น่ารู้จัก
บุสดี
เผ่าพงษ์
บุสดี เผ่าพงษ์ พำนักปฏิบัติธรรมอยู่ที่ชุมชนสันติอโศก บนถนนนวมินทร์
แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ แต่เดิมชื่อถนนสุขาภิบาล ๑ รถเมล์ที่ผ่านคือ
๗๑ ๙๕ ๙๖ ๑๑๕ ๑๕๐ ปอ๕๑๒ ปอ๕๒๐
บุสดี บอกเราว่า
"ชีวิตบุสอยู่แต่วัด" เพราะฉะนั้น
"บุสจะทุกข์ยังไง ต้องอยู่ให้ได้ เพราะบุสเลือกทางนี้แล้ว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ไม่คิดออกจากวัด"
ปัจจุบันอายุ ๓๔
ปี เข้าวัดเข้าวาตั้งแต่เพิ่ง จะเรียนอยู่ชั้นประถม ๕ พอเรียนจบ ม.๕
แล้ว สอบเทียบ ม.๖ ได้ ก็มาอยู่วัดเลย ขณะที่อายุเพียง ๑๗ ปี เป็น
๑๗ ปีที่ต้องต่อสู้สาหัสสากรรจ์ทีเดียว ลองติดตาม ประสบการณ์ชีวิต
ของเธอดูเถอะ
บุสต้องอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบมาตลอด
บุสชอบอยู่ วัด แต่ไม่ชอบงานที่ทำ เพราะบุสเกลียดคณิตศาสตร์ เกลียดการค้าขาย
ตอนเรียนมัธยม มีวิชาเลือก อุตส่าห์ไม่เลือกเรียนการงานพื้นฐานอาชีพพาณิชย์นะ
ศิลปะเต็ม บุสทนเรียนคหกรรม แต่มาอยู่วัด ต้องมาเจอกับตัวเลข สุดท้าย
บุสต้องมาเรียนบัญชีอีก ไม่ชอบ แต่บุสรู้ว่า เรามาอย่างนี้แล้ว เพราะฉะนั้น
เราทำให้ดีที่สุด คิดว่าสิ่งใดที่เราไม่ชอบ มันก็ต้องมาเจออีก สู้อดทน
และฝึกใจให้หายไม่ชอบไปเลยดีกว่า จะได้ไม่ต้องไม่ชอบอีก เลยกลายเป็นเรื่องดี
ที่ทำให้ ได้ฝึกอดทน ฝืนใจข่มใจได้เก่งขึ้น เวลาพบปัญหา ได้สอนใจตัวเอง
เข้าใจถึงคำที่พ่อท่านสอนว่า "การทำงาน คือการปฏิบัติธรรม"
บางทีบุสต้องไปยืนทำใจอยู่หน้าห้อง บอกตัวเอง "สู้ตายวันนี้"
แล้วไขประตู เข้าไปในห้องทำงาน
งานของเธอก็คืองานการเงิน
นอกจากบุสแล้ว มีพี่ๆ
ทำงานด้วยกันอีก ๓ คน แบ่งกันดูแลการเงินแต่ละองค์กร เช่น ร้านอาหารมังสวิรัติ
๒ ร้าน ของสมาคมผู้ปฏิบัติธรรม ธรรมทัศน์สมาคม มูลนิธิธรรมสันติ กองบุญสวัสดิการ
ฯลฯ เฉพาะงาน การเงิน ก็เยอะอยู่แล้ว ยังถูกเรียกไปช่วยงานอื่นๆ อีก
อย่างพี่วะ (วนิดา วงศ์พิวัฒน์) ก็ไปช่วย ขายคูปอง ที่ร้านมังสวิรัติ
จตุจักร วันเสาร์-อาทิตย์ คุณปะแดง (ศิริพร วิภาษา) พี่เล็ก (ทรายฟ้า
จารุชัยมนตรี) บุสดูแลการเงิน ของมูลนิธิธรรมสันติ เกี่ยวกับค่าใช้จ่าย
ทั่วไปภายในพุทธสถาน และ การพิมพ์หนังสือ เผยแพร่ธรรมะ การเงินของบริษัทขอบคุณ
และสาธารณโภคี (เงินกองกลาง ที่ทุกหน่วยงาน ให้มารวมกัน สำหรับ ใช้ในกิจการส่วนรวมของชุมชน
นอกเหนือจากเงินหมุนเวียน ในแต่ละบริษัท) ส่วนงานบริการอื่นๆ ก็ช่วยกันทำ
เช่น การติดต่อประสานงาน ระหว่างพุทธสถาน ตลอดจน บริการการเงิน ให้พุทธสถานอื่นๆ
ด้วย
ใครจะฝากเอกสาร
ฝากข้าวของสิ่งใดไปให้ใคร ที่ชุมชนชาวอโศกแห่งใด ก็ฝากที่ฝ่ายการเงินนี่แหละ
ชุมชนต่างจังหวัด จะฝากซื้ออะไรในกรุงเทพฯ ก็ฝากที่ฝ่ายการเงินนี่เหมือนกัน
ใครมีเงินเหลือใช้ ก็เอามา บริจาค หรือหากยังไม่พร้อมจะบริจาคก็ ฝากเข้ากองบุญสวัสดิการ
เพื่อให้ชุมชนต่างๆ ในเครือข่าย ชาวอโศก มาขอยืมไปใช้ได้เวลาจำเป็น
โดยเจ้าของเงิน ไม่ได้รับดอกเบี้ย แต่จะมีดอกบุญ เงินที่ยืมไป จึงไม่เรียกว่าเงินกู้
แต่เรียกว่าเงินเกื้อ พูดแค่นี้ คงจะพอจินตนาการ ได้ถึงภาพงานต่อเนื่องจิปาถะ
ที่ไม่มี วันจบสิ้น แต่ที่จริงมีอะไร จุกจิกกว่านี้อีกเยอะ อันไม่อาจ
พรรณนาได้หมด ทำงานฟรีนี่แหละ งานมาก สาหัสกว่า งานที่ทำแลกเงินเดือนเสียอีก
แรกๆ ที่มาอยู่วัด
บุสดีช่วยงานด้านหนังสือและช่วยทำอาหารมังสวิรัติ ส่งไปจำหน่าย ที่ชมรมมังสวิรัติ
แห่งประเทศไทย ที่จตุจักร ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เธอบอกว่ามีความสุขที่สุด
แต่เสพสุขอยู่ได้ไม่นาน ก็ต้องเปลี่ยน มาทำงานที่ต้องรับผิดชอบ ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ท่านถิรจิตโตมาบอกให้ไปช่วยคุณฉันทนา
สุขสังกิจ ขายเทปขายหนังสือ ตอนนั้นท่านบอกว่า
ถ้าหาคนได้ จะให้ไปเปลี่ยน นี่ ๑๗ ปีแล้วยังหาคนเปลี่ยนไม่ได้เลย
แต่ก่อนองค์กรของเรายังเป็นองค์กรเล็กๆ
งานก็ยังไม่มาก บุสไปแบบไม่เคยงานอะไรเลย พี่ฉันท์ก็ให้เป็น ลูกมือ
บุสร้องไห้เกือบทุกวันเลย เพราะว่าพี่ฉันท์จะสอนแบบคนโบราณ "นี่บ้านเธออยู่กันแบบ
ไม่กวาด หรือไง" จริงๆ บุสจะเสียนิสัยมากเลยนะ ถ้าไม่ได้มารู้จักวัด
เพราะอยู่บ้านนี่ แม่จะบริการตลอด ทำกับข้าว ไว้ให้ ผลไม้ถ้าไม่ปอก
ลูกไม่มีใครกิน ทิ้งไว้งั้นแหละ ต้องปอกใส่ตู้เย็นไว้ แม่นี่สนับสนุนลูก
เรื่องเรียนมาก ถ้าพูดเรื่องเรียน ถึงไหนถึงกัน แม่ทำให้หมด ช่วงสอบแม่รับเหมาซักผ้าให้หมด
ปกติลูกมีหน้าที่อย่างเดียว คือซักผ้ารีดผ้าของตัวเอง รับผิดชอบเรื่องเรียนของตัวเอง
พอเรามาอยู่วัด ก็เลยไม่ค่อยชิน
พอพี่ฉันท์ถามว่ากวาดบ้านไม่เป็นเหรอ
ก็เลยต้องกวาด พอกวาดเสร็จ "บ้านเธอกวาดอย่างนี้เหรอ" "เธอถูบ้าน
อย่างนี้เหรอ" แล้วก็ถูกยึดเครื่องคิดเลข "มันต้องพัฒนาสมอง"
ยื่นลูกคิดให้ "ทำไมเรียนช้าจัง ฉันน่ะ ๑๐ นาทีก็เป็นแล้ว เธอน่ะครึ่งชั่วโมง"
กระดาษใช้แล้ว เราก็ขยำลงถังขยะ "กระดาษนี่ เวลาจะทิ้ง ให้ทิ้งเป็นแผ่นๆ
ไม่ใช่ขยี้ขยำให้สมอารมณ์หมาย เผื่อเอกสารเสียหายอะไร จะได้หยิบขึ้นมาดูได้"
แล้วเขาก็บอกว่า
เราทำงานตรงนี้น่ะเหมือนแม่บ้าน (สมัยนั้นเรียกกันว่าห้องเทป มีการจำหน่ายหนังสือ
และ เทปธรรมะด้วย ปัจจุบันแยกส่วนที่จำหน่ายหนังสือและสื่ออื่นๆ ออกไปเรียกว่า
ห้องสื่อธรรมะ และเรียก ฝ่ายที่รับผิดชอบการเงินว่า ห้องกองบุญ) ต้องตรวจตราดูแลเอาใจใส่
ตอนนั้น พวกเราดูวิดีโอ กันแล้ว บุสก็อายุ ๑๗ เอง ถึงเวลา ๖ โมงเย็น
คนอื่นเขาก็ไปนั่งดูวิดีโอกัน งานบุส ที่มอบหมายให้ ก็เสร็จแล้ว บุสก็เดินไป
"ฉันนี่นะทำงานนี่ ก็มีความรับผิดชอบนะ แต่ถ้าเพื่อนร่วมงานยังไม่เสร็จ
ฉันก็จะ ไม่ไปหาความสุขส่วนตัว" ที่ก้าวขาออกไปแล้ว ก็ต้องเดินกลับมา
พี่ฉันท์เป็นคนเห็นใจคนอื่น
มีใจอยากจะช่วยคนโน้นคนนี้ แล้วก็คงเห็นเราเป็นเด็กวัยรุ่น ไม่อยากให้ฟุ้งซ่าน
ใครให้ทำงานอะไร รับมาหมด แล้วมาโยนให้บุสทำ แล้วก็จะสอน ตอนนั้น หนังสือมันเยอะ
เราก็จัดอยู่ คนเดียว พี่ฉันท์ก็ว่าเราไม่รู้จักเรียกคนมาช่วย "เธอทำงาน
เธอต้องใช้สมอง เธอต้องจัดการเป็น" พี่เขาจะบอก อยู่ตลอดเลยนะว่า
"เรามีหน้าที่อยู่ตรงนี้ เราจะอภิสิทธิ์ไม่ได้ อย่างมีคนเอาของ
มาบริจาค ไม่ใช่ เราเลือกก่อนนะ เราต้องให้คนอื่นก่อน ของไม่ใช่ของของเรา
เราเป็นเพียงแค่ คนทำงานเท่านั้น แม้เล็กแม้น้อย ต้องขออนุญาต"
เช่น เมื่อก่อนมีคนเอาแปรงสีฟันมาบริจาค เราให้คนอื่นได้ แต่ถ้าเรา
จะเอาเอง ต้องรอพี่ฉันท์นะ ถ้าอยู่กันสองคน เราต้องขออนุญาตพี่ฉันท์
ไม่ใช่หยิบเอง โดยพลการ เรามีสิทธิ์ อนุญาตคนอื่นได้ แต่เราไม่มีสิทธิ์อนุญาตให้ตัวเอง
พี่ฉันท์จะหยิบอะไร ใช้อะไรในห้อง ก็บอกบุส เหมือนกัน เรื่องความซื่อสัตย์
พี่ฉันท์จะดีมาก ประหยัด เอาใจใส่ดูแลรักษาข้าวของ แล้วก็มีใจช่วยเหลือ
พี่ฉันท์จะสอนให้รับผิดชอบ และเอาภาระ
เรื่องความประหยัดอย่างมาก
ของคุณฉันทนานี่เป็นที่รู้ซึ้งแก่ใจชาวชุมชนสันติอโศกเป็นอย่างดี และ
แน่นอน ที่คุณฉันทนาจะต้องประสบปัญหา ในการทำงาน ได้รับคำตำหนิต่างๆ
นานา แต่เธอ ก็ไม่ท้อ ตั้งใจทำงาน ด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง ต่อเนื่องมาหลายปี
พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ยังเอ่ยปากชมว่า "เหนียว" ไม่ว่าจะมีอุปสรรคอะไร
ก็ยังมั่นคง บุสดีจึงบอกว่า "พี่ฉันท์ฝึกให้บุสมีความอดทน อดกลั้น
ทำให้เรา ได้ฝึกฝนจิตใจเรา"
เราจะไม่ค่อยได้ซื้อของใช้
แต่เราจะใช้ดัดแปลงเอา พี่ฉันท์ไม่ยอมอนุมัติซื้ออะไรง่ายๆ เพราะฉะนั้น
ขาดเหลืออะไร บุสต้องพยายามดัดแปลง กล่องที่ใช้ห่อเทปหมด บุสก็ต้องไปบริษัทฟ้าอภัย
บริษัทพลังบุญ ไปหาเศษลัง ที่หนาหน่อย มาตัดให้ได้รูป เตรียมไว้ เวลาจะใช้จะได้มีใช้
ทำให้เราฝึกคิดดัดแปลง หลายอย่าง แล้วการที่เราต้องเรียนรู้หลายอย่าง
ก็เป็นประสบการณ์ของเรา มีคนเห็นบุส ใช้ลูกคิด คล่องมาก ยังนึกว่าเป็นลูก
คนจีน
ไม่อยากอยู่เลย
ไม่ชอบห้องเทป บุสร้องไห้เป็นปีเลย ไปปรึกษาสิกขมาตุมาลินี ท่านบอกว่า
ไปบอก ท่านถิรจิตโตสิว่า ดิฉันแพ้ผัสสะ ทนไม่ได้แล้ว พูดอย่างนี้ก็มานะขึ้นสิ
อยู่ต่อ แล้วก็สงสาร พี่ฉันท์ด้วย เพราะรู้ว่า พี่เขาป่วยเป็นไวรัส
พอพี่ฉันท์เกษียณตัวเองเมื่อปี
๓๖ เพราะสุขภาพไม่ดีแล้ว พี่เขายังมาบอกเลยว่า บุสเป็น คนเดียว ที่ทนเขาได้
หนังเหนียวที่สุด เวลาเดินทาง ไปไหน บุสไม่เคยได้ที่นั่งนะ ไปงานพุทธาภิเษก
งานปลุกเสกฯ ประมาณ ๕ ปีที่บุสต้องนอนบน พื้นรถไป บุสทนได้เพราะพี่ฉันท์ทำให้ดูก่อน
ตอนบุสมาอยู่วัดครั้งแรก แล้วพ่อท่าน พาพวกเราไป นมัสการหลวงปู่พุทธทาส
บุสตั้งใจมาอยู่วัดแล้ว ไม่มีเงินแล้ว ออกจากบ้าน มีเงินติดตัวมา ๒๐๐
บาท เวลาสิกขมาตุทองพราย (ขณะนั้นยังเป็นคนวัด ยังไม่ได้บวช) ทำอาหาร
ถวายพ่อท่าน ขาดต้นหอม ขาดพริก ขาดอะไร บุสก็เอาเงินนั่นแหละซื้อ มัน
ก็หมดไป พอบุสอยากไปงานนี้ แต่ไม่มีค่ารถ บุสเดินเข้าไปบอกพี่ฉันท์เฉยๆ
เลยว่า หนูตั้งใจมาอยู่วัดแล้ว แต่หนูเพิ่งมาเป็นคนวัด หนูไม่มีเงินจ่าย
ค่ารถ พี่ฉันท์บอกมีที่นั่งให้ บุสมารู้ทีหลังว่า พี่เขาเอาที่นั่งตัวเองให้บุส
แล้วตัวเอง นอนไป บนพื้นรถ บุสเลยไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าพี่ฉันท์จะให้นอนพื้นรถไป
เพราะพี่เขาทำให้เราดู สำนึกมันมีว่า พี่เขาเคยทำอย่างนี้ให้เรา เพราะฉะนั้นเราทนได้
พอมารู้ทีหลังแล้ว เลยไม่มี ความน้อยเนื้อ ต่ำใจอะไร
กาลเวลามันเปลี่ยนไป
บุสทำอย่างพี่ฉันท์ไม่ได้หรอก สมัยก่อน บุสต้องขี่จักรยานเอาหนังสือ
ไปส่ง ที่ไปรษณีย์ วันละสองสามเที่ยวเพื่อ จะประหยัดค่าน้ำมันรถ เวลาไปเสียภาษี
ไปติดต่อราชการ ขี่จักรยาน ไปถึงบางกะปิ บุสถูกพี่ฉันท์ฝึกให้ประหยัด
สิ่งเหล่านี้บางทีเราก็บอกคนอื่นไม่ได้ เขามีงานมาก แล้วเขา ก็เลือก
ที่จะไม่ทำก็ได้ เดี๋ยวนี้พวกเรามักจะใช้เงินในการซื้อเวลา เพื่อไม่ให้ยุ่งยาก
ไม่ลำบาก พอเรา พูดขึ้นมา ก็ว่าเราขี้เหนียว
สมัยนี้ทำงานยากกว่า
คนสมัยนี้เปราะบางมากกว่ายุคก่อนๆ เรียกร้องเยอะ บุสเจอบ่อย เจอคำพูด
ที่พูดกับเรา ในแง่ที่ไม่ค่อยดี เป็นภาพลบ เราทำงานการเงิน คนที่เขามา
แล้วเขาได้ เขาก็พอใจไป ถ้าไม่ได้ เขาก็ไม่พอใจ เราก็ว่าเรามีเหตุผล
มีข้อมูล แต่ความคิดของเราไม่ตรงกับคนที่มาเบิกเงิน เราต้อง เป็นฝ่าย
จัดซื้อ เป็นธนาคาร เป็นอะไรหลายๆ อย่าง ทุกคนสั่งซื้อของ ต้องรีบ
ด่วน เร่ง เราก็ต้องพยายาม หาสิ่ง ที่ดีที่สุด เขาไม่เห็นด้วย ไม่เข้าใจ
ก็เอาเราไปเที่ยวพูด คนที่ได้เงินไป แต่พอถูกตามทวง ใบเสร็จ รับเงิน
ก็ไม่ชอบใจอีก บุสก็ถือว่าเราต้องทำใจ หรือแม้แต่ความไม่ไว้วางใจในตัวบุส
ซึ่งบุสถือว่า เราไม่มีจิต คิดอยากจะได้ รู้แต่ว่ามันเป็นภาระหนักที่เราต้องรับผิดชอบ
ทีนี้เราไม่ใช่คนที่บรรลุธรรม
งานที่เข้ามามาก เราก็ต้องใช้กำลังทั้งวันอยู่แล้ว ยอมรับเลยนะว่า
บ่อยครั้ง ที่เราอาจจะห้วน สั้น ตัด ตรงนี้บางทีก็ทำให้เขาเสียความรู้สึก
เป็นเรื่องยากที่จะทำตามกฎเกณฑ์โดยไม่มีการเสียความรู้สึก
มันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ บางครั้ง บุสก็ยอมนอกกฎเกณฑ์ เพื่อรักษาจิตวิญญาณ
เรื่องนี้ยากมาก เวลาทำงาน ประมาณลำบาก เราก็ยัง อายุน้อย แต่งานที่รับผิดชอบ
ทำให้ถูกมองว่ามีอำนาจ ใหญ่ บางคนถึงขนาดมองว่าบุสเป็นเจ้าแม่
เราอยู่กับการเงิน
เรารู้ว่าค่าใช้จ่ายต้องจ่ายไปยังไง เราต้องประคับประคองให้เงินพอใช้
บริหารเงิน ให้ประโยชน์สูง ประโยชน์สุด ตามความสามารถ ตามสติปัญญาที่เรามี
ขณะที่มีคนว่า บุสจ่ายเงินยาก ผู้บริจาคบางคน ยังเอ่ยปากเลยว่า พวกเราฟุ่มเฟือย
บุสน่ะเป็นตัวกลาง ต้องโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง
ผู้สัมภาษณ์เองยังเคยไม่พอใจเวลาที่ไม่ได้รับความสะดวกอย่างที่ต้องการ
แล้วก็เคยรู้สึกขยาด ที่จะเข้าไป เบิกเงิน กับบุสดี ยอมรับว่ามันเป็นกิเลส
เพราะว่าจากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา ก็รู้อยู่ว่า การที่ต้อง รับผิดชอบ
การเงินนั้น เป็นเรื่องละเอียด และยุ่งยากเพียงใด ไม่ใช่บริการคน แค่สิบยี่สิบคน
แต่บริการ คนเป็นร้อย รวมทั้งผู้ที่บริจาคด้วยแล้ว เป็นพันคนก็ว่าได้
ถึงอย่างไรก็ไม่เคยโกรธเธอ
แล้วก็ต้องชื่นชมยกย่องเสียด้วยซ้ำ เมื่อนึกถึงว่า เธอต้องแบกภาระใหญ่โต
ตั้งแต่ วัยกระเตาะ
บุสเริ่มปฏิบัติธรรมตั้งแต่อยู่
ป.๕ สิกขมาตุ มาลินีท่านสนใจปฏิบัติธรรมตอนท่านเรียน ม.ศ.๔-๕ สิกขมาตุ
มาอยู่กับบุส พ่อบุสเป็นน้องแม่สิกขมาตุ พอท่านสอบติดนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
แล้ว ตอนนั้นบุสเรียนอยู่ ป.๕ สิกขมาตุ ย้ายไปอยู่หอพัก บุสก็เอาหนังสือที่สิกขมาตุทิ้งไว้มาอ่าน
เปิดอ่านแสงสูญ ฉบับแมลงปอเอ๋ย บุสจำได้ หนังสือเล่มแรกที่เปิดอ่าน
คือแมลงปอเอ๋ย มีเรื่องสั้น เรื่องแม่ปลาช่อน พออ่านดู สงสารมากเลย
อู๊ย กินไม่ได้แล้ว ปลาเนี่ย ที่จริงบุสไม่ชอบกินเนื้อสัตว์ มาแต่เล็กแล้ว
ตอนที่พ่อเสียชีวิต น้องชาย ยังไม่คลอด หลังจากงานศพพ่อเสร็จแล้ว ๑๐
วัน น้องชายก็คลอด ป้า, แม่ของสิกขมาตุมาลินี ก็เลย เอาบุส ไปเลี้ยงอยู่ที่ศรีสะเกษ
ตอนนั้นบุส ๒ ขวบเอง พี่อัจก็ไปอยู่ด้วยช่วงหนึ่ง
บุสเกิดคำถามในหัวใจมาตั้งแต่เด็กแล้วว่า
คนเราไม่กินเนื้อสัตว์แล้วอยู่ได้ไหม เพราะบุสเป็นคน ไม่ชอบกิน เนื้อสัตว์
มาตั้งแต่เด็ก แต่ถูกป้าบังคับให้กินตลอดเลย กินข้าวไปร้องไห้ไป ไม่อยากกิน
บุสกินแต่ไข่ ป้าก็ว่า เดี๋ยวจะไม่แข็งแรง เดี๋ยวแม่จะว่า ป้าเลี้ยงหลานไม่ดี
บุสก็แอบทิ้งถังขยะบ้าง ป้าต้องรบกับบุส เรื่องเนื้อสัตว์ เป็นประจำ
แต่ป้าไม่ตี ป้าเลี้ยงหลานไม่ตี พอบุสเจออันนี้ ก็นี่ไง มีคนที่เขา
ไม่กินเนื้อสัตว์ บุสได้พวกแล้ว เลยบอกแม่ว่า บุสไม่กินเนื้อสัตว์แล้ว
เนื้อเรื่องในแม่ปลาช่อน
คือ ลูกปลาช่อนเขาบอกว่า บึงที่ฉันอยู่มันกว้างใหญ่ มีแม่คอยดูแล ต่อมา
ก็พาย้ายถิ่นฐาน เพราะบึงมันตื้นเขิน ทีนี้คืนหนึ่ง ก็มีแสงไฟส่องมาที่ลำตัวแม่ฉัน
แล้วก็มีฉมวก มาแทง แม่ฉันตาย ลูกปลาช่อนก็บอกว่า เอาแม่ฉันไปไหน แม่ฉันทำผิดอะไร
เขาก็เล่าความรู้สึก ของลูก ปลาช่อนว่า ท่านผู้เจริญ ท่านเป็นผู้เจริญแล้ว
ท่านก็ยังมาเอาชีวิตของพวกเราอีก ทั้งที่พวกเรา ก็ไม่ได้ เบียดเบียนท่าน
พออ่านแล้วสงสารมากเลย คิดไว้ว่าไม่กินปลา พอไม่กินปลาแล้ว อย่างอื่น
ก็เป็นเนื้อสัตว์ เหมือนกัน ก็เลยบอกแม่ว่า บุสไม่กินเนื้อสัตว์แล้ว
สงสาร กินไม่ได้ แม่ก็ว่า ไม่กินก็ตามใจ แล้วบุสทำ กับข้าวไม่เป็น
แม่ก็ไม่ทำกับข้าวให้ บุสต้องกินข้าวเปล่า ๓ วัน แม่ว่า มันเอาจริงแฮะ
ก็เลย ต้องทำ กับข้าวให้กิน แม่ก็ต้องยอมทำกับข้าวสองสำรับ ทำไปทำมาแม่เมื่อย
ก็เลยทำมังสวิรัติสำรับเดียว ก็เลยกิน มังสวิรัติทั้งบ้านเลย แต่ถ้าใครอยากจะกินไก่กินอะไร
ก็ไปหาเข้ามาบ้าน บุสไม่มีปัญหา ทำอะไรก็ได้ ขอให้ทำให้กิน
เสร็จแล้วพอสิกขมาตุมาลินี
(ขณะนั้นยังไม่ได้บวช) กลับมาเยี่ยมบ้าน แม่ฟ้องว่า บุสไม่ยอมกิน เนื้อสัตว์
สิกขมาตุเลยมาถาม บุสก็เล่าให้ฟังว่า อ่านเรื่องแม่ปลาช่อน สิกขมาตุก็เลยพามาวัด
พอปิดเทอม ก็พาบุส มาวัด บุสก็ชอบมาก เมื่อไรจะ ปิดเทอม เมื่อไรจะปิดเทอม
ตอนเด็กน่ะบุสแค่มังสวิรัติ
ถือมังสวิรัติไป ก็ได้มาคิดว่า กินมังสวิรัตินี่ไม่ฆ่าสัตว์ เพราะฉะนั้น
เราก็ต้อง ไม่ตบยุงสิ เพราะการตบยุง คือการฆ่าสัตว์เหมือนกัน ก็เลยคิดขึ้นได้ว่า
จะต้องถือศีล ๕ เราก็ไม่โกหก อยู่แล้ว ไม่ลักขโมยอยู่แล้ว เหลือแต่ฆ่าสัตว์
ก็เลยถือศีล ๕
ตอนเรียนอยู่ ม.๑-ม.๓
บุสเลิกกินไข่แล้ว เคยขอแม่มาวัดวันเสาร์-อาทิตย์ แม่บอกว่า ยังเด็กเกินไป
สันติอโศก อยู่ไกล บุสก็อดทน จนกระทั่งเรียน ม.๔ ถึงได้บอกแม่ว่า บุสเรียน
ม.๔ แล้วนะ นั่งรถเมล์ คล่องแล้วนะ บุสดูแลตัวเองได้ ทีนี้มาวัดทุกอาทิตย์เลย
พอไปวัด ก็ยืมเทปมาฟังที่บ้าน แล้วก็เป็น ข้ออ้างด้วย แม่ก็ไม่ได้ห้ามอะไรมากมาย
ก็แค่บอกว่า ไม่ต้องไปหรอกลูก อยู่บ้านเถอะลูก บุสก็บอกว่า ไม่ได้หรอก
บุสยืมเทปมา ต้องเอาไปคืน เดี๋ยวคนอื่นเขาไม่ได้ฟัง เอาเทปบังหน้า
พอมาแล้ว ก็ฝึกไม่ใช้สบู่ ฝึกถือศีล ๘ ทานข้าวมื้อครึ่ง
ตอนแรก กินมังสวิรัติแบบสะเปะสะปะ
ก็เลยป่วย เลยคิดว่า ไม่ได้แล้ว ร่างกายไม่แข็งแรง เอาใหม่ พอวันหยุด
บุสก็ต้มถั่วใส่ตู้เย็นไว้ คั่วถั่วคั่วงาใส่โหลเอาไว้ ตอนเช้า ก็ซื้อเต้าหู้อาทิตย์ละแพ็ค
๑๐ ก้อน ถ้าซื้อ ๑๐ แม่ค้าจะแถมให้หนึ่ง เอาใส่ตู้เย็นไว้ พอตอนเช้า
บุสทำกับข้าวหนึ่งอย่าง รีบไปโรงเรียนแต่เช้า บุสไม่ชอบรถติด ช่วยภารโรง
เปิดประตู ยกเก้าอี้ลง บุสเป็นขวัญใจภารโรงนะ ตอนที่เขา โหวตคะแนน
นักเรียนความประพฤติดี ภารโรงเทคะแนนให้บุสเป็นแถวเลย นักเรียนโหวตด้วย
อาจารย์ด้วย บุสได้เป็น นักเรียนดีเด่นน่ะ ปีไหนไม่รู้ จำไม่ได้แล้ว
นักเรียนห้องบุสน่ะแก่นมาก
แล้วอาจารย์ให้บุสเป็นหัวหน้าชั้น บุสเป็นคนเรียบร้อย พอเขามีงานอะไร
ก็หัวหน้าชั้นไป เวลาประกวดเขียนเรียงความ ประกวดอะไรก็บุสทำทุกที
อ่านทำนองเสนาะก็บุส อาจารย์ บอกเสียงดี (มาอยู่วัด สมณะก็เคยเรียกไปอ่านธรรมะ
บันทึกเทปเผยแพร่ด้วยเหมือนกัน)
ที่วัด บุสช่วยสิกขมาตุทำงานด้านหนังสือ
ตอบจดหมายเด็กในหนังสือดอกบัวน้อยบ้าง ช่วยแต่งกลอนบ้าง ช่วยเรียงพิมพ์บ้าง
ช่วยเก็บเล่ม ตอนนั้นสิกขมาตุเป็นคนวัดแล้ว บุสช่วยท่านเตรียมเครื่องปรุง
ทำขนมจีน ทำสลัด ส่งชมร.จตุจักร บุสต้องคั่วถั่วทอง คั่วถั่วลิสง ซอยหอม
เจียวหอม หั่นมันฝรั่งทอด ทำน้ำมะขาม ที่จะใส่ ในน้ำพริกขนมจีน คั้นน้ำมะขาม
แล้วใส่น้ำตาลเคี่ยวไว้ สนุกมาก ตอนนั้นน้ำพริกขนมจีน แล้วก็สลัด ขึ้นชื่อเลย
อร่อยมากเลย แล้วก็ตอนเช้า จะต้องต้มน้ำหนุมานประสานกาย ถวายสิกขมาตุ
รินฟ้า ทุกเช้า
บุสไปวัดทุกอาทิตย์
ตอนแรก วันเสาร์จะซักผ้ารีดผ้าของตัวเองให้เรียบร้อย พอเที่ยงๆ บ่ายๆ
นั่งรถเมล์ มาวัด วันอาทิตย์กลับ หอบเอางานวัดกลับมาทำที่บ้านอีกด้วย
ตอนนั้นท่านสรณีโย เอาชาดกให้บุสย่อ บุสจะรีบ ทำการบ้านของตัวเอง ให้จบในแต่ละวัน
เสร็จแล้วก็บอกแม่ว่า แม่ ไหน ๆ บุสก็ต้องไปวัด ทุกอาทิตย์อยู่แล้ว
โรงเรียนก็อยู่ครึ่งทางแล้ว วันศุกร์บุสไม่กลับบ้านเลยนะ หิ้วกระเป๋ามาวัดเลย
ข้ามฝั่ง เจ้าพระยา มานั่งรถเมล์สาย ๖๐ สุดสาย เดินเข้าวัด พี่เล็กลักขณา
(ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ยังแซวบุสเลย ว่าฉันเห็นนักเรียนคนนี้มาเป็นปีๆ
เลยนะ บุสหิ้วกระเป๋ามา ก็จะเจอ พี่เล็กลักขณา ปอกเห็ด อยู่หน้าประตู
ตึกขาว (ที่พักคนวัดหญิง) ประจำ
พอจบ ม.๕ ก็สอบเทียบ
ม.๖ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ เพื่อจะได้มีสิทธิ์สอบเข้ามหาวิทยาลัย บุสตั้งใจสอบ
เพื่อดูข้อสอบเท่านั้น ไม่ได้คิดจะเข้ามหาวิทยาลัยปีนั้นหรอก คิดว่าจะไปเรียน
ม.๖ ต่อ ช่วงสอบเทียบ บุสก็ห่างวัด รู้สึกว่ากินอยู่หลับนอน ไม่ค่อยควบคุม
มีความรู้สึกว่าเราแย่ เราเป็นคนไม่ดี
สอบเทียบได้แล้ว
บุสก็เลยมาอยู่วัด มีความสุขมาก ชีวิตไม่มีความทุกข์เลยนะ ทำงาน คุยกับพระบ้าง
ช่วยสิกขมาตุ ทำงานเหมือนเดิม อยู่วัดได้ ๒-๓ เดือน แม่ก็มาตาม อาจารย์ที่ปรึกษา
เพื่อนมาตาม เพราะบุส ยังไม่ได้ลาออกจากโรงเรียน แม่เรียกกลับไปบ้าน
ให้ไปลาออก ทำให้มันถูกต้อง พอไปถึง ทั้งอาจารย์ ทั้งเพื่อน มารอกันตรึมเลย
ทั้งพ่อแม่เพื่อนด้วย พากันมาลุ้น จะให้เรียนต่อ บุส บอกว่า บุสทำผิดระเบียบ
ของโรงเรียนนะ ไม่ได้เข้าเรียนตั้ง ๓ เดือนแล้ว แล้วก็ตัดผมสั้นด้วย
สั้นเกินไป อาจารย์ก็ว่า "ไม่เป็นไร ถือเป็นกรณีพิเศษ" บุสก็ฟัง
อาจารย์บอก "บุสดีกลับมาเรียนเถอะ เธอเรียนดี เธอเป็นความหวังของครูนะ
ครูตั้งใจว่า ม.๖ นี้ ครูจะส่งเธอไปแข่งขันตอบปัญหาด้วย" บุสฟังแล้ว
ก็ยืนยันว่า หนูขอลาออก
ทีนี้แม่ขอร้องให้เรียนต่อ
บุสก็เลยรับปากจะเรียนรามฯ ไปซื้อใบสมัครมาแล้ว พอมาถึงวัด ฟังเทศน์
ฟังธรรมเสร็จ อยากเรียน แต่ถ้าอยู่วัด ก็คือไม่ได้เรียน ถ้าจะเรียนก็ไม่ได้อยู่วัด
ช่วงนั้น มีเด็กสองคน มีบุส กับ พี่อีกคนหนึ่ง บุสก็เลยยก ใบสมัครให้พี่เขาไป
บุสไม่เรียนแล้ว อยากอยู่วัดมากกว่า อยากช่วยงาน พ่อท่าน
แม่ก็ร้องห่มร้องไห้มาที่วัด
บอกว่าทำไมถึงทำให้แม่ผิดหวัง บุสไม่เคยทำให้แม่ผิดหวังเลย บุสก็เลย
เอาอย่างนี้ บุสขออยู่วัดปีนึง ถ้าไปไม่ไหว จะออกไปเรียนต่อ บุสขออ่านหนังสือที่วัดนี่แหละ
ถ้าเอ็นทรานซ์ติด บุสจะออกไปเรียน แต่สอบไม่ติด เพราะอ่านหนังสือน้อย
ช่วงหลังนี้ ภาระการงานของชุมชนกว้างขวางสัมพันธ์กับสังคมมากขึ้น
จึงผ่อนปรนให้คนวัด ศึกษา เพิ่มเติมได้ ในทุกระดับการศึกษา ในสถาบันการศึกษา
ที่จัดการศึกษาระบบเปิด ผู้เรียนไม่ต้องไป เข้าชั้นเรียน ทุกวัน และบุสดี
เผ่าพงษ์ ก็เรียนจบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชแล้ว
อีกทั้งยังกำลังเรียนบัญชี อีกปริญญาหนึ่งด้วย เพื่อนำความรู้ มาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่
ในชุมชนนั่นเอง สอดคล้องกับ ความต้องการของพ่อแม่ ที่ชอบให้ลูกเรียนหนังสือ
แม่เต็มใจสนับสนุน ให้บุสเรียน ให้ใช้ทุน ทางบ้าน เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระของส่วนกลาง
จะได้มีเงินเหลือให้คนวัดคนอื่นๆ ได้เรียนมากขึ้น
พ่อบุสเป็นครูใหญ่
แม่เล่าว่า พ่อจัดอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียนด้วย บุสไม่รู้ว่า ได้งบประมาณ
จากไหน หรือเปล่า รู้แต่ว่าพ่อควักกระเป๋าตัวเองจ่ายด้วย โรงเรียนพ่อได้งบสร้างอาคาร
พ่อขึ้นไปตรวจงาน กับครูน้อย ขึ้นไปแล้ว ตกนั่งร้านลงมา ครูน้อยคนนั้น
ต้องให้เลือดตั้งเยอะ แต่เขาไม่เป็นไร ตอนแรก พ่อไม่เป็นไร ไม่กี่วันก็ไปโรงเรียน
หลังจากนั้น ๓ เดือนก็เสียชีวิต ก่อนนี้ พ่อเคยสั่งไว้ว่า ลูกผู้หญิง
ให้เรียน ศึกษานารี พ่อบอกว่า จะยากดีมีจน ต้องให้ลูกจบปริญญา แม่ก็ทำตามที่พ่อสั่งมาตลอด
แล้วแม่ก็ชอบ ไปวัด ชอบนั่งวิปัสสนา แล้วก็พาลูก ๆ ไปปฏิบัติธรรมที่วัดทั่ว
ๆ ไปด้วย
บุสดีเกิดเมื่อวันที่
๒ เมษายน ๒๕๑๒ คุณพ่อเสียชีวิตเมื่อเธออายุเพียง ๒ ขวบ มีพี่น้อง ๓
คน คือ พี่อัจฉรี บุส และบัลลังก์ บุสห่างจากพี่สาว ๙ ปี พี่สาวจบจากวิทยาลัยครูสมเด็จเจ้าพระยา
เป็นครูอยู่ ศึกษานารีวิทยา น้องชาย (บัลลังก์) จบเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กำลังเรียนปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยมหิดล บุสดีเรียนปริญญาตรี ตอนอยู่วัดแล้ว
จบสาขาวิทยาการจัดการ แขนงวิชา บริหารธุรกิจ วิชาเอกการจัดการทั่วไป
ทำงานการเงินชั่วคราวมาได้ ๑๗ ปีแล้ว เข้าใจว่า เธอคงจะ หมดหวังแล้ว
ที่จะหาคนมาทำงานแทนได้ ถ้ายังมีความหวัง ก็ต้องขอบอกว่า "เมื่อมีความหวัง
ความผิดหวัง จะรอคอยเราอยู่"...
(ดอกหญ้า
อันดับที่ ๑๐๘ กรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๔๖)
|