ปัจฉิมลิขิต
- กอง บก. -

ผมได้ไปประชุมสัมมนาผู้สูงอายุระดับจังหวัด มีคนมาร่วมสิบกว่าคน ซึ่งอายุก็ ๖๐ ขึ้นไปแล้ว ผมเข้า ห้องน้ำ แล้วลืมโทรศัพท์ไว้ ในห้องน้ำ ๓๐ นาทีต่อมานึกได้เข้าไปหา ไม่เจอ จึงขอประกาศ ในที่ประชุมว่า ใครเก็บได้ ผมขอคืน ไม่มีใครคืน พอดีเพื่อนมีโทรศัพท์ มา โทรฯเข้าเครื่องผม ยังติดอยู่ เลยออกเดินหากัน ได้ยินเสียงห่างที่ประชุม ๑ เส้น ซึ่งถูกเอาขยะกลบไว้ใต้ต้นไม้ และ อาจารย์อีกคนหนึ่ง ลืมเอาไว้ ในห้องน้ำ เหมือนกัน ก็มีแต่ลูกศิษย์เท่านั้น อาจารย์ถาม ไม่มีใครยอมรับ เลยไม่ได้คืน

มาอ่านดอกหญ้าเรื่องสุขกลางไฟจึงคล้าย ๆ กัน ผมเองเอาบทความในหนังสือ อ่านทำรายการวิทยุชุมชน เช่น ถ้อยคำสิริมงคล และบทความ อื่นๆ ที่สั้น เหมาะแก่การอ่าน ผมทำอย่างนี้เป็นความผิดอะไรหรือไม่
*** คำภา พิลึกเรืองเดช

เพราะเหตุนี้แหละ พระพุทธเจ้าท่านถึงต้องสละทรัพย์สมบัติทั้งหมด มีอะไรเยอะกว่าเขา เขาก็อยากได้บ้าง ถ้าเราทำบุญทำทานมากขึ้น เรื่องแบบนี้คงลดลง ...เพี้ยง... ขอให้ลดลง หรือหมดไป ยิ่งดี การที่ คุณลุงคำภา ช่วยเผยแพร่ เรื่องราวดี ๆ หล่อเลี้ยงจิตใจผู้คน ก็คงจะช่วยได้อีกทางหนึ่งค่ะ อนุโมทนาด้วย นอกจากไม่ผิดแล้ว ยังถูกมากด้วยค่ะ


๑. ผมจะสนับสนุนค่าใช้จ่าย มีวิธีอย่างไร และเท่าไร ที่ไหน (ธนาคาร) เพื่อความสะดวกในการบริจาค
๒. ผมจะสนับสนุนช่วยเหลือ เรื่องอื่น ๆ นอกจากข้อ ๑. ได้ด้วยวิธีไหนอีก ช่วยตอบด้วยครับ
*** เสถียร เม่นบางผึ้ง
ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาเป็นเบื้องต้นที่สำคัญยิ่งค่ะ
ขอตอบข้อสองก่อนนะคะ คือ ที่อยากให้ช่วยมาก ๆ คือ คนทุกข์ คนยากที่ได้พบเห็นน่ะค่ะ อยากมาก ๆ นะคะ ไม่ใช่ให้ช่วยมาก ๆ ขอเพียงช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามกำลัง เพื่อให้ผู้คนได้สัมผัสว่า โลกนี้ ยังมีความรัก ความเมตตา ระหว่างเพื่อนมนุษย์ การเข่นฆ่าเบียดเบียนกันจะได้น้อยลง แล้วที่ทำได้ ง่ายกว่านั้น ก็คือ ฝึกเอาชนะใจตนเองค่ะ เริ่มในโอกาสเข้าพรรษานี้เลยดีไหมคะ

ช่วงนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ อีกหลายหน่วยงาน ร่วมกัน รณรงค์ "งดเหล้าเข้าพรรษา" ถ้าคุณไม่ได้ดื่มเหล้าอยู่แล้ว ก็ช่วยเชิญชวนโน้มน้าวญาติมิตร ให้เข้าร่วม โครงการนี้ กันให้มากๆ ค่ะ บ้านเมือง เราจะได้เหมือนเมืองพุทธมากขึ้นหน่อย

หรือจะร่วมทำสังฆทาน โดยแสดงความจำนง (ปวารณา) ไว้กับมูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน โทร.๐-๒๗๓๓-๕๕๕๐-๔ ว่ายินดีจัดหาสิ่งของที่พระภิกษุสมณะรูปใดก็ได้ (ไม่เจาะจง) ต้องการ โดยที่สิ่งของนั้น ต้องไม่ขัดกับ พระธรรมวินัย คุณสามารถระบุจำนวนเงินและระยะเวลาที่คุณพร้อมจะอุปัฏฐาก (อ่านรายละเอียดได้ ในเรื่องสังฆทาน)

ส่วนข้อหนึ่ง เพื่อให้คุณได้รับอานิสงส์เต็มตามกำลังที่คุณทำ และเพื่อไม่ให้บุญกุศลที่คุณตั้งใจทำ กลายเป็นการสนับสนุนคนผิด หรือการกระทำที่ผิด ดิฉันอยาก ให้คุณไปฟังธรรม ที่พุทธสถาน ให้เข้าใจดี เสียก่อน จะได้แน่ใจว่า การใช้เงินที่คุณเสียสละให้นั้นเป็นไปในทางที่เป็นกุศล อีกอยากหนึ่ง เรามีข้อ กำหนดว่า คุณจะต้องไปฟังธรรมที่พุทธสถานถึง ๗ ครั้งขึ้นไป หรืออ่านหนังสือธรรมะ (หนังสือเล่ม นะคะ ไม่ใช่นิตยสาร หรือวารสาร) ของชาวอโศก ๗ เล่ม ขึ้นไป จึงจะมีสิทธิ์บริจาคเงิน ให้มูลนิธิ หรือสมาคมค่ะ

ยังมีผู้อ่านอีกหลายท่านถามเกี่ยวกับการบริจาคเงินให้สมาคม เช่น คุณธนากร ผลเจริญศรี คุณ เยาวลักษณ์ แซ่ตั้ง ฯลฯ ขอน้อมรับความปรารถนาดี ด้วยความซาบซึ้งใจยิ่ง เข้าใจดีว่า ทุกท่านเป็นห่วง ว่าเรา จะอยู่จะกินจะใช้อย่างไร แต่ก็ไม่อยากรับเงินบริจาคง่าย ๆ ด้วยเหตุผลหลายประการดังนี้ค่ะ

๑. การบริจาคเงินเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดของพุทธศาสนิกชน ง่ายเกินไปค่ะ อยากให้ทำสิ่งที่ยากกว่านี้ แล้วก็เป็น ประโยชน์ต่อตัวคุณเอง คือ การลดละความติดยึดในสิ่งต่าง ๆ แม้เล็กแม้น้อย เช่น ลิปสติก เหล้า บุหรี่ การพนัน
การเที่ยวดูการละเล่น การเที่ยวกลางคืน ความเกียจคร้าน และคบคนชั่ว ซึ่งก็คืออบายมุข หนทาง แห่งความเสื่อม ความพินาศ นั่นเอง รวมไปถึงการรับประทานเนื้อสัตว์ ทำอะไรได้ก่อน ก็ทำค่ะ นอกจาก อานิสงส์ต่อตนเอง และครอบครัวแล้ว ยังเป็นมหากุศล ในการบำรุงพระพุทธศาสนา ให้รุ่งเรือง ด้วยค่ะ

๒. การบริจาคเงินทำให้ผู้บริจาคไม่เอาภาระต่อศาสนาในด้านอื่น ๆ เช่น ไม่ดูแลว่าพระท่าน จะอยู่ จะขบฉัน อย่างไร มีงานอะไรในวัดที่เราควรจะช่วยได้บ้าง ฯลฯ เพราะถือว่าให้เงินไปแล้ว ต่อไป ก็เป็น หน้าที่ของพระ และโยมที่วัดที่จะต้องรับผิดชอบพระศาสนา ปัญหาในวัดจึงเรื้อรัง อย่างที่เราท่าน ทราบกันอยู่ ทุกวันนี้แหละค่ะ พวกเราทุกคนต้องช่วยกันรับผิดชอบดูแลกิจพระศาสนา นะคะ หมั่นไปวัด ใกล้บ้าน ทำตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี เริ่มจากหนึ่งคือเรา เหมือนที่หน้าปกดอกหญ้า ทุกฉบับไงคะ จากหนึ่ง จึงเป็นผล รวมมวลชนจนเป็นหนึ่ง



๑. อยากจะทราบว่า ดอกหญ้า ได้ทุนจากไหนมาทำหนังสือดอกหญ้า จึงอยู่ได้ ทั้ง ๆ ที่หนังสือแจกฟรี
๒. ให้สมาชิกบริจาคปีละครั้งดีไหม ตามแต่ศรัทธา เพื่อเป็นทุนค่าพิมพ์หนังสือ
๓. เปลี่ยนแบบรูปเล่มดี หรือเปล่า
*** วชิระ วันทา

๑. การทำงานทุกขั้นตอนใช้แรงงานฟรีค่ะ ส่วนค่าใช้จ่าย ในการพิมพ์ สมาคมผู้ปฏิบัติธรรมรับผิดชอบ โดยได้รับ บริจาคจาก ผู้ปฏิบัติธรรมซึ่งมีส่วนเหลือจากการถือศีล ๕ ละเลิกอบายมุข และการใช้ชีวิต ตามหลักธรรม ในพระพุทธศาสนา

๒. สำหรับผู้ที่ถือศีล ๕ ละอบายมุข รับประทานอาหารมังสวิรัติ และเข้าใจวัตถุประสงค์ ของสมาคม ผู้ปฏิบัติธรรมดี จะบริจาค ก็ยินดีค่ะ

๓. เปลี่ยนเป็นรูปแบบไหนดีล่ะคะ พยายามคิดกันหลายครั้ง ยังคิดไม่ออกเลยค่ะ



๑. อยากให้พิมพ์รายชื่อร้านอาหารมังสวิรัติทุกร้านทั่วประเทศ เวลาเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัด จะได้รู้ว่า จังหวัด ที่ไปเที่ยว มีร้านอาหารมังสวิรัติชื่ออะไรบ้าง
๒. อยากให้พิมพ์สูตรอาหารมังสวิรัติ และสูตรทำปุ๋ยหมักชีวภาพ เป็นเล่ม จะได้สวย
*** วัชระ สารีวัน

๑. จากประสบการณ์ส่วนตัว พบว่าร้านอาหารมังสวิรัติมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยมาก ทั้งในทางเพิ่มและลด บางคน ก็ปิดร้านเพื่อไปช่วยงานที่วัด บางคนปิดร้านเพราะขายดีเกินไปทำไม่ไหว ที่ปิดเพราะขายไม่ดี ก็มีเหมือนกัน ส่วนที่เพิ่ม เท่าที่เห็น มักจะเป็นร้านของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ แบบมหายาน อย่างใน ประเทศจีน หรือไต้หวัน และเท่าที่อยู่คงทนถาวรก็มีที่อุบลราชธานี นครราชสีมา เชียงใหม่ นครปฐม และ กรุงเทพฯ ซึ่งคุณคงจะรู้จักอยู่แล้ว ร้านล่าสุดที่ได้ข่าวคือร้านกอไผ่ ที่ปั๊มน้ำมันบางจาก สาขาถนนนวมินทร์ และ สาขาสุขุมวิท ๙๙ ที่จริงรายชื่อร้านอาหารมังสวิรัติ ก็เคยพิมพ์มาแล้วค่ะ แล้วดิฉันก็ดูรายชื่อ ในหนังสือนั้น แต่พอติดต่อไป ปรากฏว่า เขาปิดไปแล้ว ทางที่ดี คุณไปร้านอาหาร ที่บริการอาหาร ตามสั่งนะคะ เขาทำได้เกือบทุกร้านแหละค่ะ ยิ่งร้านใหญ่ประเภทภัตตาคารห้องแอร์ รับรองว่า มีอาหาร มังสวิรัติอร่อย ๆ ให้คุณรับประทานแน่นอน ถ้าร้านไหนทำไม่เป็น คุณก็บอกเขาว่า เอาน้ำมันพืชใส่กระทะ
ใส่กระเทียม (หรือไม่ใส่ก็ตามใจ) ใส่เต้าหู้ (ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องใส่) ทอดพอเหลือง แล้วก็ใส่ผักลงไป ใส่ซีอิ๊ว น้ำตาล (ไม่ใส่ก็ดี) แค่นี้ก็ได้กินแล้ว เพียงแต่อย่าไปสั่งตอนเที่ยง ที่เขากำลังขายดี จะทำให้เขารู้สึกว่ายุ่ง และ ไม่อยากทำให้ ดิฉันสั่งสูตรนี้ ได้กินทุกทีแหละค่ะ ถ้าร้านไหนว่าง ๆ แล้วดิฉันไม่รีบ ยังเคยสั่งอาหาร ที่ทำยากกว่านี้เลย ถือว่าเป็นการเผยแพร่ อาหารมังสวิรัติไปในตัว

๒. สูตรทำอาหารมังสวิรัติ สำนักพิมพ์แสงแดดพิมพ์ออกมาหลายเล่มเลยค่ะ สวย ๆ ทุกเล่มเลย ดูรูป อาหาร ก็น่ารับประทานทั้งนั้น ลองหาซื้อดูนะคะ คงต้องเป็นร้านหนังสือใหญ่ ๆ ในเมือง ส่วนปุ๋ยหมัก ชีวภาพ ยังไม่ได้มีการศึกษาวิจัยตามหลักวิชาการมากพอ ก็เลยยังไม่ได้รวบรวม มาพิมพ์เผยแพร่ เป็นเรื่อง เป็นราว กำลังศึกษาทดลองกันอยู่ค่ะ


ทุกคนในสันติอโศก คือบุคคลที่มีใจสูงหรือมนุษย์ ตามความหมาย ของท่านพุทธทาส?
*** ศศิกานต์ เพ็งพาศ

ทุกคนกำลังเพียรพยายามอยู่ค่ะ บางทีกิเลสก็ชนะ บางทีพระก็ชนะค่ะ


๑. ทำอย่างไรทุกหมู่บ้านจะกินดีอยู่ดี ปลอดหนี้
๒. ถึงเวลาหรือยังที่จะประกาศสังคมว่า เราทำอะไร ก้าวไปถึงไหน
๓. เราน่าจะบอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าเราจะขอดูแล ส่งเสริมด้านการเกษตรให้ ผมเชื่อว่า สังคมรากหญ้า ดีขึ้นจริง เห็นได้ชัดแน่นอน
*** วันชัย ศิริวิบุลยกิติ

ขออนุญาตถามถึงนามสกุลหน่อยได้ไหมคะ รู้สึกคุ้น ๆ เคย ได้ยินที่ไหน จำไม่ได้ มีญาติเขียน ตำรับ ตำราบ้าง หรือเปล่าคะ

๑. ช่วยกันเลิกอบายมุขค่ะ เลิกแล้วก็บอกคนอื่นเลิกต่อด้วย ที่สำคัญต้องขยันต่อเนื่อง
๒. รู้กันเยอะแล้วล่ะค่ะ รู้ทางดอกหญ้าก็กว่าสองหมื่นแล้ว
๓. ขณะนี้ ๑๙ ชุมชน

ชาวอโศกรับภาระอบรมเกษตรกรกันหนักหนาสาหัสอยู่ แล้วเกษตรกร ก็มีชีวิตดีขึ้นเยอะทีเดียว ดิฉันดูวิดีโอ การเยี่ยม เกษตรกรที่ผ่าน การอบรมแล้ว เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นชีวิตที่มีความสุขขึ้นแล้ว อิ่มใจจริงๆ ค่ะ แม้ว่าจะไม่มีส่วนช่วย ในการอบรมเลยก็ตาม


อยากทราบแหล่งพื้นที่ชุมชนของชาวอโศกว่ามีอยู่ที่จังหวัดใดบ้าง และพวกเหล่าสมาชิกดอกหญ้า บางคนที่อยากไปศึกษา และใช้ชีวิต ร่วมกับพวกชุมชนชาวอโศกได้หรือไม่
*** สายสิน ศรีสาร

ได้น่ะได้หรอกค่ะ แต่ว่าปัจจุบันชุมชนชาวอโศกมีหลายสิบ แห่ง จนกระทั่งพิมพ์ได้เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ เลยละค่ะ ไว้คอยอ่านในคอลัมน์น่ารู้จักดีไหมคะ เวลาไป สัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติธรรมชุมชนไหน จะบอกด้วยว่า ชุมชนนั้นอยู่ที่ไหน

ตอนนี้ขอตอบคุณปิยวรรณ ซ้ายเส ที่ถามว่าพุทธสถานในพื้นที่ภาคอีสานมีกี่แห่ง ที่ไหนบ้าง เพราะมีเพียง ๓ แห่งค่ะ คือ พุทธสถานศีรษะอโศก ต.กระแชง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ พุทธสถานราชธานีอโศก ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และสังฆสถานหินผาฟ้าน้ำ ต.นาหนองทุ่ม อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ


มีโครงการแสดงธรรมของหลวงพ่อของสันติอโศกตามภาคต่าง ๆ ในแต่ละปีหรือไม่ครับ
*** สุรเชษฐ์ ครองงาม

งาน่ปีใหม่ ประมาณวันที่ ๓๐ ธันวาคม - ๒ มกราคม ที่พุทธสถานราชธานีอโศก จ.อุบลราชธานี งานต่อมา ช่วง มาฆบูชา เฉพาะปี ๒๕๔๗ นี้ ตรงกับอาทิตย์ที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ - ๖ มีนาคม ที่ศาลีอโศก จ.นครสวรรค์ ต่อจาก นั้นในช่วงต้นเดือนเมษายน ปี ๒๕๔๗ กำหนดจัดงานวันที่ ๔ - ๑๐ เมษายน ที่ศีรษะอโศก จ.ศรีสะเกษ



๑. ทำไมต้องทำ HA เรา จะปรับปรุงคุณภาพการบริการ โดยที่ไม่ทำแฟ้ม คิด wording ประชุม ๆ ๆ ไม่ได้หรือ
๒. ข่าวพระที่ไม่ดี และเห็นพระที่ระวังตัวเองหรือแสดงว่าระวังตัวเองเกินไป ทั้ง ๆ ที่มีสีกา ตามไปไหน มาไหนด้วย แล้วไม่อยากไหว้พระกราบพระเลย จะแก้ไขตัวเองอย่างไรดี
*** กรรณิกา หงษ์ภักดี

โชคดีนะคะว่าเคยเขียนรายงานเรื่อง HA ส่งอาจารย์ ตอนเรียนหนังสือ ไม่งั้นคงงงกับคำถามคุณแน่เลย ขออนุญาต เล่าย่อ ๆ ให้ท่านผู้อ่านที่ไม่รู้จัก HA ได้ทราบคร่าว ๆ ก่อนนะคะว่า HA เป็นคำย่อของ Hospital Accreditation แปลว่า การรับรอง คุณภาพโรงพยาบาล HA เป็นกลไกการพัฒนาคุณภาพ อย่างต่อเนื่อง ของโรงพยาบาล โดยอาศัยการประเมินตนเอง ร่วมกับการประเมินจากภายนอก อันนำไปสู่ผล ที่ให้ประชาชน และผู้ป่วย ได้รับบริการที่ดีที่สุด ภายใต้ทรัพยากร ที่มีอยู่ในสังคม นี่คือแนวคิดนะคะ ส่วนการปฏิบัติ เป็นอย่างไร บุคลากรในโรงพยาบาลต้องเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งเลยล่ะค่ะ

๑. ได้ค่ะ ถ้าร่วมมือกันทำจริง ๆ แต่คนไทยเราต้องอาศัยแรงกระตุ้น ทำอะไรนิดอะไรหน่อย ก็ต้องอาศัย บารมี ผู้หลักผู้ใหญ่สั่งให้ทำ ถึงจะทำ (ไม่ใช่ทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่ เห็นด้วยไหมคะ) HA เป็นเพียง แรงกระตุ้น เท่านั้นค่ะ ทำให้รู้สึกว่ามีอะไรพิเศษขึ้นมา ทำแล้วมีคนมาตรวจ ก็อยากจะทำ หรือจำเป็น ต้องทำ อย่าไปเบื่อหน่ายเลยค่ะ สังคมเราเป็นอย่างนี้ ยอมรับได้ ใจก็สบาย

๒. เคยได้ยินผู้ใหญ่บอกว่า ไหว้ผ้าเหลือง ไม่ได้ไหว้ตัวตนที่เป็นคน แต่ไหว้สงฆ์ องค์ประกอบหนึ่ง ของพุทธบริษัท



ทำอย่างไรมนุษย์ถึงจะเลิกเห็นแก่ตัวและมีความเข้าใจในความเป็นมนุษย์?
*** สมพร โชติวิไลวรรณ

ที่เรามาเกิดเป็นมนุษย์ก็เพราะเรายังเห็นแก่ตัวกันอยู่นี่คะ แล้วที่จะเข้าใจความเป็นมนุษย์ได้ ก็คงเริ่มจาก การศึกษาตนเอง ให้เข้าใจทุกแง่ทุกมุมทุกมิติ เข้าใจตัวเองอย่างแท้จริงได้ ก็อาจจะเข้าใจมนุษย์ โดยรวม ได้กระมังคะ



ทำอย่างไรไม่ให้ความเครียดเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ปวดหัว และ คิดอยาก จะเอาคืนบ้าง
*** ทนงศักดิ์ พันชน

มีวิธีเดียว ให้อภัยค่ะ
ทันทีที่รู้ตัวว่าโกรธ/เครียด/อารมณ์ไม่ดี ให้หันเหความสนใจของตัวเองไปเรื่องอื่น เช่น คุยกับเพื่อน ไปดู หรือ ทำงานเกี่ยวกับ ต้นไม้ เดินเล่นหรือออกกำลังกายอย่างอื่น หรืออ่านหนังสือเนื้อหาดี ๆ นำพาเรา ให้จิตใจดี (เช่น หนังสือแปลสำหรับเด็ก กลอน จิตวิทยา หนังสือภาพสวย ๆ ฯลฯ) พอสบายใจขึ้น ก็ค่อย สอนตัวเอง ด้วยวิธีการต่าง ๆ หาวิธีคิดดี ๆ ที่จะไม่ผูกอาฆาตเขา แล้วก็คิดถึง คุณงามความดี ของเขา มองตนเองด้วย จะพบว่าบางทีเราก็ทำเหมือนเขา หรือบางทีบางเรื่อง แย่กว่า เหตุการณ์นี้เสียอีก คิดได้ ดังนี้ รับรองคุณต้องยิ้มออกแน่ๆ แล้วก็จะให้อภัยเขาทันที


ลูกเรียนจบ มีงานทำกันหมดแล้ว มีคนหนึ่งเป็นผู้หญิง เคยอยู่วัด ออกมาเรียนรามจบ เป็นครู กทม. ต้องส่งเสีย เหมือนกับตอนเรียน วิญญาณคนวัด ไม่มีติดสมองแม้แต่น้อย บ้าบอล บ้าเที่ยวก็ปานนั้น มีญาติธรรมคนหนึ่ง ลูกเขาก็พอ ๆ กับลูกผม เขาบอกว่า "ไม่ใช่ลูกเราหรอก เขาเพียงอาศัยเกิดเท่านั้น" ก็พอทำใจ
*** ๒๓๔๔๕๕
เห็นใจจริง ๆ ค่ะ หัวอกพ่อแม่ คงไม่มีอะไรจะทุกข์เท่าลูกใฝ่อบายมุข ก็คงต้องอาศัยธรรมะรักษาใจล่ะค่ะ


ช่วงนี้มีปัญหาในชีวิตนิดหน่อย คือ บางครั้งก็ทะเลาะกับแม่ ไม่รู้คนอายุมากทุกคนจะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ชอบจุกจิก นิด ๆ หน่อย ๆ อย่างที่บ้าน แต่ละวันต้องถูบ้าน ๒ ครั้ง ให้ข้าพเจ้าถูรอบแรก แล้วแม่ก็ถูอีกรอบ ... แล้วแม่ก็ชอบมองโลกในแง่ร้าย (แต่ไม่มาก) บางครั้ง ใครพูดไม่ถูกใจ ก็จะโกรธ แบบไม่พูดกับเขาเลย
*** ๒๔๗๔๖๓

อ่านยังไม่จบ คิดว่าแม่ให้คุณถู ๒ รอบ พออ่านถึง..แล้วแม่ก็ถูอีกรอบ ถ้าอย่างนั้น ก็แล้วไปเถอะค่ะ คิดเสียว่า ท่านจะได้ออกกำลังกายด้วย ส่วนอุปนิสัยอื่น ๆ ของแม่ ก็ต้องเข้าใจว่า ท่านไม่ได้ ฝึกฝนมาก่อน ดิฉันเอง ถ้าได้อยู่กับแม่หลายวัน เวลาไปเยี่ยมที่ต่างจังหวัด บางทีก็ควบคุมอารมณ์ไม่ทันเหมือนกันค่ะ (วันสองวันแรก ราบรื่นดี ยิ่งอยู่นาน ยิ่งมีข้อปลีกย่อย ให้กระทบกระทั่งกัน) แต่พอสติกลับมา หรือ ตอนที่ ไม่ได้ทำอะไร ได้คิดทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ คิดถึงเบื้องหลังความเป็นมาชีวิตของแม่ ก็ต้องเห็นใจค่ะ


ทำอย่างไรจิตเราจึงจะนิ่งสงบ เมื่อมีสิ่งภายนอกมากระทบ เช่น การนินทาว่าร้าย พูดเรื่องเหลวไหล ไม่จริง โกหก หลอกลวง ผมเห็นแล้วอดที่จะว่ากล่าวให้แรง ๆ ไม่ได้ เพราะเรารู้ความจริง แต่เขาก็ยัง โกหก หน้าด้าน ๆ อยู่
*** อุดม นาโสก
ถ้าตอบตามคำพระ ท่านก็คงจะแนะนำว่า เมื่อกระทบผัสสะ ก็ทำความรู้สึกว่าสักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่า ได้เห็น แต่อย่าไปสำคัญมั่นหมายหรือยึดเป็นอารมณ์ ทฤษฎีท่านว่าอย่างนั้น ส่วนปฏิบัติ เป็นเรื่องของเรา ซึ่งแสนจะทำได้ยาก สำหรับดิฉัน เนื่องจากชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับหนังสือ รู้สึกหนังสือ จะช่วยแก้ไขได้ ทุกอารมณ์ เพียงแต่ว่าต้องรู้จักเลือกหนังสือดี ๆ หน่อยเอาไว้ประจำบ้าน เช่น ข้อคิดดี ๆ ของบุคคลสำคัญ ของโลก ประวัติบุคคล จิตวิทยา หนังสือเด็ก และหนังสือธรรมะ อีกอย่างหนึ่งคือการปลูกต้นไม้ รดน้ำ ต้นไม้ หรือแม้แค่เดินดูต้นไม้ อารมณ์ก็จะดีขึ้นได้ เพราะฉะนั้นถ้าบ้านใครไม่ค่อยมีต้นไม้ ก็ปลูกไว้เถอะค่ะ จะได้ใช้ พฤกษาบำบัด คือ ใช้ต้นไม้รักษาจิตใจ


เคยสงสัยตัวเองกันไหม ทำไมต้องยกมือไหว้ ทำไมต้องถอด รองเท้า ใครเป็นคนคิดให้ต้องยกมือไหว้ ทำไม ต้องท่อง บทสวดมนต์ ต่าง ๆ นานา ใครช่วยตอบที
*** จันทร์ศิริ คำแสน
ยกมือไหว้ต้องทำพร้อมกับการค้อมศีรษะ แสดงความเคารพอ่อนน้อมจากจิตใจ คนไทยไหว้ในหลายโอกาส เช่น ทักทาย ขอบคุณ ขอโทษ แสดงความเคารพ แสดงความกตัญญู หรือแม้แต่เวลาเราจะขอ ความช่วยเหลือ จากใคร เราก็ไหว้อีกแหละ โดยเฉพาะดิฉันเองนี่ ชอบไหว้มากเลยค่ะ รู้สึกว่า เป็นกิริยาอาการ ที่สุภาพน่าชม

ส่วนการถอดรองเท้า มีเหตุผลหลายประการ คือ ๑.บริหาร ฝ่าเท้า ๒.เพิ่มความต้านทานโรคให้ร่างกาย รับเชื้อโรคบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะถ้าไม่ถูกเชื้อโรคเลย ร่างกายอ่อนแอแย่ เหมือนจิตใจ ที่ไม่เคยถูก กระทบผัสสะ ก็อ่อนแอเหมือนกัน อีกอย่างหนึ่ง ผู้ปฏิบัติธรรมก็มักจะไม่ค่อยไปไหนที่สกปรกเลอะเทอะ มีเชื้อโรค พิสดารมากเกินการอยู่แล้ว ๓.ฝึกสติ เพราะจะต้องระวังความปลอดภัยให้ตัวเอง ๔.ประหยัดทรัพยากรในการผลิตรองเท้า และลดขยะที่เกิดจากการผลิต รวมทั้งรองเท้า ที่ถูกทิ้ง ๕.ถ้าเราถอดรองเท้า เราจะต้องรักษาพื้นที่ให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะไม่อยากเดินย่ำไปบนที่สกปรก เป็นการรักษา สภาพแวดล้อมไปในตัว

สำหรับการสวดมนต์ เป็นการฝึกสติ เพ่งจิตไปที่บทสวด ทำให้จิตสงบ และเข้าใจซาบซึ้ง เนื้อหาธรรมะ ตามบทสวดนั้นด้วย

สิ่งเหล่านี้ คนไทยก็ทำกันมาแต่บรรพกาล มายุคนี้ พวกเราละเลยกันไปเอง จนกลายเป็นของแปลก โดยเฉพาะ การถอดรองเท้า เด็ก ๆ สมัยนี้ก็ไหว้กันน้อยลง แล้วก็แทบจะไม่สวดมนต์กันเลย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ เป็นผู้นำการไหว้ และการถอดรองเท้ามาปฏิบัติกันจนเป็นเอกลักษณ์ ของชาวอโศก


(หนังสือดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๘ กรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๔๖)