ความตายเพื่อนรัก

*** สั่งความ
เช้าวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๖
พ่อเรียก 'ลูกสาวใหญ่' มาใกล้ๆ และกล่าวเบาๆ แต่น้ำเสียงหนักแน่นว่า "อย่าร้องไห้ ถ้าพ่อตาย" พ่อมี ลูกสาว ๒ คน พ่อเรียกลูกสาวคนโตว่า 'ลูกสาวใหญ่' เรียกลูกคนที่ห้าว่า 'ลูกสาวเล็ก' ลูกชายอีก ๔ คน ในจำนวน ลูกทั้งหมด ๖ คน เรียกตามชื่อแต่ละคน ลูกๆ ไม่กล้าบอกว่า พ่อเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย แต่พ่อคงเดาออกว่า พ่อคงเป็น โรคร้ายแรง เริ่มจากรักษากระดูกขาขวาซึ่งแตกเอง หมอเอาเหล็กดาม น่าจะหายภายใน ๑ เดือน แต่ยิ่งอยู่นาน พ่อกลับอ่อนแรง หมอด้านอายุรกรรมให้กลับบ้าน แต่ 'ลูกสาวใหญ่' ไปวิงวอนศัลยแพทย์ ที่รักษากระดูกขาของพ่อ ให้อยู่โรงพยาบาลต่อ นายแพทย์ลักษณ์ ชุติธรรมานันท์ มีความเมตตา รับเป็นเจ้าของไข้ พ่อจึงได้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจนวาระสุดท้าย

"ทำไมพ่อไม่กลัวตาย" ลูกสาวใหญ่ถาม
"ความตายเป็นธรรมดา ใครก็ต้องตายทั้งนั้น"
"แล้วทำไมใครๆ เขากลัวตายกัน" ลูกสาวใหญ่ยังไม่พ้นข้อสงสัย
"เพราะเขาถูกสอนมาผิดๆ"

"ถ้าพ่อตาย ไม่ต้องรอหนูนะ พร้อมเมื่อไร
ก็ไปเลย อย่างไรพ่อก็อยู่ในใจหนูเสมอ" เธอหมายถึง หากเธอต้องจากพ่อไปเตรียมการ และอาจไม่ได้ อยู่เห็นใจพ่อ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ

"หนูไม่กังวลว่าพ่อจะตายเร็วหรือช้า แต่หนูปรารถนาให้พ่ออยู่สบาย ตายสง่า หนูคิดเช่นนี้ถูกไหมคะ" พ่อพยักหน้า สายตามองลูกสาวด้วยความเอ็นดู

*** ระโยงระยาง
'อย่าระโยงระยางพ่อบอกหมอด้วย
ไม่ต้องช่วยกันกระชากลากสังขาร์
ให้พ่อตายโดยดีอย่างธรรมดา
อย่าไปว่าพยาบาลอย่าพาลใคร'

๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๖ เธอเกิดแรงบันดาลใจบันทึกคำสั่งที่พ่อบอกไว้เมื่อเดือนก่อนกลั่นออกมาเป็นคำกลอนติดไว้ที่ผนังตู้ไม้ในห้องพัก ผู้ป่วย ของโรงพยาบาล พ่อนอนสงบนิ่ง มือประสานอก นอนหลับทั้งวันทั้งคืน ไม่รับอาหารทางปากมาหลายวัน

๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๖ หมอขออนุญาต 'ลูกสาวใหญ่' ของพ่อ ให้อาหารทางสายยาง ซึ่งต้อง ใส่ลงไป ถึงกระเพาะอาหาร เพราะคำขอร้องของลูกๆ ห้าคนที่ไม่อยากเห็นพ่อ 'อดตาย' หากหมอไม่ทำตาม ที่ญาติผู้ป่วย ร้องขอ หมอมีความผิดตามกฎหมาย พ่อดูสดชื่นเมื่อได้อาหารทางสายยาง ยาต่างๆ ถูกระดมเข้ามา ตามเส้นทางนั้นด้วย แรกๆ เธอสังเกตว่า พ่อรำคาญเพราะไม่คุ้นเคย อยู่ต่อมามีทีท่า 'ยอมรับสภาพ'

*** ยืดเวลาเพื่อใคร?
"พ่อของพี่จะอยู่ได้อีกนาน อาจถึง ๒-๓ เดือน เพราะได้อาหารได้ยาทางสายยาง แม่ของหนูเป็นโรคมะเร็งตับ เหมือนกัน พอรู้ว่ารักษาไม่ได้ หนูขอให้ออกจากโรงพยาบาลมาอยู่บ้าน ๔ วัน แม่ก็ตาย" เพื่อนรุ่นน้อง ของเธอ ให้ข้อมูลจากประสบการณ์ตรง แต่ไม่ให้ข้อเสนอแนะ ไม่ชี้นำว่าควรให้กลับบ้านหรืออยู่ โรงพยาบาล

ปลายเดือนเมษายน เธอยกเก้าอี้ไปนั่งชิดขอบเตียงพ่อซึ่งเอาแต่นอนหลับ และไม่พูดมาตั้งแต่ปลายเดือน มีนาคมแล้ว ค่ำนั้น พ่อเปิดเปลือกตา จ้องมองลูกสาวใหญ่ รวบรวมพลังกล่าวช้าๆ ชัดๆ ว่า "พ่ออยากไปแล้ว ยังไม่ให้ พ่อไปอีกเรอะ รักษาไม่หายทำไมไม่ให้พ่อกลับบ้าน มันจะตายก็ให้ตายไป" แล้วพ่อก็ปิดเปลือกตา หลับนิ่ง

'ลูกสาวใหญ่' บันทึกความที่พ่อพูดกับเธอ ในสมุดบันทึกอาการซึ่งลูกๆ ที่สนใจความคืบหน้า ของอาการพ่อ จะอ่านพบ

*** เสากร่อนแล้วแต่ยังเร่งซ่อมหลังคา
คุณพยาบาลกรอกยาหลากชนิดลงสู่สายยางอย่างตั้งใจ เธอทั้งหลายทำหน้าที่เต็มกำลังเพื่อให้ผู้ป่วย ลดอาการ ที่ทำให้ทรมานน้อยที่สุด เช่น ยาละลายเสมหะ และวิตามินต่างๆ ที่ทำให้ได้อาหารครบ แต่ ไม่มีมอร์ฟีน หรือ ยาแก้ปวดใดๆ เพราะพ่อไม่แสดงอาการทรมานเนื่องจากความเจ็บปวดแม้แต่น้อย ใช่ว่าไม่ปวด แต่เนื่องจาก ฝึกมาดีเป็นเวลานานในเรื่องความอดทน

หมอบอกว่า มะเร็งทำหน้าที่อย่างรวดเร็ว มันกินถึงกระดูกแล้ว และเกิดมีน้ำคั่งในช่องท้อง ทำ ให้ท้องบวม ปริมาณน้ำ ไปดันกระบังลม การหายใจจึงไม่สะดวก พ่อต้องหายใจทางปาก เมื่ออ้าปากมากๆ ก็ลิ้นแห้ง หากไม่ระวัง อาจเป็นแผลที่ลิ้น แน่นอนที่สุด คือความทรมานอีกรูปแบบหนึ่ง

ร่างกายของพ่อหากเปรียบเหมือนบ้าน ก็คือบ้านที่เสากร่อนอย่างมิอาจซ่อมได้ ลูกๆ พยายาม ซ่อมหลังคา กลัวฝน รั่วลงมาสาดพ่อ พ่ออยากออกจากบ้านไปอยู่ที่ใหม่ พ่อรู้ดีว่า 'ไม่มีทางซ่อมได้' แต่ลูกๆ ยังยืนยัน 'ไม่อยาก ให้พ่ออดตาย' จึงไม่มีการถอดสายยางที่ใส่สอดจากรูจมูกจนถึงกระเพาะอาหาร แผลกดทับ ปรากฏ เป็นแห่งๆ ที่บริเวณขาทั้งสอง แม้จะมีการพลิกตัวเพื่อมิให้เกิดแผลที่หลัง มันก็โผล่ที่อื่น เหมือนจะเยาะเย้ย ผู้เฝ้ามองว่า 'ไม่มีทางเอาชนะฉันได้'

*** เพื่อนรักมาเยือน
หากเรากำลังเหงา ว้าเหว่ โดดเดี่ยว คน รอบข้างไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกที่มิอาจอธิบายเป็นวาจา พลัน 'เพื่อนรัก' มาหา ยิ้มให้ ชวนเดินทางไปสู่ดินแดนใหม่ เราอาจไม่คุ้นเคยกับสถานที่ซึ่งเพื่อนจะพาไป ต้องปรับใจ เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศแห่งใหม่ แต่ผู้ที่ชักชวนคือ 'เพื่อนรัก' เราจะไปกับเขาไหม

เช้าวันเสาร์ที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๖ เป็นวันพระใหญ่ 'ลูกสาวใหญ่' ช่วยกันกับนักเรียนพยาบาลเช็ดตัวให้พ่อ ดูจากบันทึกค่าการหายใจ และจำนวนครั้งในการเต้นของหัวใจตั้งแต่คืนก่อน พ่อน่าจะเดินทางวันนี้ แต่ตอนไหน ไม่รู้ เธอตั้งใจว่า ณ เวลาที่พ่อลงโลง พ่อจะนอนท่ามกลางทุ่งกุหลาบ เธอเตรียมอุปกรณ์ เพื่อการนี้ มานานกว่าสองสัปดาห์

'หนูขออนุญาตไปทำงานให้พ่อชิ้นหนึ่ง พ่ออวยพรให้หนูทำให้สำเร็จนะคะ' เธอกราบที่อกพ่อ หลังจากเปลี่ยน เสื้อผ้าให้ เมื่อเช็ดตัวเสร็จ เมื่อเธอคล้อยหลังไปราวครึ่งชั่วโมง พ่อเดินทางไปกับเพื่อนรักแล้ว

เย็นนั้น พ่อได้นอนท่ามกลางกุหลาบหลากสี ด้วยฝีมือของลูกหลานหลายวัย อีก ๘ วันต่อมา คุณหมอลักษณ์ ซึ่งดูแลพ่ออย่างทุ่มใจ ได้มาร่วม แบกหีบที่มีร่างไร้วิญญาณของพ่อขึ้นสู่เมรุ วันต่อมา กระดูกส่วนหนึ่งของพ่อ ซึ่งบรรจุอยู่ใน 'รุ้งดิน' อันเป็นภาชนะดินเผาสำหรับใส่อัฐิเพื่อลอยอังคาร ลูกสาวใหญ่ได้หย่อนลงไปในท้องทะเล ปากอ่าว แม่น้ำแม่กลอง ซึ่งเป็นสายน้ำที่พ่อผูกพันมาตั้งแต่เกิด 'หลวงอา' จากวัดบ้านแหลม (ซึ่งเป็นวัดที่พ่อ ได้เก็บเกี่ยว ประสบการณ์ชีวิตในช่วงเวลาที่พ่อบวช) กรุณามาบังสุกุลให้ในเรือยนต์ที่พาพ่อไปส่งยังท้องทะเล บรรยากาศ สงบ สดชื่น

*** ข้อคิดแด่เพื่อนร่วมอาการ
๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๖ คุณหมอลักษณ์ กรุณาให้สัมภาษณ์บันทึกเทปแก่ลูกสาวใหญ่ของพ่อว่า

"การให้อาหารทางสายยางนั้นไม่ใช่เรื่องจำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่มั่นใจว่าเป็นระยะสุดท้าย ดังเช่น 'คุณลุง' พี่คงเห็นแล้ว ในฐานะที่เฝ้าท่านใกล้ชิดมาตลอดว่า เป็นการยืดความทรมาน"

คุณหมอมิได้กล่าวถึงการเคารพในความคิดของเจ้าของร่าง ซึ่งได้สั่งความไว้แก่ลูกสาวใหญ่ว่า 'อย่าระโยงระยางพ่อ' คุณหมอให้ทางออกแบบสันติวิธีว่า

"หากเจ้าของร่างรู้ตัวว่า มิอาจรักษาตนให้หายได้ตามข้อวินิจฉัยของแพทย์ และไม่ประสงค์ จะรับการรักษา เพื่อยืดเวลาทรมาน ให้เขียนเป็นลายลักษณ์ อักษร ระบุเจตจำนงของตนให้ชัดเจน แล้วให้ผู้เกี่ยวข้อง ใกล้ชิด เช่น บุตร ภรรยา สามี เซ็นชื่อ รับทราบ

ด้วยวิธีนี้ดวงวิญญาณจะเดินทางออกจากร่างโดยสวัสดิภาพตามวาระอันควร

รักไม่รู้โรยโปรยพร้อมมะลิขาว
กุหลาบพราวดาวเรืองเหลืองสลอน
'รุ้งดิน' ดิ่งพาพ่อไปใต้สาคร
เพื่อพักผ่อนให้สบายในสายชเล

- สิริมา ศรสุวรรณ -
๑๓ ก.ค.๔๖