คิดดีชนะใจ (วัฏฏกชาดก)


คิดดีชนะใจ
คิดร้ายทำลายตน
คิดฟุ้งซ่านสับสน
ฝึกฝนคิดแต่ดี

ในนครสาวัตถี ได้มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อว่า อุตตระ เขามีทรัพย์สมบัติอยู่มากมาย ภรรยาของเศรษฐีให้กำเนิดทารกคนหนึ่ง ครั้นทารกน้อยเติบใหญ่ เจริญวัยเป็นหนุ่มแล้ว บุตรของอุตตรเศรษฐีก็มีรูปกายงดงาม ผิวพรรณผ่องใสดุจดั่งพรหม

อยู่มาวันหนึ่ง ในพระนครสาวัตถีได้มีการป่าวร้องกันไปทั่ว ว่าจะมีงานนักขัตฤกษ์ประจำเดือน ๑๒

บรรดาบุตรเศรษฐีทั้งหลายในนครสาวัตถี ซึ่งเป็นสหายของบุตรเศรษฐีอุตตระนั้น ต่างก็มีภรรยากันไปหมดแล้ว จะเหลืออยู่ก็แต่บุตรของอุตตรเศรษฐีเพียงผู้เดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้พวกเพื่อนๆของเขาจึงพากันปรึกษาว่า

"พวกเราควรจะหาหญิงสักคนหนึ่ง นำมาให้เพื่อนของเรา"
ร่วมกันคิดแล้ว ก็ชวนกันเข้าไปหาเขา บอกว่า
"เพื่อนรัก ในพระนครนี้จะมีงานมหรสพประจำเดือน ๑๒ เขาป่าวร้องกันอึงคนึง พวกเราจะพาหญิงคนหนึ่งมาให้ท่าน จะได้ไปเที่ยวเล่นงานนักขัตฤกษ์ด้วยกัน"
แม้พวกเพื่อนจะบอกอยู่อย่างนี้ เขาก็ยังกล่าวว่า
"ผมไม่ต้องการผู้หญิง"
เพื่อนๆจึงพากันแค่นไค้ กระเซ้าเย้าอยู่บ่อยๆ จนในที่สุดเขาก็จำยอมรับปาก เหล่าเพื่อนฝูงได้ช่องได้โอกาส จึงไปหานางวรรณทาสีคนหนึ่ง(สาวใช้ที่งดงาม) เอามาตกแต่งกายให้ด้วยเครื่องประดับพร้อมสรรพ แล้วนำไปเรือนของเขา กำชับนางว่า

"เธอเข้าไปในบ้านของอุตตรเศรษฐีแล้ว จงประพฤติตัวให้บุตรเศรษฐีเพื่อนของพวกเรามีความสุขเถิด"
จากนั้นก็ส่งตัวนางเข้าไปถึงห้องนอน แล้วจึงพากันออกมา
แม้นางวรรณทาสีจะได้เข้าไปยืนอยู่ถึงในห้องนอนแล้ว ตามลำพังเพียงสองต่อสอง แต่บุตรเศรษฐีก็ไม่ยอมมองดู ไม่พูดจาด้วย ทำให้นางคิดว่า

"ชายหนุ่มรูปงามนี้ไม่มองดูเราผู้สวยงาม ผู้สมบูรณ์ด้วยความเพริดพริ้งแพรวพราวปานฉะนี้ เห็นทีเราจะต้องทำให้เขาจ้องมองดูเรา ด้วยกระบวนมารยาและการเยื้องกรายของหญิงให้ได้"

จึงส่งเสียงกระแอมไอเรียกความสนใจ พอเห็นบุตรเศรษฐีมองมา นางก็เริ่มหว่านเสน่ห์หญิง แย้มให้เห็นฟันด้วยการโปรยยิ้ม ทำชมดชม้อยเอียงอาย

บุตรเศรษฐีเห็นเช่นนั้นเข้า ก็รีบตั้งสติไว้มั่น ยึดเอาอสุภนิมิต(กำหนดจิตถึงความสกปรกของร่างกาย)ในกระดูกฟัน จนเกิดอัฏฐิกสัญญา(เห็นเป็นเสมือนซากศพที่เหลืออยู่แต่ร่างกระดูก) ทำให้ร่างที่งดงามของนางนั้น ปรากฏเห็นสัจจะ แลดูเป็นเช่นโครงกระดูกอันไม่งามตา ไม่อาจก่อเกิดกามขึ้นได้ จิตใจจึงสงบนิ่งไม่หวั่นไหว

เมื่อเป็นเช่นนั้น เขาจึงให้รางวัลแก่นาง แล้วบอกให้นางกลับบ้านไป นางวรรณทาสีจึงต้องทำตามนั้น

แต่ในระหว่างทางนั้นเอง ขณะที่นางเดินอยู่บนถนน ปรากฏมีชายคนหนึ่งเห็นความงามของนางเข้าเท่านั้น ก็ติดใจหลงใหล ถึงกับให้ทรัพย์แก่นางมากมาย ขอพานางไปสู่เรือนของตน ซึ่งนางก็ยินดีพอใจยิ่ง จึงไปกับเขา

ล่วงพ้นไปได้ ๗ วัน....งานนักขัตฤกษ์ก็ยุติลง มารดาของนางวรรณทาสีนั้นครั้นไม่เห็นบุตรสาวของตนกลับมา ก็ไปหาบรรดาบุตรเศรษฐีทั้งหลาย แล้วทวงถามว่า

"ท่านทั้งหลาย ลูกสาวของฉันหายไปไหน นี่งานมหรสพก็หมดไปแล้ว"
พวกบุตรเศรษฐีเหล่านั้นจึงพาไปสู่เรือนของบุตรอุตตรเศรษฐี แล้วทวงถามบ้างว่า
"นางวรรณทาสีอยู่ที่ไหนเล่า เพื่อน"
บุตรอุตตรเศรษฐีจึงตอบตามความจริงว่า
"นางไม่อยู่ที่นี่หรอก ฉันให้รางวัลแก่นาง แล้วส่งตัวออกไปจากบ้านนี้ ให้นางกลับไปตั้งแต่วันนั้นทีเดียว"
มารดาของนางวรรณทาสีได้ฟังอย่างนั้น ถึงกับปล่อยโฮร้องไห้ใหญ่ ส่งเสียงร่ำร้องว่า
"ฉันไม่เห็นลูกสาวของฉันเลย ตั้ง ๗ วันมาแล้ว พวกท่านต้องพาลูกสาวของฉันกลับคืนมา"

แล้วเอาเรื่องเอาราว....ให้จับตัวบุตรอุตตร-เศรษฐีไปสู่ราชสำนัก

พระราชาเมื่อจะทรงชำระคดี ทรงฟังเรื่องทั้งหมดแล้ว ก็รับสั่งถามเขาว่า
"บุตรเศรษฐีเหล่านี้พานางวรรณทาสีไปให้เจ้าหรือ"
"พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมุติเทพ"
"แล้วเดี๋ยวนี้นางไปไหนล่ะ"
"ไม่ทราบเกล้าฯ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ให้นางกลับบ้านไปในขณะนั้น วันนั้นแหละ พระเจ้าข้า"
"เดี๋ยวนี้ เจ้าจะสามารถพานางส่งคืนได้ไหมเล่า"
"ข้าพระองค์ไม่รู้ว่านางอยู่แห่งใด จึงไม่สามารถทำได้ พระเจ้าข้า"

พระราชาทรงสดับเช่นนั้น จึงทรงตัดสินเขาลงไปว่า
"ถ้าเจ้าไม่อาจจะนำตัวนางมาส่งคืนได้ เจ้าก็จงถูกลงอาญาเถิด"
สิ้นรับสั่ง พวกราชบุรุษก็ตรงเข้ามัดแขนเขาไพล่หลัง คุมตัวไปเพื่อลงอาญา

ข่าวนี้จึงแพร่สะพัดลือกันไปทั่วพระนครว่า
"พระราชารับสั่งให้ลงอาญาแก่บุตรอุตตรเศรษฐี เพราะไม่สามารถนำนางวรรณทาสีมาส่งคืนได้"

หมู่มหาชนและญาติสนิทมิตรสหายของเขา ต่างพากันอดสงสารไม่ได้ คร่ำครวญกันว่า
"ไม่น่าเลย ทำไมเรื่องเป็นเช่นนี้ไปได้ ท่านได้รับสิ่งที่ไม่คู่ควรแก่ตนเลย"

แล้วพากันเดินร่ำไห้ตามไปข้างหลังของบุตรเศรษฐีนั้น แต่ในขณะนั้นเอง....บุตรเศรษฐีกลับคิดว่า
"เราต้องทุกข์ยากถึงขนาดนี้ ก็เพราะเหตุแห่งการอยู่ครองเรือน ฉะนั้นถ้าเราพ้นจากทุกข์นี้ไปได้ละก้อ เราจะบวชในสำนักของพระมหาโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า"

ฝ่ายนางวรรณทาสีนั้นเล่า ขณะอยู่ในเรือนของชายที่นางตามไปอยู่ด้วย ก็ได้ยินเสียงดังโกลาหลจากภายนอก จึงเยี่ยมกายมองจากบนเรือน แล้วถามว่า

"นั่นผู้คนมากมายส่งเสียงดังสับสนด้วยเรื่องอะไรกัน"

ครั้นนางได้รับทราบเรื่องราวแล้ว ก็รีบลงมาจากเรือนโดยเร็ว ตะโกนเสียงดังบ้างว่า
"จงหลีกทาง จงหลีกไปเถิดท่านทั้งหลาย จงให้โอกาสเราได้พบกับราชบุรุษ"

แล้วรุดฝ่าฝูงคนไปยืนแสดงตัวอยู่เบื้องหน้าของราชบุรุษ บอกเล่าความจริงให้ฟัง มารดาของนางวรรณทาสีเห็นลูกสาวก็ดีใจ ตรงเข้าไปหาแล้วจูงมือกลับบ้านทันที ส่วนพวกราชบุรุษก็ปล่อยตัวบุตรเศรษฐีให้เป็นอิสระ แล้วก็กลับไปรายงานแก่พระราชา

บุตรของอุตตรเศรษฐีพอพ้นภัย ก็ถูกพวกเพื่อนๆแห่แหนนำตัวไปสู่แม่น้ำ อาบน้ำ ดำเกล้า พอเสร็จแล้วจึงส่งตัวเขากลับบ้าน ฉลองกันด้วยความยินดีปรีดา

รุ่งอรุณของวันใหม่....โดยไม่รอช้า เมื่อบุตรอุตตรเศรษฐีกินอาหารเช้าเสร็จ ก็ขอบิดามารดาอนุญาตให้ออกบวช แล้วถือเอาผ้าจีวรไปเข้าเฝ้าพระศาสดา โดยมีเหล่าบริวารติดตามไปเป็นอันมาก

ครั้นถวายบังคมแล้วกราบทูลขอบรรพชา พระศาสดาก็ทรงให้บรรพชา นับตั้งแต่เขาได้บวชเป็นพระภิกษุแล้ว ก็มิได้ทอดทิ้งการบำเพ็ญเพียรในกรรมฐาน และเจริญในวิปัสสนา ไม่ช้าก็ได้สำเร็จ ตั้งอยู่ในอรหัตตผล

อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในธรรมสภา กล่าวถึงคุณของท่านว่า
"ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุตรของอุตตรเศรษฐีนั้น
เมื่อเภทภัยบังเกิดขึ้นแก่ตน กลับทราบคุณของพระศาสดา ได้ตั้งจิตไว้ว่า เมื่อพ้นจากทุกข์ภัยก็จะบรรพชา ด้วยความคิดดีนั้นจึงพ้นจากมรณภัยด้วย ได้บวชแล้วดำรงในมรรคผลอันเลิศด้วย"

พอดีพระศาสดาเสด็จมาได้ยินเข้า ทราบเรื่องแล้วจึงตรัสว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่แต่เพียงบุตรของอุตตรเศรษฐีเท่านั้น ที่เกิดภัยแล้วตั้งจิตไว้ว่า เราจะพ้นทุกข์นี้ ก็ด้วยความคิดดีอย่างนี้ แม้บัณฑิตในอดีตกาล ก็พ้นจากทุกข์คือมรณภัยได้แล้ว ด้วยอุบายความคิดดีเช่นนี้เหมือนกัน"
แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า


ในอดีตกาล มีนายพรานนกกระจาบคนหนึ่ง ล่าจับนกกระจาบเป็นอันมากมาจากป่า แล้วขังกรงไว้ที่ในเรือนของตน เมื่อคนทั้งหลายพากันมาซื้อ เขาก็จะขายนกกระจาบเหล่านั้นไป เขาเลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยวิธีการอย่างนี้

แต่ในกรงนั้น....มีนกกระจาบอยู่ตัวหนึ่งคิดขึ้นมาว่า
"ถ้าเรากินข้าวและน้ำ ที่พรานนี้เลี้ยงดูไว้จนอ้วนพี สักวันพรานนี้ก็คงจับเราขายแก่คนที่มาซื้อ แต่ถ้าเราอดอาหารไม่ยอมกินเล่า ก็คงผ่ายผอม เวลาคนซื้อมาเห็นเราซูบเซียวผอมโซ ก็จะไม่ซื้อเราแน่ๆ ความปลอดภัยจะมีแก่เราด้วยอุบายอย่างนี้"

คิดอย่างดีดังนี้แล้ว ก็ตั้งจิตตั้งใจกระทำตามนั้น จึงค่อยๆผอมซูบลงเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก พวกคนซื้อพอมาเห็นแล้ว ก็ไม่มีใครอยากแตะต้องเลย

นายพรานเมื่อขายนกกระจาบทั้งหมดไปแล้ว เว้นไว้แต่นกกระจาบผอมเพียงตัวเดียว จึงจับนกผอมนั้นออกมาจากกรง นำไปตรวจตราดูในที่สว่างตาใกล้ประตู โดยวางนกนั้นไว้ที่ฝ่ามือ ด้วยหมายใจจะดูว่า

"นกกระจาบผอมตัวนี้เจ็บป่วยเป็นอย่างไร"
ขณะโอกาสดีนั้นเอง นกกระจาบที่แลดูเซื่องซึมไร้เรี่ยวแรงตัวนั้น รู้ทันทีว่า
"นายพรานเผลอแล้ว"

จึงกางปีกออกกระพือบินหนีสุดกำลัง มุ่งหน้าตรงเข้าสู่ป่าอย่างรวดเร็ว นายพรานได้แต่ตกตะลึงมองอยู่ที่ตรงนั้นเอง

กลับคืนสู่ถิ่นเดิมแล้ว เหล่านกทั้งหลายในป่าพอได้พบเห็นนกกระจาบตัวนั้น ก็พากันทักถามว่า
"โอ้โฮ....ทำไมท่านช่างผ่ายผอมปานนี้ เป็นอย่างไรไปเล่าจึงไม่พบท่านเลย ท่านไปอยู่ที่ไหนมา"
นกกระจาบจึงตอบว่า
"เราถูกนายพรานนกจับตัวไป เป็นเวลาเนิ่นนานทีเดียว"
นกทั้งหลายทั้งตกใจทั้งตื่นเต้น ต่างซักไซ้ว่า
"ท่านทำยังไงเล่า ถึงรอดกลับมาได้"

"เราไม่กินอาหารที่เขาให้ ไม่ดื่มน้ำ จึงรอดตายมาได้ด้วยคิดถึงกุศโลบายนี้ ฉะนั้นหากใครเมื่อไม่คิดดี ก็ย่อมไม่ได้ผลดีวิเศษแน่ ท่านจงดูผลแห่งอุบายที่เราคิดนี้เถิด เราพ้นจากการถูกฆ่า ถูกจองจำ ก็ด้วยอุบายอันเป็นกุศลนี้เอง"


พระศาสดาทรงแสดงชาดกนี้จบแล้ว ก็ตรัสว่า
"นกกระจาบผู้รอดพ้นภัยในครั้งนั้น ได้มาเป็นเราตถาคตนี่เอง"

ณวมพุทธ
พุธ ๒๓ ก.ค. ๒๕๔๐
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๑๑๘
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๖ หน้า ๔๔๕)