เสียงอุทธรณ์จากดอกแก้ว Jose Luis Olaizola. Telva (July, 2003) : 80.

เมื่อสองปีก่อนผมได้เขียนบทความลงในคอลัมน์เดียวกันนี้ พูดถึงรัศมี กฤษณมิษ เพื่อนที่ดีของผม ซึ่งในตอนนั้น เป็นแค่คนรู้จัก ยังไม่ได้มีความสนิทสนม เพราะเพียงติดต่อกันทางจดหมายเท่านั้น

ผมได้เคยเล่าแล้วว่า เมื่อหลายปีมาแล้ว รัศมีขออนุญาตแปลวรรณกรรมเยาวชนของผมเรื่อง กุ๊ชโฉ่ เป็นภาษาไทย (เธอเป็นอาจารย์ สอนภาษาสเปน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) โดยแจ้งว่าไม่อาจ จ่ายค่าลิขสิทธิ์ ให้ผู้ประพันธ์ได้ เพราะตั้งใจ จะนำผลกำไร จากการจำหน่ายหนังสือ ไปช่วยเด็กยากจน ในชนบท และเด็กชาวเขาทางภาคเหนือของประเทศไทย

ผมตกลงอนุญาต ไม่ใช่เพราะความใจดีมีเมตตาอะไรหรอก หากเป็นเพราะความสะดวกต่างหาก ผมจะมัวกังวล เรื่องการตามเก็บ ค่าลิขสิทธิ์จากประเทศ ณ ดินแดนไกลโพ้นอีกทำไม ในเมื่อบางครั้ง ก็ต้องลำบากลำบน จากการเก็บค่าลิขสิทธิ์ จากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างฝรั่งเศสหรือเยอรมนีอยู่แล้ว

และนับแต่นั้นมา ผมก็ได้รับทราบแต่ข่าวคราวที่น่ายินดีจากเธอเสมอ รัศมีมักจะเล่าถึงการนำผลกำไร จากการจำหน่ายกุ๊ชโฉ่ ไปช่วยโรงเรียนต่างๆ เช่นให้ทุนการศึกษา สร้างบ้านพักครู หรือให้ทุนโรงเรียน ในการทำเกษตร เพื่ออาหารกลางวัน ซึ่งผมก็ได้แต่นึกอัศจรรย์ใจ ที่จู่จู่ตัวเองก็ได้กลายเป็น บุคคลสำคัญ ขึ้นมา โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว จากนั้น ผมก็ยกเว้นค่าลิขสิทธิ์ ผลงานเรื่องอื่นๆ ให้เธออีก รัศมีไม่เพียงแต่เป็นผู้แปล หากดำเนินการจัดพิมพ์ และจำหน่ายเอง โดยจัดพิมพ์ที่ สำนักพิมพ์ของชาวพุทธที่เคร่งครัด ในวัตรปฏิบัติ เนื่องจากเธอเป็นพุทธศาสนิกชน ปฏิบัติธรรมในแนวทาง ของสันติอโศก

ในเวลาต่อมา เมื่อเธอมีโอกาสมาสเปน ก็ได้พยายามเชื้อเชิญผมอย่างสุภาพนอบน้อม ตามเเบบชาว ตะวันออกว่า จะเป็นการดีสักเพียงใด หากผมได้ไปบรรยายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากผม เป็นนักเขียนสเปน ซึ่งผลงาน ได้รับการแปล เป็นภาษาไทยมากกว่าใคร ซึ่งเป็นเรื่องจริง และทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เป็นเพราะรัศมีนี่เอง

ในที่สุดเมื่อเธอกลับมาสเปนอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว และกล่าวกับผมว่า ได้ดำเนินการตระเตรียมทุกอย่าง สำหรับการเดินทาง ไปบรรยายที่ประเทศไทยไว้พร้อมแล้ว ผมยิ้มให้เธอและขอบคุณในความตั้งใจดีนี้ และเมื่อเธอจากไป ผมและภรรยา ก็คิดกันว่า ที่จริงแล้วเราสองคนไม่พร้อมเลยแม้แต่น้อย ที่จะเดินทาง ไปประเทศไทย แต่แล้วสองเดือนถัดมา เราก็ตกลงใจ บินไปประเทศไทย เพราะรัศมี กฤษณมิษ มีพลังธรรมชาติ ที่ทำให้เธอได้ในสิ่งที่เธอต้องการ

ตลอดระยะเวลาการเดินทางในไทย ผมได้พบเห็นเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งขณะนี้ ผมกำลัง เขียนหนังสือเล่มหนึ่ง เพื่อเล่าถึงประสบการณ์เหล่านี้ ขอเกริ่นล่วงหน้าว่า สิ่งที่ประทับใจผมมากที่สุด คือเรื่องราวจากวิดีโอเทปชื่อ "เสียงอุทธรณ์จากดอกแก้ว" และจากเรื่องนี้เอง เป็นผลให้ผมได้ของขวัญ แห่งชีวิต ในวัยสูงอายุอีกชิ้นหนึ่ง นั่นก็คือมิตรภาพ อันมีค่าจากคุณพ่อ Alfonso de Juan บาทหลวงเยซูอิตชาวสเปน

ทั้งรัศมีและคุณพ่อ Alfonso de Juan ต่างทำงานช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสอย่างแข็งขัน ในตอนแรก ผมไม่เข้าใจว่า ระหว่าง ผู้ปฏิบัติธรรมชาวพุทธ กับนักบวชชาวเยซูฮิต ทั้งสองจะร่วมมือกันทำงานประเภทใดได้ ตรงกันข้าม รัศมีกลับฉงน ในข้อสงสัยของผม เธอถามว่า ในการทำความดีร่วมกันนั้น จำเป็นด้วยหรือ ที่คนเรา จะต้องมีความเชื่อเหมือนกัน

คุณพ่อ Alfonso อยู่เมืองไทยมาร่วม ๔๐ ปีแล้ว ได้เคยช่วยเหลือชาวเวียดนาม และชาวเขมรอพยพมากมาย และขณะนี้ มุ่งเน้นในเรื่อง 'โสเภณีเด็ก' ไม่ว่า จะเริ่มต้น ณ ชายแดนกัมพูชา หรือบนยอดดอย ทางภาคเหนือ ของไทย เรื่องราว อันน่าสังเวชนี้ ได้สร้างมลทินให้มนุษยชาติต้องแปดเปื้อน เป็นธุรกิจเงินล้าน ซึ่งรัฐบาล กลับเพิกเฉย เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ด้วยเชื่อว่า เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะเหตุนี้ จึงเกิดธุรกิจการขายบริการทางเพศ มีนายหน้า วิ่งหาเด็กสาวๆ ที่ยากจน ตามหมู่บ้านในชนบท มาเป็นเครื่องมือ เมื่อเหยื่อที่น่าสงสารเหล่านี้ มาถึงกรุงเทพฯ ก็ไม่สามารถ ช่วยเหลือตนเองได้ เพราะรู้แต่ ภาษาถิ่นของตน ไม่รู้จักภาษากลาง และไม่รู้ทิศทาง ต้องถูกทำทารุณกรรม ทุกรูปแบบ เพื่อป้องกัน การหลบหนี เกือบทั้งหมด จบลงอย่างเศร้าใจ ด้วยการเป็นเอดส์ และกลายเป็นคนที่ประเมินตนเอง ต่ำต้อยด้อยค่า คิดว่าตนเองสกปรก อีกทั้งยังต้องเจ็บปวด ด้วยบาดแผลทั้งร่างกาย และจิตใจ หนักหนาสาหัส เกินเยียวยา

'เสียงอุทธรณ์จากดอกแก้ว' เป็นวิดีโอเทปซึ่งคุณพ่อ Alfonso จัดทำขึ้นในหลายภาษา โดยรวบรวม เสียงร่ำร้อง ขอความช่วยเหลือ จากเด็กหญิง ซึ่งไม่ต้องการถูกขายเป็นโสเภณี แล้วเราจะช่วยได้อย่างไรหรือ ก็โดยการ ให้การศึกษา ไงล่ะครับ อย่างที่คุณพ่อ Alfonso กล่าว เมื่อเราสามารถช่วยให้เด็ก ได้อยู่ในท้องถิ่น ของตน มีความรู้เพียงพอ จะประกอบอาชีพ พึ่งพาตนเองได้ เมื่อนั้นพวกเธอก็จะรอดพ้น จากการเป็นโสเภณี ประเทศไทยมีโสเภณีเด็ก ที่อายุต่ำกว่า ๑๕ ปีอยู่ประมาณ ๕ หมื่นคน และเพื่อจะให้เด็กหญิงที่ยากจน ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง ก็จำเป็นต้องมีการ ให้ทุนการศึกษา

วิดีโอเรื่องนี้จบลงด้วยประโยคที่ว่า "มาช่วยกันเถอะ! อย่างน้อยสักคนก็ยังดี"

หากคุณผู้อ่านที่รักอยากจะช่วยเด็กหญิงสักคน ก็ไม่ยุ่งยากอะไร เพียงแค่ช่วยบริจาคทุนการศึกษา ทุนละ หนึ่งร้อยยูโร ซึ่งในยุโรปแล้ว ไม่ได้มากมาย แต่สำหรับประเทศไทย ด้วยเงินจำนวนเดียวกันนี้ สามารถใช้ เป็นทุนการศึกษา รวมถึง ชุดนักเรียน ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของเด็กคนหนึ่ง ได้ทั้งปีทีเดียว

เมื่อเด็กหญิงเหล่านี้มีความรู้ สามารถพึ่งตนเองได้ ก็จะไม่ถูกใครบังคับขู่เข็ญ ให้ขายตัว จนต้องสูญเสียศักดิ์ศรี ของความเป็นมนุษย์


-ดอกหญ้าอันดับที่ ๑๐๙ กันยา-ตุลา ๒๕๔๖-