กสิกรรมพลิกฟื้นชาติ- นายกองฟอน -

เกษตรกรรมอินทรีย์ (Organic Farming)

"เกษตรกรรมอินทรีย์" เป็นคำที่ถูกบัญญัติขึ้น ในประเทศยุโรป เมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดย แนวทาง การเกษตรกรรมอินทรีย์ ของนักวิทยาศาสตร์การเกษตรตะวันตก ดังกล่าว ได้รับอิทธิพล จากภูมิปัญญา และประสบการณ์ของเกษตรกรในตะวันออกอย่างสำคัญ

นักวิทยาศาสตร์ การเกษตรคนสำคัญ ๒ คนซึ่ง ได้รับการ กล่าวถึงบ่อยๆ ในวงการเกษตรกรรมอินทรีย์ คือ F.H.King และ Sir Albert Howard ต่างก็ได้รับ แรงบันดาลใจ จากการได้มาศึกษา ระบบ เกษตรกรรม แบบพื้นเมืองในตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย แนวทาง เกษตรกรรมอินทรีย์ เป็นแนวทาง ที่มีพื้นฐานอยู่บนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะ ความรู้เกี่ยวกับ เรื่องดิน เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตามทั้ง King, Howard, Balfour และนักเกษตรกรรมอินทรีย์คนอื่นๆ ต่างกับนักวิทยาศาสตร์ การเกษตรส่วนใหญ่ ตรงที่พวกเขา กล้าแก้ไขความบกพร่องของ ทฤษฎีทางการเกษตร เมื่อเห็นว่า ทฤษฎี เหล่านั้นเป็นสาเหตุของปัญหาบางประการที่เกิดขึ้นในระบบการเกษตรกรรม เช่น ทฤษฎีเกี่ยวกับ ความต้องการแร่ธาตุอาหารของพืช ซึ่งนำไปสู่การใช้ปุ๋ยเคมีขนานใหญ่ในระยะเวลาต่อมา

ความหมายของเกษตรกรรมอินทรีย์
คำว่า "เกษตรกรรมอินทรีย์" (Organic Farming) ซึ่งกระทรวงเกษตร ของสหรัฐอเมริกา ตั้งไว้เมื่อปี ๑๙๘๑ มีความหมายว่า ระบบการผลิตทางการเกษตรที่หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมีสังเคราะห์ สารเคมี กำจัด ศัตรูพืช และฮอร์โมนกระตุ้น การเจริญเติบโตของพืช และสัตว์ การเกษตรกรรมอินทรีย์ อาศัยการ ปลูกพืช หมุนเวียน เศษซากพืช มูลสัตว์ พืชตระกูลถั่ว ปุ๋ยพื้นสด เศษซากเหลือทิ้งต่างๆ การใช้ ธาตุ อาหาร จากการผุพังของหินแร่ การใช้ หลักการควบคุมศัตรูพืชด้วยวิธีชีวภาพ เพื่อรักษา ความอุดมสมบูรณ์ ของดินให้เป็นแหล่งอาหารของพืช รวมทั้งเป็นการควบคุมศัตรูพืชต่างๆ เช่น
แมลง โรค และวัชพืช เป็นต้น (Barry Wookey, ๑๙๘๗)

หลักการสำคัญของเกษตรกรรมอินทรีย์
เกษตรกรรมอินทรีย์ ให้ความสำคัญสูงสุดต่อ "ดิน" เนื่องจาก ดินเป็นรากฐานของทุกสิ่ง โฮวาร์ด ผู้บุกเบิก เกษตรกรรมแบบอินทรีย์ เขียนไว้ในหนังสือชื่อ "An Agriculture Testament" ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ เดือนมิถุนายน ๑๙๔๐ ว่า

สุขภาพ ที่ดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั้งปวง สุขภาพที่ดีตามกฎข้อที่หนึ่ง ต้องใช้กับดิน พืช สัตว์ และมนุษย์ โดยสุขภาพที่ดีของสิ่งมีชีวิตดังกล่าวจะเชื่อมโยงประสานสัมพันธ์ดุจสายโซ่เส้นเดียวกัน ความอ่อนแอ และผลกระทบ ที่เกิดขึ้นกับห่วงโซ่แรกคือ "ดิน" จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อื่น ที่อยู่ใน ลำดับสูงกว่า จนถึงมนุษย์ซึ่งยืนอยู่บนสุดของห่วงโซ่ความสัมพันธ์นั้น

ปัญหาการระบาดของโรคแมลง ทั้งในการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ ในระบบเกษตรกรรมสมัยใหม่นั้น คือปัญหา ในห่วงโซ่ที่สองและสาม (พืช-สัตว์) ปัญหาเรื่องสุขภาพ ของคนในสังคมสมัยใหม่ เป็นผล ต่อเนื่อง มาจาก ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่ที่สองและสาม สุขภาพที่ไม่ดี ของพืช สัตว์ และมนุษย์ เป็นผลต่อเนื่องมาจาก สุขภาพที่ไม่ดีของดิน ดินเป็นรากฐานของทุกสิ่ง การแก้ปัญหา เรื่องสุขภาพ โดยการพัฒนายา และคิดค้นวิธี การรักษาโรค ต่างๆ ไม่อาจ ทำให้สุขภาพ ดีขึ้นได้ ถ้าละเลย ความ อุดมสมบูรณ์ของดิน การปรับเปลี่ยน การพัฒนา ที่เป็นอยู่ให้ถูกต้องมิใช่เรื่องยาก เพียงแต่ เราต้องสำนึก ในปัญหาที่เกิดขึ้น ยอมรับกฎ และบทบาท อันซับซ้อน ของธรรมชาติ ด้วยการคืนทุกสิ่ง ที่เหลือจาก การ ใช้ประโยชน์ให้ผืนดิน ผสมผสาน การปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ และไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการรบกวน ต่อกระบวนการ สะสมธาตุอาหาร ที่ดำเนินการโดย สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ซึ่งอาศัยในดิน มโนทัศน์ของดิน ในหมู่นักเกษตรกรรมอินทรีย์ จึงเป็นคนละแบบกับ ที่นักการเกษตรเคมีเข้าใจ

นักเกษตรกรรมอินทรีย์เชื่อว่า ดินใต้ฝ่าเท้าของมนุษย์นั้นมีชีวิต ผืนดิน ที่สัมพันธ์กับ การทำเกษตรกรรม ของโลกนั้น เป็นเพียงชั้นดินที่มีความหนาเฉลี่ยน้อยกว่า ๑ ฟุตเท่านั้น ดินชั้นบนที่ห่อหุ้มโลก จะมีซาก อินทรียวัตถุ ซากพืช ซากสัตว์ และของเสียที่ร่างกายถ่ายออกมาละลายปนอยู่เสมอ โดยจะมีสิ่งมีชีวิต ขนาดเล็กๆ นับล้านๆ ค่อยๆ ย่อยสลาย เศษซาก ดังกล่าว ประมาณกันว่า ในพื้นที่ดินดี ๒.๕ ไร่ และลึก ลงไปประมาณ ๖ นิ้วนั้นจะมีแบคทีเรียหนักกว่าช้างพลาย ๑ ตัว ในดินจะมีช่องเล็กๆ คล้ายๆ รังผึ้ง แบคทีเรีย รา โปรโตซัว ไมคอไรซา และจุลินทรีย์อื่นๆ อาศัยอยู่ ดินที่มีคุณภาพ จะเต็มไปด้วย รูเล็กๆ มากมาย ในเม็ดดินเล็กๆ ๑ ช้อนชาจะมีพื้นที่ผิวถึง ๑๕ ไร่ สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ จะย่อยสลาย เศษซาก ของสิ่งมีชีวิต ให้อยู่ในรูปธาตุอาหาร กรองของเสีย และจะมีผลต่อคุณภาพของอาหารนั้นในที่สุด

เมื่อ ๕ ทศวรรษที่ผ่านมา "โรเบิร์ต แมคคาริสัน" ได้ทดลองเปรียบเทียบ การเจริญเติบโต ของหนู ซึ่งให้กิน ข้าวสาลี ที่ใส่ปุ๋ยต่างกัน เขาพบว่าหนูที่กินข้าวสาลี ที่ใส่ปุ๋ยธรรมชาติ จะมีอัตราการเติบโต ดีกว่าหนูที่กินข้าว ใส่ปุ๋ยเคมีถึง ๑๕ % ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ตามมโนทัศน์ ของนักเกษตรกรรม อินทรีย์ มิได้เป็นภาพของดิน ซึ่งมีแร่ธาตุที่พืชต้องการ ไม่กี่ชนิดดังความเข้าใจ ของนักการเกษตร แผนใหม่ แต่เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ของสิ่งมีชีวิตเล็กๆในดินเป็นจำนวนมาก "เลดี้ อีฟ บัลโฟร์ (Lady Dve Balfo) ซึ่งสานต่องานของ โฮวาร์ด สรุปไว้ว่า ธาตุอาหารพืชที่ได้จากสมดุลของดินที่มีชีวิต มีความสำคัญ สูงสุดต่อสุขภาพโดยรวมของมนุษย์ ดังนั้น เกษตรกรรมอินทรีย์ จึงปฏิเสธการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และสารเร่งการเจริญเติบโตอื่นๆ ความอุดมสมบูรณ์ของพืช และสัตว์ขึ้นอยู่กับ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน การระบาดของโรค/แมลง เกิดจากการที่พืชนั้น อ่อนแอ และระบบนิเวศ ขาดสมดุลตามธรรมชาติ

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาการเจริญเติบโตและการระบาดของโรคแมลง จึงต้องมุ่งสู่แก่นแท้ของปัญหา มิใช่ที่อาการ ของโรค การใช้สารเคมีจึงถูกปฏิเสธ เพราะนอกจากจะแก้ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้แล้ว ยังเป็นสาเหตุของปัญหา การเกษตรใหม่ๆ ที่ซับซ้อนและรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก

เกษตรกรรมอินทรีย์ในปัจจุบัน
ปัจจุบันมีเกษตรกรรมอินทรีย์ เป็นจำนวนพอสมควร คาดว่า มีเกษตรกร ที่ทำการเกษตร ตามแนวทางนี้ ประมาณ ๑% ของเกษตรกรทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โดยกลุ่ม เกษตรกรรม อินทรีย์ ในแต่ละ ประเทศ จะมีความคิดและวิธีปฏิบัติในการทำการเกษตรที่คำนึงถึงอิทธิพลของดวงดาว การใช้สารสกัด จากพืช เพื่อปรับสมดุล การเจริญเติบโตของพืช เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ระบบเกษตรกรรมอินทรีย์ เพิ่งได้รับการยอมรับ อย่างเป็นทางการ ในวงวิชาการ อย่าง จริงจัง เมื่อประมาณหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง โดยเฉพาะ รายงานผลการทำเกษตรกรรม อินทรีย์ ทั่วประเทศ อเมริกา รวมทั้ง การเดินทาง ไปดูงานเกษตรกรรมอินทรีย์ในยุโรปและญี่ปุ่น เกษตรกรรม อินทรีย์ ส่วนใหญ่ จะใช้การปลูก พืชหมุนเวียน โดยใช้พืชตระกูลถั่ว และพืชคลุมดิน ทดแทน ไนโตรเจน จากปุ๋ยเคมี การเลี้ยงสัตว์ เป็นองค์ประกอบสำคัญ ในการหมุนเวียนอาหาร และเศษซาก ของเหลือ เพื่อประโยชน์ในไร่นา บางกรณี อาจมีการ นำปุ๋ยคอก และอาหารสัตว์มาจาก นอกฟาร์มบ้าง

สูตรน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพ
กรมวิชาการเกษตรได้รวบรวม สูตรน้ำ สกัดชีวภาพจากหน่วยงานและแหล่งที่มีผู้ศึกษาค้นคว้า และทดลอง ได้ผลดี ดังนี้
กลุ่มเกษตรกาญจนาปลอดสารพิษ ต.หนองบัว อ.ศรีไทย จ.สุโขทัย

การทำหัวเชื้อจุลินทรีย์
ส่วนผสม
วัสดุที่ใช้ จำนวน

๑. น้ำต้มสุก ๓๐ ลิตร
๒. เปลือกตาสับปะรด ๓ กก.
๓. กากน้ำตาล ๑ กก.
๔. เหง้าหญ้าขน ๑ ขวด
๕. ฟางผุหรือถุงเชื้อเห็ดฟาง ๑ กำมือ
๖. จุลินทรีย์จากธรรมชาติทุกชนิด ๑ กำมือ
วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดใส่โอ่งหรือถังพลาสติก หมักไว้ประมาณ ๗ วัน หรือเมื่อหมดฟองอากาศ ก็เป็นอันใช้ได้ หมั่นตรวจดูอย่าให้มีกลิ่นบูด หากมีกลิ่นให้เติมกากน้ำตาลลงไป แล้วคนให้เข้ากัน

สูตรปุ๋ยหมักแห้ง
ส่วนผสม
วัสดุที่ใช้ จำนวน
๑. ขี้วัวไล่ทุ่งหรือขี้ไก่ ๑ ปีบ
๒. แกลบดิน ๑ ปีบ
๓. รำอ่อน ๑ ปีบ
๔. นมเปรี้ยว ๑ ปีบ
๕. เหง้าหญ้าขน ๑๐ ลิตร
๖. ฟางผุหรือถุงเชื้อเห็ดฟาง ๒๐-๔๐ ลิตร
๗. จุลินทรีย์จากธรรมชาติทุกชนิด ๒๐-๔๐ ลิตร
วิธีทำ
๑. ผสมหัวเชื้อจุลินทรีย์ กากน้ำตาล และน้ำสะอาด คนให้เข้ากัน
๒. นำแกลบดิบ ขี้วัวไล่ทุ่ง รำอ่อน เปลือกถั่วเหลือง คลุกเคล้ากัน แล้วรดด้วยน้ำที่ผสมไว้ในข้อ ๑
๓. เสร็จแล้วกองไว้สูงประมาณ ๓๐ เซนติเมตร หรือบรรจุใส่ถุง เปิดปากไว้ประมาณ ๓-๕ วัน หรือรอจนหมดความร้อนจึงนำไปใช้ได้

สูตรรวมมิตร
ส่วนผสม
วัสดุที่ใช้ จำนวน
๑. พืชสด ๑๐ กก.
๒. ผลไม้ดิบทั้งผล ๑๐ กก.
๓. ผลไม้สุกทั้งผล ๑๐ กก.
๔. เศษสัตว์ ๕ กก.
๕. กากน้ำตาลใส่พอท่วมส่วนผสมทั้งหมด
๖. ตัวเสริม ๒ กก.
๗. จุลินทรีย์ ๑ ลิตร

วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดผสมเข้าด้วยกัน แล้วหมักไว้อย่างน้อย ๓ เดือน
วิธีใช้
อัตราการใช้น้ำหมัก ๓๐ ซีซี. ผสมน้ำ ๒๐ ลิตร แล้วนำไปฉีดพ่นต้นพืชผักได้

หมายเหตุ :
พืชสด
ต้องใหม่ ใหญ่ สมบูรณ์ และมีสีเขียว ได้แก่ ตำลึง ผักบุ้ง เป็นต้น
ผลไม้สุก
(ใช้เฉพาะ ชนิดที่มีรสหวาน) ผลไม้ดิบจะใช้ทั้งเปลือก เนื้อ เมล็ด
เศษสัตว
์ ได้แก่ ปลา หอยเชอรี่ เปลือกกุ้ง หนอน ปลวก แมลง
ตัวเสริม
ได้แก่ ยาคูลท์ โยเกิร์ต นมสดใหม่ น้ำมะพร้าวอ่อน
จุลินทรีย์
ได้จากหัวเชื้อที่หมักเองและจุลินทรีย์จากธรรมชาติ (ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร)

ท่านใดมีประสบการณ์ในการทำกสิกรรมธรรมชาติ ต้องการแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น หรือเผยแพร่ เทคนิคใหม่ๆ ที่น่าสนใจ รวมถึงสูตรน้ำหมักบำรุงพืชผักและสารขับไล่แมลง

ส่งมาได้ที่ e-mail : [email protected] จะนำเผยแพร่เป็นวิทยาทานต่อไป

 

(ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๗ พฤษภาคม - มิถุนายน ๒๕๔๖)