรง ก็เกิดตัณหา ความอยาก แล้วตัณหา ก็เป็นปัจจัย ให้เกิดอุปาทาน ยึดมั่นเอาไว้ว่า นี่ไม่ถูก ใช้ไม่ได้ ทำอย่างนี้ ไม่ถูกไม่ดี อุปาทาน ก็เป็นปัจจัย ให้เกิดภพ อมเอา ความรู้สึก ของตัวตน ที่รู้สึกว่า นี่ไม่ดี ไม่ถูก ใช้ไม่ได้ จนกระทั่ง พอถึงที่พัก ก็ระเบิดออกมา เป็นชาติ ความเป็นตัวตน หรืออัตตา ปรากฏชัดทีเดียว แสดงความไม่เห็นด้วย อย่างชัดเจน แล้วผลที่สุด ชาติแห่งความรู้สึก เป็นตัวตนว่า เป็นพระเซนนะ ก็เป็นเหตุปัจจัย ให้เกิด ความทุกข์ แก่ใคร แก่ผู้ที่ยึดมั่น ถือมั่นนั่นเอง

ส่วนอาจารย์เซนผู้ที่ไปอุ้มหญิงสาว ทุกข์ไหม ว้าวุ่นใจไหม ขุ่นข้อง อึดอัดไหม คำตอบก็คือ ไม่อึดอัด ไม่ขุ่นข้อง หมองใจ ไม่รู้สึก วุ่นวาย อยู่กับหญิงสาวนั้น อีกเลย เพราะในขณะที่ทำอย่างนั้น ท่านมี ความรู้สึกว่า กระทำหน้าที่ ของเพื่อนมนุษย์ ที่มองเห็นเพื่อนมนุษย์ กำลังต้องการ ความช่วยเหลือ อยู่ต่อหน้า และดูท่าว่า จะช่วยตัวเอง ไม่ได้ ก็เลยสงเคราะห์ ช่วยอุ้มไปส่ง แล้วก็แล้วกัน

นิทานเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ในระดับของศีลธรรมและระดับของปรมัตถธรรม มีความแตกต่างกัน อย่างไร ในระดับของ ศีลธรรมนั้น ก็พูดได้ว่า ยังติดอยู่กับสมมุติสัจจะ ตามที่โลกสมมุติกัน นิยมกัน ในเรื่องของสิ่งคู่ เช่น ดี-ไม่ดี ถูก-ไม่ถูก ใช้ได้-ใช้ไม่ได้ อย่างนี้ เป็นต้น การที่ติดอย่างนี้ ก็เพราะมีตัวตน เป็นผู้ติด ถ้าไม่มีตัวตน ก็ไม่มีใครติด

แต่ทว่าปรมัตถธรรมนั้น ไม่มีการสมมุติ อยู่เหนือสิ่งคู่ อยู่เหนือสมมุติสัจจะ เพราะประจักษ์ชัดในกฎ ของธรรมชาติ ที่เป็นสัจธรรม เป็นความจริง ของธรรมชาต ิที่แสดงให้เห็นว่า ไม่มีสิ่งใด ที่จะเป็นตัวเป็นตน ให้ยึดมั่น ถือมั่น ได้เลย สักอย่างเดียว เมื่อไม่ยึดมั่น ถือมั่น ในความเป็นตัวตน ก็สามารถทำหน้าที่ได้ เป็นหน้าที่ที่ถูกต้อง ทำโดย ไม่ยึดมั่นถือมั่น จึงมีแต่ความเบาสบาย

นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างจิตระดับศีลธรรม และ ระดับปรมัตถธรรมแล้ว นิทานเรื่องนี้ ยังแสดง ให้เห็นชัด ถึงคำสอนของ องค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า อุปาทาน ความยึดมั่น ถือมั่น นี่แหละ เป็นต้นเหตุ ของความทุกข์ ไม่ใช่อย่างอื่น

ฉะนั้น ก็จะพูดถึงความแตกต่างของระดับศีลธรรมกับระดับปรมัตถธรรม ได้อีกอย่างหนึ่งว่า ศีลธรรมก็คือ ระเบียบ ปฏิบัติ หรือ การดำเนินชีวิต สำหรับผู้ที่เป็นคนดี แต่ยังมีตัวตน ในการทำความดี ในระดับ ศีลธรรมนั้น สังคม ก็ปรารถนา ให้มีคนดีเช่นนี้ แต่มันไม่ดี สำหรับ ตัวบุคคล ผู้นั้นเอง เพราะเมื่อ ยังยึดมั่น ถือมั่น ในความเป็น ตัวตนอยู่ ก็ทำให้เกิด ความทุกข์ ขึ้นในจิต

ส่วนในระดับปรมัตถธรรมก็หมายถึง ระเบียบปฏิบัติสำหรับคนที่ไม่ปรารถนาจะมี ตัวตนอีก รู้ซึ้งถึง โทษทุกข์ ของความยึดมั่น ถือมั่น ในความเป็นตัวตน จนไม่อยากจะมีตัวตนอีกแล้ว อยากจะเลิกละ ความมีตัวตน ก็พยายาม ที่จะศึกษาธรรมะ ที่เป็นปรมัตถธรรม เป็นสัจธรรม อันเป็นความจริง ของธรรมชาติ เพื่อที่จะฝึก อบรมใจ ของตนเอง จนกระทั่ง สามารถลดละ ถึงความไม่มีตัวตน ก็จะมีแต่เพียง หน้าที่ ที่จะปฏิบัติ ให้ถูกต้อง ตามกฎ อิทัปปัจจยตา ตราบเท่าที่ ยังมีลมหายใจอยู่ เพื่อให้เกิด ประโยชน์ ต่อเพื่อนมนุษย์


ขอให้ลองคิดใคร่ครวญดู ที่ท่านบอกว่า การที่จะเป็นเพียง คนดีเท่านั้นก็ดีอยู่หรอกแต่ยังไม่พอ นี้จริงไหม ที่ท่านว่า ยังไม่พอ ไม่พอตรงไหน ก็ตรงที่ คนดียังร้องไห้ ยังเป็นทุกข์ เพราะการทำความดี ของตนเอง ทำไมถึง ต้องร้องไห้ ถึงต้องเป็นทุกข์ ทำไมถึง ไม่เป็นสุข ชื่นบาน ในการทำความดี ก็เพราะเหตุว่า ยังมีความหวังว่า เมื่อทำความดีแล้ว ก็น่าจะมีสิ่งใด มาเป็นการตอบแทน ให้การทำความดีนั้น ปรากฏผล เป็นที่ประจักษ์ แก่บุคคลทั่วไป ทำไมถึง ต้องหวัง ก็เพราะมี ตัวตน ยังมีความรู้สึก เป็นตัวเป็นตนว่า ฉันเป็นคนดี เป็นภพหรือ "ภว" อมเอาไว้ในใจ นึกอยู่เรื่อย ฉันเป็นคนดีๆ ถ้าใครจะเกิดมาสะกิด แกล้งยั่ว แกล้งว่า เธอน่ะเหรอดี ฉันไม่เห็นเธอดี ที่ตรงไหน เธอมีแต่พูด ถึงความดี ของตัวเธอเอง เธอไม่ใช่คนดีจริง เท่านี้ก็เจ็บเหลือเกินแล้ว คนดีก็เจ็บ เหลือเกินแล้ว ทั้งๆ ที่เขาก็พูดด้วย คำธรรมดา แต่เจ็บเพราะ มันมากระแทก ความยึดมั่น ในความดี ให้มันแตกสลายไป ต่อหน้า เหมือนกับ ความดี เป็นของรัก มาถูกทำลาย ให้แตกต่อหน้า ทนไม่ได้

มาถึงตรงนี้ก็จะเห็นว่า ความเป็นคนดีในระดับศีลธรรมยังไม่พอ เพราะมันยังมีตัวตนติดตามสมมุติ เมื่อใด ที่ยังมีตัวตนอยู่ จะต้องถูก ความทุกข์ กัดกินหัวใจ อยู่ตลอดเวลา เรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง เมื่อใด ที่จิตสำนึกได้ ก็จะพยายาม แก้ไขปรับปรุง ศึกษาในเรื่อง ของธรรมะ ให้สูงขึ้นไปๆ เช่น ถ้าในระดับศีลธรรม การทำบุญ ทำทาน ก็ดีอยู่แล้ว แต่จะฝึกการทำบุญทำทานนั้น อย่างไม่หวังว่า ทำบุญแล้ว ต้องได้สวรรค์ ทำทานแล้ว ต้องมี ของตอบแทน จะทำอย่างชนิด ที่ลดละ ความรู้สึก เป็นตัวตน ในความเป็น "ฉัน" ทำ ค่อยๆ มีความรู้สึก ขึ้นมาว่า จะทำเพราะเหตุว่า มันควรช่วยเหลือกัน เกิดมาเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ก็ควรช่วยเหลือกัน ตามกำลัง เท่าที่สามารถ จะช่วยกันได้ ค่อยๆ ฝึกไปทีละน้อยๆ ด้วยการพยายามศึกษา ในเรื่องของกฎไตรลักษณ์ กฎอิทัปปัจจยตา อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท นำมาใคร่ครวญ ในจิตของตน ให้ยิ่งขึ้นๆ จนประจักษ์ใจ ในที่สุด วันหนึ่ง ก็จะสามารถ ทำความดี เพื่อความดีได้

ความดีเพื่อความดี ก็คือ ความดีเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น จะเป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้น แก่การงาน แก่สังคม ครอบครัว หรือส่วนรวม เพื่อนมนุษย์ก็ตาม เป็นการทำความดีเพื่อความดี โดยไม่หวัง ตอนนี้แหละ ความทุกข์ จะค่อยๆ หมดไป จางไปๆ จะไม่เกิด สิ่งกระทบ ที่จะเป็นผลให้เกิด ความผิดหวัง เสียใจอีก

เจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านพูดมานานหลายสิบปีแล้วว่า ถ้าหากว่าศีลธรรมนี้ขาดเสีย ซึ่งปรมัตถธรรม เป็นรากฐาน คือเป็นคน มีศีลมีธรรม สมาทานศีล พยายามที่จะรักษาจิตให้อยู่ในศีล ศีล ๕ บ้าง ศีล ๘ บ้าง ฟังเทศน์ ฟังธรรม เรื่องบุญ เรื่องบาป ตามสมควร แต่ยังยึดมั่นเพราะมีตัวตน การทำความดี เช่นนี้จะไม่ ยั่งยืน จะไม่ถาวร เพราะขาดปรมัตถธรรม เป็นรากฐาน แต่ถ้าหากว่า ผู้ใด ได้ศึกษาลึกซึ้ง ไปจนกระทั่ง ถึงปรมัตถธรรม มองเห็น ประจักษ์แจ้งว่า ไม่มีตัวตน ให้ยึดมั่นถือมั่นจริงๆ สักอย่าง มีก็แต่เพียงสมมุติ หากประจักษ์แจ้ง ในสิ่งเหล่านี้แล้ว ปรมัตถธรรม ที่มีอยู่ในใจ ก็จะเป็นรากฐาน ให้สามารถ กระทำความดี ได้อย่างถูกต้อง ยิ่งขึ้น

ความดีในตอนนี้ก็จะเป็นความดีที่เรียกว่า กระทำตามหน้าที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ เพื่อนมนุษย์ยิ่งๆ ขึ้นไป แล้วชีวิตนี้ ก็จะมีแต่ความเป็นปกติ อยู่ตลอดไป เจ้าประคุณ ท่านอาจารย์ท่านได้พูดถึง เรื่องของ การทำ การงาน ไว้ว่า

อันการงาน คือค่า ของมนุษย์
ของมีเกียรติ สูงสุด อย่าสงสัย
ถ้าสนุก ด้วยการงาน เบิกบานใจ
ไม่เท่าใด รู้ธรรม ฉ่ำซึ้งจริง

จะ "รู้ธรรมฉ่ำซึ้งจริง" ได้อย่างไร ก็เมื่อสนุกด้วยการงาน อย่างที่ว่าทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ทำความดีเพื่อความดี ทำการงานเพื่อการงาน ไม่ใช่เพื่อตัวตนของเรา แต่ว่าทำเพื่อการงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ท่านจึงเน้นว่า

ตัวการงาน คือการ ประพฤติธรรม
พร้อมกันไป หลายส่ำ มีค่ายิ่ง
ถ้าจะเปรียบ ก็เหมือนคน ฉลาดยิง
นัดเดียววิ่ง เก็บนก หลายพกเอย

ชีวิตของคนเกิดมานี้ มีใครบ้างไหมที่จะอยู่ได้โดยไม่ทำการงานเลย อย่างน้อยๆ ที่สุดก็ต้องทำงาน เพื่อประโยชน์ ของตัวเอง เช่น ต้องกิน ต้องอาบ ต้องถ่าย เป็นหน้าที่ตามธรรมชาติที่มีอยู่ในชีวิตทุกชีวิต ถ้าไม่ทำการงานเฉพาะตนอย่างนี้ ก็คงมีชีวิตอยู่ไม่ได้

แต่ถ้าหากว่าคนใดทำการงานเพียงแค่นี้ มันก็เป็นชีวิตที่ไม่มีประโยชน์เลย เพราะมีแต่ความเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ ไม่คิดที่จะเผื่อแผ่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ คนที่ได้ชื่อว่า เป็นมนุษย์ ก็ต้องขยายขอบเขต ของการทำงาน ให้กว้างออกไปอีก ไปเป็นการทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพตนเอง ให้สามารถพึ่งตนเองได้ แล้วนอกจากนั้น ก็ยังอาจจะเป็นที่พึ่ง ของครอบครัว เป็นที่พึ่งแก่ญาติมิตรเพื่อนฝูง เป็นที่พึ่งแก่สังคมได้ ช่วยเหลือ สังคมได้ ตามกำลังของตน เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดมา เป็นคนแล้วละก็ จะหลีกหนีการงานไปไม่ได้

เรามักจะได้ยินเสียงบ่นบ่อยๆ ว่า เบื่อเหลือเกินแล้ว ไม่อยากทำงาน ทำแล้วก็มีแต่ทุกข์ เมื่อไหร่นะ จะได้พ้นจาก การทำงานนี่เสียที เราได้ยินเสมอใช่ไหม เกือบจะร้อยทั้งร้อย ที่เห็นการงาน เป็นของสนุกนี่ น้อยเต็มที

ผู้ที่ทำงานไปเกลือกกลิ้งกับความทุกข์ไป หรือบางครั้งถึงกับร้องห่มร้องไห้ พอเข้า ที่ทำงาน หรือ พอลืมตา ขึ้นมา นึกได้ว่า วันนี้จะต้อง ไปทำงานอีกแล้ว ก็ถอนหายใจเฮือกใหญ่ กัดฟันลุกขึ้น ไปทำงาน อย่างเหนื่อยหน่าย เศร้าหมอง ขุ่นมัว ทำงาน อยู่ด้วยความทุกข์ ตลอดวัน แล้วก็เอากลับมาเครียดที่บ้านอีก ก่ายหน้าผากนอนไม่หลับเพราะทุกข์จากการงาน

นี่เพราะอะไร เพราะมองไม่เห็นว่า "การงานคือตัวการประพฤติธรรม" ที่เป็นทุกข์อย่างนั้น เพราะทำอย่าง มีตัวตน มี "ตัวฉัน" เป็นคนทำ ฉันก็เลยไม่อยากทำ ไม่อยากทำแต่ฉันต้องทำ ฉันก็เลยเป็นทุกข์ ก็เพราะมอง ไม่เห็นว่า เราสามารถ จะทำงานพร้อมๆ กับการประพฤติธรรมไปด้วยได้

การทำงานพร้อมกับการประพฤติธรรมคือทำอย่างไร

นั่นก็คือฝึกใจให้มองเห็นว่า การงานที่ทำ ไม่ว่างานเล็กงานใหญ่ งานมากงานน้อย มันล้วนแล้วแต่ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นกระแสของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุตามปัจจัยที่เป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นธรรมชาติ เช่นนั้นเอง มันไม่ใช่ การงานของใคร เมื่อมีเหตุปัจจัยให้ต้องทำงาน ก็ทำให้เต็มฝีมือ ความสามารถ พอการงานนั้น ออกมาอย่าง ได้ผลดี อย่างเป็นที่น่าพอใจ ก็มีความสุขในการทำงาน โดยไม่มีความรู้สึกว่างานนี้ต้องเป็น "ของฉัน" ถ้าหากว่า งานออกมาเป็นผลดีแล้ว มีความยึดมั่น ตามมาว่า นี่คืองานของ ฉันนะ เท่านั้นแหละ ไม่ใช่การประพฤติธรรมแล้ว เป็นการเปิดโอกาส ให้ความทุกข์ เข้ามาเยือน ไม่เยือนเฉยๆ มันกัดเอาๆ ให้จิตใจนั้น เจ็บปวด เพราะผิดหวัง ที่ไม่มีสิ่งใด ตอบแทนผลของ การงาน ที่ทำเอาไว้ดีๆ สวยๆ ที่สำเร็จอย่างภาคภูมิใจ นี่ก็เพราะมีความหวัง มีตัวตน จึงไม่ใช่ การประพฤติธรรม

แต่ถ้าเมื่อใดทำเต็มฝีมือความสามารถ เกิดผลดี เป็นประโยชน์แก่การงาน แก่ส่วนรวม แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง แก่เพื่อนมนุษย์ แล้วก็ไม่อวดอ้างหรือยึดมั่นว่าเป็นงานของฉัน พอเสร็จแล้วก็เสร็จ เท่านั้นก็จะมีความสุข มีความสงบ มีความเยือกเย็น ผ่องใส ถ้าทำงานได้อย่างนี้แหละ ท่านจึงจะเรียกว่า การทำงานนั้น เป็นการประพฤติธรรม เอาการงานนั้น เป็นแบบฝึกหัด ในการประพฤติธรรม ไปด้วยในตัว ไหนๆ ชีวิตนี้ก็ต้องทำงาน เราก็เป็นมนุษย์ที่ฉลาด มีสติปัญญา ทำไมไม่รู้จักใช้ สิ่งที่เราต้องทำ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้มันเกิดประโยชน์ ใช้มันเป็นแบบฝึกหัด ในการที่จะฝึกประพฤติ ปฏิบัติธรรม หรือ อบรมธรรม ให้ยิ่งขึ้นๆ

อบรมธรรมที่ใจให้มองเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของงานที่เราทำ ถึงแม้เราจะทำงานอยู่ในที่เดียว และเป็นเรื่องเดียว เช่น ผู้เป็นครูก็ทำการสอน ที่เป็นแพทย์ก็ทำการรักษา ผู้เป็นชาวนาก็ทำการไถ หว่าน เพาะปลูก เก็บเกี่ยว แต่ทำไมไม่นึกว่า การงานที่เราทำนั้น แม้จะเป็นงานในอาชีพเดียวกัน แต่มันก็ไม่ได้ เหมือนกันทุกวัน มันมีการเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป อย่างน้อยๆ ก็น่าจะมองเห็นว่า งานวันนี้เริ่มใหม่ เริ่มบทเรียนใหม่สำหรับผู้เป็นครู แล้วการสอนบทเรียนนี้ ก็ดำเนินต่อไปคือการตั้งอยู่ ในที่สุดบทเรียนที่สอนอยู่นี้มันก็ต้องจบ สิ้นสุด คือถึงซึ่งการดับไป เรามองดูอย่างนี้ โดยเอาเรื่อง ของธรรมะ โดยเฉพาะเรื่องของไตรลักษณ์ เข้ามาผสมผสาน เราก็จะมองเห็นธรรมะอยู่ในนั้น เกิดความสนุก นี่มันเกิดขึ้น -ตั้งอยู่ -ดับไปนะ สิ่งที่เราทำนี่มันมีอาการของการเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ตามเหตุ ตามปัจจัย เช่นนี้เอง ตลอดเวลา พอสอนเสร็จ ให้การบ้าน นี่ก็การเกิดขึ้นใหม่อีกแล้ว การให้การบ้าน อธิบายการบ้าน ก็มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วการให้ การบ้าน มันก็ต้องจบ เมื่อจบเรื่องการให้การบ้าน มันก็ดับไปเกิดขึ้น -ตั้งอยู่-ดับไป เรื่องของไตรลักษณ์นี้ ไม่มีเลยที่จะพ้นไป จากชีวิตของมนุษย์ มันปรากฏอยู่ทุกขณะจิต ของชีวิตเลย ถ้าเพียงแต่ว่า เราจะสอดส่องใจ เข้าไปดูสักหน่อย ให้ใจสัมผัส ก็จะมองเห็น

เพราะฉะนั้น ตัวการงานก็เป็นการประพฤติธรรม พร้อมกันไปหลายส่ำมีค่ายิ่ง ถ้าจะเปรียบก็เหมือน คนฉลาดยิง นัดเดียว (เท่านั้นเอง) ก็จะวิ่ง (เที่ยว) เก็บนกหลายพกเอยเยอะแยะ นัดเดียว ทำงานไปด้วย ก็ได้เงินเดือน ได้ค่าตอบแทน หรือ บางทีก็ได้ชื่อเสียง เกียรติยศยกย่อง มาเป็นครั้งคราว นอกจากนั้น ก็ยังมีความสุขใจ สบายใจ เพลิดเพลินใจ ในการทำงาน เพราะไม่มีตัวผู้ทำ มีแต่การกระทำบังเกิดขึ้น อย่างมีประโยชน์ แก่เพื่อนมนุษย์ แก่สังคม แก่การงาน อย่างเป็นที่ชื่นใจ อยู่ตลอดเวลา

ถ้าจะยกตัวอย่างที่ดิฉันได้เห็นที่สวนโมกข์ ก็นึกถึงเจ้าประคุณท่านอาจารย์พุทธทาส ภาพหนึ่ง ที่ติดเอาไว้ ในโรงมหรสพ ทางวิญญาณ เป็นรูปเจ้าประคุณท่านอาจารย์ยืนหันหน้าเข้าหากัน ที่สะกิดใจที่สุด ก็ตรงประโยค ที่เขียนไว้ว่า ทั้งวัน เราไม่ได้ทำอะไร เหมือนท่าน กำลังพูดกัน "ทั้งวันเราไม่ได้ทำอะไร"

ท่านทั้งหลายที่คุ้นเคยกับสวนโมกข์ เคยไปเที่ยวสวนโมกข์ เคยไปฝึกประพฤติปฏิบัติธรรม ที่สวนโมกข์ เคยฟัง พระธรรมเทศนา จากท่านอาจารย์ สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็ย่อมปรากฏแก่ใจ ของท่านเองใช่ไหมว่า ท่านอาจารย์ ได้สร้างสวนโมกข์ ใหญ่โตมโหฬาร กว้างขวาง ร่มรื่นด้วยป่าธรรมชาติ พร้อมด้วยอุปกรณ์ เครื่องมือ สำหรับศึกษา และปฏิบัติธรรม เช่น โรงมหรสพทางวิญญาณ สระนาฬิเกร์ โรงปั้น และอื่นๆ อีกมากทีเดียว นอกจากนั้นยังมี สวนโมกข์ นานาชาติ ฝั่งตรงกันข้าม ซึ่งใช้เป็นที่ศึกษาอบรมธรรม สอนอานาปานสติภาวนา ชาวต่างประเทศและชาวไทยทุกเดือน รวมถึงกลุ่มบุคคลอื่นๆ ที่สนใจธรรมะ มาขอรับการฝึกอบรม ทางด้านขวามือ ไกลออกไป จากส่วนกลาง ก็เป็นสถานที่ อบรมพระธรรมทูต ทางซ้ายมือก็เป็นสถานที่ ซึ่งท่านจัดแบ่งไว้ให้ สำหรับการสร้างเป็นธรรมาศรม ธรรมมาตา เพื่อประโยชน์ แก่ผู้หญิง จะได้มีโอกาสปฏิบัติธรรม จนถึงขั้นสูงสุด รวมเนื้อที่ทั้งสองฝั่ง หลายร้อยไร่ และตลอดชีวิต ของเจ้าประคุณ ท่านอาจารย์ ได้ทุ่มเทลงไป ในการสอน การอบรม บรรยายธรรม การเขียนหนังสือ เพื่อที่จะทิ้งเอาไว้ ให้เป็นมรดก แก่ผู้ที่สนใจธรรมะ ในชุดที่ชื่อว่า ธรรมโฆษณ์ เพื่อประโยชน์ แก่ผู้ที่สนใจ ในการศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม

สมมุติว่ากาลต่อไปข้างหน้า เกิดมีอุบัติเหตุอะไรเกิดขึ้น ครูบาอาจารย์ที่จะสอนธรรมะสูญหายไปหมด อย่างน้อย ก็ยังมีหนังสือ เหลือเอาไว้ให้ผู้ที่สนใจอยากจะศึกษาปฏิบัติธรรมเพื่อผ่อนคลายความทุกข์ ได้มีโอกาสศึกษา

ขณะที่ท่านยังแข็งแรง ท่านทำงานถึงวันละ ๑๘ ชั่วโมง แม้เมื่อท่านชราลงก็ยังคงทำงานไม่หยุดยั้ง เพียงแต่เพิ่ม การพักผ่อน ให้มากขึ้น ให้เหมาะกับสังขารร่างกาย จนถึงนาทีสุดท้าย เมื่อท่านเข้าขั้นโคม่า ท่านก็ยังพูดถึง เรื่องของ นิพพาน จึงเห็นได้ว่าตลอดชีวิต ๖๗ พรรษา ในเพศบรรพชิต เจ้าประคุณท่าน อาจารย์พุทธทาส ไม่เคยหยุด การทำงานเลย และงานของท่านนั้น ก็ยังเหลือเป็นอนุสรณ์ เป็นสถานที่ แห่งการประพฤติ ปฏิบัติธรรม แก่ผู้คนที่สนใจ ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศทั่วโลก จนถึงทุกวันนี้ อย่างนั้นแล้ว ท่านก็ยังพูดว่า "ทั้งวันเราไม่ได้ทำอะไร"

ในการทำ ของท่านนั้น ท่านทุ่มเทพลังลงไป ในการทำงานอย่างยิ่ง ทุกเวลานาทีของชีวิต ทั้งพลังทางกาย ทางใจ สติปัญญา พลังธรรม ที่ท่านได้แสวงหา ขุดคุ้ย และปลูกฝัง อบรม จนกระทั่ง เปี่ยมอยู่ในใจ ของท่านได้ไหลหลั่ง พรั่งพรู ออกมา สู่เพื่อนมนุษย์ ด้วยการแสดงธรรมบรรยายบ้าง การเขียน การสนทนา พูดคุยบ้าง สารพัด ไม่มีเวลา ที่จะหยุดพักเลย

ทำไมท่านถึงทำได้ ก็เพราะ "ทั้งวันเราไม่ได้ทำอะไร" คือ ไม่มีตัวเรามาอยู่ในการทำ มีแต่การทำหน้าที่ เพื่อประโยชน์ แก่เพื่อนมนุษย์ อยู่ทุกขณะนั่นเอง

นี่ก็เป็นตัวอย่างในการอธิบายว่า จิตปรมัตถธรรมที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตนมีพลังมหาศาล ถึงขนาดนี้ มีพลัง ที่จะทำอะไร ต่ออะไร เพื่อประโยชน์ แก่เพื่อนมนุษย์ แล้วก็มีพลังที่จะควบคุมจิตให้อยู่ในความเป็นปกติ

ก็อยากจะขอเล่าถึงนิทานเซนอีกเรื่องหนึ่งที่ชอบมาก แล้วก็เคยเล่ามาหลายครั้งแล้ว บางท่านอาจจะเคยฟัง มาแล้วก็ได้ นั่นคือ เรื่องของอาจารย์เซน ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่ศรัทธานับถือ ของชาวบ้านมาก ท่านมีวัด อยู่ในหมู่บ้าน แห่งหนึ่ง และได้รับ การยกย่อง นับถือว่าเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีการประพฤติปฏิบัติดี การสั่งสอนอบรมธรรม แก่ชาวบ้าน เหล่านั้น ก็เป็นไปด้วย ความชัดเจน แจ่มแจ้ง ได้รับความเคารพ นับถือ จากชาวบ้าน หมู่นั้น เป็นอันมาก

วันหนึ่งลูกสาวของชาวบ้านคนหนึ่งเกิดท้องขึ้นโดยไม่ปรากฏว่าใครเป็นพ่อของเด็กในท้อง พ่อแม่ก็ เดือดร้อนใจมาก ในสมัยที่ ยังถือว่าการจะมีคู่ครองพ่อแม่ต้องรับรู้ และต้องทำให้ถูกต้อง ตามธรรมเนียม ประเพณี แต่ลูกสาวคนนี้ เพิ่งเข้าวัยรุ่นแท้ๆ แล้วมาตั้งท้องโดยไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อ พ่อแม่ก็โกรธแค้น พยายาม ซักไซ้คาดคั้น ดุด่าเฆี่ยนตีลูกสาว ให้บอกมาว่า ใครเป็นพ่อ ของเด็กในท้อง จนลูกสาวทนไม่ได้ ก็เลยบอก ออกมาว่า "ก็อาจารย์เซนองค์นั้นไงล่ะ" พอพ่อแม่ ได้ยินเท่านั้น ก็ตกใจ แทบสิ้นสติ เป็นไปได้อย่างไร อาจารย์ที่เราเคารพ นับถือเป็นอย่างยิ่ง จะมาเป็นอย่างนี้ ไปได้อย่างไร แต่ลูกสาว ก็ยืนยัน

พ่อแม่ก็เกิดความไม่มั่นคงในศรัทธาที่มีต่ออาจารย์เซน ที่จริงแกก็เป็นคนดีอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อมีอะไร มากระทบแรงๆ ก็ทนไม่ได้ เพราะความเห็นแก่ตัวว่า นี่เป็นลูกสาวของเรา จึงด่าว่าอาจารย์เซนท่านนั้น ด้วยถ้อยคำ หยาบช้าต่างๆ พวกเพื่อนบ้าน ได้ยินเข้า ก็มาร่วมวงด่าว่า ผรุสวาท อาจารย์เซนท่านนั้นด้วย แค่นั้นไม่พอ พากันยกขบวน ไปที่สำนัก ของท่านอาจารย์เซน ไปถึงก็ถามว่า จริงไหม ที่มาทำให้ ลูกสาว เขาท้อง แทนที่อาจารย์เซน จะตอบว่า จริงหรือไม่จริง กลับพูด แต่เพียงว่า "อ้อ ! งั้นรึ" พ่อแม่ก็ยิ่งโกรธ ทำผิดแล้วยังจะมาพูดอย่าง ไม่เดือดร้อนอย่างนี้ ก็เลยยิ่งรุมด่ากัน เป็นการใหญ่ อาจารย์เซนก็เฉย ไม่ตอบอะไร เลยสักคำ คงทำกิจวัตร ไปตามปกติ จนชาวบ้าน อ่อนใจ จะเข้าไปทุบตี ก็จะมากเกินไป ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็พากันกลับบ้านไป ด้วยความขุ่นแค้น

เมื่อถึงกำหนดคลอด เด็กสาวคนนั้น ก็คลอดลูกออกมาเป็นชาย ยิ่งทำให้ตายาย โกรธขึ้นมาอีก ก็เลยอุ้ม ทารกนั้น ไปที่สำนัก วางเด็กประชด ให้ตรงหน้าอาจารย์เซน พร้อมกับพูดว่า "เอ้า ! ลูกของแก เอาไปเลี้ยงสิ" อาจารย์เซน ก็พูดว่า "อ้อ ! งั้นรึ" แล้วก็รับเลี้ยงเด็กนั้นไว้ ด้วยความเมตตา เพราะถ้าไม่เลี้ยงเด็ก ก็คงต้องตายแน่ เมื่อเลี้ยงไป ก็คงมีคน สงสารเด็ก เอานมมาให้ ท่านก็เลี้ยงไป ทำกิจวัตรไป ตามปกติ

เวลาผ่านไป เด็กสาวคนนั้นก็เกิดความสำนึกบาปขึ้นในใจว่า อาจารย์ไม่ใช่พ่อของเด็ก ไม่เคยเกี่ยวข้องกันเลย แต่เพราะตน ต้องการเอาตัวรอด จากการที่พ่อแม่ ดุด่าทุบตี และเห็นแก่ตัว ที่จะปกป้องคนรัก ที่เป็นพ่อ ของเด็ก กลัวจะถูก พ่อแม่ทำร้าย จึงได้ซัดทอด ไปที่อาจารย์ทั้งๆ ที่ตัวเอง ก็มีความเคารพท่านอยู่ เมื่อความรู้สึก ละอายต่อบาป มีมากขึ้น ในที่สุด ก็สารภาพ กับพ่อแม่ว่า อาจารย์เซน ไม่ได้รู้เรื่อง อะไรด้วยเลย คู่รักจริงๆ นั้นเป็นคนงาน อยู่ในร้านใกล้ๆ บ้านนี่เอง

พอพ่อแม่รู้เข้าก็ตบอกผาง ว่าเรานี่บาปแท้ๆ ไปด่าว่าท่านอาจารย์ แท้จริง ท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ก็ไปเล่า ให้ชาวบ้านฟัง แล้วพากันยกขบวน ไปขอลุแก่โทษ เพื่อไม่ให้เป็นบาปกรรมแก่ตน ไปถึงก็ก้มกราบ อย่างอ่อนน้อม ถ่อมตน กล่าวคำ ขอลุแก่โทษ ที่ได้ด่าว่าท่านไป ด้วยความเข้าใจผิด ก็คงเดาออกใช่ไหมว่า อาจารย์เซน จะพูดว่าอย่างไร ท่านก็พูดประโยคเดิมว่า "อ้อ! งั้นรึ" แล้วตายาย ก็รับหลานกลับบ้านไป เรื่องก็จบลง เพียงแค่นี้

ก็ขอฝากคำถามว่า อาจารย์เซนท่านนี้จัดอยู่ในระดับไหน ระดับศีลธรรมหรือระดับปรมัตถธรรม ท่านจึงนิ่ง อยู่ได้ ทั้งๆ ที่เป็นที่เคารพนับถือ อย่างสูงสุด แต่ท่านติดในคำสรรเสริญยกย่องไหม แล้วอยู่ๆ วันหนึ่ง เขาก็พากันมาด่าว่า ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ร้ายกาจ ท่านเป็นอย่างไร มีความผิดปกติไหม ท่านสะดุ้ง สะเทือนไหม ท่านคิดไหมว่า นี่คือคำด่า พอต่อมา ไม่ช้าไม่นาน เขาก็พากันมาอีก มากราบขอขมา สรรเสริญ เยินยอ เคารพยกย่องอีก ท่านติดไหม หรือท่าน มีความปกติ ไม่หวั่นไหว ต่อลาภยศ สรรเสริญใดๆ

ถ้าคำตอบว่า ท่านคงปกติทุกเวลานาที ไม่ว่าสิ่งร้ายกระทบหรือสิ่งดีกระทบ ไม่สามารถ ทำให้ท่านผิดไป จากความเป็นปกติได้ ทำไมท่าน จึงเป็นอย่างนั้น คิดต่อไป ก็จะได้คำตอบเองว่า เพราะจิตของท่าน เข้าถึงแล้ว ประจักษ์แล้ว ในสัจธรรม อันเป็นความจริง ของธรรมชาติ อยู่เหนือสมมุติ แห่งความเป็นตัวตน ท่านจึงมีจิต ที่อยู่กับความว่าง จากความเป็นตัวตน มีแต่การกระทำอันเป็นหน้าที่ ของมนุษย์เท่านั้น หน้าที่สั่งสอน บอกกล่าว หนทางที่ถูกต้อง ในการดำเนินชีวิต เพื่อให้พ้นทุกข์ เมื่อเขาเอาเด็กมาให้เลี้ยง ท่านก็เลี้ยงไป ตามหน้าที่ ที่จะต้องช่วยเหลือ เพื่อนมนุษย์ ด้วยความเมตตากรุณา

นี่แหละ การงานคือการประพฤติธรรม และจิตปรมัตถธรรมที่อยู่เหนือการสมมุติ เหนือความเป็นตัว เป็นตน จึงมีแต่ ความว่าง ดับเย็นสนิทอยู่เป็นนิจ ก็ขอฝากให้พิจารณาเองว่า เป็นคนดีมาแล้วพอไหม มีศีลธรรม มาแล้ว พอไหม ถ้ายังไม่พอ ก็โปรดรีบขวนขวาย เพื่อเราจะได้มีชีวิตมีจิตที่ สงบเย็นอยู่เป็นนิจ เพราะปราศจาก ความยึดมั่น ถือมั่น ในความรู้สึก เป็นตัวตน.

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๖ มีนา - เมษา ๒๕๔๖)