แนะนำหนังสือ
- เกร็ดกรวด [email protected]
-As the Future Catches You เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ


ฮวน เอนริเกซ์ เขียน
ชวนิต ศิวะเกื้อ และสมสกุล เผ่าจินดามุข แปล
ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ บรรณาธิการที่ปรึกษา
บริษัท เนชั่นบุ๊คส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จัดพิมพ์ พิมพ์ครั้งที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๖ ปกแข็ง ๒๘๔ หน้า ๓๙๕ บาท

ท่านผู้อ่านคงจำได้ว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร แนะนำให้ รัฐมนตรีทุกท่านอ่าน คุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานโครงการ Light House มูลนิธิศึกษาพัฒน์ เป็นผู้นำหนังสือเล่มนี้ไปมอบให้ท่านนายกฯ มูลนิธิศึกษาพัฒน์มีปณิธานว่า พัฒนาคนไทยให้สู้ได้ระดับโลก แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ที่นำหนังสือเล่มนี้มาแนะนำในคอลัมน์นี้ เพียงอยากให้รู้ว่า โลกกำลังไปทางไหน และอยาก ให้ศึกษาวิธีคิดทั้งของ ผู้เขียนและของโลก ผู้เขียนเล่าเหตุการณ์หลายตอนในประวัติศาสตร์ ที่ผิดพลาดเพราะ ความยึดมั่นถือมั่นเกินไป ประวัติศาสตร์เป็นบทเรียนที่ดีเสมอ ผู้ฉลาดที่จะเรียนรู้ จากประวัติศาสตร์จะพร้อมเผชิญ กับอนาคตได้อย่างฉลาดเช่นกัน

โลกเราจะเป็นอย่างไรในอีก ๕๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปีข้างหน้า ขึ้นอยู่กับความสามารถของเราที่จะรับ และปรับตัว เพื่อรับมือกับความท้าทาย ทางเศรษฐกิจ การเมือง และจริยธรรม ในยุคแห่งจีโนมิกส์-ดิจิทัล (หน้า ๒๒๔)

หลายท่านคงพอเข้าใจ คำว่า ดิจิทัล หรือ ดิจิตอล ส่วนจีโนมิกส์ ถ้าคิดไปถึงรากศัพท์ คือ ยีน ก็คงจะพอ เข้าใจกันได้ว่าเกี่ยวข้องกับหน่วยพันธุกรรมในเซลล์มนุษย์นั่นเอง ในหนังสือเล่มนี้มีศัพท์วิชาการ หลายคำเหมือนกัน จนอาจจะทำให้รู้สึกว่าเข้าใจยาก เป็นโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ได้พัฒนาสมอง จริงอยู่หนังสือที่ไม่มีศัพท์ยาก น่าอ่านมากกว่า แต่ถ้าเราปฏิเสธสิ่งยากอยู่เรื่อยไป ความคิด จิตวิญญาณ และร่างกายเราจะอ่อนแอ เห็นหนังสือ อ่านยากก็ไม่อ่าน เห็นปัญหายากๆ ก็ไม่คิดแก้ปัญหา เห็นงานยาก ลำบากก็ไม่ทำ เดินไกลหน่อย ก็ไม่ไหวแล้ว อย่างนี้เราจะรับมือกับโลกใหม่ได้อย่างไรกัน

ที่จริงหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ยากสักเท่าไรนัก ศัพท์ที่ไม่คุ้นเคยไม่ได้ทำให้อ่านไม่เข้าใจเลย เพราะผู้เขียน ก็มีจุดประสงค์ อยู่แล้วดังที่แจ้งไว้ในหน้า ๒๒๖ ว่า "ผมต้องขออภัยสำหรับ การพยายามทำให้หลายๆ เรื่องง่ายขึ้น เพราะวัตถุประสงค์ ของหนังสือ ไม่ใช่เพื่อสอนผู้อ่านในเรื่องต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับ เทคโนโลยี แต่ผมต้องการ ที่จะจุดประกายความคิดและการถกเถียง ซึ่งผมหวังว่า หนังสือเล่มนี้จะเหมือน กับอาหารจีน ที่จะทำให้คุณโหยหา ที่จะอ่านต่อ ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมผมถึงมีบันทึกหมายเหตุไว้ ตอนท้าย" สำหรับผู้ที่มีจิตใจใฝ่รู้แล้ว หนังสือเล่มนี้ เสนอแหล่งข้อมูลให้ศึกษาเพิ่มเติมได้อีกมากทีเดียว

และสำหรับผู้ที่ปฏิเสธหรือไม่เห็นประโยชน์ของความรู้ ลองอ่านหน้า ๑๙๔ - ๑๙๕ ดูสักนิดเถอะ

ในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง สถานการณ์การศึกษากำลังล่อแหลม... ในโรงเรียนชั้นนำหลายแห่ง เล่นเกม จบการศึกษา โดยเรียนให้น้อยที่สุด ... ไม่น่าแปลกใจเลย สำหรับประชากรในส่วนที่ยากจนที่สุดแล้ว ความคิดเรื่อง การศึกษา ในฐานะเครื่องมือเพื่อความก้าวหน้าทางสังคมก็ถูกลบเลือนไปหมด และรัฐบาล ก็เพิ่มความประทับใจ เช่นว่านี้ยิ่งขึ้น ด้วยการใช้เงินจำนวนมากๆ ไปกับโรงเรียนห่วยๆ มาตรฐานต่ำ และหลีกเลี่ยงการสอบมาตรฐาน นี่ยิ่งทำให้ค่านิยมว่าความสำเร็จเกิดจากความสามารถของคน แทบจะเป็นไป ไม่ได้เลย แม้จะมีอุปสรรค มากมาย บางครั้งก็มีเด็กยกเว้นที่ดิ้นรน ไต่เต้าบันไดการศึกษา ขึ้นมา แต่ขวากหนามมันก็มากจนเกินต้าน

แถมท้ายอีกนิดหน่อยในหน้า ๑๙๗ ว่า
มีเพียงประเทศที่ให้การศึกษากับคนของ ตัวเองหรือดึงดูดคนเก่งจากประเทศอื่นเท่านั้น ที่มีโอกาสจะประสบ ความสำเร็จ และประเทศที่ตามไม่ทันก็แทบไม่มีโอกาสอยู่รอด เทคโนโลยีใหม่ก่อให้เกิดความมั่งคั่ง ได้อย่างมาก แต่มันก็ก่อให้เกิด ความแตกต่างอย่างมากด้วย

ยังมีอีกในหน้า ๑๘๖ - ๑๙๑ เอนริเกซ์เขียนไว้ว่า
ใครก็ตามที่ไม่ศึกษาย่อมรับกรรม ... แม้แต่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยก็ยังมีรายได้ ต่างกัน ระหว่างผู้ที่เข้าใจเทคโนโลยีกับผู้ที่ไม่เข้าใจ... วิธีรับมือกับความแตกต่างทางการศึกษา และความแตกต่าง ทางดิจิทัล รวมถึงความรู้ด้านเทคโนโลยีนั้นเป็นหัวข้อที่ร้อนแรง นักการเมืองทุกคนพูดถึงแนวคิด เรื่องการศึกษา ทุกคนสัญญาว่าจะทุ่มเงินให้โรงเรียนมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าโรงเรียนจะมีเงินจ้างครู ที่มีคุณภาพดีขึ้น แต่มีสังคม ไม่กี่แห่งที่มีวินัยพอจะทำจริง... ผู้ปกครองในสหรัฐฯ ก็จ่ายเงินเพื่อการศึกษา ให้บุตรหลานเหมือนกัน... แต่เด็กก็มี กิจกรรม นอกหลักสูตรสารพัด ที่ช่วยให้พวกเขาเก่งรอบด้าน คาราเต้ ค่ายฤดูร้อน ดนตรี ศิลปะ ฟุตบอล เบสบอล... แต่ตอนนี้ฮาร์วาร์ดเริ่มบ่นแล้วว่า เด็กเรียนอะไรต่อมิอะไร เต็มไปหมด จนเครียดมาก และพอมาถึงมหาวิทยาลัย ก็ดูเหมือนผู้รอดตายจากค่ายฝึกทหารก็ไม่ปาน... แม้จะมีอะไรดี อีกมากในระบบโรงเรียน มีความคิดสร้างสรร มากกว่าอีกหลายประเทศที่เน้นการสอบ เพียงอย่างเดียว แต่ระบบโรงเรียนมัธยมของรัฐส่วนใหญ่ในสหรัฐ อเมริกา มีปัญหาจริงๆ เนื่องจากสถาบัน การศึกษาและธุรกิจต่างๆ ต้องการมันสมองมากขึ้น ดังนั้น อัจฉริยะ ทางเทคโนโลยี ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ตอนนี้ มีจำนวนมากที่เกิดและเรียนมาจากประเทศอื่น

ที่จริงแล้วอยากจะคัดออกมาทั้งหมดเลย เพราะอยากให้ทุกท่านได้อ่าน เป็นประสบการณ์ที่อาจจะทำ ให้หลายคน ได้ฉุกคิดอะไรขึ้นได้บ้าง อย่างในหน้า ๑๙๐ ผู้เขียนเล่าถึงคดีที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๒๕ - ๑๙๙๙ เมื่อปี ค.ศ.๑๙๒๕ ครูวัย ๒๔ ปี ชื่อจอห์น สโคปส์ ถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกปรับ ๑๐๐ ดอลลาร์ เนื่องจากคำสอน ของเขา ทำให้เด็กคิดวิปริตว่า ลิงกับคนมีบรรพบุรุษร่วมกัน และในปี ค.ศ.๑๙๙๙ คณะกรรมการการศึกษา ของรัฐ แคนซัสตัดสินว่า โรงเรียนท้องถิ่นแต่ละแห่งสามารถตัดสินใจเองว่าจะสอนทฤษฎีวิวัฒนาการหรือไม่...

เอนริเกซ์ยังเล่าถึงเรื่องน่าประหลาดใจอีกหลายเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ เช่น การควบคุมประชาชน ของตนเอง ในจีนและญี่ปุ่น การทำงานระบบ "ปิด" ของผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ "แอปเปิล" ความล่มสลายของ แอฟริกา ภาษาของมนุษย์ รหัสพันธุกรรม ความก้าวหน้าทางการแพทย์ และการที่เด็กคนหนึ่ง จะมีพ่อแม่ ได้ถึง ๕ คน นี่แค่ตัวอย่าง

อ่านตอนแรกๆ รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะได้ รับรู้เรื่องที่ไกลตัวเหลือเกิน แล้วก็ไม่รู้ว่าจะรู้ไปทำไม พร้อมกับค่อนพวก นักวิทยาศาสตร์อยู่ในใจว่า "ฟุ้งซ่าน" แต่ทำไงได้ เราเกิดร่วมโลกเดียวกันแล้ว ความฟุ้งซ่านของเขาก็ช่วยให้เรา ได้รับอานิสงส์อยู่หลายประการในปัจจุบัน แล้วถ้าเราไม่รับรู้เขาเลย กว่าจะรู้ตัวอีกที อาจกลายเป็นทาสเขาไปแล้ว (รึเป็นอยู่แล้ว ก็ไม่แน่นะ) หรือไม่ก็ต้องงงเป็นไก่ตาแตก นึกว่าตัวเอง ข้ามมิติแห่งกาลเวลา ไปเกิดในอนาคตเสียแล้ว จะกลับโลกเก่าก็กลับไม่ได้ ทุกข์ตายเลย

อ่านไป อ่านไป ก็ชักจะเห็นว่าที่จริงก็เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั่นแหละ อย่างเรื่องคนที่ชอบ ควบคุม คนอื่นให้อยู่ในอำนาจ (เหมือนอย่างจีนยุคก่อน) คนที่ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา (เหมือนอย่าง อดีต ประธานาธิบดี เม็กซิโก) คนที่จมอยู่กับอดีต (เหมือนตัวเราเอง...ในบางครั้ง) นี่แหละประโยชน์ของ การอ่านหนังสือ ได้ทบทวนตัวเอง และคนรอบข้างในหลากหลายมุมมองขึ้น

สาระดีๆ สั้นๆ ที่น่าสนใจไม่น้อย อีกหลายจุดในหนังสือเล่มนี้ คือ ตอนเริ่มต้นของแต่ละบท อย่างตอนเริ่มต้น บทที่ ๘ บอกว่า "ไม่ต้องอธิบายว่าทำไมทำไม่ได้ แต่จงหาวิธีทำให้ได้" บทที่ ๑๓ บอกว่า "สิ่งยิ่งใหญ่ในโลกนี้ ไม่ใช่ ที่ซึ่งเรายืนอยู่ แต่เป็นทิศทางที่เรากำลังจะไปถึง" และบท ที่ ๑๔ เตือนว่า "เมื่อความก้าวหน้าเคลื่อนที่ อย่างรวดเร็ว เช่นในปัจจุบัน แค่มานั่งนับว่าใครเป็นเหยื่อบ้างก็ยากแล้ว"

แถมท้ายเล็กน้อย สำหรับคนที่แพ้หนังสือหนาๆ ที่ว่า ๒๘๕ หน้านั้น แต่ละหน้ามีตัวหนังสือไม่มากเลย อ่านประเดี๋ยว เดียวก็จบ แล้วอย่าลืมอ่านข้อความที่ใบหุ้มปกแข็งอีกครั้งหนึ่งด้วยนะ


-ดอกหญ้าอันดับที่ ๑๐๙ กันยา-ตุลา ๒๕๔๖-